เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๗ พ.ค. ๒๕๕๒

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๒
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ในศาสนาสอนลึกซึ้งนะ เห็นไหม หลวงตาท่านสอนประจำแล้วซึ้งมาก บอกว่าศาสนานี่เหมือนห้างสรรพสินค้า ใครตาดี เข้าไปในห้างสรรพสินค้าเอาเพชร นิล จินดา ใครตาไม่ดีไปเอาแค่ของเล่น ในศาสนาเรามีหลากหลายมากเลย จิตใจเราเข้าถึงหรือเข้าไม่ถึง เห็นไหม ดูสิอาหารนี่ คนเกิดมาต้องแสวงหาอาหารนะ สัตว์ก็ต้องแสวงหาอาหาร ทุกคนต้องแสวงหาอาหาร

อาหารนี่การดำรงชีวิต แล้วเราก็แสวงหาอาหารกัน แล้วก็ว่าคุณภาพชีวิต อาหารของใครให้ค่ากัน เหยียบย่ำทำลายกัน แต่มันไม่ใช่ มันอยู่ที่ภูมิประเทศ ภูมิประเทศอันหนึ่ง ดูสิแถวชายทะเล แถวริมทะเล อาหารเขาจะมีความอุดมสมบูรณ์มากเลย คนบนดอย อาหารแต่ละพื้นที่ดีของเขา ของเขามันสุดยอดของเขา ดีของเขานั่นคือประเสริฐของเขา

นี่เกิดในประเทศอันสมควร เราเกิดในประเทศอันสมควร เกิดในประเทศที่อุดมสมบูรณ์ เกิดในประเทศที่ทุรกันดาร ทุรกันดารมันก็ดีทุรกันดารของเขา นั่นกรรมของเขา เห็นไหม นี่อาหาร เราแสวงหาอาหารมาเพื่อดำรงชีวิต แต่อาหารของใจล่ะ? อาหารของใจคือธรรมะ ธรรมะมันเป็นอย่างไรล่ะ? ธรรมะก็ว่ากันไปปากเปียกปากแฉะ

ธรรมะนี่ทุกคนรู้ว่าธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะเป็นธรรมชาติ ถ้าธรรมะเป็นธรรมชาติพวกเราเป็นพระอรหันต์หมดแล้ว เพราะเราเกิดมาจากธรรมชาติ การเกิดและการตายเป็นธรรมชาติอันหนึ่ง ความทุกข์ก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง ความทุกข์ การเกิด การดับ มันเป็นธรรมชาติอันหนึ่ง แล้วเราตามไปรู้มัน เรารู้อะไร? เราก็เห็นเงาไง

เราเห็นเงา เห็นไหม เราว่านี่เป็นทรัพย์สมบัติ เงามันเป็นสมบัติจริงไหม? เงามันเกิดจากอะไร? เกิดจากของจริง เกิดจากตัวจริงมันถึงเกิดเงาอันนั้นขึ้นมา ความคิดของเรานี่มันเป็นอาการของใจ มันเป็นเงา มันเป็นความจริงไหม? มันไม่เป็นความจริงหรอก แต่มันเป็นสิ่งที่ศึกษาได้ มันเป็นสิ่งที่เอาความจำเราไปศึกษาความจริง ศึกษาความจริงไปศึกษามันที่ไหน?

นี่เราไปศึกษาในพระไตรปิฎกก็เป็นกรอบ ขยับไม่ได้เลย พระไตรปิฎกมันเป็นสิ่งที่ชี้เข้ามาถึงหัวใจ ชี้เข้ามาที่ใจนี่ สิ่งที่เกิดขึ้นเกิดขึ้นจากความสุขความทุกข์ของเรา เห็นไหม พระไตรปิฎกคือทฤษฎี คือตำรา คือวิธีการชี้เข้าไปหาเป้าหมาย เป้าหมายมันอยู่ในพระไตรปิฎกนั้นไหม?

