เทศน์เช้า วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ตั้งใจฟังธรรมเนาะ ตั้งใจคือตั้งสติไว้ เสียงมันมากระทบหูเราเองนะ เสียงของธรรม เสียงของธรรมมันกระเทือนหัวใจน่ะ มันสะเทือนใจนะ ถ้าเสียงของโลกมันดูดดื่ม ดูดดื่มให้เราอยู่กับโลกไง
พวกเราเกิดมาได้ร่างกายมาหนึ่งร่างกาย จิตใจปฏิสนธิจิตในไข่ของมารดา เกิดมาเป็นเรา ได้เรือมาคนละ ๑ ลำ เห็นไหม แล้วมันจะต้องผ่าคลื่นลมไง ผ่าคลื่นลมในชีวิตนี่ ถ้าผ่าคลื่นลมในชีวิต เรือถ้ามันไปประสบหินโสโครก มันไปชนหินโสโครกมันก็ต้องอับปางลง แต่ถ้าเราเอาเรือเราเข้าฝั่งได้ เวลาเรือเข้าฝั่งได้ เรามีทรัพย์สมบัติมา ครอบครัวเราจะมีความชื่นใจมีความสุขใจ เพราะว่าเรามีสิ่งนี้มา สิ่งนี้เป็นเรื่องของโลกนะ
แต่ถ้าเรื่องของเรา เรื่องของศาสนา เห็นไหม ที่พึ่งของใจ ถ้าใจมีที่พึ่ง มันมีเรือ มีหางเสือ เรือมีหางเสือจะไม่เคว้งคว้างอยู่ในทะเลนะ ในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ถ้ามีหางเสือ มันจะพาเรือเข้าฝั่ง ถ้าพาเรือเข้าฝั่ง ดูสิ เวลาเรือมันอยู่ในกลางท้องทะเล มันจะไม่เห็นฝั่ง มันว้าเหว่ มันอาลัยอาวรณ์ มันมีความเศร้าหมองในหัวใจ แต่พอมันเข้าไปใกล้ๆ ฝั่ง มันจะมีนก มีสิ่งต่างๆ บอกเหตุว่าเรือใกล้จะเข้าสู่ฝั่ง
นี่ก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติของเรา จิตของเรามันจะสงบขึ้นมา มีรากมีฐานเข้ามา เราจะรู้ตัวของเรานะ นี่เรือมีหางเสือ แค่เข้าหาเห็นนกเห็นกา ผู้เดินเรือเขาเห็นนกเขามีความหวังแล้ว เพราะสิ่งมันบอกเหตุว่ามันจะเข้าใกล้สู่ฝั่ง ถ้าเข้าใกล้สู่ฝั่งนะ จิตเรามาปฏิบัติมันมีความชุ่มชื่น มันมีหลักมีเกณฑ์ของมัน มีความชุ่มชื่นน่ะมันมีหางเสือ
อย่าปล่อยให้เรือไม่มีหางเสือ อย่าปล่อยชีวิตนี้ไปตามแต่อารมณ์ความรู้สึกของเรา ชีวิตนี้ อารมณ์ความรู้สึกของเรามันมีความต้องการ มีความพอใจเป็นธรรมดา คนเกิดมามีกิเลสเป็นเรื่องธรรมดา มีความต้องการ มีความปรารถนาเป็นธรรมดา คำว่า ธรรมดา แต่ความต้องการปรารถนาในสิ่งใด ต้องการปรารถนาในสิ่งที่ชีวิตนี้ให้มันมีความสุข ชีวิตนี้มีความสุข ความสุขของชีวิตนี้มันเป็นแรงปรารถนาของใคร แรงปรารถนาของเด็ก แรงปรารถนาของผู้ใหญ่ แรงปรารถนาของผู้ผ่านกาลผ่านเวลามา เห็นไหม แรงปรารถนา เพราะมันมีประสบการณ์ในชีวิตไง ต้องการสิ่งใดได้สิ่งนั้นมาแล้วมันสมความสุขไหม มันสมความปรารถนาไหม มันก็มีความต้องการตลอดไป มีความต้องการต่อไปเรื่อยๆ
