เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๑ พ.ค. ๒๕๕๒

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๒
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาเราปฏิบัติธรรม ธรรมะ เห็นไหม ธรรมะมันต้องรอบ ครบวงจร ถ้าธรรมะไม่รอบ ไม่ครบวงจร เราเอาตัวรอดกันไม่ได้หรอก เราทำอะไรกันเราได้แต่วิชาชีพ เราถนัดกันคนละอย่าง ๒ อย่าง แล้วสังคมรวมขึ้นมา สังคมมีคนมาส่งเสริมกัน สังคมมันจะหมุนเวียนไปได้ นี่สังคมอยู่ได้ สังคมถ้ามันหลากหลาย แต่ปฏิบัติธรรม ความหลากหลายนี่มันหลากหลายโดยกิเลสเรามันจะหาทางออก แต่ธรรมะต้องปิดกั้นให้ได้หมดไง

เวลาเราปฏิบัติเราแบบว่าจะเอาสะดวกเอาสบายกัน เอาลัดเอาสั้นกัน เอาลัดเอาสั้นแล้วเราไปเอามาเฉพาะส่วน เหมือนนักศึกษาเราไปเรียนเมืองนอกเอาแต่เรื่องขยะๆ มานะ แต่เรื่องขยันหมั่นเพียร เรื่องความอดทน เรื่องความวิริยะอุตสาหะ เรื่องความมุ่งมั่นของเขา ในทางยุโรป ในทางตะวันตกเขานะ เพราะภูมิประเทศ อุณหภูมิของเขามันบังคับ เวลาหิมะตก เวลาไม่มีจะกิน เขาต้องสะสม เขาต้องหาพลังงานของเขาไว้ใช้

ไอ้เรามันประเทศอันสมควรไง มีฤดูกาล มันถูกต้องตามฤดูกาล เราอยู่ด้วยความสุขสบายนะ เราอยู่กระท่อมห้อมหอเราก็อยู่ได้ ไปอยู่ทางเมืองหนาวนะ ไปอยู่กระท่อมห้อมหอหนาวตายเลย เห็นไหม เขาถึงมีความขยันหมั่นเพียร.. ความดีความงามของเขาไม่เอา ไปเอาขยะของเขามา นี่เวลาสิ่งที่เป็นขยะ เห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติเอาลัดเอาสั้น ดูอย่างมหายานเขาว่า บอกว่า “ให้ปล่อยวาง สว่างโพลงของเขา” ความสว่างโพลงของเขา แต่เขาทำของเขาด้วยความเป็นจริงนะ ด้วยความเป็นจริง เขาวิริยะอุตสาหะนะ ความดีงามของเขาก็มี แต่ความที่ปฏิบัติแล้วไม่ถึงก็มี เห็นไหม ดูสิดูอย่างว่านิพพาน นิพพานแล้วยังสุขาวดี นิพพานแล้วนะ ยังมีเหนือนิพพานอีก

สิ่งนี้มันฟ้องมันบอกได้หมดเลย คนเราถ้าถึงนิพพานแล้ว นิพพานถึงที่สุด นิพพานเป็นธรรมธาตุ สิ่งที่เป็นธรรมธาตุ ธาตุที่เป็นธรรมแล้ว ไม่มีสิ่งใดเสมอไปกว่านั้น ต่ำไปกว่านั้น ไม่มีสิ่งใดจะก้าวสูงให้ขึ้นไปกว่านั้นได้ แต่เวลาไปถึงนิพพานแล้วนะก็จะสูงกว่านิพพานอีก เห็นไหม นี่คืออะไร? นี่คือตรรกะ นี่คือความเห็น นี่คือความคิดทั้งหมดนะ

สิ่งที่เราจะปฏิบัติ นี่เราจะปฏิบัติ เราจะเอาประโยชน์ของเขา เราจะเอาแนวทางของเขา เราต้องเข้าใจให้รอบว่าเขาพูดเพื่ออะไร? เหมือนเรานี่ เวลาครูบาอาจารย์ท่านบอกให้ทำความสงบของใจ ทำความสงบของใจ ความสงบของใจคือการปล่อยวางนะ ความสงบของใจคือปล่อยวางจากทิฏฐิมานะ ปล่อยวางจากความฟุ้งซ่าน ความปล่อยวางนั้นเป็นสมาธิ นี้คือการปล่อยวาง

