เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๗ ก.ย. ๒๕๕๑

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๑
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มันด้วยความสามัญสำนึกของคนนะ ทุกคนปรารถนาดี ทุกคนอยากได้ดี ทุกคนทำคุณงามความดี คุณงามความดีนี่มันดีลึกดีตื้นขนาดไหน เวลาเราประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม นี่ถ้าครูบาอาจารย์ผู้รู้จริง.. ผู้รู้จริง รู้แล้วพูดได้ รู้จริง รู้แล้วพูดไม่ได้.. แต่ไม่รู้แล้วพูดด้วย ไม่รู้ด้วยแล้วพูดด้วยนี่ยุ่งมากเลย

ในการประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม พระบางองค์บอกว่า “จิตนี่หยุดไม่ได้ ต้องประคองกันไปอย่างนี้ จิตนี้หยุดไม่ได้”

แต่ความจริงจิตนี้หยุดได้ ถ้าจิตหยุดไม่ได้สมาธิเกิดได้อย่างไร มันเหมือนที่ครูบาอาจารย์ว่า “น้ำนิ่งแต่ไหล” น้ำนิ่งแต่มันไหลนะ ดูสิ ดูในมหาสมุทรสิ ดูการเคลื่อนไหวของน้ำชั้นล่าง เห็นไหม มันจะหมุนไปเป็นธรรมชาติของมัน แต่ข้างบนนี่นิ่งมาก

จิตก็เหมือนกันนะ มันนิ่งอยู่นะ แต่มันมีพลังงานของมัน มันหยุดได้ไง หมายถึงว่าเราคิดว่าหยุดไม่ได้ แต่เวลาว่าหยุดเลย หยุดจนไม่มีอะไรเลยมันก็ไม่ใช่อีก.. นี่ไงมัชฌิมาปฏิปทา เห็นไหม ธรรมะหยุดโลก !

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่หยุดเลย หยุดสิ่งต่างๆ หยุดหมดเลย หยุดวัฏฏะ หยุดความเป็นไป สิ่งที่มันจะเป็นไปได้มันต้องเป็นความจริง มันเป็นมัชฌิมาปฏิปทา มันไม่ใช่ซ้ายและไม่ใช่ขวา ไม่ใช่ถูกและไม่ใช่ผิด ข้ามพ้นความดีและความชั่ว ข้ามพ้นความถูกและความผิดไป

ความถูกนี่ ดูสิ เวลาครูบาอาจารย์ท่านว่า เห็นไหม ในการประพฤติปฏิบัติมันต้องจริงจัง ต้องจริงจังนะ ความจริงจังขณะประพฤติปฏิบัติ เหมือนเราทำงาน เราทำหน้าที่การงานเราต้องจริงจังของเรา การจริงจังนั้นถูกต้องไหม.. ถูก แต่ถ้าเราจริงจังอยู่นี่มันหยุดไม่ได้นะ ถึงเวลาแล้วนี่ต้องปล่อยวาง ขณะที่ปล่อยวางต้องให้มันเป็นไปตามจริง แต่พวกเราเป็นไปโดยการคาดหมาย เราจะให้มันเป็นไปตามที่เราปรารถนา นี่อริยสัจมันต้องดับ

ดับไม่ได้หรอก.. นิพพานไม่ใช่การดับ นิพพานไม่ใช่ดับนะ ถ้าเราดับก็ดับทุกข์ ถ้าจะดับทุกข์ดับกิเลส แต่ดับกิเลสแล้วมันเหลืออะไรล่ะ มันไม่ใช่ดับ มันมีอยู่ มันพูดกันได้ ถ้ามันดับหมดดับสูญมันจะเป็นนิพพานได้อย่างไร เราทำกันนี่ทุกคนจะถามนะวิมุตติสุขเป็นอย่างไร วิมุตติสุขนี่สุขอย่างที่มันมีความสุขมันจะมีความสุขได้

แล้ววิมุตติสุขไม่ใช่เวทนานี่มันสุขอย่างไร มันสุขเพราะมันไม่ใช่สุขเวทนา มันเป็นความสุขในตัวมันเอง ดูสิ อย่างเช่นสมาธินี่ เห็นไหม ความสงบของใจขึ้นมา ใจมันสงบเข้ามามันมีความดูดดื่ม มันมีความสุขมากนะเวลามันปล่อยวาง ถ้าไม่มีความสุขมากทำไมครูบาอาจารย์เวลาติดในสมาธิ นี่เข้าใจว่าสมาธินี้เป็นนิพพานนะ แล้วถ้ามันเป็นนิพพานคือมันนิ่งอยู่มันนิ่งอย่างไร นี่สิ่งนี้มันมีเครื่องประกอบ แบบมันต้องมีอารมณ์มีความรู้สึก อันนี้มันเป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ..

