เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๕ ต.ค. ๒๕๕๑

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๑
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้วันออกธุดงค์ เวลาออกธุดงค์ ภัตตกบาตรแล้วไม่รับภัตตามมา นี่เวลาภัตตามมา เวลาเราตักใส่บาตร พระต้องมีสติ ทุกอย่างมันเห็นเวลากระทบกระเทือนใช่ไหม เวลาพระไปฉันข้าวต้องมีปฏิสังขาโย พิจารณาอาหารก่อน พิจารณามัน พิจารณาเข้าใจมัน

ความเข้าใจนะ ถ้าพูดถึงทางวิทยาศาสตร์ทางโลก ร่างกายนี้ต้องการอาหาร ต้องการสารอาหารแน่นอน แต่ทางธรรมนะถ้ามันเกินพอดีมันจะกดทับ เวลากดทับภาวนามันจะไม่ดี ทีนี้คนมีสติความสมดุลมันอยู่ตรงไหน ความสมดุล.. ที่นี่พอเราให้การตักอาหารหรือการถือธุดงค์มันได้สับเปลี่ยน ถือธุดงค์มานี่มันแล้วแต่ตามมีตามได้ ตามมีตามได้แล้วแต่ตามนี้ เพราะมันมาอย่างนั้นเราก็ฉันกันอย่างนั้น แต่เวลาเราตักอาหาร เราเป็นคนตักเองนะ เราจะยับยั้งเราได้ไหม เราจะตั้งสติเราได้ไหม

ถ้าเราเผลอ.. เราเผลอไป มันเป็นการฝึกฝน เพราะเราฝึกอย่างนี้มา เราฝึกอย่างนี่มานะ ดูนะ อ่านประวัติหลวงปู่มั่น ท่านฉันเสร็จแล้วประมาณขนาดไหน แล้วเราก็พยายามจะทำให้ได้อย่างนั้น พอมันได้อย่างนั้นปั๊บนี่ มันคิดว่าพอดีทั้งหมด แต่เวลาฉันจริงแล้วฉันไม่หมด เพราะฉะนั้นพยายามบังคับมันให้ฉันให้หมด พอมันเข็ด มันรู้ตัว มันจะปรับตัวมันเองไปได้ สุดท้ายเราควบคุมได้หมดเลยนะ จะเอาขนาดไหนก็ได้ จะควบคุมขนาดไหนก็ได้ พอควบคุมได้ เราชนะตนเองชั้นหนึ่งนะ ชนะตนเองคือชนะความอยาก

ดูสิ เวลาโยมไปเที่ยว ไปช็อปปิ้งกัน สิ่งที่ซื้อมาไม่จำเป็นทั้งนั้นเลย อยากได้ เห็นแล้วก็ซื้อมา.. ซื้อมา แล้วก็ไม่ได้ใช้หรอก ซื้อมาเก็บไว้ในตู้ อันนี้ก็เหมือนกัน อยากได้ ตักใส่บาตร ตักใส่บาตร ฉันไม่หมดหรอก ที่นี้ฉันไม่หมดมันก็เก็บไว้พอดี มันจะให้เราชนะตัวเราเอง

ถ้าเราชนะตัวเราเองเห็นไหม เริ่มต้นจากเรามีสติสัมปชัญญะ จากข้างนอก จากจริตนิสัย ความเป็นไป ถ้าเราควบคุมตั้งแต่ข้างนอก เราจะเป็นคนไม่เสียนิสัย เป็นคนดี ไม่ใช่กระชังก้นรั่ว เห็นไหม สิ่งต่างๆ การหาอยู่หากิน การใช้จ่ายฟุ่มเฟือย สิ่งนี้มันทำให้เราหาไม่ทัน

แต่ถ้าเราใช้จ่ายไม่ฟุ่มเฟือยนะ เราประหยัดมัธยัสถ์นะ คนที่ประหยัดมัธยัสถ์ คนที่เขามีฐานะ เขารู้จักค่าของเงิน เขารู้จักมัธยัสถ์ของเขา เงินทองเขายังรู้จักบำรุงรักษา แล้วสติสัมปชัญญะ หัวใจของเรา เราจะรู้จักรักษาไหม