พระไตรปิฎกมันก็สิ้นกระบวนการของพระไตรปิฎก เปิดพระไตรปิฎกจบเล่มก็จบแล้ว แล้วพระไตรปิฎกเหลืออะไร? เหลือความรู้ที่ตกผลึกในหัวใจของเรา ความรู้ที่ตกผลึกในหัวใจของเรามันเป็นความจริงขึ้นมาหรือยัง? เห็นไหม นี่เงาทั้งนั้นเลย เราไปศึกษาเงากันมา มันตกผลึกมาแล้ว เราทำให้เกิดขึ้นมาในใจเราได้ไหม? ถ้ามันเกิดขึ้นมาในใจเราได้ นี่ไงอาหารของใจ

ถ้าอาหารใจมันเกิดขึ้นมาเพราะอะไร? เพราะใจกินอารมณ์ กินความรู้สึกเป็นอาหาร ใจนี่ดูเด็กๆ สิ เด็กๆ มันต้องการอะไรของมัน ความสุขของมัน เห็นไหม เด็กๆ เวลามันดิ้นรน มันร้องของมัน มันต้องการอาหาร เราเอานมไปให้มันกินนะ โอ้โฮ.. มันมีความสุขนะ โอ้โฮ.. มันนอนสบายนะ เดี๋ยวจะร้องใหม่นะ มันจะรอกินใหม่

นี่ก็เหมือนกัน ความรู้สึกของเรา ความคิดของเรา พอมันพอใจมันเป็นอามิส สิ่งใดที่ตอบสนองมันแล้วมันก็พอใจของมัน แล้วมันก็จะรอสิ่งใหม่ รอสิ่งใหม่ มันไม่มีที่สิ้นสุดหรอก มันไม่มีที่สิ้นสุดมันก็เป็นอนิจจัง

“สิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นอนิจจังสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา”

แล้วความจริงล่ะ? ความจริงที่ตรงข้ามอนิจจังอยู่ที่ไหน? ความจริงที่ตรงข้าม นี่การเกิดและการตายเป็นอนิจจังไหม? มันเป็นอนิจจังเพราะเวียนตายเวียนเกิด แล้วสิ่งที่ตรงข้ามมันอยู่ที่ไหน? เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเที่ยวสวน เห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย ยังมีความระลึกรู้เอาตัวออกมาประพฤติปฏิบัติได้ นี่เวลาเราตายไป ยมบาลถามนะ

“เห็นธรรมะไหม เห็นธรรมะไหม?”

ไอ้พวกเราบอกเห็นธรรมะไหมคือเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามีไง เห็นธรรมะ เห็นธรรม มีดวงตาเห็นธรรม มันมีธรรมในหัวใจ มีอาหารในหัวใจ เห็นไหม แต่เจอพญายมนะเขาถามว่าเห็นธรรมะไหม? ทุกคนบอกไม่เคยเห็นไง แต่ยมบาลเขาจะถาม ยมบาลเขาจะถามกลับเลย

“เคยเห็นคนเกิดไหม? เคยเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตายไหม?”

นั่นคือธรรมะนะ! นี่ธรรมชาติ ธรรมะเป็นธรรมชาติ การเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย มันเป็นสัจธรรมอันหนึ่ง แต่เราเป็นส่วนหนึ่งของสัจธรรมนั้น จิตเราก็เกิด แก่ เจ็บ ตาย ในร่างนี้ไง พอจิตเราเกิด เราแก่ เราเจ็บ เราตาย เหมือนกิเลสนี่ กิเลสเป็นเรา ทุกสิ่งเป็นเรา พอเป็นเรา เราไม่เห็นอะไรเลย เพราะเราถือตัวถือตนไง

แต่ถ้าจิตมันสงบเข้ามา เห็นไหม จิตมันสงบเข้ามา มันเห็นจิตเกิดๆ จิตมันเกิดมาอย่างไร? ถ้าจิตมันเกิด นี่บุพเพนิวาสานุสติญาณ จิตมันเกิดมาจากไหน? ทุกคนบอกเกิดมาจากพ่อแม่ แล้วพ่อแม่มันเกิดเฉพาะเราหรือ? แล้วพ่อแม่เกิดอย่างไร? ก็เกิดจากพ่อแม่

