เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๑ ธ.ค. ๒๕๕๑

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๑
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมเนาะ ในการเทศน์ ถ้าเทศน์ในสังคมหนึ่งเขาก็ไม่ฟัง เราเทศน์สังคมหนึ่ง สังคมที่เขายอมรับ สังคมที่เข้าใจ เขาฟังเทศน์เขาเข้าใจ สังคมที่เขาไม่เข้าใจนะ เขาเห็นว่าเป็นการเสียเวลาเปล่า เห็นไหม มนุษย์เกิดมานี่เป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่เป็นมนุษย์ไม่เท่ากัน เป็นมนุษย์ไม่เท่ากันตรงไหน? เป็นมนุษย์ไม่เท่ากันตรงที่ต้นทุนความเป็นมนุษย์

ต้นทุนความเป็นมนุษย์ เห็นไหม มนุษย์สมบัติ.. เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เราเกิดมาจากพ่อ จากแม่ ทุกคนมีค่าเท่ากัน เกิดจากพ่อจากแม่ ต้องมีพ่อมีแม่ถึงมีลูก ลูกเกิดจากพ่อจากแม่ แต่ต้นทุนของความเป็นมนุษย์มันเป็นเรื่องของกรรม การทำดีทำชั่วของใจนั้นมา

ต้นทุนของมนุษย์ต่างกัน ความคิด ความเห็น ทิฐิมานะ ความรู้สึกต่างๆ กัน นี่ต้นทุนของมนุษย์ เวลาเราประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม เราศึกษา เราเกิดเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา สิ่งนี้เป็นสิ่งประเสริฐที่สุด ประเสริฐที่สุดเพราะอะไร? เพราะคนเกิดมาทุกคนต้องการโอกาส ทุกคนต้องการความสุข ทุกคนปรารถนาความสุข เกลียดความทุกข์ แต่สัจธรรมความจริง การเกิดมา เห็นไหม สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง

“สิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา”

สัจธรรมมันเป็นอย่างนั้น สัจธรรมทุกอย่างในโลกนี้มันแปรสภาพ ไม่มีสิ่งใดคงที่ สิ่งใดมันเป็นอนิจจังทั้งหมด สิ่งใดเป็นอนิจจัง มันไม่ได้สมความปรารถนามันเป็นความทุกข์ สิ่งใดที่เป็นความทุกข์ ทุกข์นั้นเป็นอนัตตา สิ่งที่เป็นอนัตตามันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ซ้อนเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง ผู้ที่มีวุฒิภาวะจะเห็นสัจจะความจริง จะเข้าใจสัจจะความจริง

ทีนี้เราปรารถนาความสุขกัน เราแสวงหาความสุขตามความปรารถนา ตามแรงขับของตัณหาความทะยานอยาก คิดว่าได้สมประโยชน์สิ่งใดแล้วสิ่งนั้นจะเป็นความสุขไง ความสุขไม่มี ในโลกนี้ความสุขไม่มี ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ และทุกข์ดับไป ทุกข์เจือจานไปเท่านั้น เราก็มีความสุขพอมีลมหายใจได้ แม้แต่การเคลื่อนไหวในอิริยาบถ ๔ ของเรา เห็นไหม มันจะคงที่ไม่ได้ มันต้องเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เราเปลี่ยนแปลงไปโดยสัญชาตญาณ เราเปลี่ยนแปลง ทั้งๆ ที่มันเป็นความทุกข์อยู่นี่แหละ แต่เราว่ามันเป็นความสุขไง

ดูคนเราเกิดมา เห็นไหม มีปัจจัยเครื่องอาศัย นี่สิ่งที่แสวงหา ปัจจัยเครื่องอาศัย ใช้แล้วมันก็หมดไป ต้องแสวงหามันต่อไป สิ่งที่แสวงหาต่อไป ก็เข้าใจว่าเป็นความทุกข์ เข้าใจว่าเป็นความทุกข์ไง เข้าใจว่าเป็นความสุข เราแสวงหามาเพื่อมันๆ

นี่ล่ะวุฒิภาวะ เกิดเป็นมนุษย์ ต้นทุนของมนุษย์ไม่เท่ากัน ในการประพฤติปฏิบัติ ในการฟังธรรม ต้นทุนของการฟังธรรมก็ไม่เท่ากัน สิ่งที่เป็นต้นทุนทางวัตถุ เห็นไหม เกิดเป็นมนุษย์เท่ากัน มีค่าเท่ากัน