ขณิกสมาธิ.. สงบเข้าไปแล้วพอรู้สิ่งต่างๆ

อุปจารสมาธิ.. เวลาสงบแล้วนะหูยังได้ยินเสียง นี่เวลามีเสียงกระทบขึ้นมายังเข้าใจได้ ยังเข้าใจมันรับรู้ เห็นไหม นี่สิ่งที่เข้าใจได้ มันเป็นสมาธิอยู่แต่มันเข้าใจได้ มันใช้ปัญญาได้

อัปปนาสมาธินี่สักแต่ว่ารู้ อายตนะนี้ดับหมดนะ เสียงมานี่หูนี้สักแต่ว่าได้ยิน มันไม่ได้ยินอะไรเลย แต่จิตมันก็ไม่ได้ออกมารับรู้ มีสถานการณ์ใดเกิดขึ้นมานี่ไม่ออกมารับรู้เลย มันสงบในตัวของมันเอง ไม่รับรู้ ระหว่างกายกับใจมันแยกออกจากกัน มันสงบตัวของมันเอง มันปล่อยวางโลกนี้ไปหมดเลย อย่างนั้นวิปัสสนาไม่ได้

ถ้าวิปัสสนาได้นี่มันเป็นฐานของฐีติจิต นี่จิตเดิมแท้.. จิตเดิมแท้เกิดที่นี่ ถ้าจิตเดิมแท้เกิดที่นี่ เห็นไหม “จิตเดิมแท้ผ่องใส จิตเดิมแท้หมองไปด้วยอุปกิเลส” สัจจะความจริงนี่นะ ขณะที่ทำความสงบของใจนี่มันยังเป็นความสงบอันหนึ่ง แต่ถ้าผู้ที่ไม่เข้าใจ.. คนหลงคือคนไม่รู้ใช่ไหม พอมันหลงมันเข้าใจมันก็จินตนาการของมันไป จินตนาการนะ จิตมันมหัศจรรย์มันเป็นไปได้ทั้งนั้นแหละ

ดูสิ ดูอย่างครูบาอาจารย์ท่านสลดใจนะ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเรื่องของร่างกายมันแก้กิเลสไม่ได้หรอก เรื่องของร่างกาย เรื่องของธาตุ ๔ ธาตุ ๔ นี้แก้กิเลสไม่ได้นะ ธาตุ ๔ เป็นดิน น้ำ ลม ไฟ มันแก้กิเลสไม่ได้หรอก แต่เพราะใจไปติดข้องมัน เห็นไหม พอใจติดข้องมัน เวลาเราจะแก้ไขกิเลสกันเราต้องมีสติสัมปชัญญะ เราใคร่ครวญกันไป.. นี้การอยู่การกินมันเป็นเรื่องของร่างกาย มันมีความสุข คนที่ได้กินอาหารอร่อย คนได้ทำอะไรตามความพอใจนี่มันพอใจ เห็นไหม นี่อามิส !

เวลาทำบุญกุศล นี่ความคิด.. ความคิดไม่ใช่ใจ เวลามีสิ่งใดกระทบมันก็เป็นอามิส เห็นไหม นี่ก็เหมือนกัน ความเข้าใจของเราว่า ขนาดที่ว่าต้องล้างท้องก่อนนะ กินเจนี่ต้องล้างท้องก่อนกลัวมันไม่สะอาดบริสุทธิ์ นี่ร่างกายสะอาดบริสุทธิ์ไม่ได้หรอก ดูสิ ดูอย่างเราทำบาดแผลมันยังมีเลือด ล้างแค่ไหนเลือดมันก็ออก ถ้าเย็บบาดแผลไม่ได้เลือดมันจะออกอยู่ตลอดเวลา นี่มันจะสะอาดไปได้อย่างไร

มันสะอาดไปไม่ได้หรอก ร่างกายนี้สะอาดไปไม่ได้ แต่หัวใจสะอาดได้ ถ้าหัวใจสะอาดได้ แล้วสิ่งที่เข้าไปชำระหัวใจมันเป็นธาตุเหรอ ? มันไม่ใช่ มันเป็นมรรคญาณ มันเป็นสัจธรรม ถ้าเป็นสัจธรรมมันเกิดที่ไหนล่ะ สัจธรรมมันเกิดจากใจนะ

