เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๒ พ.ย. ๒๕๕๑

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๑
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้วันพระ ถ้าเป็นชาวพุทธนะวันพระเป็นวันหยุด วันโกน วันพระ.. วันโกนเป็นวันเตรียมตัว วันพระเป็นวันหาผลประโยชน์ให้ใจ หาผลประโยชน์ให้ใจแต่คนต้องรู้ ถ้าคนไม่รู้ ผลประโยชน์ เห็นไหม เด็กๆ มันอยากเล่นอยากสนุกของมัน ผู้ใหญ่อยากทำมาหากิน อยากมีหน้าที่การงาน ผู้ที่ไม้ใกล้ฝั่งต้องหาที่พึ่ง ที่พึ่งของใจนะ

ไม้ใกล้ฝั่ง เวลาไม้ใกล้ฝั่งเราจะไปไหน? มันจะอาลัยอาวรณ์นะ อาลัยอาวรณ์กับภพชาติ แต่เราจะเกิดจะตายอย่างนี้มาตลอด เห็นไหม

“ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด”

ชีวิตหนึ่ง เราเกิดมาแล้วเราจะมีคุณงามความดีได้ขนาดไหน? โอกาสให้ทำคุณงามความดีนะ คุณงามความดี โลกเขามองไม่เห็น เขาบอกว่านี่พระ นักบวชเป็นคนที่ว่าขี้เกียจขี้คร้าน ไม่ทำหน้าที่การงาน แต่เวลามาประพฤติปฏิบัติ ถ้าครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติมาแล้ว ท่านจะเห็นเลยว่าการต่อสู้เพื่อเอาชนะตนเองเป็นงานที่ลำบากที่สุด

การนั่งเฉยๆ ลมหายใจเข้านึกพุท ลมหายใจออกนึกโธ บังคับตัวเองให้นิ่งๆ นี่บังคับได้ยากมาก บังคับได้ยากมากนะ ถ้าใจมันนิ่ง ใจมันมีหลักมีเกณฑ์ของมัน ใจมีหลักมีเกณฑ์ เห็นไหม ความสุขแค่จิตสงบมันมีความสุขมหาศาลเลย แต่ถ้าเกิดมันมีปัญญาใคร่ครวญของมันนะ แล้วมันพ้นจากกิเลสเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป มันยิ่งเป็นความลึกลับมหัศจรรย์

ฟังนะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ ปรารถนาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อจะมารื้อสัตว์ขนสัตว์ แต่เวลาตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้วทำไมทอดธุระล่ะ? จะสอนได้อย่างไร? จะรู้ได้อย่างไร? นี่มันเป็นความมหัศจรรย์ขนาดนั้นเลยแหละ เพราะคนที่เตรียมพร้อมมา เห็นไหม ดูสิดูคนมีเชาว์ปัญญา มีอำนาจวาสนา เขาทำอะไรประสบความสำเร็จไปทั้งหมด นั่นคือบุญกุศลของเขา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนาจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ เตรียมพร้อมมาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว สิ่งที่จะสื่อสารออกมา เห็นไหม พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ตรัสรู้เองโดยชอบ ตรัสรู้ คนรู้นี่จะไม่สอนเป็นไปไม่ได้ คนรู้สอนไม่ได้ หรือไม่เข้าใจจะแนะนำเป็นไปไม่ได้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนาจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ เตรียมพร้อมมาแล้วมันยังลึกลับมหัศจรรย์ขนาดนั้น ฉะนั้น เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นไป เราเอาความเห็นของเรานะ ความเห็นของเราว่าธรรมะเป็นอย่างนั้น ธรรมะเป็นอย่างนั้น หรือความประสบสัมผัส เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก ความรู้เฉพาะตน ตนเข้าไปรู้ธรรมเห็นธรรม เข้าไปสัมผัสธรรม แล้วก็ไปตื่นเต้นกับสิ่งที่รู้ที่เห็น ความตื่นเต้นนี่เหมือนสามล้อถูกหวย..