แต่ถ้ามีศาสนา สิ่งนี้เป็นปัจจัยเครื่องอาศัย ศาสนาไม่ได้ปฏิเสธนะ ศาสนาไม่ได้ปฏิเสธหน้าที่การงาน ศาสนาไม่เคยปฏิเสธ ถ้าศาสนาปฏิเสธทำไมมีความเพียรชอบล่ะ ในมรรค ๘ มีความเพียร มีความวิริยะ มีความอุตสาหะ แต่ความเพียร วิริยะอุตสาหะนั้นต้องมีสติ ต้องมีปัญญา ในความเพียร ในความวิริยะอุตสาหะ ถ้าไม่มีสติ ไม่มีปัญญา ความเพียรของใคร นี่ไงเรามีความขยันหมั่นเพียรแต่ไม่มีหางเสือ เรือของเราจะไปเคว้งคว้างอยู่กลางทะเล อยู่ในโอฆะ อยู่ในวงเวียน
การเกิดและการตายนี้เป็นผลของวัฏฏะนะ เรามีบุญกุศลขึ้นมาได้เกิดเป็นมนุษย์ การเกิดเป็นมนุษย์เกิดได้แสนยาก แต่เราเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วมันแสนยากที่ไหน มนุษย์เต็มโลก มนุษย์เต็มไปหมดเลย มนุษย์แย่งกันกินแย่งกันใช้ มนุษย์เกิดมาแสนยากที่ไหน แต่เราไม่เห็นโลกของจิตวิญญาณ โลกของจิตวิญญาณมีมากมายมหาศาลมากกว่านี้นัก ปรารถนาการเกิด ดูในเชื้อโรคสิ เชื้อโรคในร่างกายมีมหาศาลเลย ในอากาศ ในต่างๆ มีเชื้อโรคเต็มไปทั้งหมดเลย สัตว์เซลล์เดียว เห็นไหม การแบ่งตัวของมันยังไม่มี สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นมา เห็นไหม จิตวิญญาณมีมหาศาล เชื้อโรคสิ่งต่างๆ นี้มันเป็นวัตถุธาตุที่กล้องจุลทรรศน์มันส่องเห็นได้แล้วนะ แต่สิ่งที่ส่องไม่เห็นล่ะ สิ่งที่มองไม่เห็นน่ะ
การเกิดนี้แสนยาก การเกิดเป็นมนุษย์สมบัติมีโอกาสมาก เพราะเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ถ้าเรามีศาสนา มีที่พึ่งของเรา เรือจะมีหางเสือนะ จะทำอะไรมันจะมีการเหนี่ยวรั้งนะ สิ่งนี้เป็นบาป เป็นบุญ เป็นคุณโทษ เราจะรู้ของเรานะ บาป บุญ คุณ โทษ ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะ เราจะรู้ว่าสิ่งใดเป็นบาป บุญ คุณ โทษ ควรหรือไม่ควร แต่เพราะกิเลสตัณหา แต่เพราะความจำเป็นบีบคั้นเป็นบางโอกาส นี่ชีวิตนี้มันลุ่มๆ ดอนๆ อย่างนี้ ถ้าชีวิตลุ่มๆ ดอนๆ อย่างนี้ มันเกิดมาจากไหน มันก็เกิดมาจากการกระทำ เกิดมาจากกรรมของเรา
กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน การเกิดนะ เกิดในครอบครัวเดียวกัน เกิดในพ่อแม่เดียวกัน ความคิดความเห็นหลากหลายแตกต่างกันไป กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กันไป กรรมของเรามานะ มีกรรมของเรามา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้ถึงปัจจุบันกรรม กรรมที่ปัจจุบัน การกระทำไง
ปัจจุบันในการประพฤติปฏิบัติ อารมณ์ความรู้สึกให้เป็นปัจจุบัน เพราะปัจจุบันแก้ไขกันที่นี่ ดูสิ เวลาเครื่องยนต์มันติดอยู่ เราซ่อมเครื่องยนต์นั้นได้ไหม เราจะซ่อมเครื่องยนต์ เราต้องดับเครื่องยนต์ แล้วเราซ่อมเครื่องยนต์ของเรา จิตก็เหมือนกัน ถ้ามันหยุดนิ่งได้ มันได้พักออกไป นี่มันไม่หยุดนิ่ง มันหมุนอยู่ตลอดเวลา ความคิดของเรา สิ่งต่างๆ เครื่องยนต์มันหมุนอยู่ตลอดเวลา แล้วเราก็ว่าเราซ่อมเครื่องยนต์ของเรา เราซ่อม มันซ่อมได้อย่างไร
