เทศน์เช้า วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๒
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
วันนี้ฟังธรรมเนาะ ฟังธรรม ธรรมะ เห็นไหม คนเกิดมาปรารถนาความสุข แล้วเราก็มีความทุกข์กัน ความทุกข์ในการดำรงชีวิตนี้ก็เป็นความทุกข์อันหนึ่ง ความทุกข์แบบนี้เป็นสัจธรรม เป็นความจริงนะ เกิดมานี่คนเราเกิดมาเป็นญาติกันโดยธรรม มีปากมีท้องเหมือนกัน ต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัยเหมือนกัน
การทำมาหากินเราว่าเป็นทุกข์อันหนึ่ง ความเป็นทุกข์อันหนึ่ง แต่เวลาคนอุดมสมบูรณ์มันก็มีความทุกข์ ความทุกข์ในหัวใจไง นี่แล้วจะแก้ทุกข์กันได้อย่างใด? เราจะแก้ทุกข์อย่างไร? เวลาเราปลอบใจกัน เห็นไหม เรารู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความผิดพลาดของเรา เรารู้เท่าไม่ถึงการณ์นี่ไม่เป็นไร รู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็คือไม่รู้ไง ไม่รู้ก็คืออวิชชาไง.. รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เรารู้เท่าไม่ถึงการณ์ความเป็นจริง แล้วเราก็ปลอบใจกันว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ไม่เป็นไร รู้เท่าไม่ถึงการณ์ไม่เป็นไร
นี่โลกคิดกันอย่างนั้นนะ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็คือไม่รู้ ไม่รู้คืออวิชชา แล้วอวิชชามันคืออะไร? อวิชชามันคืออะไร? เรารู้สิ่งที่เรารู้ ทางวิชาการเราจะไม่มีการศึกษาที่เราจะรอบรู้ครอบคลุมไปทุกอย่างหรอก เราจะรอบรู้ไม่ได้ทุกๆ อย่าง แล้วแต่ว่าเราเรียนมาทางไหน เราจะชำนาญในทางนั้น แต่ทางที่เราไม่รู้เราก็คือไม่รู้
อันนี้คือวิชาชีพ อันนี้คือทางสังคม เห็นไหม สังคมหลากหลาย พอสังคมหลากหลาย เราอยู่ในสังคม แต่ละแผนกแต่ละแขนงก็ช่วยเหลือกัน เจือจานสังคมมา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก ในสโมสรสันนิบาต ในสังคมนั้น ทุกคนมีความสุขในสังคมนั้น เพราะประสบความสำเร็จในชีวิตในสังคมนั้น แต่ทุกดวงใจว้าเหว่ ในสโมสรสันนิบาต ทุกดวงใจทุกข์หมดเลย!
คนเกิดมานี่ทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นความจริง เห็นไหม แล้วเราปฏิเสธมันว่าไม่เป็นไรๆ เพราะคำว่าไม่เป็นไรของเรา ครูบาอาจารย์ถึงบอกว่า ต้องเป็นสิ! เป็นสิ ชีวิตนี้เกิดมา ชาติปิ ทุกขา ความเกิดเป็นทุกข์อย่างยิ่ง ชาติความเกิดเป็นทุกข์อย่างยิ่ง ความทุกข์อันนี้เป็นสัจจะ เป็นอริยสัจจะ เป็นความจริง ถ้าเป็นความจริง เห็นไหม เราต้องศึกษาตรงนี้ ศึกษาตรงนี้คือศึกษาใจของเรา ถ้าศึกษาใจของเรา นี่ไงมันจะแก้ทุกข์กันได้ที่นี่
เราไปตะครุบเงากันไง เวลาเราทุกข์แล้วเราก็ผ่อนคลายกัน เราก็ปลอบประโลมกัน อันนั้นเป็นสัจจะ เป็นความจริงอันหนึ่งนะ มันเป็นสัจจะ เป็นความจริงอันหนึ่ง แต่เพราะเราบอกว่าเรารู้เท่าไม่ถึงการณ์ รู้เท่าไม่ถึงการณ์จนชีวิตนี้ พอปลายชีวิตนี้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ จนจะหมดลมหายใจแล้วยังรู้เท่าไม่ถึงการณ์ตลอดไป ยังรู้เท่าไม่ถึงการณ์ตลอดชีวิตไง
จะรู้เท่าถึงการณ์ เห็นไหม ตั้งสติ ดูสิเวลาชีวิตเราเป็นทุกข์ๆ ขึ้นมา เราอยู่กันในโลกของความเป็นทุกข์ เราดูพระสิ ดูหลวงปู่มั่น ดูครูบาอาจารย์เราสิ ใครจะลำบากเท่าหลวงปู่มั่นไม่มี ถ้าความลำบากอย่างนี้ทางโลกมองว่าเป็นความลำบากไง แต่ความจริงแล้วมันเป็นการศึกษาตัวเอง มันเป็นการต้องการให้รู้ตัวเอง ไม่ใช่ว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ชีวิต
ถ้ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ชีวิต นี่ครูบาอาจารย์ท่านสอนมาแล้ว ชีวิตนี้เกิดมาทำไม? ทำไมถึงต้องเกิด? แล้วเกิดมานี้อยู่เพื่ออะไร? แล้วตายแล้วจะไปไหน?
