เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒ เม.ย. ๒๕๕๒

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๒
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้วันพระ เราชาวพุทธ วันพระเราทำบุญกุศล ทำบุญกุศลเพื่อเป็นที่พึ่งของใจ หลวงตาท่านบอกมาก “ใจเรียกร้องหาที่พึ่ง หาคนช่วยเหลือ”

เวลาเราทุกข์เรายาก เรานั่งอยู่ในบ้านเราน่ะ เวลามันเครียด เวลามันทุกข์ หัวใจมันดิ้นรนขนาดไหน แล้วหัวใจมันเรียกร้องให้คนช่วยเหลือมันนะ แล้วไม่มีใครช่วยเหลือมัน เวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วย เราทุกข์เรายาก เราเรียกร้องคนช่วย นี่เดี๋ยวนี้โรงพยาบาล เรากดปุ่ม รถพยาบาลมารับเลยนะ เอาไปโรงพยาบาลเลยน่ะ ทำไมเขาช่วยเหลือกันได้ล่ะ ทำไมหัวใจของเรา ทำไมเราช่วยเหลือเราไม่ได้ พอหัวใจเราช่วยเหลือเราไม่ได้ เพราะอะไร เพราะเราลัดขั้นตอนไง

“ธรรมะเป็นความว่าง ธรรมะเป็นธรรมชาติ เราเป็นคนดีแล้ว ไปวัดๆ ไปให้พระด่า ไปวัดทำไม พระมีแต่พระด่า อยู่บ้านสบายไป” นี่ถ้ามันถูกใจนะ พูดถูกใจ ถูกใจเขาก็ว่าดี ไปขัดใจเขาเขาก็ว่าไม่ดี ถ้าขัดใจเขา เขาก็บอกว่าสิ่งนี้มันไม่เป็นธรรม ถ้าถูกใจ ถูกใจไง ไปวัดต้องมีความสุข ไปวัดต้องมีคนเชิดชูสรรเสริญ คนต้องเยินยอ นั่นไง โลกเขาคิดกันอย่างนั้น นี่ถูกใจนะ มันไม่ใช่ถูกธรรม

ถ้าถูกธรรมนะ มันขัดกับความรู้สึกเรา ถูกธรรมนะ ดูสิ ใครบ้างอดอาหาร ใครบ้างอดนอน มันจะไม่ทุกข์ไม่ยาก ใครบ้างไม่ทุกข์ไม่ยาก ทุกคนกินอิ่มนอนอุ่นมันเป็นความสุขของโลกเขานะ แต่กินอิ่มนอนอุ่นน่ะ กิเลสมันตัวใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งกินอิ่มนอนอุ่นขนาดไหน มันจะยิ่งต้องการความสุขไปไม่มีที่สิ้นสุด มันเป็นอามิส แต่ถ้าเราขัดแย้งมัน “ไฟ” มันจะดับได้ด้วยการเติมเชื้อเพลิง...เป็นไปไม่ได้ กินอิ่มนอนอุ่น เราจะเติมให้ตลอดไป ให้มันมีความสุข มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่โลกเขาเห็นกันว่าอย่างนั้น

แต่ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถือศีล เวลาทาน ศีล ภาวนา พอทาน ศีล ภาวนา มันเป็นการดัดแปลงตน มันเป็นการชักฟืนออกไง เห็นไหม ศีล ๕ กินข้าวเย็นได้ พอศีล ๘ กินข้าวเย็นไม่ได้แล้ว เริ่มชักฟืนออกแล้ว เริ่มชักสิ่งที่มันจะไหม้ สิ่งที่มันจะไหม้นะ มันไหม้ นี่หัวใจเรียกร้องความช่วยเหลือ แต่เราก็ไม่เข้าใจ เราก็เอาฟืนเอาไฟเติมเข้าไป ไหม้มันเข้าไป แล้วบอกนี่เป็นการช่วยเหลือตัวเอง โลกมันคิดกันอย่างนั้น โลกไม่ใช่ธรรม

