เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๔ เม.ย. ๒๕๕๒

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๒
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาเราเป็นชาวพุทธ เราอยากปฏิบัติกัน ทุกคนตั้งเป้านะ อยากจะพ้นจากทุกข์ เพราะว่าศาสนาพุทธเราเป็นยอดศาสนา พระพุทธศาสนานี่ศาสนาแห่งปัญญา ทำให้เราพ้นจากทุกข์ได้ เราภูมิใจกันว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา เป็นศาสนาแห่งเหตุผล เป็นศาสนาที่เป็นวิทยาศาสตร์ พิสูจน์ได้

ทีนี้ถ้าพิสูจน์ได้ คนเราเกิดมาทุกคนมันมีกิเลส มันมีความนอนใจ พอกิเลสนอนใจ เราได้มีของดีอยู่แล้ว มันมองข้ามว่าสิ่งนี้เป็นของดีของเรา เหมือนสมบัติของเรา เรามองไม่เห็นคุณค่าหรอก แต่เราจะเห็นสมบัติของคนอื่นมีคุณค่าตลอดเวลา ปัจจุบันนี้นะเราไปสนใจศาสนา ตอนนี้ชาวยุโรปเขาสนใจในศาสนาพุทธมาก เราก็ไปเห่อกัน ทั้งๆ ที่ของเรามันมีอยู่มาแต่ดั้งเดิม เพียงแต่ว่าของมันใกล้เกลือกินด่าง เวลามันใกล้ชิดเกินไปแล้วมันไม่เห็นคุณค่า

ดูสิ เวลาพระบวชมา บวชมาเป็นพระเป็นเจ้าขึ้นมาก็อ่อนแอ อ่อนแอก็ต้องเอาโลกเป็นใหญ่ ต้องคอยให้เขามาอุปัฏฐาก ให้เขาคอยมาดูแล ถ้าอุปัฏฐากดูแลด้วยธรรมนะ เขามาดูแลด้วยธรรม ด้วยบุญกุศลของเขา เขาอยากได้ของเขา เราอยู่กับครูบาอาจารย์นะ ครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียง ท่านบอกเลย ทุกอย่างท่านป้องกันให้ได้หมด เว้นไว้แต่ศรัทธาของชาวบ้าน ถ้าชาวบ้านเขาศรัทธา เขาปรารถนาบุญของเขา เขาเจตนาดีของเขา เราปิดกั้นเขาไม่ได้ ถ้าปิดกั้นเขาไม่ได้ เขาจะเข้ามาสัมผัสกับทางวัด เขาก็ต้องขวนขวาย ต้องให้ธรรมเป็นใหญ่ อย่าให้โลกเป็นใหญ่ ถ้าโลกเป็นใหญ่ เราเกรงใจกัน มีการเกรงใจ มีการเอาอกเอาใจกันน่ะ มันก็เลยกลายเป็นใกล้เกลือกินด่าง เพราะเรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องกิเลสน่ะ ลูบหน้าปะจมูก แต่ถ้าเป็นความจริงนะ มันไม่มีลูบหน้าปะจมูก

ความถูกต้อง ถ้าความถูกต้อง เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาด้วยความคิดของเรา ด้วยความไม่รู้เรื่องของเรา เวลาศึกษาศาสนาขึ้นไป สังขตธรรม อสังขตธรรม.. สังขตธรรม คือธรรมะที่ยังแปรสภาพที่ยังสื่อความหมายกันได้ อสังขตธรรม นิพพาน สิ่งที่เหนือธรรมะขึ้นไป อยู่ในพระไตรปิฎก แต่ความจริงเป็นสมมุติหมด มันสมมุติบัญญัติ เวลาธรรมะพ้นจากสมมุติ ถ้าสิ่งที่เป็นความจริงคือนิพพานในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นิพพานในใจของพระสารีบุตร นิพพานในใจของครูบาอาจารย์ นั่นคือความจริง ความจริงคือใจรับรู้รสอันนั้น

แต่ถ้าจารึกออกมา สมมุติหมด สมมุติทั้งนั้น เพราะสมมุติสื่อความหมายไง สื่อออกมาว่าเป็นอย่างนั้นๆ แต่ตัวหนังสือเป็นอย่างนั้นไม่ได้ มันเป็นชื่อ พอเป็นชื่อนี่ใกล้เกลือกินด่าง พอเราเข้าไปยึดติดขึ้นไป มันเป็นกรอบแล้วขยับตัวสิ่งใดๆ กันไม่ได้เลย