นี่ศาสนาตอบตรงนี้ได้! ถ้าศาสนาตอบตรงนี้ ไม่ใช่ลัทธิความเชื่อต่างๆ ลัทธิก็ว่ากันไป แต่ถ้าศาสนาต้องตอบว่าชีวิตนี้มาจากไหน?
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบุพเพนิวาสานุสติญาณ กำหนดเลยนะ กำหนดจิตเข้าไปถึงข้อมูลเดิมเข้าไป
ชีวิตนี้มาจากไหน?
ชีวิตนี้มาจากกรรม มาจากกระทำ
กรรม การกระทำนั้นมันเป็นแรงขับนะ แต่ถ้าแรงขับการกระทำนี่ ดูสิเวลาต้นไม้มันโดนลมพัดโยกไป มันไปล้มทับต้นไม้อื่นมันมีกรรมไหม? มันไม่มีชีวิต มันมีชีวิตแต่ไม่มีวิญญาณครอง แต่ของเรานี่มันมีวิญญาณครอง พลังงานตัวนี้ พลังงานตัวที่เราไม่รู้จักมันเลย เราไม่รู้จักตัวมันเลย เพราะพลังงานธรรมชาติ พลังงานที่รู้ตัวเองไม่มี มันจะส่งออกไปเป็นธรรมดา
แต่การกระทำ นี่กรรมคือการกระทำ คือดีและชั่วอันนั้นมันขับไสไป จิตนี้ต้องเกิดโดยธรรมชาติของมัน แล้วการประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม เดี๋ยวนี้ประพฤติปฏิบัติกัน นี่ดูจิตๆ คำว่าดูจิตคือเราพูดว่าดูจิต แต่ความจริงมันไม่เห็นจิต เพราะพลังงานมันส่งออกไป แรงขับ พลังงานตัวนี้แล้วเราจะเอาอะไรไปดูมัน ดูจิตๆ เอาอะไรไปดูมัน
ถ้าดูจิตๆ นี่นะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ไง รู้เท่าไม่ถึงการณ์ในชีวิตของเรานะ เรารู้เท่าไม่ถึงการณ์ชีวิตของเรา ชีวิตเราหมดไปวันหนึ่งๆ เพราะเรารู้เท่าไม่ถึงการณ์ บอกว่าเราทำคุณงามความดีของเรา ทำคุณงามความดีของเรา ถ้าดูจิตๆ ดูจิตนี่ใครเป็นคนดูจิต เรารู้ว่าดูจิตใช่ไหม? แล้วจิตนี่พลังงานมันบอกถึงตัวมันเองไหม?