ถ้าลูบหน้าปะจมูก เรื่องนี้เป็นเรื่องของโลก ธรรมะไม่เป็นอย่างนั้น ธรรมะไม่มีลูบหน้าปะจมูก ผิดต้องเป็นผิด ถูกต้องเป็นถูก ผิดคือผิด ถูกคือถูก ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ควรจะข่มขี่ผู้ที่ทำความผิด ทำลายสังคม แต่โลกไม่กล้าอย่างนั้น คนไหนมีอำนาจ คนไหนมีเงิน เชิดชูเขาไปหมดเลย จะผิดจะถูก ยกมือไหว้เขาไปก่อน แต่ถ้าเป็นธรรม...ไม่ได้ จะมั่งมีศรีสุข จะมีอย่างไหน จะมั่งมีทุกข์จนอย่างไร ผิดเป็นผิด ถูกเป็นถูก ธรรมะต้องเป็นอย่างนั้น ไม่มีลูบหน้าปะจมูก ธรรมเป็นธรรม โลกเป็นโลก แต่โลกต้องการเชิดชู โลกต้องการความพอใจกัน โลกต้องการอย่างนั้นนะ ถูกใจ ทำอะไรให้ถูกใจนะ นี่สิ่งที่ถูกใจ ถูกใจเพื่ออะไร เพื่อความอบอุ่นของเขา แต่ถ้าเป็นเราขัดแย้งนะ เราขัดแย้ง เราเท่ากับช่วยหัวใจของเรา มันเปิดทางออกให้นะ

ความตระหนี่ถี่เหนียว ความเห็นแก่ตัว ทุกๆ อย่างเป็นเรื่องของกิเลสหมดเลย แล้วสิ่งใดจะไปแก้ไขมัน สิ่งที่แก้ไขมัน ทาน ศีล ภาวนา จะเริ่มแก้ไข แก้ไขความหมักหมมของใจ ใจมันหมักหมมนะ มันทุกข์มันร้อนอยู่ในหัวใจของมันน่ะ แล้วมันต้องการร้องเรียกให้คนช่วยเหลือ เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา “โอปนยิโก.. เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม” ไอ้สัตว์ตัวนี้ ไอ้สัตว์ตัวที่มันโดนกิเลสเหยียบย่ำอยู่นี่ เวลามันปลดเปลื้องมัน มันมีความสุข “เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม” ก็เรียกร้องหัวใจเรานี่ให้มันตื่นขึ้นมา หัวใจที่มันหลับใหลอยู่ใต้กิเลสนี่ ให้มันตื่นตัวขึ้นมา พอมันตื่นตัวขึ้นมา เราได้เสียสละไป คนที่รับของจากมือเราไป เขาทุกข์เขายากนะ เขาได้ความพอใจของเรา

เราทำบุญกุศลกับพระ พระท่านไม่มีอาชีพ อาชีพของพระ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ อาชีพของพระ ภิกขาจารนะ “ภิกษุเป็นผู้ขอ” ขออะไร? “ภิกษุเป็นผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร” ภัยในวัฏสงสารนะ การทำมาหากิน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกบิณฑบาต พราหมณ์ก็บอกเลย “องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ไถนาสิ นี่เราเป็นคฤหัสถ์ยังต้องไถนา ต้องทำมาหากินเลย พระทำไมไม่ทำมาหากิน” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกทำทุกวันเลย ทำมากกว่าโยมด้วย โยมทำเฉพาะตื่นนอนนะ หลับไม่ได้ทำนะ แต่พระนั่งสมาธิภาวนาที่ไหน สตินี่เป็นเชือก ปัญญาเป็นผาล ไถลงไปที่หัวใจของตัวนี่ ไถกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ไถทำนา ทำนาทุกวัน ทำนาทุกลมหายใจเข้าออก ทำนาอยู่ตลอดเวลา แต่นาของพระไม่เหมือนนาของโลก นาของโลกมันเป็นพื้นนา นาของพระนี่มันอยู่ที่กลางหัวอกนี่นะ แล้วกลางหัวอกนี่เอาหัวใจของเราให้ได้ “ภิกษุเห็นภัยในวัฏสงสาร” ภิกษุเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติ เป็นผู้ที่จะแก้ไขหัวใจให้ได้ “เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม”

