เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒ พ.ย. ๒๕๕๑

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๑
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ยังไม่ทอดกฐิน เดี๋ยวทอดกฐิน แต่! แต่ก่อนทอดกฐินเราจะพูดนิดหนึ่ง เพื่อให้คนปรับสมดุลใจให้มันดีก่อน แล้วทำบุญมันถึงจะได้บุญเยอะๆ ถ้าทอดตอนนี้เลยมันก็ทอดได้ แต่มันต่างกัน

วันนี้เป็นงานบุญ เป็นงานประเพณีของชาวพุทธ วันนี้เป็นวันทอดกฐินนะ เวลาทอดกฐิน เห็นไหม เวลาคนเราเกิดมา คนเกิดมาต้องมีปัจจัย ๔ เวลาทำบุญปกติทำบุญได้ทั้งปี แต่เวลาทอดกฐินนี่มันทอดกฐินได้ ๑ เดือน ตั้งแต่ออกพรรษาไป ๑ เดือน

ทอดกฐินหมายถึงอะไร? หมายถึงทอดผ้า เห็นไหม ทอดผ้า พระต้องมีความสามัคคีกัน เพราะในสมัยพุทธกาลเขาไม่มีจักร เขาต้องเย็บด้วยมือ ต้องให้เสร็จภายในวันเดียว ถ้าไม่มีความสามัคคีผ้านั้นจะทำให้เสร็จภายในวันเดียวไม่ได้ ความสามัคคีของพระต้องมีขึ้น นี่สิ่งที่ซ่อนอยู่ ในกฐินมันมีสิ่งที่ซ่อนเร้นไว้มหาศาลเลย แต่คนมันเข้าไม่ถึง ไปมองแต่ว่าการทอดกฐินคืองานบุญ

งานบุญคืองานหัวใจนะ งานบุญคือการเจตนา ถ้าพูดถึงสังคมร่มเย็นเป็นสุข เราจะมีความร่มเย็นเป็นสุข สังคมมีความขัดแย้ง เราอยู่ในสังคมเราก็มีความทุกข์ ความขัดแย้งในใจ ในหัวใจเรามีความขัดแย้ง ความขัดแย้งระหว่างกิเลสกับธรรมมันขัดแย้งอยู่ในหัวใจ เห็นไหม มันถึงต้องมีโอกาสทำความขัดแย้งในหัวใจให้มันสงบตัวลง นี่งานบุญถึงต้องให้เรามีที่พึ่งอาศัย เราทำบุญกุศลของเรา

นี่ใน ๑ ปีมีอยู่หนหนึ่ง ภายใน ๑ เดือนนี้การทอดกฐิน การทอดผ้า แล้วพระให้ผ้านั้นมันเป็นปัจจัยเครื่องอาศัย เห็นไหม นี่อาหาร ที่อยู่ ยารักษาโรค เครื่องนุ่มห่ม เรื่องกฐินเป็นเรื่องของเครื่องนุ่งห่ม พระจำพรรษาแล้วถ้ามีกฐินให้ทอดกฐิน ถ้ากฐินเดาะ.. กฐินเดาะคือไม่มีกฐิน กฐินทอดแล้วผ้ามันไม่ครบ ตัดผ้าไม่ได้

สมัยที่ผ้าไม่ได้ ถ้าผ้ามันครบ เห็นไหม ผู้ที่จะกรานกฐินต้องเป็นผู้ที่ฉลาด ฉลาดหมายถึงว่าตัด เย็บ ย้อมเป็น ถ้าทอดกฐิน เวลาตัด เย็บ ย้อมไม่เป็น ไม่มีมาติกา ๘ มาติกา ๘ หมายถึงว่าการกะ การเนา การตัด การเย็บ การย้อม ถ้าไม่มีอานิสงส์กฐินไม่เกิด

อานิสงส์! อานิสงส์คือความสามัคคีไง อานิสงส์คือการร่วมมือกันไง อานิสงส์คือความสามัคคีในหมู่สงฆ์ มันไม่มีอยู่อานิสงส์มันไม่เกิด อานิสงส์กฐิน เห็นไหม ว่าทอดกฐินแล้วได้อานิสงส์กฐิน เราสักแต่ว่าทำกันเป็นรูปแบบ แล้วเอาอานิสงส์มันมาจากไหน? นี่ถ้ามันไม่มีอานิสงส์ พระจำพรรษาแล้วได้ ๑ พรรษา จะไปที่ไหนไม่ต้องบอกลาได้ ถ้าได้กฐินได้อีก ๔ เดือน การไม่ต้องบอกลา

วินัยนะ อยู่ด้วยกันเหมือนครอบครัว ลูกจะไปไหนต้องบอกพ่อแม่ ถ้าลูกไม่บอกพ่อแม่ พ่อแม่จะเป็นทุกข์มาก ลูกศิษย์จะไปไหนต้องลาอาจารย์ เขาเรียกว่า “วิกาล” การลาวิกาลต้องลา ถ้าไม่ลาออกไปมันขาดนิสัย นี่ก็เหมือนกัน ภิกษุจะออกจากวัด จะไปไหนต้องบอกเจ้าอาวาส ถ้าไม่บอกเจ้าอาวาสเป็นอาบัติปาจิตตีย์