นี่ไง เราอยากได้มีดสักเล่มหนึ่ง เราจะซื้อมีดสักเล่มหนึ่ง เราจะตีมีดสักเล่มหนึ่ง เราจะไปหาเหล็กที่ไหน เอาเหล็กจะไปตีมีด จะไปหาเหล็กที่ไหน เหล็กที่จะเป็นเหล็กขึ้นมาได้ ถ้าไม่มีแร่เหล็กในเหมืองแร่เหล็กที่เขาไปค้นคว้าเหล็กมา แร่เหล็กเอามาถลุงเป็นเหล็กเอามาจากไหน มันต้องมีแร่ธาตุนั้นก่อน แร่เหล็กมาก่อนใช่ไหม แล้วก็มาถลุงเป็นเหล็ก พอถลุงเป็นเหล็กขึ้นมาแล้ว เขาเอาเหล็กมาตี เอามาตีมันถึงเป็นมีด

มรรค ผล นิพพานน่ะ ไปเอาที่ไหน เอามาจากไหน จะเอามาจากไหน ถ้าไม่เอามาจากหัวใจของสัตว์โลก นี่ไง แร่ธาตุมันอยู่ที่นี่ นี่ธาตุรู้ สัจธรรมมันอยู่ที่นี่ แต่พระไตรปิฎกบอกถึงวิธีถลุงเหล็ก บอกถึงวิธีตีมีด บอกถึงวิธีทำ การเอาสิ่งนั้นมาเป็นประโยชน์ เอามีดเล่มหนึ่งเพื่อเป็นประโยชน์กับเรา

ฉะนั้นสิ่งที่เป็นวิชาการใช่ไหม เป็นพุทธพจน์ๆ น่ะ ใช่ พุทธพจน์ไม่เคยเถียง เวลาเราเคารพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธ ธรรม สงฆ์.. พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เคารพมาก แก้วสารพัดนึก เราเคารพบูชา แต่ไม่ได้ไปทะนุถนอมด้วยกิเลสไง ถ้ากิเลสเอาไปทะนุถนอมนะ ไม่กล้าแตะต้องเลย ไม่กล้าแตะต้องก็ทำอะไรไม่ได้เลย มีดก็คือมีด เอ้า.. มีดมาจากไหน มีดก็คือมีดไง ก็เป็นมีด นิพพานก็คือนิพพานไง นิพพานก็เป็นสัจธรรมไง สัจธรรมก็เป็นสัจธรรม.. ไม่รู้ที่มาที่ไป ที่มาที่ไปมาจากไหนน่ะ

นี่ไง ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงสอนไว้ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ.. ปฏิบัติ เวลาปฏิบัติ ปริยัติวางไว้ ถ้าปฏิบัติโดยปริยัติ เราไม่กล้าขยับ เราไม่กล้ามีการเปลี่ยนแปลงของจิต ตายตัวไง วิทยาศาสตร์ เวลาบอกว่าเวลาประพฤติปฏิบัติแล้ว พิจารณานามรูป จิตใจมันพัฒนาการไปเป็นวิทยาศาสตร์เลย มันผิดตรงวิทยาศาสตร์นี่ วิทยาศาสตร์มันตายตัว จิตมันพัฒนาไป พัฒนาโดยสมมุติไง โดยโลกียปัญญาไง โดยสิ่งที่เราเกิดเป็นมนุษย์ไง เกิดเป็นมนุษย์แล้ว มนุษย์เกิดมาแล้วก็ตายไป นี่ตายแล้วตายสูญ ในชาติปัจจุบันนี้เราพิสูจน์ได้

