เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๘ ก.พ. ๒๕๕๒

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เรามาทำบุญนะ เรามาทำบุญกุศล เราเป็นชาวพุทธ ชาวพุทธนึกถึงตัวเอง พุทธะ พุทธศาสนา ก็พุทธศาสนาออกไปจากเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้ที่โคนต้นโพธิ์นะ ในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ววางธรรมวินัยไว้ ต้นโพธิ์ไม่มีความสุข-ความทุกข์ ต้นโพธิ์เป็นสัญลักษณ์ ร่างกายเราก็เป็นสัญลักษณ์นะ แต่หัวใจเราสุข-ทุกข์

ความสุข-ความทุกข์มันอยู่ในหัวใจ นี่ศาสนาแห่งหัวใจ หัวใจอยากทำบุญกุศล หัวใจอยากจะพ้นจากทุกข์ หัวใจอยากจะมีความสุขใช่ไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางทาน ศีล ภาวนา

การเสียสละ คนเราด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันต้องการยึดมั่นถือมั่นของมัน มันต้องการอำนาจ ต้องการมีชื่อเสียง ต้องการทุกๆ อย่าง แต่เวลาประพฤติปฏิบัติต้องเสียสละ เห็นไหม คนจะมีอำนาจวาสนา คนจะมีบารมี คนที่สร้างบุญกุศล คนที่ได้เสียสละมา คนนั้นจะมีบารมี เราเกิดมาแล้วอยากมีบารมีมาก มาตัวคนเดียว อยากให้คนนับหน้าถือตา...มันเป็นไปไม่ได้หรอก สิ่งที่จะเป็นบารมีมันต้องสร้างสมบุญญาธิการมา

เกิดมา เกิดปฏิสนธิจิตในไข่ของมารดา เกิดเป็นคนขึ้นมา อำนาจวาสนาของเขา มันเป็นโลกอดีต-โลกปัจจุบัน-โลกอนาคต มันต้องมีโลกอดีตของมันมา มันถึงจะเป็นคุณสมบัติ เป็นปฏิภาณไหวพริบ เป็นสิ่งที่สร้างมา สร้างในอดีตชาติก็ได้

ทีนี้อดีตชาติสร้างมาพอประมาณถึงเกิดมาเป็นมนุษย์ใช่ไหม เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงว่าทาน ศีล ภาวนา...ทาน การเสียสละ เสียสละเพื่อใคร ก็เพื่อตัวเราเอง ดูสิ การเสียสละ ครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียงเขาเสียสละมาก มันเป็นภาระ มันรุงรังไปหมดน่ะ

วัดไม่เหมือนบ้าน บ้านไม่เหมือนวัด บ้านก็คือบ้านของเรา อยู่ที่ดุลยพินิจของเรา

“วัตร” ข้อวัตรปฏิบัติ มันวัดถึงกิริยามารยาท วัดถึงความรู้สึก วัดถึงหัวใจของคน หัวใจของคนนะ เราไปวัด ว.แหวน-ไม้หันอากาศ-ด.เด็ก ... “วัด” วัดนั้นคือชื่อวัด แต่วัตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือวัตตะ นี่วัตร มัน ต.เต่า เห็นไหม วัตรคือวัตรปฏิบัติ คือวัดหัวใจ คนที่มีคุณงามความดี คนที่มีอำนาจวาสนามันอยู่ที่นี่ วัดที่นี่ คุณงามความดีมันวัดกันที่หัวใจ การแสดงออก

ใจคึกคะนอง การแสดงออกคึกคะนองไปหมดน่ะ แต่ถ้าใจมันมีคุณธรรมนะ มันเย็นมาจากข้างใน เห็นไหม สิ่งที่การแสดงออก ถ้าใจเป็นใหญ่ ใจเป็นความนึกคิดทั้งหมด ใจเป็นคนสั่งการทั้งหมด ถ้าใจสั่งการทั้งหมด กิริยามารยาทการกระทำนั้นมันออกมาจากใจ ถ้ามันออกจากใจ

