เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๘ มี.ค. ๒๕๕๒

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๒
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมนะ ฟังธรรม เวลาทางนักวิชาการเขาบอกว่าทางศาสนาพุทธเรา เวลาสอนเรื่องนรกสวรรค์ สอนเรื่องจิตมันเวียนตายเวียนเกิด จิตมีอยู่ สอนแบบฮินดู เพราะฮินดูจิตเขาคงที่ จิตเขาไปอยู่ที่อาตมัน จิตเขาคงที่ จิตเขามีอยู่ ถ้าเราสอนว่าจิตเรามีอยู่ จิตเราไม่ตายอย่างนี้ มันก็เหมือนกับฮินดู...ไม่เหมือนหรอก

ศาสนาพุทธแยกชัดเจนเลย ไม่ได้สอนว่าจิตคงที่ แต่บอกว่าจิตมีอยู่ จิตไม่เคยตาย จิตเวียนตายเวียนเกิด จิตนี้เวียนตายเวียนเกิด พอเวียนตายเวียนเกิดมันมีกรรม กรรมพาเวียนตายเวียนเกิดไง ถ้ากรรมพาเวียนตายเวียนเกิด การเวียนตายเวียนเกิดมาเพราะการทำดีทำชั่ว แล้วมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้ธรรม เรื่องอนัตตา เรื่องความแปรสภาพ เรื่องความแปรสภาพของกรรม กรรมชั่วเป็นกรรมดี พอกรรมดีถึงที่สุดแล้วนิพพาน นิพพานคือไม่มีจิต ถ้ามีจิตคือมีภพ มีสถานที่

อาตมัน ไม่มีจิต แต่เป็นนิพพาน นิพพานสิ่งที่ไม่มีสิ่งใดที่จับต้องได้เลย ไม่มีภวาสวะ ไม่มีภพ แต่มีอยู่ เพราะถ้าคนไม่เป็นจะพูดอย่างนี้ไม่ถูก นี่พอเราเริ่มประพฤติปฏิบัติกัน เพราะมีศาสนา พอมีศาสนาขึ้นมาเราเชื่อ ในลัทธิการสอนต่างๆ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนนะ กรรมฐาน ๔๐ ห้อง เวลาพูดถึงปัญญาอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา มันจะมีปัญญานะ ถ้าไม่มีปัญญาศาสนาพุทธเกิดมาไม่ได้ ถ้าศาสนาพุทธนะ อาฬารดาบสสอนพระพุทธเจ้าได้สมาบัติ ๘ เข้าฌานสมาบัติได้ การันตีเลยว่าเจ้าชายสิทธัตถะมีความรู้เสมอเรา มีสมาบัติเหมือนเรา แต่เจ้าชายสิทธัตถะปฏิเสธแล้วมาค้นคว้าเอง การค้นคว้าขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง โลกุตตรปัญญาไม่ใช่ปัญญาที่เราตรึกกันนี่หรอก

ปัญญาที่เราตรึกกันนี่เขาเรียกโลกียปัญญา มันมาจากกิเลส ถ้ามันจะเป็นโลกุตตรปัญญา มันต้องทำสมถะ คือทำความสงบก่อน เราก็ไปเกี่ยงว่าทำความสงบมันทำให้เสียเวลา มันไม่มีผลประโยชน์ ต้องใช้ปัญญาไปเลย นี่เราเข้าใจผิดกัน เราไพล่ไปไง ไพล่ไปเอาปัญญาของกิเลส ปัญญาที่ตรึกในธรรมพระพุทธเจ้านี่ แต่เป็นปัญญาของกิเลส เอามาชำระกิเลสกัน มันเลยชำระกิเลสไม่ได้ พอชำระกิเลสไม่ได้ แล้วจะบอกว่าเป็นอาตมันๆ อาตมัน ฮินดู คือการปฏิบัติแบบธรรมดาไง ธรรมดา เขาบอกธรรมดานะ ธรรมะนี่เป็นธรรมดา ธรรมะนี่เป็นธรรมชาติ

แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนนะ ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีปัญญาวิมุตติกับเจโตวิมุตติ.. ธรรมดาวิมุตติไม่มี ธรรมดาวิมุตติ.. ธรรมะเป็นธรรมดา ไม่ต้องทำอะไรเลย อยู่กับธรรมดา นอนจมกับกิเลสจะเป็นพระอรหันต์ นอนจมก็ว่างๆ ว่างๆ นี่ธรรมดาวิมุตติไง ไม่ต้องทำอะไร ถ้าทำอะไรจิตมันเป็นการเคลื่อนไหว มันผิดหมด ถ้าปัญญา...นี่อาตมัน นี่ฮินดู ไม่ใช่พุทธ

ถ้าเป็นพุทธนะ มันจะเป็นปัญญาวิมุตติ ถ้าปัญญาวิมุตติมันต้องใช้ปัญญาแยกแยะเข้าไปจนปัญญามันจะสงบเข้ามาให้ได้ ถ้าปัญญาสงบ ปัญญาอบรมสมาธิ เป็นปัญญาวิมุตติ ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติ ปัญญาไล่เข้าไปๆ มันจะเกิดความสงบ สงบก็คือสมาธิ สมาธิคือมรรค ๘ แต่ถ้าเป็นเจโตวิมุตติ เจโตวิมุตติด้วยกำลังของจิต ถ้ากำลังของจิตก็ต้องพุทโธๆ จนจิตสงบเข้าไปก่อน พอจิตสงบ นี่สมาธิอบรมปัญญา พอจิตสงบแล้วออกรู้ออกใคร่ครวญ ถ้าไม่มีการออกรู้ออกใคร่ครวญ ปัญญามันไม่เกิด โลกุตตรปัญญาไม่มี

ธรรมดา.. ธรรมดาไม่ต้องทำอะไรเลย ถ้าทำแล้วเป็นการตรึงจิต เป็นการฝืนจิตไม่ให้จิตเป็นธรรมดา...ถ้าเป็นธรรมดามันก็ฮินดูไง ธรรมดาวิมุตติ มันเป็นศาสดาใหม่ ต้องห้ามทำอะไร ห้ามเคลื่อนไหว ถ้าเคลื่อนไหวมีความผิดพลาดหมด สิ่งที่เคลื่อนไหว แล้วบอกว่าเวลาศาสนาพุทธเรา ทางวิชาการ เพราะทางวิชาการเขาไม่มีการปฏิบัติ พอไม่มีการปฏิบัติ ความประจักษ์ในหัวใจไม่มี แต่มันมีการศึกษาตามตำราใช่ไหม ทีนี้ตามตำรา ด้วยจุดยืนเราไม่มั่นคง พอจุดยืนไม่มั่นคง เราศึกษาทางฮินดูว่าจิตเป็นอาตมัน จิตเป็นคงที่

แล้วเวลาครูบาอาจารย์เราบอกว่าจิตมีอยู่ คนเรานี่เกิดตายๆ ถ้าจิตไม่มีอยู่นะ ความสะสมของพระโพธิสัตว์ ความสะสมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งแต่พระเวสสันดรไป สาวอดีตชาติไป การสาวอดีตชาติไป ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย สิ่งที่เวลาพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ฟังเทศน์ของพระอัสสชิ เสร็จแล้วจะมาบวช พระอัสสชิให้มาบวชกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ เดินมายังไม่ทันบวชเลย “นั่นอัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวาของเรามาแล้ว” ยังไม่เป็นพระอรหันต์นะ แล้วพอสอนจนเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาได้ พอเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาแล้ว ตั้งให้เป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวา เป็นแม่ทัพ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นราชาแห่งสงฆ์ แม่ทัพใหญ่ แม่ทัพฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา.. พระภิกษุติเตียนกันมากว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ลำเอียง ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ลำเอียงต้องตั้งปัญจวัคคีย์ เพราะปัญจวัคคีย์ พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นสงฆ์องค์แรกของโลก ต้องตั้งคนที่อยู่เก่าแก่ก่อน ทำไมมาตั้งผู้ที่มาใหม่

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “ไม่ใช่ ตั้งตามสมบัติของเขา เขาปรารถนาของเขามา” เห็นไหม เขาปรารถนาของเขามา เขาสร้างสมบัติของเขามา เขาทำของเขามา เพราะเขาต้องปรารถนาเป็นอัครสาวก การเป็นอัครสาวกต้องสร้างบุญญาธิการมา ตั้งแต่การสร้างมา นี่ไง แล้วบอกว่าสิ่งที่สร้างสมมา สิ่งนี้มีมา จิตมีอยู่ แล้วการสร้างสมมา

ทีนี้ ถ้าเป็นฮินดู มันไม่ต้องทำอะไร ปล่อยตัวเองลอยไปกับกระแส เป็นไปตามกระแส ตามกระแสแล้วมันไม่มีปัญญา แต่เราเกิดท่ามกลางพระพุทธศาสนา เราก็อ้างอิงว่าพระพุทธศาสนาเป็นอริยสัจ เป็นปัญญา เป็นปัญญาวิมุตติ เป็นสิ่งที่จิตมันปล่อยวางเป็นขณะจิต...