ถ้าใจมันเป็นสัจธรรม ใจมันเป็นอย่างไรมันถึงเป็นสัจธรรม เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว อาหารนี่ อาหารที่เขาไม่ได้ฆ่าเผื่อเรา เขาไม่ได้ทำเพื่อเรา เราไม่รู้ไม่เห็นนี่สิ่งต่างๆ เพราะอะไร เพราะสัจจะโลกนี้เป็นอย่างนี้

เราอยู่กับโลกเขา โลกเขามีสิ่งใดที่ไม่เป็นโทษ สิ่งใดที่ไม่เป็นโทษนี่เราใช้ได้หมดแหละ เราใช้ได้หมดนะ เจาะจงก็ไม่ได้ เห็นไหม ดูสิ ของส่วนกลางเอาไปเป็นของบุคคลก็ไม่ได้ นี่ของนี้ให้บุคคลไปแล้ว ของที่เป็นวิกัปต้องถอนวิกัปก่อน ถ้าไม่ถอนวิกัปก่อนก็ใช้ไม่ได้ ของที่ให้มานี่เก็บไว้คนเดียวไม่ได้มันจะเป็นกังวล

พระพุทธเจ้ารู้เรื่องกิเลสนะ จะปิดไว้หมดเลย อย่างเช่น ผ้านี่ตั้งแต่ ๔ นิ้ว ยาว ๘ นิ้วขึ้นไป ต้องวิกัปเก็บไว้ไม่ได้ ใครเก็บไว้คนเดียวไม่ได้ต้องเอาเป็นกองกลาง ถ้าเป็นของสงฆ์ได้ แต่ถ้าเป็นของบุคคลเก็บไว้ไม่ได้นะ ถ้าให้เราถวายเราแล้วเราเก็บไว้นะมันจะนั่งจินตนาการเลยนะ ผ้าชิ้นนี้จะหาผ้ามาต่อให้เป็นสบง ถ้าได้ผ้ามากจะตัดจีวร ถ้าได้มากขึ้นมาจะตัดเป็นสังฆาเพราะมันใช้ผ้า ๒ ชั้น ผ้า ๒ ชั้นนี้จะเอาไปทำอะไร จะเอาไปทำผ้าเช็ดหน้า จะเอาไปทำย่าม

มันวิตกกังวลไปหมดเลย.. แต่พอวิกัปปั๊บ ไม่ใช่ของเอ็ง ! ของเจ้าของ จะทำอะไรก็ต้องขออนุญาตเขาก่อน ของวิกัปนะ นี่ไง เรื่องใจสำคัญมาก ! นี่ถึงห้ามเก็บของไว้ที่มันจะไปกระตุ้นความคิดนะ อยู่ดีๆ ความคิดเรามันก็วิตกกังวลอยู่แล้ว มันคิดฟุ้งซ่านอยู่แล้ว แล้วมีของไปให้มันคิดนะ

จะมั่งมีดีจนขนาดไหนนะ เราคิดว่าของแบบนี้มันไม่สำคัญ นี่ดูสิ เรามองทางโลกนะ ของอย่างนี้มันเป็นของที่ว่าไม่ควรจะคิดเลย แต่เวลาเรามานะ เวลาบวชพระนี่บริขาร ๘ เพราะเป็นของใช้ไง

นี่ของใช้ของพระ พระก็ติดอย่างนี้ จะสูงส่งมาขนาดไหน เวลาบวชมาแล้วก็มาติดเรื่องบริขาร เห็นไหม พระต้อง ๑ พรรษาถึง ๕ พรรษา กำลังแสวงหาบริขารอยู่เพราะมันยังตื่นเต้น พอเลยจาก ๕ พรรษาไป ๑๐ พรรษา ๒๐ พรรษานี่ไปอีกเรื่องหนึ่งแล้ว มันไปอีกเรื่องหนึ่งเลย เพราะจิต เห็นไหม นี่วาระของจิต.. พรรษามาก พรรษาน้อยอยู่ที่ความเป็นไป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ขอนิสัย

