เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑o ธ.ค. ๒๕๕๑

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๑
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราชาวพุทธนะ เราตั้งใจมาปฏิบัติ การตั้งใจ เห็นไหม ดูสิเวลาคนกล้า คนเข้มแข็ง แต่ถ้าความเห็นเขาผิดนะ เขาจะทำความผิดพลาดไว้เต็มไม้เต็มมือเขาเลย เพราะคนเป็นคนกล้าหาญ เขาทำความผิดพลาดจะผิดมาก ถ้าความเข้มแข็ง ความกล้าหาญ แต่ถ้าทำความถูกต้องมันจะได้ผลมหาศาลเลย

ในปัจจุบันนี้ เวลาที่เขาถามว่าทำไมหลวงตาท่านพูดว่า “เรากำหนดจิตอยู่เฉยๆ แล้วมันเสื่อมไป ๑ ปีกับ ๖ เดือน จนเรามาหาทางออกของเรา เราถึงมีการตั้งคำบริกรรมพุทโธ พุทโธขึ้นมา ตั้งแต่นั้นมาจิตไม่เสื่อมอีกเลย”

นี่เวลาท่านพูดท่านพูดอย่างนี้ แล้วเวลาคนตีความ คนตีความแตกต่างกันไป เห็นไหม แล้วเขาก็แปลกใจว่าทำไมหลวงตาท่านบอกว่าท่านกำหนดจิตไว้เฉยๆ กำหนดจิตไว้กับจิต คนปฏิบัติเริ่มต้นจะเป็นอย่างนั้นนะ จะกำหนดเอาไว้เพื่อเอาความสะดวกสบาย แล้วความคิดของเรา เราว่านี้คือการปฏิบัติแล้ว

นี่คนกล้า ถ้าเข้มแข็งเท่าไหร่มันยิ่งพลาดไปเรื่อย แล้วทำไมจิตเขาไม่เสื่อมล่ะ? ทำไมหลวงตาจิตท่านเสื่อม เวลาท่านประพฤติปฏิบัติไปแล้วจิตท่านเสื่อม.. เสื่อม เห็นไหม ท่านบอกเลย “กำหนดจิตไว้เฉยๆ” มันเป็นสมาธิได้ไหม? มันก็เป็น เป็นมันก็สบายๆ อย่างนั้นแหละ ท่านบอกเหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา วัน ๒ วันมันกลิ้งทับเราเลยนะ

วัน ๒ วัน นี่เหมือนเราทำกำหนดไว้ เพราะมันไม่มีจุดยืน ไม่มีหลักใช่ไหม? แต่ถ้าเรากลิ้งครกขึ้นภูเขา แต่เรามีพวกหินพวกอะไรคอยเสียบไว้คอยเหน็บไว้ไม่ให้มันลงมา เห็นไหม เพราะอะไร? เพราะมันมีจุดยืน มีหลักการของมัน

ทำไมจิตครูบาอาจารย์เราเสื่อม ทำไมเขาไม่เสื่อมเลย เสื่อมเพราะอะไร? เสื่อมเพราะคนมันยอมรับความจริงว่าเสื่อม มันรู้ความจริงว่าเสื่อม แต่ถ้าคนที่ว่าจิตไม่เคยเสื่อมเลย มันทำได้ๆ เพราะอะไร? เพราะเขาไม่รู้จริง เขาไม่เข้าใจของเขา เสื่อมไม่เสื่อมก็ไม่รู้ ครกอยู่ไหนก็ไม่รู้ จินตนาการเอา คิดเอา เออเอา เห็นไหม ดูสิมันเหมือนกับเราปั้นน้ำให้เป็นตัว นี่มันเป็นคำพูดที่ทางโลกเขาว่าเป็นการโกหกหลอกลวง ปั้นน้ำให้เป็นตัว

น้ำก็คือน้ำ แล้วพอเรามีความเย็นเราทำเป็นน้ำแข็ง เห็นไหม น้ำแข็งมันละลายไหม? มันละลายแน่นอน น้ำแข็งมาจากไหน? มาจากน้ำ จิตก็เหมือนกัน จิตที่มันจะเป็นสมาธิ สมาธิมันมาจากไหน? มันมาจากจิต.. สมาธิไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่สมาธินะ นี่ความว่างๆ ที่ว่าเป็นมันไม่ใช่สมาธิ ไม่ใช่สมาธิเพราะอะไร? เพราะเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพานนะมาเข้าสมาบัติ เห็นไหม ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนะ...