พูดถึงเราศึกษาธรรมะต้องมีความเสมอภาค ต้องมีความเสรีภาพ ความเสมอภาค ความเสรีภาพ มันเสรีภาพตั้งแต่เราเกิดมานั่นแหละ เพราะเราเกิดมามีลมหายใจเข้าและลมหายใจออก เห็นไหม ทุกคนมีเสรีภาพที่จะทำดีก็ได้ ทำชั่วก็ได้

เสรีภาพของเรา เราต้องการเสรีภาพ ในเมื่อเรามีความปรารถนา แต่เราปฏิเสธทุกอย่างที่เป็นหน้าที่การกระทำเพื่อสิ่งที่เป็นความดีของใจ ความดีของใจนะ ทีนี้เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราจะประพฤติปฏิบัติด้วยรูปแบบ สิ่งที่เป็นรูปแบบเป็นโลกทั้งหมดนะ ในเมื่อเราเห็นว่าชีวิตนี้มันเป็นวัตถุ สิ่งที่เป็นวัตถุ สิ่งที่จับต้องได้ ทีนี้จับต้องได้เราก็คิดเป็นวิทยาศาสตร์ไป เราก็ว่าต้องเป็นรูปแบบ การกระทำต้องเสมอกัน ต้องมีความเห็นสอดคล้องกัน มันเป็นไปไม่ได้หรอก เพราะต้นทุนมันแตกต่างกัน พันธุกรรมทางจิตมันแตกต่างกัน

พันธุกรรมทางจิตมันแตกต่างกันนะ สิ่งที่แตกต่าง ความเห็นแตกต่างกันหลากหลายมาก เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เห็นไหม บอกว่ามนุษย์นี่จะสั่งสอนอย่างไร? เวลาสั่งสอนมนุษย์นะ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็น สัตถา เทวมนุสสานัง เป็นอาจารย์ของเทวดา ของอินทร์ ของพรหม เป็นอาจารย์ของวัฏฏะทั้งหมด เป็นผู้รู้แจ้งในอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค สัจจะ อริยสัจจะ

ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค.. ไม่มีสุข นิโรธ มรรค ไม่มี มีแต่ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทุกข์เป็นความจริง มันแปรสภาพ มันเป็นอนิจจัง มันเป็นข้อเท็จจริงอยู่แล้ว เห็นไหม มันเป็นความทุกข์อันหนึ่ง แต่ถ้าเราเข้าไปเผชิญกับความทุกข์ ทุกข์ควรกำหนด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เผชิญกับความทุกข์ ให้เผชิญกับความจริง

เวลาเราเผชิญกับความจริง เห็นไหม ในโลกปัจจุบันนี้เขาว่าเป็น “ทุกข์นิยม” แต่เราบอกว่าไม่ใช่ พวกเราศาสนาพุทธไม่ใช่ทุกข์นิยม เป็น “สัจจะนิยม” มันเป็นสัจจะ มันเป็นความจริง แต่เราปฏิเสธความจริง เราถึงค้นหาความจริงกันไม่พบ แต่ถ้าเรายอมรับความจริง เราใคร่ครวญมันสิ สิ่งที่เราทำกันอยู่นี้เป็นความทุกข์ไหม? เพราะมันเป็นสมุทัยไง มันเป็นความพอใจ มันเป็นตัณหา มันเป็นความทะยานอยาก สิ่งที่เป็นแรงขับ เห็นไหม เราขับตามมันไป

ชีวิตใช้ในทางโลก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดไว้ในธรรมะนะ

“เหมือนวิดทะเลทั้งทะเลเลย แล้วเอาปลาตัวเดียว”

คือเราปรารถนา เรามีการตั้งเป้า แล้วเราสร้าง เราพยายามของเราไป แต่มันประสบความสำเร็จไหม? มันจะเป็นอย่างที่เราปรารถนาไหม? ถึงที่สุดแล้ววิดจนได้ปลาตัวเดียว มันก็ยังวิดต่อไป อยากได้ปลาตัวใหม่ มันจะเอาปลาตัวใหญ่กว่านี้ นี่ตั้งเป้าไป แต่เวลาพูดถึงสิ่งที่เป็นความทุกข์ เราจะไม่ทำคุณงามความดีกันเลยหรือ?