จิตก็เหมือนกัน จิตในปัจจุบันนี้ เวลาเราภาวนากันน่ะ จิตมันเป็นอย่างไร จิตเวลาฟุ้งซ่าน มันฟุ้งซ่านมาก เวลาตรึกในธรรม เวลาพระโมคคัลลานะง่วงเหงาหาวนอนนะ เป็นพระโสดาบันนั่งสัปหงกโงกง่วง พระพุทธเจ้ามาด้วยฤทธิ์เลย บอกว่า “ถ้าเธอง่วงนะ เธอให้เอาน้ำลูบหน้า เธอก็ให้ตรึกในธรรม แหงนมองดูดาว ถ้ามันง่วงนักก็นอนซะ นอนก่อน แล้วตื่นขึ้นมาค่อยภาวนาต่อ” นี่ตรึกในธรรม เราก็ตรึกในธรรมกัน พอตรึกในธรรมขึ้นมา อาการมันเป็นไป มันก็เหมือนชีวิตปัจจุบัน มันโลกียปัญญา มันมาจากสัญชาตญาณ มันมาจากข้อเท็จจริงของจิต จิตมันเป็นอย่างนี้ๆ แล้วไปตรึกในธรรม มันเป็นโลกียปัญญา ตรึกในธรรม ตรึกจากกิเลสของเรา ตรึกจากความเพียรของเรา มันไม่เป็นความจริงหรอก

ถ้าเป็นความจริงนะ สติก็เป็นสมมุติ ปัญญาก็เป็นสมมุติ ทุกอย่างเป็นสมมุติ อรหัตตมรรค อรหัตตผลยังเป็นสมมุติเลย อรหัตตมรรคนี่เป็นสมมุติ อรหัตตผลก็เป็นสมมุติ สัมปยุตเข้าไป วิปยุตออกมา ผู้ทำจริง ผู้รู้จริง เห็นจริงหมด สมมุติเพราะอะไร สมมุติเพราะผู้รู้จริง อรหัตตมรรคทำอย่างไร แล้วมันจะเป็นอรหัตตผลเป็นอย่างไร มรรค ๔ ผล ๔ ทำไมอรหัตตผลไม่เป็นนิพพาน ๑ นิพพานกับอรหัตตผลมันต่างกันอย่างไร สิ่งที่มรรค ๔ ผล ๔ น่ะ กระบวนการของจิตน่ะ มันยังเป็นทางทฤษฎี เป็นทางวิชาการที่เราสามารถคุยกันได้ ที่เราสามารถเอามาตีแผ่ สามารถเอามาเปรียบเทียบเคียงกันได้ มันถึงเป็นสมมุติ สมมุติมันสื่อสารกันได้

เวลานิพพานไปแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาอะไรมาเทศน์ เทศนาว่าการมาจากไหน วิมุตติ ธรรมธาตุ พูดไม่ได้ มันเป็นสภาวะของนิพพานอันหนึ่ง แต่ขณะเวลาจะเทศน์น่ะเสวยอารมณ์ ภาราหะเว ปัญจักขันธา ธาตุขันธ์เป็นสมมุติ แต่จิตใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นวิมุตติ สิ่งที่เป็นวิมุตติ สอุปาทิเสสนิพพาน พระอรหันต์ที่มีชีวิตอยู่ จิตใจนั้นเป็นพระอรหันต์ จิตใจนั้นสิ้นกิเลส จิตใจนั้นเป็นธรรมธาตุ พอธรรมธาตุ มันเป็นนิพพาน ๑ แล้วพูดออกมา เอาอะไรมาพูด สิ่งที่พูดออกมานี่ มันเสวยอารมณ์ เพราะธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ เป็นสมมุติ เป็นเศษส่วน ถ้าธาตุ ๔ ขันธ์ ๕.. ขันธ์ ๕ เป็นของจริง ขันธ์ ๕ เป็นของตายตัว เราจะต้องเกิดเป็นมนุษย์ตลอดไป เราจะไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม ไม่ได้ เป็นพรหม ขันธ์ ๑.. ขันธ์ ๑ กับขันธ์ ๕ ต่างกันอย่างไร สถานะมันสมมุติทั้งนั้นน่ะ

แต่จริงตามสมมุติ มันมีของมัน สภาวะแบบของมัน นี่ผู้รู้จริงจะเข้าถึงรู้จริงนะ ถ้าเขาไม่รู้จริง เราไปติดมันไง อย่างเช่นว่าสมาธิก็เป็นสมาธิ สัญญา ถ้าเป็นสัญญาคือเราจำสมาธิได้ ชื่อของสมาธิคือสัญญา เราจำได้ สัญญา แต่ตัวสมาธิเราได้แต่สัญญา คือได้แต่ชื่อมัน แต่เรายังไม่เคยได้สมาธิ เรารู้จักสมาธิด้วยความเป็นจริงไหม