จินตมยปัญญา การใคร่ครวญจินตมยปัญญาแล้วมันใคร่ครวญเอา นี่ฮินดู สิ่งที่ฮินดูเพราะมันไม่มีการกระทำ เพราะมันไม่มีอริยสัจ สิ่งที่เป็นอริยสัจ สัจจะความจริงไม่ได้เกิดขึ้นมาในหัวใจนั้น มันเป็นการจินตนาการขึ้นมาในหัวใจนั้น ถ้าเป็นจินตนาการขึ้นมาในหัวใจนั้น ถ้าเป้าหมาย คนเข้าไม่ถึงเป้าหมายนั้น จะพูดถึงเหตุปัจจัยให้คนถึงเป้าหมายนั้นไม่ได้ชัดเจน คนที่เข้าถึงเป้าหมายนั้น จะบอกถึงวิธีการเข้าถึงเป้าหมายนั้นได้ชัดเจน

ทีนี้คนที่เข้าไม่ถึงเป้าหมายนั้น การกระทำ คำพูด คำว่าขณะจิต “ขณะ” คือคำพูด เด็กก็พูดได้ นกแก้วก็พูดได้ ใครมันก็พูดได้ แค่คำพูด แล้วคำพูดที่เป็นคนที่น่าเชื่อถือ เราก็เชื่อกันไปๆ แต่ถ้ามันไม่เป็นความจริง สิ่งที่ไม่เป็นความจริง หนามยอกอกอยู่นะ มันขยับตัว มันจะมีเสียว มันจะมีความเจ็บแปลบอยู่ในหัวใจนั้น ถ้ายังมีกิเลสอยู่ในหัวใจ ในหัวใจนั้นต้องมีอาการสะดุดแน่นอน ถ้ามันซื่อสัตย์นะ เป็นซื่อสัตย์กับหัวใจของตัวเอง ถ้ามันขณะจิต เพราะขณะจิต ถ้าว่าขณะจิตที่เป็นจินตมยปัญญา การใคร่ครวญของจิตที่มันปล่อยวางมันเป็นตทังคปหาน มันปล่อยวางชั่วคราว เหมือนเราเป็นไข้ เราเป็นโรคร้าย เราเป็นไข้ แล้วเราฟื้นฟูร่างกายมา แต่โรคไข้นั้นเราไม่รักษา ไข้นั้นจะหายได้ไหม โรคภัยไข้เจ็บในร่างกายจะหายได้ไหม ถ้าเราไม่ได้รักษา แต่เราฟื้นฟูร่างกาย ร่างกายแข็งแรง มันก็เดินไปได้

นี่ก็เหมือนกัน ธรรมะเป็นธรรมดา ธรรมดาคือธรรมะ ธรรมะเป็นธรรมชาติ...ว่ากันไปนะ นี่ธรรมะเป็นธรรมชาติต่อเมื่อเป็นพระอรหันต์แล้ว นี่ไง สอุปาทิเสสนิพพาน ขันธ์ ๕ เป็นภาระ ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ เป็นภาระ มันเป็นธรรมชาติของมันเองอย่างนั้นเอง แต่ตัวจิตมันเหนือธรรมชาติ ที่มันชำระกิเลส ที่มันหลุดพ้นออกไปจากวัฏฏะ สิ่งที่มีอยู่แล้วมันทำลายตัวมันเอง นี่ถึงไม่ใช่ฮินดู ไม่ใช่พราหมณ์ ในพราหมณ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะว่าคนนี้เป็นพราหมณ์ พราหมณ์เพราะอะไร พราหมณ์เพราะเขาได้ถอนกิเลสของเขาแล้ว เราถึงว่าเป็นพราหมณ์ แต่ถ้าเป็นการพร่ำบ่นนี่เราไม่ถือว่าเป็นพราหมณ์.. อยู่ในสุตตันตปิฎกมหาศาลเลย แล้วเราก็ไปตรรกะกันเอง เราก็จะศึกษากันเองด้วยความเห็นของเราเอง เพราะเราเข้าไม่ถึงหลักธรรมนั้น มันเป็นไปไม่ได้