ไม่ใช่ เวลาพระโพธิสัตว์ เห็นไหม พระโพธิสัตว์ปรารถนาเพื่อจะเป็นโพธิญาณ ปรารถนาเพื่อจะมีคุณธรรม ปรารถนาเพื่อจะสิ้นกิเลส ต้องสร้างสมบุญญาธิการ พวกเรานี่สาวก สาวกะ.. สาวกหมายถึงผู้ที่ได้ยินได้ฟัง คือมีคนชักจูง แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า ไม่มีผู้ชักจูง ไม่มีคนบอก

ขนาดมีคนชักจูงนะ มีกรอบกติกา พระไตรปิฎกนี่วางไว้ซึ่งๆ หน้าเลย แต่ตีความหมายกันไปหลากหลาย ตีความหมายกันไปด้วยต้นทุนของมนุษย์ ด้วยต้นทุนของความเห็น สุตมยปัญญา การศึกษาเล่าเรียน มันเป็นวิชาการที่จะเป็นปริยัติ มันจะเป็นภาคพื้นของการปฏิบัติ

ทีนี้ปฏิบัติขึ้นมา ปริยัติ เห็นไหม นี่ต้นทุน ต้นทุนปริยัติปั๊บมันก็เป็นกรอบ กรอบเราทำอย่างนั้นเราออกจากกรอบไม่ได้เลย คิดในกรอบ คิดในวงกรอบ กิเลสมันก็อาศัยกรอบนั้นหลอกลวงเรา แต่ถ้าเราคิดนอกกรอบ คิดตามต้นทุนนั้น ต้นทุนของใคร มีความเห็นอย่างไร คิดตามต้นทุน ต้นทุนมันจะหักออกไป มันเป็นปัจจุบันธรรม มันจะเกิดขึ้นในสัจจะความจริง

นี่สิ่งที่เป็นทุกข์ การปฏิบัติเป็นทุกข์ไหม? การเริ่มต้นการประพฤติปฏิบัติมันเป็นทุกข์ไหม? สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา.. อนัตตามันอยู่กับเราไหม? ความทุกข์อยู่กับเราตลอดไปไหม? แต่ความทุกข์ เห็นไหม ดูสิดูพลังงานของเรา ชีวิตนี้คืออะไร? ชีวิตนี้คือไออุ่น คือพลังงานตัวนี้ พลังงานตัวนี้มันสันตติ มันเกิดดับๆ มันสืบต่อตลอดเวลา เห็นไหม มันเป็นธาตุรู้ สสารที่เป็นธาตุมันแปรสภาพแล้วมันเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา

แต่สัจจะธาตุรู้ ธาตุที่เป็นสันตติมันเกิดดับ มันไม่เปลี่ยนแปลง มันมีการตกผลึก สิ่งที่เราสร้างคุณงามความดีหรือบาปอกุศล มันตกผลึกเป็นต้นทุนนี่ไง ต้นทุนมันอยู่ตรงนี้ไง พอต้นทุนอยู่ตรงนี้ นี่เชาว์ปัญญาของคนแตกต่างกันมันอยู่ที่ต้นทุนอันนี้ ถ้าต้นทุนอันนี้ สิ่งที่เป็นทุกข์ก็เหมือนกัน ทุกข์มันก็เหมือนสันตติ มันเกิดดับๆ ตลอดเวลา

“สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา”

ความเกิดดับที่มันเป็นอนัตตาที่มันแปรสภาพอยู่นี่ แต่เราไม่เข้าใจ เพราะเราแสวงหา เพราะมันมีอวิชชา มันมีสิ่งที่ไม่รู้บังตา สิ่งที่บังตา เห็นไหม เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของวัตถุ เราเห็นการเปลี่ยนแปลงหมดแหละ แต่เวลาเห็นความเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ความรู้สึกล่ะ? แล้วอารมณ์ความรู้สึกที่มันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว วัตถุที่มันเปลี่ยนแปลงไปแล้วมันจะกลับสู่สภาพเดิมของมันไม่ได้นะ แต่ความคิดเรา ความทุกข์นี่มันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เดี๋ยวมันก็ไปกว้านมาอีก เดี๋ยวมันก็ไปกว้านมาอีก

มันเปลี่ยนแปลงไปแล้วมันควรจะย่อยสลายไป มันควรจะหายไปจากใจเราแล้ว สิ่งที่มันฝังใจ มันคิดแล้วมันควรจะเลิกกันไป มันเลิกไหมล่ะ? มันไม่เลิกเพราะอะไรล่ะ? มันไม่เลิกเพราะสังโยชน์ ความร้อยรัดอยู่ กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันร้อยรัดอันนี้ไว้กับใจของเรา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งที่เป็นอนัตตา มันแปรสภาพเป็นอนัตตา แล้วเราเห็นมันไหมล่ะ?

