เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑o ก.พ. ๒๕๕๒

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมนะ ฟังธรรมะ เมื่อวานนี้วันพระ แล้วคนเยอะมาก มีกิจกรรมมหาศาลเลย เสร็จแล้วมันก็ผ่านไปแล้ว วันนี้ดำรงชีวิตเราก็ยังดำรงต่อไปอีก เวลามีกิจกรรมเกิดขึ้นมาเพื่อให้มีหลักมีเกณฑ์ไง เวลามีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา ถ้าทางโลกนะ ทางโลกเวลาคิด เวลาทำเอาไว้ทำเป็นธุรกิจ คิดว่าเงินสะพัดเท่าไร วันนั้นเท่าไร พอกิเลสไปฟังอย่างนั้นปั๊บ ไม่กล้าทำเลยนะ พอกิเลสไปทำ พอคิดเป็นตัวเงินปั๊บ เราเห็นเป็นตัวเงินเลย แต่ดูเนปาล ความสุขมวลรวมไง ค่าน้ำใจมันสำคัญมากกว่า แต่เราไปคิดกัน “จีดีพีๆ จะต้องยอดขึ้นเท่าไร” มันเป็นไปไม่ได้หรอก เพราะมันขึ้น มันเป็นวัฏจักรของมัน

แต่ถ้าเป็นชีวิตเรา มันต้องยืนตลอดไป ความจะยืนชีวิตตลอดไปเราต้องมีสติ มีสติยับยั้งไว้ นี่มันเป็นอนิจจัง ทุกข์ขนาดไหนก็แล้วแต่ เดี๋ยวมันจะจางไปเป็นธรรมดา มันจะจางไปเป็นธรรมดานะ เพราะมันอยู่อย่างนั้นไม่ได้หรอก ทุกอย่างมันต้องแปรสภาพไป แต่แปรสภาพไปด้วยการควบคุมของเรา นี่ความเพียรชอบ การควบคุม

“ความดี” ความดีคือการกระทำ การกระทำบ่อยครั้งเข้า.. บ่อยครั้งเข้า.. จนเป็นจริตเป็นนิสัย เป็นนิสัยนะ คนสวดมนต์เย็นทุกวันน่ะ ลองขาดสิ เราสวดมนต์ทุกวันๆ เลย ถ้าขาดไปมันเหมือนขาดอะไรไปอย่างหนึ่ง นี่ความดีทำบ่อยครั้งๆ ถ้าไม่ทำความดี น้ำไหลลงต่ำตลอดไป น้ำจะไหลลงต่ำ ธรรมะไหลทวนกระแสขึ้นไปสูง ธรรมะทวนกระแสขึ้นไปสูง เราต้องมีสตินะ มีสติของเรา แล้วพยายามของเรากระเสือกกระสนไป

ดูสิ ในพระไตรปิฎก พระโพธิสัตว์เกิดเป็นกระรอก มันมีต้นมะพร้าวอยู่ริมทะเลไง แล้วลมมันตีแรงมาก แล้วรังกระรอกมันก็ตกไปในทะเลใช่ไหม กระรอกมันรักลูกน่ะ มันก็เอาหางไปจุ่มน้ำขึ้นมาแล้วก็สะบัด.. หางจุ่มน้ำขึ้นมาแล้วสะบัด จนเทวดาทนไม่ไหว ลงมาถามว่า “กระรอก.. ทำอย่างนั้นทำไมน่ะ?”

“เอ้า.. ก็ลูกตกไปในทะเล”

“แล้วทำยังไงล่ะ”

“ก็จะเอาหางจุ่มน้ำขึ้นมาสะบัด เพื่อให้ทะเลนั้นแห้ง เพื่อจะเอาลูกขึ้นมา”

แล้วมันเป็นไปได้ไหมล่ะ? มันเป็นไปไม่ได้หรอก แต่ความคิดของกระรอก เป็นพระโพธิสัตว์นะ ด้วยความเพียรไง ด้วยความอุตสาหะ จนเทวดาทนไม่ไหวนะ เทวดาต้องเนรมิตเอาลูกขึ้นมาคืนให้กระรอกนั้นจนได้ล่ะ

นี่ไง ถ้าเรามีสติ เราทำของเรา เรามีความเพียรของเรา มันเหมือนกับจะเป็นไปไม่ได้ แต่มันเป็นไปได้ เราตั้งใจของเรา ต้องทำได้! สิ่งที่ทำได้ขึ้นมา ต้องทำได้! ต้องทำได้!

