เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๕ พ.ค. ๒๕๕๒

 

เทศน์เช้า วันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๒
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราฟังธรรมนะ ธรรมะนี่มันธรรมะเหนือโลก ถ้าธรรมะแท้ๆ ครูบาอาจารย์ท่านบอกเลย เวลาแสดงออกมามันมีเนื้อหาสาระออกมา ถ้าไม่มีเนื้อหาสาระออกมา มันเป็นธรรมะโลกๆ ไง เวลามาเห็นไหม เป็นแฟชั่นเลย มันเรื่องโลกนะ มันเรื่องของโลก เรื่องความรู้จัก เรื่องมักคุ้นนี่ชื่อเสียงไง โลกธรรม ๘ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ

นี่ชื่อเสียงนินทา เวลาเขาสรรเสริญก็ลอยไปกับเขา เวลาเขาติฉินนินทา หัวใจก็แฟบไง แต่ครูบาอาจารย์ท่านบอกนะ ท่านบอก “ให้ดูใจเรา” เวลาปฏิบัติให้ดูหัวใจเรา ใครจะมา ใครจะไม่มา ใครจะสรรเสริญ ใครจะนินทามันเรื่องของเขา หลวงตาท่านสอนบ่อยมาก

“คนโง่มากกว่าคนฉลาด”

คนโง่ชมสรรเสริญนินทา ไร้สาระเลย คนฉลาดพูดคำเดียวเราต้องฟังนะ เพราะคนฉลาดเขาพูดให้เราได้แง่คิด ไอ้คนโง่นะเป็นล้านเป็นแสนคนมันชมเยินยอ นี่พากันไปตาย พากันไปตายนะ เพราะเรื่องของเขา แต่มานี่เราเป็นอย่างนั้นหมดเลย เป็นแฟชั่น เวลาปฏิบัติกันนะเดินหาเศษตังค์ ย่องหาเศษตังค์กัน

เขามาปฏิบัติไม่ใช่มาหาเศษตังค์ มันต้องมีสติ มีปัญญาสิ การปฏิบัติมันต้องเข้มแข็งสิ ความเข้มแข็งของเรา เห็นไหม มันทุกข์มันยาก.. ใช่ กิเลสมันทุกข์มันยาก เราเคยสุขเคยสบายมา พอจะเอาจริงเอาจังขึ้นมามันทุกข์มันยาก เวลาหลวงตาท่านพูดนะ

“คนที่จะลำบากที่สุด ในการประพฤติปฏิบัติในแนวทางปฏิบัติในปัจจุบันนี้ ใครจะทุกข์เท่าหลวงปู่มั่นไม่มี”

หลวงปู่มั่นท่านทนทุกข์ทนยากมาก ทนทุกข์ทนยากเพราะอะไร? เพราะท่านจะทำตัวเป็นแบบอย่าง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม ท่านทำตัวท่านเป็นแบบอย่างนะ เวลานอน คนเกิดมาไม่เคยนอนราบเลย นอนสีหไสยาสน์ นอนตะแคงมาตลอด นี่ไงพุทธวิสัย มีอยู่องค์เดียวนะ นี่เวลาเรานอน เราอยู่กันสุขสบาย ทำอย่างไรก็ได้ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เคยเป็นอย่างนั้นเลย เห็นไหม

หลวงปู่มั่นท่านทำเป็นตัวอย่าง ถ้าไม่ทำเป็นตัวอย่างนะ ป่านนี้ลูกศิษย์ลูกหามันจะเลยเถิดไปหมดแล้ว ทำเป็นตัวอย่างนะ คนที่มีคุณธรรมเขายังประพฤติปฏิบัติขนาดนั้น แล้วเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราจะทรมานกิเลสของเรา มันจะทรมานได้ง่ายๆ ได้อย่างไร?