ถ้าเราเห็นจริง จะเป็นอนัตตา เห็นไหม พระไตรลักษณะญาณ สิ่งที่เกิดขึ้นมา อริยสัจที่เราเห็นความเป็นจริง มันจะปล่อยวางของมัน ปล่อยวางของมัน สิ่งที่ปล่อยวาง นี่ปัญญาอย่างนี้มันเกิดจากไหน? ปัญญาที่ว่าวุฒิภาวะ สิ่งที่เป็นต้นทุนมันแตกต่าง พอต้นทุนแตกต่าง ครูบาอาจารย์ที่มีต้นทุนต่ำ เห็นไหม การกระทำนี้ต้องเป็นเรื่องโลกไง เป็นเรื่องพิธีกรรม พิธีกรรมต้องทำเสมอภาค การปฏิบัติเหมือนกัน

เราจะเรียกร้องตลอดเวลานะ เวลาเรามานี่ทำไมเราไม่ได้รับความเอ็นดู ทำไมเราไม่ได้รับความอนุเคราะห์จากท่าน เราคิดเองไง เขาอนุเคราะห์เต็มที่อยู่แล้ว แต่อนุเคราะห์ให้มันเป็นปัจจุบันของเราไง เราเผชิญของเรา

ดูสิอาหารที่เราตักใส่ปากของเรา นี่คืออาหารของเราใช่ไหม? รสชาติของลิ้นของเราใช่ไหม? แล้วอาหารของคนอื่น อาหารสำรับอื่น มันเป็นของคนอื่นเขา แล้วอาหารสำรับเราเราไม่พอใจ เราไปพอใจอาหารสำรับอื่น อยากได้ลิ้มรสอาหารสำรับอื่น แล้วไม่พอใจตลอดเวลาไป แล้วมันจะมีสมความปรารถนาเราไหม? มันคือจริตนิสัยไง สิ่งที่เป็นไปของเรา สิ่งที่เป็นการกระทบของเรา

กระทบนะ พอกระทบขึ้นมา มีสติ มีความรับรู้ นี่ไงผลต่างจากดีหรือชั่ว เราเก็บข้อมูลสิ เห็นไหม นี่ปัญญามันจะลึกซึ้งไปเรื่อยๆ เวลาปัญญาในแนวราบ พอในวงกว้างขึ้นไป สัจธรรมว่าธรรมะเป็นธรรมชาติ ความเสมอภาค ทุกคนต้องทำเสมอกัน กิเลสมันเอาอย่างนี้มาอ้างนะ แต่เวลาเป็นภาวนามยปัญญาขึ้นมานี่ปัญญาในแนวดิ่ง มันจะดิ่งลงไปทวนกระแสเข้าไปในหัวใจของเรา

นี่ไงถ้ามีปัญญาในแนวดิ่งของเราเข้าไป แล้วแนวดิ่งของเรา ความลึกตื้นต่างกัน ในการขุดบ่อน้ำ เห็นไหม ในที่ดินของเรามันเป็นที่ดินดอน มันต้องขุดให้ลงลึกกว่าเขา ในที่ดินที่ลุ่มเขาขุดไม่มากเขาก็จะเจอน้ำของเขา

นี่ก็เหมือนกัน ในความปล่อยวางของใจ ในสิ่งที่มันอยู่ก้นบึ้งของใจ ในแนวดิ่งปัญญาจะลงได้ขนาดไหน? สิ่งที่ผู้ประพฤติปฏิบัติถึงศีล สมาธิ ปัญญา.. สมาธิเป็นแนวดิ่งเข้าไปในหัวใจของเรา พื้นฐานของสมาธิถ้าเข้าไปถึงแนวดิ่งของใจเข้าไป มันจะไปรื้อค้นสิ่งที่เป็นอุปาทาน มันอยู่ในหัวใจของเรา เห็นไหม ดูสิดูอย่างทางวิทยาศาสตร์เขานะ จิตใต้สำนึก จิตก่อนสำนึก

