เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๔ เม.ย. ๒๕๕๒

 

เทศน์เช้า วันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๒
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาคนปรารถนาดีตั้งใจดี ทุกอย่างต้องทำให้ดี แต่พูดถึงความดีแล้ว มันความดีของใครนะ ความดีของคนหนึ่ง เขามีทิฏฐิมานะของเขา อย่างเช่นคนเข้าวัดใหม่ ทุกคนศรัทธามาก ศรัทธาใหม่นี่นะ เขาทำอะไรก็ได้ แต่พอเราไปคุ้นชินเข้าไง สิ่งที่ไปคุ้นไปชินเข้า เราไปเห็นของเขา ไปเห็นเข้า สิ่งนี้มันคุ้นชิน แล้วถ้าคุ้นชินมานะ..

ถึงบอกเราบวชพระ พระที่มาบวชกับเรา ส่วนใหญ่เราจะบอก ขอให้อยู่กับเราสักพรรษาหนึ่งก่อน ถ้าอยู่พรรษาหนึ่งก่อน ให้วัคซีนไง คุ้นชิน พื้นฐานน่ะ ถ้าพื้นฐานทำสิ่งที่ดีนะ ออกไปจะรับแต่สิ่งที่ดีๆ ถ้าพื้นฐานเราไม่แน่น พอทำอะไรแล้วมันจะมีปัญหามาก ฉะนั้นให้อยู่กับเราพรรษาหนึ่งก่อน เห็นไหม เวลาครูบาอาจารย์ท่านให้นิสัยๆ ขอนิสัยๆ พอได้นิสัยมาแล้ว ได้นิสัยมา

เวลาพระภิกษุบวชใหม่นะ โทษของภิกษุบวชใหม่ ทนคำสอนได้ยาก โทษของภิกษุบวชใหม่ทนคำสอนได้ยาก เวลาคำสอน เพราะมันเป็นความเห็นของเราไง ยิ่งปัจจุบันนี้นะ เราเข้ามานะ เราเข้ามาจากโลกใช่ไหม เราจะบอกว่าเดี๋ยวนี้โลกเจริญแล้ว ทุกคนจะพูดอย่างนี้หมดว่าโลกเจริญแล้ว โลกเจริญแล้ว ธรรมวินัยต้องผ่อนผันไปตามโลก นี้ถ้าธรรมวินัยผ่อนผันไปตามโลก มันก็ทุกข์น่ะ มันเป็นเรื่องโลกเป็นใหญ่

ถ้าธรรมเป็นใหญ่ ธรรมเป็นใหญ่นะ สมัยในปัจจุบันนี้ที่ลังกาเขาจะบัญญัติกฎหมาย เขาต้องเอื้อกับธรรมะ เอื้อกับพุทธศาสนา แต่เดิมของเรากฎหมายเราก็บัญญัติเอื้อกับพุทธศาสนา แต่พอตอนหลังมีความเห็นผิดของผู้ปกครอง ถ้าบอกมักน้อยสันโดษทำให้ประเทศชาติไม่เจริญ ความมักน้อยสันโดษ ต้องให้ขยันหมั่นเพียร ต้องขวนขวายถึงจะให้ประเทศชาติเจริญ เวลาเราคิดกัน เราคิดกันด้วยความคิดของเรานี่หยาบๆ นะว่าความขยันหมั่นเพียรน่ะ พระพุทธเจ้าสอนความขยันหมั่นเพียรแล้ว

คำว่า “มักน้อยสันโดษ” เวลากิเลสตัณหาความทะยานอยากน่ะ มักน้อยสันโดษตรงนั้นไง มักน้อยสันโดษในคู่ครอง หลวงตาท่านพูด มักน้อยสันโดษในคู่ครอง มักน้อยสันโดษคือมักน้อยสันโดษในสมบัติของเราน่ะ แต่ถ้าเวลาธรรมะพูด มันมีหยาบมีละเอียด แต่คนเข้าไม่ถึงนะ ไปตีความเสมอภาคหมดเลยไง เป็นวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ต้องเป็นอย่างนั้น แต่ธรรมะนะ มีหยาบ มีกลาง มีละเอียด ละเอียดสุดเข้าไปนะ คนเราเข้ามามันต้องพัฒนาการของมันเข้ามา