แล้วผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเขาต้องการความสงบ ความสงัด เขาไม่มีการมาคลุกคลีหรอก ไอ้ความคลุกคลีมันเป็นปฏิสันถาร คารวะ ๖ นะ ไม่มีปฏิสันถาร ไม่มีอาจริยวัตร อาคันตุกวัตร นี่ศาสนามันจะเสื่อม เสื่อมเพราะอะไร? เพราะเวลาไปวัดไปวาแล้วมันเก้อๆ เขินๆ เวลาเราไปหาเพื่อนเรา เห็นไหม ถ้าเพื่อนเราหมู่ญาติเขาต้อนรับเรา เราก็มีความอุ่นใจ ถ้าเราไปหาใครแล้วไม่มีใครต้อนรับ เราก็เก้อๆ เขินๆ

ปฏิคาหก! ปฏิคาหกหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ เวลาประชุมแล้วประชุมพร้อมกัน เลิกประชุมพร้อมกัน สิ่งนี้มันเป็นคุณธรรม มันเป็นความอบอุ่นของหัวใจ แต่มันไม่ใช่เอาสิ่งนี้มาเป็นเป้าหมายไง เป้าหมายของเรา เห็นไหม ปฏิสันถารเครื่องต้อนรับ แล้วการต้อนรับนี่จะให้อบอุ่นๆ อบอุ่นก็นอนตายกันอยู่นั่นน่ะสิ โอ๋ย.. มาถึงก็โอ๋ โอ๋.. ไม่ต้องปฏิบัติหรอก มาโอ๋กันอยู่อย่างนั้นแหละ

นี่มันเป็นแฟชั่น แต่ถ้าจะเอาจริงเอาจังกันนะเราต้องเข้มแข็งของเรา ถ้าไม่เข้มแข็งของเรา เราชนะตัวเองไม่ได้ ถ้าเอาชนะตัวเองไม่ได้ มันชนะกิเลสไม่ได้ แล้วศาสนามันจะเหลืออะไร? เหลือแต่รูปแบบ เหลือแต่วิธีการ นี่เดินก็เดินหาเศษตังค์กัน หาเศษหาเลยอยู่อย่างนั้นแหละ มันไม่เป็นจริงเป็นจังขึ้นมาหรอก ถ้าเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา มันมีอะไรขึ้นมาล่ะ?

คนเป็นจริงเป็นจัง เห็นไหม ครูบาอาจารย์ ดูสิหลวงปู่มั่นท่านอยู่ป่าอยู่เขาของท่าน ท่านไม่ออกมาคลุกคลีกับโลกเลยนะ ไม่คลุกคลีกับโลก แล้วเวลาหลวงตาท่านถาม แล้วนี่เวลาวันๆ หมดไปด้วยอะไร เราไม่มีเวลาว่างเลยนะ เราไม่มีเวลาว่างเลย นี่ทำงานอยู่ตลอดเวลา ทำงานที่เรามองไม่เห็น ทำงานของท่าน งานของจิตของท่าน ท่านปฏิสันถารเทวดา อินทร์ พรหม ต่างๆ ท่านมีงานของท่านตลอดเวลา ท่านต้องทำงานของท่านตลอดเวลา

งานไง งานเพื่อโลก เพราะไม่ใช่งานเพื่อเรา ไอ้พวกเรานี่เราทำงานเพื่อเรานะ ทำงานเพื่อกิเลสของเรา นี่กิเลสของเรานะ ตัณหาความทะยานอยาก กิเลส เห็นไหม ท่านเปลี่ยนให้เป็นมรรค ความอยากให้เป็นอยากทำคุณงามความดี ความอยาก..

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ”

ถ้าอยากพ้นทุกข์ อยากมีคุณธรรม อยากไปหมดเลย แต่เหตุผลมันไม่มี เหตุผลมันไม่เพียงพอ ถ้าเหตุผลเพียงพอ เห็นไหม นี่วิธีการ การกระทำ ปฏิสันถารขึ้นนั่นเป็นวิธีการทั้งนั้นแหละ วิธีการให้เรามุมานะ วิธีการให้เรามีจุดยืน มีจุดยืนที่ไหน? จุดยืนของจิตนะ จิตเราอยู่ที่บ้าน เราอยู่บ้านเราเป็นคนดีแล้ว ถ้าเราอยู่บ้านเราเป็นปู่ ย่า ตา ยาย นี่สุดยอดในครอบครัวเลย จะไม่มีใครโต้เถียงเลย นี่ปู่ ย่า ตา ยาย ในบ้านบัญชาการได้หมด บ้านนี้เป็นของเรา นั่นน่ะดีทางโลก เห็นไหม