จิตใต้สำนึก ไปแก้กันที่จิตใต้สำนึกนะ จิตสำนึก จิตต่างๆ เราก็คิดได้ นี่ปัญญาพื้นฐาน เห็นไหม ปัญญาโดยสัญชาตญาณมันก็เป็นสำนึกนี่แหละ สำนึกรู้ดีรู้ชั่ว สิ่งนี้เป็นธรรมะๆ แล้วมันแก้จิตใต้สำนึกได้ไหม? มันแก้ถึงแนวดิ่งที่ทวนกระแสเข้าไปในหัวใจของเราได้ไหม? มันทำของเราไม่ได้ แล้วมีครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมาแล้วมันจะรู้ เห็นไหม

รู้แล้วพูดได้ รู้แล้วพูดไม่ได้ ไม่รู้เลย พูดแล้วพูดเล่า “ธรรมะเป็นธรรมชาติ สรรพสิ่งเป็นธรรมชาติ” ธรรมชาติเราก็นอนตีแปลงว่าเป็นธรรมชาติ เราอยู่เฉยๆ ก็เป็นธรรมชาตินะ เราเกิดมามีชีวิตเป็นธรรมชาติไหม? เราเกิดมาเป็นธรรมชาติ สุข ทุกข์เป็นธรรมชาติไหม? การเกิดและการตายเป็นธรรมชาติไหม? มันก็เป็น

มันเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว มันเป็นสัจธรรมความจริงอันหนึ่ง แต่เราไม่รู้เราไม่เห็น เราไม่ได้ประโยชน์กับมัน แต่ถ้าเป็นปัญญาในแนวดิ่งเข้าไป พอมันเป็นสัจธรรม อะไรเป็นตัวเกิด? สิ่งที่เป็นตัวเกิด เห็นการเกิดและการตาย อะไรเป็นตัวเกิดล่ะ? ปฏิสนธิจิตไปเกิดในไข่ของมารดา ไปเกิดในไข่ของมารดาเราถึงเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดในกำเนิด ๔ เกิดในน้ำคร่ำ พวกสัตว์ พวกตัวหนอนเกิดในน้ำคร่ำ เกิดในไข่ เกิดในครรภ์ เกิดในโอปปาติกะ

กำเนิด ๔ อาหาร ๔ กวฬิงการาหาร อาหารเป็นคำข้าว วิญญาณาหาร อาหารของเทวดา ผัสสาหาร อาหารของพรหม มโนสัญเจตนาหาร อาหารของวัฏฏะ การสืบต่อของวัฏฏะ วัฏฏะที่วนเวียนไปนี่ผลของวัฏฏะ อาหาร ๔ ในกำเนิด ๔ ในกามภพ รูปภพ อรูปภพ ในวัฏฏะ สิ่งที่ในวัฏฏะมันเกิดมา เราเกิดนี่เป็นผลของวัฏฏะนะ ผลของกรรม

ผลของวัฏฏะมันก็เป็นสถานะ เป็นมิติ เห็นไหม เทวดาที่เป็นภพของเทวดา สวรรค์ในอก นรกในใจ มนุสสเทโวนี่เราเป็นเทวดาก็ได้ เราเป็นสัตว์นรกก็ได้ เราเป็นนักปราชญ์ก็ได้ เพราะอยู่ที่ปัญญาใคร่ครวญของเรา สิ่งที่เป็นปัญญาใคร่ครวญของเรามันเกิดมาจากไหนล่ะ? เกิดมาจากในปัจจุบันที่เราเกิดมาพบพุทธศาสนา ถ้าไม่พบพุทธศาสนา เห็นไหม พุทธศาสนาสอนอะไร? สัจธรรมไง

ศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศาสนธรรม ธรรม เห็นไหม เรื่องอริยสัจ เรื่องสัจจะความจริง เรื่องความเป็นไป แล้วเราเกิดมาพบ มนุษย์พบสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์ แต่มันเป็นคุณประโยชน์โดยที่เราเกิดมาในสถานะ แต่มันไม่เป็นคุณประโยชน์ของเรา นี่ธรรมเป็นส่วนบุคคล ธรรมะของเรา ธรรมะคือสัจจะในหัวใจที่เราสัมผัส อาหารโดยธรรมชาติ