นี่จุดประสงค์ในศาสนาพุทธคืออะไร คือพ้นจากทุกข์ แต่เราพ้นจากทุกข์นะ ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ถึงที่สุดเลย แก้กิเลสได้หมดเลย แต่เวลาเข้ามาเราไม่ปรารถนาขนาดนั้น เราปรารถนาแค่ทำบุญกุศล เวลาคนเข้ามาใหม่นะ ทำไมไม่พูดถึงสวรรค์ถึงอะไร นี่อย่างนี้มันเป็นมุมมองไง เป็นมุมมอง เป็นวัฒนธรรม ทีนี้พอวัฒนธรรมขึ้นมา พวกเราก็คิดกันเรื่องฤทธิ์เรื่องเดช เรื่องสิ่งต่างๆ เรื่องสิ่งความมหัศจรรย์

ความมหัศจรรย์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น มันเป็นฌานโลกีย์หมดเลย ทีนี้ฌานโลกีย์ วัฒนธรรมของเขา เวลาเขาเข้ามา วัดพระป่าเรา พระป่าเรา ใครไปวัดป่า ไม่เห็นมีอะไรเลย นี่มีแต่ป่าเขา มีแต่ความสงบสงัด ว่าดี ดีอยู่ แต่มันไม่ได้ดั่งใจ ถ้าได้ดั่งใจนะ ต้องเหาะเหินเดินฟ้า ต้องเป็นเรื่องโลกๆ น่ะ นี่วัฒนธรรม ถ้าคนเข้าวัด ถ้าเข้าอย่างนั้นแล้ว เขาจะมองภาพอีกอย่างหนึ่ง มองภาพว่าคุณงามความดีคือการรู้วาระจิต คุณงามความดีคือแบบเป็นอภิญญา มันไม่ใช่สัจธรรม

ถ้าสัจธรรมมันต้องวางให้หมด วางให้หมด วางอะไร ก่อนจะวางให้หมด การวางนี่วางแสนยากมาก การวางนะ การวางแบบวัตถุ เราถือสิ่งใดเราวางไว้ มันก็พ้นออกไปจากมือเรา แต่การวางของจิตมันวางไม่ได้ ความทุกข์ ความโศกในหัวใจ ความหมักหมมในหัวใจ สิ่งที่มันฝังใจมานี่ เราจะวาง วางอย่างไร...มันวางไม่ได้หรอก สิ่งที่ไม่ต้องการ สิ่งที่เจ็บปวดมันชอบคิด สิ่งที่เป็นประโยชน์กับเรา อยากจะทำ มันกลับไม่คิด นี่อวิชชามันครอบงำหัวใจ แล้วพอจะวางมันต้องมีพื้นฐานเข้ามา เวลาพูดพูดง่ายๆ นะ

เวลาพูด เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้ปล่อยวาง แล้วก็ปล่อยวางกันหมดแล้ว ปล่อยวางโดยที่ไม่มีอะไรติดไม้ติดมือมาเลย ปล่อยวางอย่างนั้นปล่อยวางอะไร มันปล่อยวางแบบวัตถุ ปล่อยวางแบบโลก ปล่อยวางแบบวิทยาศาสตร์ แต่การปล่อยวางแบบธรรมะไง การปล่อยวางแบบธรรมะ เศรษฐีธรรมๆ การปล่อยวางโดยธรรมะมันต้องมีเหตุมีผล มันถึงจะมีการปล่อยวาง

เวลาเข้ามา มันต้องมีข้อวัตรปฏิบัติ มันต้องได้นิสัย มันต้องถือนิสัย ข้อวัตรปฏิบัติ เวลาเราทำสิ่งใด อาบเหงื่อต่างน้ำทั้งนั้นน่ะ การอาบเหงื่อต่างน้ำ เราถึงบอก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก ความเพียรชอบ ต้องความขยันหมั่นเพียร ความชำระกิเลสต้องมีความขยันหมั่นเพียร แต่โดยวิทยาศาสตร์ โดยความคิดไง การปล่อยวางคือไม่ทำสิ่งใดเลยไง การปล่อยวางไม่ทำสิ่งใดเลยมันก็ไม่ได้ชำระล้างสิ่งใดเลย