ดูสิ เวลาคนป่วยน่ะ คนป่วยนะ ถ้าจิตใจอ่อนแอนะ ไปหมดเลยนะ ถ้าจิตใจคนอ่อนแอนะ เพราะเรามีลูกศิษย์ ไปหาหมอ หมอบอก “เป็นไปไม่ได้ นี่ต้องตายแน่นอน” แต่เขาบอก “เขาไม่ตาย” ในความคิดของเขา เขาไม่ตาย เขาไม่ยอมตาย เขาไม่ตาย.. เขาไม่ตาย.. พอเขาไม่ตายปั๊บ มันมีกำลังใจสู้ พอกำลังใจสู้ หมอรักษาหายด้วยความมหัศจรรย์ นี่ถ้าเราต่อสู้ของเรา

แต่ถ้าเราท้อถอยนะ เราไม่สู้ ชีวิตเราไม่สู้ อย่างไรงานเล็กน้อยมันก็ดูเป็นของหนักหนาสาหัสสากรรจ์ แต่ถ้าจิตใจมันสู้นะ สู้! สู้! ถ้าสู้ขึ้นไปแล้วนะ สู้แล้ว ทีนี้มันถูกหรือผิด

ความกล้าหาญของคน ดูสิ เขาบอก เขาเป็นคนกล้าหาญมาก เป็นคนดี...ไม่ใช่หรอก คนกล้าหาญแล้วมันต้องมีคุณธรรมด้วย กล้าหาญในสิ่งที่ดีงามไง ถ้าคนกล้าหาญ พวกนักเลงหัวไม้เขาก็กล้าหาญของเขานะ คนกล้าหาญอย่างนี้เยอะแยะเลย อยู่ในคุกน่ะ แล้วบอกว่า “เป็นคนกล้าหาญๆ” กล้าหาญมันก็ต้องมีปัญญาด้วย เหล็กกล้าเกินไปน่ะ ฟันไม้มันก็บิ่นหมดน่ะ มันต้องการความสมดุลของมันใช่ไหม

ความเพียรของเรา เราต้องมีของเรา ต้องมีสติของเรา ทีนี้มันก็อยู่ที่วาสนา มุมมองไง คำว่า “วาสนา” คือมุมมอง ปัญหาๆ หนึ่ง คนมองแต่ละปัญหาคนละมุมมองกันไป มันก็เหมือนวิชาชีพ ปัญหาหนึ่ง แต่คนภูมิหลังมาอย่างไร ก็มองสภาวะแบบนั้นน่ะ นี่ภูมิหลังของจิตไง

“ภูมิหลังของจิต” เป็นวัยนะ มันเป็นไปตามวัย เด็กก็คิดไปตามประสาเด็กๆ พอโตขึ้นมานะ บางคน เด็กนะ ไม่มีวัยเด็ก มันเป็นผู้ใหญ่ตั้งแต่เด็กเลย เพราะมันมีความรับผิดชอบนะ เด็กบางคนจะมีความรับผิดชอบ เขามีไอคิวของเขาเขาจะดีมากเลย

ถ้าพูดเรื่องศาสนา มันมีที่มาที่ไป เราพูดเรื่องปัจจุบัน ประชาธิปไตย ต้องเป็นธรรมๆ ต้องเสมอภาค ทุกคนต้องเสมอภาค.. เราไม่คิดกัน โลกอดีต โลกปัจจุบัน โลกอนาคต.. โลกปัจจุบันนี้มันมาจากไหน? มันมาจากอดีต แล้วจากโลกอดีต มันตัดแต่งมา พันธุกรรมันตัดแต่งมาไง พอมันเป็นโลกปัจจุบัน คนเหมือนคน แต่คนไม่เหมือนกัน

คนเหมือนคนนี่แหละ คนเหมือนกันหมด แต่ความคิด ความรู้สึก ความนึกคิดไม่เหมือนกันสักคนหนึ่งเลย...ไม่เหมือนกันหรอก! เห็นไหม พ่อแม่เลี้ยงได้แต่ร่างกาย หัวใจเลี้ยงไม่ได้หรอก หัวใจเลี้ยงของเขา นี่บุญกุศลใช่ไหม