แล้วเราทำบุญกุศลไป ทำบุญกุศล สิ่งต่างๆ สิ่งที่เราทำ เราทำของเราไป ทำเพื่อประโยชน์ของเรา เพราะความหมักหมมของใจ สิ่งที่เราได้เสียสละออกไป มันจะเปิดให้หัวใจได้หายใจได้นะ เวลาเราเสียสละไป เราทำบุญกุศลไป เรามีความชื่นใจ มีความพอใจ ใหม่ๆ นะมันขัดแย้ง ทำไปๆ จนมันเคยชิน พอความเคยชิน การเสียสละ เรามีความสุขทั้งนั้นน่ะ แล้วบุญกุศลมันจะส่งเสริม มันจะส่งนะ

ดูสิ เวลาเราหุงข้าวขึ้นมา ข้าวปากหม้อเราตักใส่บาตรขนาดไหนนะ เราก็พอใช้ พอกิน ของเราไปวันๆ หนึ่ง แต่กิเลสมันบอกไม่ได้ เดี๋ยวเราไม่มีกิน ไม่มีใช้ นี่มีคนพูดให้ฟังมาก หุงข้าวในจำนวนธรรมดา ธรรมดาก็พออยู่พอกิน ตักใส่บาตรมันก็พออยู่พอกิน มันเป็นของมันอย่างนั้นน่ะ มันเป็นของมันไปอย่างนั้น นี้เราไปคิดของเรากันเอง เห็นไหม โลก ต้องถูกใจ ทำแล้วต้องมีอะไรให้มันถูกใจทั้งนั้นน่ะ

เดี๋ยวนี้โลกๆ เขาทำบุญกุศลกันนะ เขาต้องประกาศชื่อ ต้องมีการจับฉลาก ต้องมีการเยอะแยะไปหมดเลย เอาโลกมาล่อไง มันเป็นธุรกิจ มันไม่ใช่เป็นเรื่องของทาน เรื่องของทาน เขาว่าเวลาทำบุญกุศล ตักบาตรทัพพีเดียวปรารถนานิพพานเป็นการค้ากำไรเกินควร ถ้ากระทำธุรกิจสิ จับเบอร์ ค้ากำไรเกินควร ตักบาตรทัพพีเดียวเราปรารถนานิพพานได้เลย เพราะแรงปรารถนา แรงปรารถนามันเป็นเรื่องของบุญกุศล เป็นเรื่องของใจ บุญกุศล ดูสิ เราทำบุญกุศล แล้วเราอุทิศส่วนกุศลไป เราจุดเทียนเล่มหนึ่ง แล้วเอาเทียนนี้ต่อให้คนอื่นๆ ไปร้อยครั้งพันครั้ง เทียนเราไม่เคยดับเลย

นี่ก็เหมือนกัน จิตใจมันเสียสละได้มหาศาลขนาดนั้น ทีนี้ ถ้าเราเสียสละได้มหาศาลขนาดนั้นนะ สิ่งที่เราทำขึ้นมา สิ่งที่เป็นบุญกุศลมันเกิดขึ้นมาจากใจ ถ้าสิ่งที่เป็นบุญกุศลมันเกิดขึ้นมาจากใจ มันเป็นบุญ บุญคือเกิดขึ้นจากความพอใจ แล้วมันจะฝังใจไป เราเคยตักบาตรมาเมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว ๒๐ ปีที่แล้ว ลองคิดถึงวันนั้นสิ เรายังอุ้มขันอยู่ ขันข้าวนั้นยังอยู่กับเรานะ นี่เป็นทิพย์ ทิพย์เพราะอะไร เพราะมันฝังลงไปที่ใจ แต่อาหารเก็บไว้ขนาดไหน มันจะเน่าเสียไปหมดเลย