ทีนี้พอมันได้อานิสงส์ของกฐิน ไปไหนไม่ต้องบอกลาได้ ไม่เป็นอาบัติ เห็นไหม สิ่งที่ไม่เป็นอาบัติ นี่กรานกฐินหมายถึงสิ่งที่เป็นปัจจัยเครื่องอาศัยของพระ แต่เราทำบุญกุศลกันนี่พิธีกรรมสำคัญมากนะ พิธีกรรมจริงตามสมมุติ เด็กมันจะโตขึ้นมาต้องมีการศึกษา ต้องมีการพัฒนาของมันขึ้นไป เด็กมันจะโตไปตามวุฒิภาวะที่มันจะอยู่ในสังคมได้

พระก็เหมือนกัน การกระทำ วุฒิภาวะมันต้องโตไปเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป การโตเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป นี่การกระทำมันจะเป็นชั้นเป็นตอนของมันขึ้นไป ถ้าเป็นชั้นเป็นตอนมันต้องพัฒนาการของมัน เราทำบุญกุศลก็เหมือนกัน ทำบุญกุศลนี่เป็นประเพณีนะ ประเพณีคือการทำบุญกุศล ดูสิดูต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง มันสวยงามมากนะ แต่ต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง กินไม่ได้ ดูสิแม้แต่ผักบุ้ง ผักคะน้า มันเป็นสิ่งที่มีชีวิต เราเอามากินเป็นอาหารได้

สิ่งที่เอามากินเป็นอาหาร เห็นไหม หัวใจก็เหมือนกัน ประเพณีวัฒนธรรมมันเป็นสิ่งที่ประเพณีเครื่องแสดงออก เครื่องประกอบเท่านั้น แต่หัวใจของเรา ทำบุญแล้วมันต้องให้เข้ามาถึงสิ่งที่เป็นความรู้สึกสิ สิ่งที่ความเป็นจริงสิ หัวใจของเราได้บุญไหม? เราซาบซึ้งในบุญกุศลไหม? บุญกุศลอยู่ที่ไหน? บุญกุศลเราไปแสวงหาที่ไหน? ถ้าพูดถึงไปที่ไกลสุดแดนแล้วได้บุญกุศล ไปทำบุญที่ดาวอังคารกัน ไปทำบุญที่พระจันทร์เราได้บุญกุศลมากกว่า เพราะเราได้ไปที่ไกลสุดฟ้าหล้า

แต่ความจริงบุญกุศลมันอยู่ที่ใจใช่ไหม? เราจะไปไหน เราไปที่ไหนก็คือเรา เราไปอยู่บนดาวอังคารก็คือใจเรา ฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจถึงใจของเรา เราเข้ามาถึงความสงบของใจของเรา บุญมันอยู่ที่นี่ไง บุญมันอยู่ที่หัวใจของเรา เห็นไหม สิ่งที่มีชีวิต สิ่งที่มีความรับรู้นี่คือบุญกุศลของเรา แล้วเราเจตนาหมด เราเป็นผู้เสียสละออก แต่มันเป็นผลตอบสนองกลับมาที่ใจของเรา

สิ่งที่เราเสียสละออกไปมันเป็นวัตถุ แต่หัวใจของเรามันสละออก แล้ว ๑ ปีมีหนหนึ่ง พอ ๑ ปีมีหนหนึ่ง นี่ชาวพุทธเรามันก็มีงานบุญ พองานบุญเราก็ทำบุญกุศลของเรา สักแต่ว่าทำ ถ้าสักแต่ว่าทำใจเราไม่พัฒนา เห็นไหม ใจเราทำกัน ทอดกฐินก็ทอดกฐินกัน เฮทอดกฐินกัน เฮทอดกฐินเพื่ออะไรล่ะ? เพื่อไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อเฝ้าพุทธะ

ธรรมวินัยพระพุทธเจ้าวางบัญญัติไว้ ให้สิ่งที่กรานกฐิน งานวินัยบังคับไว้ให้ได้กรานกฐิน ให้ได้เพื่ออานิสงส์ เพื่อความสามัคคี เพื่อสังคม เพื่อความมั่นคงของศาสนา มั่นคงของศาสนานะ ในครอบครัวเรา พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ลูกเล็กเด็กแดงมีความสามัคคีกัน มีความรักผูกพันกัน ครอบครัวนั้นจะมั่นคงไหม?

ในศาสนาตั้งแต่ครูบาอาจารย์ลงมา ในวัดๆ หนึ่งมีครูบาอาจารย์ท่านดูแลสัทธิวิหาริก แล้วศาสนามันจะเจริญไหม? ศาสนามันจะมั่นคงไหม? เวลาบวชมา เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว บวชขึ้นมาแล้วก็ไม่มีใครดูไม่มีใครแล พระก็เป็นลูกกำพร้าไม่มีใครดูแล ถ้าธรรมวินัยทำไมไม่ดูแล ธรรมวินัยนะ อาจริยวัตร อาคันตุกวัตร

