เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒o ธ.ค. ๒๕๕๑

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๑
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราเป็นชาวพุทธ เวลาเราปฏิบัติธรรมเราก็ว่าเราถูกต้อง ข้างนอกเขาบอกว่าเรานี่พูดแรงมาก เราบอกว่าไม่หรอก เราพูดความจริง ขาวหรือดำ ถูกหรือผิดไง

แล้วเขาพูดสวนมาบอกว่า “ถูกหรือผิดมันต้องมัชฌิมาปฏิปทา”

เห็นไหม ถูกหรือผิด ขาวหรือดำ ต้องมีมัชฌิมาปฏิปทา

เราบอกว่า “ไม่ใช่หรอก นี่คือความเห็นผิด”

ความเห็นผิดนะ เพราะมันมีมัชฌิมาปฏิปทา มันถึงมีขาวกับดำ ถ้าไม่มีมัชฌิมาปฏิปทา มันจะไม่รู้ขาวรู้ดำ เราไปคิดกันเอง เราเห็นสังคม เห็นความเป็นไปว่าขาวหรือดำ แล้วบอกว่าเป็นกลาง เป็นกลาง.. เป็นกลางคือปฏิเสธไม่รู้อะไรเลย ถ้าพวกเราไม่รู้อะไรเลย เราก็จะไม่รู้อะไรกันไปเลย เราก็จะว่าเราเป็นกลาง เป็นกลางคือลอยตัวไง ลอยตัวเฉยๆ ไม่มีอะไรเลย

ทุกข์ สมุทัย นิโรธ.. นิโรธคือดับทุกข์นะ ทำไมถึงมีมรรคอยู่ข้างหลังล่ะ? ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทำไมไม่บอกว่ามรรคแล้วนิโรธล่ะ? ทำไมบอกว่านิโรธแล้วมรรค นิโรธคือการดับทุกข์ แต่ดับด้วยอะไร? ดับด้วยมรรคญาณ พอดับด้วยมรรคญาณ ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม

“ความดีที่ดีกว่านี้ยังมีอยู่”

ความดีที่สูงขึ้นๆ ที่ดีกว่านี้ยังมีอยู่ แต่เราไปคิดกันทางวิทยาศาสตร์ เห็นไหม ว่าว่าง ปล่อยวาง ในสังคมไทยเรานี่บอกว่า “ศาสนาพุทธศาสนาให้ปล่อยวาง” แล้วทุกคนในสังคมบอกว่า “เดี๋ยวนี้เราปล่อยวางหมดแล้ว” ปล่อยวางหมดแล้ว ปล่อยวางในอะไร? ปล่อยวางตรงไหน? ไม่รู้ ไม่ได้ปล่อยวางอะไรเลย

คำว่าปล่อยวาง นี่เราไปชิงสุกก่อนห่าม ถ้าเราไปชิงสุกก่อนห่าม เราไปเข้าใจว่าเราเข้าใจธรรมะกันแล้ว เราเข้าใจธรรมะอะไร? เข้าใจธรรมะโดยกิเลสอ้างไง กิเลสมันจะอ้างธรรมะนะ ว่านี่ว่าง! ว่าง! ว่าง! ปล่อยวาง.. มันว่างอะไร? สมาธิก็ยังไม่รู้จักสมาธิ เพราะถ้าเป็นสมาธิจะพูดอย่างนี้ไม่ได้ เห็นไหม ดูสิเหมือนกับเราอยู่ในสังคม เราไม่ยอมรับรู้สังคมสิ่งใดๆ เลย แล้วก็ว่าเราอยู่สุข อยู่สบาย จริงไหม?