แล้วพอมาวัดมาวาล่ะ มันจะดีของเราเนี่ย มันมานี่กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันยับยั้งได้ไหม? ถ้ามาวัดมาวานี่เราเพิ่งมาฝึกหัดใหม่ เหมือนเด็กอ่อนเลย นี่คนจะฝึกเดิน เด็กที่มันจะฝึกเดิน เราจะให้มันฝึกเดิน เราจะยอมให้มันล้มลุกคลุกคลานบ้างไหม? ยอมให้หกล้มบ้างไหม? เด็กจะให้มันหัดเดิน จะให้มันไม่หกล้มเลย เด็กจะโตมาแล้วเดินได้เลยโดยที่ไม่ล้ม ไม่มีอุบัติเหตุเลยนี่เป็นไปได้อย่างไร?

จิตก็เหมือนกัน เวลาประพฤติปฏิบัตินี่มาจากบ้าน มาเป็นคฤหัสถ์.. ฆราวาสธรรม ธรรมของฆราวาส เห็นไหม ฆราวาสธรรม ธรรมพื้นๆ พอไปวัดไปวา อยู่เฉยๆ นะ หลวงปู่ฝั้นท่านพูดเลย “เวลาทำงานก็ว่าทุกข์ว่ายาก เวลาทำงานก็ว่าเหน็ดว่าเหนื่อย เวลาให้นั่งเฉยๆ กำหนดลมหายใจเข้า กำหนดลมหายใจออก งานอันละเอียดไง”

ดูสิเวลาคนแบกหาม เห็นไหม คนแบกหาม กรรมกรแบกหามเงินเดือนเขาได้น้อย ผู้บริหารจัดการเขานั่งบนโต๊ะเงินเดือนเขาได้มากกว่า เพราะอะไร? เพราะเขารับผิดชอบ

นี่ก็เหมือนกัน งานอาบเหงื่อต่างน้ำมันก็ได้บุญอย่างหนึ่ง งานนั่งเฉยๆ ลมหายเข้านึกพุท ลมหายใจออกนึกโธนี่มันทำไม่ได้ แล้วจิตที่มันฟุ้งซ่านอยู่นี่ อู้ฮู.. เห็นนู่น เห็นนี่ เห็นนิมิต อู้ฮู.. เก่งมาก ภาวนาเก่งมาก มันส่งออกหมดเลย เหมือนกรรมกรแบกหาม ให้จิตนิ่ง ให้จิตที่มันเป็นสมาธิ ให้มันอยู่ในตัวมันเอง ยิ่งลำบากเข้าไปใหญ่ นี่เวลาจิตมันนิ่งไม่รู้จักอีก บริหารไม่เป็นอีก

นี่ไงมันวิวัฒนาการของมัน จิตเวลาภาวนาไปมันจะมีมหาศาลเลย แล้วมีมหาศาล มันจะมาเห็นกับของเล็กน้อยจากภายนอก ความว้าเหว่ ความเหงา ความหิว ความกระหาย ความทุกข์ ความยาก ไอ้เรื่องนี้เป็นเศษเดนเลยนะ เป็นของเศษ ของทิ้งเลย ของที่ไม่มีความหมายเลย

ผู้ที่ปฏิบัติเขามุ่งเป้าไปข้างหน้า พอมุ่งเป้าไปข้างหน้า ของที่อยู่ที่รอบข้างเราจะไม่มีความหมายเลย แต่ถ้าเราไปยึดมั่นตรงนี้นะ อะไรก็ต้องเป็นของเรา อะไรก็ต้องเรียบร้อยไปหมดนะ สิ่งใดดีไปหมดนะ ดูมดแดงสิ มดแดงมันอยู่บนต้นมะม่วง มะม่วงออกมาบอกของมันๆ มันเฝ้าอยู่ นี่ก็เหมือนกัน ไปวัดก็ไปเฝ้าไว้ไง นู่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้ แต่หัวใจเราพัฒนาไหม? หัวใจเป็นไปไหม? ถ้าหัวใจเป็นไปนะ เราไม่ใช่มดแดง เรามาถึงเราสอยมะม่วงไปกินได้เลย นี่ก็เหมือนกัน การพัฒนาของจิต จิตที่มันมีวิวัฒนาการของมัน มันพัฒนาการของมัน เป็นความดีของมัน เห็นไหม ถ้าความดีของมัน ของมันคือใคร?