ถ้าเรารู้จักรักษานะ สิ่งที่มันเร้า สิ่งข้างนอกปัจจัยเครื่องอาศัย สิ่งนี้มันไม่จำเป็น มันของเล็กน้อย.. ของเล็กน้อยนะ ถ้าตีค่าของเล็กน้อย คนดูถูกตัวเองนะ ของเล็กน้อยนะ เราไม่มีค่าเลยเพราะของเล็กน้อยเรายังหลงมัน เพราะของเล็กน้อยเรายังต้องยอมจำนนกับมัน เรายังต้องวิ่งตามมันไป มันมีอำนาจบังคับเราได้ ของเล็กน้อยนะ แล้วถ้าของมากๆ มันไม่บังคับให้เราทุกข์มากกว่านี้เหรอ

แต่เวลามองมุมกลับของเล็กน้อยไม่เป็นไรหรอก เห็นไหม คนมักง่าย ! คนที่ไม่มีหลักไม่มีมีเกณฑ์ จะไม่มีประโยชน์กับตัวเราเองเลย แต่ถ้าคนมีหลักมีเกณฑ์นะ พระเราเวลาออกธุดงค์ ออกธุดงค์ไปมันเหนื่อยยากไหม ออกธุดงค์ไปเพื่ออะไร เพื่อค้นหาตัวเอง เวลาทางโลกเขาบอกทำไมต้องไปทุกข์ไปยาก อยู่ที่ไหนก็ทำได้ อยู่ที่ไหนก็ทำได้ มันคลุกเคล้า มันคลุกเคล้า

เห็นไหม ดูสิ ดูอย่างเราเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย เวลาจะไปเข้ารักษาที่โรงพยาบาล เขายังมีเขตกักกันโรค เวลาเข้าไปผ่าตัดต้องปลอดเชื้อเลย ความคลุกคลีมันเชื้อทั้งนั้น มันเชื้อของกิเลสไง มันคลุกคลีไป มันนอนจมกับกิเลสของเรากิเลสของเขา อบอุ่น.. อยู่ในความอบอุ่น ไม่ว้าเหว่ ไม่วิตกกังวล เวลาออกไปเราวิตกกังวล

นี่ไง เราออกไปเพื่อค้นหาเรา ถ้าเราค้นหาเราได้ ธรรมะเป็นสภาวะแบบนั้น ฉะนั้นมันถึงต้องสงบสงัด ถึงต้องจำกัดเขตของเรา ให้รู้ความรู้สึกเราอยู่ในตัวของเรา แล้วสิ่งต่างๆ ความวิเวกกายวิเวก จิตวิเวก ถ้ากายไม่วิเวก กายไม่คลุกเคล้า จิตมันจะวิเวกไปได้อย่างไร ถ้าจิตไม่วิเวก กายวิเวก วิเวกไปอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่ จิตมันฟุ้งซาน จิตมันคึกคะนองมาก

กายวิเวก แต่จิตไม่วิเวก โอย.. ทุกข์มากเลย ทุกข์มากอย่างนี้ก็เริ่มต้นมาเห็นข้อวัตร เห็นการอดนอนผ่อนอาหาร เห็นการตัดทอนมัน ตัดทอนกำลังของเราเองนะ กับตัดทอนกำลังของกิเลสที่มันอยู่ในหัวใจ พอกิเลสตัดทอนมัน เห็นไหม ตัดทอนมันด้วยการผ่อนไม่ให้มันได้กำลังของมัน

รถนะเราไม่เติมน้ำมัน น้ำมันเราเติมเฉพาะพอดีให้มันวิ่งได้ไปถึงจุดเป้าหมาย ไม่ใช่เติมจนล้น จนมันเรี่ยราดไปหมด แต่รถนี้รถน้ำมันเราเห็น แต่ร่างกายเราไม่เห็น ความสะสมของสารอาหารที่ในร่างกายเราจนเกินกว่าเหตุ เรามองไม่เห็น เรามองไม่เห็นเพราะอะไร เพราะตัณหาความทะยานความอยากมันบอกพอดี แต่สิ่งที่ไม่พอดีนะมันธาตุมันขันธ์ สิ่งนี้เราพิสูจน์เอา เวลาออกพรรษาแล้วมันก็ผ่อนคลาย เราวิกฤตมา เราต่อสู้กับกิเลสเรามา เราต่อสู้นะ

เวลาก่อนเข้าพรรษาเห็นไหม เราต้องหาเลือกสถานที่ เพื่อเราจะได้เร่งความเพียรของเรา เหมือนกับกีฬา เขาซ้อมมา เวลาลงแข่งขันในเวลาแข่งขันของเขาจบแล้วก็จบ นี่ก็เหมือนกัน ในพรรษาเราจะหยุดไม่ธุดงค์เพื่อเร่งความเพียรของเรา เร่งความเพียรแล้วได้ประโยชน์ไหม