ในหลักศาสนาเรา เจโตวิมุตติ ครูบาอาจารย์เราอย่างหลวงปู่ชอบ หลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่คำดี พิจารณากายเหมือนกัน เจโตวิมุตติเหมือนกัน คำว่าเจโตวิมุตติคือพิจารณากาย สมาธิอบรมปัญญา ในเมื่อเจโตวิมุตติถึงการกระทำแล้ว ขณะวิธีการยังหลากหลาย ยังแตกต่าง วิธีการแตกต่างนะ แต่ผลนั้นอันเดียวกัน ผลน่ะ พอพูดถึงผลคนที่จะถึงเป้าหมายเหมือนกันจะรู้จักผลนั้น แต่วิธีการที่หลากหลาย แต่ถึงผลอันนั้น นี่คือเจโตวิมุตติ

ปัญญาวิมุตติ ส่วนที่ปัญญาวิมุตติ มันมีปัญญา ปัญญาจะใคร่ครวญ ผู้ที่มีปัญญามาก คนที่มีปัญญามากอย่างพระสารีบุตรเป็นเสนาบดีแห่งธรรม เป็นผู้ที่มีปัญญามาก ใคร่ครวญสัจธรรม เวลาพระสมัยพุทธกาลไปฟังเทศน์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการกระชับ พอกระชับก็ไม่เข้าใจ ไปถามพระสารีบุตร พระสารีบุตรแจกแจงได้หมดเลย แจกแจงแล้ว เพราะเราเป็นปุถุชน คนปุถุชนมันก็มีความลังเลสงสัยเป็นธรรมดา พอฟังพระสารีบุตรแล้วก็ยังสงสัยอยู่ กลับไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “ถ้ามาถามเรา เราก็จะตอบอย่างนี้” นี่ปัญญาเลิศ ถ้าปัญญาเลิศ ปัญญามันใคร่ครวญ มันจะกว้างขวางมาก การกว้างขวาง การตรึกในธรรม เวลาแสดงธรรมออกมามันจะชัดเจนมากเลย ทีนี้เพียงแต่เราไม่เข้าใจ การกิน การรับประทาน การเสวย คำพูดหลากหลาย สมมุติก็เหมือนกัน สมมุติที่ออกมามันหลากหลายมาก สิ่งที่หลากหลาย ชี้เป้าไปที่ไหน

มีฝ่ายปริยัติ ผู้ที่จะปฏิบัติไปถามหลวงปู่ฝั้นไง “ข้าพเจ้าจบ ๙ ประโยค รู้ทุกอย่างหมดเลย รู้ธรรมะพระพุทธเจ้าสอนหลากหลายมาก สอนพระสารีบุตรก็อย่างหนึ่ง พระโมคคัลลานะอย่างหนึ่ง สอนพระในสมัยพุทธกาลแต่ละอย่างไม่เหมือนกัน ผมก็ศึกษามามากเลย แล้วพอศึกษามาแล้วผมก็ไม่เข้าใจ ผมก็งง แล้วจะให้ผมปฏิบัติ ผมจะทำอย่างไรล่ะ”

หลวงปู่ฝั้นท่านตอบคำเดียวเลย “ทุกข์อยู่ที่ไหน ทุกข์ ความรู้สึกอยู่ที่ไหน กำหนดที่นั่น กำหนดที่ทุกข์นี้เป็นตัวจริง” แต่กำหนดทางวิชาการ เราศึกษามา มันวิชาการใช่ไหม เราใคร่ครวญใช่ไหม เราใคร่ครวญทางวิชาการทั้งหมดเลย นั่นเป็นวิชาการทั้งหมดเลย นี่เหมือนกัน เวลาปัญญาเราเกิดๆ ปัญญาของใคร