การเสียสละของเรา เสียสละเพื่ออะไร นี่ความตระหนี่ถี่เหนียวมันไม่ยอมให้ทำ แต่ถ้าเราทำขึ้นไป เรามีเราเสียสละออกไปๆ เสียสละออกไปตามกำลังนะ ไม่ใช่เสียสละออกไปด้วยการเชิดหน้าชูตาจะเสียสละอวดกัน การเสียสละด้วยตามกำลัง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก

“หาเงินมาได้บาทหนึ่ง ต้องเก็บเอาไว้ทำทุนทำทอนหนึ่งสลึง ต้องเก็บไว้เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่หนึ่งสลึง แล้วเก็บไว้เพื่อเวลาเจ็บไข้เฒ่าแก่อีกหนึ่งสลึง อีกหนึ่งสลึงนั้นถึงทำบุญ ฝังดินไว้ๆ” ฝังดินไว้คือทำบุญไว้ ฝังดินคือฝังไว้ในภพชาติ ฝังไว้ในหัวใจ หัวใจที่เสียสละเท่าไร มันจะฝังลงที่ใจ

นี่เราทำมากน้อยขนาดไหน ใครเป็นคนทำ ซากศพทำบุญไม่ได้ คนจะทำบุญต้องเป็นคนมีชีวิต คนมีชีวิตคืออะไร คือหัวใจ ตัวจิตตัวนั้นน่ะ ตัวเจตนา ตัวจิตตัวนั้นตัวน้อมนำให้ออกไปทำ แล้วสิ่งนี้เป็นคนทำ คนเราจะทำสิ่งใดนะ จะพูดก็ต้องคิดก่อน จะทำก็ต้องคิดก่อน ความคิดมาจากจิต ตัวจิตนั่นน่ะเป็นตัวซับไว้ สิ่งที่ซับไว้ ใครทำมากทำน้อยมันออกมาจากจิตหมด จิตเป็นคนกระทำ จิตเป็นผู้ที่เสียสละ แล้วจิตเป็นคนทำเป็นผู้เสียสละ มันจะไปจากไหน ต้นขั้วมันมาจากใจ แล้วใจนี่มันเรียกร้องกัน เรียกร้องให้เราช่วยเหลือมันตลอดเวลา แล้วการช่วยเหลือ ในการเสียสละทาน

การเรียกร้องช่วยเหลือในการทำความสงบของใจ การเสียสละทานนี่มันเป็นอามิส สิ่งที่เป็นอามิสน่ะ อามิสบูชา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “อานนท์ เธอบอกเขาเถิด ปฏิบัติบูชาเถิด อย่าอามิสบูชาเลย”

แต่พวกเรามันหยาบ มันต้องอามิสบูชาก่อน อามิสบูชาขึ้นมาเพื่อให้ได้ฟังธรรม ให้ธรรมนี่สะกิดหัวใจ พอสะกิดหัวใจ เราเห็นว่าปฏิบัติบูชา ปฏิบัติบูชา เวลานั่งสมาธิ เรานั่งสมาธิภาวนา แล้วบุญกิริยาวัตถุ เรามีทำอิสรภาพ จะนั่งจะนอนอย่างไรก็ได้ แต่เวลานั่งขัดสมาธิ บุญกิริยาวัตถุ กิริยา การกระทำของเรานี่ถวายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้บุญไหม มันได้บุญตั้งแต่เรานั่งสมาธิแล้ว แล้วปัญญาที่จะเกิดขึ้น ถ้าจิตมันสงบขึ้นมา บุญมันเกิดขึ้นมหาศาลเลย

เกิดขึ้นมหาศาลเพราะอะไร จิตต้องการเรียกร้องความช่วยเหลือ ในเมื่อปัญญามันเกิด มันความเห็นของใจมันเกิดขึ้นมา นี่ใครช่วยเหลือใคร ก็ปัญญาเรา เราช่วยหัวใจของเราเอง เราหลงผิด เราน้อยเนื้อต่ำใจ เกิดมาแล้วมีความทุกข์ คนนั้นมีความสุขกว่าเรา คนนั้นดีกว่าเรา คนนั้น.. นี่กิเลสทั้งนั้น! มันเหยียบย่ำหัวใจทั้งนั้น