วัด เราไปวัด วัดไม่เหมือนบ้าน บ้านไม่เหมือนวัดตรงนั้น...บ้านก็อยู่อย่างนั้น ไปวัดก็เป็นอย่างนั้น แล้วไปวัดทำไม เราไปวัดไปทำไมกัน ไปวัดไปเพื่อขัดเกลาใช่ไหม เราไม่ใช่ไปวัดเพื่อจะเพิ่ม อำนาจวาสนามันอยู่ที่การกระทำนั้น สิ่งที่อำนาจวาสนามันอยู่ที่นี่ นี่บุญจากข้างนอกนะ เราเสียสละกันมาเพื่อทาน มีศีลคือความปกติของใจ การทำบุญกุศลขนาดไหน เราทำกันแล้ว ทุกคนบอก เราทำบุญแล้วเราอยากมีความสุขๆ ความสุขอย่างนี้มันเป็นอามิส สิ่งที่เป็นอามิส เราชื่นใจ เราพอใจ มันก็มีแค่นั้น มันมีแค่นั้นนะ

แต่ถ้าในศาสนาของเรา ทาน ศีล ภาวนา เห็นไหม เวลาเราทุกข์จนเข็ญใจ เราก็ว่าเราทุกข์จนเข็ญใจ เราไม่มีโอกาสวาสนา แต่เวลาในการปฏิบัติ เวลานั่งสมาธิภาวนา ใครจะมีดีกว่าใคร คนเราเกิดมีร่างกายกับใจเหมือนกัน ทุกคนนั่งสมาธิภาวนาเหมือนกัน ทุกคนเดินจงกรมเหมือนกัน เห็นไหม สิทธิเท่ากัน แล้วเวลาปฏิบัติไป จิตสงบ-จิตไม่สงบ ถ้าจิตมันสงบขึ้นมา เราไปสัมผัสเองนะ จิตไปสัมผัสความสงบ

เวลาปัญญาเกิดขึ้นมา ปัญญาเกิดจากภาวนามยปัญญาขึ้นมาน่ะ มันจะมีความเห็นต่าง มีความเห็นต่างกับความคิดของเรา ความคิดของเราเป็นปัญญาโลกียะ ปัญญาจากโลก ปัญญาเกิดจากมนุษย์ มนุษย์ทุกคนเกิดมามีความคิด แต่ความคิดของคนมีหยาบ-มีละเอียด มีอำนาจวาสนาหยาบ-ละเอียดต่างๆ กันไป นี่ความคิดนี้มันเป็นพื้นฐาน พื้นฐานทุกคนที่มีเหมือนกัน เป็นสัญชาตญาณสิ่งที่มีอยู่ แต่เวลาจิตสงบเข้าไป ถ้าทำความสงบเข้าไปของจิต แล้วเกิดภาวนามยปัญญา เกิดโลกุตตรปัญญา ปัญญาที่ชำระกิเลส มีความเห็นต่าง

ถ้าปัญญาอย่างที่เราใช้ปัญญากันอย่างนี้ว่าเป็นปัญญา นักวิชาการ หรือนักศึกษา ศึกษาทำวิจัยกัน จนได้รางวัลเหรียญทอง เหรียญมหาศาลเลย แก้กิเลสสักตัวได้ไหม แก้สิ่งใดๆ ไม่ได้เลย สิ่งใดๆ แก้ไม่ได้เลย แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เกิดภาวนามยปัญญาขึ้นมาในหัวใจนะ สิ่งนี้ธรรมะสร้างสรรค์ สร้างสรรค์ขึ้นมาจากอริยสัจ สร้างสรรค์จากความจริง ใครจะให้เหรียญทองใคร ใครจะรับประกันใคร ไม่มีใครรับประกันใคร แต่ความจริงเป็นจริงอันนั้น

