เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๗ ก.พ. ๒๕๕๒

 

เทศน์เช้า วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราชาวพุทธ เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา ศาสนาพุทธนี่สำคัญมากนะ เพราะศาสนาพุทธแก้ทุกข์ได้ แล้วแก้ทุกข์ได้จริงๆ ลัทธิศาสนาอื่นๆ มันอ้อนวอนขอเอา มันเหมือนกับเราไปหาเจ้าเข้าทรง เวลาเขาพ่นน้ำมนต์พ่นอะไร เราก็สบายใจไปพักหนึ่ง มันเป็นอุปาทานน่ะ แต่ศาสนาพุทธนะ มันเป็นศาสนาแห่งปัญญา แต่ปัญญาเกิดกับเรา ปัญญาจะแก้กิเลส ถ้าธรรมะ เวลาฟังธรรม มันกระเทือนถึงหัวใจนะ

คนต้องทุกข์ เวลาทุกข์แล้วทุกข์มันดับไป ทุกข์มันปลดเปลื้องไป จะเห็นคุณค่ามาก ถ้าเราไม่เห็นคุณค่านะ เราจะแสวงหาทำไม ถ้าไม่มีธรรมะนะ ศาสนาพุทธเป็นธรรมะ.. ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์.. ถ้าไม่มีศาสนาพุทธนะ ความร่มเย็นในสังคมจะไม่เป็นอย่างนี้หรอก ความร่มเย็นในสังคมนะ ขนาดที่ว่านี่ศาสนาคอยบาลานซ์ คอยจุนเจืออยู่นะ ถ้าไม่มีศาสนาค้ำจุนโลก โลกจะอยู่กันได้อย่างไร เวลาเราทุกข์เรายาก เราจะหาทางออกกันอย่างไร

ทางออก.. ถ้าหัวใจเรายังมีเครื่องอาศัยอยู่บ้าง เราจะทุกข์กาย ไอ้เรื่องทุกข์กายมันหลบกันไม่ได้ ฝนตกแดดออกเป็นเรื่องธรรมดานะ เรายืนตากแดดตากฝนมันก็ต้องร้อนต้องหนาวเป็นธรรมดา คนเกิดมามีร่างกาย มันต้องอาศัยปัจจัยเครื่องอาศัย มันก็มีขาดแคลน มันก็มีอิ่มหนำสำราญมันเป็นธรรมดา แต่หัวใจถ้าไม่ทุกข์กับมันนะ หัวใจพอมีหลักเกณฑ์ เรื่องนั้นเป็นเรื่องที่เราพออาศัยได้ แต่ถ้าหัวใจมันทุกข์ร้อนนะ ของใช้สอยมันเหลือเฟือขนาดไหน แต่หัวใจมันก็เร่าร้อน หัวใจมันทุกข์มาก ถ้าสิ่งใดปรนเปรอขนาดไหนมันก็แก้ทุกข์ไม่ได้ ธรรมะต่างหากที่จะแก้ทุกข์ได้

เราศึกษาธรรม เป็นคฤหัสถ์ ธรรมะของฆราวาส ฆราวาสธรรม มันก็เสียสละ การเสียสละ การจุนเจือต่อกัน เป็นธรรมของฆราวาส

ธรรมของนักบวช เป็นธรรมของผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ภิกษุเราเวลาบวชขึ้นมา อุปัชฌาย์อาจารย์จะให้มาเลยน่ะ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ.. รุกขมูล เสนาสนัง ให้อยู่รุกขมูล เพราะรุกขมูลเราไปเผชิญกับสัจจะความจริง เวลาประพฤติปฏิบัติ เราเจอความจริง ดูพระเราบวชขึ้นมาสิ เวลาเรามาจากเมืองนะ “เดี๋ยวนี้วิทยาศาสตร์เจริญแล้ว เราไม่ต้องไปทุกข์ยากอย่างนั้น เราอยู่สุขสบายก็ได้ เพราะเรามา” นี่ดินพอกหางหมูไง กิเลสมันอยู่กับใจเรานะ ถ้าเราไปยอมจำนนกับมันนะ มันทำอะไรไม่ได้หรอก