เวลากิเลสนี่กิเลสไม่ใช่เรา กิเลสไม่ใช่เรา ถ้ากิเลสเป็นเรา เราละกิเลสไม่ได้ แต่ในปัจจุบันนี้กิเลสเป็นเรา ความคิดเป็นเรา ความยึดมั่นถือมั่นเป็นเรา พอเป็นเราขึ้นมา นี่เราศึกษาธรรมเราก็รู้ธรรม รู้ไปหมดรู้ธรรม รู้ไปหมดแต่ไม่รู้อะไรเลย รู้แบบนกแก้ว นกขุนทอง รู้แบบภาษาแต่ไม่ได้เนื้อหาสาระ เห็นไหม อัตถะ พยัญชนะ

นี่อัตถะ ข้อมูลในอัตถะ ในรส ในความหมาย พยัญชนะนี่ข้อมูล ทีนี้พอศึกษามา นี่ผิดพยัญชนะ ผิดตัวอักษร ผิดๆ มันผิดตรงไหน? มันผิดอะไร? น้ำพริกนี่ เวลาฉันน้ำพริกมันก็เผ็ด อ้าว.. ห้ามเผ็ด เผ็ดมันเป็นตัวอักษร รสเผ็ดไม่เกี่ยวกัน กินแล้วต้องนั่งสงบเสงี่ยม นี่มันเผ็ดน่ะ มันเผ็ด จิตใจมันแสบร้อน มันเจ็บปวดแสบร้อน นั่งนิ่งๆ มันก็เจ็บแสบปวดร้อน เวลาจิตมันมีความสงบ มันนั่งนิ่งๆ มันก็มีความสงบของมัน เห็นไหม นี่อัตถะ พยัญชนะ

สิ่งนั้นมันเป็นการศึกษานะ แต่เวลาใจมันเป็นขึ้นมามันมีความเห็นของมัน เราลงทุนลงแรงนะ เรามีครูมีอาจารย์ ครูบาอาจารย์ท่านผ่านการกระทำนั้นมา มันไม่ใช่ทำเป็นแฟชั่น มันเป็นแฟชั่นเพราะเราติดอย่างนั้นมาไง พอติดรูปแบบมา เวลามาปฏิบัตินะแล้วใครจะตรวจสอบอารมณ์ล่ะ? แล้วใครจะคอยดูแลล่ะ?

มันยังไม่ได้ทำอะไรเลย นี่ใครจะตรวจสอบ เอาอารมณ์อะไรมาตรวจสอบ อารมณ์ก็เป็นสัญญาอารมณ์ มันเป็นสัญญา เป็นอารมณ์ เป็นคำพูด เป็นโวหาร เป็นการดิ้นรน เป็นการดิ้นออก เห็นไหม ดิ้นด้วยโวหาร อีกคนหนึ่งก็ใช้โวหารเข้าไปตะล่อม อีกคนหนึ่งก็เอาโวหารออกไป แต่ถ้ามันเป็นสัจธรรมนะตรวจสอบโดยความจริง นี่ธัมมสากัจฉา เอตัมมังคลมุตตมัง พูดผิด พูดถูก คนพูดไม่เป็นนะ

ถ้าพูดถึงตรวจสอบอารมณ์ อารมณ์ไม่ใช่สมาธิ สมาธิเป็นตัวสมาธิ ถ้าอารมณ์เป็นสมาธิ พระพุทธเจ้าไม่เคยบอกว่าอารมณ์คือสมาธิเลย อารมณ์คืออารมณ์ ความคิดเป็นอารมณ์ ความคิดไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ความคิด สมาธิเป็นสมาธิไม่ใช่อารมณ์ ไม่ต้องตรวจสอบอารมณ์ อารมณ์ตรวจสอบว่านั่นคือโวหาร แต่ถ้าเป็นความจริงของมันล่ะ?