เรานิสัยเป็นคฤหัสถ์ เข้ามานิสัยคฤหัสถ์นะ ขอนิสัยครูบาอาจารย์ได้นิสัยไหม ดูสิ ขอนิสัยหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านพากระเหม็ดกระแหม่ จะมีมากมีน้อยนะเรื่องของสังฆะ เรื่องของสงฆ์ ตัวท่านเองใช้ประหยัดมัธยัสถ์ ความประหยัดมัธยัสถ์ไม่ใช่ขี้เหนียว การขี้เหนียวคือจะไม่ให้ใครเลย การขี้เหนียวคือมันไม่ใช้ มันเก็บไว้จนเผาผลาญหัวใจของมัน แต่การประหยัดมัธยัสถ์มันเห็นคุณค่านะ

ดูสิ เวลาหลวงตาท่านเทศน์นะ ดูสิ ชาวบ้านเขาทำหน้าที่การงานมา ได้ ๕ ได้ ๑๐ มาถวายพระ พระเราหัวโล้นๆ นี่ไปแข่งกับโลกเขา มีเครื่องยนต์กลไก การเป็นอยู่แบบคฤหัสถ์ไง คฤหัสถ์เขามีของเขานะ ปัจจัยเครื่องอาศัยของเขา พระเรามีบริขาร ๘ ไปแข่งกับเขา เห็นไหม สิ่งที่แข่งกับเขา เขาอยู่บ้านกระท่อมห้องหอ เราไปอยู่ตึก ๔ ชั้น ๕ ชั้น นี่ย้อนกลับมาแล้วมันละอายใจ

สิ่งที่มันละอายใจ เห็นไหม เขาแสวงหาของเขามา เขาหาบุญกุศลของเขา บุญกุศลของเขาคือสิ่งที่เขาเสียสละทานขึ้นมาเพื่อให้ใจของเขามีบุญ

แล้วของเราล่ะ บุญของพระล่ะ.. บุญของคฤหัสถ์ ทาน ศีล ภาวนา ไอ้เราศีล สมาธิ ปัญญา ให้มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา ดูสิ เวลาพระเราถ้าไม่ทรงธรรมวินัยใครจะทรง ถ้าเราทรงธรรมทรงวินัย เห็นไหม ถ้าจิตมันสงบนะ กิริยาการเคลื่อนไหวนะ ปัจจัยเครื่องอาศัยมันเห็นโทษนะ อาหารนี่กินมากเข้าไปนะมันก็นั่งหลับ แค่เริ่มต้นนะมันก็ให้ร่างกายเรากดถ่วง ธาตุขันธ์นี่กดถ่วงจิตใจ ธาตุขันธ์กดถ่วงจิตใจนะ แล้วกินมากเกินไปมันก็เป็นโรคเป็นภัย กินมากเกินไปมันก็เกิดโรคเกิดภัย เกิดสิ่งต่างๆ

นี่ถ้ากินพอดีมันเป็นประโยชน์กับร่างกาย สิ่งที่เป็นความพอดี เห็นไหม มัชฌิมาปฏิปทา ถ้ามัชฌิมาปฏิปทา นี่มัชฌิมาปฏิปทาของใคร.. คนเราธาตุขันธ์ไม่เหมือนกัน ความเป็นอยู่ก็ไม่เหมือนกัน นี่สังฆะ สงฆ์อยู่ด้วยกันจะรู้เรื่องหัวใจด้วยกัน นี่สัปปายะ ๔ หมู่คณะเป็นสัปปายะ เราเปิดช่องกลางให้กัน พูดจากระทบกระเทือนกัน สิ่งที่กระเทือนใจกัน สิ่งนี้เราก็ไม่พอใจ เขาก็ไม่พอใจ ไม่ควรทำสิ่งนี้เลย

สิ่งต่างๆ เห็นไหม เรารักษาหัวใจของเรา มันจะออกไปเบียดเบียนใคร มันเบียดเบียนเราแล้ว เราคิดแล้วมันจะเบียดเบียนเขา เรารักษาสิ่งนี้ไว้ นี่ขอนิสัย ! ถ้าได้นิสัยขึ้นมานะ นิสัยจากภายนอก แล้วนิสัยนี่ศากยบุตรพุทธชิโนรส.. ศากยบุตร บุตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นชาวศากยะ เป็นบุตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธชิโนรสนะลูกของกษัตริย์ ลูกของพุทธะ แล้วพุทธะเป็นอย่างไรล่ะ