เวลาพระเราบวชขึ้นมาแล้วถึงต้องขอนิสัย มีวัตรปฏิบัติ วัตรปฏิบัตินะ เวลาเราอยู่ในความวิเวกสงัด มันต้องการอะไรน่ะ นี่กายวิเวก จิตวิเวก แต่การวิเวก วิเวกมาจากไหน วิเวกมาจากว่ากายมันไม่วิเวก จิตมันยิ่งไม่วิเวกใหญ่

เราธุดงค์ไปนะ เคยไปทางเมืองจันทร์ เวลาพระ ความเป็นอยู่ แม่ชีเข้ามาจุ้นจ้านมาก เราก็ถามเขา “ทำไมเป็นอย่างนี้ ทำไมปล่อยอย่างนี้” เขาพูดมาแล้วน่าเห็นใจมากนะ เวลาพระไปคุ้นชินอยู่กับอะไร มันจะยอมจำนนไง “พวกท่านก็มาแป๊บเดียว พวกท่านมาแล้วพวกท่านก็ไป ผมอยู่นี่น่ะ แม่ชีเขาดูแลผมอยู่เห็นไหม ไม่มีแม่ชีไม่มีแม่ครัวดูแลผมนี่ ผมจะอยู่อย่างไร” เขาพูดอย่างนั้นนะ แล้วเราสะท้อนใจไหม

แต่ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ พระจะฉันอาหาร คฤหัสถ์จะมาเจ้ากี้เจ้าการ จะมาชี้นู่นชี้นี่นะ เสขิยวัตร ไม่ได้ ผิดหมดนะ ผิดหมดเลย เห็นไหม เวลาภิกษุณี ศีลของภิกษุณี ๓๐๐ กว่า ปาราชิกของภิกษุณีมี ๑๓ ปาราชิกของพระมีอยู่ ๔ ของสังฆาทิเสสเรามีอยู่ ๑๓ สังฆาทิเสสของภิกษุณีตั้งเท่าไร นี่ความอ่อนไหว ความอะไร พระพุทธเจ้าสอนไว้แล้ว “ภิกษุณีจำพรรษาด้วยตัวเองไม่ได้ ภิกษุณีต้องจำพรรษาอยู่กับพระ” เพราะในสมัยพุทธกาลนะ ภิกษุณี เวลาบวชเข้ามา ออกธุดงค์ไปน่ะ มันไปโดนพวกเดียรถีย์ทั้งทำร้ายทั้งทุกอย่างน่ะ ผู้หญิงออกไปน่ะ สังคมสมัยโบราณมันเป็นอย่างหนึ่ง

สมัยปัจจุบันนี้เราคิดกันน่ะ เรามองกันแต่ในโลกเจริญแล้วไง โลกที่มันเจริญแล้ว กฎหมายบังคับแล้ว ถ้าเราไม่คิดถึงคิดว่ากฎหมายบังคับน่ะไม่ได้ เราออกไปในป่าในเขา มันเป็นความเห็นของคน สิ่งต่างๆ เดี๋ยวนี้ ถ้ามันขึ้นมา ธรรมวินัยมันมีอยู่ ถ้าคนมีความละอาย สิ่งนี้เขามีความละอาย แต่คนไม่มีความละอาย

เราบวชเข้ามานี่ “ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ศาสนาสามารถแก้ทุกข์ได้ ทำไมพระบวชมาแล้ว ทำไมพระทำตัวเหลวแหลกกันอย่างนั้นน่ะ” นี่มันอยู่ที่เป้าหมายนะ เป้าหมาย ถ้าเราบวชแล้ว เราเห็นภัยในวัฏสงสาร เราจะออกจากทุกข์ นี่มันเห็นคุณนะ เห็นคุณเห็นประโยชน์กับธรรมและวินัย วินัยเห็นไหม ข้อบังคับ มันเคารพธรรม นี่ใจลงธรรม

