เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๖ พ.ย. ๒๕๕๑

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๑
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ฝึกไปจากตรงนี้ ฝึกไปจากเริ่มต้น เราไปมองกันแต่เรื่องความลำบาก มองแต่ความว่ามันเป็นสิ่งที่ว่ามันฉุกละหุก แต่ไม่มองว่าสิ่งนี้มันเป็นการฝึกสติ มันเป็นการฝึกสตินะ เราต้องขวนขวาย การนอนจมอยู่กับอะไรนี่ มันนอนจมกิเลสมันเกาะดินพอกหางหมูนะ ใจขยับไม่ได้หรอก เวลาครูบาอาจารย์ของเรานะท่านจะให้กระฉับกระเฉง แต่ไม่ใช่ให้รีบด่วนจนลน ลนไม่ได้ ถ้าลนแล้วเสียหายนะช้าดีกว่า เพราะช้ามันก็ฝึกสติ เร็วก็ฝึกสติ แต่ถ้าช้านี่กิเลสมันมีโอกาสได้มากกว่า

ฉะนั้น คนเรามันต้องฝึกฝนตั้งแต่ที่นี่ไป เวลาเราปฏิบัติกันว่าทำไมไม่ได้ผล ทำไมไม่ได้ผล เพราะเราคิดว่าปฏิบัติคือการปฏิบัติไง มันกำปั้นทุบดิน ก่อนจะปฏิบัติมันต้องพร้อมมาก่อน หัวใจนี่เราพร้อมมาก่อน เราได้เตรียมตัวมาไหม? วันๆ หนึ่งเราทำอะไรมา เห็นไหม เราไม่มีสิ่งใดเลย เวลาเข้าครัว ในครัวเราจะมีแต่ภาชนะไม่มีอาหารเลย เข้าไปในครัวนี่มีถ้วยโถโอชามเต็มไปหมดเลย แล้ววัตถุดิบที่จะมาทำครัวอยู่ที่ไหน?

นี่ก็เหมือนกัน เวลามาปฏิบัติมีแต่ร่างไง เอาแต่ร่างกายมาปฏิบัติ หัวใจอยู่ไหน? หัวใจมันไม่พร้อมใช่ไหม? แล้วหัวใจมันอยู่ที่ไหนล่ะ? หัวใจเป็นนามธรรม นี่วิหารธรรม ผู้ที่มีคุณธรรม เห็นไหม มันมีเครื่องอยู่ ข้อวัตรปฏิบัติมันเป็นเครื่องอยู่ มันเกาะไป ใจเป็นนามธรรม มันต้องมีอะไรเป็นข้อเกาะไว้ เขาเรียกข้อวัตรปฏิบัติ

ข้อวัตรเป็นเครื่องอยู่ของคนที่ปฏิบัติไม่เป็น แต่คนที่ปฏิบัติเป็นนะเขามีวิหารธรรมเป็นเครื่องอยู่.. วิหารธรรมนะ สติปัญญามันเป็นเครื่องอยู่ มันมีที่เกาะ มันมีความสุขมาก แล้วมันเป็นอย่างไรล่ะ? เราไม่ทันมัน เห็นไหม

นี่เราเกิดมานะ ชีวิตนี้มีคุณค่ามาก เน้นย้ำตลอดว่าชีวิตนี้มีคุณค่ามาก แล้วเราเกิดมานี่นะเราวิ่งหนีตัวเอง เราแข่งกับตัวเองนะ เกิดมาเป็นเด็กก็อยากเป็นผู้ใหญ่ พอเกิดเป็นเด็กก็อยากมีการศึกษา อยากจะจบการศึกษา อยากจะทำงาน พอทำงานอยากมีบ้าน มีเรือน มีช่อง ทำงานเสร็จแล้วก็อยากจะมีทรัพย์สมบัติ วิ่งไปไม่มีวันจบเลยนะ

เราวิ่งแข่งกับตัวเองตลอด สติปัญญานี่วิ่งแข่งกับตัวเองตลอด แล้วเราทันตัวเองไหม? เราไม่เคยทันตัวเองเลย แต่เราก็คิดว่าเราจะต้องให้ทันนะ เราจะสมความปรารถนา เราจะมีความสุข เราก็วิ่งแข่งอยู่ตลอดเวลา เห็นไหม โลกนี้เขามีการแข่งขัน.. ใช่! ทุนนิยมมีการแข่งขัน มันต้องมีความขยันหมั่นเพียร ความขยันหมั่นเพียรนี่ ขยันหมั่นเพียรโดยชอบธรรม แต่ถ้าขยันหมั่นเพียรโดยกิเลส มันละล้าละลังมันทุกข์นะ

นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงสอนให้มีวันพระ วันโกนไง สอนให้เราหยุดไง ถ้าเราหยุดแล้วเราจะทันตัวเอง แต่เราคิดกันผิด เราคิดว่าเราแข่งขัน เราแข่งกับความคิด เราวิ่งแข่งเราจะทันกับตัวเอง เราจะมีความสุข แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกให้หยุด! ให้หยุด!

ทีนี้การจะหยุด เห็นไหม ธรรมะมันเป็นที่พึ่งอาศัย ถ้ามีธรรมะเป็นที่พึ่งอาศัยนะ นี่ทำไมครูบาอาจารย์ของเรานะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อยู่โคนต้นโพธิ์นะ ครูบาอาจารย์เราไปอยู่ในป่าในเขา เห็นไหม อยู่ในป่าในเขาถ้าภาวนายังไม่ได้.. สัตว์ป่ามันอยู่ในป่าในเขานะ สัตว์มันเกิดจากในป่า มันอยู่ในป่า แล้วมันตายอยู่กลางป่า สัตว์มันได้อะไร?

สัตว์มันไม่มีความคิด สัตว์มันไม่รู้จักธรรมะ สัตว์มันมีคุณธรรมของมันนะ สัตว์ที่มันเลี้ยงลูกมัน ดูแลลูกเต้ามัน หัวหน้าฝูงดูแลลูกฝูง นี่มันมีความเอื้ออาทรต่อกัน มันมีความรักผูกพันกัน มันเป็นธรรมไหม? มันเป็นธรรมของสัตว์! แต่เราเป็นมนุษย์ เราเป็นมนุษย์เรามีปัญญา เรามีปัญญาขึ้นมา นี่ความดีของเรามันต้องมากกว่านั้นไง

นี้ถ้าเราไปอยู่ในป่าในเขา เราไม่ใช่ไปอยู่แบบสัตว์ เห็นไหม สัตว์มันเกิดมาโดยเวรกรรมของเขา ไปดูถูกเขาไม่ได้นะ เขามีเวรมีกรรมของเขา ในภพชาติของเขาเขาก็เกิดมาเป็นผลของสัตว์ อบายภูมิ ๔ ตั้งแต่สัตว์เดรัจฉานไป แล้วนี่มนุษย์สมบัติ เทวดานี่อุบัติเทพ เวลาเกิดเป็นเทวดา นี้เราไปเข้าป่าเข้าเขามันชัยภูมิ ชัยภูมิจริงๆ มันอยู่ที่หัวใจ

เราอยู่ในบ้านในเมืองก็เหมือนกัน เราก็ทุกข์ เราก็ร้อน เราไปอยู่ในป่าเราก็ทุกข์ เราก็ร้อน เราไปอยู่ในบ้านในเมืองมันยังมีเครื่องอาศัย มีสวัสดิการต่างๆ ให้เราพออาศัยบ้าง เราไปอยู่ในป่านะไฟก็ไม่มี น้ำก็ไม่มี ทุกอย่างต้องหาเองหมด เวลาหาเองมันก็ต้องวิตกกังวล เห็นไหม ชัยภูมิจากข้างนอกไง

ชัยภูมิแบบธุดงควัตร ธุดงควัตรเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส การมักน้อย สันโดษ การฉันแต่พอประมาณ อาหารเป็นสัปปายะ คือฉันแล้ว กินแล้วไม่ง่วงเหงาหาวนอน อาหารสัปปายะคือกินแล้วอร่อย.. ไม่ใช่! อาหารสัปปายะนี่ เห็นไหม เนื้อสัตว์กินเข้าไปแล้วมันมีพลังงานมาก เรานั่งสัปหงกโงกง่วงไหม? อาหารที่มันพอประมาณ อาหารเป็นสัปปายะ แล้วผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเขาก็ดูของเขา