จิตมันเกิดมาจากกรรม ในเมื่อมันมีอวิชชา จิตมันมีอวิชชาปฏิสนธิจิต ถ้าไม่มีปฏิสนธิจิตนะ นี่ดูสิเวลาไข่ของแม่ปฏิสนธิจิต สเปิร์มกับไข่ของแม่ แล้วปฏิสนธิจิตมันปฏิสนธิเข้าไป เขาทำกิฟต์กัน เห็นไหม เขาเอานิวเคลียสออก เขาเอาต่างๆ ออก นี่ถ้าไม่มีปฏิสนธิ การทำของเขา ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ไม่ถึง ๒๕ เปอร์เซ็นต์ที่ได้ ยิ่งโคลนนิ่ง ๕ เปอร์เซ็นต์ยังไม่ได้เลยจาก ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์

สิ่งที่ ๗๕ เปอร์เซ็นต์ หรือ ๙๕ เปอร์เซ็นต์มันตายไปไหน? ไข่ที่เอามาทำมันตายไปไหน? ทำไมมันไม่เกิดให้หมดล่ะ? ถ้าวิทยาศาสตร์เป็นความจริงมันต้องเกิดให้หมดสิ ทำไมมันเกิดเฉพาะจิตที่มันปฏิสนธิล่ะ? จิตปฏิสนธินี่ จิตนี้เกิดมาจากไหน? เขาว่าธรรมะเป็นธรรมชาติ การเกิด การตายเป็นธรรมชาติ มันเป็นวัฏฏะไง

วัฏฏะเป็นธรรมชาติ เวียนไปเป็นธรรมชาติ อนิจจังเป็นธรรมชาติ ความเป็นไปเป็นธรรมชาติ ฤดูกาลความเป็นไปเป็นธรรมชาติหมดเลย แต่สิ่งที่ตรงข้ามธรรมชาติมันอยู่ที่ไหนล่ะ? ตรงข้ามกับธรรมชาติ ถ้าจิตมันสงบเข้ามา มันเห็นตัวของมันเอง เห็นไหม เห็นวิปัสสนาญาณมันเกิด นี่ปัญญาที่เกิดพระไตรปิฎกพูดไว้อย่างหนึ่ง เวลาเกิดขึ้นมาจากใจเรา ธรรมจักรที่มันเคลื่อน พอปัญญามันหมุนไป สมาธิมันหมุนไป..

เดี๋ยวนี้สมาธิไม่รู้จักนะ นี่จิตสงบๆ จิตสงบไม่ใช่ความคิดสงบ นี้เป็นความคิดสงบไง ความคิด ความฟุ้งซ่าน มันสงบตัวลง มันเป็นจิตไหม? มันไม่เป็นจิต เงาสงบตัวลง เงาที่มันพาดไปกับกิ่งไม้ พาดไปกับอะไร เงามันไม่เรียบร้อย เห็นไหม พอเงามันพาดไปกับพื้น โอ๋ย.. เขาเรียบร้อย โอ้.. ว่าง ว่าง มันไม่มีอะไรขัดขวางมัน เงามันพาดไปกับพื้นไง แล้วเงามันพาดไปกับกิ่งไม้ล่ะ?

นี่ไงความคิดสงบไม่ใช่จิตสงบ ถ้าจิตสงบ เห็นไหม มันสงบ นี้สมาธิยังไม่เป็นเลย สมาธิยังไม่รู้จักเลย แล้วก็บอกว่าวิปัสสนาๆ นี่มันมีแต่ตำราไง มีแต่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ความจริงในหัวใจของสัตว์โลกมันไม่มี ถ้าความจริงในหัวใจของสัตว์โลกมันมีนะ ความจริงมีหนึ่งเดียว!