ดูสิในป่านะ พืชพันธุ์ธัญญาหารมหาศาลเลย คนป่าเขาเก็บใช้ประโยชน์ได้ตลอดเวลา สัจธรรมมันก็เหมือนอาหารในป่า สิ่งที่อยู่ในป่า เห็นไหม ป่านี้เป็นแหล่งอาหารของมนุษย์ที่อาศัยอยู่นะ สัจธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นแหล่งอาหาร แหล่งสัจธรรม แหล่งที่เราจะค้นคว้า แต่ถ้าเราไม่แสวงหา เราไม่ทำเลย เราจะได้อะไร? เราเกิดมาท่ามกลางสิ่งที่เป็นประโยชน์มหาศาล แต่เราไม่ทำมันจะเกิดประโยชน์กับเราได้ไหม?

ถ้ามันไม่เกิดประโยชน์กับเรา นี่ไงเราทำแล้ว เราปล่อยวางแล้ว เราว่างแล้ว นี่มันเป็นสามัญสำนึก มันเป็นจิตสำนึก จิตสำนึกมันก็เป็นความคิด ไอ้จิตใต้สำนึกที่มันชักใยความคิดเราอยู่ อวิชชาอยู่ในภพ อยู่ในหัวใจเรานี้ ปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิวิญญาณ วิญญาณกระทบนะ รูป รส กลิ่น เสียง นี่ขันธ์ ๕ เป็นวิญญาณที่เกิดจากภพ เกิดจากสถานะ เกิดจากภพ สิ่งที่ปฏิสนธิจิตที่พาเกิดพาตาย

แต่ถ้าจิตเวลามันเป็นสมาธิเข้ามา เห็นไหม ปัญญาอบรมสมาธิ ก็ใช้ความคิดไล่ความคิด ปัญญารอบรู้ในกองสังขาร สังขารคือความคิด ความปรุง ความแต่ง มันย้อนกลับไปมันก็ลงแนวลึก มันจะขุดดินไปหาบ่อน้ำเรา ขุดดินลงไปหาสิ่งที่เป็นภวาสะ เป็นภพ เป็นฐานของความคิดเรา

สิ่งที่เป็นความคิดเรา เห็นไหม นี่มนุษย์ ต้นทุนของมนุษย์ที่เขาได้สร้างสมมา เขาจะเห็นปัญญาของเรา แล้วปัญญาของเรามันจะเข้าไปแก้อวิชชาของเรา เข้าไปแก้สิ่งที่หมักหมมในหัวใจของเรา ไม่ใช่ปัญญาที่ออกมาฟาดฟันกัน ต่างคนต่างมีปัญญา ต่างคนต่างมีความรอบรู้ออกไปข้างนอก มีปัญญา เอาปัญญามาถกเถียงกัน “ธัมมสากัจฉา เอตัมมังคลมุตตมัง”

ธัมมสากัจฉา สัจธรรม เวลาสัจธรรมมันเป็นวิทยานิพนธ์ของชีวิตนะ ชีวิตเราชีวิตหนึ่ง เราดำรงชีวิตมาทั้งชีวิต แล้วเราเอาสิ่งที่เป็นประสบการณ์ชีวิตมาแลกเปลี่ยนกัน มันน่าฟังไหม? ชีวิตเราทั้งชีวิตตั้งแต่เด็ก เราทำมาจนเราเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ เราผ่านวิกฤติในสังคมมาขนาดไหน เราผ่านการดำรงชีวิตมาขนาดไหน เราเอามาสอน เราเอามาพูดกัน

การประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ตั้งแต่ออกประพฤติปฏิบัติ ตั้งแต่เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ที่อุปัชฌาย์ให้มา แล้วเราประพฤติปฏิบัติ สิ่งที่เป็นเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เริ่มต้นเราเป็นปุถุชน เวลามันใช้ใคร่ครวญมันก็เป็นสมถะ แต่ถ้าจิตมันสงบเข้ามาในแนวดิ่งของเรา ที่เราเข้าไปเห็นแหล่งน้ำของเรา เอาแหล่งน้ำมาใช้ประโยชน์กับเรา นี่เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจก็เป็นวิปัสสนาขึ้นมา