นี่จิตของพระอรหันต์กับฌานสมาบัติมันคนละอัน นี่ฌานคือสมาธิ ฌานคือการเพ่งให้มันมีกำลัง สมาธิคือพุทโธ พุทโธ มันมีสัมมาสมาธิ.. สัมมาสมาธิ สมาธิไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่สมาธิ ฉะนั้น สมาธิมันเกิดกับจิตแล้วมันก็ดับกับจิต เกิดมาแล้วก็ดับไป มันเกิดดับ มันเป็นอนิจจัง แต่เวลาจิตของเราว่างๆ ว่างๆ เราคิดเอาเอง เห็นไหม สมาธิไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่สมาธิ แต่เวลาคนตีความ

นี่ครูบาอาจารย์ท่านพูดเปรียบเทียบในทางลบ ในทางที่ผิดพลาด แต่คนที่ไม่มีวุฒิภาวะก็บอกว่าท่านพูดเหมือนกัน เออเอง เออหมดเลย เห็นไหม ท่านพูดในทางที่ผิด แต่เราไปตีความในทางที่ถูก เราตีความกันไปนะ เป็นอย่างนั้นไปหมดเลย ดูสิดูหยดน้ำบนใบบัวที่เขาเอาไปพิมพ์กัน นี่มีนักปฏิบัติคนหนึ่ง ไปถามว่า “ดูจิตแล้วถูกไหม?” ท่านก็บอกว่า

“ถูกต้องแล้วแหละ แต่! แต่ถ้านี้เป็นภิกษุ เป็นพระนะ เราจะจี้ให้หลงทิศเลย”

เราจะจี้ให้หลงทิศ แบบว่ามันต้องพัฒนาไปอีก นี่คำว่าถูกไหม? ถูกอย่างนั้นเป็นหนทางนะ เป็นหนทางว่าเราทำอย่างนี้ถูกไหม? เรากำหนด เราตั้งจิตถูกไหม? เห็นไหม ถูก! ถูกหมายถึงว่าเราขึ้นถนนถูก เราตั้งเป้าไว้ถูก แต่ถึงเป้าหมายหรือยัง? ได้มีการกระทำหรือยัง? เราว่าถูกไหม? เราจะเดินทาง เรามีแผนที่ชี้ว่าถนนไปอย่างนั้นถูกไหม? เราขึ้นต้นทาง แต่เราไปผิดทาง มันจะไปถูกได้อย่างไร?

ถูกแต่เริ่มต้น ถูกตรงกางแผนที่ไง กางแผนที่มาถูกไหม? ถูก แผนที่บอกไว้เป้าหมายอยู่ที่นั่น แต่เราไปนี่มันไปถูกในแผนที่นั้นไหม? แต่วุฒิภาวะของเรา เราไปเชื่อของเรากันเอง แล้วก็ตีความ นี่มันเป็นอำนาจวาสนาของคนนะ ครูบาอาจารย์ท่านชี้นำไว้ว่าสิ่งนี้เป็นตัวอย่างที่ผิด ไม่ใช่ตัวอย่างที่ถูก เป็นตัวอย่างที่ผิด แต่ท่านพูดหรือเปล่า? พูด

ทีนี้พอว่าพูด ด้วยความศรัทธาความเชื่อของเรา พอท่านพูดเราก็เชื่อว่านี่ท่านพูด ท่านพูดต้องเป็นความจริงสิ แต่ท่านพูดในทางที่ผิด ท่านพูดในทางตัวอย่างที่ผิด ไม่ใช่พูดในตัวอย่างที่ถูกนะ ตัวอย่างที่ผิด ตัวอย่างที่ไม่ถูกต้อง แต่เราทำตรงข้ามมันถึงจะได้ถูก แต่เราบอกท่านก็พูดเหมือนกัน อ้าว.. ก็ตัวอย่างที่ผิด ถ้าไม่ยกตัวอย่างที่ถูกที่ผิด เห็นไหม

