เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๙ มี.ค. ๒๕๕๒

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๒
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมนะ เราว่าฟังธรรม โดยสามัญสำนึก เราว่าได้ยินได้ฟังนี่เป็นการฟังธรรม แต่หลวงตาท่านบอกว่าถ้าธรรมะ การพูดออกมาด้วยเสียง ไม่มีเนื้อธรรม มันฟังแล้วมันไม่กินใจ ถ้ามันมีเนื้อธรรม เนื้อธรรมเหมือนใจมันสัมผัสธรรม ในการประพฤติปฏิบัติของเราก็เหมือนกัน น้ำกับน้ำมันมันอยู่ด้วยกันมันใช้ประโยชน์ไม่ได้นะ น้ำกับน้ำมันใช้ประโยชน์ไม่ได้เลย แต่ถ้าน้ำกับน้ำมันมันแยกส่วนกันอยู่ น้ำคือน้ำ เราใช้ดื่มกินได้ น้ำมันเราใช้พลังงานได้นะ

ในประเทศของเรา เราต้องการน้ำเพื่อทำเกษตรกรรม เพื่อได้พืชพันธุ์ธัญญาหารมา เพื่อไปซื้อน้ำมัน ในประเทศที่เขามีน้ำมันนะ เขาขุดน้ำมันของเขาขึ้นมา เอาน้ำมันมาแลกเป็นสินค้า มาแลกเปลี่ยนเอาน้ำ เพื่อหาน้ำมาใช้ประโยชน์ของเขา

แต่ในปัจจุบันนี้กิเลสกับธรรมมันอยู่ในหัวใจ น้ำกับน้ำมันมันผสมปนเปกันอยู่ในหัวใจของเรา ทีนี้เราประพฤติปฏิบัติเราก็ไม่เข้าใจ เวลาเราตรึกในธรรมะกันน่ะ ตรึกในธรรมะ ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติ เจโตวิมุตติ สิ่งนี้มันเป็นวิธีการ วิธีการเข้าไปสู่เป้าหมาย แต่ในปัจจุบันนี้เราประพฤติปฏิบัติกัน พอเราประพฤติปฏิบัติกันน่ะ เราประพฤติปฏิบัติด้วยปัญญาใช่ไหม ว่าเราอยู่ในโลกที่เจริญ เทคโนโลยีเจริญ เรามีปัญญามาก เราก็ไปตรึกในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เราต้องการใช้น้ำหรือเราต้องการใช้น้ำมัน ในปัจจุบันนี้เราต้องการน้ำหรือเราต้องการน้ำมัน แล้วเราก็ไปถึงเป้าหมาย แล้ววิธีการจะเข้าไปหาน้ำ จะเข้าไปหาน้ำมัน เป้าหมาย ธรรมะๆ เราตรึกในธรรม ธรรมะเป็นธรรมชาติ นี่เราไปตรึกในธรรม เราไปเอาเป้าหมาย กิริยาในการกระทำ ในเมื่อหัวใจของเรา น้ำกับน้ำมันมันผสมปนเปกัน มันใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ แล้วมันแยกออกไม่ได้ แยกไม่เป็นว่าอะไรเป็นน้ำ อะไรเป็นน้ำมัน อะไรเป็นวิธีการ อะไรเป็นเป้าหมาย

เวลาศึกษา ในการประพฤติปฏิบัตินะ ด้วยกิเลสของเรา เราอยากได้อยากดี พออยากได้ เราอยากเข้าสู่เป้าหมาย พอเข้าสู่เป้าหมาย คือทางลัดทางสั้น เราก็เอาสู่เป้าหมายนั้นถึงเป้าหมายนั้นเลย ความถึงเป้าหมายนั้นน่ะ น้ำกับน้ำมันอยู่ด้วยกันมันใช้ประโยชน์ไม่ได้หรอก