เครื่องมือของเรา มรรค ๘ ความเพียรชอบ งานชอบ...มันโดนกิเลสตัณหาความทะยานอยากมันย่อยสลายจนแหลกละเอียดไปหมดเลย แล้วยังว่าเป็นการซ่อมเครื่องยนต์ เครื่องยนต์คือความคิด จิตของเรามันเหมือนช้างสารตกมัน มันมีกำลัง มันฟาดงวงฟาดงาจนมรรคญาณ จนสิ่งที่เป็นปัญญาของเราแหลกลาญไปหมดเลย เรายังไม่เข้าใจว่าสิ่งนั้นแหลกลาญไปหมด สิ่งนั้นมันเป็นความคิดของเรา เป็นความคิดของโลก เป็นความคิดของปัญญาของเรา ธรรมะถึงจะเกิด
ดับให้ได้ ดับด้วยอะไร ดับด้วยการทำสมาธิให้ได้ ทำจิตให้สงบเข้ามา ถ้าจิตสงบเข้ามามันจะเห็นความต่างมากนะ ความต่างที่ว่าเครื่องยนต์ยังติดอยู่เราจะไปแก้ไข มันฉุดกระชากไปเราไม่รู้ตัว พวกเครื่องยนต์มันทำให้เรามือไม้หักได้ ทำให้เราเกิดอุบัติเหตุได้ นี่เพราะเราเห็นมันเป็นวัตถุ แต่ถ้ามันเป็นความรู้สึกล่ะ มันเป็นความคิดล่ะ เวลามันมีแรงมากกว่าเรา มันทำลายเรา เราเห็นไหม มันก็เป็นความรู้สึกของเราใช่ไหม เราไปถนอมรักษาเพราะเป็นความคิดของเรา เราก็ดูแลของเรา เราคิดว่ามันเป็นเราไง สรรพสิ่งเป็นเรา ถ้าเป็นเราแล้วเราถนอมรักษา สรรพสิ่งถ้าไม่เป็นเรานะ เราจะผลักไส ผลักไสหรือถนอมรักษา ถนอมก็ถนอมกิเลส รักษาก็รักษากิเลส ผลักไสก็ผลักไสสิ่งที่ตัณหาทะยานอยากที่ออกไปไม่ได้ มันเป็นอย่างนี้มาอยู่ตลอดเวลา นี่เรือไม่มีหางเสือ ทำไปแต่ความต้องการ ทำไปตามแต่แรงปรารถนาของตัวว่าสิ่งนั้นเป็นธรรมๆ
เราเป็นนักปฏิบัตินะ เราเป็นชาวพุทธด้วยแล้วเรามีศรัทธาความเชื่อ ในการที่เราจะหาคุณธรรมในใจ สิ่งที่หาคุณธรรมในใจ เห็นไหม สุตมยปัญญา การศึกษาเล่าเรียนมา การประพฤติปฏิบัติมาน่ะ เราสร้างสมของเราขึ้นมา สิ่งที่สร้างสมขึ้นมานี่ทรัพย์ ทรัพย์จากภายนอก แก้วแหวนเงินทองเป็นทรัพย์จากภายนอก ทรัพย์จากภายใน เห็นไหม สิ่งที่จิตได้สัมผัส นี่เป็นสันทิฏฐิโก มันรู้มันเห็น แล้วมันติดไป ใครรู้ใครเห็น ภวาสวะ-ภพเป็นสิ่งที่เป็นสถานที่ เป็นภาชนะที่รองรับสิ่งนั้น มันสัมผัส มันรู้มันเห็นของมัน
สิ่งที่จิตวิญญาณที่มันไม่เป็นวัตถุ เราเห็นได้-ไม่ได้ แต่ความสัมผัสของใจ ใจสัมผัสธรรม ใจสัมผัสความสงบ ใจสัมผัสปัญญาต่างๆ ความสัมผัสของใจ เห็นไหม สิ่งที่สัมผัสอันนี้มันเป็นสมบัติของเรา มันเป็นสมบัติของใจอันนั้น สัมผัสใจอันนี้มันยืนของมันได้
ดูสิ เราคาดเราหมายตัณหาทะยานอยาก สิ่งที่ตะครุบเงาที่ไม่มีสิ่งที่จับต้องได้ มีแต่แรงขับความปรารถนา แล้วเราทำไปเราก็มีความลังเลสงสัย เราถึงไม่มีจุดยืน เราถึงไม่มั่นคงในชีวิตของเรา แต่ถ้าเราได้สัมผัสขึ้นมาน่ะ สติเราก็สัมผัสขึ้นมา สมาธิเราก็สัมผัสขึ้นมา สิ่งใดๆ จิตสัมผัสทั้งหมด เรารู้เองทั้งหมด