“ในการประพฤติปฏิบัติ เหตุและผลรวมลงเป็นธรรม”

เหตุและผลถึงเป็นธรรมนะ เหตุของเรา ทำเหตุให้ถูกต้อง ผลมันถึงจะถูกต้อง

“ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม”

ผู้ใดปฏิบัติธรรมด้นเดาคาดหมาย มันเป็นธรรมะด้นเดา ธรรมะคาดหมายไปหมดเลย ถ้าผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม นี่มันสงสัย เราสงสัยเพราะอะไร? เราสงสัยเพราะเรามีครูมีอาจารย์ใช่ไหม? เราเชื่อครูบาอาจารย์ เรามีศรัทธาความเชื่อ ความเชื่อนี่กาลามสูตร ความเชื่อแก้กิเลสไม่ได้ ทุกอย่างแก้กิเลสไม่ได้ แต่เราก็มีความเชื่อ มีความเชื่อแต่เราก็แปลกใจ เราแปลกใจว่าทำไมครูบาอาจารย์ท่านบอกว่าไม่ใช่ ทำไมท่านบอกว่ามันเสื่อมไป มันไม่เป็นไป แต่เขาปฏิบัติกัน ทำไมไม่มีใครเขาเสื่อมเลย

เขาไม่เสื่อมเพราะเขาไม่รู้ เขาไม่เสื่อมเพราะเขามีตัณหาอุปาทาน มันมีอุปาทานของเขา นี่วิปัสสนึกมันได้นะ เวลาประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม ถ้าเราปฏิบัติ นี่กิเลส อุปกิเลส.. กิเลสอย่างหยาบ ตัณหาความทะยานอยาก โทสะ โมหะ ความหลงของเรา ความคับแค้นใจมันมีกิเลสโดยสามัญสำนึกธรรมดาเลย เวลาปฏิบัติขึ้นไปนะอุปกิเลส กิเลสที่ละเอียดเข้าไป

อุปกิเลส ๑๖ ความว่าง โอภาส แสงสว่าง ต่างๆ นี่มันเป็นอะไร? มันก็เป็นกิเลส มันเป็นอุปกิเลส เห็นไหม กิเลส อุปกิเลส กิเลสอย่างหยาบ กิเลสอย่างละเอียด มันเป็นกิเลสอีกชั้นหนึ่ง แต่เราคิดว่า “นี่ไงๆ ใช่ นี่ไงใช่” เพราะวุฒิภาวะเราอ่อนมาก พละ อินทรีย์เราอ่อน พออินทรีย์เราอ่อน เราไปเห็นอะไรเราก็ตื่นเต้น เราเห็นอะไรเราก็เชื่อมั่นของเรา

ความเชื่อมั่นของเรา ความเชื่อมั่นมันเป็นความถูกต้องไหม? ถ้าความเชื่อมั่นของเรา เราก็แปลกใจนะ เราแปลกใจเวลาคนบอกว่าว่างๆ ว่างๆ ถ้าคนเป็นสมาธิมันมีการเปรียบเทียบ ดูสิความว่างของเรา เรามีสติไหม? เราจับต้องไหม? ดูสิเวลาคนถามนะ มนุษย์เกิดมานี่มีกายกับใจ แล้วใจมันอยู่ที่ไหนล่ะ? จับที่ผิวหนัง จับไปที่ร่างกาย เรามีความรู้สึกไปหมดเราว่าเป็นเรา แล้วเวลาจะเอาสติเข้ามาจับตัวเราก็ไม่เจอ ไม่เจอนะ

คนถ้ายังไม่เห็นสมาธิ ยังไม่รู้จักตัวเรานะ มันยังงงอยู่ แต่ถ้าใครไปเห็นสมาธิจิตตั้งมั่นนะ โอ้โฮ! โอ้โฮ! อ๋อ.. ใจเป็นอย่างนี้เอง มันจับต้องใจของเราได้ มันรู้จักใจของเราได้ แล้วเวลาในภาคปฏิบัติ เห็นไหม จิตตภาวนา ไม่ใช่เอากายภาวนา จิตตภาวนานะ จิตตั้งมั่น เอาจิตนี้ภาวนา