แต่ไม่บอกว่าปล่อยวาง บอกให้ตั้งสติ ให้มีการกระทำ เพราะเหมือนเราสอนเด็กๆ ลูกเราเด็กน้อย เราจะปล่อยให้ลูกเราทำตามใจตัวได้ไหม? เราก็ต้องให้ตั้งสติ ให้ยับยั้ง ยับยั้งก็คือการปล่อยวางนั่นล่ะ แต่เวลาเขาบอกว่าให้ปล่อยวางๆ โอ๋ย.. วางแบบนี้มัน.. เราสอนนะเราสอน นี่ครูบาอาจารย์ของเรามีช่องทางขึ้นมา เวลาสอนขึ้นมา เด็กนี่ให้ขยันหมั่นเพียร ให้มีการศึกษา ให้ทันโลกเขา มันจะยืนในสังคมได้

ทำสมาธิ มีสติของเราขึ้นมา ตั้งสมาธิขึ้นมา มีสติแล้วมีคำบริกรรม จิตมันมีที่เกาะ มีที่ไป มันก็เจริญเติบโตไปธรรมชาติของมัน นี้บอกว่าปล่อยวางเลย ให้ปล่อยวางเลย เด็กให้ปล่อยวางเลย เด็กๆ ไม่ต้องทำอะไรเลยให้ปล่อยวางเลย ก็ชอบน่ะสิ เด็กๆ นี่นะ เราบอกว่าเมืองไทยนี่เด็กๆ ไม่ต้องมีการศึกษา เด็กๆ อยู่กันตามสบายเลย เด็กมันชอบนะ แต่สังคมอยู่ได้ไหม? ความเป็นจริงมันเป็นไปได้ไหม?

นี่ก็เหมือนกัน สอนให้ปล่อยวางเลย ปล่อยวางเลย เอาอะไรเป็นที่ยึด นี่ไม่มีจุดยืน ไม่มีคำบริกรรมมันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้นะ ถ้าปล่อยวางก็ปล่อยวางโดยกิเลส เห็นไหม ดูสิไปนิพพานแล้วก็ยังนิพพานมีสูงมีต่ำนะ แล้วความเห็นของเขานะ ความเห็นของเขาบอกว่า พระอรหันต์กลับมาเกิดได้ พระพุทธเจ้าก็กลับมาเกิดใหม่ได้ นี่ก็กลับมาเกิดใหม่ได้

นี่เป็นคำสอนของมหายานนะ แล้วเราไปเอาส่วนดีของเขามา แล้วส่วนที่ไม่ดีมันก็มีมากมายมหาศาล ทีนี้ในส่วนของเขาก็มีดีและไม่ดี ในการปฏิบัติที่เราเอามา เราปฏิบัติเราก็ต้องคิดว่าถูกหรือไม่ถูก จริงหรือไม่จริง มันควรคิด นี้มันไม่คิด เราเห็นว่าคำพูดมันเรียบง่าย คำพูดที่ให้มันสะดวกสบาย เราก็จะเอา อะไรที่บอกว่า..

ไอ้พวกขี้เกียจขี้คร้าน ไอ้พวกมักง่าย พอบอกนี่มันชอบทันทีเลย แต่ไอ้พวกขยันหมั่นเพียร ไอ้พวกที่มีสติสัมปชัญญะเขาต้องพิสูจน์นะ เขาต้องพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่จริง เห็นไหม กาลามสูตรพระพุทธเจ้าสอนไว้หมดแล้ว ไม่ให้เชื่อ ไม่ให้เชื่อที่ใครบอก ไม่ให้เชื่อแม้แต่อาจารย์ของตัวบอก ไม่ให้เชื่อแม้แต่พระพุทธเจ้า ไม่ให้เชื่อใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ให้เชื่ออะไรเลย