“ใจลงธรรม” ประพฤติปฏิบัติมันจะมีโอกาสไปได้

“ใจไม่ลงธรรม” ใจกระด้างไง

ดูสิ เวลาเราโกรธ เวลากิเลสตัณหาความทะยานอยากมันเกิดขึ้นมา ใจมันแข็งมาก ฆ่าใครก็ได้ ทำลายใครก็ได้ เวลาใจเป็นธรรมขึ้นมานะ มันเมตตา มันสงสารนะ มันเห็นคุณประโยชน์ ใจคนมันพลิกได้เห็นไหม เวลามันแข็งกระด้างขึ้นมา มันทำลายเขาได้หมดเลย มันจะทำลายเบียดเบียนใครก็ได้ แต่เวลามันเป็นธรรมขึ้นมา มันเมตตา มันเห็นแล้วมันสลดสังเวช ธรรมสังเวช มันมองเป็นธรรมไปหมด การเกิดและการตาย การเป็นโลกมันเป็นธรรม เป็นธรรมมันก็ย้อนกลับมาที่เรา ถ้าใจนิ่ม ใจอ่อน ใจควรแก่การงาน

ใจเราแข็งกระด้าง มาทางโลก ใจเราเป็นโลกหมด ต้องเป็นวิทยาศาสตร์ ต้องเป็นสูตรสำเร็จหมด การเป็นสูตรสำเร็จอย่างนั้นน่ะ ธรรมะเข้าไม่ได้

เราศึกษาธรรม ศึกษาธรรมด้วยกิเลส เราไปยึดมั่นเป็นกรอบเลย อาการของใจ ความคิดไม่ใช่ใจ ความคิดเกิดจากใจ พอความคิดเกิดจากใจ ปัญญาคือความคิด พอมันได้สิ่งนั้นมามันก็เป็นกรอบรัดตัวเองไว้ รัดตัวเอง ทำอะไรไม่ได้เลย ศึกษามาน่ะ สุตมยปัญญา ศึกษามามันสะเทือนใจนะ ความคิดของเราเป็นความคิดอันหนึ่ง

เวลาศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านบอกเลยน่ะ “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับไปเป็นธรรมดา” ความคิดเกิดเป็นธรรมดา ต้องไปเป็นธรรมดา เราก็ว่าไปเป็นจินตนาการนะ เราไม่เห็นจริงของเราหรอก แต่ถ้าจิตมันสงบเข้ามา แล้วไปเห็นจริงขึ้นมา นี่ธรรมสังเวช จนน้ำตาไหลนะ มันสะเทือนหัวใจ แต่เวลาเราไปศึกษาธรรม ศึกษาโดยโลก มันซึ้งใจ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมเหนือโลก มันซึ้งใจ อ่านแล้วมันซึ้งใจ ศึกษาแล้วมันซึ้งใจทั้งนั้นน่ะ มันซึ้งใจเห็นไหม

“อุปกิเลส” กิเลสหยาบๆ ของเรา เวลามันสงบเข้ามาเป็นอุปกิเลส ความว่าง โอภาสต่างๆ การปล่อยวาง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้ปล่อยวาง สอนให้เป็นความว่าง ความปล่อยวาง.. ปล่อยวางแบบขี้ลอยน้ำไม่ได้ ปล่อยวางแบบไม่มีเหตุมีผลนะ เดี๋ยวมันตีกลับ มันเป็นตทังคปหาน มันปล่อยวางชั่วคราว เหมือนเราเลยนะ พอกิเลสมันรู้ตัวทันนะ พอเราทันมัน แล้วเราศึกษาธรรมขึ้นมา