จิตตภาวนามันต้องมีจิต มันต้องจับหลักการนี้ได้ พอจับหลักการนี้ได้มันจะมีความแปลกใจ แปลกใจมาก อึ๊! อึ๊! มันพูดออกมาเป็นตัวอักษรไม่ได้ เหมือนกับเราประสบอุบัติเหตุมาแล้ว เราจะไปเล่าให้ใครฟัง เราจะตื่นเต้น เราจะพูดได้ชัดเจนมากเลย แต่เราไปเล่าให้ใครฟัง ใครเขาไปพูดต่อนะก็พูดไม่ได้หรอก เวลาเหตุการณ์ต่างๆ มันพูดจริงไม่ได้

จิตก็เหมือนกัน เวลาเข้าไปรู้จัก มันไปเห็นจิตของมัน จิตมันตั้งมั่นของมัน จิตตภาวนา รู้จักจิต จิตเป็นสมาธิแล้วจิตตั้งมั่น จิตออกทำงาน มันเห็นจิตของมันมันจะเอ๊อะ! เอ๊อะ! เอ๊อะ! มันรู้มันเห็นของมัน มันจับต้องได้

คำพูดของผู้ที่ประสบอุบัติเหตุ กับคำพูดของผู้ที่ไปเห็นเขา แล้วคำพูดของคนที่เขาเล่าให้ฟัง มันต่างกันทั้งนั้นแหละ มันต่างกันมหาศาลเลย แต่เขาก็พูดได้นะ นี่ดูอย่างนิยายอิงประวัติศาสตร์สิ ในประวัติศาสตร์ต้องเป็นข้อเท็จจริงนะ แต่นิยายอิงประวัติศาสตร์ ข้อเดียวเขาไปเขียนขยายความมหาศาลเลย ไอ้คนไปเล่ามันก็เล่าไปโอ้โฮ..

นี่ก็เหมือนกัน คนไม่รู้จินตนาการพูดไปมันเป็นตรรกะของเขา โอ้โฮ.. เราเชื่อถือ เราเชื่อมั่น เราฟังแล้วมันลื่นหู แต่เวลาคนเป็นความรู้จริงมันพูดไม่ได้ เอ๊อะ! เอ๊อะ! เอ๊อะ! โอ๋ย.. คนนี้ไม่รู้เรื่องหรอก พูดกับคนนี้ไม่สนุกเลย ไปพูดกับไอ้พวกจินตนาการสนุกกว่า เห็นไหม นี่มันเป็นอย่างนี้ โลกเป็นอย่างนี้

ของเทียม! ของเทียมนะ ดูสิสินค้าที่เทียม มันทำเลียนแบบมา มันแนบเนียน มันสวยกว่านะ แต่คุณภาพสู้ของจริงไม่ได้ แต่รูปลักษณะมันน่าเชื่อถือ มันน่าดีกว่า มันสวยงามกว่า มันแนบเนียนกว่า แต่คุณสมบัติในการใช้ประโยชน์สู้ของจริงไม่ได้ เพราะของจริงของเขาเป็นของจริง

นี่ก็เหมือนกัน เราแปลกใจนะ พวกเราแปลกใจกันว่าทำไมเขาไม่เสื่อม ทำไมเขาไม่รู้สึกตัว นี่ขณะที่จิตเราดีนะ จิตเราดี สติเราดีเราก็เห็นอย่างนั้น เราก็สังเวชเขา แต่เวลาจิตเราประพฤติปฏิบัติไป เห็นไหม นี่ความวิริยะอุตสาหะ การกระทำความเพียรมันทุกข์มันยาก เพราะความจริง..