การชำระล้างจะไปชำระล้างเรื่องอะไร จะไปชำระล้างเรื่องของหัวใจ เรื่องของหัวใจมันต้องออกมา เหมือนเราดึงออกมา เราดึงสิ่งความหมักหมมของใจออกมา คนที่ประพฤติปฏิบัติเป็นนะ จะต้องการประพฤติปฏิบัติ ต้องเห็นกิเลส คือต้องจับผู้ร้ายให้ได้ การจับผู้ร้ายนี่เป็นงานอันหนึ่ง แต่นี่เราไม่ได้จับใครเลย เราไม่จับสิ่งใด เราปฏิเสธก่อน เวลาจิตสงบ เวลาทำความสงบ ใจก็สงบ ปล่อยวางหมดแล้วๆ มันไม่มีอะไรปล่อยวางเลย มันเป้าลวง ถ้าเป้าจริงนะ เราต้องค้นคว้าหาตัวเราให้เจอ พอค้นคว้าหาตัวเราให้เจอ จะชำระล้างไง ชำระล้าง จับมาสอบสวน จับความรู้สึกของเรา จับความคิด จับความหมักหมมของใจมาสอบสวน การสอบสวนนั่นคือวิปัสสนา

แต่การค้นคว้า นี่สมถกรรมฐาน การทำความสงบของใจนี่สำคัญมาก เพราะจิต ถ้ามันไม่สงบเข้ามา ความคิดของเราเป็นความคิดกำปั้นทุบดิน ความคิดของเรา ความคิดที่ศึกษาธรรมะ ความคิดโดยสัญชาตญาณ อวิชชา ความไม่รู้ เรารู้สิ่งต่างๆ เต็มไปหมดเลยนะ แต่เราไม่รู้จักตัวเราเอง นี่ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเข้าวัดก็เหมือนกัน เวลาศึกษาธรรมะ ศึกษาด้วยความรู้ความเห็นของตัว

สิ่งใดอุตริมนุสธรรม เวลาอวดอุตริมนุสธรรมนะ ฌานโลกีย์เป็นอุตริมนุสธรรม มีเหมือนกัน เริ่มตั้งแต่ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน.. นี่อวดอุตริมนุสธรรมเพราะอะไร เพราะปุถุชนเขาไม่มี พอเขาไม่มี พอใครมีคุณสมบัติอย่างนี้ก็ไปคุยอวดกัน พอคุยอวดกัน เพราะมีคุณวิเศษใช่ไหม มันต่างกับเขาใช่ไหม ให้เขาเคารพศรัทธา แต่ความจริงอวดอุตริมนุสธรรม ธรรมของมนุษย์ไง ทำอวดอุตริมนุสธรรม แต่ธรรมในอริยสัจล่ะ สัจธรรมที่มันจะเกิดขึ้นมาล่ะ เขายังไม่มี เขายังไม่รู้เลย แล้วคนที่มีมี ที่รู้นะ อวดอุตริมนุสธรรมตั้งแต่ฌานโลกีย์ขึ้นมา มันเป็นเรื่องของฌานโลกีย์ เป็นเรื่องของฤๅษีชีไพร ทุกคนสามารถทำได้ นี่สิ่งที่ทำได้