ถ้าความจริงของมันนะพูดไม่ได้ คนพูดสมาธิผิด สมาธิถูก คนฟังถ้าเป็น พูดคำเดียวก็รู้ ไม่ต้องมาตรวจสอบ แล้วสมาธิมันเข้มแข็ง สมาธิมันลึก ตื้น หนา บางต่างๆ มันลึกนะ สมาธิมันแล้วแต่จริตของคน จริตของคนที่สร้างบุญญาธิการมา เห็นไหม ดูสิดูอย่างเราเป็นคนที่โทสจริต อีกคนหนึ่งไม่ใช่โทสจริต เป็นโมหจริต นี่โทสจริตจะมีอารมณ์โกรธก่อน โมหจริตมีความเชื่อไปก่อน นี่ความเชื่อของเขา เขาเชื่อของเขาไปก่อน แล้วเวลาทำสมาธิมันแตกต่าง มันหลากหลาย แล้วสมาธิของใครเป็นสมาธิที่ถูกต้อง สมาธิของกระบวนการสมาธิแค่ไหน?

ในขณิกสมาธิมันก็มีหยาบ มีกลาง มีละเอียด ในอุปจารสมาธิก็มีหยาบ มีกลาง มีละเอียด ในอัปปนาก็มีหยาบ มีกลาง มีละเอียด มันมีหยาบ มีกลาง มีละเอียด ในหยาบ กลาง ละเอียดก็มีหยาบ กลาง ละเอียดต่อๆ ไปอีก เพราะอะไร? เพราะความว่าง เห็นไหม

ฌานเป็นอจินไตย ความว่างเป็นอจินไตยอันหนึ่ง สมาธิเป็นอจินไตยอันหนึ่ง อจินไตยคือว่ามันหลากหลายตามความรู้สึก ตามพื้นฐานของจิต พื้นฐานของจิตของคนไม่เหมือนกัน พื้นฐานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เท่ากัน แต่พื้นฐานของจิต เห็นไหม ดูสิเวลาเรากินอาหารนี่รสชาติแตกต่างกันไป แต่ความอิ่มเหมือนกัน ความรู้สึกของใจ ถ้ามันมีหลักฐานของจิตมันก็เหมือนกัน เหมือนกันคือมันเป็นสมาธิเหมือนกัน สมาธิเหมือนกันแล้วเราใช้ประโยชน์ไหม?

นี่ตรวจสอบอารมณ์ๆ ไม่ต้องตรวจสอบ อาจารย์ที่เป็นไม่ต้องตรวจสอบ จิตที่มันมีกำลัง มันพอแล้ว ดูสิเราต้มน้ำ น้ำเดือดแล้วเรารักษาอุณหภูมิของมัน แล้วอุณหภูมินี่เรารักษามันคงที่ได้ไหม? สมาธิคงที่ที่ไหนมี สมาธินี่มันจะคงที่ที่ไหนมี? มันไม่มีหรอก แล้วสมาธิมันเป็นอุณหภูมิของน้ำ น้ำนี่อุณหภูมิที่มันพอแล้วจะเอามาใช้ประโยชน์ไหม? แล้วใช้ประโยชน์เป็นไหม? เป็นสมาธิแล้วเอามาใช้ประโยชน์ไหม?

ถ้าไม่มีสมาธิ นี่อุณหภูมิน้ำไม่มีเราทำอาหารไม่ได้ อาหารที่มันสุกขึ้นมาได้เพราะความร้อน เพราะอุณหภูมิมันได้ที่ ถ้าไม่มีอุณหภูมิ ไม่มีสมาธิ ไม่มีความต่างของอุณหภูมิ ความต่างของน้ำ ความต่างของอุณหภูมิต่างๆ ไม่มีสมาธิที่หยาบ กลาง ละเอียด มันจะเป็นอาหารสุก มันเป็นไปไม่ได้

ถ้าเป็นไปไม่ได้ ถ้าเรามีอาหาร เรามีความร้อน เรามีไฟเพื่อจะปรุงอาหาร แล้วอาหารมันอยู่ไหน? วัตถุดิบมันอยู่ไหน? ถ้ามันอยู่ไหนนะ ไม่ต้องมาตรวจสอบหรอก อารมณ์นี่มันเป็นเอง มันเป็นได้ ไม่ใช่แฟชั่น ปฏิบัติเป็นแฟชั่นมันก็เป็นแฟชั่นตลอดไปนั่นล่ะ มันไม่ได้อะไรหรอก มันปฏิบัติเสร็จแล้วเอากระดาษมาคนละแผ่น ได้กระดาษมาแผ่นหนึ่ง กลับมาบ้านก็ภูมิใจว่าได้กระดาษมาแผ่นหนึ่ง แต่หัวใจเรื่องศาสนาไม่รู้อะไรเลย