นี่อาจริยวัตร วัตรของอาจารย์ วัตรของสัทธิวิหาริกต้องดูแลกัน ดูแลตั้งแต่พ่อแม่ครูจารย์ เขาดูแลตั้งแต่การเป็นอยู่นะ ดูแลตั้งแต่เรื่องทิฏฐิมานะ เรื่องหัวใจ เราเลี้ยงลูกกันได้แต่ร่างกาย เราเลี้ยงหัวใจลูกเราไม่ได้ แต่ครูบาอาจารย์ท่านเลี้ยงร่างกายด้วย เลี้ยงหัวใจด้วย ต้องดูแลใจเขา ทิฏฐิมานะ มิจฉาทิฏฐิ ทิฏฐิความเห็นผิด การประพฤติปฏิบัติที่มันออกนอกลู่นอกทาง เห็นไหม เราต้องดึงกลับมา ดึงกลับมา เพราะอะไร? เพราะเราจะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พุทธะ ความรู้สึกคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ในหัวใจเรา สิ่งนี้อยู่ในหัวใจเรา เราจะไปกราบไหว้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่บุญอยู่ที่นี่ไง เราไปอินเดียกันนะ อินเดียมันไปเป็นประเพณี เป็นสังเวชนียสถานไปถึงก็เคารพบูชา แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่โคนต้นโพธิ์ ตรัสรู้อยู่โคนต้นโพธิ์ อาศัยโคนต้นโพธิ์ตรัสรู้อยู่ แต่หัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้

“ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต”

ถ้าเราประพฤติปฏิบัติของเรา เรากำหนดพุทโธของเรา เราทำความสงบของใจของเราเข้ามา สิ่งนี้ไง ถ้ากฐินมีมันก็เป็นงานบุญ ถ้ากฐินไม่มีมันก็ไม่เสียหาย มันไม่เสียหาย มีหรือไม่มีมันเป็นโอกาส ดูสิเวลาครูบาอาจารย์ท่านบอก เห็นไหม ท่านอยู่เพื่อโลก อยู่เพื่อโลกนะ เพราะให้โลกเขาได้ประโยชน์ของเขา

นี่ก็เหมือนกัน งานบุญถ้ามีสงฆ์ครบ ถ้ามีสงฆ์ ๕ องค์ขึ้นไปถึงทอดกฐินได้ นี่มันเป็นประเพณี เราจะห่างนะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าศาสนานี้จะเสื่อม เสื่อมเพราะลูกศิษย์ของเราเอง เสื่อมเพราะพระ เสื่อมเพราะสิ่งที่มันไม่ลงใจองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราถือประเพณี เราถือแต่พิธีกรรม เราจะเข้าไม่ถึงสิ่งที่มีชีวิต สิ่งที่ความรู้สึก ความรู้สึกคือบุญกุศล ความรู้สึกคือเรา คือหัวใจของเรา เห็นไหม ถ้าเราเข้าถึงใจของเรา เราเข้าถึงสิ่งนั้น.. สิ่งข้างนอกมันเป็นเรื่องสมมุติ สิ่งที่เป็นความจริงคือสิ่งที่เป็นสัจธรรมขึ้นมา นี่มันต้องมีเหตุเข้ามาไง ถ้ามีเหตุ..

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ”

ถ้าไม่มีงานบุญเราจะได้ฟังธรรมะไหม? ธรรมะมาจากไหน? ธรรมะมาจากใจของครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรมขึ้นมา มันเป็นเนื้อของธรรม แต่ธรรมะที่มาจากกิเลส ธรรมะที่มีการจดจำมา ธรรมะนี้ออกมาเราก็รู้ หนังสือใครก็อ่านได้ สิ่งที่อ่านได้มันมีอยู่แล้ว เห็นไหม ไม่ต้องให้ครูบาอาจารย์มาเทศน์หรอก เราก็อ่านของเราได้ คนทำไมต้องยอมรับคน ครูบาอาจารย์เราท่านมีอะไรดี เราทำไมต้องไปกราบไหว้บูชาท่าน ทำไมท่านก็คน เราก็คน ทำไมเราไม่ไหว้ตัวเราเองล่ะ?

เราไหว้ตัวเราเองไม่ได้เพราะอะไร? เพราะใจเราโลเล ใจเราไม่มั่นคง ใจเราไม่เชื่อตัวเราเอง เราเองก็ไม่เชื่อใจเรานะ เรานั่งอยู่นี่เราเชื่อตัวเราเองไหม? เรารักตัวเราเองไหม? ถ้ารักตัวเองทำไมไม่หาสิ่งที่ดีมาเพื่อตัวเอง ถ้าเราเชื่อตัวเราเองได้ ทำไมเราไม่เข้าใจเรื่องการเกิดและการตาย ตายแล้วจะไปไหน? นั่งอยู่นี่มาจากไหน?

นี่ว่ามาจากบ้าน มาจากพ่อ จากแม่ เกิดจากครรภ์ของมารดา.. เกิดจากกรรม! กรรมให้เราเกิด กรรมดีกรรมชั่วไง แล้วปัจจุบันนี้เราจะทำสิ่งที่ดีขึ้นไป สิ่งที่เป็นประเพณีวัฒนธรรมเพื่อใจให้มันควรแก่การงาน ให้มันน้อมมาในธรรมไง

ธรรมะคืออะไร? ธรรมะคือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค สัจธรรม.. ทุกข์อยู่ที่ไหน? ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ ละด้วยอะไร? นิโรธ นิโรธอยู่ที่ไหน? นี่ไงธรรมะมันอยู่ที่นี่ อยู่ที่การเกิดและการตายไง อยู่ที่การเกิดและการดับของจิต แต่การเกิดการดับไม่เคยเห็นมัน เราเห็นแต่วัตถุนะ มีแต่ความคิด