ออกพรรษาแล้วออกวิเวก เพราะอะไร เพราะลมหายใจเข้าและลมหายใจออก คนเราอยู่ที่ลมหายใจนะ เราว่าอาหารการกินหยุดได้นะ แต่ลมหายใจถ้ามันขาดเมื่อใด หายใจเข้าไม่หายใจออกก็ตาย หายใจออกไม่หายใจเข้าก็ตาย ชีวิตเราแขวนอยู่บนเส้นด้าย ฉะนั้นเราจะไม่นอนใจ เราจะต้องค้นคว้าตลอด

ออกพรรษาแล้วถ้ามีสติสัมปชัญญะ มันก็ดูของมันนะ แล้วถ้าความเพียรมันต่อเนื่องนะ มันจะต่อเนื่องไป การประพฤติปฏิบัติของเราที่ลุ่มๆ ดอนๆ เพราะมันไม่ต่อเนื่องใช่ไหม ขาดช่วงขาดตอน พอขาดช่วงก็มาเริ่มต้นใหม่ เดี๋ยวก็มาเริ่มต้นกันใหม่ ทำอยู่อย่างนั้น เริ่มต้นใหม่ๆ พอเริ่มต้นใหม่ ใจฟังธรรม ธรรมะมันกล่อมเกลา ฟังเทศน์ของครูบาอาจารย์มันออกมาจากใจ มันทิ่มแทงหัวใจเรานะ

เราไปศึกษา เราอ่านหนังสือ อ่านธรรมะ อ่านธรรมะบางข้อความมันก็ซึ้งใจ บางข้อความมันก็จืดๆ แต่เวลามันอ่านซ้ำอ่านซาก เอ๊ะ..อันนี้เรายังไม่เคยอ่าน อันนี้เรายังไม่เคยเห็น ไม่ใช่หรอก ! ใจเรามันดูดดื่มตรงไหน มันดูดดื่มของเราเอง แต่ขณะที่ฟังธรรมนี้มันออกมาจากใจของครูบาอาจารย์ มันจะทิ่มเข้ามาที่เรา ถ้าทิ่มเข้ามาในหัวใจของเรา ทิ่มเลยนะ ! ทิ่มแทงเข้าไป กิเลสนี้ เพราะทิ่มแทงกิเลส.. เทศน์เพื่อให้กิเลสมันตกไปจากใจของเรา

นี้ตกจากใจของเรา มันก็เข้ามากระเทือนหัวใจเราใช่ไหม ทำให้เราตื่นตัว ทำให้เราไม่นอนจม ให้เราตื่นตัว การตื่นตัวคือสติ ถ้าเราตื่นตัว เราระวังภัยตลอดเวลา กิเลสมันจะเกาะใจเราไม่ได้ แต่ถ้าเราไปหมักหมมกับมัน เราไปนอนจมกับมันนะ มันจะเป็นดินพอกหางหมูแล้วมันลุกไม่ไหว

เราถึงต้องมีข้อวัตร เราต้องกระฉับกระเฉง เราต้องว่องไว สิ่งนี้ถ้ามองแล้วมันเป็นงานทั้งนั้น มันเป็นเรื่องที่ว่าทำไมต้องทุกข์ล่ะ ทำไมไม่อยู่สุขสบายล่ะ อยู่สุขสบายนะ ชีวิตมันจะตายไปวันข้างหน้า.. ตายไปข้างหน้า แล้วมันก็เวียนตายเวียนเกิดไปข้างหน้า แต่ถ้าเราตื่นตัว เราจะทำให้มันจางลง อย่างน้อยมันจางลงนะ

เราเตรียมพร้อมนะ ชีวิตเรามีการพลัดพรากเป็นที่สุด ถ้ามันการพลัดพรากเป็นที่สิ้นสุด เราเตรียมพร้อม คนพร้อมกับคนไม่พร้อมก็ต่างกันแล้ว เราพร้อมของเรา เราไปไหนเราไปด้วยความสะดวกสบาย คนไม่พร้อมเข้าไปด้วยความจำเป็น โลกเขาไปด้วยความจำเป็น เพราะเขาไม่ได้สร้างบุญกุศลของเขาไว้ ถึงเวลาเขาตายเขาบอกตายก็เป็นเรื่องธรรมดา ธรรมดานี้เขาคิด แต่พอไปถึงสิ่งที่มันตอบสนอง เขาจะไม่มีความพร้อมของเขา เขาจะไม่มีอะไรเป็นเครื่องสะดวกสบายของเขา นั่นเป็นเรื่องวัฏฏะนะ