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่สามารถทำให้คนบรรลุธรรมได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคนชี้ทางได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ค้ำประกันได้ “ค้ำประกัน” คำว่า “ค้ำประกัน” ไม่ใช่ตัวจริงใช่ไหม ตัวจริงคือใจของคนนั้นเป็นต่างหาก ใจของคนนั้นเข้าไปสัมผัสธรรม ใจของคนนั้นเป็นธรรมขึ้นมา สิ่งนั้นเป็นธรรมขึ้นมา ใครเป็นคนไปยื่นให้ ใครเป็นคนจัดการให้ คนจัดการให้ ครูบาอาจารย์เรา...พ่อแม่เลี้ยงลูกมา ถนอมรักษาลูก ป้องกันเพื่อให้ลูกของตัวไปถึงเป้าหมายให้ได้ ครูบาอาจารย์ที่จะสั่งสอนก็เป็นอย่างนั้น เป็นคนบอกกล่าว เป็นคนชี้ทาง แล้วเป็นคนปกป้อง ปกป้องให้ประพฤติปฏิบัตินะ เพราะหัวใจของเรา

ดูสิ นักกีฬาคนใดบ้างที่มันขยันหมั่นเพียร ที่มันอยากจะซ้อมน่ะ นักกีฬาคนไหนก็อยากจะสุขสบายทั้งนั้นน่ะ นักกีฬาคนไหนบอกว่า “ซ้อมแค่นี้ก็พอแล้ว เทคนิคเรามีในหัวใจเราเต็มไปหมดเลย แข่งเมื่อไรก็ชนะเมื่อนั้นน่ะ” แต่โค้ชไม่ยอมหรอก โค้ชบอก “ทำอย่างนั้นเป็นไปไม่ได้”

ครูบาอาจารย์ก็เหมือนกัน ครูบาอาจารย์เป็นคนชี้นำเรา ท่านผ่านมา ศีล สมาธิ ปัญญา มันเกิดขึ้นมาอย่างไร นี่พื้นฐานของศีลจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร พื้นฐานของศีล ถ้าจิตใจมันสกปรกโสมม มันจะเป็นศีลขึ้นมาได้ไหม มันจะเป็นศีลขึ้นมา พอจิตเป็นปกติ ศีลคือความปกติของใจ ตัวศีลอยู่ที่ไหน ศีล ๕ ข้อนี่นะ ข้อกฎหมายกับเรามันคนละคนนะ เราไม่ทำผิดกฎหมาย กฎหมายจะมีอะไรกับเรา ถ้าเราทำผิดกฎหมาย มันก็ผิดกฎหมายใช่ไหม

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าใจมันปกติขึ้นมา มันจะผิดศีลไปที่ไหน ตัวศีลมันอยู่ที่ไหน ตัวศีลน่ะ นั่นมันข้อบังคับ ตัวศีลมันอยู่ที่ใจ ใจมันปกติเป็นศีล เห็นไหม นี่พื้นฐานของศีล ถ้าพื้นฐานของศีล ศีลที่มีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา มันทำอะไร มันมุมมองดีไปหมดนะ มุมมองดีไปหมดเพราะอะไร เพราะมันเป็นความปกติ มันไม่โดนกิเลสเหยียบย่ำ แต่ในปกติของเรามันกิเลสเหยียบย่ำ