วิปัสสนาขึ้นมาก็แก้ไขปฏิสนธิวิญญาณ อุปาทานที่จิตใต้สำนึกมันเกาะเกี่ยว สงสัย ลังเลไปหมดนะ แค่ลังเลสงสัย แค่ไม่เข้าใจตัวเองเท่านั้นแหละ นี่คืออวิชชา แต่ความคิดออกมาหยาบๆ ความคิดที่ออกมาเป็นปัญญามันเป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง มันหยาบๆ นะ แล้วเป็นอุปาทานสำนึกออกไปมันยิ่งหยาบเข้าไปใหญ่เลย แล้วเวลาสติปัญญามันย้อนกลับเข้าไป มันทำลายเข้าไป ย้อนกลับเข้าไปในหัวใจของตัว

นี่ไงต้นทุนของมนุษย์มันแตกต่างกัน การกระทำ ปัญญาที่มันใคร่ครวญเข้าไปถึงหัวใจของเรา เข้าไปถึงเป็นธรรมะส่วนบุคคล เป็นความเห็นของเรา เป็นสมบัติของเรา เป็นอริยสัจที่ในหัวใจ นี่ไงสันทิฏฐิโก! มันเป็นสัจธรรม มันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นความเห็นของใจที่มันแก้ได้ ถ้ามันแก้สิ่งนี้ได้แล้วมันจะมีความลังเลสงสัยที่ไหน? มันจะมีอะไรมาติดข้องในหัวใจอีก

ที่มันติดข้องในหัวใจเพราะเราไม่รู้จักตัวเราเองไง เรารู้ไปหมดทุกๆ เรื่องเลย แต่เราไม่รู้จักความพอใจ หัวใจที่มันควบคุมได้ หัวใจที่มันมีความสุข ความสุขอย่างนี้ สิ่งที่เป็นประเสริฐอย่างนี้ ศาสนาสอนที่นี่นะ “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ” ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนควบคุมตน ตนเข้าใจตน ตนทำลายอวิชชาในหัวใจของตนประเสริฐที่สุด แล้วไม่ใช่เข้าใจเรื่องโลกนะ เข้าใจเรื่องสามโลกธาตุ กามภพ รูปภพ อรูปภพ ในวัฏฏะนี่เข้าใจหมด ปล่อยวางได้หมด ใจมันปล่อยวาง ใจมันถึงไม่ไปอีก แล้วมันอยู่ที่ไหน? มันอยู่ในหัวใจของเราไง มันอยู่ในต้นทุนสูงต้นทุนต่ำที่เราเข้าใจอยู่นี่ แล้วเรารักษาอยู่นี่ จะเป็นประโยชน์กับเรา เห็นไหม มันถึงย้อนกลับมาเห็นถึงผลของการสละทาน

ผลของการเสียสละ ผลของการกระทำ นี่ล่ะพันธุกรรมทางจิต เราเปลี่ยนแปลงให้มันเจริญดีขึ้น ให้มันมีการเสียสละ ให้มันเห็นประโยชน์กับสาธารณะ แล้วมันจะย้อนกลับมา เพราะผู้ที่เสียสละคือหัวใจของเรา หัวใจมันจะเข้มแข็งขึ้นมา มีหลักการขึ้นมา การทำงานมันจะมีช่องทางให้เราเอาตัวรอดได้

ถ้าเรากักขังมันด้วยสรรพสิ่งว่าเป็นของเรา ทุกอย่างต้องเราประเสริฐที่สุด เห็นไหม เรากักขังมัน เรากักขังอวิชชา กักขังสิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับเรา แต่เราคิดว่าเป็นประโยชน์กับเรา เห็นไหม แต่การเสียสละออกไปมันเป็นประโยชน์กับเรา เรากลับเห็นโทษกับเรา นี่ไงต้นทุนของมันต่ำ

ถ้าต้นทุนของมันสูง มันจะรู้ประโยชน์ในการกระทำ แล้วถ้าต้นทุนยิ่งสูงเข้าไปนะ ปิดทองหลังพระ ปิดทองก้นพระ จะสอนเขาโดยไม่ให้เขารู้ตัว เสียสละโดยไม่ต้องการสิ่งใดๆ จากโลกนี้เลย ถ้ายังต้องการอยู่ต้นทุนมันแตกต่างกัน ความรู้สึกนึกคิดของใจมันต่างกัน

นี่ประโยชน์อยู่ที่นี่ มนุษย์อยู่ที่นี่ หัวใจอยู่ที่นี่ แล้วสำคัญที่นี่คือหัวใจที่จะเป็นประโยชน์กับเรา สิ่งนี้เป็นสมบัติของเรานะ เอวัง