ความจริงมีหนึ่งเดียว นี่สมาธิต้องเป็นสมาธิเหมือนกัน ปัญญาที่เกิดขึ้นเป็นโลกุตตรปัญญา นี้มันไม่ใช่โลกุตตรปัญญา เป็นโลกียปัญญา โลกียปัญญามันเกิดจากตัวตนของเรา มันเกิดจากความคิดของเรา เห็นไหม เกิดจากความคิด ความคิดสงบลงมันก็คืนสู่กิเลส คืนสู่จิต คืนสู่ภวาสวะ คืนสู่ภพ แล้วพอมันขยับตัวมันก็ออกจากภพนั้นไปอีกแหละ

มันไปไหน? ความคิดมันมาจากไหน? นี่ความคิดมันเกิดที่ไหน? ความคิดมันเกิดขึ้นจากภวาสวะ เกิดจากฐานของจิต ฐานของความคิด ฐานของความคิดมันอยู่ที่ไหน? ฐานของความคิด นี่ไงภวาสวะตัวภพ ตัวปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิจิตตัวเกิดตัวตาย ตัวเกิดตัวตายตัวนี้มันเป็นตัวกรรม ตัวเกิดตัวตายเพราะมันถึงเป็นจริตนิสัย เป็นความชอบ เห็นไหม

ดูสิถ้าอะไรมันตอบสนองความพอใจของตัว โฮ้.. สุขมาก เป็นธรรมะหรือยัง? มันเป็นอามิส มันเป็นของชั่วคราว มันเป็นของที่ประสบมาเท่านั้นเอง แต่ความจริงมันเป็นไหม? ธรรมะมันตรงข้ามนั้นนะ ธรรมะมันตรงข้ามกับสิ่งนี้ทั้งหมดเลย แล้วธรรมะตรงข้ามกับสิ่งนี้มันละเอียดยิ่งไปกว่านี้ ละเอียดยิ่งไปกว่านี้เราถึงต้องทำด้วยความจริงจังของเรา

ตอนนี้มันสุกเอาเผากินไง ศึกษาธรรมก็เอาโลกไปศึกษา ปฏิบัติก็เอาความเห็นเราไปศึกษา แล้วก็ถือตัวตนนะ ต้องเป็นอย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนี้ ต้องเป็นตามกรอบ มันก็กรอบสิ พระไตรปิฎกเขียนไว้ไง เขียนไว้เป็นแนวทาง แต่เราจะให้มันเป็นตามอย่างนั้นเป็นไปไม่ได้ ดูสิบริษัทการค้า ธุรกิจที่เขาประสบความสำเร็จในโลกมหาศาลเลย เราไปทำตามเขา เราจะประสบความสำเร็จไหม?

นี่สินค้าเราสู้เขาไม่ได้เด็ดขาดเลย เพราะเราไปก๊อบปี้เขามา เราทำก๊อบปี้เขาไปมันจะไม่เหมือนของเขา แต่ถ้าเป็นของเราล่ะ? นี่ในเมื่อเราเห็นสินค้านั้น เราอ่านพระไตรปิฎกมา สิ่งนี้เป็นกรอบ เห็นไหม แล้วเรามาพิสูจน์ เรามาวิจัย เรามาทำสินค้าเราให้เกิดขึ้นมา นี่มันจะเหมือนกันหรือไม่เหมือนกัน มันเป็นการกระทำของเรา มันเป็นประสบการณ์ของเรา มันเป็นเทคโนโลยีของเรา มันเป็นความรู้สึกของเรา มันเป็นปัจจัตตังของเรา มันเป็นความรู้สึกของเรา มันแก้กิเลสเราไง

สิ่งที่ศึกษามานี่มันจะแก้กิเลสเราได้ไหม? ก็เขาประสบความสำเร็จแล้ว เขาประสบความสำเร็จของเขา เป็นประโยชน์ของเขาแล้ว แล้วเราไปจำของเขามา แล้วเราไปใช้ขึ้นมา เราหลบๆ ซ่อนๆ แอบๆ ซ่อนๆ กลัวเขาจะรู้ทันว่าเราจำเขามา แต่ถ้าเราทำของเราเอง เราทำของเราเอง สิ่งที่ทำเองขึ้นมา เห็นไหม นี่เป็นธรรมขึ้นมา