แต่ถ้าเป็นเรื่องของการประพฤติปฏิบัติ เรื่องของใจของเรา ถ้าเราควบคุมที่นี่ได้ มันเป็นทิพย์หมด สิ่งที่เป็นทิพย์หมด เป็นทิพย์คือความรู้สึก วิญญาณอาหาร หัวใจมันพอใจ เราเกิดเป็นมนุษย์ เรามีร่างกาย เรามีกระเพาะอาหารมันบีบคั้น เราเกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหม เขาไม่กินอาหารอย่างนี้ เขาไม่มีกระเพาะอาหาร ของเขาเป็นทิพย์หมด มันนึกถึงมันเป็นไปตามธรรมชาติของมันเลย สิ่งนี้มันเป็นไปของมัน

เวลาเราเข้าพรรษาออกพรรษาเพราะเหตุนี้ เหตุที่ถึงเวลาแล้วเราทำความดีของเรา มันเปลี่ยนไม่ให้เราจำเจกับชีวิต ให้เราตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ออกพรรษาแล้วก็ออกวิเวก ออกหาความสงบสงัดของเรา นี่พูดถึงพระนะ

ถ้าพูดถึงคฤหัสถ์ของเรา เห็นไหม ในพรรษาเราก็ทำของเราเป็นประจำ ออกพรรษาแล้วเราก็ดูเวลาของเรา อะไรจำเป็นหรืออะไรไม่จำเป็น คนเรามันมีหน้าที่รับผิดชอบต่างๆ กัน ความรับผิดชอบนะ

มรรคของคฤหัสถ์ ฆราวาสธรรม.. ฆราวาสธรรม.. พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูกนะ เพราะว่าสิ่งที่เกิดมาชีวิตนี้ได้มาจากพ่อจากแม่ สิทธิทั้งหมดเลยได้มาจากพ่อจากแม่ แต่ถ้าทางตะวันตกเขาไม่ว่าอย่างนั้น เขาว่าเป็นธรรมชาติ แต่ถ้าทางศาสนาเรานี้ พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก แต่ไม่ได้เป็นพระอรหันต์ของคนทั่วไป

แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เป็นพระอรหันต์ของสัจธรรม คือใจมันสะอาดบริสุทธิ์ แต่พระอรหันต์ของลูก ความรักของพ่อแม่สะอาดบริสุทธิ์กับลูก แต่ถ้าพ่อแม่ของเราเป็นคนดียิ่งดีมากเลย พ่อแม่ของเรานี้เขาดีปานกลางก็แล้วแต่ มันก็คือพ่อแม่ พ่อแม่ก็คือพ่อแม่นะ

บุญคุณอันนี้ทดแทนกันไม่หมดหรอก เพราะชีวิตนี้ได้มาเป็นของท่านทั้งนั้น ถ้าท่านไม่เลี้ยงมาชีวิตจะมาเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร แต่ที่เราอยู่กันได้โตขึ้นได้ เพราะมันโตขึ้นมาแล้วเราก็คิดประสาเรา ขณะวิกฤต ขณะที่เหตุการณ์นั้นนะ เหตุการณ์ที่ว่ามันจะต้องวิกฤตในชีวิต แล้วเขาดูแลมานี่ อันนั้นเป็นบุญคุณนะ

กตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี เห็นไหม ใครมีบุญคุณกับเรา เขาเคยมีบุญมีคุณกับเรา อันนี้มันฝังไว้ในใจ การฝังไว้ในใจ การมีโอกาสเราแทนคุณ สิ่งที่แทนคุณ นี่ชีวิตนี้แทนคุณ แล้วชีวิตของเราล่ะ สิ่งที่เกิดขึ้นมาล่ะ สิ่งที่หัวใจมันเกิดตาย เกิดตายล่ะ อันนี้มันเป็นปัจจุบันธรรม เราจะกล่อมเกลี้ยงได้ เราจะเลี้ยงดูได้ เราจะทำใจของเราได้ ให้ชื่นบานก็ได้ ให้มันอับเฉาก็ได้ ให้อับเฉาเพราะเราไม่เข้าใจ เราไม่มีศีลมีธรรมเข้าไปขัดเกลา มันก็จะอับเฉาไปตามแต่กิเลสตัณหาความทะยานความอยากที่มันครอบงำ