ถ้าได้สมาธิ สมาธิเป็นอนิจจัง เพราะมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป สมาธิ จิตฟุ้งซ่าน เวลาเราดูจิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นสมาธิ จิตมันปล่อยวางทั้งหมด มันเป็นสมาธิของมันก็รู้ว่าเป็นสมาธิ สมาธิมันเกิดจากอะไร สมาธิมันเกิดจากเหตุ เกิดจากการตั้งสติ เกิดจากคำบริกรรม เกิดจากการใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มีดมันเกิดจากอะไร มีดน่ะ เอามีดนั้นมาจากไหน มีดมาจากเหล็ก เหล็กมาจากไหน เหล็กมาจากแร่ธาตุ แร่ธาตุมันมาจากไหน แล้วถ้าเอาฟอสซิลต่างๆ ที่มันสะสมอยู่ในโลกนี้ วิวัฒนาการของมัน นี่ก็เหมือนกัน ธรรมะ ถ้าปฏิบัติแล้วเขาจะวางไว้ไง

เวลาหลวงตา ท่านเป็นมหานะ เวลาท่านจะไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านภาวนามาก่อน ท่านศึกษา ท่านค้นคว้ามาก่อน ท่านพูดกับหลวงตาด้วยความเอ็นดูนะ ด้วยความเคารพนบนอบธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยความเอ็นดูผู้ที่จะขวนขวายหาทางออกนะ บอกว่า “มหา.. มหาเรียนมาถึงขั้นเป็นมหา มันมีความรู้มาก ความรู้ที่เรียนมาเป็นความรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เอาความรู้นี้ใส่ในลิ้นชักไว้ก่อนนะ แล้วลั่นกุญแจมันไว้ด้วย อย่าให้มันออกมาในขณะที่ปฏิบัติ ถ้าออกมาที่ขณะปฏิบัติ มันจะเตะ มันจะถีบ” คือมันจะขัดแย้งกัน มันจะเหมือนกับสร้างภาพไง มันจะสร้างภาพ มันจะเทียบเคียง แล้วพอเทียบเคียง สร้างภาพขึ้นมา มันก็จะเป็นวิปัสสนึก มันเป็นวิปัสสนึก เป็นการสร้างภาพ ฉะนั้น ต้องเอาสิ่งที่เรียนมา ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าลิ้นชักไว้ แล้วลั่นกุญแจไว้ แล้วปฏิบัติไป

ภาคปฏิบัติให้เป็นตามข้อเท็จจริง ไม่ใช่กรอบ ไม่ใช่ขีดตายตัวให้เป็นกรอบอย่างนั้น พอมันตามข้อเท็จจริงขึ้นมาแล้ว ถึงข้อเท็จจริง พอข้อเท็จจริงขึ้นมา มันจะเหมือนกัน คำว่าเหมือนกันคือว่าทฤษฎีกับข้อเท็จจริง ความเป็นจริงอันนั้น เวลามันถึงที่เดียวกัน มันได้ทั้งตัวด้วย ได้ทั้งสมาธิด้วย ได้ทั้งชื่อสมาธิด้วย ได้ทั้งปัญญาด้วย ได้ทั้งชื่อปัญญาด้วย ได้ทั้งวิมุตติ ได้ชื่อวิมุตติด้วย

แต่ถ้าเราศึกษา เราได้แต่ชื่อมัน ชื่อ คำว่า “ชื่อ” เปลี่ยนได้ แต่เราบอก สังขตธรรม อสังขตธรรม เปลี่ยนไม่ได้ มันตายตัว เพราะมันเป็นบัญญัติ “ห้ามกล่าวตู่พุทธพจน์ ภิกษุกล่าวตู่พุทธพจน์ ตัดทอนหรือเพิ่มเติม ภิกษุสวด ๓ ครั้ง ยังไม่ละทิฏฐิมานะอันนั้น เป็นอาบัติสังฆาทิเสส” นี่พุทธพจน์ ไปตัดทอน ไปต่อเติม แล้วพูดถึงประชุมสงฆ์ สงฆ์สวดอยู่ ให้ละความเห็นอันนี้ ถ้าไม่ละความเห็น ทิฏฐิความเห็นอันนี้ จะปรับอาบัติเป็นสังฆาทิเสสเลย