ถึงเวลาแล้วเราเข้าใจว่า เราคิดเพราะอะไร เพราะเราเข้าใจเป้าหมาย เพราะเราศึกษาธรรมะใช่ไหม แต่เวลาเราต้องการธรรมะๆ เราว่าธรรมะเป็นธรรมดา ธรรมะเป็นธรรมชาติ พอธรรมะเป็นธรรมดา ธรรมะเป็นธรรมชาติ วิธีการมันไม่มี ทั้งน้ำก็ไม่มี ทั้งน้ำมันก็ไม่มี มันคลุกเคล้ากันน่ะ น้ำมันมันก็อยู่ในดิน มันใช้ประโยชน์ขึ้นมาไม่ได้หรอก น้ำมันขุดขึ้นมาแล้วเอามากลั่นแล้วมันเป็นน้ำมันถึงจะใช้ประโยชน์ขึ้นมาได้ น้ำก็เหมือนกัน ถ้าน้ำมันน้ำเสีย น้ำมันไม่เป็นประโยชน์ขึ้นมามันก็ใช้สิ่งใดๆ ไม่ได้เลย

แล้วพอปฏิบัติก็กลัวผิดกลัวพลาด ก็ต้องบอกว่าต้องยึดพุทธพจน์ ยึดวิธีการทั้งหมด สิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยไว้มันเป็นวิธีการนะ สิ่งที่เป็นวิธีการ เราขุดบ่อหาน้ำ เราขุดลงไป ถ้าเป็นแหล่งน้ำแม่น้ำมันก็มีน้ำโดยธรรมชาติของมัน แต่ในหัวใจของเรามันมีแหล่งน้ำ มันมีหัวใจของเรา เราต้องขุดในที่ของเรา ที่ดอนหรือที่ลุ่ม ถ้าเราขุดน้ำลึกน้ำตื้น มันอยู่ที่การขุดของเรา การขุดนะ วิธีการน่ะ แล้วดินเป็นน้ำไหม เรากินดินได้ไหม เรากินดินไม่ได้หรอก แต่เรากินน้ำได้ นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรายังขุดไม่ถึงแหล่งน้ำของเรา วิธีการการขุดหาแหล่งน้ำนั้นไม่ใช่น้ำ วิธีการปฏิบัติ วิปัสสนาสายตรงๆ ต้องใช้ปัญญาไปเลยๆ ตอนนี้มันผิดกันไปหมดเลย มันผิดไปการกระทำนี่เพราะอะไร เพราะเวลาประพฤติปฏิบัติไม่มีครูไม่มีอาจารย์

ถ้ามีครูมีอาจารย์มาก่อนนะ ดูสิ ครูบาอาจารย์ หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ เพราะหลวงปู่มั่นท่านพูดบ่อยนะ เวลาพระเราในครอบครัวของพระกรรมฐาน ถึงเวลาทำข้อวัตร เราจะไปจับเส้นนวดเส้นกลางคืน ท่านจะเล่าวงในให้ฟัง หลวงปู่มั่นท่านก็จะอธิบาย เล่าถึงประสบการณ์ การเล่าประสบการณ์เหมือนพ่อแม่ พ่อแม่เล่าถึงประสบการณ์การดำรงชีวิตนะ เราทำมาหากินมา กว่าพ่อแม่จะตั้งเนื้อตั้งตัวได้ จะสอนลูก เอาความคิดที่เคยกระทำเล่าให้ลูกฟัง ลูกนะ ลูกเรา ลูกศิษย์ลูกหาไปจับเส้นไปนวดเส้นท่าน ไปคลายเมื่อยให้ท่านท่านก็จะเล่า การเล่าอย่างนี้ออกมา ท่านพูดถึงประสบการณ์ของท่าน

ประสบการณ์ของหลวงปู่มั่น ท่านบอกว่าท่านสร้างบารมีมา ย้อนๆ ไป ท่านสร้างบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ หลวงปู่เสาร์สร้างบารมีมาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า การสร้างบารมีมามันจะมีเชาวน์ปัญญา มันจะมีค้นคว้า มันจะมีเชาวน์ปัญญา มันจะค้นคว้าหาวิธีการเข้าสู่เป้าหมายให้ได้ นี่เวลาประพฤติปฏิบัติ หลวงปู่มั่นประพฤติปฏิบัติ พิจารณากายโดยวิธีการ โดยน้ำกับน้ำมันที่มันอยู่ด้วยกัน ปฏิบัติพิจารณากายขนาดไหนนะ ออกมาแล้วนะมันก็เป็นปกติ มันไม่มีชำระกิเลสเลย เห็นไหม เวลาปฏิบัติขนาดไหน เวลาพิจารณากายเข้าไปก็สู่ทางตัน มันไปไม่ได้ มันไปไม่ได้หรอก จนถึงที่สุด ย้อนกลับมาดู มาละอธิษฐาน ละสิ่งที่ได้สร้างเป็นพระโพธิสัตว์มา แล้วกลับมาพิจารณา