แต่พอจิตมันสงบเข้าไปนะ นี่ไง พอจิตสงบ ทุกคนมีสิทธิเสมอภาคเหมือนกันหมดเลย มีหัวใจทุกๆ คน ทุกๆ คนทำความสงบของใจได้ จะมั่งมีศรีสุข จะทุกข์จนเข็ญใจ อิสรภาพของจิตมันทำให้สงบเหมือนกันได้ เหมือนกันได้ ไม่มีใครมั่งมีกว่าใคร ใครทุกข์จนกว่าใคร

แต่เวลาจิตสงบแล้ว อำนาจวาสนาบารมี ใครทำบุญกุศลมามันจะเกิดนิมิต จะเกิดความต่างๆ อันนั้นมันเป็นเครื่องเคียง เครื่องเคียงคือว่าบารมีธรรมของเขา แต่สิทธิเสมอภาคมันเหมือนกันนะ แล้วถ้ามันมีปัญญาขึ้นมา โลกุตตรปัญญา ปัญญาเกิดจากการภาวนา ปัญญาเกิดจากจิต ไม่ใช่ปัญญาเกิดจากสมอง ปัญญาเกิดจากสมองคือความจำ ปัญญาเกิดจากจิต จิตมันเป็นปัจจุบันธรรม สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น ไม่มีกิเลสเราบวกเข้าไปด้วย ไม่มีความเห็น ไม่มีความพอใจ ไม่มีการโน้มน้าว ไม่มีจิตเข้าไป นี่โอปนยิโก.. เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม ธรรมอย่างนี้เกิดขึ้นมาในปัจจุบันธรรม ปัจจุบันธรรมเกิดขึ้นมากับใจ นี่ใครช่วยใคร

ธรรมะไง ศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นปัจจุบันธรรม เป็นธรรมส่วนบุคคล เป็นธรรมของจิตดวงนั้น จิตดวงนั้นสงบขึ้นมา จิตดวงนั้นแก้ไขขึ้นมา จิตดวงนั้นเป็นผู้เห็นของจิตดวงนั้นขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก ธรรมะนี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ชี้ทาง ผู้ประพฤติปฏิบัติต้องปฏิบัติเอง เพราะมันลึกลับซับซ้อน มันลึกอยู่จิตใต้สำนึก ความคิดยังแก้กิเลสไม่ได้เลย มันต้องลึกกว่าความคิดนั้นน่ะ

“มารเอย.. เธอเกิดจากความดำริของเรา บัดนี้เราจะไม่ดำริถึงเจ้าอีกแล้ว เจ้าจะเกิดจากจิตของเราไม่ได้อีกเลย” เห็นไหม “มารเอย.. เธอเกิดจากความดำริ”

ความดำริกับความคิดอันเดียวกันไหม?

“เธอเกิดจากความดำริของเรา บัดนี้เราเห็นตัวเจ้าแล้ว เจ้าจะเกิดจากใจของเราอีกไม่ได้เลย”

นี่เกิดจากดำริ ความดำริ มารก็ไสมา เพราะเสวยอารมณ์ จิต พลังงาน พลังงานมันเสวยอารมณ์ มันออกมาเป็นความคิด พอมันเสวย มันเป็นไป มันออกมาแล้ว มันคิดไปแล้ว แต่เราไม่ทันเลย แล้วพอคิดออกมา สิ่งใดก็เจ็บช้ำน้ำใจไปหมด น้อยเนื้อต่ำใจ เหยียบย่ำใจไปหมดเลย แล้วก็บอกว่าเรียกร้องให้เขามาช่วยเหลือจิตๆ ก็กิเลสเราน่ะมันทำลาย ความคิดเรามันทำลาย ความคิดเรามันทำลาย แล้วจิตมันพอใจ มันทำของมันไปน่ะ กิเลสทั้งนั้นน่ะ