ไม่รู้อะไรจริงๆ นะ รู้แต่กิริยาภายนอก รู้แต่อัตถะ พยัญชนะ แต่ความจริงในใจเคยเกิดขึ้นมาไหม? ถ้าความจริงในใจเกิดขึ้นมา เห็นไหม สิ่งที่เกิดขึ้นมานี่จะมากจะน้อยนะ หลวงปู่ขาวท่านเคยพูดไว้ ท่านบอกเลยนะ

“ให้เอ็งสอนไปเถอะ คฤหัสถ์นี่สองแสนคน จะภาวนาเป็นซัก ๒ คนได้ไหม?”

หนึ่งแสนต่อหนึ่ง ล้านต่อหนึ่ง แล้วเวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นไป ดูสิประชากรของโลก ๖,๐๐๐ กว่าล้าน พระอรหันต์ในโลกนี้มีกี่องค์ หนึ่งในพันล้าน แล้วหนึ่งในพันล้าน แล้วคิดดูสิคนที่ปฏิบัติมันรู้ถึงการประพฤติปฏิบัติขึ้นมาขนาดนี้ แล้วเราจะมาคลุกเคล้ากัน เราจะมาเรียบง่าย มันไม่ใช่การศึกษานะ

การศึกษาได้ ยกชั้นการศึกษา การศึกษานี่มันเป็นการให้คะแนนกัน การวัดคุณวุฒิต่างๆ กันไป แต่เรื่องของใจนะ อริยภูมิ ภูมิของจิตที่มันเป็นไปได้ แล้วถ้าภูมิของจิตที่มันเป็นไปได้เราจะต้องสงวนรักษา สิ่งที่เขามานี่ มันเป็นปฏิสันถารก็ปฏิสันภาร แต่ปฏิสันถารพอสมควร แต่ไม่ใช่ว่าปฏิสันถารอันนั้นจะเป็นความจริง

ปฏิสันถารนี่ต้องปฏิสันถาร ต้องดูแลรักกันตลอดไปไม่ใช่นะ เราต้องพัฒนาการนะ ใจของเรา เรามีเป้าหมายใช่ไหม? นี่อธิษฐานบารมี เวลาเราบอกว่าอธิษฐานเป้าหมายอธิษฐานไม่ได้ เป็นการค้ากำไรเกินควร ทุกคนมีเป้าหมายเพื่อพ้นจากทุกข์ทั้งนั้นแหละ แต่ทำได้หรือไม่ได้ นี่เรามีเป้าหมายแล้ว เราพยายามเข้าหาเป้าหมายนั้น

อธิษฐานบารมีนะ เราต้องพัฒนาการของเรา เราต้องวิวัฒนาการ ต้องทำของเรา ต้องยืนของเราให้ได้ ถ้ายืนของเราได้นะ นี่สมบัติของเรานะ ดูพระเราสิ พระเรามีอะไรเป็นสมบัติ มีศีล สมาธิ ปัญญา มีคุณธรรมเป็นสมบัติ โลกนะเขามีแก้ว แหวน เงิน ทอง เขามีทรัพย์สมบัติเป็นสมบัติ แต่พระมีศีลมีธรรมเป็นสมบัติ เราเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เรามาปรารถนาธรรม เราต้องเอาธรรมเป็นสมบัติ

เอาธรรมเป็นสมบัติ ธรรมะเป็นสมบัติคืออะไร? ธรรมะเป็นสมบัติคือว่าไม่ติดในอะไรเลย สิ่งที่ไม่ติดในอะไรเลยนะ แต่ติดในมรรค ติดในเหตุ ติดในความเพียรชอบ ความเพียรชอบต้องติด เพราะความเพียรชอบเป็นความวิริยะอุตสาหะ เป็นการกระทำ ไม่ใช่ไม่ติดอะไรเลยแล้วทิ้งหมดเลยนะ ทิ้งไม่ได้ ต้องติดในความดี แล้วความดีนี่ถึงที่สุดมันปล่อยความดีแล้ว คำว่าปล่อยมันจะรู้เอง