ถ้าสังคมไม่มั่นคง เราอยู่ในสังคมไม่ได้หรอก เพราะเรานี่เป็นสัตว์สังคม มนุษย์เป็นสัตว์สังคมนะ อยู่คนเดียวไม่ได้ ต้องพึ่งพาอาศัยกัน การพึ่งพาอาศัยกันมันก็ต้องมีคุณงามความดี มีการเสียสละ มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน เห็นไหม เราว่าเราเอาตัวเรารอดแล้ว เราสบายแล้ว เราบอกเราว่างแล้ว เราพอใจแล้ว แล้วถ้าสังคมมีปัญหาขึ้นมาเราเดือดร้อนไหม? เรานี่เดือดร้อน

เราจะเดือดร้อนหรือจะไม่เดือดร้อนมันอยู่ที่สังคม ดูสิถ้าสังคมร่มเย็นเป็นสุข สมณะ ชี พราหมณ์จะมีโอกาสประพฤติปฏิบัติ แล้วสมณะ ชี พราหมณ์ประพฤติปฏิบัติเข้าไป นี่มันเป็นบุญกุศล มันเป็นธรรมของคฤหัสถ์ เป็นธรรมของภิกษุ เป็นธรรมของโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี มันลึกซึ้งเป็นชั้นๆ ตอนๆ เข้าไป

ความลึกซึ้งเป็นชั้นๆ ตอนๆ เข้าไป เห็นไหม ถึงนิโรธแล้วมรรค นิโรธะ มันมีนิโรธแล้วมันมีมรรคญาณเดินต่อไป เดินต่อไป จนถึงที่สุดมันทำลายกันไปเองหมด เราถึงบอกว่าสายกลาง หมายถึงว่าดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ ความชอบธรรมมันถึงเห็นถูก เห็นผิด แล้วเมื่อความเห็นถูก เห็นผิดขึ้นมา เราจะปล่อยวาง

นี่ไงน้ำบนใบบัว สิ่งที่เราอยู่ในสังคมโดยไม่ติดสังคม แต่รับผิดชอบสังคม ดูสิอย่างในหลวงท่านสูงสุดในสังคมใช่ไหม? ท่านแบกรับสังคมไว้ไหม? แบกรับไปหมด เรานอนหลับสบายกันแล้วนะ กลางคืนดึกๆ ดื่นๆ ท่านต้องออกมาตรวจงาน ท่านต้องออกมาสังคม มาดูแลว่ามันควรจะแก้ไขอย่างไร? ไอ้เรานอนหลับอุตุเลยนะ พูดถึงความเป็นอยู่ของท่าน ท่านก็มีความสุขสบายของท่าน เห็นไหม แล้วท่านแบกรับทำไม?

นี่ก็เหมือนกัน อยู่กับสังคมโดยไม่ติดสังคม แต่มันก็ยอมรับ เพราะอะไร? เพราะเหมือนกับเราเป็นผู้ใหญ่ใช่ไหม? เราเห็นเด็กมันมีความเป็นอยู่ อนาคตของเด็กมันจะรู้ได้อย่างไรว่ามันจะเผชิญกับสิ่งใด

เราพูดกันบ่อยมากว่าเราจะส่งต่อสังคม ส่งต่อทรัพยากรให้กับลูกหลานของเรา เราจะส่งต่อสิ่งที่ดีงามให้กับลูกหลานของเรา ลูกหลานของเราจะมีสังคมที่ดี จะมีทรัพยากรที่ใช้ดำรงชีวิตต่อไป แล้วเราแสวงหาอย่างไรถึงจะส่งทรัพยากรที่ดีให้กับลูกหลานของเรา.. ก็ต้องส่งนี่ไง ส่งความคิดที่ดี ส่งสังคมที่ดี ส่งความเป็นไปที่ดี แล้วสังคมที่ดีอยู่ที่ไหน? อยู่ที่ไหนล่ะ? สังคมที่ดีนะ ศีลธรรมจริยธรรมมันเกิดมาจากใครล่ะ? มันเกิดจากความตกผลึกของใจนะ

ดูสิเวลาเกิดประเพณีวัฒนธรรมขึ้นมาที เขามีงานนักขัตฤกษ์ เขาไปทำพิธีกรรมกัน มันมาจากไหนล่ะ? มันก็มาจากความรู้ของคนใช่ไหม? มันมาจาก ๒ มือของผู้กระทำ แล้ว ๒ มือนี้ใครทำล่ะถ้าใจมันไม่เป็น ถ้าใจมันไม่รับรู้มันจะเอาอะไรไปทำ มันก็ต้องออกมาจากหัวใจใช่ไหม? ความรู้ที่มันตกผลึกในใจใช่ไหม?