ไม่ให้เชื่อแต่ให้มีศรัทธา พอมีศรัทธาเราจะทดสอบ เราทดสอบนี่หัวใจเรามันรู้เอง หัวใจเราจะรู้เองนะ นี่จะว่าง จะดีขนาดไหน เวลามันเสื่อมไปนี่หมดหัวใจเลย แล้วทุกข์ยากมาก.. คนเรานะ นี่เราทำมาหากินกันด้วยปากกัดตีนถีบ เราก็อยู่ของเราได้เพราะเรามีสถานะนี้ แต่เรามีฐานะร่ำรวยมาก แล้วล้มละลายไปทุกข์มากเลย จิตมันพอมีอยู่มีกินไง มันพอมีความสุขของมันบ้าง แล้วเวลามันเสื่อมไปนะจะรู้ว่าทุกข์ขนาดไหน

เวลาครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติ ท่านห่วงตรงนี้นะ ทำก็แสนยาก เวลาตีเมืองนี่ตียากมากเลย ตีเมืองแล้วจะปกครองเมืองยิ่งยากเข้าไปใหญ่ จะทำสมาธินะแสนยาก แต่รักษาสมาธิไว้อยู่กับเรายิ่งยากกว่า แล้วถ้าไม่มีพื้นฐาน ไม่มีสติ ไม่มีการกระทำ ไม่มีคุณงามความดีขึ้นมา เราจะรักษากันไว้ได้อย่างไร? ถ้ารักษาไว้ไม่ได้ก็ทำกันเป็นอะไร? มันก็เหมือนกับสวะไง ไม่มีสิ่งใดเลย ลอยไปตามแต่อารมณ์ความรู้สึกของตัว

นี่สิ่งที่มันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยากนะ เวลาประพฤติปฏิบัติเราคิดกันอย่างนั้นล่ะ คิดโดยโลกไง โลกเป็นใหญ่ เห็นไหม ดูสิเดี๋ยวนี้เขาบอกต้องประชาชนเป็นใหญ่ ประชาชนเป็นใหญ่ไง นี่ประเพณี วัฒนธรรม ถ้าผู้นำสังคมทำสิ่งใดแล้วประเพณียอมรับ นี่ครูบาอาจารย์องค์นั้นก็มีชื่อเสียงขึ้นมา พอมีชื่อเสียงขึ้นมา เห็นไหม โลกเป็นใหญ่เพราะอะไร? เพราะคนเยอะ คนไปเยอะ

นี่โลกเป็นใหญ่ไง ประชาชนเป็นใหญ่ สังคม ประเพณี วัฒนธรรมเป็นใหญ่ไง ไม่ใช่ธรรมเป็นใหญ่ ถ้าธรรมเป็นใหญ่ เห็นไหม เถรวาทเราธรรมเป็นใหญ่ เอาพระพุทธเจ้าเป็นที่ตั้ง ทำอะไรนะต้องเทียบเคียงกับธรรมวินัย นี่เราบอกว่าเป็นผู้ที่ใจคับแคบ เป็นผู้ที่เห็นแก่ตัว เป็นผู้ไม่เปิดกว้าง ใครมันจะมีปัญญาเท่ากับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า? ในทางวิชาการนะลูกศิษย์ต้องเก่งกว่าอาจารย์ ถ้าวงการวิชาการ ถ้าทำวิจัย ทำต่างๆ การศึกษานะถ้าลูกศิษย์ไม่เก่ง ทางวิชาการมันจะเรียวแหลมไปเรื่อยๆ แต่ทางธรรมไม่มีทาง

นี่พุทธวิสัยนะ การสร้างสมมามหาศาลเลย แล้วการสร้างมาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราสาวก สาวกะ การสร้างมาไม่เท่ากัน ดูสิควักกระเป๋ามาสิ เงินไม่เท่ากัน เงินเรามีน้อยกว่า เราจะตีตัวเสมอผู้ที่มีเงินมากกว่าเป็นไปได้ไหม? เอาเงินมากองกัน เงินขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔ อสงไขย แสนมหากัป แล้วของเรามันกี่อสงไขยล่ะ?