ในการประพฤติปฏิบัติ ปฏิบัติโดยกิเลส ปฏิบัติโดยความเห็นของเรา นี่ไปวัดไปวาทำไม ไปลำบาก ไปให้พระท่านด่า อยู่บ้านก็โดนด่ามากพออยู่แล้ว ไปวัดให้พระด่าซ้ำเข้าไปอีก นี่ดูกิเลสมันพูดสิ พระที่ไหนไปด่า พระที่ไหนไปด่าคน พระบอกถึงความบกพร่องใช่ไหม ความผิดถูกใช่ไหม สิ่งนั้นผิด ไม่ควรทำ สิ่งนั้นถูกควรทำ ควรเร่งรีบ นี่ถ้ามันผิดถูกนะ เราก็ดูความผิดถูก มันผิดถูกหรือเปล่าล่ะ มันผิดมันถูก ท่านพูดถึงข้อผิดพลาด ขาวกับดำ มันไม่ได้ด่าใครเลย มันพูดถึงความผิดความถูก แล้วเราแก้ไขสิ

สิ่งใดมันสะเทือนใจเราไหม เราทำอยู่ของเรา แต่เราไม่รู้ว่าผิดหรอก มันทำซ้ำซาก มันทำจนคุ้นชิน มันทำเป็นพฤติกรรม แต่ถ้าไปวัด วัดมันมีข้อวัตร สมควร-ไม่สมควร สิ่งที่สมควร-ไม่สมควร ดูสิ มารยาทของเรา เราเข้าบ้านใครเรายังถอดรองเท้าเลย เราต้องหุบร่ม เราต้องถอดหมวก เราจะใส่หมวกเข้าไปบ้านเขานี่มันเสียมารยาทไหม แล้วไปวัด ถ้าครูบาอาจารย์ท่านมีหลักมีเกณฑ์ของท่าน

พูดถึงถ้าคฤหัสถ์ในวัดมันก็มีบริษัท ๔ อุบาสก-อุบาสิกา มันก็มีภิกษุ-ภิกษุณีใช่ไหม นี่มันคนละระดับกันนะ ภิกษุ-ภิกษุณีเห็นภัยในวัฏสงสาร เราหลีกเร้นมา เราเสียสละมาแล้วจากบ้านเรือนเรามาอยู่วัด วัดก็ต้องสงบสงัด ต้องเป็นสัปปายะที่สมควรแก่การประพฤติปฏิบัติ ทีนี้พอเข้ามาแล้วมันมารวมกันไง ระหว่างโลกกับธรรม ระหว่างวัดกับบ้าน แล้วเราจะมาใช้พฤติกรรมอย่างนั้นอยู่ในวัด มันก็เป็นบ้านไปหมด แล้วถ้าพระไม่มีหลักมีเกณฑ์ มันก็เกรงใจเขาไปหมด สิ่งเกรงใจ เกรงใจไปแล้ว

“วัดนั้นก็ไม่ดี วัดนี้ก็ไม่ดี อยากไปวัดดีๆ”

วัดดีๆ แล้วเราไปให้เขาเกรงใจเราทำไม ก็สิ่งที่มันดี ดีเพราะอะไร ก็ดีเพราะข้อบังคับ ดีเพราะความประพฤติอันนั้น ไม่ใช่ดีเพราะเราอยากจะสะดวกสบายของเรา ถ้าเราอยากสะดวกสบาย มันดีที่ไหนล่ะ สะดวกสบาย ก็วัดที่อื่นไม่ดี วัดที่ดีเขาก็มีข้อบังคับของเขา แล้วเราเข้าไป ข้อบังคับเขา ทำไมเราไม่เป็นข้อบังคับล่ะ เราไปทำลายข้อบังคับ เห็นไหม ข้อบังคับ บอกข้อบังคับไม่ใช่เรา ศีลไม่ใช่เรา นี่ข้อบังคับเป็นข้อบังคับ ศีลคือเรา