กิเลสมันกลัวอะไร? มันกลัวธรรม เหมือนไฟกลัวน้ำ น้ำสาดเข้าไปไฟต้องดับ ถ้าน้ำมันมากสาดไปที่ไหนก็ได้ นี่น้ำเราน้อย แล้วเรายืมน้ำเขามา ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ใช่น้ำของเรา เราไม่มีสระ ไม่มีบ่อน้ำที่จะเอามาดับไฟกิเลสได้ แต่เราเห็นน้ำของคนอื่น เราหยิบฉวยมาใช้ น้ำขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันก็ดับไฟได้ชั่วคราว นี่ตทังคปหานมันปล่อยวางชั่วคราว พอมันปล่อยวางชั่วคราว มันเลยตีกลับขึ้นมานะ

พอน้ำหมดแล้ว ดูไฟป่าสิ ติดแล้วมันดับไม่ได้เลยน่ะ มันโหมไหม้ขนาดไหน ไฟป่ามันติดป่านะ ป่าใหญ่ขนาดไหนถ้ายังมีเชื้อไฟอยู่ ไฟมันจะไหม้ไปหมดเลย กิเลสเวลามันตีกลับขึ้นมา เพราะเราศึกษาธรรม อาศัยน้ำขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันก็สงบตัวลง พอมันตีกลับมานะ มันตีกลับมา มันทำให้เราอ่อนอกอ่อนใจเลย

แล้วสุดท้ายพอกิเลสมันเข้มแข็งขึ้นมา “ไม่มี.. มรรค ผล นิพพาน ไม่มี.. เสียสละไปทำไม.. ทำดีไปทำไม ทำดีไปแล้วไม่เห็นได้อะไรเลย มีแต่เสียสละให้คนอื่น” เวลากิเลสมันตีกลับขึ้นมานะ สิ่งที่ว่าเป็นความดีๆ มันเหยียบย่ำทำลายไปหมดเลย เพราะอะไร เพราะปัญญามันไม่ใช่ปัญญาของเรา มันไม่ใช่สมุจเฉทปหาน มันสมุจเฉทปหาน มันสมุจเฉทปหานมาจากไหน?

ความคิด สุตมยปัญญา มาจินตมยปัญญา แล้วภาวนามยปัญญามันเกิดอย่างไร พอมันเกิดอย่างไร จะศึกษา.. มันเห็นคุณค่า คนที่เป็นครูบาอาจารย์ของเรา ท่านต้องผ่านการเห็น กิเลสกว่ามันจะเป็นไปได้นะ มันอยู่กับใจเรา กิเลสมันมีกับทุกๆ คน ไม่ต้องไปดูใจใครเลย ดูในหัวใจของเรานี่แหละ กิเลสมีทุกคน ถ้ามีการเกิดเป็นมนุษย์ขึ้นมา มีกิเลสหมด เพราะอวิชชาพาเกิด จะมั่งมีศรีสุข จะทุกข์จนเข็ญใจขนาดไหน กิเลสทั้งนั้น! มันมีกิเลสในหัวใจทั้งนั้น ถ้ามีกิเลสในหัวใจทั้งนั้น กิเลสเป็นเรา พอกิเลสเป็นเรา ทุกอย่างเป็นเรา ศึกษาโดยเรา นี่มันเป็นมุมมอง เป็นทิฏฐิมานะของเรา มันไม่เป็นความจริงหรอก มันต้องทำความสงบของใจเข้ามาก่อน

ครูบาอาจารย์ของเรา เวลาเทศน์ ครูบาอาจารย์ของเรา พระป่าเวลาเทศน์ เทศน์เรื่องความสงบเลย ไม่ต้องพูดเรื่องศีล ศีลนี่เป็นความปกติของใจ พวกเรามีปกติอยู่แล้ว พวกเราเป็นชาวพุทธ ศีล ๕ ต้องมีโดยพื้นฐาน แต่นี่มันเป็นพิธีกรรมเฉยๆ มันขอเฉยๆ แต่ศีลเป็นอย่างไรไม่รู้ ไม่เข้าใจมันเลย แต่ถ้าเป็นพระเป็นเจ้าขึ้นมา ศีล ๒๒๗ ต้องมีโดยธรรมชาตินะ พอมีโดยธรรมชาติ ศีลมันเป็นเรื่องปกติของใจ พอเรื่องปกติของใจ แล้วใจมันสงบมันไม่สงบเพราะอะไร เพราะกิเลสมันยุแหย่ กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันยุแหย่