ต้องรู้เองนะ ถึงความดีก็ต้องทิ้ง แต่ขณะที่จะไปนี่ต้องอาศัยความดีไป เห็นไหม อาศัยมรรคญาณไป อาศัยธรรมะ อาศัยธรรม กิริยา วิธีการ อาศัยสิ่งนี้ไป ถึงที่สุดแล้วต้องทิ้งสิ่งนี้ทั้งหมด แต่ก่อนจะทิ้งมันรู้ถึงว่าจะทิ้งแล้วทิ้งอย่างไร? แต่ถ้าเป็นพวกเรานี่ทิ้งโดยกิเลสนะ ทิ้งแบบขี้ลอยน้ำ ทิ้งแบบไม่รู้อะไรเลย แล้วเราจะไม่มีอะไรเลย แล้วเราจะไม่มีสติเลย แล้วเราอธิบายอะไรไม่ได้เลย

แต่ครูบาอาจารย์เรานะ เห็นนิ่งๆ อยู่นั่นน่ะ อย่าดูถูกความนิ่งอยู่ของพระอริยเจ้านะ เพราะกว่าที่จะเป็นพระอริยเจ้าขึ้นมานี่มันมีการกระทำ พื้นฐานถือศีลอย่างไร? ทำสมาธิอย่างไร? แล้วสมาธิออกไปเป็นวิปัสสนานี่เกิดปัญญาอย่างไร? แล้วมันมีพื้นฐาน มีสิ่งที่เกื้อหนุนกันมาอย่างไร? ครูบาอาจารย์ของเราถึงมาดูแลเรา แล้วพยายามรักษาตรงนี้ไว้ไง รักษาความสงบ ความสงัด รักษาถึงเหตุการณ์ที่จะเข้าไปถึงธรรม แต่พวกเราไม่เข้าใจไง จะเอาธรรมกันเลย แล้วเหยียบย่ำวิธีการทั้งหมด ทำลายวิธีการทั้งหมด แล้วมันจะเข้าไปถึงเป้าหมายได้อย่างไร?

ถ้าใครมานี่พยายามรักษาวิธีการ คือเราพยายามอย่าฝืน! อย่าฝืนข้อวัตรปฏิบัติ อย่าออกนอกลู่นอกทาง นี่คือวิธีการนะ แล้วถ้าใครปฏิบัติเข้าไปถึงนะ จะกลับมากราบตรงนี้ เห็นไหม หลวงตาเวลาท่านบอกท่านพ้นจากทุกข์นะ ท่านบอกว่า

“จะสอนใครได้ จะสอนใครได้นะ”

ถึงที่สุดแล้วท่านบอกว่า “อ้าว.. แล้วเราทำไมทำมาได้ล่ะ?”

“ทำมาจากข้อวัตรปฏิบัติ”

เราทำมาได้จากการส่งเสริมมาจากวิธีการนี่แหละ สิ่งนี้มันส่งเสริมมา ท่านถึงสงวน หลวงปู่มั่นสงวนมาก ครูบาอาจารย์ท่านสงวนมาก สงวนวิธีการเข้าไปหาเป้าหมาย แต่เราจะมาเหยียบวิธีการกัน บอกวิธีการไม่มีความสำคัญ แล้ววิธีการไม่สำคัญ ถ้าวิธีการไม่มีมันจะเข้าหาเป้าหมายได้อย่างไร? เห็นไหม

นี่บอกไม่ให้ติด ไม่ให้ติด แต่ก็ต้องอาศัยสิ่งนี้เดินไป เราถึงต้องจริงจังของเรา อย่าทำตามแต่โลกเขา ลมพัดลมเพไง เวลาเขาเห่อก็เห่อกัน เวลาเขาเลิกก็เลิกกันไป นี่มันเป็นไปตามแฟชั่น เราไม่ทำตามนั้นนะ เราต้องทำจริงทำจังของเรา เพื่อความเป็นมงคลชีวิตของเรา เอวัง