ทางวิทยาศาสตร์ก็พยายามจะคิดนะ สิ่งแวดล้อม ต้องสิ่งแวดล้อมที่ดี เวลาเราตั้งครรภ์นะ เราต้องทำอารมณ์ดีๆ มันก็มีส่วน สิ่งแวดล้อมนี่มีส่วนมากนะ ถ้าสิ่งแวดล้อมมีส่วน เราสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี คนจะเป็นดีหมดเลย ทำไมสังคมสิ่งแวดล้อมที่ดี ทำไมเขามีคนทำผิดพลาดล่ะ? มันมีทั้งนั้นน่ะ ดูสิ ในพระไตรปิฎกนะ อยู่ในดงโจรเลย เด็กคนนั้นเป็นคนดีขึ้นมาจนได้น่ะ สิ่งแวดล้อมเลวมากๆ เลย แต่ถ้าใจของเขาดีนะ เขาสร้างของเขามาดีนะ มันต้องยืนหลักไว้ได้ อันนี้มันเป็นพื้นฐาน พอเป็นพื้นฐานขึ้นมา มันเป็นพื้นฐานของมันในปัจจุบันแล้ว จากพื้นฐานเราจะต่อยอดกันอย่างไร เราเกิดเป็นมนุษย์แล้ว เกิดเป็นมนุษย์แล้วจะทำอย่างไรกันต่อไป

มันก็อยู่ที่คุณค่านะ คุณค่าที่คนมองอะไร เรามองเป็นวัตถุสมบัติ มันก็มองเป็นเรื่องของแร่ธาตุ ถ้าเรามองเรื่องของคุณธรรม เห็นไหม เวลาเขาพูดกันนะ “ตัดหางปล่อยวัด.. ตัดหางปล่อยวัด..” คนตัดหางปล่อยวัดไง ตัดหางไปอยู่ที่วัด แต่ไอ้คนที่อยากปฏิบัตินะ คนที่มีคุณธรรม ก็อยากจะไปวัดก็ไม่มีโอกาสไป ไม่มีโอกาสไปหรอก มันติดไปหมดล่ะ ติดครอบครัว ติดคนนู้น ติดคนนี้นะ แต่ไอ้คนไม่อยากมาวัด เขาจะตัดหางปล่อยวัดนะ นี่พูดถึงสังคมเขาคิดกันอย่างนั้น มันเป็นคำโบราณที่เขาว่ากันมา

แต่ถ้าเป็นความจริงนะ เราดูที่คุณค่านั้น คุณค่าของใจ ใจที่มันต้องการ มันปรารถนาล่ะ ถ้ามันปรารถนา มันทำของมันนะ สิ่งที่ทำของมัน มันพยายามฝืนออกมา วัดนะ วัดจริงๆ แล้วไม่มีหรอก มันเป็นอิฐหินทรายปูนสร้างขึ้นมา.. อะไรเป็นวัด? วัดอยู่ที่ไหน? เราสมมุติกันขึ้นมาเป็นวัดนะ เราจะไปสร้างวัดกัน ซื้อที่แล้วก็สร้างวัด แล้วเมื่อก่อนไม่ซื้อที่ ไม่สร้างวัด มันเป็นอะไรน่ะ มันก็เป็นทุ่งนา แล้วพอสร้างวัดแล้วไปไหนน่ะ

ข้อวัตรปฏิบัติ วัดอยู่ที่ใจ.. ธุดงควัตร ข้อวัตรปฏิบัติ เราทำ เราจะบอกว่า “อยู่บ้านก็เป็นวัด”...ได้! อยู่บ้านก็เป็นวัดได้ วัดนี่มาวัดใจ วัดใจคือข้อวัตร ข้อวัตรคือกิจกรรมที่การกระทำ วัตรปฏิบัติ วัตตะ แต่ถ้าเป็นวัด ด.เด็ก อันนั้นเป็นวัตถุ สิ่งที่เป็นวัตถุสร้างขึ้นมา นี่ศาสนบุคคล ศาสนพิธี ศาสนวัตถุ.. เราศาสนะอะไร?