เจตนานี้สำคัญมาก ความคิดของใจสำคัญมาก นี้เราจะทำบุญ เห็นไหม เราก็ต้องมีเจตนา มีความเข้าใจว่าสิ่งนี้เราทำเพื่อใคร? ทุกคนที่ทำ ทำเพื่อตัวเองทั้งหมด สิ่งที่ก้าวเดินออกมานี่ใจเป็นคนให้มา ใจเป็นความปรารถนาให้มา ใจเป็นคนเรียกร้องให้มา เพราะมีความศรัทธา ศรัทธาเป็นหัวรถจักรดึงเรามา ดึงเรามา เห็นไหม

ดูสิเวลาเราขึ้นเขา ใครเป็นคนเอาเราขึ้นเขา ความรู้สึกเราใช่ไหม? เราก้าวขึ้นเขาไป ความรู้สึกเรา จิตวิญญาณของเราดันตัวเราเองขึ้นบนเขา เราเดินขึ้นไปเท่ากับเราแบกตัวเราเองขึ้นไป นี่ก็เหมือนกัน มาวัดนี่ใครนำมา จิตใจนำมาใช่ไหม? เราบอกรถนำมา พาหนะนำมา แต่ถ้ามันไม่อยากมานะ เอาเครื่องบินไปรับมันก็ไม่มา

นี่ศรัทธาเป็นหัวรถจักรดึงเราเข้ามา ดึงเข้ามานั่นล่ะ ดูสภาพแวดล้อมสิ นี่ไปวัดๆ วัดคือข้อวัตรปฏิบัติ วัตรคือธุดงควัตร วัตรคือข้อวัตรของพระ ไม่ใช่วัดเป็นสิ่งปลูกสร้าง สิ่งปลูกสร้างเดี๋ยวนี้เขาสร้างดีกว่าวัด ว่าสิ่งปลูกสร้าง เห็นไหม ศีลธรรมวัฒนธรรมเราสร้างได้ดีกว่าวัด สิ่งนี้มันเป็นที่อยู่ที่อาศัย เป็นเรื่องของข้างนอกนะ

นี่เรื่องของประเพณีวัฒนธรรมก็มีความจำเป็น จำเป็นสำหรับคนที่เข้ามาใหม่ จำเป็นสำหรับเรื่องของศาสนา ศาสนามันต้องมี เห็นไหม หัวใจนี่เราแก่แต่ชีวิตนะ เราแก่แต่อายุขัย แต่เราเข้าถึงธรรมได้ไหม? สามเณร ๗ ขวบเป็นพระอรหันต์ สามเณร ๗ ขวบเขาเข้าถึงได้ดีกว่าเราอีก เราอายุเป็น ๑๐๐ เรายังไม่เข้าใจว่าสมาธิเป็นอย่างไรเลย เรายังไม่เข้าใจว่าสัจธรรมเป็นอย่างไรเลย สามเณร ๗ ขวบเป็นพระอรหันต์ได้ เห็นไหม แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน

แต่ถ้ามันแก่คุณธรรมล่ะ? แก่คุณธรรมนะ ซึ้งใจเรื่องอย่างนี้มาก นี่คนที่มีคุณธรรมในหัวใจ เห็นคนทำคุณงามความดีมันจะมีอนุโมทนาทาน มันมีอนุโมทนาไปกับเขา เราอนุโมทนากับใครได้ ใครทำดีเกินหน้าเรา เรายอมรับไหม? นี่เพราะใจมันกระด้าง ใจไม่มีหลักเกณฑ์ แต่ถ้าใจมันมีคุณธรรมนะ ใครทำดีขนาดไหนมันอนุโมทนาไปกับเขา เพราะสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราปรารถนา สิ่งที่เราแสวงหา

สิ่งที่แสวงหาเรื่องของวัตถุทาน สิ่งที่เป็นบุญกุศลนี่วัตถุทานเรื่องหยาบๆ เห็นไหม แล้วหัวใจ หัวใจละเอียดเข้ามา ละเอียดเข้ามา นั่งเฉยๆ นะ กำหนดลมหายใจเข้าและลมหายใจออก งานที่หนักที่สุดคือการนั่งนิ่งๆ การนั่งนิ่งๆ เป็นงานที่หนักที่สุด งานอาบเหงื่อต่างน้ำ งานแบก งานหาม งานหยาบๆ งานนั่งนิ่งๆ แล้วบังคับให้มันอยู่เฉยๆ ห้ามกระดิกนี่นั่งไม่ได้เลย ใครก็ทำไม่ได้!

เวลาเราบอกว่าเราทุกข์ยากนะ งานนู้นก็หนัก งานนี้ก็หนัก นั่งเฉยๆ กำหนดลมหายใจเข้านึกพุท ลมหายใจออกนึกโธ นี่ทำให้ได้ ถ้าทำได้นี่งานอันละเอียดไง นี่ขนาดงานที่เราเห็นเป็นวัตถุนะ แล้วในหัวใจเราที่เราเอาใจของเราไว้ ใจของเราไม่ให้มันออกนอกลู่นอกทาง เราควบคุมได้ ถ้าเราควบคุมได้นะจิตเป็นสัมมาสมาธิ ถ้าจิตเป็นสัมมาสมาธิ ดูสิอย่างชีวิตเรานี่ เราไม่อยากเจ็บไข้ได้ป่วย เราไม่อยากเป็นอะไรเลย แต่เราก็เจ็บไข้ได้ป่วยเป็นธรรมดา