เอาตรงนี้ขึ้นมาพูดให้เห็นว่า คนที่มีครูมีอาจารย์ เราจะมีครูบาอาจารย์คอยชี้นำ มีพ่อมีแม่คอยกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดู คอยชักนำ แต่หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ มีครูบาอาจารย์อยู่ บวชกับอุปัชฌาย์อยู่เหมือนกัน แต่คนตาบอดด้วยกัน รู้แต่ปริยัติ รู้แต่วิชาการ รู้แต่ว่าน้ำกับน้ำมันมันปนกันอยู่ พระพุทธเจ้าก็บอก น้ำใช้ประโยชน์อย่างหนึ่ง น้ำมันใช้ประโยชน์อย่างหนึ่ง.. ก็รู้ๆ แต่ใช้ไม่เป็น ใช้ไม่ได้ ตำราบอกขนาดไหน ก็รู้ๆ แต่ก็ใช้ไม่เป็น ใช้ไม่ได้เหมือนกัน

หลวงปู่มั่นท่านพยายามค้นคว้า แยกให้ได้ อะไรเป็นสมถะ อะไรเป็นวิปัสสนา เริ่มต้นพื้นฐานอย่างไร พอพื้นฐานเป็นอย่างไร ต้องทำความสงบของใจเข้ามา หลวงปู่มั่นเทศน์ไว้ ครูบาอาจารย์พูดไว้มหาศาลเลย หลวงปู่มั่นขึ้นเทศน์ทีไรก็บอกต้องทำความสงบเข้ามาก่อน ทำใจให้สงบให้ได้ก่อน ต้องทำความสงบของใจให้ได้ก่อน แยกน้ำกับน้ำมันออกจากกันให้ได้ก่อน น้ำคือน้ำ น้ำมันคือน้ำมัน

เวลาจิตสงบเข้ามา น้ำมันใช้เป็นพลังงาน ใช้สิ่งต่างๆ ได้ประโยชน์อันหนึ่ง น้ำใช้ดำรงชีวิตได้อย่างหนึ่ง เราเดินทางไปทางรถ เราเดินทาง น้ำมันเราเต็มรถเลย มีไปได้ตลอดเลย แต่เราหิวกระหายมาก ไม่มีน้ำจะกินเลย เราจะทำอย่างไร นี่ใช้ปัญญาไปเลยๆ แต่ถ้ากำลังมันไม่มี กำลังมันเป็นไปไม่ได้ มันจะเอาตัวรอดไปได้อย่างไร ถ้าเรามีแต่น้ำ เราอยู่กับที่ เราก้าวหน้าไปไม่ได้ เพราะรถเราไม่มีพลังงานที่จะขับเคลื่อนไป เรามีน้ำกิน เรามีบ่อน้ำ น้ำเราเก็บไว้ได้เต็มมหาศาลเลย เรากินน้ำ เรามีความชุ่มชื่นในใจ แล้วเราจะก้าวเดินไปไหน

ครูบาอาจารย์ต้องคอยชี้นำ ควรทำอย่างใด นี่มีครูมีอาจารย์ เห็นพระมาเยอะมาก ถ้าบวชเลย หรือปฏิบัติเลยโดยที่ไม่มีครูมีอาจารย์ มันจะมีความผิดพลาด แยกไม่เป็น น้ำก็แยกไม่เป็น น้ำมันก็แยกไม่เป็น วิธีการก็ไม่รู้ ทำไม่ถูก เป้าหมาย เอาแต่เป้าหมายนะ.. ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมกายก็กายธรรมๆ ก็เพ่งกันอยู่อย่างนั้นน่ะ ไปเพ่งผลน่ะ แล้ววิธีการมันไปไหนน่ะ ไปเพ่งที่ผลกัน ธรรมกาย คือกายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จิตก็เป็นธรรม กายก็เป็นธรรม ธรรมธาตุ สรรพสิ่งเป็นธรรมหมดเลย แต่กว่าจะได้ที่มันจะเป็นธรรม พระพุทธเจ้าปฏิบัติมา ๖ ปี วิธีการ เราจะไปบอกว่าเอาสิ่งที่เป็นกายที่เป็นธรรมมา จิตที่เป็นธรรมมา จิตที่เป็นธรรมคือจิตที่ผู้ประพฤติปฏิบัติสำเร็จแล้วใช่ไหม แต่จิตของเรามันเป็นไหม