เราเกินกว่านั้นแต่เราทำแต่ความชั่วมา ทำแต่ความเห็นแก่ตัวมา เรามีแต่เอารัดเอาเปรียบเขามา แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่พระโพธิสัตว์นะ มีแต่เสียสละมา เป็นสัตว์ก็เสียชีวิต เป็นหัวหน้าสัตว์ก็รักษาฝูงสัตว์ เป็นผู้นำสังคม เป็นจักรพรรดิก็ดูแลประชากร เสียสละตัดเลือดเนื้อเชื้อไข เสียสละได้ตลอดไป นี่ ๔ อสงไขยโดยที่ไม่มีความเสียหายเลย เห็นไหม มันต่อยอดมา แต่ของเรามันเกิน ๔ อสงไขย เกิน ๑๖ อสงไขย เกินตลอดเลย เพราะบุพเพนิวาสานุสติญาณไม่มีต้นไม่มีปลาย จิตนี้ไม่มีต้นไม่มีปลาย ไม่มีที่มานะ ทางวิทยาศาสตร์บอกเลย จิตนี้มาจากไหน? ต้องมีจุดเริ่มต้น ถ้าไม่มีจุดเริ่มต้นมันเกิดมาได้อย่างไร?

ถ้ามีจุดเริ่มต้นมันวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ต้องเป็นทฤษฎีที่ว่าทุกคนจะเถียงกันไป ทุกคนจะเอาชนะคะคานกัน แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกนะ ต่อไปนี่กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าจะจมดิน ผู้ดีจะเดินตรอก ขี้คอกมันจะเดินถนน นี่ท่านพูดไว้นะ ต่อไปมันจะมีฝนเหล็ก

ในพระไตรปิฎกเขียนไว้หมดนะ พยากรณ์ไว้หมดเลย พระพุทธเจ้าพยากรณ์ไว้หมดเลย แต่คำว่าฝนเหล็กนี่คิดว่าเครื่องบินแล้วก็ทิ้งระเบิดนี่นะฝนเหล็ก กับครั้งสมัยพุทธกาล ๒,๐๐๐ กว่าปี ถ้าพูดออกไปประชาชนจะเชื่อไหมว่ามันจะมีฝนเหล็ก พอพระพุทธเจ้าบอกมีฝนเหล็กคนก็งงนะ งงไปหมดเลยฝนเหล็กเป็นอย่างไร? แต่ปัจจุบันนี้ไม่ต้องงงเลย เห็นไหม เห็นหมด พระพุทธเจ้าพยากรณ์ไว้หมดเลย อนาคตังสญาณรู้หมดนะ

นี่พุทธวิสัย สิ่งที่เป็นพุทธวิสัยมันมีคุณค่าขนาดนี้ แล้วเราบอกว่าเราจะเอาความรู้ของพวกเรา ว่าธรรมวินัยนี้ไม่เปิดกว้าง ธรรมวินัยนี้คับแคบ ธรรมวินัยเห็นแก่ตัว.. ยิ่งกว่าเปิดกว้างนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนามารื้อสัตว์ขนสัตว์ เหมือนเราเป็นพ่อแม่ เรามีลูกมีเต้าเยอะๆ เราอยากให้ลูกเต้าเราเข้มแข็ง อยากให้ลูกเต้ามีที่ยืนในสังคม เรารักลูกเราไหม? เราอยากให้ลูกเป็นคนดีไหม?

พระพุทธเจ้านี่เมตตาสงสารนะ อยากจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ แต่เหมือนกับเรามันลูกเกเรไง เวลาพ่อแม่สอนให้ไปทางดีนี่ไม่ไป แต่เวลาเพื่อนมันชวนไป นี่ประชาชนเป็นใหญ่ไง ประเพณี วัฒนธรรมไง ปล่อยวางๆ ไง มันไปกับเขาหมดเลย เวลาเพื่อนมันชวนไปเสพยาเสพติดนะ มันชวนไปเที่ยวเตร่เร่ร่อนนะ โอ้โฮ.. ยอดๆ ยอดๆ เวลาพ่อแม่บังคับนะบอกว่าพ่อแม่ไม่ดี