แต่ถ้าเวลาจิตของเรามันมีอารมณ์ความรู้สึก มันก็เหมือนกับเจ็บไข้ได้ป่วย มันเสวยอารมณ์ตลอดเวลา แล้วเรามาบังคับมันไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วย.. ฟังสิ คนที่ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย คนที่มีความสุขตลอดเวลาจะมีความสุขไหม? จิตที่ไม่เสวยอารมณ์ จิตที่ไม่กินเหยื่อ จิตที่ไม่มีความคิด ความฟุ้งซ่าน ความเครียด เครียดที่อารมณ์ที่มันกดขี่ใจ เราบังคับไม่ให้มันออกไปเอาเหยื่ออย่างนั้นจะมีความสุขไหม? ความสุขอย่างนี้เป็นแค่สมาธิ สมาธิเพราะอะไร? เพราะมันเป็นอนิจจัง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป

แต่ถ้าเวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม ท่านให้ออกวิปัสสนา วิปัสสนามันคืออะไร? นี่ไงว่าใช้ปัญญาๆ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ปัจจุบันนี้นะ ปัญญาที่ใช้กันอยู่นี้เขาเรียก “โลกียปัญญา” ปัญญาคือวิชาชีพ ใครเรียนศึกษามา จบมาสูงส่งขนาดไหน กิเลสเอาปัญญานั้นมาใช้หมดเลย เพราะกิเลสมันอยู่หลังความคิด สิ่งที่คิดนี่กิเลสอวิชชามันคิดหมด แล้วเราใช้ปัญญานี่ไม่เข้าใจเลยว่านี่เป็นปัญญาของกิเลส คิดว่าเรามีปัญญาๆ มากกันนะ เรามีปัญญา ทำไมเราไม่เอาชนะตัวเอง คนที่มีปัญญาต้องสามารถเอาความคิด..

นี่ปัญญาคือการรอบรู้ในกองสังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง คนมีปัญญามันต้องชนะความคิดตัวเอง คนชนะความคิดตัวเองนั่นคือคนมีปัญญา คนที่แพ้ความคิดตัวเอง จะมีความรู้สูงส่งขนาดไหนกิเลสทั้งนั้น กิเลสทั้งนั้น! กิเลสพาใช้ เอาความเร่าร้อน เอาความทุกข์มาเหยียบย่ำหัวใจทั้งนั้น แต่ในสถานะสังคมว่าตัวเองมีศักยภาพ มีความรู้ มีสถานะทางสังคม.. ตายหมด! ตายหมด! ไม่มีใครเหลือคาโลกนี้เลย

แต่ถ้ามีปัญญานะ จิตสงบเข้ามาแล้วออกเป็นโลกุตตรปัญญา ถ้าจิตไม่สงบนะ ความคิดนี่มันคิดตามวิชาชีพ คิดตามมุมมอง ใครมีการศึกษามาอย่างไรมันจะใช้มุมมอง ใช้ความคิดของตัว ใคร่ครวญตามนั้น.. ใคร่ครวญตามนั้น แล้วมุมมองของคนอื่นลงกันไหม? มุมมองของคนอื่นมันตีประเด็นนั้นต่างออกไป แต่ถ้ามันเป็นสัจจะความจริงนะ จะมุมมองใดก็แล้วแต่ สรุปลงคือมันต้องสงบตัวลง มันต้องโดนทำลาย กิเลสมันจะโดนทำลายเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป

การทำลายเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไปนี่ไง นี่ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องมีสัมมาสมาธิเข้ามาก่อน อานาปานสติ เห็นไหม อาฬารดาบส อุทก-ดาบสได้สมาบัติ ๘ ไม่มีปัญญาก็เข้าถึงไม่ได้ เขาเข้าสมาบัติได้ เขาเหาะเหินเดินฟ้าได้ เขารู้วาระจิต เขารู้ไปหมด รู้ต่างๆ รู้อย่างนี้รู้โดยสามัญสำนึก รู้โดยข้อมูลของจิต รู้โดยสามัญสำนึกที่เรากระทบเย็น ร้อน อ่อน แข็ง เราก็รู้ สามัญสำนึกเราก็รู้ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ทุกคนรู้ แล้วได้อะไร? รู้แล้วบังคับมันได้ไหม? รู้แล้วมันหายไปไหม? นี่ไงโลกียปัญญา!

ถ้าโลกุตตรปัญญาล่ะ? ถ้ามันเป็นสัมมาสมาธิเข้ามาก่อนนะ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เรากระทบ ใครเป็นคนกระทบ? สิ่งที่กระทบมันมีประโยชน์อะไร? สิ่งที่กระทบคือรับรู้ เพราะจริงตามสมมุติ เรามีสถานะ มีร่างกาย มีอากาศ มีลมพัด มันต้องกระทบเป็นธรรมดา สิ่งที่กระทบเป็นธรรมดาแล้วเราไปตื่นเต้นไปกับอะไร?

สิ่งนี้เป็นสมมุติอันหนึ่ง แล้วสิ่งที่เป็นวิมุตติความจริงล่ะ? ความจริงที่ไม่สมมุติอยู่ที่ไหน? มันอยู่ที่ความรู้สึกที่รู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ความรู้สึกอันนั้นมันเข้าใจแล้วมันถอยเข้ามา มันถอยเข้ามา ความรู้สึกไม่เคยตายไง ความรู้สึกมีความรู้สึกตลอดเวลา จะเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ดี ชั่ว มันรู้ตลอดเวลา แต่ไม่ตื่นเต้นไปกับเขา มันบังคับของมันได้ใช่ไหม?