สามล้อถูกหวยนะ เขาถูกหวยขึ้นมา เขาได้รางวัลมา นี่เขาไม่ได้บากบั่นมุมานะทำมาหากินมา เขาไม่เห็นค่าของเงิน เห็นไหม เขาไม่ได้เก็บรักษาของเขา เราทำหน้าที่การงานมา เรามุมานะ เราเก็บหอมรอมริบมา เราประหยัดมัธยัสถ์ขึ้นมา สะสมขึ้นมากว่าจะเป็นเงินเป็นทอง เราจะใช้เราจะจ่ายเราต้องใคร่ครวญ เราต้องคิดนะ เพราะเงินนี้หามายาก สามล้อถูกหวยเขาได้รางวัลมา เขาได้เงินมาโดยง่าย เขาใช้จ่ายของเขา เขาไม่ได้คิดถึงเห็นคุณค่าของเขา

ในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติจิตมันเป็นไปได้ อำนาจวาสนาของคนมันไม่เหมือนกัน มันอาจจะสงบได้ มันอาจจะปล่อยวางได้เป็นครั้งเป็นคราว เห็นไหม สามล้อถูกหวย ถูกหวยเพราะอะไร? เพราะมันไม่รู้จักวิธีรักษา ถ้าเรารู้จักวิธีรักษา ตั้งแต่ทำความสงบของใจขึ้นมา เรามีศีล มีสมาธิ ปัญญา

ศีล! ศีลคือความปกติของใจ ศีลถ้าเป็นทางโลก ศีลปฏิบัติไม่ได้ ศีลคือการบังคับตน ศีลคือสิ่งที่ทำให้โอกาสของเราคับแคบมา เราจะแข่งขันกับทางโลกเขาไม่ได้ เราแข่งขันทางโลกเขาด้วยธรรมะนะ ด้วยความซื่อสัตย์ ด้วยความสุจริต นี่สิ่งที่เครดิตของเรา ความเชื่อถือของเรามันจะมีคนนับหน้าถือตา กลิ่นของศีลหอมทวนลม.. กลิ่นของศีล กลิ่นของธรรม

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่ เขาปรารถนาอยากพบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เขาปรารถนาจะพบมาก แต่เวลาเขามาพบนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นมนุษย์ เวลาเราอยู่กับครูบาอาจารย์ เห็นไหม หลวงปู่มั่นชื่อเสียงคับฟ้าเลย เวลาครูบาอาจารย์เราไปเห็นไหม? หลวงปู่พรหมท่านไปเห็นหลวงปู่มั่นครั้งแรก บอกว่า

“อู้ฮู.. ชื่อเสียงดังคับฟ้าเลย ตัวเล็กๆ มีศักยภาพอย่างนี้จะมาสอนอะไรเรา”

นี่เรามองกันแต่รูปร่างของคนไง เราไม่ได้มองหัวใจของคน เราไม่ได้มองความรู้จากภายใน.. ความรู้จากภายในนะ สิ่งที่เป็นความรู้จากภายใน เห็นไหม มันจะรู้ได้ด้วยอะไร? ด้วยการแสดงธรรม ธรรมะจะรู้ได้ต่อเมื่อการแสดงออก คนเราจะฉลาดหรือโง่อยู่ที่การแสดงออก เวลาพูดออกมา เวลาเขาทำหน้าที่การงานของเขามันบอกสื่อหมดแหละ

นี่คนนี้คนโง่ คนฉลาด ถ้าคนฉลาดนะเขาจะมีไหวพริบของเขา เขาจะรู้ว่ากาลเทศะควรหรือไม่ควร สิ่งที่ควรหรือไม่ควรเราพูดออกมานะ ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ เป็นผู้ใหญ่สั่งสอนเรา พูดออกมาเถียงไม่ออกนะ มันแทงหัวใจ

“จากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง”