พุทธะเห็นไหม พุทธะการเคลื่อนไหว กิริยามารยาทข้างนอกเป็นเรื่องของข้างนอกนะ เราไปมองกันที่กิริยาภายนอก กิริยาภายนอกฉุนเฉียวรุนแรง ฉุนเฉียวรุนแรงขนาดไหนมันเป็นข้อเท็จจริง จะสงบเสงี่ยมขนาดไหน ความสงบเสงี่ยมนะ ถ้านิสัยสงบเสงี่ยมแล้วฆ่ากิเลสด้วยความสงบเสงี่ยม ถ้าจิตใจมันองอาจกล้าหาญ มันก็ต้องฆ่ากิเลสด้วยความองอาจกล้าหาญ มันเป็นข้อเท็จจริงอันนั้น ข้อเท็จจริงอันนั้นเป็นการแสดงออก เป็นกิริยามารยาท ดูสิ ดูอย่างพระจันทร์กับพระอาทิตย์ เห็นไหม พระจันทร์ให้แต่ความร่มเย็น พระอาทิตย์ให้พลังงาน แล้วออกมานี่ถ้ามีแต่พระจันทร์โลกมันจะเจริญได้อย่างไร

นี่ก็เหมือนกัน มันมีโทสะ โมหะ สิ่งที่ต่างๆ เกิดขึ้นมา เกิดขึ้นมามันก็เกิดขึ้นเพราะใคร เกิดขึ้นมาเพราะใจ แล้วใจมันเกิดขึ้นมาแล้วเราจะควบคุมมันอย่างไร.. นี่สิ่งที่ควบคุมมัน ควบคุมมันให้เป็นผลบวก

ผลบวกคืออะไร เป็นมรรค เป็นความต้องการความปรารถนา เพราะการประพฤติปฏิบัติมันก็ต้องเป็นความต้องการ เป็นความปรารถนา เราปฏิเสธทั้งหมดเลย สิ่งใดก็ไม่เอา เห็นไหม มันก็เหมือนน้ำในตุ่ม ปล่อยให้มันนอนตะกอน

สิ่งที่นอนตะกอน เห็นไหม สังคมต้องเรียบง่าย สังคมต้องนิ่ง แล้วเวลาเราไปใช้มัน มันก็ขุ่น เราต้องตักน้ำต้องใช้น้ำนะ แต่ถ้ากิริยามารยาทของเรา นี่เราต่อสู้กับกิเลสของเรา แล้วเราทำลายกิเลสของเรา เราจะตักเราจะตวงอย่างไร กิริยาแสดงออกนิ่มนวลขนาดไหน มันจะแสดงออกด้วยความองอาจกล้าหาญขนาดไหนมันไม่มีตะกอน ตะกอนมันไม่มี กิเลสมันไม่มี ความเป็นไปมันไม่มี เขาไม่ได้มองกันที่ตะกอน เขาไปมองที่น้ำเคลื่อนไหว.. น้ำนิ่ง น้ำเคลื่อนไหว

น้ำนิ่ง ! น้ำนิ่งใช้อะไรได้ น้ำนิ่งเราตักได้ไหม เราไปตักมันก็กระเพื่อมแล้ว แต่ถ้าน้ำเคลื่อนไหวแล้วนิ่งล่ะ น้ำเคลื่อนไหวอยู่แต่ไม่มีตะกอน เคลื่อนอย่างไรมันก็ใส เคลื่อนอย่างไรมันก็ดี เห็นไหม สิ่งที่เป็นการเคลื่อนไหว

นี่จิตมันเป็นอย่างนั้น ในการประพฤติปฏิบัติเขาจะดูที่จิตไม่ได้ดูที่ร่างกาย.. ร่างกายส่วนร่างกายนะ ปัจจัยเครื่องอาศัยนี่มันอยู่ที่เรามีความเห็นไง แต่ถ้าศาสนาพุทธเรานี่สอนเรื่องหัวใจนะ เราถึงต้องรักษาเราที่นี่ เข้ามาที่ใจของเรา แล้วถ้าใจของเราให้มันเข้ามาตามความเป็นจริง มันหยุดได้.. หยุด

“น้ำนิ่งแต่ไหล”

ใจหยุดแต่มีพลังงาน หยุดไม่ใช่หยุดหลับใหล หยุดมีสติสัมปชัญญะ นี่ดับไม่ได้ ดับไม่มี กิเลสนะ กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ นี่รวมตัวลง จิตทิ้งกายเป็นกาย จิตเป็นจิต.. จิตเป็นจิต