นี่ดูสิดูอย่างแดดออก ฝนตกเป็นธรรมชาติของเขา แต่เราจะเก็บไว้เพื่อเป็นประโยชน์ใช้งาน เราต้องกักน้ำ เราต้องทดน้ำเพื่อเข้าไร่เข้านาของเรา เราต้องควบคุมน้ำของเรา แสงโซล่าเซลล์เข้ามาเราจะกักเอามา แดดนี่ชาร์ตลงแบตเพื่อเก็บไว้ใช้ประโยชน์ เราต้องทำ มันเดือดร้อนไปหมดเลย แต่ถ้านั่งคิดเอาเองเออเองมันสบายนะ มันสบาย

นี่ก็เหมือนกัน ในการทำของเรา ในการประพฤติปฏิบัติตามข้อเท็จจริงมันแสนยาก มันทำได้ยาก ทำความเพียรได้ยาก สติได้ยาก แต่ถ้าใครได้สัมผัสแล้วนะมันเปรียบเทียบได้ มันเปรียบเทียบได้ เห็นไหม นี่มันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นสันทิฏฐิโก เราจับต้อง เรารับรู้ เราเข้าใจได้ แต่คนที่ยังไม่จับต้อง ไม่รับรู้ ยังเข้าใจไม่ได้เขาก็ต้องฟังเอา เขาก็ต้องพยายามขวนขวายของเขา เขาขวนขวายของเขานะ แล้วเราขวนขวายของเรา เราเทียบเคียงของเรา อย่าเพิ่งเชื่อ ให้เชื่อเรา

นี่กิเลสมันอยู่ที่ไหน? กิเลสมันเป็นเรา ทำอะไรไม่ได้เลยนะ เราลำบาก เราทุกข์ร้อนหมดเลย แต่ถ้าเราฝืนนะ ฝืนเราคือฝืนกิเลส เพราะกิเลสมันอยู่กับเรา เหมือนมือเราสกปรก มือเราไปหยิบอะไรมันก็สกปรกไปใช่ไหม? กิเลสมันอยู่กับจิต จิตมันคิดไปมันก็เดือดร้อนไปทั้งหมดแหละ แต่มันก็ต้องไปแก้ที่จิต มือเราสกปรก จะให้มือเราสะอาด เราก็ต้องเอามือนี้ไปล้างน้ำใช่ไหม? ล้างน้ำด้วยความสะอาดมันก็สะอาดขึ้นมาใช่ไหม?

จิตจะให้มันสะอาดขึ้นมา จิตมันจะเป็นตัวมันเองก็ต้องขวนขวายของมัน ก็ต้องทำของมัน.. ไม่ทำอะไรเลย แล้วทำนะดูสิคิดเรื่องจินตนาการว่ามือสกปรก แล้วมือนี้ก็ได้ล้างน้ำแล้ว มือนี้สะอาด มันสะอาดไหม? มันก็สกปรกอยู่วันยังค่ำ

จิตก็เหมือนกัน การภาวนานี่ว่าว่างๆ ว่างๆ แต่มันว่างไม่จริง มันไม่เป็นความจริงของมัน มันไม่มีความจริง เห็นไหม มรรคญาณ มันมีมรรค มันมีเหตุมีผล มีสติ มีสัมปชัญญะ มันมีการกระทำของมัน นี่ไม่มีการกระทำ หรือทำแต่ทำไม่ถึงจุดหมาย ไม่ถึงเป้าหมายของมัน มันก็ไม่เป็นความจริงขึ้นมา มันสะอาดขึ้นมาไม่ได้หรอก นี่ไงมันเทียบเคียงได้ มันสัมผัสได้ ความสัมผัสนี่เป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นปัจจัตตัง

ผู้รู้แล้ว เห็นไหม ดูสิเวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าใครประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันมีเหตุมีผลขึ้นมาแล้ว มันมีเหตุมีผลนี่มันอธิบายได้ แล้วมันพัฒนาการได้ เพราะพัฒนาการจุดเริ่มต้นจากที่นี่ เวลาปฏิบัติไม่ใช่น้อยเนื้อต่ำใจนะ เพราะ! เพราะคนเกิดมานี่เกิดจากอวิชชา การเกิดทั้งหมด เพราะแรงขับอันนี้มันถึงได้มาเกิดกัน

พลังงานที่สะอาด นิพพาน มันไม่มีแรงขับมันไม่มาเกิดหรอก มันเป็นพลังงานที่สะอาด มันจะไม่มีอะไรดึงดูดมันไปอีกแล้ว แต่พลังงานของเรามันมีอวิชชา มันมีแรงดึงดูด มีความต้องการ มีตัณหาความทะยานอยาก ความคิด ความดูดดื่ม นี่แรงขับ แรงขับนี้มันพาเรามาเกิด พอเราเกิดขึ้นมาแล้วนี่มันมีไหม? มันมีโดยธรรมชาติเพราะเรามาเกิด พอมาเกิด เวลาปฏิบัติไปมันก็เหมือนมือเวลาสกปรก จับอะไรมันก็สกปรกทั้งนั้นแหละ