ใจดวงหนึ่งจะควบคุมใจของเราได้ เราต้องมีปัญญาเหนือมัน เหนือความคิดของเรา ปัญญาการรอบรู้ในกองสังขาร สังขารคือความคิด ความปรุง ความแต่ง มันดีดดิ้นอยู่กลางหัวใจของเรา เราจะเอาอะไรไปรู้ทันมัน เรามีแต่ตามมันนะ เห็นไหม กิเลสมันมีอำนาจเหนือเรา มันใช้ขอเกี่ยวจมูกแล้วมันลากเราไป ความคิดนี่ลากเราไป

เช่น ความปรารถนาดีของเรา ในการประพฤติปฏิบัติของเราเราก็อยาก อยากอย่างนี้อยากเป็นมรรค เพราะอยากทำคุณงามความดี คนเรามันคนมีชีวิต มันมีความรู้สึกมันก็ต้องมีความอยากเป็นธรรมดา แต่อยาก เห็นไหม อยากในเหตุในผล อยากในการทำหน้าที่การงาน ความเพียรชอบ ความวิริยะอุตสาหะมันมี แต่เราเข้าใจผิดกันไง เราเข้าใจผิดว่าความวิริยะอุตสาหะนี้เป็นกิเลส ความเพียรนี่เป็นกิเลส การกระทำความอยากเป็นกิเลส

ความอยากเป็นกิเลสคืออยากไม่มีเหตุมีผล การอยากทำในสิ่งที่ผิดทุศีล ในการผิดศีล ผิดธรรม ผิดความดีความงามของโลกเขา เป็นคนขวางโลกไป นี่เป็นกิเลส แต่ถ้าเป็นทางโลกนะ เห็นไหม เราเคารพกตัญญูกตเวที เราระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นแก้วสารพัดนึก

คนที่ระดับของทานเขาก็นึกสละทาน เขาทำบุญกุศลของเขา เขามีความสุขของเขา คนที่ถือศีล เห็นไหม ดูฤๅษีชีไพรเขาถือศีลของเขา เราถือศีลของเรา เรามีศีลของเรา เราดีกว่าคนสละทาน แล้วมันไม่เกิดปัญญาขึ้นมา เห็นไหม แล้วเกิดปัญญาขึ้นมา แล้วปัญญาของมัน มันก็ดีขึ้นไป เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป

สิ่งที่มันเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป นี่มันละเอียดลึกซึ้งขึ้นไป เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป เรารู้จักถนอม รู้จักรักษา รู้จักทำของเรา เห็นไหม มันต้องมีปัญญา มันต้องมีวุฒิภาวะ ถ้าไม่มีวุฒิภาวะ เราไปเจอสิ่งใดอย่าเพิ่งเชื่อ กิเลสมันหลอกเรานะ อุปกิเลส กิเลสอย่างหยาบๆ กิเลสคือความเร่าร้อนของใจ กิเลสคือตัณหาความทะยานอยากที่มันเร่าร้อน มันเผาลนเราอยู่นี่มันเป็นกิเลส เวลาจิตสงบขึ้นมานี่ว่าง มีความสงบ อุปกิเลสไง

เราไปติดมันอีก ไปติดความว่าง ติดแสงสว่าง ติดทุกอย่าง มันก็เป็นกิเลสอีก เห็นไหม มันเป็นกิเลสอย่างละเอียด เราไม่รู้จักมัน เราไม่เข้าใจมัน เราไปติดกิเลสอย่างละเอียดมันก็เป็นกิเลส แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์ล่ะ? ถ้ามีครูบาอาจารย์นี่มันมีวุฒิภาวะ สิ่งนี้มันสว่างขนาดไหน มันว่างขนาดไหน มันก็คู่กับสิ่งตรงข้าม ว่างคู่กับไม่ว่าง สว่างคู่กับมืด ทุกอย่างถ้าเป็นของคู่ มันเป็นธรรมะจริงไหม? มันจะเป็นของคู่อยู่ เห็นไหม