นี่ไงบุญกุศลมันอยู่ที่นี่ เห็นไหม งานที่ละเอียดๆ เข้าไป นี่สิ่งที่ทำกันอยู่นี้มันก็เป็นบุญอันหนึ่ง ไม่ใช่ว่าไม่ใช่บุญ.. ใช่! เป็นบุญไง เป็นการเตรียมไง ดูสิเขาจะปั้นโอ่งปั้นไห เขาต้องเตรียมดินใช่ไหม? นี่เราเป็นชาวพุทธ เราต้องเตรียมหัวใจของเราให้สงบให้นิ่งนี่ไง เวลาฟังเทศน์ต้องนิ่งแล้วฟังธรรม

นี่ก็เหมือนกัน พอจิตมันสงบเข้ามา สงบควรแก่การงาน แต่เราไปมองข้ามว่าสิ่งที่เราทำนี่มันเป็นปัญญาๆ ปัญญาในปัจจุบันนี้นะ ปัญญาของชาวพุทธ ๙๙ เปอร์เซ็นต์เป็นปัญญากิเลส

“มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา เราจะไม่ดำริถึงเจ้าอีกแล้ว เจ้าจะเกิดในหัวใจของเราไม่ได้อีกเลย”

มันเกิดความดำริ.. ความคิด เห็นไหม ดำริถึงคิด แล้วนี่มารเกิดตรงดำริ ตอนดำรินี่มารมันเกิด แล้วความคิดมันหยาบกว่าความดำริ แล้วมารมันไม่ครอบงำหรือ? มารมันไม่ใช้ความคิดเราหลอกเราหรือ? มีศักยภาพมาก มีปัญญามาก มีความรู้มาก บริหารจัดการเก่งมาก เวลาล่วงไปๆ นะ ตายเปล่า ตายเปล่าๆ ไม่มีอะไรติดหัวใจไปเลย ไม่มีสิ่งใดคาหัวใจ ที่มันเป็นประสบการณ์จิตที่มันทำไว้เลย ไม่มีสิ่งใดเป็นของมันเลย

นั่งนิ่งๆ ทำใจให้สงบ มันรู้จักความสงบ มันเห็นการเคลื่อนไหว เกิดมามีคุณค่าตรงนี้ เหมือนคนตาบอด เกิดมาทั้งชาติตาบอด บอดเพราะกิเลสมันปิดตา แล้วก็หลับตาเดินไปทั้งชีวิต แล้วได้ลืมตาขึ้นหนหนึ่งเห็นภาพ เห็นเมือง เห็นสังคม มันจะตื่นเต้นมากนะ

จิตถ้ามันสงบขึ้นมาหนหนึ่ง เหมือนได้ลืมตามาแวบหนึ่ง ได้รู้จักจิตของตัวเอง มันจะมีคุณค่าแค่ไหน แล้วเราลืมตาขึ้นมา เราได้สร้างบ้าน สร้างเมือง ได้สร้างสังคม ได้สร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นมาด้วยโสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค เราสร้างบ้านแปลงเมืองนะ เราสร้างบ้านแปลงเมืองในใจของเรา เราสร้างของเราขึ้นมาเอง

สิ่งที่สร้าง เห็นไหม นี่สันทิฏฐิโก เป็นปัจจัตตัง เป็นความรู้จริง สิ่งนี้เป็นจริง นี่ไงงานละเอียดๆ ที่งานในศาสนามันอยู่ตรงนี้ งานบุญก็คืองานบุญนะ งานบุญไม่ใช่ไม่มีความจำเป็น ถ้าไม่มีความจำเป็น ถ้าเราไม่มีศรัทธาเราจะมาวัดกันไหม? ไม่มีงานบุญเราจะได้ฟังเทศน์ไหม? ไม่มีสถานที่เป็นอารามิกเป็นที่อยู่ของผู้ไม่มีเรือน เราจะมีโอกาสได้ปฏิบัติไหม? มันเป็นสิ่งที่รองรับกันมา แต่! แต่อย่าไปติดมัน อาศัยแล้วก้าวเดินไป อาศัยทุกอย่าง

นี่เราเกิดมามีร่างกายใช่ไหม? ร่างกายนี้เป็นของเรา เป็นของเราจริงๆ นะ เกิดจากท้องพ่อ ท้องแม่นี่เป็นของเรา แล้วมันจะอยู่กับเราตลอดชีวิตไหม? มันจะอยู่กับเราตลอดไปไหม? มันต้องตายไปเป็นธรรมดา หัวใจต้องสละร่างกายทิ้งไว้ในโลกนี้ แล้วพอมันทิ้งไปแล้วเราได้อะไร? แต่ถ้าเรามีปัญญาใช่ไหม? เราเกิดมาแล้วเราก็มีร่างกายนี้ มีจิตใจนี้ จิตใจนี่บริหารจัดการธุรกิจต่างๆ การทำการค้าต่างๆ ต้องทำนะ พระยังต้องบิณฑบาต แต่ทำอาศัยมัน แล้วเราจะมีงานอีกอันหนึ่งคืองานที่หัวใจเรา

ถามตัวเองนะ ว้าเหว่ไหม? สงสัยในการเกิดและการตายไหม? สงสัยว่าเราจะไปไหนกัน เวลาตายแล้วใจมันจะไปไหน? เวลามานี่มันมาจากไหน? นี่ถ้ามันมีความคิดถามอย่างนี้มันจะทำงานอีกอันหนึ่ง ไม่ใช่ทำงานของโลก งานบริหารจัดการนี่ไง งานของโลกเราก็ทำ เพราะเราเกิดมามีร่างกายและจิตใจ เราบริหารจัดการไป แล้วเราหาเวลาของเรา ก่อนนอนสวดมนต์ นั่งสมาธินะ นั่งสมาธินี่