นี่เหมือนกัน ข้อบังคับ สิ่งนั้นเป็นข้อบังคับ ถ้ารู้จักบ้านเป็นบ้าน วัดเป็นวัด แล้วว่าพอวัดแล้ว ดูสิ ทำไมพระเรา ทำไมอดนอนผ่อนอาหาร นี่คนไม่กินข้าว มันเป็นความดีตรงไหน คนไม่กินข้าว นี่พระไม่ฉันข้าวเป็นความดีตรงไหน นี่ถ้าเราบอก คนเราก็ต้องกินข้าว คนเราเกิดมาในวัฏฏะ กวฬิงการาหาร อาหารในคำข้าว วิญญาณาหาร ผัสสาหาร มโนสัญเจตนาหาร อาหารในวัฏฏะ เกิดในวัฏฏะ เกิดวนตายในกามภพ รูปภพ อรูปภพ...อาหารต้องมีดำรงชีวิต แล้วนี่เกิดมาปฏิเสธอาหารได้อย่างไร ไม่ได้ปฏิเสธอาหาร แต่เพราะความโง่เขลา เพราะความง่วงเหงา...

นี่ฉันทุกวัน กินทุกวันน่ะ กินแล้วมันก็เป็นเรื่องธรรมชาติ เรื่องปกติ เรื่องวิทยาศาสตร์ว่ามนุษย์ต้องกินอาหาร แต่อาหารเป็นโทษหรือไม่เป็นโทษล่ะ อาหารที่เป็นคุณนะ กามคุณ ๕ สิ่งที่เป็นคุณ กามคุณ โลกเขาเป็นกามคุณ พระเป็นกามคุณได้ไหม พระออกมาประพฤติพรหมจรรย์ นี่กามคุณเป็นโทษหมด สิ่งที่เป็นโทษเพราะอะไร เพราะกามคุณ คุณของโลก คุณของตระกูลของโลกเขา คุณของการสืบพันธุ์ในวัฏสงสาร แต่เราจะออกจากโลก เราจะออกจากวัฏสงสาร สิ่งนั้นมันเป็นโทษหมด สิ่งที่เป็นโทษ เห็นไหม เป็นโทษถึงถือพรหมจรรย์ ถือศีลด้วยความบริสุทธิ์

ทีนี้ประพฤติปฏิบัติมันด้วยความคิดไง ด้วยสัญชาตญาณ ด้วยความเป็นอยู่ มันก็ต้องกินอาหารฉันอาหารเป็นเรื่องธรรมดา พอฉันอาหารเป็นธรรมดา กิเลสมันก็สอดแทรกเข้ามา สิ่งนั้นเป็นความจำเป็น สิ่งนี้เป็นความจำเป็นไปหมดน่ะ ทีนี้ปัญญาเราไม่ทัน พอเวลาเราฉันเรากินเข้าไปแล้ว เราก็ไปนั่งสัปหงกงกงัน แล้วก็บอกปฏิบัติ นี่ไง “สมาธิก็ไม่เคยเป็น ภาวนาก็ไม่เห็นมี ทำประพฤติปฏิบัติมาแล้ว ๑๐ ปี ๒๐ ปี ก็ไม่ได้มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นมา”

เจริญรุ่งเรืองที่ไหน ก็ปฏิบัติโดยกิเลส ให้กิเลสมันนำหน้า ให้กิเลสมันจูงจมูกไปน่ะ

แต่ถ้าเป็นคุณธรรม เห็นไหม “ธุดงควัตร” ฉันมื้อเดียว มักน้อยสันโดษขึ้นมา ตัดทอนมัน ตัดทอนความเคยชิน ตัดทอนความปรารถนาของกิเลสมันกินก่อน เรากิน เราฉันอาหารกันเพื่อดำรงชีวิต แต่พอกิเลสมันกินขึ้นมาน่ะ “นั่นก็จำเป็น นี่ก็จำเป็น” จำเป็นของใคร จำเป็นของกิเลส ไม่ได้จำเป็นของร่างกาย ร่างกายใช้สารอาหารวันละเท่าไร ต้องการพลังงานเท่าไร พลังงานที่ใช้เหลือเฟือไปสะสมในร่างกายเท่าไร นี่ธาตุขันธ์มันทับจิต พอธาตุขันธ์มันทับจิตขึ้นมาการภาวนามันก็ภาวนาไม่สะดวกแล้ว