จิตที่มันมาเกิดมีอวิชชามันก็เป็นธรรมชาติของมันอย่างนั้น แต่เพราะเรามีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช่ไหม? เราถึงตั้งสติยับยั้งมัน ยับยั้งมัน ยับยั้งมัน พอระลึกสติขึ้นมาได้มันจะหยุดได้หมด แต่ชั่วคราวแป๊บหนึ่ง เราก็ฝึกมันบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า มันก็เริ่มต้นจากมือสกปรกนี่แหละ มันก็เริ่มต้นจากความคิดปกติ ความคิดสามัญสำนึก ความคิดที่เป็นกิเลสนี่แหละ ทุกคนจะเริ่มต้นจากที่นี่ พอเริ่มต้นจากที่นี่ มันต้องเริ่มต้นไปแล้วตั้งสติไป แต่อย่าเชื่อ

ฝืนไงต้องฝืน ฝืนตนเองคือฝืนกิเลส ไม่ให้เชื่อมันคือไม่เชื่อกิเลส แม้แต่เป็นธรรมะของพระพุทธเจ้า ศีล สมาธิ ปัญญา นี่ธรรมะของพระพุทธเจ้า ขันธ์ ๕ มรรคญาณต่างๆ คำพูดของพระพุทธเจ้าทั้งนั้นแหละ แต่เรามันสกปรก ใจเราสกปรก มือเราสกปรกไปจับอะไรมันสกปรกหมดแหละ จิตเรามีกิเลส เราหยิบต้องอะไรมันเป็นกิเลสทั้งนั้นแหละ ทั้งๆ ที่เป็นธรรมของพระพุทธเจ้านี่สะอาด แต่จิตเราสกปรก เห็นไหม เราถึงต้องฝืนมัน ต้องทำ

ฝืน! ทั้งๆ ที่ธรรมของพระพุทธเจ้ามันสะอาด นี่เราบอกปรมัตถธรรมมันผิดตรงไหน? เวลาพูดปรมัตถธรรม ปฏิบัติปรมัตถธรรมมันผิดตรงไหน? มันผิดที่เราสกปรกนี่ไง ถ้าผิดที่มันสกปรก เราต้องทำให้มันสะอาดก่อน สะอาดมันคืออะไร? เขาว่ามีความอยากปฏิบัติไม่ได้ มีความอยากปฏิบัติไม่ได้.. ก็อยากสะอาด อยากเช็ดถู อยากทำ

หนามยอกเอาหนามบ่ง จิตสกปรกเอาจิตแก้จิต เอาจิตให้มันสะอาดได้ จิตมีกิเลสก็เอาจิตแก้กิเลส แต่จิตที่แก้กิเลสได้ เห็นไหม มันมีธรรมะแก้กิเลสได้ กิเลสแก้กิเลสไม่ได้ กิเลสมันมีแต่พอกกิเลส เวลาปฏิบัติไปนี่ปฏิบัติเพื่อธรรม แต่มีกิเลสอยู่ กิเลสมันก็จินตนาการคาดหมายไป ทั้งๆ ที่ปฏิบัติธรรม แต่ปฏิบัติโดยกิเลส

โดยกิเลส! แต่ถ้าเราตั้งใจ ตั้งสติ กิเลสมันเป็นมรรค มรรคอะไร? มรรคคือความอยาก ความอยากทำสิ่งที่ดี ทำสิ่งที่ดีก็เปรียบเทียบ ดีทางโลก ดีที่เขาได้วัตถุ เห็นไหม ชนะคนอื่นหมื่นแสนเท่ากับสร้างเวรสร้างกรรม แล้วชนะเราล่ะ? ชนะเรานะ เราเป็นคนดูว่าคนเป็นหมื่น เป็นแสน เป็นล้าน ในภพในชาติต่างๆ แต่เราไม่ดูว่าจิตเวลามันเกิดวันหนึ่งมันเกิดกี่รอบ