เวลาโยมมาทำบุญโยมต้องหาปัจจัยมา ต้องหาสิ่งของมาเสียสละมันถึงเป็นบุญกุศล เวลาเรานั่งสมาธินะ เราเอาร่างกายเราถวายพระพุทธเจ้า เพราะในสิทธิเสรีภาพเราจะนอนเมื่อไหร่ก็ได้ เราจะทำอะไรก็ได้เป็นสิทธิของเรา แล้วเราสละสิทธิ์ เอาร่างกายนั่งตรงๆ แล้วพุทโธ พุทโธ เห็นไหม เราเอาร่างกายเราทั้งร่างบูชาพระพุทธเจ้าจะได้บุญไหม?

เขาเสียสละกันแค่เปลือกๆ แค่วัตถุ เราเสียสละ ๕ นาที เสียสละชั่วโมงหนึ่ง เสียสละ ๒๔ ชั่วโมง การนั่งไง การนั่งสมาธิ ๕ นาที ๑๐ นาที ชั่วโมงหนึ่ง เห็นไหม เราเสียสละชั่วโมงหนึ่ง เสียสละได้ผลหรือไม่ได้ผลอีกเรื่องหนึ่ง

การเสียสละนี่เราเสียสละแล้ว บุญกิริยาวัตถุ กิริยาที่สุข กิริยาที่สบาย เราเสียสละแล้วเรามานั่งสมาธิ เรามานั่งภาวนาได้บุญไหม? นี่ไงไม่ต้องลงทุนลงแรงเลย หัวใจกับร่างกายนี่บูชาพระพุทธเจ้าได้บุญมาก แต่เราก็น้อยเนื้อต่ำใจกัน เราเกิดมาทุกข์มายาก เราไม่มีเงินไม่มีทอง เราไม่มีโอกาสทำบุญ.. แล้วร่างกายเราไม่มีหรือ? หัวใจเราไม่มีหรือ?

นี่ไงปฏิบัติบูชาสำคัญที่สุด เพราะการปฏิบัติบูชาคือโอกาสที่เราจะมีโอกาสได้สัมผัสธรรม สัมผัสกับสมาธิธรรม สัมผัสกับความรู้สึก ดูสิลมพัดมาเรายังมีความรู้สึกร่มเย็นเลย แล้วจิตสัมผัส แล้วเราไม่ได้สัมผัส เห็นไหม มันเป็นเปลือกส้มกับส้มนะ ความคิดเป็นเปลือกส้ม จิตเป็นเนื้อส้ม แล้วมันสัมผัสที่เปลือกส้ม สัมผัสที่ความคิด ความคิดนี่สัมผัสตลอดเวลาเลย

เปลือกส้มๆๆ เกิดจากความคิดไง คิดทุกข์คิดยาก คิดตลอดไปเลย แล้วเวลามันใช้ปัญญามันสงบเข้ามาถึงตัวเนื้อส้ม เห็นไหม เนื้อส้ม ตัวใจ ตัวความรู้สึกมันสัมผัสอันนี้ ความคิดนี่คิดขนาดไหนก็ลืม สัญญาจำได้เดี๋ยวก็ลืม แต่ไปสัมผัสที่เนื้อนะ ถ้าจิตมันเคยสงบมันจะฝังใจไปตลอดชีวิต มันจะไม่มีวันลืม

เวลาเราเกิดมานี่ ทำไมคนถึงระลึกอดีตชาติไม่ได้ ระลึกอดีตชาติไม่ได้เพราะความคิดเรา เห็นไหม ความคิดเรานี่เดี๋ยวเราก็ลืมใช่ไหม? เขาเรียกสัญญา.. อวิชชาปัจจยา สังขารา สังขารปัจจยา วิญญาณัง ปัจจยาการคือตัวจิต ขันธ์ ๕ คือตัวเปลือก เวลาเราคิดกันนี่ สามัญสำนึกเราเป็นมนุษย์ เราคิดด้วยขันธ์ ๕ คิดด้วยเปลือก คิดด้วยเปลือกส้ม เวลาคนจะตายมันจะหดเข้ามาเป็นเนื้อส้มแล้วหลุดออกจากใจนี้ไป

ใจนี่เวลาจะตายมันจะหดเข้ามาแล้วออกจากร่างไป มันเป็นเนื้อส้ม มันไปเกิดใหม่ พอเกิดใหม่ เกิดเป็นมนุษย์เป็นส้ม ได้เปลือกส้ม ขันธ์ ๕ เกิดเป็นเทวดาไม่มีร่างกาย นี่เนื้อส้มไปเกิดเป็นเทวดาสถานะมันเปลี่ยนไป สถานะที่ไปเกิดเป็นพรหมนี่ผัสสะ มันขันธ์เดียว นี่ตัวจิตคือตัวไม่เคยตาย แต่ความคิดสถานะของมนุษย์ ของสัตว์โลก มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

นี่ไงเวลามันหดตัวเข้ามาถึงว่ามันหดตัวจากเปลือกเข้ามาที่เนื้อ นี่ปฏิสนธิจิต.. ปฏิสนธิจิต วิญญาณขันธ์ กับวิญญาณในปฏิจจสมุปบาทมันคนละอัน วิญญาณในปฏิจจสมุปบาท วิญญาณปฏิสนธิ วิญญาณในมนุษย์วิญญาณรับรู้ วิญญาณกระทบ มันหยาบ ละเอียด คนภาวนาจะรู้เรื่องอย่างนี้หมดเลย