แต่ถ้าภาวนาสะดวก กิเลสมันก็ขัดข้อง ทีนี้กิเลสขัดข้อง ปัญญาเราไม่ทันก็อดอาหาร เพื่อดัดกับมัน สู้กับมัน สู้กับแรงปรารถนา สันดานดิบ สันดานดิบมันต้องการของมันน่ะ ดัดสันดานดิบ ดับสันดานดิบด้วยธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “ธุงควัตร” ขัดเกลากิเลส ธุดงค์เป็นเครื่องขัดเกลากิเลส สิ่งที่เป็นเครื่องขัดเกลากิเลสเป็นอาวุธ เป็นสิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับเรา ที่จะเข้าไปเผชิญกับกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจของเรา นี้เป็นธรรมาวุธ เป็นอาวุธขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ฝากไว้ในศาสนา

เราบอก “ไม่จำเป็น เป็นการทำเกินกว่าเหตุ...” นี่เวลากิเลสมันใหญ่ขึ้นมา เห็นไหม แล้วพอปฏิบัติไป “ทำไมพระที่นี่ต้องเร่งรีบ ทำไม...” ไม่เร่งรีบนะ ดินพอกหางหมูน่ะ กินสบาย นอนสบายนะ กิเลสก็ตัวอ้วนๆ เห็นไหม เราถึงต้องมีสติสัมปชัญญะ ไม่ตื่นไปกับโลก โลกเขามีความปรารถนา เขาจะส่งเสริมขนาดไหน อันนั้นเป็นบุญกุศลของเขา เป็นบุญกุศลของเขานะ เป็นเจตนาดีของเขา แต่เจตนาดีของเขามันก็ต้องอยู่ในขอบเขต

ทีนี้เจตนาดีของพระ พระอยากจะพ้นจากทุกข์ พระไม่อยากเกิดตายอีกแล้ว พระไม่อยากจะตกอยู่ในวัฏสงสาร พระก็อยากจะประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม ผลประโยชน์มันขัดกัน ภิกษุผู้เห็นภัยในวัฏสงสารต้องการความสงบสงัด ต้องการเวลา ต้องการการประพฤติปฏิบัติ ต้องการการกระทำของเรา โลกก็อยากได้บุญกุศล นี่ในเมื่อมาเจอกันแล้ว มันต้องควรว่าขอบเขตมันอยู่แค่ใด ควรทำอย่างใด เราถนอมรักษากันไว้

บริษัท ๔ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากไว้นะ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา “มารเอย เมื่อใดภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ยังไม่เข้มแข็ง ไม่สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วง ความเห็นผิด สิ่งที่เขาโจมตีศาสนานี่ เราจะไม่ยอมปรินิพพาน”

จนถึงวันมาฆบูชานะ เวลาภิกษุ-ภิกษุณีเข้มแข็งขึ้นมา “มารเอย บัดนี้ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ของเรา เข้มแข็งสามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วงของลัทธิต่างๆ ได้ อีก ๓ เดือนข้างหน้าเราจะปรินิพพาน”

นี่พระพุทธเจ้าฝากไว้ ฝากไว้สิ่งนี้แล้ว สิ่งใดผิดถูกเราคุยกันด้วยเหตุด้วยผล สิ่งใด เหตุผลว่าขอบเขตของมันแค่ใด ขอบเขตของผู้ที่เข้ามาวัด ควรได้แค่ใด ขอบเขตของพระ พระอุตส่าห์บวชมา เสียสละมาทั้งชีวิต สิ่งที่มีคุณสมบัติ สละสิ่งนั้นมา นี่แก้วแหวนเงินทองทุกอย่างเสียสละมาแล้ว สละมาแล้ว คุณสมบัติ ธรรมในหัวใจยังไม่เกิดขึ้น เรายังถนอมรักษา ยังแสวงหากันอยู่ ขอเวลา ขอการกระทำ สิ่งนี้ เห็นไหม