แต่ถ้ามีธรรมเห็นไหม มีสติสัมปชัญญะยับยั้งมันไว้ก่อน ยับยั้งหัวใจของเราอย่าให้มันฟุ้งซ่านนัก อย่าให้มันหาโทษมาใส่ตัวเองมากนัก ยับยั้งไว้นะ พอยับยั้งแล้วพยายามตั้งสติ สติยับยั้งไว้ มีปัญญาใคร่ครวญมัน จนมันสงบเข้ามา มีความสุขเข้ามา สุขนี้ไม่เจือด้วยอามิส โลกเขานะมันเป็นอามิส สุขด้วยอามิส แต่สุขด้วยหัวใจของเราล้วนๆ สุขด้วยปัญญาของเรา สุขด้วยการกระทำ ชีวิตมีคุณค่าอย่างนี้ไง

เกิดมาแล้วพบพระพุทธศาสนา ศาสนาสอนถึงคุณค่าของชีวิต หน้าที่การงานเป็นหน้าที่การงาน การหาอยู่หากิน วงศ์ตระกูลของเราๆ ต้องดูแลรักษา นี่มันเป็นเรื่องธรรมดา นี่งานของโลกคือดวงตาดวงหนึ่ง

งานของธรรมคือหัวใจของเรา ! งานของธรรมคือหัวใจของเรา ! เพราะหัวใจเวลาทำสมาธิภาวนาก็เรื่องของใจล้วนๆ เรื่องของจิตล้วนๆ เรื่องของความสุขความทุกข์อันละเอียดล้วนๆ เรื่องนามธรรมล้วนๆ แต่มันเป็นสิ่งที่มีคุณค่าล้วนๆ เพราะสิ่งนี้พาเกิดพาตาย ร่างกายต้องทิ้งไว้ในโลกนี้ สิ่งที่เป็นปัจจัยเครื่องอาศัยมันก็ทิ้งไว้ในโลกนี้ แต่คุณงามความดีติดกับจิตนี้ไปตลอด จิตนี้มันจะมีคุณงามความดีกับบาปอกุศลติดไปตลอด

แต่ถ้าถึงที่สุดแล้วมันก็เป็นจิตล้วนๆ ที่มีคุณค่า สัมผัสได้ ไม่มีการบุบสลาย ไม่มีการสูญหาย จิตนี้ไม่เคยตาย แต่ชีวิตนี้ตาย ชีวิตนี้ต้องตายจากมนุษย์ ตายจากเทวดา อินทร์ พรหม แล้วแต่วาระ เป็นในวัฏฏะ

แต่จิตไม่เคยตาย พลังงานที่ไม่เคยตาย ถ้ามันเข้าถึงที่สุดแห่งความสะอาดบริสุทธิ์มันไม่เคยตาย แล้วมันจบสิ้นขบวนการของการเวียนตายเวียนเกิดอันนี้ แล้วมันอยู่ที่ไหน มันอยู่ที่ความรู้สึกของเราถูกไหม มันอยู่ที่หัวใจของเรา มันมีอยู่ใช่ไหม มีสิทธิทุกคน เพราะทุกคนเกิดมาโดยจิต จิตปฏิสนธิในไข่ของมารดา เกิดมาเป็นมนุษย์เห็นไหม ตัวปฏิสนธิจิตตัวนี้มันมีคุณค่าและรักษาได้ ทำได้

จากเรื่องของทาน เราสละทาน ฟังเทศน์ฟังธรรม แล้วเราไปประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้ามีโอกาส ถ้าเราสละทาน มีเป้าหมาย แล้วทำบุญกุศล ถ้ามันปฏิบัติไปเพื่อบูชา ถ้ายังไม่ถึงที่สุดวัฏฏะจะหดสั้นเข้ามา.. วัฏฏะหดสั้นเข้ามา มีเข็มทิศเครื่องดำเนิน มีเข็มทิศชี้ชีวิตให้ว่าชีวิตมันจะไปถึงที่ไหน ไม่ใช่เป็นสวะลอยไปตามน้ำ ปล่อยชีวิตนี้ไปตามแต่ตัณหาความทะยานอยาก

นี่ธรรมะทวนกระแส ! ทวนกระแสเข้ามาสู่หัวใจของเรา ธรรมะคือความรู้สึก ธรรมะคือหัวใจของเรา สิ่งที่สัมผัสมันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นความรู้จำเฉพาะตน ที่ตนรู้เอง รู้แจ้ง เป็นประสบการณ์ของตน อันนี้ไม่มีใครหลอกเราได้ ถ้าเราสงสัยเราก็สงสัยของเรา ครูบาอาจารย์จะรับประกันขนาดไหน เราก็สงสัย แต่ถ้าเป็นความจริงของเรา ครูบาอาจารย์จะบอกว่าใช่หรือไม่ใช่ มันก็เป็นความจริงของเรา เอวัง