ทำความสงบของใจเข้ามา ถ้ามีความสงบของใจเข้ามา มันจะมีความแปลกประหลาดมาก เห็นความแปลกประหลาด มือสกปรกหยิบสิ่งใด ของสิ่งนั้นสกปรกหมด มือสะอาดหยิบต้องสิ่งใด สิ่งนั้นเป็นความสะอาดหมด ใจที่มันเป็นสมาธิขึ้นมา ใจมันยังไม่สะอาด ใจมันยังไม่เป็นธรรม หยิบสิ่งใดก็สกปรกไปหมด ใจของเรามีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันเป็นมุมมอง เป็นทิฏฐิมานะของเราไปหมด

“กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน” ทิฏฐิมานะของคนไม่เหมือนกัน ความเห็นของคนไม่เหมือนกัน มุมมองของคนไม่เหมือนกัน นี้ศรัทธาความเชื่อ ความเชื่อแก้กิเลสไม่ได้ ศรัทธาเป็นทรัพย์นะ เวลาพูดฆราวาสธรรม “ศรัทธา” ถ้าไม่มีศรัทธา โยมไม่มานั่งกันอยู่นี่หรอก เพราะมีศรัทธา ดูศรัทธามาฟังเทศน์ฟังธรรม แล้วออกเห็นภัยในวัฏสงสาร ทุกคนทำหน้าที่การงาน ทุกคนต้องการตลาด ทุกคนต้องการหมุนเวียนออกไป

เวลาเราประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ถ้าเราเป็นฆราวาส เวลาของเรามันมีน้อย บวชเป็นพระเป็นเจ้าขึ้นมาทางกว้างขวาง ไม่ใช่ทางคับแคบแบบฆราวาส ฆราวาสเขาต้องทำหน้าที่การงานของเขา เขาต้องมีหน้าที่รับผิดชอบของเขา เขาต้องปฏิบัติของเขาเหมือนปฏิบัติชั่วคราว แต่ผู้เห็นภัยในวัฏสงสารนะ บวชเป็นพระเป็นเจ้าขึ้นมานีนี่ทางกว้างขวาง เพราะอะไร เพราะมันมีโอกาสได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง นี่มีโอกาสตลอดแล้ว เราจะบริหารเวลาของเราอย่างไร เราจะบริหารเวลา เราจะปฏิบัติ ๒๔ ชั่วโมง ถ้าใจมันลงธรรม นี่ศรัทธาความเชื่อแก้กิเลสไม่ได้ ไม่มีศรัทธา ไม่มีความเชื่อ มันไม่เงี่ยหูลงฟังธรรม

ฟังธรรม เวลาหลวงปู่มั่นลงมากรุงเทพฯ สมเด็จฯ ท่านถาม “เราอยู่กับกองตำรา เรายังมีความสงสัยตลอดเวลาเลย แล้วท่านอยู่ในป่าในเขา เวลามีปัญหาขึ้นมาท่านจะไปแก้กับใคร”

“โอ้.. ข้าพเจ้าฟังเทศน์อยู่ทุกเวลา”

ถ้าใครฟังเทศน์ทุกเวลา ใครเคยภาวนานะ จิตมันสงบเข้ามา พอจิตสงบเข้ามาธรรมมันเกิด ปัญญามันเกิดไง เช่น เรามีมุมมอง มีความเห็นอย่างไรที่เป็นความคิดที่ผิด เวลาจิตมันสงบเข้ามา ธรรมมันจะเกิด คือปัญญามันจะตอบกัน ตอบในหัวใจ