ทำความสงบของใจเข้ามาให้ได้ ความสงบของใจเข้ามา มันเกิดจากการมีศรัทธา มีความเชื่อ มีความศรัทธาความเชื่อ ความเชื่อทำให้เราเข้มแข็ง ความเชื่อทำให้เป็นเอกภาพ ความเชื่อทำให้จิตใจเราเวลานั่ง เวลาทำสมาธิขึ้นมา ทำสิ่งใดมันทำได้เต็มไม้เต็มมือ มันทำด้วยเรา แต่สักแต่ว่า เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง ไม่เชื่อ แต่เขาบังคับให้ทำ มันทำที่เปลือกๆ มันไม่เข้าถึงหัวใจ มันไม่เข้าถึงหลักธรรม ถ้าไม่เข้าถึงหลักธรรมมันก็เป็นโลกหมดน่ะ แต่มันเข้าถึงหลักธรรม มันสะเทือนใจเรานะ นี่แก้ไขใจเรา

จิตเรียกร้องความช่วยเหลือ ศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสามารถช่วยเหลือหัวใจของเราได้ อาหารคำข้าว อาหารของกาย อาหารของใจคือธรรมะ ธรรมะ.. ธรรมะจะเข้าถึงใจ แล้วธรรมะเกิดมาจากไหน? สติเกิดมาจากไหน? ปัญญาเกิดมาจากไหน? สมาธิเกิดมาจากไหน.. ก็เกิดมาจากการกระทำ เกิดมาจากการฝึกฝน ไม่มีสิ่งใดลอยมาจากฟ้า ไม่มีสิ่งใดลอยมาเอง ถ้าไม่มีการฝึกฝน ไม่มีการกระทำ จะไม่เกิดขึ้นมา จะไม่เกิดขึ้นมา

ที่ชาวพุทธเราพูดจ้อยๆๆ นี่มันเป็นสัญญา มันเป็นสมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้วเผยแผ่ธรรม วางธรรมนี้ไว้เป็นเครื่องดำเนินของเรา เป็นวิธีการให้เราดำเนิน แล้วเราก็ไปจำมา จ้อยๆๆ เลย ไม่เข้าถึงใจ ไม่เข้าถึงจิต ไม่ได้ช่วยอะไรเลย เพียงแต่มันเรียกร้องเข้ามา มันศึกษาแล้วมันมีความชุ่มชื่นบ้าง มันมีความซึ้งใจบ้าง นั่นน่ะ แล้วยังเคลมด้วยนะว่าเป็นสมบัติของเรา ยังเคลมว่าเรารู้ๆ...รู้อะไร? กิเลสมันหลอกอีกชั้นหนึ่ง

“มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา” คิดเฉยๆ ความดำริ มารเอาธรรมะนั้นมาหลอกเราว่าเรารู้แล้ว

คน.. ถ้าคิดว่ารู้แล้ว มันจะไม่ทำสิ่งใดเลย

คน.. ถ้าบอกว่าเรายังไม่รู้ เรามีความบกพร่อง เราจะขวนขวาย เราจะการกระทำของเรา

จิตมันจะเป็นอย่างนั้น นี่ธรรมะมันจะเกิด

จิตของเราเรียกร้องให้เราช่วยเหลือนะ ให้เราแก้ไข สิ่งใดที่เกิดขึ้นมา นิ้วมือของเราไม่เท่ากัน กรรมของแต่ละบุคคลไม่เท่ากัน วาระของกรรม วาระของทุกข์ของยาก วาระของการสุขสบาย วาระของถึงวาระ กรรมมันให้ผลนะ เราต้องตั้งสติ แล้วแก้ไขกันไปเฉพาะหน้า

สิ่งที่เกิดขึ้นมาเป็นปัจจุบันธรรม สิ่งใดเกิดขึ้น แก้ไข ดัดแปลง เปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงจากข้างนอก เปลี่ยนแปลงจากหัวใจของเรา แล้วจิตเราจะพบกับความจริง พบกับสัจธรรม สิ่งที่มีอยู่แล้วคือความรู้สึกหัวใจนี้ แล้วเข้าไปถึงสิ่งนั้น จะไม่พบได้อย่างไร ของมีอยู่ท่ามกลางหัวอก หาต้องเจอ ธรรมต้องได้ เอวัง