นี่พรหมจรรย์ เราถือพรหมจรรย์ เราไม่ใช่ชีวิตเป็นของคู่ตามโลกเขา ถือพรหมจรรย์ถือเพื่อใคร? ปฏิบัติธรรมเพื่อใคร? ถ้าปฏิบัติธรรมเพื่ออยากเป็นครูบาอาจารย์เขา นี่ปฏิบัติธรรมเพื่ออยากเป็นครูบาอาจารย์เขา แล้วเมื่อไหร่จะได้เป็นครูบาอาจารย์เขาซักทีล่ะ? เมื่อไหร่จะได้สั่งสอนเขา เขาไม่ฟังเราหรอก

เขาไม่ฟัง เพราะอะไร? เพราะเราไม่รู้จริง เพราะความอยาก นี่ความอยากเป็นกิเลส เพราะเราไม่ได้ปฏิบัติเพื่อความอยากเป็นครูบาอาจารย์เขา เราปฏิบัติเพื่อฆ่ากิเลสของเรา เราปฏิบัติพรหมจรรย์เพื่อเรา พรหมจรรย์เพื่อเอาใจของเราไว้ในอำนาจของเรา พรหมจรรย์เพื่อความสุขของเรา

ความทุกข์ ความสุข เห็นไหม ความสุขอย่างหยาบๆ จิตว่าง จิตปล่อยวาง จิตเป็นแสงสว่าง นี้เป็นความสุขนะ แต่ทำไมมันเสื่อมไปล่ะ? เวลามันเสื่อมสภาพไป เห็นไหม นี่อุปกิเลส ความว่าง ความสว่างมันเป็นของคู่ไง ของคู่กัน มันเจริญขนาดไหนมันก็เสื่อมได้ มันเป็นอนิจจัง

“สิ่งใดเป็นอนิจจังสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา”

ความที่เป็นอนัตตา ธรรมชาติของมัน มันแปรปรวนตลอดเวลา ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติมันแปรปรวนทั้งนั้นแหละ มันเป็นอนัตตา.. สัพเพ ธัมมา อนัตตา แต่มันมีอันหนึ่ง อกุปปธรรม ธรรมที่ไม่แปรสภาพ สิ่งที่ไม่แปรสภาพมันมีเหตุมีผล

ขณะจิตที่มันเปลี่ยนแปลงนะ ปุถุชน กัลยาณปุถุชน จะไม่เข้าใจหรอกว่าปุถุชนกับกัลยาณปุถุชนมันแตกต่างกันอย่างไร? แต่เวลาเราปฏิบัติไปครบวงจร เราผ่านพ้นครบวงจรแล้วเราถึงจะแยกแยะได้ว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าเรายังเริ่มต้น เราเดินนะ เราปีนขึ้นเขา เราไปถึงเริ่มต้นจาก ๑ ใน ๔ ของเขา จากครึ่งทางของเขา จาก ๓ ใน ๔ ของเขา จากยอดเขา ไปถึงยอดเขามองลงมานะ เราจะรู้เลยว่าเราประสบการณ์อย่างไร?

แต่เราไป ๑ ใน ๔ ของเขา เรายังสงสัยอีกนะว่า ๓ ส่วนบนเขานี่มันคืออะไร? มันจะมีอุปสรรคอีกแค่ไหน? แค่เราปีนขึ้นมาส่วนเดียวเรายังมีความทุกข์ยากขนาดนี้ แล้วข้างหน้ามันจะเป็นอย่างไร? เห็นไหม ขณะจิตที่มันเป็นโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี ถ้ามันยังไม่เข้าใจ มันไม่ครบวงจรนี่มันไม่เข้าใจหรอก มันไม่เข้าใจ แต่หน้าที่ของเราต้องปีนเขา ภูเขา ภูเรา