เหมือนกัน! นี่เถรวาทเรา สิ่งที่ประพฤติปฏิบัติ ครูบาอาจารย์สอนมา เห็นไหม สิ่งที่ประพฤติปฏิบัติมา รากเหง้ามาจากพระพุทธเจ้าทั้งหมด แล้วพระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้มาได้อย่างไร? อานาปานสติ กำหนดอริยสัจเข้ามาชำระล้างกิเลสในหัวใจ เป็นอริยสัจทำลายกิเลสออกมา แล้วนี่สั่งสอนมา แล้วลูกศิษย์ลูกหา สาวก สาวกะ ก็ลูกๆ หลานๆ นั่นล่ะ แล้วแต่จริตนิสัยออกไป

สิ่งดีๆ เราก็ควรรับ เราควรศึกษา เราไม่ปิดกั้นหรอกอะไรที่ดี เราเห็นไหม เราเป็นคนทุกข์คนยาก มีคนมาช่วยเหลือเจือจานเรา มีคนมาค้ำจุนเรา เราเอาไหม? ทุกคนอยากได้ทั้งนั้นแหละ เวลาเราปฏิบัติกัน เวลาเราทำมาหากินกันเราอยากให้มีคนช่วยเหลือนะ อยากให้มีฤทธิ์มีเดช อยากทำให้ประสบความสำเร็จ

แล้วสิ่งที่มีประโยชน์กับเรานี่เราเต็มใจ แต่สิ่งที่พาให้เราเสียเราก็ต้องไม่เอาสิ สิ่งที่ทำให้เราออกนอกลู่นอกทาง เรายิ่งทุกข์ยากอยู่แล้ว ยังจะพาเราให้ไปทำกรรมทำเวร ให้มันทุกข์ยากไปมากกว่านี้ เราจะเชื่อไหม? เราก็ต้องมีปัญญาแยกแยะ ไม่ใช่ว่าสิ่งใดมันจะดีไปหมด แล้วมีเลวไปหมดหรอก เหรียญมีสองด้านทั้งนั้นแหละ สังคมทุกสังคมมีคนดีและคนไม่ดีปนกัน

ในสัจธรรม ในประเพณี วัฒนธรรม เรารู้จักใช้ รู้จักดูแลนะ เราเอามาใช้ประโยชน์ ดูสิอาหารนี่ ไก่เขากินกระดูกไหม? ไก่เขากินแต่เนื้อนะ กระดูกเขาทิ้ง นี่ก็เหมือนกัน สิ่งต่างๆ ที่มันเป็นประเพณี วัฒนธรรม โลกเป็นใหญ่ เห็นไหม ประชาชนเป็นใหญ่ คนโง่ คนตาบอด มันก็พอใจ มันมีอำนาจมันก็บังคับบัญชาไปตามของเขา

นี่มันก็บิดเบี้ยวไปตามโลก แล้วเราทดสอบ เราตรวจสอบ เราประพฤติปฏิบัติของเรา เราต้องมีจุดยืนของเรา เราทำดีเพื่อเรานะ ยิ่งมีครูบาอาจารย์คอยชี้นำ ครูบาอาจารย์ชี้นำแล้ว ท่านชี้นำใช่ไหม? แต่มันเป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นความรู้สึกของเราไง ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี่ง่ายมากนะ ถ้าปฏิบัติเป็นไปอยู่กับใครนะ ถ้าอาจารย์พูดผิดจากหลักธรรมนะ..