ดูสิ เวลาครูบาอาจารย์สอนเรา เห็นไหม ท่านว่าอย่างนั้น ท่านว่าอย่างนั้น เราก็คาดการณ์ไป เป็นจริงไม่จริงยังไม่รู้ แต่เวลาใจสัมผัสขึ้นมานี่ ใครบอกไม่บอก ไม่สำคัญ ครูบาอาจารย์ไม่ต้องบอกแล้ว เห็นไหม
ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต
ผู้ใดปฏิบัติ มันทำกันได้ไง สิ่งที่ทำกันได้ ครูบาอาจารย์สอนลูกศิษย์ไม่ได้หรอก เพราะลูกศิษย์พอปฏิบัติอาจจะดีกว่าครูอาจารย์ก็ได้ จะก้าวหน้าได้เร็วกว่าก็ได้ สิ่งที่ก้าวหน้าได้เร็วกว่า สิ่งนี้นี่หลอกกันได้ไหม? หลอกกันไม่ได้ หลอกกันไม่ได้เพราะอะไร เพราะมันเห็นทันกัน มันปฏิบัติทันกันได้ นี่ไงสิ่งที่ปฏิบัติทันกันได้ สิ่งนั้นเป็นความจริง แล้วเป็นความจริงอันนั้นกับความจริงของเราล่ะ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเป็นความจริงของเรา มันเกิดมาจากเรา มันก็เกิดจากความสัมผัส เห็นไหม นี่ทรัพย์ภายใน มันเป็นทรัพย์ภายในที่จิตมันสัมผัส จิตนี้มันจับต้อง แล้วจิตนี้เอาไปเองนะ บุญกุศลเราเอาของเราไปเอง
แต่ทรัพย์สมบัติภายนอกมันเป็นเครื่องอาศัย...ไม่ปฏิเสธนะ ปฏิเสธไม่ได้หรอก เพราะว่าปัจจัยเครื่องอาศัย ปัจจัย ๔ ของมนุษย์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ปฏิเสธ แม้แต่พระ บริขาร ๘ ปัจจัย ๔ เห็นไหม บาตรนี้เป็นอาหาร จีวรเป็นผ้านุ่งห่ม ฉันน้ำยาดองมูตรเน่า กลดเป็นเครื่องอยู่อาศัย นี่ปัจจัย ๔ พระก็มี พระต้องใช้ปัจจัย ๔ เหมือนกัน แต่ใช้ปัจจัย ๔ แบบพระบริขาร ๘
แต่ของเรา เราใช้ปัจจัย ๔ ของเรา มันพออยู่พอกินไหม มันพอเป็นไปได้ไหม แล้วสงสารตัวเองไหม สงสารหัวใจของเราไหม ถ้าสงสารหัวใจน่ะ ที่พึ่งของเรามีหรือยัง จุดยืนของเรามีหรือยัง ถ้าจุดยืนของเรายังไม่มี เราจะหาของเราไหม
ไปฟังเทศน์ครูบาอาจารย์ ไปฟังเทศน์ขึ้นมามันเป็นทางวิชาการ มันสะเทือนหัวใจ สะเทือนหัวใจให้เราได้สติไง ให้ยับยั้งกับเรา ให้แสวงหาไง ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์คอยเบรก คอยยับยั้งเรา เห็นไหม รถไม่มีเบรกน่ะมันเข้าจอดที่ไม่ได้หรอก มันจะจอดไม่ได้ เราเห็นแต่คันเร่ง เห็นแต่ผลประโยชน์ทางโลก เห็นแต่คันเร่ง เหยียบแล้วรถวิ่งไปข้างหน้าไปได้ตลอด ถ้าไม่มีเบรก มันจะเข้าโค้ง มันจะเข้าทางร่วม ทางแยก มันจะไปได้อย่างไร
ธรรมะก็เหมือนกัน เบรกของเราอย่าให้ตื่นเต้นไปกับโลกเขานัก โลกมันเป็นอย่างนี้ โลกมันจะหมุนเวียน มันเป็นอนิจจัง มันเป็นอจินไตย มันจะหมุนของมันอยู่อย่างนี้ ผลของวัฏฏะ ผลของการเกิดการตายมันก็เป็นอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้แล้ว สิ่งที่เราประสบสัมผัสมาตลอดเวลา แล้วธรรมะเบรก เบรกให้เรามีสติสตังขึ้นมา ให้เราหาคุณค่า มีคุณค่านะ