ความคิดเกิดดับๆ ความคิดนี่อารมณ์ สวรรค์ในอก นรกในใจ แล้วจิตที่มันเกิดตายๆ ในวัฏฏะ เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกมนุษย์คนหนึ่ง ถ้าเอาซากศพของแต่ละชีวิต แต่ละชาติมาวางไว้นี่ล้นโลกเพราะเป็นวัตถุ แต่นี้วัตถุมันย่อยสลายไปใช่ไหม? แต่นามธรรมมันไม่ย่อยสลาย มันมีการกระทำขึ้นมา

พระโพธิสัตว์ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย นี่เกิดมาถึง ๔ อสงไขย เกิดตายๆ ถึง ๘ อสงไขย เกิดตายๆ ถึง ๑๖ อสงไขย คือนับไม่ได้ถึง ๑๖ หน คนที่เกิดตายๆ ซากศพที่มันสะสมไว้มันจะมากมายขนาดไหน? น้ำตาที่เคยร้องไห้ไว้แต่ละภพแต่ละชาติ น้ำทะเลสู้ไม่ได้ แต่เราเป็นเจ้าของ เราไปรู้เพราะสิ่งนี้มันเป็นธรรมชาติ แต่ตัวจิตนี้มันเป็นตัวตกผลึก มันถึงเป็นตัวอำนาจวาสนาบารมี เห็นไหม

นี่เราไปมองแต่คน ชนะคนอื่นหมื่นแสนเราได้ประโยชน์ แต่ถ้าชนะเราล่ะ? ชนะเรา ถ้าจิตนี้มันเกิดตายๆ ไม่มีสิ้นไม่มีสุดมาขนาดไหน? มาขนาดไหนมันเลยสร้างมาเป็นความดีความชั่วไง ความดีความชั่วหมายถึงถ้ามันทำความชั่วมา อะไรมา มันก็เคยคิดเคยทำมันฝังใจมา แต่ถ้าทำความดีมามันคิดแต่สิ่งแง่ดีๆ เพราะดูสิ ดูคนคิดแต่ละคนไม่เหมือนกันใช่ไหม? มันคิดแต่แง่มุมดี บางคนคิดดีแล้วมันว่ามันเสียเปรียบ มันไม่ยอม มันจะคิดเอารัดเอาเปรียบเขาตลอด

นี่ไงมันเป็นนิสัย นิสัยแต่ละบุคคลมันเป็นสมบัติที่เราทำมาใช่ไหม? เราจะไม่ต้องไปคิดเปรียบเทียบกับใครเลย นั่นมันเรื่องของเขา ความสุขความทุกข์ของเขา สมบัติของเขา คุณงามความดีของเขา สมบัติของเรา เราคิดของเรา เราดัดแปลงของเรา นี่ของเรา เห็นไหม นี่ไงเอาชนะตน เอาชนะตนให้ได้ เอาชนะกิเลสเราให้ได้

นี่ถ้าเอาชนะตน มีคุณค่ามากกว่าชนะกองทัพหลายๆ กองทัพคูณด้วยกองทัพ แต่ชนะเราเองมันต้องทำขนาดนี้ แล้วคิดว่าจะทำกันตามความสบาย ตามความสะดวก เห็นไหม อันนั้นเป็นวุฒิภาวะนะ ความสงสัย ทำไมเขาดูจิต เขากำหนดของเขาว่างๆ แล้วทำไมเขาไม่เสื่อม? มันไม่มีอะไรจะเสื่อม มันไม่มีอะไรเกิดขึ้นมา แล้วมันไม่มีอะไรเป็นสมบัติของเขาเลย มันเหมือนกับธรรมะของพระพุทธเจ้านี่นึกเอา ลูบๆ คลำๆ กันไปอย่างนั้น เพราะวุฒิภาวะของเขา