ภูเขานี่มันอยู่ข้างนอกนะ มองภูเขาสิ ภูเขานี่เสียดฟ้าเลย เราจะมีปัญญาขึ้นไปได้ขนาดไหน? สูงเสียดฟ้าก็อยู่ใต้ฝ่าเท้าเรานะ เราขึ้นไปถึงยอดเขาแล้ว สูงสุดแค่ไหนมันก็อยู่ในฝ่าเท้าเรา ตีนของเราอยู่เหนือยอดเขานั้น ในกิเลสของเรา ในหัวใจของเราที่เราจะสู้มันไม่ไหว เราจะต่อสู้มันไม่ได้ เราทุกข์ เรายาก เราทุกข์ยากนะมันสุดวิสัยที่จะทำได้ แต่ถ้าเรามีศรัทธามีความเชื่อของเรา เห็นไหม เราทำของเรา เราพยายามของเรา

เราอย่าเชื่อ อย่าเพิ่งเชื่อ อย่าเพิ่งแน่ใจว่าสิ่งนั้นเป็นความจริง ถึงที่สุดของมันนะ ถ้าถึงที่สุดของมัน ขณะจิตที่มันแปรสภาพจากปุถุชนเป็นกัลยาณปุถุชน ปุถุชนนี่สิ่งใดเป็นเรา สรรพสิ่งเป็นเรา แล้วกิเลสนะมันกลัวจะเสียรู้เขา กลัวจะผิดพลาด มันยึดไง เรากลัวจะไม่รู้ กลัวจะไม่เข้าใจ เราจะแสวงหามันไปยึดไว้หมดเลย

ทำไมไม่ปล่อยวาง? ทำไมไม่เห็นการปล่อยวาง การยึด ถ้าเห็นการปล่อยวาง ปล่อยวางเพราะเหตุใด? ยึดเพราะเหตุใด? ยึดเพราะรูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร.. รูป รส กลิ่น เสียง เสียงพูด เสียงคิด ความต่างๆ เสียงติฉินนินทา เสียงสรรเสริญนินทา รูป รส กลิ่น เสียง รูปกระทบที่ได้ยินเสียงนี่มันยึดไปหมดเลย เพราะกลัวจะไม่รู้ไง กลัวจะไม่รู้ กลัวจะเสียเปรียบเขา ศักดิ์ศรีของโลกไง โลกกลัวเสียเปรียบเขา

นี่แพ้เป็นพระ.. ไม่เคยแพ้ ไม่เคยแพ้ให้ใคร ยึดมั่นถือมั่นไปหมดเลย แต่ถ้ามันแพ้เป็นพระ เห็นไหม รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร ใช้พุทโธ พุทโธนี่มันเห็น เข้ายาก เข้าง่ายมันเห็นสภาวะไง ถ้าเข้ายากเพราะยึด ยึดถึงเข้าไม่ได้ มันคาอยู่ ถ้าปล่อย ปล่อยมันเข้าได้

ปัญญารอบรู้ในกองสังขาร ความคิด ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้ายังคิดอยู่ ยังมีความรู้สึกอยู่ ยังยึดมั่นอยู่ อย่างนี้เป็นทิฏฐิมานะ แต่ถ้าปัญญาที่รอบรู้ในกองสังขารมันเห็นโทษไง เพราะความยึด เพราะความที่เรายึดสิ่งที่เป็นทิฏฐิมานะที่เป็นความเห็นของเรา ถ้ามันรู้แจ้ง รู้แจ้งเพราะอะไร? รู้แจ้งเพราะสิ่งนี้มันให้ผลเป็นโทษใช่ไหม? ให้ผลเป็นการแบกรับภาระใช่ไหม?

ถ้ามันไม่ปล่อย ไม่ปล่อยเพราะอะไร? เพราะไม่รู้ว่านี่มันเป็นงูเห่า นี่ไม่ใช่ปลาไหลนะ.. นี่เป็นงูเห่า ความคิดเรานี่เป็นงูเห่า ความคิดเรามันบวกไปด้วยตัณหาความทะยานอยาก มันบวกไปด้วยกิเลสเป็นงูเห่า แต่ความคิดของพระอรหันต์ไม่ใช่งูเห่า ความคิดของพระอรหันต์เป็นปลา เป็นปลาไหล เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์