อย่างเช่นเราเป็นช่างซ่อมรถยนต์นะ ในรถยนต์ทั้งคันนี่เราซ่อมได้ทั้งคันเลย เราจะรู้เลย เราจะถอดซ่อมอย่างไรก็ได้ ในระบบของจิตเราแก้ไขได้หมด! เราถอดได้หมด! ถ้ามันถอดไม่ได้ มันรื้อออกไม่ได้ มันจะถอดรถยนต์ทั้งคันออกมาได้อย่างไร? จิตถ้าไม่รู้จะทำความสะอาดมันได้อย่างไร? ตัวจิตนี่มันรื้อมันถอนออกมา รื้อค้นทำความสะอาดหมด แล้วมันสะอาดหมด มันพ้นหมด

นี่ถ้ามันเข้าใจอย่างนี้ เห็นไหม ความรื้อค้นให้มันสะอาดแล้ว ทำความสะอาดแล้วมันยังมีไหม? มันยังมีอยู่ มันต้องทำลายตัวภพ ทำลายแม้แต่วัตถุทั้งหมด ทำลายหมดเลย ยิ่งทำลายยิ่งสะอาด การฆ่ากิเลส พระพุทธเจ้าอนุโมทนานะ การฆ่ากัน การทำลายกัน พระพุทธเจ้าปฏิเสธหมดเลย มีอยู่อย่างเดียวที่พระพุทธเจ้าอนุโมทนาก็คือการฆ่ากิเลส การฆ่าความเห็นผิดของเรา การฆ่าสิ่งที่มันฝังใจเรา

ทุกคนมีสิทธิ์ ทุกคนมีสิทธิ์ทำได้ เพราะว่ามันเป็นเรื่องความรู้สึกของทุกๆ ดวงใจ เพราะทุกๆ ดวงใจที่มาเกิดมันอวิชชามาเกิด ฉะนั้น เกิดมาแล้ว เพียงแต่ใครจะตื่นไปกับโลก เพลินอยู่กับโลก ใช้ชีวิตสูญเปล่า ใครจะสละ ใครจะหาทางออก เห็นไหม นี่อยู่ที่จริต อยู่ที่นิสัย อยู่ที่คนจะเอาหรือไม่เอา นี่วาสนาอยู่ที่นี่

เวลาเราประพฤติปฏิบัติกันนี่ปฏิบัติไม่ได้ ทำไมเราปฏิบัติไม่ได้ ปฏิบัติยาก เราเป็นคนไม่มีวาสนา.. ถ้าไม่มีวาสนาจะไม่มาฟังธรรมอย่างนี้ ถ้าคนไม่เคยฟังธรรมอย่างนี้นะ เขาจะต้องฟังเป็นปรัชญา ฟังสิ่งที่เป็นวิชาการ ซึ้งมาก ซึ้งมาก บอกนั่นเป็นธรรมะสูงส่ง เวลาพูดถึงข้อเท็จจริงฟังไม่รู้เรื่อง ฟังไม่รู้เรื่อง เอ๊ะ.. เขาไปคุยอะไรกันไม่เห็นรู้เรื่อง เพราะไม่มีพิธีกรรม เห็นไหม

พิธีกรรมมันเป็นเปลือก ต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง กินไม่ได้ ผักบุ้งต้นเดียวก็กินได้ หัวใจนี่ความรู้สึกกระทบทีเดียวก็มีความรู้สึก ความรู้สึกอันนี้ จิตนี้มันมีคุณสมบัติ ต้องย้อนกลับมาที่นี่ นี่ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ปั๊บ เวลาเราทำบุญกุศลมันจะออกจากหัวใจของเราไง ยิ่งออกจากหัวใจของเรา มันก็ย้อนกลับเข้าไปถึงจิตลึกๆ ของเรา เราทำจากเจตนา ทำจากศรัทธา ไม่ใช่ทำสักแต่ว่าทำ

หน้านี้หน้างานบุญเนาะ เขาทำบุญก็ทำสักแต่ว่าควักให้พ้นๆ ตัวไป อ้าว.. ให้ ๕ บาท ๑๐ บาท อ้าว.. ไปๆ ให้พ้นๆ ตัวไป.. สักแต่ว่าทำ กับทำจากฐาน ทำจากราก ทำจากหัวใจนะมันเข้าถึงใจ เห็นไหม ทำบุญเหมือนกัน แต่ได้บุญไม่เหมือนกัน เราเป็นชาวพุทธนี่เราหยาบกันเอง เรามองข้ามกันไปเอง แล้วก็ไม่น่าเชื่อถือ ไม่น่าศรัทธา สังคมไม่น่าไว้ใจ สังคมมีแต่หลอกลวง แล้วเราก็ยิ่งไม่ไว้ใจ เราก็ยิ่งห่างออกไป

แต่ในสังคมทุกสังคมมีคนดีและคนเลวปนกัน ไม่มีสังคมไหนมีดีทั้งหมดและเลวทั้งหมด มันอยู่ที่วาสนาของเรา อยู่ที่การแสวงหาของเรา เราจะหาของเรา แล้วเราแก้ไขของเรา มันจะเป็นโอกาสของเรา เอวัง