ถ้าคนมีน้ำใจ มีการคิดกันน่ะ มันจะเห็นใจกัน เราจะมาส่งเสริมกัน ให้สรรพสิ่งเป็นสิ่งที่ดีใช่ไหม เราเป็นคฤหัสถ์ก็เป็นคฤหัสถ์ที่ดี พระที่ปฏิบัติในวัดนั้นก็ต้องเป็นพระที่ดี สิ่งที่ดี เห็นไหม ศาสนามันเจริญ เจริญที่นี่ เจริญในหัวใจของสัตว์โลกนะ นี่ศาสนาเจริญ วัตถุก่อสร้าง ที่ว่าพิมพ์หนังสือจนล้นโลกเลย ให้มันล้นไปจากโลกมันก็กระดาษเท่านั้นน่ะ แต่ถ้าประพฤติปฏิบัติขึ้นมาในหัวใจ คุณธรรมในหัวใจนะ กิริยามารยาทสังคม เกรงอกเกรงใจกัน นี่ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี

ความกตัญญูกตเวที ใครมีคุณกับเรา เราระลึกถึงคุณของเขา เราเข้าใจถึงคุณของเขา นี่มันอยู่ในความคิดน่ะ มันอยู่ในใจเราน่ะ เรารู้เองว่าคนนั้นดี-ไม่ดี นี่เราเกรงใจเขา เรารักษาน้ำใจเขา นี่สิ่งนี้มันเครื่องแสดงออก มันแสดงออกมาจากหัวใจนะ สิ่งที่ปฏิสันถารมันมีทั้งนั้นน่ะ เพราะว่าอะไร “คารวะหก” หลวงปู่ฝั้นท่านพูดเลย ศาสนาเสื่อมเพราะเหตุนี้ ถ้าไม่มีอาจริยวัตร อาคันตุกวัตร เพราะอะไร พระก็เก้อๆ เขินๆ เข้าหากันไม่ได้ ไม่ได้เข้าหากันก็ไม่ได้คุยธรรมะกัน ไม่ได้ตรวจสอบกัน ไม่ได้เช็คความประพฤติต่อกัน เห็นไหม

ถ้ามีปฏิคาหก ผู้มาด้วยคุณธรรม อาจริยวัตร อาคันตุกวัตร อาคันตุกะมา อาจริยวัตรจะต้องรับอย่างไร นี่มันก็เข้ากันด้วยสนิท สมาน เห็นไหม แล้วมันผิดถูก มันคุยกันด้วยเหตุด้วยผล นี่สิ่งนี้ทำให้ศาสนาเจริญ

นี่ก็เหมือนกัน ในวัตรปฏิบัติ วัดไหนสงบสงัด นี่เราก็ควรสงบสงัดบ้าง เราไปวัดแล้ว วัดใจเรา นี่พฤติกรรมที่บ้าน เราจะคลุกคลีกันอย่างไรมันก็เป็นสิทธิของเรานะ มันที่รโหฐานของเรา แต่ไปที่ของวัดแล้ว วัดนี่เป็นที่สาธารณะ ที่สาธารณะสำหรับผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินะ นี่ถ้าไม่ใช่ที่สาธารณะทั่วไป อย่างเราถ้าเข้ามาไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ เข้ามาในวัดโดยที่ว่ามาสร้างปัญหา เราจะให้ออกทันที ให้ออกทันที เราไม่ให้เข้ามาหรอก เพราะวัดทั่วๆ ไป วัดในเมืองไทย ๔-๕ หมื่นวัด ขอเชิญเถอะ วัดไหนที่เขาเปิดกว้าง ขอเชิญ

วัดนี้จะขอให้กับผู้ที่จะวัดใจของเขา เพื่อประโยชน์กับเขา เอวัง