นี่ปฏิสังขาโย ของที่ใส่บาตรแล้วนี่เก็บไว้มันก็เน่าก็บูด ร่างกายมันก็ได้อาศัยของเน่า ของบูดนี้เอาไปปรนเปรอมัน สิ่งที่ร่างกายนี่ปัจจัยเครื่องอาศัย ข้อวัตรปฏิบัติเป็นอย่างนี้ ข้อวัตรปฏิบัติ ถ้าเรายังจับหลักเกณฑ์ไม่ได้ มันจะมีข้อวัตรปฏิบัติเป็นที่อาศัยของใจ แต่ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเข้าไปแล้ว ภาวนาเป็นแล้วจะมีสติปัญญาของมัน

นี่วิ่งแข่งขัน วิ่งแข่งนะ เราแข่งกับความคิด เราแข่งกับตัณหาความทะยานอยากของเราไม่มีวันจบหรอก แล้วทุกข์มาก มันจะลากเรากระเซอะกระเซิงไปนะ แล้วก็ว่าทุกข์อยู่ไหน? ทุกข์อยู่ไหน? ศึกษาธรรมะกัน นี่ปฏิบัติแล้วจะเป็นความสุข ปฏิบัติแล้วจะเป็นความสุข แล้วมันสุขไหมล่ะ? ทุกข์เกือบตายเราไม่ได้อะไรติดไม้ติดมือมาเลย

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกนะ ชีวิตเราทั้งชีวิตเหมือนกับวิดทะเลทั้งทะเลเลย เอาปลาเล็กๆ ตัวหนึ่ง เราทำหน้าที่การงานทางโลกทั้งหมด นี่คุณธรรม ความดีของเรามันจะติดหัวใจเราไปไหม? สมบัติทางโลกนะ เวลาจะทำความดีขึ้นมาเราจะได้แก้ว แหวน เงิน ทอง แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติคุณงามความดีมันติดไปกับใจ เห็นไหม

ใจนี่ ของเก็บไว้ที่บ้านใครเป็นเจ้าของ เราคิดถึงมันใช่ไหม? นี่เพชรอยู่ในตู้เซฟใครเป็นคนเก็บมัน เพชรมันมีชีวิตไหม? มันรู้เรื่องของมันไหม? หัวใจใช่ไหม? นี่มันเป็นวัตถุนะ แต่บุญกุศลมันแนบไปกับใจ เพราะเราเป็นคนทำใช่ไหม? เวลาเราตายมันไปกับเรา เห็นไหม บุญกุศลไปกับเรา ความคิดไปกับเรา

ความคิดไปกับเรานี่ปุถุชน ความคิดเป็นขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ เป็นมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร ขันธมาร นี่เราวิ่งตามความคิดไป แต่เวลาครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติแล้วขันธ์สะอาด ความคิดนั้นมันเป็นภาระ มันเป็นธรรมชาติ เป็นสสาร เป็นธรรมชาติที่เราเกิดเป็นมนุษย์ มันมีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ เวลาภาวนาไปมันตัดขาดหมด เราไม่แข่งขันกับมัน เราหยุดมัน แล้วเราทำลายมัน ทำลายมาร มารที่อาศัยขันธ์นี้ อาศัยความคิดเรานี่แหละทำลายเรา

อาศัยความคิด เห็นไหม พลังงานมันมีความร้อนในตัวมันเอง มันเผาผลาญตัวมันเอง ความคิดเราก็เผาผลาญตัวเรา เผาผลาญตัวเรา ถ้ามันเป็นทางโลกมันเป็นประโยชน์นะ มันสื่อสาร การสื่อสาร การกระทำกัน เราสื่อสารกันด้วยภาษา ด้วยความรู้สึก ดูสิภาษาใบ้เขาสื่อสารกันด้วยอะไร?