อสังขตธรรม มันเป็นจริงไหม มันก็เป็นจริง นี่เคารพเป็นจริง แต่! แต่เวลาประพฤติปฏิบัติ สิ่งนั้นเราจะเอามาเป็นกรอบตายตัวไม่ได้ เราต้องทำของเรา พยายามทำของเรา มีครูมีอาจารย์ ผิดถูกนี่เป็นเรื่องธรรมดา คนที่ทำงาน คนที่ปฏิบัติไม่ผิดเลย...ไม่มี คนที่ปฏิบัติมันต้องมีผิดเป็นธรรมดา แต่ผิดมันต้องแก้ไขใช่ไหม คำว่า “ผิด” ถ้าเราไม่เคยทำงานเลย นายช่างใหญ่ทำงานด้วยความชำนาญ แล้วนายช่างใหญ่ตายไป มันจะเหลือใครไว้ไปสืบทอดความรู้ทางการช่างอันนี้ล่ะ นายช่างใหญ่ทำด้วยความชำนาญ นายช่างใหญ่ทำเสร็จแล้วนายช่างใหญ่ก็ถ่ายทอดวิชา ถ่ายทอดวิชานะ ฝึกฝนผู้ที่ฝึกงานผู้ที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจะเป็นนายช่างขึ้นมา

ในปริยัติ ในปฏิบัติ คันถธุระ วิปัสสนาธุระ ครูบาอาจารย์สำนักไหน ดูสิ โปฐิละเป็นทางวิชาการ รู้มาก เป็นอาจารย์สอน มีลูกศิษย์ลูกหา ๕๐๐ เลย ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “ใบลานเปล่าๆ” ใบลานเปล่าตลอดเลยนะ ด้วยความที่มีวุฒิภาวะ คือว่ามีโอกาสไง พระพุทธเจ้า ถ้าไม่มีโอกาสพระพุทธเจ้าไม่พูด พอพูดเสร็จแล้ว เขาด้วยความระลึกรู้สึกตัวขึ้นมา “เราเรียนมาจนขนาดนี้ เราจำธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้หมดเลย เราท่องจำ เราเป็นอาจารย์สอน ลูกศิษย์ลูกหาเต็มไปหมดเลย มาเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าควรจะชมเราบ้าง ควรจะให้กำลังใจเราบ้าง ทำไมมาทีไรก็ใบลานเปล่าๆ แต่ท่านต้องมีเหตุผลของท่าน” ฉุกคิดได้ไง ฉุกคิดได้ปั๊บ ตัดสินใจออกปฏิบัติ

พอออกปฏิบัติไป ไปสำนักปฏิบัติ ไปถึงไปกราบอาจารย์ขอปฏิบัติ “โอ๋ย.. จะปฏิบัติได้อย่างไร จะสอนได้อย่างไร” พระปฏิบัติเขาปฏิบัติโดยข้อเท็จจริง ปฏิบัติโดยหัวใจ เรื่องทางวิชาการมันจะพูดได้ละเอียดลึกซึ้งอย่างนั้นน่ะ มันพูดไม่ได้ แต่ความรู้จริงมันรู้อยู่ นี่ด้วยการปฏิเสธว่า “อำนาจวาสนาน้อย ไม่มีปัญญาพอที่จะสอนผู้ที่เป็นนักปราชญ์” ก็เลื่อนไปเรื่อยๆ จนไปถึงเณร พอถึงเณร เณรจะสอนอย่างไร แต่เพราะทิฏฐิมันลงไง เณรก็จะปฏิเสธ อาจารย์ถึงบอกว่า “เณรลองดูก่อน เผื่อเขาจะฟังได้” พอเสร็จแล้วทดสอบเลย

นี่คำว่าทดสอบนะ ถ้าใจไม่ลง เราสังเกตได้ไหมว่าจิตใจเรา ทิฏฐิมานะ เราฟังใครแล้วมันจะมีการปฏิเสธ หัวใจมันจะปฏิเสธ

ทีนี้สามเณรน้อย “ถ้าจะสอน จะต้องทดลองก่อน”

“ทดลองอย่างไรล่ะ”