วัด ถ้าเราไปมองวัดข้างนอก เราก็จะไปสร้างวัตถุแข่งขันกัน วัดของใครมีความเจริญกว่า แล้วไปเจริญที่วัตถุ ไม่เจริญที่หัวใจ ถ้าเจริญที่หัวใจนะ ดูสิ วัดป่ามีแต่ต้นไม้ เวลาโยมเข้าไปนะ “โอ้โฮ.. มันร่มเย็นเนาะ มันสะอาดนะ” สะอาดเพราะอะไร? สะอาดเพราะมีข้อวัตร มีกติกาในหัวใจของมัน กิจของสงฆ์ ๑๐ อย่าง กวาดลานวัด ลานเจดีย์ ทำความสะอาด.. กิจของสงฆ์ สงฆ์ไม่ได้ออกไปยุ่งข้างนอกนะ กิจของสงฆ์ กวาดลานเจดีย์ รักษาความสะอาดในวัด นี่กิจของสงฆ์ เป็นหน้าที่ของสงฆ์

แต่พอเราเชิดชูขึ้นมานะ พอไปวัดนะ ใช้น้ำก็ไม่ได้ พระหามา ใช้อะไรก็เป็นบาปเป็นกรรม...ไม่ใช่! มันเป็นการดำรงชีวิตไง สิ่งต่างๆ ที่เราทำเป็นข้อวัตรปฏิบัติ เพราะมันเป็นบริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เป็นเจ้าของศาสนา อุบาสก-อุบาสิกา อยากทำบุญกุศล ภิกษุไม่มีอาชีพก็บิณฑบาตเป็นวัตร เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง นี่มันจะเกี่ยวเนื่องกันไป แล้วมันจะตรวจสอบกัน วงจรมันจะดูแลกัน ศาสนาจะมั่นคงมาก ทีนี้ต่างคนต่างอยู่นะ ต่างคนต่างอยู่

ทุกสังคมมันจะมี เหรียญมี ๒ ด้านทั้งหมด จะมีดีมีเลวปนกันทั้งนั้นน่ะ เราเลือกเอา มันอยู่ที่วุฒิภาวะของใจเรานะ เราเห็นพระ เราจะเลือกของเราเลย สิ่งใดที่เป็นประโยชน์กับเรา สิ่งใดไม่เป็นประโยชน์กับเราเห็นไหม เราจะช่วยเหลือเจือจานเขาได้ขนาดไหน แล้วธรรมะ เห็นไหมสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ จิตใจมันชื่นชูนะ จิตใจมันจะดูดดื่มของมัน นี่มันเป็นไปนะ เป็นครูบาอาจารย์ของเรานะ เคารพบูชา “พ่อแม่ครูจารย์”

ในบ้าน เราเคารพปู่ย่าตายายของเรา เป็นพ่อเป็นแม่ พ่อแม่เลี้ยงได้แต่ร่างกาย แต่เราไปวัดไปวานะ “พ่อแม่ครูจารย์”

เป็น “พ่อแม่” คือหาสิ่งปัจจัยเครื่องอาศัยเข้ามาในวัดนั้นเพื่อสังคมนั้น นี่ครูจารย์ “พ่อแม่ครูจารย์”

“ครูจารย์” คือรักษาหัวใจไง

แต่ในบ้านไม่มี ในบ้านมีแต่พ่อแม่ ไม่มีครูจารย์ มีแต่พ่อแม่เป็นครูคนแรกของลูก ก็คือพฤติกรรม ลูกโตขึ้นมาเห็นพฤติกรรมของพ่อแม่ ก็ซับพฤติกรรมของพ่อแม่นั้นมา แต่หัวใจของเขามันรู้ไม่ได้ไง รู้ไม่ได้เพราะอะไร เพราะคนตาบอด พ่อแม่ก็บอด บอดที่ใจ พ่อแม่อ่านหนังสือมาน่ะ เปิดไฟสว่างในบ้านหมดน่ะ แต่ไม่รู้ลูกต้องการอะไร ลูกคิดอะไร ก็คิดได้แต่ทางวิชาการ ทำวิจัยกันว่าเด็กอายุ ๓ ขวบต้องการเท่าไร เด็ก ๔ ขวบ ๕ ขวบ ๖ ขวบ ความเจริญเติบโตสมองจะเจริญเท่าไร...ก็คิดได้แค่นั้นน่ะ

แต่ไม่รู้ว่าบุญกรรมมันมาจากไหน สิ่งที่พฤติกรรมมันมาจากไหน ใจมันเป็นอย่างไร แต่ถ้าเป็นครูจารย์ เห็นไหม “พ่อแม่ครูจารย์” เพราะอะไร เพราะกว่าจะเอาใจของเราไว้ในอำนาจของเรา มันต้องถูลู่ถูกังขนาดไหน ใจมันดิ้นรนขนาดไหน แล้วกว่ามันจะสงบได้ แล้วกว่าจะสงบเข้าไปเห็นข้อมูลของมันนะ พอจิตสงบเข้าไป โดยธรรมชาติของมันจิตสงบเข้าไปเหมือนคอมพิวเตอร์เลย มันเข้าไปอยู่ในโปรแกรมนั้น นี่ไง พอจิตสงบมันเข้าไปในข้อมูลของใจนั้น.. ใจนี้มาจากไหน?