นี้การสื่อสารทางโลก มันเป็นประโยชน์กับการสื่อสารของโลก แต่ถ้าเราชำระกิเลสนะ ความสื่อสารก็สื่อสารด้วยเนื้อหาสาระ แต่ของเรามันสื่อสารด้วยตัณหาความทะยานอยากไง มันคาดหวัง มันต้องการ มันปรารถนา มันคิดไปร้อยแปด แล้วก็วิ่งแข่งไปกับมัน วิ่งแข่งไปกับมัน เราต้องการชนะมัน เห็นไหม แต่ถ้าไม่หยุดนะ เราหยุดมันก่อน เราจะหยุดความคิดเพื่อจะให้ทันตัวเอง ถ้าหยุดความคิดทันตัวเองจิตตั้งมั่น จิตตั้งมั่นเราควบคุมตัวเองได้

นี่รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร มันบูชามาร ขันธมาร.. ขันธมารแล้วมันบูชาด้วยรูป รส กลิ่น เสียง มันกระตุ้นมัน เห็นไหม แล้วเราก็ไปตามมัน แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติเราต้องมีสติ เราต้องยับยั้งมัน ก่อนที่จะยับยั้ง เราจะยับยั้งได้อย่างไรในเมื่อเราไม่เคยทำทาน คำว่าทำทานมันสร้างพื้นที่ การเสียสละ การอภัย การเปิดกว้าง

นี่ความหมักหมมของใจ ความหมักหมม ความทับถม ความตกผลึกของความคิด มันหมักหมมภวาสวะ ภพ ความรู้สึก คิดไปร้อยแปด ผลของมันเกิดมารวมลงที่ใจ เพราะใจเป็นคนคิด เราทำอะไรก็แล้วแต่ ดีชั่วทั้งหมดออกไปจากใจของเรา แล้วมันก็มาตกผลึกลงที่นี่ แล้วมันก็หมักหมมอยู่ที่นี่ แล้วมันก็เลยเป็นจริตเป็นนิสัยของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เห็นไหม

เราทำทานเพื่อเปิดกว้าง เปิดกว้างให้การเสียสละนี่เปิดออกมา เปิดออกมา เปิดออกมา พอเปิดออกมามันไม่หมักหมม มันไม่หมักหมมเราจะเริ่มภาวนามันไม่อึดอัดขัดข้อง ถ้าเราไม่เคยมีบุญกุศลมา เวลาเรานั่งสมาธิ เราเดินจงกรมนะมันอึดอัดขัดข้อง มันอึดอัดในหัวใจ มันไม่มีทางออก แต่ถ้าคนมีบุญกุศลมันชื่นใจ มันพอใจ มันเปิดกว้าง มันมีความระบายออก

ทาน ศีล ภาวนา มันต้องมีระดับการเสียสละ เสียสละจากภายในดึงมันออกมา เพราะความตระหนี่ ความปิดกั้น ความหมักหมม ความเหนี่ยวรั้งไว้ของมัน มันถึงได้อึดอัดขัดข้องไง แล้วเราเสียสละ เราปล่อยออกไป ปล่อยออกไป คลายมันออก คลายมันออก พอคลายมันออกมันมีโอกาสขึ้นมา เห็นไหม แล้วเราจะทำสมาธิของเรา นี่ไงวิ่งแข่งกับชีวิตนะตายเปล่า ถ้าเอาธรรมะเข้าไปจับต้องนะมันจะได้ประโยชน์ นี่เราหยุดมันได้ แล้วเราใคร่ครวญมัน

นี่อริยทรัพย์ ทรัพย์จากภายนอกนะมันเป็นสมมุติ มันเป็นสิ่งที่มีค่าที่โลกเขาสมมุติกันขึ้นมา แต่ทรัพย์สมบัติของเรา ความรู้สึกอันนี้ที่เป็นอกุปปธรรม ทรัพย์สมบัติของเราตอนนี้มันเป็นกุปปธรรม คือมันเป็นอนิจจัง มันแปรสภาพ มันหมุนเวียนเป็นผลของวัฏฏะ เราต้องไหลไปตามกระแส ความรู้สึกอันนี้ จิตอันนี้มันไหลไปตามวัฏฏะ เหมือนสวะที่มันลอยไปตามน้ำ ชีวิตนี้หมุนไปในกามภพ รูปภพ อรูปภพ

ในวัฏวนจิตนี้มันจะหมุนเวียนไปตลอดโดยแรงขับของอวิชชา แรงขับของสิ่งที่มันมีในหัวใจ เห็นไหม นี่สิ่งนี้มันพาเกิดพาตายมาตลอด แล้วสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ไปกับชีวิต เราเกิดมาเป็นภพชาติหนึ่ง เราก็ใช้สมบัติของภพชาตินั้น อาหาร ๔ ในวัฏฏะ กวฬิงการาหาร อาหารเป็นคำข้าว วิญญาณาหาร อาหารของเทวดา ผัสสาหาร อาหารของพรหม เราเกิดในภพชาติใด เราจะมีอาหารอย่างไร เรามีเครื่องอยู่อย่างไร ดำรงชีวิตอย่างไร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้หมดนะ