น้ำกับน้ำมันที่มันปนเปกันมันใช้ประโยชน์ได้ไหม ถ้ามันใช้ประโยชน์ไม่ได้ ทำไมไม่แยกแยะ ถ้าแยกแยะแล้วมันจะช้า มันจะไม่ใช่วิธีการประพฤติปฏิบัติ นี่ไง เพราะไม่มีครูมีอาจารย์คอยชี้ถูกชี้ผิด นี่การขอนิสัยครูบาอาจารย์สำคัญมาก ในธรรมบอกว่าอย่าให้ติดบุคคลนะ ให้ติดธรรมะ ให้เคารพในธรรม พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่าติดในตัวบุคคล.. ตัวบุคคลน่ะ แต่ถ้าใจที่เป็นธรรมน่ะ ก็ตัวบุคคลนั่นน่ะคือธรรมะเคลื่อนที่ ตู้พระไตรปิฎกที่มีชีวิต

ในตู้พระไตรปิฎกมันเป็นตำรานะ เราไปศึกษามันด้วยน้ำกับน้ำมันที่เข้าไปศึกษามันด้วยความสกปรกโสมม ด้วยความแยกแยะไม่ถูกต้อง แต่เวลามันแยกน้ำกับน้ำมันแยกออกจากกันชัดเจนแล้ว ดูสิ เราไปเติมน้ำมันก็น้ำมันชัดๆ ถ้าปั๊มไหนน้ำมันผสมน้ำหรือมีน้ำปนมา รถเราก็เสียหาย พอครูบาอาจารย์ที่แยกชัดเจนแล้วก็แยกได้ถูกต้อง น้ำคือน้ำ น้ำมันคือน้ำมัน แต่จะทำอย่างใด วิธีการไม่ใช่ธรรมะ ธรรมะไม่ใช่วิธีการ

ทีนี้ด้วยความอยาก ด้วยความต้องการ เราศึกษามา เราทุกข์มาใช่ไหม ก็อยากได้ธรรม ก็เลยตรึกในธรรมๆๆ ธรรมะเป็นอย่างนั้นๆ นี่ธรรมะเป็นธรรมชาติๆ...การเกิดการตายก็เป็นธรรมชาติ ทุกข์เราก็เป็นธรรมชาติ ทุกข์เกิดดับนี่ธรรมชาติอันหนึ่ง ทุกอย่างเป็นธรรมชาติอันหนึ่ง ถ้าไม่มีชีวิต

ศพทุกข์ไม่เป็น คนตายแล้วนะ ซากศพมันทุกข์ไม่เป็น แต่ที่เราทุกข์ยากอยู่นี่เพราะเรามีหัวใจ เพราะเรามีความรับรู้ ความรับรู้มันเกิดดับ ความเกิดดับมันเป็นธรรมชาติอันหนึ่ง มันคายพิษอันหนึ่ง พลังงานบริสุทธิ์ก็มี พลังงานที่สกปรกก็มี พลังงานสะอาดก็มี พลังงานมีตั้งกี่ชนิด แม้แต่สัมมาสมาธิ มิจฉาสมาธิ สมาธิที่ทำมาแล้วมันเป็นมิจฉา สมาธิที่ทำมาแล้วเป็นสัมมา สมาธิที่ทำมาแล้วต้องถูกต้อง