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “บุพเพนิวาสานุสติญาณ” คือข้อมูล คือตั้งแต่พระเวสสันดรไป คือข้อมูลมันซับมาในใจ นี่ระลึกอดีตชาติได้

“จุตูปปาตญาณ” นี่มันยังไม่ใช่ธรรมทั้งนั้นน่ะ

“อาสวักขยญาณ” มันชำระกิเลสแล้ว ถึงได้หมดสิ้นกระบวนการของมัน

ถ้าเห็นสภาวะแบบนั้น.. ใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง ใจของครูบาอาจารย์เราที่ประพฤติปฏิบัติแล้ว ใจของทุกคนมันก็เหมือนกันทั้งนั้นน่ะ มันถึงสิทธิเสรีภาพไง ทุกคนมีความรู้สึก ทุกคนมีหัวใจ ทุกคนต้องการความสุขทั้งนั้น ทุกคนถึงพ้นจากกิเลสได้ทั้งนั้น มีสิทธิทำได้ทุกคนเลย แต่ความสามารถที่จะทำต่างหาก แต่ทุกคนมีสิทธิ์เพราะทุกคนมีพื้นฐาน มันมีสิ่งรองรับ มีภาชนะไง ภาชนะที่สัมผัสธรรมที่สุดคือหัวใจนี่ไง

เราไปดูกันในตู้พระไตรปิฎก นี่ธรรมะๆๆ พิมพ์มา ไอ้นั่นธรรมะไม่มีชีวิต มันสัมผัสไม่ได้ มันไม่มีชีวิตหรอก ปลวกกินหมดเลยนะ ปลวกมันกินทั้งเล่ม กินทั้งตู้เลย มันไม่เห็นบรรลุธรรมตรงไหนเลย แต่ของเราสิ ของเราใจสัมผัสไง ดี-ชั่ว ความกระเทือนใจ สิ่งต่างๆ พระพุทธเจ้าตรัสสั่งสอนไว้ พอจิตไปสัมผัส โอ้โฮ! มันกินใจมาก มันซึ้งใจมาก นี่ไง ความสัมผัส นี่ธรรมะที่มีชีวิต ธรรมะที่มีรสชาติ

“รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง” สัจธรรม สมาธิธรรม ปัญญาธรรม

“รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง” แล้วใจมันสัมผัส ใจมันดื่มกิน เหมือนเรากินอาหารเลย เหมือนเราได้กินอาหาร เราก็รู้ว่าเอร็ดอร่อย แต่เราไปอ่านหนังสือเหมือนกับเราดูเมนูมันน่ะ ดูเมนูนะ แต่ไม่เคยกินเลย โอ้โฮ.. นั่นอาหารชิ้นนั้นๆๆ แต่ไม่เคยได้ลิ้มรสเลยนะ แต่ใจสัมผัสน่ะ กินทุกคำ สัมผัสทุกคำ แล้วรู้ทุกคำ

นี่ไง “ครูจารย์ๆ” เพราะมันมีอย่างนี้ สภาวะรู้จักอย่างนี้ มันถึงสอนได้ไง ถึงรู้สภาวะ.. ในบ้านไม่มี

ตัดหางปล่อยวัดๆ นะ คนอยากไปก็เยอะ คนอยากปฏิบัติก็เยอะ เขาไม่มีโอกาสนะ แต่มันพูดเหมือนทางโลก โลกพูดกัน เวลาตัดหางปล่อยวัดเหมือนกับไม่มีค่าอะไรเลย เป็นเศษคน เวลาจะทำคุณงามความดีกัน.. ก็ธุรกิจ เงินสะพัดเท่าไร พอบอกเงินสะพัดเท่าไรนี่นะ ขาอ่อนเลยนะ เราเป็นเหยื่อเขาไปเลย มันตระหนี่ถี่เหนียวไง