แต่ถ้าสติมันมี ตัวสติมันจะรู้จักตัวมันเอง ถ้ารู้จักตัวมันเอง พอรู้จักตัวมันเองมันหยุด เห็นไหม พอมันหยุดขึ้นมา นี่เราหยุดขึ้นมา ดูเงาสิ เราเข้าที่ร่ม เงาไม่มี จิตนี้พอความคิดมันไม่มีมันไปไหน? ดูจิตเอาอะไรไปดูมัน เพราะอะไร? เพราะมันเอาอารมณ์ดู มันเอาความคิดดู เพราะตัวความรู้สึกมันอยู่ที่ไหน? ความรู้สึกมันอยู่ที่ไหน? ถ้าความรู้สึกมันเป็นความจริง เห็นไหม ดูสิเวลากำหนดพุทโธ พุทโธ นี่คำบริกรรมของเรา หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิของเรา
นี่มันมาจากไหน? คอมพิวเตอร์มันรู้จักตัวมันเองไหม? สิ่งต่างๆ มันไม่รู้จักตัวมันเองเพราะมันไม่มีชีวิต แต่เรามีชีวิต เห็นไหม เรามีชีวิต ความรู้สึกของเรา ถ้าเรากำหนดสติขึ้นมา มันกำหนดสติขึ้นมา พุทโธ พุทโธนี่ ตัวมันมาจากพลังงานตัวนี้ มาจากตัวธาตุรู้นี้ ตัวธาตุรู้นี้มันกำหนดออกไป แล้วพอกำหนดออกไป กำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ ความกำหนดพุทโธอันนั้นมันเป็นคำบริกรรม เห็นไหม
นี่จิตออกไป พลังงานออกไป พลังงานมันย้อนกลับได้ ความย้อนกลับนี่ความรู้สึกย้อนกลับไง ความรู้สึกย้อนกลับมาถึงตัวมันเอง เห็นไหม ถ้าความรู้สึกย้อนกลับมาตัวเอง มันถึงตัวจิตไหม? กลับมาถึงตัวจิต นี่ดูจิตๆ นี่ไงรู้เท่าไม่ถึงการณ์คือไม่รู้ คือไม่รู้จักตัวมันเอง แต่ไปรู้จักข้างนอก
เวลาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก นี่ทางวิชาการพูดมาก ทางวิชาการมหาศาลเลยว่าธรรมะๆ พระพุทธเจ้ารู้ไม่เท่าเรานะ พระพุทธเจ้ายังรู้ได้เฉพาะอริยสัจต่างๆ ไอ้พวกเรานี่รู้แตกขยายกว้างขวางไปมากเลย แต่มันไม่รู้จักตัวเองไง ไม่รู้จักตัวเองเลย เพราะอะไร? เพราะมันไม่เข้ามาตัวสัมมาสมาธิ ไม่เข้ามาตัวฐีติจิต
ตัวฐีติจิตก็คือคำพูดไง นี่นายแดงๆๆ นายแดงอยู่ไหน? ตัวธาตุรู้ๆๆ ธาตุรู้อยู่ไหน? ตัวที่ว่าจิตๆๆ จิตมันอยู่ไหน? ไม่เคยมีใครรู้จักจิตเลย ไม่มีใครเห็นจิตเลย แต่พอกำหนดเข้าไป เห็นไหม เวลาครูบาอาจารย์ท่านสอนนะ ให้กำหนดเข้ามา พอกำหนดเข้ามา สัญญาอารมณ์นะเราสร้างความคิดอันหนึ่ง
นี่ความคิดโดยธรรมชาติของมัน ธรรมชาติของความคิด ธรรมชาติของธาตุรู้มันเป็นความรู้สึกอันหนึ่ง แต่ความรู้สึกอันนี้มันจะไม่รู้จักตัวมันเองเลย ถ้ามันไม่มีอะไรไปรักษามัน แต่มันออกไปรับรู้สิ่งภายนอก เห็นไหม รับรู้คือความคิดไง คือวิชาชีพไง คือความรู้ที่เราเกิดขึ้นมาไง นั่นคือความคิดใช่ไหม? แล้วถ้ามันปล่อยความคิดมาแล้วมันอยู่ไหน? มันปล่อยขึ้นมา นี่ดูสิมันว่างแล้วมันไปอยู่ที่ไหน? เพราะอะไร? เพราะความเข้าใจผิด ความเข้าใจผิดนั้นเพราะอวิชชา