ถ้าปัญญาของเรานะมันจะตัดทอนเข้ามา ถ้าปัญญาของเรานะ ความคิดมาจากไหน ความคิดมาจากภวาสวะ มาจากภพ มาจากที่ตั้งของความคิด มันคือขับเคลื่อนออกมาจากฐีติจิต แล้วเราใช้ปัญญาตามความคิดนั้นไป พอตามความคิดนั้นไป สิ่งที่มันดับ มันดับมันกระเทือนหัวใจไหม ถ้ามันกระเทือนหัวใจ นี่ไง ถ้าปัญญาอบรมสมาธิ มันหยุด มันดับ เพราะปัญญาใคร่ครวญมัน พอปัญญาใคร่ครวญมัน มันจะถึงตัวจิต มันมีการเปลี่ยนแปลง มีการปรับปรุง

แต่ถ้าเฉยๆ น่ะ ธรรมดา ดูสิ เราขับรถออกมา น้ำมันในถังน้ำมันมันจะหมดไปเป็นธรรมดา น้ำมันในถัง เราขับรถไป น้ำมันมันจะต้องใช้ไปธรรมดาใช่ไหม ความคิดที่มันคิดออกไปมันเหมือนน้ำมันที่ใช้ไปๆ เราได้อะไรมา เราต้องไปเติมน้ำมันอีก แต่ถ้าเป็นความคิดย้อนกลับ ปัญญาอบรมสมาธิกับปัญญาที่ปกติธรรมดาปล่อยให้มันระเหยไป ให้มันระเหิดไปไง.. ธรรมะเป็นธรรมดา...มันจะไม่มีอะไรตกค้างในใจเลย มันไม่สะเทือนหัวใจด้วย นี่ธรรมดาวิมุตติ เพิ่งได้ยินนี่ มันเป็นธรรมดาวิมุตติ มันไม่มี พระพุทธเจ้าไม่ได้สอน พระพุทธเจ้าสอนปัญญาวิมุตติ เจโตวิมุตติ ธรรมดาวิมุตติไม่มี! ธรรมดาวิมุตติไม่มี! ถ้ามีมันก็แหกคอก สิ่งที่แหกคอกมาแล้วทำกันไปๆ นี่พูดถึง

เวลาทางวิชาการเขาบอกว่าถ้าสอนกรรมฐาน ถ้าจิตมีอยู่ เรารักษาไป เราทำตามจิตไป มันจะเป็นฮินดูไป ต้องเป็นอนัตตา คือจับต้องอะไรไม่ได้ อนัตตา คือความแปรสภาพ ของที่แปรสภาพตลอดเวลาเราจับให้มันหยุดนิ่งไม่ได้ เราทำสมาธิ นี่ความคิดหยุดนิ่งไม่ได้ สิ่งหยุดนิ่งไม่ได้...หยุดนิ่งไม่ได้ทำสมาธิได้อย่างไร

หยุดนิ่งได้ แต่การหยุดนิ่ง โดยธรรมชาติของมัน มันหยุดของมันบ้าง เคลื่อนไหวของมันบ้างโดยธรรมดานะ ความคิดนี่มันเกิดดับ ถ้ามันเคลื่อนไหวตลอดเวลาพวกเราจะเหนื่อยมาก จะเครียดมาก แต่เวลามันหยุดของมัน เราก็ไม่รู้จัก เราไม่เคยเห็น พอเรามีสติสัมปชัญญะตามความคิดเข้าไป ใช้ปัญญาอบรมความคิดเข้าไป มันหยุดก็เห็นว่าหยุด มันเคลื่อนไหวก็เห็นว่าเคลื่อนไหว มันเคลื่อนไหวเพราะเหตุใด เคลื่อนไหวเพราะแรงกระตุ้นด้วยตัณหาความทะยานอยากอย่างใด มันหยุดเพราะพลังงานมันใช้หมดไปแล้ว คือมันใช้จนเต็มที่แล้วมันเพลียมันหยุดโดยธรรมชาติของมัน เราไม่ได้ประโยชน์จากมัน