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมานะ จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ท่านยังทอดอาลัย เพราะว่าวุฒิภาวะของคนที่มันจะรู้ได้หาได้ขนาดไหน แต่เวลาสร้างสมมา สร้างสมมาเพื่อ.. เห็นไหม ครูบาอาจารย์ท่านบอกเลย เหมือนในป่าๆ หนึ่ง จะมีต้นไม้ตรง ต้นไม้ที่ดีกี่ต้น นี่ก็เหมือนกัน จิตใจของมนุษย์ในสังคม มันจะมีคนที่พร้อมสักกี่คน ถึงบอกว่าต้องเล็งญาณ เล็งญาณเอาหัวใจของคนที่มันมีความคิดที่ดี แล้วไปแก้ไขคนนั้น เอาคนนั้น

สิ่งที่เขาแก้ไขไม่ได้ เห็นไหม พูดไปเขาก็ไม่ฟัง เขาสบประมาทด้วย กลายเป็นโทษกับเขา ไม่มีประโยชน์อะไรเลย ถ้าคนนอนหลับ เราจะไปฉุดกระชากเขา เขาไม่เอาหรอก เขาไม่เอา แต่คนที่เขาลืมตาเขาจะพร้อม นี่มันเกิดจากการกระทำในหัวใจนี้ มันเกิดจากอำนาจวาสนาบารมีอันนั้น ถึงบอกวุฒิภาวะ ภาระของใจ อินทรีย์ ๕ แก่กล้า

อินทรีย์ เห็นไหม อินทรีย์แก่กล้า ทุกอย่างแก่กล้า มันแก้ไขได้ มันทำได้ แต่เราอย่าไปวิตก ทำไมเขาเป็นอย่างนั้น นั่นมันเรื่องกรรมของสัตว์ สัตว์เขาเชื่อกันตามกระแสของเขาไป เราจะเชื่ออะไรเราต้องทบทวนนะ หาเหตุหาผล กาลามสูตรอย่าเชื่อ อย่าเชื่อแม้แต่ธรรมที่แสดงออกว่ามันควรจะเป็นไปได้ แต่มันจะเชื่อแต่สันทิฏฐิโกไง เชื่อสิ่งที่ประสบ เชื่อสิ่งที่ใจมันเป็น สมาธิเป็นอย่างนี้ ปัญญาเป็นอย่างนี้ แล้วลึกซึ้งต่างกันนะ

คนเวลามันเริ่มหมุนออกไปทางปัญญานะ พอหมุนไปทางปัญญาปั๊บมันจะเลาะ มันจะเลาะอุปาทาน เลาะสิ่งต่างๆ มันจะลึกซึ้ง มันจะตื่นเต้นมาก นี่ถ้าใครถึงตรงนี้ปั๊บมันเปรียบเทียบง่ายมาก เพราะของเขาจับอยู่กับมือ แต่นี่ของในมือไม่มี แล้วพยายามอธิบาย ตุ๊กตาขึ้นมา เขาก็คาดการณ์ของเขาไป

มันยากตรงนี้นะ ธรรมะที่จะสั่งสอนกันมันยากตรงนี้ เราถึงต้องมาฝืนมาทนเอา เพื่อ! เพื่อจะให้เราได้สัมผัส เพื่อให้ได้รู้จริงของเรา เห็นไหม เรื่องของใจคนอื่น ถ้าเขามีศรัทธาความเชื่อของเขา พูดแล้วไม่ฟังก็กรรมของสัตว์ ปล่อย แต่ของเราเรารักษาเรา แล้วทำเราให้ได้ดี ดีของเรานะ ดีเพื่อเรา ดีเพื่อชำระกิเลส ไม่ใช่ดีเพื่อให้ใครยกย่องสรรเสริญ ไม่ใช่

ถ้าดีเพื่อคนยกย่องสรรเสริญนะเราต้องทำเพื่อเขา เราต้องทะนุถนอมเขา ไม่ใช่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก เห็นไหม ลูกศิษย์ของท่านท่านจะนวด เหมือนดินที่จะปั้นโอ่งปั้นไหท่านต้องนวด ต้องเค้น ต้องทำให้มันเป็นประโยชน์ขึ้นมา

นี่ก็เหมือนกัน เราจะทำเพื่อประโยชน์เขา เราต้องไปเอาใจเขา ไม่ใช่ ปล่อยเขา พูดแล้วไม่ฟังก็เรื่องของสัตว์ กรรมของสัตว์ แต่ของเรานี่เรารักษาของเรา เพื่อประโยชน์ของเรา เอวัง