“เราอยากได้ไม้ไผ่ ให้ห่มจีวรเข้าไปในกอไผ่” เข้าไปในกอไผ่ ห่มจีวรเข้าไปน่ะ มันขาดวิ่นหมดล่ะ

พอทำท่าจะเข้าไปถึง “เราไม่เอาแล้ว ไม่เอา เอาใหม่แล้ว”

“จะเอาน้ำ ให้ห่มจีวรลงไปในน้ำ” นี่ห่มไปเลย เดินลุยน้ำนะ

พอจะลงถึงน้ำ “ไม่เอาแล้ว ไม่เอาแล้ว”

นี่ตรงนี้สำคัญนะ สำคัญที่เชื่อฟัง หงายภาชนะ ฟังเหตุฟังผล ถ้าไม่ฟังเหตุฟังผล เราถูกต้อง เราดีงามไปหมด กิเลสมันมัดตายอยู่ในหัวใจนี่ ทิฏฐิมานะมันปิดกั้นหมดเลย นี่พอเณรทดสอบเสร็จแล้ว จนเห็นว่าจิตใจลง ไม่ยึดติดในกรอบทั้งหมด นี่เปรียบเทียบ เรียนมาจนเป็นอาจารย์สอน โปฐิละๆ จำได้หมด พระไตรปิฎกนี่จำได้หมด สอนได้หมด ลูกศิษย์ลูกหาเยอะแยะไปหมดเลย

แต่เวลาสอนนะ เวลาเณรสอนนะ ให้เปรียบเทียบร่างกายนี้เหมือนกับจอมปลวก มีรูอยู่ ๕ รู ตา หู จมูก ลิ้น กาย ปิดรูทั้ง ๕ รูนั้น คอยดูเหี้ยตัวใหญ่ หัวใจที่มันเป็นกิเลสอวิชชา คือเหี้ยตัวใหญ่ มันคอยออกหาเหยื่อ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ปิดไว้ ๕ รู ให้มันอยู่ที่ใจ แล้วคอยระวังไว้ ถ้ามันโผล่มาให้จับได้ ตั้งสติไว้ จับได้

เรียนมานะ พระไตรปิฎกรู้หมดเลย ทุกอย่างรู้หมดเลย แต่ไม่รู้จักใจของตัว ไม่รู้จักข้อเท็จจริง ได้มาแต่สมมุติทั้งหมดเลย ตัวจริงไม่ได้ ไม่ได้ตัวจริงเลย แต่วันนั้นพอมาตั้งใจทำ ไปจับเหี้ยตัวนั้นได้ จับเหี้ยตัวนั้นคือจับหัวใจของเราได้ เรารู้หมดเลย รู้ทางวิชาการ เป็นไปหมด รู้ไปหมด แต่ไม่รู้จักใจของตัวเอง ไม่รู้จักสมาธิ ไม่รู้จักจิต ไม่รู้จักกายกับใจ ไม่รู้อะไรเลย พอจับได้ ฝึกฝนขึ้นมา ถึงที่สุดนะ สามเณรน้อยสอนถึงเป็นพระอรหันต์ สิ้นสุดกิเลสได้

นี่ไง ถึงพุทธพจน์ ถึงพระไตรปิฎก สมมุติทั้งนั้น เป็นบัญญัติ พระไตรปิฎกเป็นบัญญัติ สมมุติบัญญัติ สมมุติคือโลกสมมุติกัน บัญญัติคือพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าบัญญัติ เป็นทฤษฎี บัญญัติ สมมุติบัญญัติ เวลาประพฤติปฏิบัติไป ข้ามพ้นทั้งดีและชั่ว ข้ามพ้นทั้งสมมุติบัญญัติเป็นวิมุตติ ถ้าเป็นวิมุตตินั่นน่ะตัวจริง ของจริง แต่วิธีการจะเข้าหามันหลากหลาย เวลาพวกเราปฏิบัติ ขิปปาภิญญา ผู้ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย ผู้ปฏิบัติง่ายรู้ยาก.. บัว ๔ เหล่า มันมีนะ มีตัวแปร มีสิ่งต่างๆ เยอะแยะไปหมดเลย