ความคิดของพระอรหันต์นะ ขันธ์เป็นภาระ ภาราหะเว ปัญจักขันธา เป็นภาระ มันเป็นภาระแต่มันไม่มีกิเลส ไม่มีพิษไม่มีภัย เห็นไหม การสื่อสารธรรมะก็สื่อสารออกมาจากความคิด ออกมาจากขันธ์ ๕ ถ้าไม่สื่อสารจากขันธ์ ๕ เป็นภาษาสมมุติ เป็นภาษาโลกจะสื่อกันได้อย่างไร? แต่ใจมันไม่มีกิเลส พอมันสื่ออกมา ความคิดนี่ถ้าเราอยู่ของเราปกติ เราไม่แบกหามสิ่งใด เรามีความสุขมากนะ

ความคิดเหมือนแบกท่อนไม้ เพราะจิตมันต้องเสวยอารมณ์ จิตมันต้องคิด ต้องปรุง ต้องแต่ง แล้วมันไม่มีตัณหา มันไม่อยากคิด ไม่อยากทำ แต่ต้องทำ! ทำเพราะอะไร? ทำเพราะประโยชน์โลก แต่เวลาเราคิดนี่ปุถุชน มันเป็นเรา คิดมาก ไม่คิดไม่ได้ ไม่คิดจะไม่ใช้ปัญญา ไม่คิดต่างๆ นี่ถ้าเราไปยึดเราจะไม่เห็นหรอกว่าปุถุชนและกัลยาณปุถุชนมันต่างกันอย่างไร? ถ้าเราไม่ครบวงจรเราจะไม่เข้าใจ แต่ถ้าเราเข้าใจขึ้นมา พอปุถุชนคือมันยึดมั่นของมัน ยึดมั่นเพราะไม่มีเหตุมีผล

“เหตุและผลรวมลงเป็นธรรม”

เหตุผลนะ คิดแล้วมันทุกข์ มันเป็นสัจจะความจริง นี่คนเราเกิดมาก็ต้องตาย ต้องแก่สภาพเป็นธรรมดา สิ่งต่างๆ นี่แต่อยู่ในโลกใช่ไหม? ในเมื่อชีวิตเรายังมีอยู่ เราก็ต้องเอาชีวิตนี้เพื่อทำคุณงามความดี เห็นไหม เวลาครูบาอาจารย์ เวลาหลวงตาท่านเป็นโรคเสียดอกที่บ้านผือนี่มันจะตาย ไม่อยากตาย ยังไม่อยากตายเพราะมันมีอะไรคาหัวใจอยู่ แต่ถ้ามันหมดแล้วตายเมื่อไหร่ก็ได้

นี่ก็เหมือนกัน เราเกิดมาแล้วสิ่งใดในหัวใจเรามีอยู่ เราต้องรักษาของเรา เราต้องแก้ไขของเรา โอกาสมีที่นี่นะ เวลาเราตายไปแล้ว เราไปเกิดสถานะอะไรมันเพลินไปกับโลก เป็นเทวดาก็เพลินกับอาหารที่เป็นทิพย์ ไปเพลินหมดแหละ แต่ถ้าเป็นมนุษย์มันมีร่างกายบีบคั้น มันมีกระเพาะ ร่างกายมันต้องใช้ปัจจัยเครื่องอาศัย มันบีบคั้นอยู่แล้ว นี้เราไปเห็นว่าสิ่งนี้มันบีบคั้น มันอาศัยทางโลก แล้วธรรมล่ะ? ธรรมคือหัวใจ

ดูสิคนทุกข์คนยากเขายังมีความสุขของเขา เราต้องใส่เสื้อผ้ากันหนาว เขาผิงไฟก็ได้ เขาอยู่ในป่าในเขา เขาผิงไฟได้ เขาจุดไฟของเขาได้ มันก็ให้ความอบอุ่นเหมือนกัน นี่ไงคนที่คิดเป็น คนที่ใช้เป็น ปัจจัยเครื่องอาศัยไปยึดมันเกินไป ว่าจำเป็นเกินไป เราก็เป็นทุกข์กับมัน เราต้องเป็นขี้ข้ามัน แต่ถ้าเราหาตามมีตามได้ของเรา มีอย่างไรเราก็ใช้อย่างนั้น เราเข้าใจของเรา เราก็ไม่เดือดร้อนของเรา