คนหยาบ ได้สมบัติหยาบๆ คนละเอียด คนรอบคอบ มันจะได้สมบัติของมัน สมบัติที่เป็นประโยชน์กับเรา สิ่งที่ประสบพบเห็นอยู่ในชีวิตประจำวัน นี่เป็นผลของกรรม เป็นสิ่งที่การกระทำ กรรมที่เป็นอดีตมาคือเกิดมาด้วยคุณสมบัติ เกิดมาเป็นมนุษย์ กรรมในปัจจุบันคือการดำรงชีวิตของเรานี่ เราทำอะไร เราทำสิ่งที่ดีๆ กลิ่นของศีล กลิ่นของธรรม มันหอมทวนลม หอมทวนลม เห็นไหม มันเป็นนามธรรม การกระทำคุณงามความดี แต่ปากต่อปากนะ คนมีคุณงามความดี บารมีธรรมมันเกิด
กลิ่นของบาปอกุศลที่เราทำ เห็นไหม นี่ชีวิตมันลุ่มๆ ดอนๆ อย่างนี้ ชีวิตลุ่มๆ ดอนๆ ชีวิตที่มันประสบสัมผัส นี่ผลของวัฏฏะ ผลของกรรมที่ในอดีตนั้นส่งเรามา แล้วกรรมปัจจุบันนี้ ถ้ามีศาสนา เราเชื่อมั่นในศาสนา ศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศาสนาคือสัจธรรม ศาสนาคือศีล ศาสนาคือข้อบังคับของเรา ศาสนาคือสิ่งที่บังคับจิตให้มันมีหลักมีเกณฑ์
ข้อวัตรปฏิบัติ เห็นไหม บังคับให้ทำ ทำทุกวันๆ เราจะเห็นไหม กินอาหารทุกวันๆ ก็กินอยู่ทุกวัน ชีวิตประจำวันก็ทุกวัน ทำจนเคยชิน ทำจนไม่เห็นคุณค่าของมัน แต่ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะนะ สิ่งนี้มีประโยชน์ตลอดเวลา เราทำขึ้นมาด้วยความพร้อมของสติ เราจับต้องสิ่งใดสติเรามาพร้อม ถ้ามีสติเราทำอะไรผิดพลาดไหม ถ้าไม่ผิดพลาดขึ้นมา มีสติ มีความรู้สึกใหม่อยู่ตลอดเวลา มีความรู้สึกตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา
ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกนะ ชีวิตนี้มีคุณค่ามาก ตั้งแต่เด็กแต่น้อยขึ้นมาจนชราคร่ำคร่ามานี่ มันก็ต้องหมุนหมดวงรอบของมัน หมดอายุขัยของมันเป็นธรรมดา แล้ววันคืนล่วงไปๆ ถ้ามีสติอยู่ วันเวลาที่มีอยู่ มันก็เหมือนโอกาสที่เราจะได้แก้ไข โอกาสที่เราจะได้ประพฤติปฏิบัติ โอกาสที่เราเตือนสติ ถ้ามันเตือนสติขึ้นมานะ ดูสิ เวลาจิตเราสงบขึ้นมาหรือมีสติขึ้นมา เราจะชุ่มชื่นไหม ชีวิตเราจะสดใสไหม แต่เวลามันเศร้าสร้อยหงอยเหงา มันมีความทุกข์ไหม มีสติขึ้นมา มันจะทำให้เราไม่เศร้าสร้อยหงอยเหงา มันจะเผชิญกับโลก
โลกคืออะไร โลกคือหมู่สัตว์ โลกคือโลกทัศน์ โลกคือความรู้สึกของเรา
โลกนี้มีเพราะมีเรา เพราะมีเราโลกถึงมี
เราตายไป โลกมีไหม โลกก็เป็นอย่างนี้ แล้วเราตายไปไหน
โลกที่เกิด เกิดเป็นภพไง เป็นสถานที่ เป็นชีวิตปัจจุบัน แต่โลกของเราล่ะ โลกของเรา จักรวาลของเรา จิตของเราที่มันหมุนไปน่ะ ถ้ามันเข้ามาเห็นสัจธรรมภายใน โลกทัศน์ ความคิด ความเห็น เรื่องทัศนคติ เรื่องอะไรต่างๆ นี่โลกภายใน โลกภายนอก