ในวัฏฏะที่เราเกิด ไม่ใช่ว่าเรามีเพชร นิล จินดา เราจะเอาไปด้วย เราจะเอาไปนรก สวรรค์เป็นไปไม่ได้หรอก มันเป็นแต่ความรู้สึกบุญกุศลไปกับเรา นี่มันเป็นอามิส มันไปกับเราถ้ามันเป็นผลของวัฏฏะอยู่ แต่ถ้ามันเป็นอริยทรัพย์ ทรัพย์จากภายนอก ทรัพย์จากภายใน ถ้าทรัพย์จากภายในอันนี้เป็นอกุปปธรรม ไม่ใช่หมุนเวียน ดูสิความรู้สึก ความคิดที่ว่าเป็นทรัพย์ที่มันไปในวัฏฏะมันยังเป็นอนิจจังเลย อนิจจังเพราะมันเกิดชาติใด ภพใด อาศัยอาหารอะไร อยู่ด้วยสถานะอย่างไร? นี่ถ้าไปจากอันนี้ เราล้างตรงนี้หมด เห็นไหม

นี่แข่งขันกับชีวิต เราวิ่งกับชีวิตนะ ชีวิตทั้งชีวิต นี่ทางโลกมันก็เป็นโลก ถ้าคนดีกับโลกนะ อยู่กับโลกก็เป็นประโยชน์กับโลก บริหารจัดการทางโลก ชีวิตทางโลกก็ประสบความสำเร็จ เราจะมีความสุขพอสมควร มีความสุขพอสมควรตามแต่อัตภาพ ตามบุญกุศล ใครสร้างบุญกุศล บาปอกุศล มันจะให้ผลตามความรู้สึกเรา

ตำแหน่งหน้าที่เดียวกัน แต่คนหนึ่งมีความสุข คนหนึ่งมีความอึดอัดขัดข้องเพราะอะไร? เพราะมันไม่ได้ดั่งใจซักอย่างเลย นี่มันทำร้ายตัวเอง ความคิดเราเองทำร้ายตัวเอง เห็นไหม แต่ถ้าเราทันตัวเราเอง เราทันหัวใจของเรา เรารักษาของเรา นี้เป็นหน้าที่การงานมันเลี้ยงชีวิตในภพชาตินี้เท่านั้น จิตนี้มันไม่ตายสูญ มันจะมีโอกาสไปข้างหน้าอีก เราทำสิ่งที่เป็นประโยชน์มากกว่านี้ นี่ชีวิตนี้มีประโยชน์ทั้งโลกนี้และโลกหน้า

โลกนี้คือในปัจจุบันนี้เราก็ไม่อึดอัดขัดข้อง ไม่เดือดร้อนจนเกินไปนัก โลกหน้าเรามีเสบียงของเราไป แล้วถ้ามันเป็นอริยทรัพย์ เห็นไหม ทรัพย์ที่ไม่เป็นกุปปธรรม กุปปธรรมคือมันอนิจจัง คือมันใช้หมด มันถึงหมดสิ้นไปเป็นคราวๆ ไป แต่อกุปปธรรม โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี มันเป็นอกุปปธรรมที่มันคงที่กับจิตที่ไม่เคยตาย

จิตที่ไม่เคยตาย แต่เป็นวาระที่เกิดในสถานะ นี่มันตายจากภพชาติแต่ตัวมันเองไม่ตาย ปฏิสนธิจิตนี้ไม่เคยตาย แล้วทำมันสะอาดถึงตัวมันเอง รักษาตัวมันเองแล้วมันอยู่ที่ไหน? มันอยู่ที่กลางหัวอกของทุกๆ คน ทุกๆ คนมีจิต ทุกๆ คนมีวิญญาณ ทุกๆ คนมีความรู้สึก ความรู้สึกอันนี้มันสุข มันทุกข์ แล้วเรามองข้ามมัน

เราไปแข่งขันกับทางโลก แข่งขันกับหน้าที่การงาน แข่งขันกับสถานะทางสังคม แล้วสังคมมันสมมุติขึ้นมาหรอก สมมุติขึ้นมาเป็นครั้งคราว แต่ตัวเราเอง ถ้าเราแข่งขันถึงที่สุดนะเราจะไม่เกิดอีกเลย แล้วมันจะรู้ได้อย่างไรว่าทำไมถึงเกิด ทำไมถึงไม่เกิด มันจะรู้เอง ถ้าเราไม่รู้เองเราสงสัย เราดับไม่ได้ เราจะดับให้รู้แจ้งได้ เพราะเรารู้ว่าเราเกิดนี่ นั่งอยู่นี่มาจากไหน? มันเข้าใจหมด มันเห็นหมดว่าสิ่งที่มานี่มาจากไหน?