ดูสิ เจ้าชายสิทธัตถะเวลาอยู่ในราชวัง เจ้าชายสิทธัตถะนอนหลับไปก่อน เวลาตื่นขึ้นมาพวกฟ้อนรำนอนหลับนะ เห็นนางฟ้อนรำเหมือนกับซากศพ นี่ทางวิชาการเชื่อไม่ได้ เพราะอะไร เพราะเขาไม่รู้ถึงใจของคนไง ใจของผู้ที่ปฏิบัติ เวลาธรรมเกิด เวลาจิตมันสงบขึ้นมานะ จิตสงบขึ้นมา มันมองไป ดูสิ เรามองไปเห็นอสุภะ เห็นร่างกาย ร่างกายของเรามองไปเหมือนกับซากศพเป็นอสุภะ ถ้าใจมันไม่เป็น มันจะไม่เป็นหรอก

นี่ธรรมเกิด หลวงปู่มั่นท่านบอก “ข้าพเจ้าฟังธรรมอยู่ตลอดเวลา” พอจิตสงบขึ้นมา ธรรมมันจะเกิด ธรรมอย่างนี้เกิด ธรรมเกิดแล้วอยากเกิดอีกก็เป็นกิเลสนะ ธรรมเกิดไม่ใช่อริยสัจ

ขนาดเราไปอ่านธรรม ไปศึกษามานี่เราอ่าน “เราอยู่กับกองตำราเลย ทำไมเรายังสงสัยอยู่เลย” แต่ขณะที่ปฏิบัติไม่ใช่กองตำรานะ มันผุดออกมาจากใจ สิ่งที่มันผุดออกมาจากใจมันเป็นอำนาจวาสนาของคน ถ้าเป็นอำนาจวาสนาของคน มันมีอำนาจวาสนาได้สร้างบุญญาธิการมา

ดูประวัติหลวงปู่มั่นสิ ตั้งแต่ท่านได้นิมิตว่าท่านควบม้าขาวข้ามขอนชาติไป แล้วไปถึงตู้พระไตรปิฎก ยังไม่ได้เปิดตู้พระไตรปิฎก ถ้าได้เปิดตู้พระไตรปิฎกนะ ปัญญาจะกว้างขวางมากกว่านี้อีก นี่ควบม้าไปถึงตู้พระไตรปิฎกนะ นี่คนที่มีบุญญาธิการขนาดนั้น

เวลาจิตมันสงบเข้ามา ที่ธรรมเกิดๆ มันจะพรั่งพรูออกมาจากใจ ถ้าพรั่งพรูออกมาจากใจ เราเชื่อนะ เราเชื่อสิ่งนี้นะ จิตสงบมันถึงเกิด แล้วถ้าจิตมันไม่สงบ มันไม่เกิด เรายิ่งทุกข์ใหญ่เลย ถ้าจิตเราสงบนะ แล้วธรรมมันเกิดใช่ไหม เราก็ดีใจชื่นใจไปว่า “โอ้.. ธรรมเกิด สภาวธรรม เราบรรลุธรรม” เวลาจิตมันเสื่อมล่ะ จิตมันเสื่อมมันไม่มีอีกแล้ว ทุกข์อีกแล้ว นี่ธรรมเกิด ไม่ใช่อริยสัจ เพราะเราควบคุม เราบริหารจัดการไม่ได้ มันเป็นโดยอำนาจวาสนา

แต่เวลาจิตสงบเข้ามา เราน้อมไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม สติปัฏฐานที่นี่ วิปัสสนาเกิดที่นี่ เกิดจากจิตที่สงบแล้วเห็นจากใจ จิตสงบแล้วจิตเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม ไม่ใช่เห็นจากความคิด ไม่ใช่เห็นจากจินตนาการ ไม่ใช่เห็นจากสัญชาตญาณ ไม่เห็นจากการศึกษา ไม่เห็นจากตา ตาเนื้อเห็นไม่ได้ ตาเนื้อเห็นขึ้นไป มันยิ่งเห็นยิ่งเกิดกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เพราะตาเนื้อไง

สักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดในกายของเรา เพราะเรามีกายของเรา เราถึงได้เห็นเพศตรงข้าม เพศตรงข้ามเป็นข้าศึกต่อกัน เป็นข้าศึกกับคุณธรรม

กามคุณ ๕ กามเป็นคุณของโลกเขา แต่มันเป็นโทษของพรหมจรรย์ กามคุณ ๕ ถ้าไม่มีกามคุณ ๕ กามเป็นคุณ คุณคือตระกูล คือสังคมที่จะสืบต่อกันไป แต่เป็นโทษของพรหมจรรย์ พรหมจรรย์ เห็นไหม ถ้าจิตมันสงบเข้ามา จิตมันเป็นพรหมจรรย์ จิตมันเป็นหนึ่ง พรหมจรรย์เพื่อพรหมจรรย์ มันจะเห็นอสุภะ อสุภะมันจะเกิดขึ้นมาจากหัวใจ นี่เป็นอริยสัจ สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นมา มันเป็นมรรคญาณมันเกิดขึ้นมา เกิดขึ้นมา นี่ภาวนามยปัญญาเป็นอย่างนี้ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา แต่สิ่งที่จะเป็นปัญญาอย่างนี้ สิ่งที่การกระทำอย่างนี้ มันทำขึ้นมาได้ มันก็ต้องอาศัยพื้นฐานขึ้นมานะ “ทาน ศีล ภาวนา”

ทีนี้เราเห็นถึงข้อวัตรปฏิบัติไง ข้อวัตรปฏิบัตินี่สำคัญมาก เพราะมันดัดแปลงไง เหมือนถนนหนทาง รถเราไปตามถนนหนทาง ใจของเรามันเป็นไปตามกิเลส มันชนดะนะ มันชนปัญหา มันชนความคิด มันชนสิ่งที่มันพอใจ มันเผชิญกับสิ่งต่างๆ มันไม่ชำรุดเสียหาย จิตใจของเราไม่เคยชำรุดเสียหาย มันจะชนกับปัญหามาตลอด แล้วทุกข์ยากมากตลอดเลย เราถึงบังคับมัน บังคับด้วยข้อวัตรปฏิบัติให้มันเข้าในร่องในรอย บนถนนหนทางมันเป็นทางหลวง ใครจะมาปลูกสิ่งใดๆ ไว้ขวางทางไม่ได้ มันจะเป็นความผิด นี่ก็เหมือนกัน ข้อวัตรปฏิบัติ ให้หัวใจมันเป็นไปตามธรรม สิ่งที่ไปตามธรรม ให้เข้าไปถึงหัวใจ สิ่งต่างๆ มันถึงทะนุถนอม ทะนุถนอมเพื่ออะไร มันเป็นข้อวัตรปฏิบัติ มันเป็นปฏิปทาเครื่องดำเนิน ดำเนินในหัวใจนะ

เวลาปฏิบัตินี่นะ เราต้องบังคับเรา สิ่งที่บังคับ บังคับเพื่อให้ใจสงบ ถ้าจิตใจมันดีขึ้นมา เราจะเห็นคุณค่ามาก เราปฏิบัติกันเพื่อมรรค ผล นิพพาน.. โลกเขาไม่กล้าพูดอย่างนี้นะ มรรค ผล นิพพาน เป็นสิ่งที่สุดเอื้อม มันเป็นไปไม่ได้ ถ้ามันเป็นไปไม่ได้ ทำไมพระอาทิตย์ขึ้น-พระอาทิตย์ตกล่ะ นี่ก็เหมือน ในเมื่อมันมีทุกข์ ทุกข์มันต้องดับได้ ในเมื่อมันมีธรรมะ มีโอกาส มีกระทำ มันต้องเป็นไปได้ ถ้าเราเป็นไปได้ เราต้องมีความตั้งใจ แล้วสิ่งต่างๆ ที่มันจะเกิดขึ้นมา อุปสรรคขัดขวางนี่มันเยอะไปหมด ทีนี้อุปสรรคขัดขวางแต่เรื่องความเป็นอยู่นะ ความเป็นอยู่ในสังคมของสงฆ์ ในสังคมของโลก