แล้วเวลามันไปเข้าอริยสัจ เข้าตั้งแต่ความสงบของใจเข้ามา เข้าตั้งแต่เริ่มเห็นทุกข์ เห็นสมุทัย เห็นนิโรธ มีมรรค มรรคมันเดินตัวอย่างไรน่ะ มันเป็นเรื่องอริยสัจ สัจจะความจริงในศาสนา มันต่างกับฌานโลกีย์มาก มันคนละเรื่องเลย มันคนละเรื่อง ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน แต่ถ้าเรามาปฏิบัติไม่เป็น เราเข้าใจไม่เป็น เราคิดว่าเป็นอันเดียวกันนะ พอเราคิดว่าเป็นอันเดียวกัน เราก็ไปยึดใช่ไหมว่าพระที่มีคุณวิเศษอย่างนั้น ทายใจได้อะไรได้ สิ่งนั้นเป็นเรื่องหลักของศาสนา...ไม่ใช่! ไม่ใช่! สิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่มีอยู่ อย่างเช่น ลมพัดมา เรามีความรู้สึกไหม มันต้องมีความเย็น ความรู้สึกกระทบมันเป็นธรรมดาใช่ไหม

จิตก็เหมือนกัน จิตมันมีความคิดอยู่ของมันแล้ว มีพลังงานของมันแล้ว สิ่งที่พลังงานมันเหมือนผิวหนังเรารับรู้สิ่งใด ดูสิ อายตนะทั้ง ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย กระทบสิ่งใดรับรู้ได้หมด ใจก็เหมือนกัน มันกระทบความรับรู้ แล้วถ้ามันทำความสงบหดตัวเข้ามาเป็นตัวของมันเอง มันไม่ใช่ความคิด ความคิดไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ความคิด ถ้าความคิดไม่ใช่จิต สิ่งที่กระทบคือความคิด คือสิ่งรับรู้ภายนอก ฌานโลกีย์ก็เกิดจากพลังงานของมัน แต่ถ้ามันหดตัวเข้ามา แล้วเกิดทำความสะอาดในใจ เกิดทำความสะอาดในพลังงานนั้นน่ะ ถ้าความสะอาด.. นี่อริยสัจเกิดตรงนี้

ในเมื่อถ้าผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเข้าไป มันจะเห็นเรื่องของฌานโลกีย์ โลกียปัญญา ฌานโลกีย์ ฌานของโลก นี่ความสงบของใจ เรื่องอริยสัจ โลกุตตรธรรม โลกุตตระมันหลุดจากโลก เห็นไหม ว่าการอวดอุตริ อวดอุตริมนุสธรรมตั้งแต่ฌานโลกีย์ขึ้นมา นั่นก็เป็นการอวดอุตริแล้ว

แต่เวลาเรื่องอริยสัจ เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศนาว่าการน่ะ อวดอุตริไหม? นี่การสอนนักศึกษานะ การสอน ตัวอย่างคำสอน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาเทศนาว่าการตั้งแต่เรื่องทุกข์ เรื่องสมุทัย นิโรธ มรรค เรื่องสัจธรรม ตั้งแต่เรื่องอนุปุพพิกถา เวลาเรื่องของทาน อนุปุพพิกถา ๕ สอนเรื่องโลกก่อน ให้โลกเห็นคุณประโยชน์ของการเสียสละทาน ผลของการเสียสละทาน ได้ความสุขใจ ผลของมัน บุญเกิดจากอามิส ได้เกิดบนสวรรค์ ถ้าผล บุพเพนิวาสานุสติญาณ อดีตมา ในปัจจุบันทำบุญ อนาคตท่านยังมีขับเคลื่อนอยู่ จุตูปปาตญาณจะไปเกิดบนสวรรค์ เรื่องถึงสวรรค์ เรื่องถึงเนกขัมมะ พอเนกขัมมะถึงทำความสงบของใจ นี่พูดถึงอนุปุพพิกถา สำหรับสอนคฤหัสถ์

เวลาประพฤติปฏิบัติเข้ามา เราเป็นนักบวช เราเป็นชาวพุทธที่จะเข้าถึงสัจธรรม เป้าประสงค์ของศาสนาคือการพ้นจากทุกข์ นี่ไง พ้นจากทุกข์ ทำความสงบของใจเข้ามา ความสงบของใจเข้ามา มันไม่ใช่ฌานโลกีย์นะ มันไม่ใช่โลกียปัญญานะ มันเป็นเรื่องของสัจธรรม เรื่องของอริยสัจ ถ้าเรื่องอริยสัจ สิ่งนี้มันแตกต่างไง มันมีความแตกต่างว่าปัญญาโลก ปัญญาที่ทำกันอยู่นี้ ปัญญาที่โลกเข้าใจกันว่าเป็นเนื้อหาสาระของศาสนา...มันไม่ใช่เลย! แต่มันมีอยู่