นี่ไง ถ้าสิ่งนี้มันเกิดขึ้นมา ถ้าสังคมมีสิ่งนี้ขึ้นมามันช่วยเหลือเจือจานกันได้ ความช่วยเหลือเจือจานกันมันถึงต้องย้อนกลับมาที่นี่ ไม่ใช่เราไปชิงสุกก่อนห่ามกัน เราไปคิดถึงผลไง วิบาก สิ่งที่เราเกิดขึ้นมา เห็นไหม เวลาเราเกิดมาเป็นมนุษย์ เรามีความทุกข์กันเราก็ว่าเราเกิดเป็นมนุษย์

พุทธศาสนาเป็นเนื้อนาบุญของโลก แล้วชาวพุทธก็ทำบุญกันมากที่สุดในโลก ทำไมชาวพุทธไม่รวยที่สุดในโลกล่ะ? สังคมนี่ชาวพุทธต้องเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลก เพราะศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งเหตุและผล ทำบุญกุศลแล้วได้บุญกุศลมาก

บุญกุศล เราไปคิดกันตรงนั้นไง สิ่งที่เป็นความมั่นคงของสังคม เห็นไหม โลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระรัฐบาล บอกว่า “โลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจ” ไม่มีอะไรอิ่มเต็มหรอก สิ่งที่มันเป็นไปมันมีการเปลี่ยนแปลง โลกนี้เป็นอนิจจัง

“สิ่งใดเป็นอนิจจังสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา”

มันแปรปรวนไปตลอดเวลา ต่อไปมันเป็นไปได้ ดูสิในทางสังคมเขาจะเคลื่อนมาทางตะวันออก เพราะทรัพยากรมันอยู่ที่นี่ ทรัพยากรคืออะไร? คนที่หนาแน่นที่สุดในโลกนี้คือทางเอเชีย ทางตะวันออกนี่คนที่หนาแน่นที่สุด แล้วคนที่หนาแน่นที่สุดคนก็มีปัญญา คนมีปัญญา แต่! แต่ปัญญาของเรามันเป็นปัญญาแบบศาสนา ปัญญาแบบให้ทาน ปัญญาแบบเกื้อกูลกัน มันไม่ใช่เป็นปัญญาแบบธุรกิจ

ปัญญาธุรกิจเป็นปัญญาที่เอารัดเอาเปรียบกันใช่ไหม? แต่สังคมเรานี่ ดูสิในวงการแพทย์ ในวงการวิทยาศาสตร์ เวลาเขาศึกษาธรรมะแล้วนี่ทำไมพระพุทธเจ้ารู้แล้วๆๆ นะ แต่พวกเราถ้าคิดว่าสิ่งนี้เป็นปัญญาทางธุรกิจ มันศึกษาธรรมะ ดูวัดโพธิ์สิ เห็นไหม ตำรายาในวัดโพธิ์ คนเขาไปเอาตำรายาในนั้นแล้วเอาไปทำธุรกิจกัน เขาเป็นเศรษฐีเยอะแยะไปหมดเลย เพราะเขาคิดเป็นธุรกิจ

แต่ผู้ที่เป็นผู้นำในสังคมเรา เห็นไหม ตั้งให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกแห่งโลกที่วัดโพธิ์ วัดโพธิ์นี่มีหมดเลย ตำรายาโบราณมีหมดเลย แล้วคนที่เอาไปใช้ เอาไปทำประชาสัมพันธ์ มันก็เป็นธุรกิจขึ้นมาได้

ในพระไตรปิฎก ในสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ เห็นไหม สิ่งที่เป็นทางวิทยาศาสตร์ การเกิดของมนุษย์ การเป็นไปของโลก โลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สิ่งต่างๆ อนาคตต่อไปจะมีฝนเหล็ก จะมีต่างๆ พระพุทธเจ้าพยากรณ์ไว้หมดแล้วแหละ เพราะสิ่งในโลกมันจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นสภาวะแบบนั้น

ถ้าเราจะมาเอาความมั่นคงของร่างกายมันจะเป็นสภาวะแบบนั้น แต่ถ้าเราเอาความมั่นคงของศีลธรรม จริยธรรม ถ้ามีหัวใจ มีสิ่งที่เมตตา เจือจานกัน นี่ไงสังคมพุทธ สังคมพุทธเป็นสังคมที่ร่มเย็นเป็นสุข สังคมที่เจือจานกัน สังคมพุทธเป็นสังคมทาน ศีล ภาวนา การเสียสละ การดูแลกันด้วยน้ำใจ