โลกคือหมู่สัตว์ โลกคือสัตว์โลกหรือสัตตะผู้ข้อง เราข้องในจิตของเรา เราข้องในความรู้สึกของเรา เราข้องในตัณหาทะยานอยากของเรา มันยังข้องอยู่ มันยังหมุนอยู่ หมุนอยู่มันต้องเกิดบนโลกปัจจุบันนี้ไง
โลกนอก-โลกใน โลกนอกเป็นสถานที่ นรกสวรรค์ก็เหมือนกัน เป็นสถานที่ที่จิตที่ถึงเวลาแล้วมันจะไปเสวยบุญกรรมของเขา ถ้ามีสติสัมปชัญญะมันจะเบรกเราให้เรือมีหางเสือ ให้ดำรงชีวิตนี้ด้วยศีลด้วยธรรม มันจะมีการกระทบบ้าง นี่โลกจะพูดเลย ถ้าเรามาปฏิบัติกันน่ะ พวกนี้มีเวลาเหลือเฟือ...ไม่มีเวลาเหลือเฟือหรอก เราเห็นคุณค่าของเวลา เห็นไหม ตั้งสติแล้วทำของเรา
แต่ถ้าโดยทางโลก คนเราเกิดมาถ้ามีครอบครัวมันก็เป็นเรื่องธรรมดา เรื่องธรรมดาเพราะอะไร เพราะเราเกิดแล้วต้องรับผิดชอบใช่ไหม หน้าที่การงานของเรา เราก็ทำของเราไป เพราะอะไร เพราะฆราวาสธรรมก็มี ธรรมของภิกษุ ธรรมของผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ธรรมก็มีหยาบ มีละเอียดแตกต่างกันไป เราจะทำหน้าที่อย่างใด
เวลาสมบัติเราอยากได้มากๆ แต่เวลาถือศีลถือธรรม ถือศีล ๕ ก็พอ ไม่ต้องถือศีล ๒๒๗ เห็นไหม เวลาสมบัติอยากได้มาก เวลาข้อปฏิบัติ สิ่งที่เป็นคุณธรรม เราจะปฏิเสธน้อยๆ แต่เราจะให้หัวใจมีความสุข เห็นไหม มันมีเหตุมีผลนะ เหตุขนาดไหน ผลก็ให้ตามสมควรนั้น ถ้าเรามีความมุ่งหมาย มีเป้าหมาย มีความจงใจ เราจะทำได้ แล้วมีสติสัมปชัญญะของเรา ทำเพื่อประโยชน์กับเรานะ
นี่วันพระ เตือนสติ แล้วเราต้องประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ วันพระวันเจ้าจะถือเนสัชชิกเลย ไม่นอน พยายามปฏิบัติ ปฏิบัติเพื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธะในหัวใจของเรา ถ้าจิตสงบหรือมันมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา จะเป็นผลประโยชน์กับเราจากการประพฤติปฏิบัติของเรา จะมีสติสัมปชัญญะจากการยับยั้ง เห็นไหม
ตำรับตำรา ชื่อของธรรมะมันอยู่ในหนังสือ สติปัญญา ความเพียร ความวิริยะอุตสาหะมันอยู่กับใจสัมผัส กิริยาของใจไง อาการของใจที่มันเป็น เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา มันเคลื่อนไหวไปทั้งกายกับใจ เวลาเดินจงกรมอยู่ ร่างกายเคลื่อนไหวอยู่ แต่จิตมันสงบอยู่ นี่ธรรมะจริงๆ ธรรมะแท้ๆ เกิดจากความสัมผัสของใจ
ธรรมะตำรา ธรรมะชื่อทฤษฎี ตำรามันอยู่ในหนังสือ เห็นไหม แล้วเราถ่ายทอด เราปฏิบัติขึ้นมาให้เป็นความจริง สติก็สติจริงๆ สติเป็นอย่างนี้ จับต้องได้อย่างนี้ สมาธิมีความรู้สึกอย่างนี้ บุญกุศล ความสุขความทุกข์เป็นอย่างนี้ ควบคุมอย่างนี้ แล้วเป็นประโยชน์กับเรา การเกิดจากเรา เราปฏิบัติของเรา เพื่อผลของเรา เอวัง