อริยสัจมีหนึ่งเดียว! นิพพานจะลัทธิศาสนาไหนก็มีหนึ่งเดียว นิพพาน ธรรมธาตุมีหนึ่งเดียว ไม่มีสองหรอก แล้วนิพพานแล้วไม่มีสูงกว่านิพพานหรอก มีพุทธเกษตร มีสุขาวดี มีสูงกว่านิพพาน

นี่ไงเพราะอะไร? เพราะจิตใจมันไม่จบสิ้นกระบวนการ มันยังคิดสืบต่อกันไป ถ้ามันเป็นธรรมธาตุ มันจบสิ้นกระบวนการของมันแล้ว มันเสมอกันหมดแล้ว มันจะไปสูงกว่าที่ไหน? มันจะไปพุทธเกษตรที่ไหน? มันจะเหนือนิพพานไปที่ไหน? นิพพานเป็นที่สุดเอื้อมของเราแล้ว สุดยอดของการประพฤติปฏิบัติเลย วิมุตติสุขอันนี้สุดยอดอยู่แล้ว ยังมีเหนือกว่าอีกไหม?

นี่มันเป็นเพราะอะไร? มันเป็นเพราะเรื่องโลก มันเป็นเพราะจิตนี้มันเป็นอนิจจัง มันเป็นเรื่องโลก มันเป็นตรรกะ มันเป็นจินตนาการ มันคาดหมายได้ ถ้าสิ่งที่เป็นจินตนาการ สิ่งที่คาดหมายได้มันเป็นธรรมจริงไหม? ถ้ามันเป็นธรรมไม่จริงนี่เรามาคิดสิ เรามาคิดถึงว่าหลักเกณฑ์ สัจจะความจริง เราใช้ปัญญาของเราใคร่ครวญได้ ถ้าปัญญาใคร่ครวญได้เราควรจะเลือกสิ่งที่ดีๆ ไง สิ่งที่ดีๆ เอามาเป็นประโยชน์กับเรา สิ่งที่ไม่ดีเอาทิ้งไว้

ต้นไม้ ถ้าไม่มีเปลือกต้นไม้ตายหมดนะ ต้นไม้ต้องมีเปลือกหุ้มมา เปลือกเป็นสารอาหาร ไปให้กับลำต้นกับใบมัน นี่ต้นไม้มีแต่เปลือก เปลือกมันใช้อะไรล่ะ? เว้นไว้แต่สมุนไพรเขาใช้แต่เปลือก แต่กระพี้ล่ะ? แก่นล่ะ?

นี่ก็เหมือนกัน หลักของใจเราเริ่มต้นจากศรัทธา ทำบุญนี่แสนยากนะ ทำบุญอู้ฮู.. เป็นทุกข์เป็นยากนะ ทำบุญขึ้นมากิเลสมันก็ต่อต้านนะ พระนี่ไม่ดีไปหมด ที่ไหนก็ทำไม่ดีทั้งนั้น ไม่อยากทำเลย แต่ที่ดีๆ ก็ไกลเกินไป ไปไม่ไหว เห็นไหม แม้แต่ทำทานมันก็ยากอยู่แล้ว แล้วเวลาทำทานยากนี่ทำขึ้นมาเพื่ออะไรล่ะ? เพื่อให้หัวใจมันได้ขับของเสียออกไง ทิฏฐิมานะ ความตกผลึกในหัวใจ ความคิดความยากในหัวใจ ฟังธรรมเพื่อเปิดออก

การฟังธรรม เห็นไหม สิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง สิ่งที่ได้ยินได้ฟังแล้วตอกย้ำมัน นี่แก้ความสงสัยของเราได้ ถึงที่สุดแล้วจิตผ่องแผ้ว จิตผ่องแผ้ว นี่สิ่งที่มันหมักหมมในใจมันได้เปิดออก มันได้สละออก มันเป็นความคิด มันเป็นนามธรรม มันเป็นทิฏฐิมานะ มันเป็นความยึดมั่นถือมั่น มันไม่มีอะไรทำมันได้

การเสียสละคือการฝึกมันโดยเราไม่รู้ ฝึกโดยพระพุทธเจ้าวางอุบายวิธีการไว้ให้เสียสละ ให้ทำทานนะ กิเลสบอกว่าเสียสละไม่ได้ อุตส่าห์หามาแทบเป็นแทบตายจะเอาให้เขาได้อย่างไร? มันเป็นเงินเป็นทองของเรา เห็นไหม นี่กิเลสตัณหาความทะยานอยาก แต่ถ้าเราเสียสละออกไป ไอ้เงินทองนี่เราก็หาได้ ทุกอย่างมันก็หาได้ ไอ้สิ่งที่หมักหมมในหัวใจ ความทะยานอยากในหัวใจ เราเสียสละไปนี่มันฉุดกระชากลากสิ่งนั้นไปบ้าง