มีคนพูดมาก มาจากตะวันตกนะ บอกว่าตะวันตกเขาเจือจานดีกว่าเราอีก เขามีน้ำใจต่อกัน ไอ้นั่นน้ำใจต่อกันมันมีสัดส่วนเท่าไหร่ล่ะ? แต่ของเรามันเป็นทั้งสังคมนะ สยามเมืองยิ้ม มันยิ้มออกมาจากหัวใจไง นี่มันมีการเผื่อแผ่กัน มันมีความสุข มันมีความอบอุ่นในหัวใจ

บุญกุศลมันอยู่ที่นี่ อยู่ที่ความสุขของใจ อยู่ที่ในครอบครัวเรายิ้มแย้มแจ่มใส บุญกุศลมันอยู่ที่นี่ มันไม่ได้อยู่ที่ตัวเลขหรอก ตัวเลขมีมากมายมหาศาลขนาดไหน แต่ในครอบครัวของเรามีแต่ความเร่าร้อน มีแต่ความทุกข์ มันจะมีประโยชน์อะไร? นี่ไง เราว่าโลกเจริญๆ โลกเจริญนี่วัตถุเจริญหรือ? แต่ถ้าธรรมะเจริญล่ะ? ถ้าธรรมะเจริญนี่คนมันเจริญ สังคมจะไม่มีปัญหากัน สังคมจะไม่ทำลายกัน

ทางประวัติศาสตร์นะ ถ้าเป็นลัทธิเดียวกัน เป็นศาสนาเดียวกัน แล้วเห็นแย้งกัน จะทำลายกันมากกว่าต่างศาสนาทำลายกันนะ ต่างศาสนาทำลายกันเขายังมีข้อมูลแตกต่างกัน แต่ในลัทธิเดียวกัน ในศาสนาเดียวกันแล้วทำลายกัน เพราะอะไร? เพราะมันอาวุธเล่มเดียวกันแล้วมันทำลายกัน ทำลายด้วยอะไร? ทำลายด้วยทิฐิมานะใช่ไหม? แต่ถ้าเป็นพุทธศาสนา เห็นไหม ให้อภัย กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดแตกต่างกัน กรรมจะให้ผลของเขา

เห็นไหม แพ้เป็นพระ.. คำว่าแพ้เป็นพระ เราเข้าใจว่าแพ้เป็นพระ สิ่งที่มันสุดวิสัย ธรรมของผู้บริหาร เห็นไหม ถึงที่สุดแล้วต้องอุเบกขา มีเมตตา มีกรุณา มีความช่วยเหลือทั้งหมด ความช่วยเหลือนี่เราช่วยเหลือแต่เขาไม่เปิดรับ สิ่งนี้มันเป็นกรรมของสัตว์ กรรมของสัตว์คืออุดมคติในใจของเขา เขามีความคิดเห็นอย่างนั้น เราเจือจาน เราช่วยเหลือเขาเต็มที่แล้ว แต่เขาก็ว่าเขาขาดแคลน เขาไม่พอใจสิ่งต่างๆ เขากลับมาทำร้าย

นี่เวลากรรมมันให้ผล เห็นไหม เวลาผลของกรรมมันเกิดขึ้นมาต้องอุเบกขา คำว่าอุเบกขานะ แต่วิทยาศาสตร์บอกต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนั้น พิสูจน์แล้วต้องเป็นอย่างนั้น แล้วค่าความเปลี่ยนแปลงของมันล่ะ? สิ่งที่ไม่เป็นอย่างนั้น เห็นไหม สุดท้ายแล้วถ้าไม่มีอุเบกขาเราจะทุกข์ของเรานะ “ทำไมทำแล้วไม่ได้ผล ทำดีแล้วไม่ได้ดี คนไม่เห็นทำดีทำไมเขาได้ดีของเขา”