ตัวจิตนี่คือตัวความคิด ตัวจิตคือตัวขันธ์ ๕ แล้วตัวพลังงาน ตัวที่เป็นจิตที่มันบรรลุธรรมล่ะ จิตทิ้งจิต ! จิตทิ้งจิตเข้ามานี่มันจะรวมตัวลง แล้วมันคลายตัวออกมาอย่างไร มันดับที่ไหน มันเห็นสภาพหมดเลย มันสำรอกออก มันสำรอกคลายกิเลสออกไปเหมือนงูลอกคราบ งูมันลอกคราบออกไปเลย

แล้วจิตนี่ เห็นไหม กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์.. จิตเป็นจิต ! แล้วตัวพลังงาน ตัวที่มันลอกคราบจิตออกไป ลอกกิเลสออกไปมันลอกอย่างไร แล้วมันดับที่ไหน มันไม่ดับหรอก ฆ่ากิเลสไม่เคยดับ ฆ่ากิเลสมันฆ่าต่อหน้าต่อตา มันทำของมันสภาวะแบบนั้น เห็นไหม

ในการประพฤติปฏิบัติของเรา ถ้ามีครูมีอาจารย์คอยชี้นำนะ เราทำของเราไป มันเป็นข้อเท็จจริงนะว่าเริ่มต้นปฏิบัติมันจะผิดไหม ต้องผิดแน่นอน ผิดแน่นอนเพราะเป็นอวิชชาไปก่อน เราก็ต้องถูต้องไถไป เราต้องฝึกต้องซ้อมของมันไป ถึงที่สุดเราจะรู้จริงเห็นจริงของเรานะ แล้วมีครูบาอาจารย์ของเรานี่มันไม่เสียเวลา

การกระทำ เห็นไหม ดูสิ เอาน้ำมาตั้งไว้ ตะกอนมันนอนก้น สบาย.. สบาย.. นิ่งๆ อย่างนั้นแหละ มันไม่ได้ประโยชน์อะไรหรอก มันเป็นสามัญสำนึกของโลก เราจะเอาข้อเท็จจริง แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติไปนี่ว่ามันทุกข์มันยาก ทำไมมันขัดมันแย้งกันไปหมดเลย อ้าว.. นี่ไงข้อเท็จจริง

คนไปหาหมอ เห็นไหม เขาฉีดยา ฉีดยาเจ็บไหม ฉีดยาก็ต้องเจ็บ ไปหาหมอไปมองหน้ากันแล้วกลับ มันจะเป็นไปได้อย่างไร อ้าว.. คนไข้นอน อ้าว.. นอนแล้วนิ่งๆ อ้าว.. กลับได้เลย มันเป็นไปไม่ได้หรอก เขาต้องผ่าตัด เขาต้องฉีดยา เขาต้องรักษาไข้ การวิปัสสนาญาณนี่มันเข้าไปชำระกิเลส ไปทำลายกิเลส ไปอยู่นิ่งๆ มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันเป็นไปไม่ได้

มันมีมรรคญาณของมัน มีปัญญาของมัน มันทำลายของมัน มันต้องมีการทำลายของมัน แต่ในการประพฤติปฏิบัติของเราว่า โอ้โฮ.. เสียมารยาท อัตตกิลมถานุโยค พระป่านี่รุนแรง สู้ของเราไม่ได้สะดวกสบาย นิ่งๆ นิ่งๆ ก็ไปหาหมอไง แล้วขึ้นไปนอนบนเตียง แล้วก็กลับ มันจะไปหายได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้หรอก

นี่เราคิดอย่างนี้ แล้วเราเปรียบเทียบขึ้นมานี่แล้วจะเชื่อไหม ชีวิตเราทั้งชีวิตนะ ทำไมเราต้องไปให้เขาหลอก ทำไมเราไม่ใช้ปัญญาของเรา ทำไมเราไม่คิดแยกแยะว่าอะไรมันเป็นผลประโยชน์ อะไรมันเป็นความจริง แล้วก็จะมาสลบ วางยาสลบหลับใหลกันอยู่กับสามัญสำนึก เป็นสัญชาตญาณ เป็นสัญญาอารมณ์ เราจะเอาธรรมะของพระพุทธเจ้านะ เอามาแปะเหมือนยาสลบเลย แล้วก็หลับไป แล้วก็ว่านี่เป็นธรรมะๆ น่าสังเวช