นี่สัจธรรมนะ ร่างกายมันกินอาหาร มันต้องแสวงหาอาหารของมัน อาหารเรารักษาขึ้นมา ทุกคนต้องแสวงหาอาหาร ธรรมะนี่ จิตใจมันกินความรู้สึกเป็นอาหาร.. ความรู้สึกไม่ใช่ใจนะ ความรู้สึก จิตมันกินความรู้สึกนะ ดูสิเวลามันปล่อยว่างเฉยๆ มันอยู่ไหน? แล้วเวลามันรู้สึกขึ้นมามันอยู่ไหน?

จิตมันกินอารมณ์เป็นอาหาร มันกินความรู้สึกเป็นอาหาร แล้วเราพยายามเอาสติ เอาสมาธิให้มันกิน ให้มันกินมันมีความสุข มันมีความรับรู้ แล้วฝึกฝนเกิดปัญญาขึ้นมา ธรรมะประเสริฐมาก เราจะเห็นความประเสริฐของมัน เห็นความประเสริฐนะ จนเรานี่โอ๋ย.. มันจะถนอมรักษา นี่พระเราทำไมต้องตั้งสติ ทำไมต้องรักษาศีล เรามาอดๆ อยากๆ ทำไม? นี่อดมื้อกินมื้อทำเพราะเหตุใด?

อดมื้อกินมื้อเพื่อให้กิเลสมันเบาตัวลง ขัดเกลากิเลส ธุดงควัตรเป็นเครื่องขัดเกลา เป็นเครื่องโต้แย้งกับกิเลส ให้กิเลสมันไม่มีกำลังมากจนเกินไป แล้วเรามีสติสัมปชัญญะต่อสู้กับมัน ทำลายมัน ต่อสู้มันๆ จนถึงที่สุดธรรมกับหัวใจเป็นอันเดียวกัน เห็นไหม

นี่ใจมีอาหาร นี้เรามาแสวงหาแต่อาหารของร่างกายนะ ชีวิตนี้ต้องแสวงหาอาหาร แม้แต่สัตว์ แม้แต่ทุกอย่างมันต้องแสวงหาอาหาร เราเข้าใจมันได้ เราเข้าใจเรื่องสิ่งนี้ได้นะ สิ่งนี้มันช่วยเหลือเจือจานกันได้ แต่หัวใจมันได้แต่ปลอบประโลมกันนะ มันช่วยเหลือเจือจานกันไม่ได้นะ เราถึงต้องตั้งสติของเรา ทำปัญญาของเราให้เป็นประโยชน์ของเรา ให้เป็นธรรมที่เป็นสัจธรรม

เราเกิดมาพบพุทธศาสนา แล้วศาสนาอยู่ตรงหน้าเราให้ได้ใช้ประโยชน์ ให้ได้สัมผัส ให้มีความรู้สึก แล้วจะเห็นคุณค่าของชีวิต คุณค่าของชีวิตมันอยู่ที่หัวใจ อยู่ที่ความรู้สึก เพราะความรู้สึกอันนี้มันได้สัมผัส มันได้รับรู้ เห็นไหม สิ่งอื่นที่เข้าไปสัมผัสธรรมะไม่มี เราเอาตาไปอ่านหนังสือ มันก็ต้องเข้าถึงหัวใจ อะไรที่สัมผัสธรรมะไม่มีเลยนอกจากความรู้สึก หัวใจของเรานี่เราได้สัมผัส แล้วชีวิตเรามันมีสิ่งนี้ ถ้าเวลาตายไป สิ่งนี้ออกจากร่างไปมันก็เป็นอันใหม่

นี่ชีวิตมีค่าอย่างนี้ อาหารของใจมีค่ามาก สิ่งที่แล่นไปคือจิตที่มันจะแสวงหาที่เกิด แล้วมันไม่แล่นไป มันมีที่อยู่ที่อาศัยของมัน ความมหัศจรรย์ของมันจะเกิดกับความรู้สึกของเรา นี่ธรรมะประเสริฐอย่างนี้! เอวัง