นี่ไงมันมีที่มา เห็นไหม จริตนิสัยของคน อำนาจวาสนาของคน เช่น เราทำคุณงามความดีมาในปัจจุบันนี้ แล้วเราออกไป ความดีก็คือความดีของเรา แต่เหตุการณ์จำเป็น สิ่งที่มันเกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น นี่มันเป็นปัจจุบัน มันเป็นกรรมที่เกิดขึ้นมา สิ่งที่เกิดขึ้นมาเราก็แก้ไขของเราไป ถ้าเรามีจุดยืนของเรา เรารักษาใจของเรา ใจของเราจะมีจุดยืนของเรา นี่มันต้องเข้าใจแล้วมันถึงจะเป็นจริง

มัชฌิมาปฏิปทา! ความเห็นชอบ ดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ ความดำริชอบ ปัญญาที่ชอบ แต่เราบอกว่ามีความปล่อยวางนี่มัชฌิมาของเรา มัชฌิมาของเราคือว่ามันไม่มีหลักการ ไม่มีจุดยืน พอไม่มีหลักการ ไม่มีจุดยืน เห็นไหมเขาบอกว่าอุเบกขา สุขกับทุกข์กับอุเบกขา อุเบกขาเป็นธรรม

ไม่ใช่ อุเบกขานี่นะมันเป็นเหมือนเข็มตาชั่ง มันตั้งอยู่ตรงกลางที่มันจะโน้มไปทางสุขและทุกข์ อุเบกขามันอยู่ด้วยตัวมันเองไม่ได้ อุเบกขาไม่ใช่ธรรม อุเบกขามันเป็น ทุกขเวทนา สุขเวทนา อุเบกขาเวทนา บางทีเราเฉยๆ อยู่ เห็นไหม เฉยๆ อยู่นี่เป็นธรรมหรือยัง? เฉยๆ อยู่นี่อวิชชาเต็มหัวใจเลย เฉยๆ อยู่นี่เดี๋ยวมันก็ตะปบความทุกข์มาให้เราอีกแล้ว เฉยๆ อยู่ใช้ได้ไหม?

เฉยๆ อยู่นะ นี่ไงมันไม่มีหลักการ มันต้องสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิมันเฉยอยู่นี่ เฉยอยู่เพราะอะไร? เราควรทำอะไรต่อไป ไม่ใช่เฉยอยู่เฉยๆ เฉยอยู่เฉยๆ นี่มันเป็นฤๅษีชีไพร ฤๅษีชีไพรเขาทำได้ดีกว่านี้นะ เวลาเขาเข้าสมาบัติ เขาเหาะเหินเดินฟ้าได้ เห็นไหม ถ้าในหลักของศาสนามีครูมีอาจารย์ ท่านจะพัฒนาขึ้นมา ไม่ใช่มัชฌิมาปฏิปทาของเรา มัชฌิมาคือไม่รู้อะไร แล้วปฏิเสธ

ถ้ามัชฌิมาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม มัชฌิมามันตกไปใน ๒ ฝ่าย เวลาความคิดของเรานี่กามสุขัลลิกานุโยค อัตตกิลมถานุโยค การกระทำมันจะมีความสุข ความทุกข์ของมันตลอดไป นี่มันตกไป ๒ ฝ่าย ถนนวิ่งไปตกซ้าย ตกขวา ตกคลองหมด วิ่งไปบนถนนมันถึงเป้าหมาย เป้าหมายทำอย่างไร? เป้าหมายนี่จิตนี้ทำอย่างไร? แล้วจิตนี้มันจะย้อนกลับมาทำลายกิเลสอย่างไร?

ถ้าทำลายกิเลสเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป นี่มัชฌิมาคือถนนที่เป็นเส้นตรง ทางอันเอก มรรคโค.. มรรคโค ทางอันเอก เห็นไหม ทางอันเอกมันอยู่ที่ไหน? เราไปหาทางที่ไหน? ไปหาไฮเวย์ที่ไหนไม่มี ทางอันเอกคือทางในหัวใจไง ความรู้สึกที่มันพุ่งเข้าหัวใจ สมาธิที่พุ่งเข้าหัวใจ เพราะทางอันเอกนี่เอกที่ไหน? เอกที่ความรู้สึกอันนี้ไง แล้วถ้ามันพุ่งเข้าไปนี่ทวนกระแส