เราเข้าใจว่ามาจากท้องพ่อ ท้องแม่ แต่ถ้าเป็นธรรมนะมาจากกรรม นี่กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน ปฏิสนธิวิญญาณมันมาอย่างไร? แล้วในปัจจุบันนี้เราเข้าไปถึงแข่งขันกับตัวเอง จนไปถึงตัวเขาเอง ตัวของจิต แล้วชำระมัน ทำให้สะอาดด้วยมรรคญาณ แล้วถึงที่สุด เห็นไหม นี่จากแข่งขันทางโลก เราจะได้แต่สมมุติสมบัติทางโลก แข่งขันกับตัวเราเอง เราจะได้อริยทรัพย์จากภายใน แล้วเราจะได้สมบัติจากภายใน

สมบัติจากภายในเป็นสมบัติส่วนบุคคล นิพพานของแต่ละบุคคล นิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอานนท์ถาม เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า

“อานนท์ เราไม่ได้เอาสมบัติของใครไปนะ เราตายนี่เราก็เอาสมบัติของเราไปคนเดียว”

นี่ว่ามรรค ผล นิพพาน จะสิ้นสุดเมื่อไหร่ไง

“ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม”

พระสารีบุตร เวลาท่านนิพพานไปก็เป็นสมบัติของพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ เวลานิพพานไปก็เป็นสมบัติของพระโมคคัลลานะ นี่ของเรา ถ้าเราปฏิบัตินะมันไม่ถึงที่สุด เรามีความทุกข์ เวลาเราตายไปก็ทุกข์เป็นสมบัติของเราไง ถ้าเรามีความสุข ก็สุขเป็นสมบัติของเราไง มันยังเป็นอนิจจัง แต่ถ้าเป็นอกุปปธรรมนะ โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี มันจะไม่เป็นกุปปธรรม

มันไม่เป็นกุปปธรรม มันเป็นอกุปปธรรม มันจะเป็นสมบัติของเรา มันจะไปกับเรา มันเป็นสมบัติส่วนตัวของเรา เป็นผลของเรา เป็นอริยทรัพย์จากภายในชัดเจนมาก เป็นสันทิฏฐิโก รู้เองชัดเจน รู้เองเห็นเอง จับต้องได้ สื่อสารได้ เอามาเป็นที่พึ่งของสัตว์โลกได้ นี่สมบัตินี้อยู่ที่เรา เห็นไหม นามธรรม โลกเขาบอกสิ่งที่เป็นนามธรรมมันจับต้องไม่ได้ ไม่มีคุณค่า ต้องเป็นรูปธรรม ต้องเป็นสมบัติ

นั้นมันสมมุติกับทางวิทยาศาสตร์ ศาสนาสอนเรื่องนามธรรม เอานามธรรมจับนามธรรม เอาจิตจับจิต เอาสติปัญญาจับต้องกับความรู้สึกของเรา ใครหลอกลวงเราไม่ได้ เราหลงเอง เราไม่เข้าใจเอง เราก็จะโดนกิเลสอวิชชาหลอกเอง เราเข้าใจ เราแยกแยะ เราทำสิ้นสุดกระบวนการของเราเอง นี่ไงสันทิฏฐิโก รู้เอง เห็นเองจำเพาะตน เป็นสมบัติของเรา

ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะ เราไม่ปล่อยชีวิตเราจนเป็นโลกไปหมด เกิดในโลกนะ ปฏิเสธหน้าที่การงานไม่ได้หรอก ต้องมี แต่มีแล้วเราจะมีอีกสติ อีกปัญญาหนึ่ง พยายามหาสมบัติส่วนตนด้วยสมบัติของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา เอวัง