ถ้ามีครูมีอาจารย์คอยถนอมกล่อมเกลี้ยงมา ขอนิสัยนี่สำคัญมากเลย มีครูมีอาจารย์ ไม่ให้ติดในตัวบุคคล แต่ตัวบุคคล พระไตรปิฎกเคลื่อนที่ ผิด จะบอกเดี๋ยวนั้นว่าผิดอย่างไรๆ พอผิดเราอ่านมาแล้วนะ ไปอ่านตำราสิ อ่านทางวิชาการ กฎหมาย เราจบกฎหมายมาว่าความไม่ได้หรอก ต้องมาฝึกงาน พอจะฝึกงานจะมีความชำนาญการ นี่ก็เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติมา ท่านชำนาญการ เราอ่านทฤษฎีมา เราศึกษามาขนาดไหน งงทั้งนั้นน่ะ แต่พอเข้าไปปฏิบัติ ประสบการณ์ของนักกฎหมาย ยิ่งประสบการณ์มากนะ เขาหาสิ่งแวดล้อมมาอ้างอิงมาต่างๆ มันเอาตัวรอดได้ ครูบาอาจารย์จะเอาตัวรอดได้ นี่ขอนิสัยครูบาอาจารย์สำคัญมาก พระที่เห็นว่าเสียมานี่เยอะมาก

เพราะเราปฏิบัติไป เราคนทุกข์คนยากนะ ได้เงินบาทสองบาทก็มีค่ามาก เศรษฐี มหาเศรษฐีนะ เงินบาทสองบาทไม่มีค่าเท่าไรหรอก แต่ก็มีค่าเหมือนกัน แต่มันไม่มีค่ามากเหมือนเงินล้าน สิบๆ ล้านใช่ไหม ไอ้เรามันคนทุกข์คนยาก เห็นเงินบาทสองบาท เงินบาทสองบาทใช้ทีเดียวก็หมดนะ จิตเรามีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา พอเราไปเห็นมีค่า เงินบาทสองบาท นี่ขี้ครอก ไม่เคยเห็นอะไรเลย พอเห็นเงินบาทสองบาทนี่นิพพานๆ พอมีเงินสิบบาท อ้าว.. เงินบาทสองบาทนั่นผิดแล้ว มีเงินร้อยบาท อ้าว.. เงินสิบบาทนั่นก็ไม่ใช่ร้อยบาท อ้าว.. มีพัน มีหมื่น มีแสน

ฉะนั้น การที่ทำมา เริ่มต้นมา มันผิดมาตลอด แต่เพราะความไม่รู้ของเรา เราถึงได้เผยแผ่ออกไป พอเผยแผ่ออกไปเสียหายกันไปหมดเลย แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์นะ ท่านจะบอกว่ากรรมฐานของเราปฏิบัติแล้ว เพราะคนที่เวลาธรรมมันแตก มันอยากแสดงออก มันอยากเทศน์ มันอยากสอน มันอยากแสดงออก ทั้งเราไปรู้เห็น เช่นเราไปที่ใด เราไปเห็นสิ่งใดที่มันถูกใจมาก อยากจะให้คนนั้นเห็นๆ...เขาอยู่กับที่เขาเห็นมาจนพอแรงแล้ว แต่เขาเห็นจนเป็นปกติเขาเลยไม่ตื่นเต้น ไอ้เราเพิ่งไปเห็นหนแรกมันตื่นเต้น เที่ยวจะไปบอกเขา ไปบอกเขามาแล้วยังถูกหรือผิดก็ยังไม่รู้เลย

นี่ไง สิ่งที่ครูบาอาจารย์ การขอนิสัย พระกรรมฐานถึงต้องติดครูติดอาจารย์ เพราะอ่านพระไตรปิฎกมาทั้งหมดเลยนะ เวลาทำยังทำผิดเลย แต่ครูบาอาจารย์จะบอกว่าผิดอย่างไรๆ เพราะในพระไตรปิฎกนะ วินัยทุกข้อ นิยาม พระพุทธเจ้าจะบัญญัติวินัยข้อนี้เพราะเหตุใด มีพระทำผิด มีเหตุ มีผล บัญญัติเสร็จแล้ว มันมีอนุบัญญัติ พอบัญญัติเสร็จแล้วนะ มีอาบัติ อนาบัติ ครบองค์ประกอบจะเป็นอาบัติ ไม่ครบองค์ประกอบ ไม่มีเจตนา ทำไม่ครบองค์ประกอบ มีอาบัติ มีอนาบัติ