เราไปตามกระแส ความคิดส่งออก เวลาคิดนี่มันออกมาจากไหน? คิดออกมาจากภวาสวะ คิดออกมาจากภพ คิดออกมาจากใจ แล้วความคิดไปไหน? คิดก็คิดออกไปข้างนอก แล้วถ้ามันย้อนกลับล่ะ? นี่ทางเอกอยู่ที่นี่ เห็นไหม ทางที่มันจะย้อนกลับเข้าไป แล้วย้อนกลับทำอย่างไร? ถ้าคนไม่เห็น คนไม่จริงนี่ทำไม่ได้

นี่มัชฌิมาปฏิปทามันอยู่ที่นี่ เห็นไหม พอว่ามัชฌิมาปฏิปทาเราก็ว่าอันนั้นไปลำบาก สิ่งที่ลำบาก นี่มัชฌิมาของกิเลส

มัชฌิมาของเรา อะไรที่ไม่พอใจเป็นมัชฌิมา ถ้ามันพอใจ กิเลสมันก็ซุกอยู่ในความพอใจนั้น แล้วเอาอะไรไปทำลายมัน? ถ้าไม่ทำลายมันนะ ขณะที่เรามีจิตใจที่ดี เรามีความสุข เราก็พอใจเรา เวลาทุกข์ขึ้นมานี่เร่าร้อนแล้ว ทำไมไม่พอใจล่ะ? ทำไมไม่พอใจ มันจะสุขอยู่กับเราตลอดไปได้ไหม?

สิ้นสุดกระบวนการของความสุขก็เป็นความทุกข์ สิ้นสุดกระบวนการความทุกข์ก็เป็นความสุข สิ้นสุดกระบวนการความทุกข์ ความสุข มันก็เฉยๆ อยู่ แล้วมันก็หมุนเวียนอยู่อย่างนี้ แล้วมันไปจบที่ไหน? แล้วมัชฌิมาปฏิปทาของใคร? แต่ถ้าทำลายหมดแล้วนะ ผู้รู้ รู้ตื่น รู้แจ้ง มันปล่อยหมดเลย แล้วรู้อยู่ในความสุขของมัน อันนี้ต่างหาก ผลของมัชฌิมาปฏิปทา ผลของการเห็นขาวและดำ ผลของความจริงของเรานะ

ถ้าศาสนาต้องมีการกระทำ มีความเพียรชอบ ถ้าไม่มีความเพียร ไม่มีความวิริยะ ไม่มีความอุตสาหะ แล้วจะมีผลเกิดขึ้นมาโดยที่เราเพ้อเจ้อเพ้อฝันกันไปเอง ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา เราเป็นเจ้าของศาสนา เราก็เคลมว่าเป็นของเรา แต่มันไม่จริงหรอก เพราะมันมีความสงสัย มันมีความตกผลึกในใจ ในหัวใจนี่มันเร่าร้อน แต่ถ้าเป็นจริงขึ้นมามันจะจบสิ้นกระบวนการของมันได้ แล้วทำถึงที่สุดได้

นี่อันนี้ต่างหากมันถึงเป็นความจริง ความจริงจะเกิดขึ้นมาจากผู้รู้จริง ไม่ใช่เราไปคาดหมาย เห็นไหม ธรรมะคาดหมาย แล้วก็ว่ากันไปตามเกม แล้วเรานี่ชนชั้นไง ชนชั้นทางความคิดนะ เราเห็นท่านเป็นครูบาอาจารย์เราก็เชื่อท่าน

กาลามสูตร ไม่ให้เชื่อแม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูด ไม่ให้เชื่อ ไม่ให้เชื่อเพราะเป็นอาจารย์เรา ไม่ให้เชื่อสิ่งที่มันเคลมแล้วเข้ากันได้ มันให้เชื่อสัจจะความจริงที่มันสิ้นจริงๆ ทำลายจริงๆ ผลเกิดจริงๆ เป็นสันทิฏฐิโก เป็นปัจจัตตังในหัวใจ ให้เชื่ออันนี้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เชื่ออันนี้ ไม่ให้เชื่อสิ่งต่างๆ เชื่ออันนี้ มันไม่ใช่เชื่อหรอก มันเห็นจริง รู้จริง เป็นความจริงขึ้นมา แล้วมันจะเห็นเป็นผลประโยชน์ของเรา มันจะเป็นความจริงกับเรา เอวัง