มันมีอยู่เพราะอะไร? เพราะเราเกิดเป็นมนุษย์ เรามีอายตนะ เรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ใช่ไหม เราก็รับรู้ด้วยธรรมชาติของความรับรู้ของมนุษย์ จิตก็เหมือนกัน จิตมันมีสิ่งกระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ผลความรู้สึกนี้ก็เข้าไปถึงใจ มันก็เป็นอายตนะภายนอก อายตนะภายใน สิ่งนี้มันรับรู้ได้ เหาะเหินเดินฟ้ามันเกิดจากนี่ทั้งหมดล่ะ สิ่งนี้มันเป็นอายตนะ เป็นสิ่งกระทบ มันเป็นเรื่องของฌานโลกีย์ แล้วถ้ามันหดตัวเข้ามา มันทำความสงบของใจเข้ามา

มันอยู่ที่ว่าเขาไม่เห็นคุณค่าของการทำสมาธิ เขาไม่เห็นคุณค่าของการทำความสงบ เขาไม่เห็นคุณค่าของใจของตัวเอง ถ้าใจของตัวเองเข้าถึงสัจธรรมตัวเอง แล้วมีอำนาจวาสนานะ ถ้าไม่มีอำนาจวาสนา พอจิตสงบเข้ามา คิดว่านี่เป็นนิพพาน เพราะจิตสงบแล้ว จิตมันปล่อยวางแล้ว จิตเป็นความว่างแล้ว สิ่งนี้เป็นเป้าหมายแล้ว สิ่งนี้.. นิพพานคือความว่าง นิพพานคือสิ่งสงบเย็น.. มันสงบจริงๆ มันเป็นอย่างนั้นได้จริงๆ มันได้จริงๆ ได้จริงๆ เพราะมันพักตัวเฉยๆ สิ่งที่จิตพักตัวเท่านั้นเอง จิตยังไม่ก้าวเดินเลย

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกรื้อค้น เริ่มต้นการก้าวเดินของศาสนาพุทธเรา พุทธศาสนาคือเรื่องของปัญญา แต่ปัญญาเกิดจากจิตสงบ ปัญญาเกิดจากจิตเข้าไปพื้นฐานความสงบของใจเข้ามา แล้วออกก้าวเดิน ออกก้าววิปัสสนา แต่ถ้าพูดถึงหลักของใจ พูดถึงความสงบ พูดถึงฌานโลกีย์ มันมีมาแต่แล้ว เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับอาฬารดาบส ฌาน สมาบัติ ๘ มันมีอยู่แล้ว ทุกอย่างมันมีอยู่แล้วหมดน่ะ มีอยู่แล้ว เขาทำได้ขนาดนี้ ปุถุชน มนุษย์ที่มีบุญ มีอำนาจวาสนา ทำได้แค่นี้ แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมา รื้อค้น ได้ขนาดไหนมาแค่นี้ก็ยังไม่พอใจ เพราะจิต พอมันสงบเข้าไป พอมันคลายตัวออกมา.. เหมือนผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่จะรู้ถูกรู้ผิด แต่เด็กจะไม่เข้าใจสิ่งใดเลย จิตที่มันเป็นผู้ใหญ่คือพันธุกรรม คือพระโพธิสัตว์ พุทธวิสัย สิ่งนี้มันมีปัญญา มันรื้อค้น มันใคร่ครวญเข้ามา ถึงปฏิเสธ แล้วมีปัญญา มีพื้นฐานมาก ถึงค้นคว้าเอง ปฏิบัติเอง