แต่พอเราไปศึกษานะ ธรรมะ ฆ่าสัตว์ ทำชีวิตสัตว์ให้ตกร่วง ศีลขาดๆ เราไม่มีเจตนาเลย เดินไปด้วยบุญด้วยกรรมของเขา ไม่รู้เรื่องอะไรเลย ศีลขาดไหม? มันด่างพร้อย มันไม่ขาดเพราะไม่มีเจตนา ศีลด่างพร้อย ศีลทะลุ ศีลขาด มันเป็นชั้นๆ ตอนขึ้นไปนะ นี่เหมือนกัน การกระทำมันมี แต่เราไปถือตายตัว วิทยาศาสตร์ไง ตายตัวๆ ตายตัวนั้นผิด สิ่งที่ผิด น้ำกับน้ำมัน วิธีการกับเป้าหมาย

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้วถึงทอดธุระเลยนะ “จะสอนได้อย่างไร” เพราะจะบอกวิธีการไป ก็บอกวิธีการนั้นคือเป้าหมาย วิธีการการกระทำนะ แล้วเป็นวิธีการ อย่างเราเราจะทำธุรกิจ เราจะทำร้านขายกาแฟ ร้านขายกาแฟก็เป็นอย่างหนึ่ง อีกคนจะทำธุรกิจจะทำร้านขายข้าวแกง นี่วิธีการต่างกันแล้วนะ เป้าหมายคือผลกำไร เป้าหมายคือสิ่งที่เราเป้าหมายใช่ไหม แต่วิธีการน่ะ คนขายกาแฟ การขายกาแฟ ทุกอย่างมันก็ไม่เหมือนขายข้าวแกง ไม่เหมือนกัน แต่เป้าหมายมันคือเงินทองใช่ไหม แล้วพอเงินทองได้มา เงินทองกินได้ไหม เงินทองกินไม่ได้อีกแล้ว เงินทองนี่ต้องไปแลกเป็นอาหารมาถึงจะกินได้

ธรรมมันมีขั้นตอนของมัน น้ำกับน้ำมัน แล้วแยกอย่างไร ควรใช้ตรงไหนก่อน ควรจะทำอย่างไรก่อน นี่กรรมฐานเรา พ่อแม่ครูจารย์ เลี้ยงทั้งหัวใจ เลี้ยงทั้งร่างกาย เลี้ยงหัวใจคือเลี้ยงธรรมะ คือแก้ไขวิธีการ ไม่ใช่ตัวเองบวชมาวันสองวันแล้วก็ตั้งตนเป็นอาจารย์เลย คนที่ตั้งตนเป็นอาจารย์เลยนะ ถึงที่สุดแล้วนะ สิ่งที่แสดงออก สิ่งที่ได้สั่งสอนไว้ครั้งแรกจะผิดทุกที แล้วจะตามแก้ไขกัน พอบอกว่าผิดแล้วนะ ตัวเองหลงมันก็เป็นโทษอันหนึ่ง ตัวเองหลงแล้วทำให้คนอื่นหลง นี่กรรมมหาศาลเลย แล้วก็ชักกันไปหลง.. ชักกันไปหลง นี่เพราะเราไปเชื่อกันอย่างนั้น เราทำอย่างนั้น มันถึงจะเป็นโทษกับเรา นี่ผลของการใจร้อน ผลของการต้องบอกว่านี่ลัดสั้นๆ เพราะลัดสั้น ถ้าลัดสั้นทำได้จริงนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนแล้ว

แต่คำว่า “ลัดสั้น” ของมหายาน มันเป็นโวหาร คำว่า “ลัดสั้น” ทำให้เราขยันหมั่นเพียร แต่การกระทำของเขาไม่ลัดสั้น การกระทำของเขาทำอุกฤษฏ์กว่าเราอีก ฝ่ายมหายานที่ว่าลัดสั้นน่ะ เขานั่งสมาธิที ๗ วัน ๗ คืน เขาทำมากกว่าเราอีก แต่มันเป็นโวหาร เพราะโวหารอันนี้มันจะไปแก้อุปาทาน มันไปแก้ความยึดติดของใจ แต่เราไปเอาคำโวหารของเขาเป็นวิธีการ คือว่าลัดสั้นก็นอนจมไง นอนเฉยๆ จะลัดสั้น ลัดสั้นลงนรก เอวัง