แต่ถ้าบอกว่า “เงินไม่มีความสำคัญ! หัวใจของคนสำคัญกว่า! สังคมที่มีความร่มเย็นเป็นสุขสำคัญกว่า!” เราจะมองข้ามตรงนี้ไปเลย มันทำได้หมด

แล้วคนที่มีน้ำใจ เขาเสียสละได้นะ เขาช่วยเหลือเจือจานได้ ดูสิ อเสวนา จ พาลานํ ไม่คบพาล ให้คบบัณฑิต แล้วดูคบบัณฑิตสิ แล้วคบบัณฑิต เวลาเขาไปทำบุญกุศลกัน ทำไมเขาตั้งโรงทานล่ะ เขาหาบุญกุศลจากบัณฑิตไง หาบุญกุศลจากคุณงามความดีไง แต่ถ้าของเราจะไปแจกคนอื่นไม่ได้นะ “ไม่ให้ๆ” แต่ถ้าคนดี “อยากๆๆ”

ถ้าคบบัณฑิต ถ้าใจมันเป็นธรรม มันทำได้ มันเห็นได้

แต่ถ้าตัดหางปล่อยวัด ค่าจีดีพีไม่ได้แล้ว มันเป็นธุรกิจ ไม่ยอมเสียเปรียบกัน โลกเป็นใหญ่ไม่ได้ โลกเป็นใหญ่มันก็คิดเป็นโลกๆ นะ ใจเราอย่าให้เป็นโลก แต่มันก็เป็นโลกโดยธรรมชาติของมันนะ แต่พยายามสร้างธรรมขึ้นมา ธรรมะนี่ต้องสร้าง แต่กิเลสไม่ต้องสร้าง อวิชชามันอาศัยที่อยู่ คือบ้านของอวิชชาคือหัวใจของสัตว์โลก บ้านของมันคือหัวใจสัตว์โลก

“เรือนยอดนั้น เราได้ทำลายแล้ว”

เรายังไม่เห็นบ้านของมัน แล้วยังไม่ได้ทำลายเรือนยอดของมัน แล้วอวิชชามันอยู่ที่นั่น มันถึงครอบงำเราตลอดไป เราจะทำอะไรก็แล้วแต่นะ กิเลสมันควบคุมหมด ใครจะทำอะไรก็แล้วแต่ จะมีความรู้เก่งกล้าขนาดไหนนะ กิเลสครอบงำหมด มันกลัวอย่างเดียว กลัวสติ กลัวธรรมะของพระพุทธเจ้า เราถึงต้องฝืนมัน สู้มัน ทำมัน แล้วถึงที่สุดนะทำลายมันหมดเลย ทำลายเรือนยอด ทำลายภวาสวะ ทำลายภพ ทำลายทุกอย่าง จิตนี้บริสุทธิ์สัมผัสได้!

ถ้าไม่สัมผัสได้นะ เวลาพระปฏิบัติด้วยกัน ลูกศิษย์ครูบาอาจารย์ท่านถามกัน เพราะอะไร เหมือนหมอ เวลาคนเจ็บมา เขามาหาเรา เรารักษาเขาไม่ได้ ทำอย่างไร ลูกศิษย์ปฏิบัติมา มันต้องเจอปัญหาแน่นอน มันต้องเจอปัญหาแน่นอน สักวันหนึ่งมันต้องถามเราแน่นอน ถ้ามันทำถึงตรงนั้นปั๊บ “อาจารย์สอนมาสิ แล้วอาจารย์สอนไม่ได้ แล้วเป็นอาจารย์ผมได้อย่างไร เป็นอาจารย์ผมได้อย่างไร สอนผมไม่ได้ ท่านบอกผมไม่ได้”

ถึงวันหนึ่งนะ เขาต้องถามเราแน่นอน “พ่อแม่ครูจารย์”

เราถึงว่า เรื่องการประพฤติปฏิบัติใจเรามันเป็นก่อน ถ้าใจเราทำได้นี่ภาชนะคือความรู้สึก มันสัมผัสธรรมจริงๆ นะ ทางวิชาการบอกเลยนะ ห้ามพูดด้วยอารมณ์ความรู้สึก ต้องพูดอย่างมีที่มาที่ไป ใช่ ไม่ให้ถือบุคคล ให้ถือธรรมะเป็นที่พึ่ง ธรรมะเป็นที่พึ่ง