ทีนี้เวลาครูบาอาจารย์ ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนพระโมคคัลลานะก็อย่างหนึ่ง ทำไมสอนพระสารีบุตรอย่างหนึ่งล่ะ ทำไมสอนพระทั้งหมด พระพุทธเจ้าไม่สอนทฤษฎีตายตัว พระอรหันต์ในสมัยพุทธกาลนะ พระพุทธเจ้าสอนแต่ละอย่างๆ ไม่เหมือนกันสักองค์หนึ่ง แล้วเรามาปฏิบัติกันน่ะ “ต้องๆๆๆๆ” นี่ไง โลกเป็นใหญ่ โลกไปบังคับให้ทำเป็นอย่างที่เราต้องการ แต่ถ้าเราปฏิบัติ เราไม่ได้บังคับ มันเป็นไปตามข้อเท็จจริงของใจ ของผู้ปฏิบัติ ของความเป็นจริงของเรา

นี่ไง มันถึงว่าถ้ามันเป็นสมมุติ สมมุติโดยทำลายตัวมันเอง ทำลายตัวเองจนไม่มีอะไรรองรับ ไม่มีเหตุไม่มีผล แล้วพูดถึงขั้นตอนไม่ได้ ถ้าสมมุติตามความเป็นจริง มันจะจริงตามสมมุติ จริง สมาธิเป็นสมาธิจริงๆ ปัญญาเป็นปัญญาจริงๆ แล้วถ้าปัญญา ถ้ายังไม่สมุจเฉทปหาน มันเป็นสมมุติที่ยังไม่ถึงข้อเท็จจริง มันถึงไม่มีความจริงรองรับ ถ้ามีความจริงรองรับ.. พูดธรรมะผิดหมด ถ้ามีความจริงรองรับ ความจริงคืออกุปปธรรม โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี ถ้าความจริงอันนี้รองรับ พูดธรรมะไม่มีผิดเลย! ไม่มีผิดเลย! เพราะมันเป็นจริงจากใจดวงนั้น เป็นจริงจากใจดวงนั้น ใจดวงนั้นจะพูดผิดไม่ได้ เพราะมันเป็นความจริงอันนั้น ถ้าอย่างนั้นแล้วมันจะชี้ทางให้เราไปได้ถูกต้อง ชี้ทางนะ เป็นผู้บอก

ครูบาอาจารย์จะดีสูงส่ง ดีเด่นขนาดไหน ถ้าเราปฏิบัติของเราไม่ถึง ปฏิบัติของเราไม่ได้ มันก็คือไม่ได้น่ะ ดูสิ อีกามันเกาะภูเขาทองคำน่ะ มันร้องกาๆ มันเป็นทองคำไหม นี่เหมือนกัน เรามาในศาสนา ศาสนาเหมือนทองคำ เราเข้ามาเป็นอีกา เราเข้ามาอยู่ในศาสนา เราจะปฏิบัติเราให้เป็นทองคำอย่างนั้นได้ไหม ถ้าเราปฏิบัติได้ มันถึงเป็นสมบัติของเรานะ มันจะเป็นความจริงของเรา ความจริงมันเป็นอย่างนั้น

นี่โลกเป็นใหญ่ เราก็ตื่นเต้นไปกับโลก ถ้าธรรมเป็นใหญ่นะ จะเคารพธรรมวินัยมาก ธรรมวินัยเป็นศาสดาของเรา แล้วเราจะไปกล่าวจาบจ้วงพระไตรปิฎก กล่าวจาบจ้วงสิ่งต่างๆ เป็นไปไม่ได้หรอก แต่คนที่เอามาใช้เป็นทิฏฐิมานะ ดาบสองคมไง อันหนึ่งก็จะสอนเขา อันหนึ่งก็จะมาบาดตนเอง เพราะตนเองไม่รู้ มันบาดเรานะ แต่ถ้าเราใช้เป็นประโยชน์กับเรา มีดอันหนึ่งเราจะได้มา เราจะได้มาอย่างไร สิ่งนี้ได้มาจากเหล็ก ได้มาจากแร่ธาตุ ได้มาจากการถลุง ได้จากการตีเหล็ก ได้จากแหล่งต่างๆ

ธรรมะจะได้มา มันได้มาอย่างไร ไม่ใช่ไปจำมาหรอก...ไม่ได้

มันจะทำขึ้นมาเอง มันจะเป็นเอโก ธัมโม เป็นหนึ่ง เป็นสมบัติของเรา เอวัง