แต่เวลาจิตมันขึ้นมา จิตกับธรรม “โอปนยิโก.. เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม” เรียกร้องใคร? ก็เรียกร้องใจ ถ้าใจสงบ นี่ความสงบ สิ่งต่างๆ เป็นสมาธิธรรม ปัญญาธรรม วิมุตติธรรม สิ่งที่เกิดขึ้นมา “เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม” เพราะมันเป็นสันทิฏฐิโกไง เรามันสัมผัส มันรู้สึก เรียกร้อง เราน่ะเห็น มันเป็นปัจจัตตัง เห็นชัดๆ! ใจเห็นชัด! ใจรู้ชัดๆ! ใจประสบชัดๆ ขึ้นมา

“เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม” ก็เรียกร้องไอ้กิเลสตัณหาในหัวใจเราน่ะ เรียกร้องไอ้ความลังเลสงสัยน่ะ เรียกร้องไอ้จิตโง่เราให้มันสัมผัสธรรม มันจะชื่นใจ แล้วไม่ต้องมีใครบอกนะ ของอย่างนี้มันสัมผัสมากับเรา

เวลาเราอยู่กับครูบาอาจารย์ เราก็ไปเล่าให้ท่านฟัง ท่านบอก “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” ครูบาอาจารย์ท่านเป็นคนชี้นำ ในการประพฤติปฏิบัติของเรา มันเป็นการกระทำของเรา เราจะสัมผัส เราจะรู้ของเรา ถ้าเป็นจริง สิ่งเป็นจริง อริยสัจมีหนึ่งเดียว

ผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินะ จะมีวิธีการไหนก็แล้วแต่ ถึงที่สุดแล้วพูดเหมือนกันหมดเลย แต่วิธีการไม่มีใครเหมือนกันเลย ถ้าวิธีการเหมือนกัน เหตุเหมือนกัน เหมือนเราไปยืมเงินเขามาใช้ จะเป็นของเราเองไม่ได้ เราต้องเป็นของเรา ถ้าเป็นของเรา เราเป็นคนทำเอง รู้เอง เห็นเอง ทำไมเราจะพูดไม่ได้ ทำไมเราจะบอกไม่ได้ แล้วถ้าพูดได้บอกได้ นั่นน่ะความจริง แล้วลงเหมือนกัน มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ เหมือนกันทั้งหมด

แต่เหตุการกระทำมันอยู่ที่อำนาจวาสนา การสร้างมาไม่เหมือนกัน รสนิยมของคนไม่เหมือนกัน ทุกข์ของคนหยาบ-ละเอียดต่างๆ กัน บางคนของเล็กน้อยแบกไว้ทุกข์มาก บางคนที่เขาวางได้นะ ของอย่างนี้ไม่ทุกข์เลย ทุกข์น่ะหยาบ-ละเอียดต่างกัน ทิฏฐิมานะ กิเลสตัณหาความทะยานอยากหยาบ-ละเอียดต่างๆ กัน การกระทำถึงไม่เหมือนกัน การกินอาหารของแต่ละบุคคล กินมาก กินน้อย อิ่มเหมือนกัน แต่การกินไม่เท่ากัน กินมาก กินน้อย กินจุ ไม่เหมือนกัน การกระทำถึงให้เป็นปัจจุบันของเรา

เราประพฤติปฏิบัติเพื่อเรานะ เพื่อเรา เป็นของเรา จะเป็นสมบัติของเรา เอวัง