เป้าหมายอันนี้มันต่างกัน มันความลึกลับต่างกัน ความเห็นต่างกัน พอความเห็นต่างกัน นี่ไง ถึงบอกว่ามาจากสายไหน วัฒนธรรมของเขา คือครูบาอาจารย์ของเขาสอนกันมา สิ่งใดเป็นคุณวิเศษ สิ่งนั้นเป็นคุณวิเศษของเขา เขาว่าสิ่งนั้นเป็นหลักของศาสนา แต่เขายังไม่ถึงสัจจะความจริง พอมาอยู่พระป่าเรา อยู่กับครูบาอาจารย์ของเรามันเข้าถึงศาสนานะ พอเข้าถึงศาสนา สิ่งที่เป็นฌานโลกีย์ สิ่งที่เขาเห็น เราวางไว้ เราไม่ต้องการ เพราะสิ่งนั้นเป็นเปลือกใช่ไหม เราเข้าถึงหลัก แต่พอเข้าถึงหลัก เขาเข้าไม่ถึง เขาถึงไปยึดสิ่งที่เขารู้เขาเห็น ว่าสิ่งนั้นเป็นคุณ เป็นหลักของศาสนา มันเลยมาทับซ้อนกัน พอทับซ้อนกันน่ะ เราต้องแบ่งแยก เราต้องแยกให้ได้ สิ่งที่มันเป็นไป มันเป็นธรรมชาติ มันมีของมัน แต่เราต้องเข้าถึงลึกซึ้งกว่านั้น เหมือนปลาวางไข่ ปลาวางไข่จะไปวางที่ต้นน้ำ มันจะทวนกระแสน้ำขึ้นไปวางไข่

ในหลักของศาสนา เราจะแก้กิเลส เราต้องแก้ไปที่ใจ เราต้องทวนกระแสเข้าไปถึงความสงบของเรา แล้วทำเพื่อประโยชน์ของเรา นี่วัฒนธรรมของพระป่า วัฒนธรรมของครูบาอาจารย์ของเรา มันละเอียดลึกซึ้งต่อกัน ลึกซึ้งมากกว่ากัน แต่ถ้าเป็นวัฒนธรรมของโลกๆ เกจิอาจารย์ต่างๆ ทำแต่เรื่องฤทธิ์เรื่องเดช มันเป็นเกจิอาจารย์ แต่สุปฏิปันโน ญายะ สามีจิ.. ซื่อตรงกับอริยสัจ ซื่อตรงกับความจริง ชี้ตรงเข้าสู่อริยสัจ ชี้ตรงสู่หัวใจ หัวใจเข้าสัมผัส แล้วมันจะเป็นประโยชน์กับเรา

พระป่า ถ้าพระป่าเป็นพระป่าจริงๆ นะ พระป่าหมายถึงว่าพระที่ประพฤติปฏิบัติ จะเข้าถึงใจ แต่พระป่าครึ่งป่า ครึ่งๆ กลางๆ ดิบๆ สุขๆ มันจะเข้าไป แต่มันเป็นธรรมชาติของกิเลสที่มันจะดึงเราให้เป็นอย่างนั้นน่ะ แต่ถ้าเรามีครูมีอาจารย์คอยดึง คอยเคาะไว้ แล้วเราพยายามขวนขวายของเราแล้ว เพื่อประโยชน์ของเราไง ให้พระป่าเป็นพระป่าจริงๆ ให้คุณสมบัติของเราเป็นคุณสมบัติของเรา ครูบาอาจารย์ท่านรื้อค้นมาด้วยความทุกข์ยาก หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ ท่านดำรงชีวิตมาเป็นแบบอย่าง แล้วกว่าจะวางหลักวางเกณฑ์ไว้ให้เราก้าวเดินตาม

เรามีครูมีอาจารย์นะ เราต้องยึดของเรา เราใคร่ครวญของเรา อย่าเชื่ออะไรง่ายๆ ความเชื่ออะไรง่ายๆ แต่สังคมมันรวมกันแล้ว มันถึงแบ่งแยกได้ยาก แต่เราต้องยึดหลักของเรา เพื่อประโยชน์ของศาสนาเรา เพื่อเป้าประสงค์ เพื่อถึงที่สุดแห่งทุกข์ของเรา เอวัง