นี่ถ้ามันเข้าใจเรื่องหัวใจนะ ปัจจัยเครื่องอาศัยมันเป็นเรื่องของร่างกายก็จริงอยู่ แต่ถ้าหัวใจมันประเสริฐแล้วนะ หัวใจประเสริฐกำขี้มาก็ประเสริฐ หัวใจมันชั่ว กำเพชรมาก็ชั่ว เพราะมันชั่วที่ใจ มันชั่วที่การกำมาอันนั้น เห็นไหม ใจที่มันประเสริฐขึ้นมานี่ปัจจัยเครื่องอาศัยเหมือนกัน ใจที่มีคุณธรรม ใจที่เป็นคุณงามความดีใช้อาศัยมันเป็นประโยชน์ ใจที่เป็นโลกมันเบียดเบียนเราก่อน เบียดเบียนที่ความคิดนะ ว่าไม่สมศักดิ์ศรี ไม่เป็นไป ใช้แล้วไม่เป็นประโยชน์

ทั้งๆ ที่การทำ.....เหมือนกัน ทำไมหัวใจมันเบียดเบียนตัวมันก่อนล่ะ? แล้วพอจะใช้จะสอยก็ไม่กล้าใช้ มันน้อยเนื้อต่ำใจกับเขา มันทุกข์ไปหมดเลยถ้าใจมันสกปรก ถ้าใจมันสะอาด ไม่มีสิ่งใดเลยก็รู้จักผิงไฟ รู้จักเอาตัวรอด เห็นไหม ปัจจัยเครื่องอาศัยจากภายนอก!

ปัจจัยเครื่องอาศัยจากภายใน ศีล สมาธิ ปัญญานะ หาของเรา ทำของเรา เพื่อประโยชน์ของเรา จะเป็นประโยชน์กับเรานะ เห็นไหม ประเสริฐที่นี่.. ชีวิตเราเกิดมาแล้ว หน้าที่การงานก็ต้องทำ แล้วหัวใจเรานี่ต้องรักษามันด้วย เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยให้เจ็บคนเดียว ร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นเรื่องธรรมดา ร่างกายนี้เป็นเรือนรังของโรค มันมีเชื้อโรคโดยธรรมชาติของมัน แต่อย่าให้หัวใจทุกข์ยากไปด้วย อย่าให้หัวใจมันโดนอุปาทานยึดมั่นความทุกข์ใจ ให้มันเจ็บไข้ได้ป่วย ๒ คน

ร่างกายก็เจ็บไข้เป็นธรรมดา หัวใจก็แบกรับเป็นทุกข์ไปกับมัน ถ้าร่างกายเจ็บไข้เป็นธรรมดา หัวใจอย่าไปเจ็บไข้กับมัน เข้าใจแล้วรักษา เห็นไหม มันทุกข์คนเดียว คนทุกข์คนเดียว เป็นโรคคนเดียว อีกคนหนึ่งรื่นเริงอาจหาญ แล้วต่อสู้ แล้วแก้ไข ถ้าเป็นทุกข์ ๒ คน ร่างกายก็เจ็บไข้ได้ป่วย หัวใจก็ทุกข์ยาก เครียดไปหมดเลย โรคก็กำเริบ เห็นไหม เจ็บไข้ได้ป่วยคนเดียว อย่าให้หัวใจเจ็บไข้ได้ป่วยด้วย แล้วรักษามัน รักษาใจของเราจนถึงที่สุด

วันนี้วันพระ วันประเสริฐ ประเสริฐในหัวใจของเรา พุทธะคือหัวใจ ธาตุรู้อยู่กับเรา รักษามัน ค้นให้เจอแล้วจะเป็นประโยชน์กับเรา เอวัง