นี่ไง ครูบาอาจารย์ที่เป็นจริง ครูบาอาจารย์ที่ดี ครูบาอาจารย์ที่รู้จริง เห็นไหม ท่านจะคอยบอกเรา คอยเตือนเรา คอยเตือนเราอย่าให้หลงไปในทางสองส่วนนะ อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค.. มัชฌิมาปฏิปทาคือความเพียรชอบ ความมุมานะ ความขยันหมั่นเพียร แล้วบอกความขยันหมั่นเพียรมันเป็นอัตตกิลมถานุโยคแล้ว มันเป็นความลำบากแล้ว

มันเป็นความเพียรชอบ สมาธิชอบ ปัญญาชอบ ชอบคือถูกต้อง สมดุล ไม่ชอบคือมิจฉา ทำแล้วเสียเปล่า ทำมรรคเหมือนกันนี่ล่ะ ว่าเป็นสติ เป็นสมาธิ เป็นปัญญา เป็นเหมือนกันเลย แต่เป็นมิจฉา มิจฉาเพราะอะไร มิจฉาเพราะกิเลสเรามันบอกให้เป็นมิจฉา มันทำอยู่วงนอก มันทำอยู่ที่ความคิด มันไม่ได้ทำอยู่ที่ใจ ไม่ได้ทำอยู่ที่สำรอกอวิชชา สำรอกความเห็นผิด มันเข้าไปถึงข้างในมันจะสำรอกของมันออก

สัจธรรมอันนี้ นี่กิเลสมันฆ่ากันที่นี่นะ จะกินเจหรือไม่กินเจไม่สำคัญ อาหาร ๓ เห็นไหม อาหาร ๓ อย่าง อาหารอย่างหยาบคืออาหารเนื้อสัตว์ อาหารอย่างกลางคือผัก อาหารอย่างเบาคือผักเห็นไหม

ดูเราอดอาหารกันสิ พระอดอาหารกินลมนะ เวลาเราบอกว่ากินเนื้อสัตว์ผิด กินผักมันถูก แล้วพระกินลมนี่ดีกว่าไหมล่ะ แต่กินลมก็กินไม่ได้นานใช่ไหม กินเพื่อให้ร่างกายมันเบา ไม่กินอะไรเลยแล้วไปบอกว่ากินผักผิด แล้วไม่กินผิดไหม

มันเป็นอุบายวิธีการนะ มันไม่มีอะไรผิดหรืออะไรถูกหรอก มันเป็นเพียงแต่อุบายวิธีการ เราจะใช้เพื่อเป็นประโยชน์กับเรา อะไรคิดให้มันเป็น ดูให้มันเป็น อย่าไปเกิดทิฐิ มึงผิดกูถูก กูกินผักกินหญ้า มึงไม่กินผักกินหญ้ามึงผิด ไม่ใช่หรอก !

ถ้าเขากินของเขา แล้วเขาภาวนาของเขา เขาบรรลุธรรมของเขา เรากินผักกินหญ้าเราจะไม่ได้อย่างเขาเลย.. เราไม่ได้อย่างเขานะ แต่ถ้าเขากินของเขา เขารักษาของเขาแล้วเขาเป็นประโยชน์ของเขา เพื่อปัญญาของเขา อันนี้สาธุนะ

“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับไปเป็นธรรมดา”

สิ่งที่จะเป็นธรรมดาได้ต้องรู้จริงเห็นจริง มันถึงจะเป็นธรรมดา ถ้ายังไม่รู้จริงเห็นจริงมันไม่ธรรมดาหรอก มันเสียบปักอกอยู่ อย่าโกหก เราเองนี่ล่ะรู้ เราเองรู้หมดนะสิ่งใดที่ปักคาอกเรานี่เจ็บช้ำน้ำใจนัก กิเลสมันปักคาอกนี่เราจะถอนมันอย่างไร เราถึงต้องหมั่นเพียรของเรา

นี่คือโอกาสของเรานะ ตายแล้วหมดโอกาส ในเมื่อเราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา แล้วเราได้มีครูมีอาจารย์คอยชี้นำของเรา ในกรรมฐานของเรา เป็นศาสนา เป็นแก่นของศาสนา เพราะศาสนาสัมผัสด้วยใจ ธรรมะเข้าสู่ที่ใจ แล้วเราพยายามค้นคว้าของเรา เพื่อประโยชน์ของเรา เอวัง