แต่ธรรมะมันไปอยู่ในหัวใจของบุคคล มันก็เป็นเหมือนกับอารมณ์ความรู้สึก.. เหมือนนะ แต่ไม่ใช่.. ถ้าอารมณ์ความรู้สึกนี่มันแปรปรวน แต่นี่มันเป็นสัจธรรม เพียงแต่มันสื่อออกมาอย่างมีชีวิต มันเป็นสมมุติที่สื่อออกมาได้อย่างนี้ไง

สอุปาทิเสสนิพพาน จิตที่พ้นจากกิเลสแล้วมันก็อาศัยธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ แสดงออก เวลามันตายไป อนุปาทิเสสนิพพานคือจิตที่มันเป็นวิมุตติแล้ว มันสื่อไม่ได้.. แต่สื่อได้ ถ้าสื่อไม่ได้.. ในประวัติหลวงปู่มั่น พระพุทธเจ้ามาอนุโมทนากับหลวงปู่มั่น พระอรหันต์มาสอนหลวงปู่มั่น ทางโลกเขาต่อต้านนะว่าเป็นไปไม่ได้

อาหาร ๔ ในวัฏฏะ กวฬิงการาหาร วิญญาณาหาร ผัสสาหาร มโนสัญเจตนาหาร.. ไอ้ภาวนาไม่เป็นบอก “มโนสัญเจตนาหาร คือเจตนาเรานี่ไง” โอ้โฮ.. อย่างมนุษย์นี่ก็กินอาหารหลายอย่างเนาะ เพราะในหัวข้อธรรมบอกว่า “อาหาร ๔ ในวัฏฏะ.. ในวัฏฏะ.. ในวัฏฏะ..”

มโนสัญเจตนาหาร.. มโนมิงปิ นิพพินทะติ มโนสัมผัสเสปิ นิพพินทะติ.. มโนก็ทำลายไปแล้วไง ทีนี้จิตที่พ้นไปแล้ว วิมุตติมันไม่ใช่มโน ไม่ใช่อะไรทั้งสิ้น มันพ้นออกไปแล้ว แต่เวลาจะสื่อกับจิตที่สงบ นี่ไง มันมีอยู่ สิ่งที่มีอยู่มันถึงสื่อได้ “อาหารในวัฏฏะ” สื่อสารกันในกามภพ รูปภพ อรูปภพ สื่อสารกันในวงจรของโลกของจิตวิญญาณ

แต่พวกเราไม่รู้ ไม่รู้หรอก คนไม่ภาวนาไม่รู้เรื่อง แล้วพอพูดไปนะ มันไป “อู้ฮู! อู้ฮู! พระปฏิบัติบ้า พูดอะไรเพ้อเจ้อ”

เอ้า.. ก็มึงไม่เคยเห็น มึงไม่เคยรู้ มึงปากคาบคัมภีร์มาเฉยๆ.. ไม่รู้เรื่องหรอก

นี่ไง “พ่อแม่ครูจารย์” นี่พูดถึงว่าเวลากิจกรรม เราทำแล้วมันก็ผ่านไป แต่ถ้าเราไปตื่นเต้นกับอย่างนั้นนะ มันจะมีข้างหน้า วิสาขบูชาจะมาข้างหน้า ปีหน้าจะมีอีกแล้ว

เขาบอก “วันพระไม่ใช่มีหนเดียว”

เราบอก “วันพระมีหนเดียว” เพราะวันพระคือวันพระนั้นผ่านไปแล้ว วันพระใหม่คือวันพระใหม่ มันคนละอัน ไม่ใช่วันพระเดียวกันหรอก วันพระมีวันเดียว วันนั้นคือชีวิตเราที่ผ่านไปแล้ว

แต่เวลาเขาพูดกัน “วันพระไม่ได้มีวันเดียวนะ จะรอวันพระใหม่นะ” แล้วปล่อยโอกาสให้ผ่านไปใช่ไหม

“วันพระมีวันเดียว” คือวันนั้น พอมันผ่านไปแล้ว พอวันพระใหม่ก็คือวันพระใหม่ ชีวิตเราก็เหมือนกัน วันเวลามันผ่านไปตลอดเวลา แล้วเอาคืนมาไม่ได้นะ ตั้งสติแล้วทำตัวให้ดี เอวัง