ฝึกฝนมันจนมันเปิดกว้างขึ้นมา ทำทานขึ้นมา เห็นไหม นี่กระพี้ เปลือกไม้เท่านั้นเอง พอเปลือกไม้ขึ้นมาแล้วก็มาฟังธรรม ฟังธรรมนี่กระพี้นะ มันเป็นกระพี้ไม่ใช่แก่นหรอก ฟังมาแล้วจับผิดจับถูก อันนี้ผิด อันนั้นถูก แล้วก็ยึดมั่นถือมั่นกันไป.. แต่ถ้าเราปฏิบัติขึ้นมานะ จิตมันเป็นขึ้นมานี่แก่น มันรู้มันเห็นของมันนะ ใครจะหลอกเราไม่ได้หรอก ไม้มันเป็นไม้แก่น มันไม่ใช่กระพี้ มันมีคุณค่าของมัน

จิตของเราถ้ามีหลักมีเกณฑ์ มีความสงบเข้ามาในหัวใจ มีปัญญาขึ้นมา โอ๋ย.. มันมีความสุขมหาศาล ความสุขนี้เกิดชั่วคราว เพราะมันเป็นของชั่วคราว มันเป็นอนิจจัง ทุกข์ก็เป็นของชั่วคราวแต่เรายึดมัน ความสุขก็เป็นของชั่วคราว มันเกิดเพราะการกระทำของเราขึ้นมา วิปัสสนาขึ้นไป ใช้ปัญญาขึ้นไป ของชั่วคราวแต่เรารักษา

ตีเมืองได้ ตีเมืองคือตีหัวใจเราได้แล้ว เราจะปกครองหัวใจเราอย่างไร? ให้หัวใจเรามั่นคง ให้หัวใจเราไม่ไหลไปตามกิเลส เห็นไหม นี่เราก็ทำซ้ำบ่อยครั้งเข้า ฝึกฝนวิธีการครองใจ วิธีการดูใจ วิธีการพิจารณาของเรา ใคร่ครวญของเรา จนถึงที่สุดมันปล่อยวางจนขาดออกไป

นี่ไงธรรมธาตุ! อกุปปธรรม ไม่มีการเสื่อมสภาพ แล้วมันจะมีอะไรเหนืออะไรล่ะ? มันเป็นความจริงของเรา เห็นไหม นี่เราเป็นชาวพุทธนะ พุทธศาสนานี่พุทธะ ศาสนาแห่งปัญญา ปัญญาของเราเพื่อประโยชน์กับเรานะ เราแก้ไขเรา เราดูหัวใจของเรา ใครจะพูด ใครจะอย่างไรนี่ เราศึกษาอย่าเพิ่งเชื่อ ฟังแล้วอย่าเพิ่งเชื่อ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ฟัง ให้พิจารณา แล้วอย่าเพิ่งเชื่อ แล้วเราแก้ไขของเรา พิสูจน์ของเรา จนให้มันเป็นความจริงของเรา นี่เราเห็นจริงรู้จริง เราเห็นจริงอันนั้น เรายอมรับอันนั้น เราไม่ได้เชื่อเพราะศรัทธา เชื่อเพราะว่ามีหมู่มาก เพราะว่าประชาชนเป็นใหญ่ไง สังคมเป็นใหญ่ คนชักนำเป็นใหญ่ คนเยอะมากต้องถูกต้องดีงาม

โลกนะ โลกคือหมู่สัตว์ สัตตะเป็นผู้ข้อง เราเอาสัตตะเป็นผู้ข้อง เราเอาเป็นผู้นำเราได้อย่างไร? เราต้องเอาธรรมเป็นที่พึ่งสิ เอาธรรมของครูบาอาจารย์เราเป็นที่พึ่ง เอาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เอาสัจจะความจริงของในหัวใจของเราเป็นที่พึ่ง เอวัง