แต่ถ้าเราตามเข้าไปดู ของที่เราตามดู เรารักษาอยู่ เราเห็น เห็นการเคลื่อนไหว เห็นการหยุด เห็นการเคลื่อนไหว การหยุดด้วยสติ ด้วยการกระทำของเรา นี่ไง สมาธิมันเกิดไง นี่สมาธิมันเกิด มันไม่ใช่ธรรมดาวิมุตติ ไม่ใช่ปล่อยให้มันหายไปเฉยๆ แล้วบอกว่านี่ว่าง มีสติพร้อม...ไม่ฝึกไม่มี สติต้องตั้ง แล้วสติเวลาฝึกขึ้นมาจนชัดเจนขึ้นมามันจะเป็นสติ แล้วพอวิปัสสนาขึ้นไปเป็นชั้นเป็นตอน จิตละเอียดเข้าไป มันจะเป็นมหาสติ ทำไมสติมันเปลี่ยนเป็นมหาสติ จากมหาสติเป็นสติอัตโนมัติ เป็นปัญญาญาณ นี่วิวัฒนาการของจิตมันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย นี่ไง ปัญญาวิมุตติ เจโตวิมุตติ มันมีพัฒนาการของจิต มันเป็นของมันไป

ไอ้นี่ธรรมดา เด็กมันก็ธรรมดานะ นกแก้วนกขุนทองมันก็ธรรมดา คนแก่คนเฒ่าก็ธรรมดา ก็กลายเป็นธรรมดากันไปหมดเลย ธรรมดาวิมุตติไม่เคยได้ยิน ไม่เคยเห็น ไม่เคยมีความเป็นไป แต่มันสอนกันด้วยความรู้ความเห็น นี่แหละฮินดู นี่อาตมัน เหมือนจิต เพราะอาตมันอ้อนวอนขอ แล้วไปอยู่กับพระเจ้า เป็นส่วนหนึ่งของอาตมัน นี่ก็เหมือนกัน จิตมันมีอยู่ กิเลสมันมีอยู่ แล้วก็เพ่งดูกันเฉยๆ แล้วก็กลับไปอยู่กับความว่าง ก็กลับไปสู่จิตเดิมแท้ กลับไปสู่จิตเดิมแท้ด้วยการควบคุมรักษาเฉยๆ ไม่มีปฏิกิริยาสิ่งใดๆ การกระทำขึ้นมาเลย มันเป็นพระพุทธศาสนาตรงไหน มันเป็นมรรคญาณตรงไหน มันไม่มี แต่คำว่ามี คำพูดคือสัญญาอารมณ์ คือสิ่งที่เอาธรรมพระพุทธเจ้ามาตรึก นั้นมันเป็นความเห็นของเขา แต่ความจริงล่ะ ความเห็นกับความจริง สันทิฏฐิโก ปัจจัตตัง สิ่งที่รู้จำเพาะตนอยู่ที่ไหน ถ้ามีความจริงขึ้นมา สิ่งที่ความจริง

ดูภิกษุเราสิ พระที่มีศีลมีธรรมนี่นะ อาจหาญ กล้าหาญมาก เด็ดเดี่ยวมาก เพราะมันไม่มีสิ่งใด ความสงสัยในหัวใจเลย มีศีล ศีลทำให้เราไม่เก้อไม่เขิน จะเข้าสังคมไหนก็ได้ คนมีศีลมีธรรมในหัวใจนะ สังคมไหนก็เข้าได้ทั้งนั้นน่ะ เพียงแต่จะเข้าหรือไม่เข้าเท่านั้นเอง เพราะคนที่มีศีลมีธรรมในหัวใจน่ะ เขารู้ไง น้ำบนใบบัว ไปยุ่งกับเขาทำไม เราจะไปอยู่กับสิ่งโสโครก อยู่กับโลกธรรมไร้สาระมาก อยู่กับตัวเองมีความสุขมาก แต่ในเมื่อเป็นสัตว์สังคม ฉะนั้นเราก็ต้องออกสังคม นี่เหมือนกัน ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมา สิ่งที่มีอยู่มันอาจหาญรื่นเริง ไม่ใช่หลบหลีกแล้วซ่อนเร้นของตัวเองไว้อย่างนั้น การซ่อนเร้นคือความไม่จริง

เวลาบอกว่าถ้ากรรมฐานเราสอนก็บอกว่าเป็นฮินดู แต่เวลาเขาใช้ตรรกะกันนั้น นั่นล่ะฮินดูชัดๆ นั่นล่ะตัวฮินดูเลยล่ะ ศาสนาพุทธไม่ใช่ศาสนาฮินดู ไม่ใช่พราหมณ์ ศาสนาพุทธคือพุทธศาสนา เป็นปัญญาวิมุตติ เจโตวิมุตติ ด้วยสัจจะความจริง ด้วยมรรคญาณ ด้วยการทำ ด้วยการก้าวเดินตามครูบาอาจารย์ของเรา เอวัง