นี่ปฏิบัติก็ปฏิบัติโดยอวิชชา ทั้งวิชาชีพนะ นี่เราบอกว่าทุกข์มาก ทุกคนบอกว่าทุกข์มาก อยากแก้ไขทุกข์มาก คำว่าทุกข์นี่นะมันเพราะว่าเรามีศาสนา เรามีธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นความจริง พอเวลาเราทุกข์ขึ้นมามันเทียบได้ว่านี่คือความทุกข์ พอความทุกข์อันนี้ก็คิดว่าเราจะกำจัดทุกข์ เราพยายามจะละทุกข์ เห็นไหม ละทุกข์ พ้นจากทุกข์นี้ให้ได้ แล้วทุกข์มาก
แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติทุกข์ไหม? เวลาปฏิบัติเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ทรมานตนทุกข์ไหม? มันก็เป็นทุกข์อันหนึ่ง แต่ความทุกข์อันนี้เป็นความเพียร.. ความเพียร ความวิริยะ อุตสาหะ คนเราจะตั้งเนื้อตั้งตัวขึ้นมาได้ ต้องมีความขยันหมั่นเพียร ต้องมีความมัธยัสถ์ รู้จักเก็บหอมรอมริบ เราจะทำชีวิตของเราไปได้
อันนี้ทางโลกนะ แต่เวลาทางธรรม เวลาประพฤติปฏิบัติมันละเอียดกว่านั้น ถ้าละเอียดกว่านั้น ดูสิทางโลกเขาจะมั่งมีศรีสุขขึ้นมาได้ เขาต้องขยันหมั่นเพียร เขาต้องมีปัญญาของเขา เขาต้องมีสติของเขา เขาจะรักษาสมบัติของเขาได้ เราหามามหาศาลเลย เรารักษาไม่ได้มันก็หมดไปใช่ไหม?
ในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติ ถ้ามันไม่มีสติ ไม่มีปัญญา ไม่มีสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นมา แต่เขาบอกว่ามี อ้างว่ามีไง อ้างว่ามี มีอย่างนี้เป็นปัญญาอย่างนี้นะ เป็นปัญญาอย่างนั้น นั่นปัญญาของใคร? ปัญญานี่ดูเด็กๆ สิมันเล่นกันมันไม่มีปัญญานะ ดูเด็กๆ บางคนมันเล่น บางคนมันจะมีปัญญาของมันมาก มันจะควบคุมเพื่อนมันได้หมดเลย ควบคุมเพื่อนมันได้ นั่นอะไรล่ะ? นั่นอะไร? นั่นความคิดเด็กๆ ใช่ไหม?
แล้วนี่ก็เหมือนกัน พอเรามีความรู้อะไรขึ้นมาเราก็ดีใจไปกับมัน ความว่ามันปล่อยวางๆ ปล่อยวางอย่างนี้มันเป็นความจริงไหม? ถ้าเป็นความจริงนะมันอมทุกข์ สิ่งที่ว่าจะแก้ทุกข์ๆ พอมันปล่อยเข้ามา เห็นไหม กิเลส อุปกิเลส ความโอภาส ความสว่างไสว ความว่าง ความปล่อยวางทั้งหมดมันก็คือกิเลส ก็กิเลสเหมือนกัน แต่กิเลส อุปกิเลส
กิเลส ๑๐ อุปกิเลส ๑๖ ไปดูสิ นี่มันความว่างขนาดไหน? นี่ไงมันจะอมทุกข์ต่อไป มันจะอมทุกข์ต่อไปเพราะอะไร? เพราะมันรู้เท่าไม่ถึงการณ์ไง ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็คืออวิชชาไง ก็คือความไม่เป็นจริงไง นี่แล้วว่าจะแก้ทุกข์ๆ
ศาสนานะ.. คำว่าศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาตรัสรู้ธรรมขึ้นมาบอกว่า จะสอนได้อย่างไร โอ้โฮ.. มันลึกซึ้งมาก มันละเอียดอ่อนมาก คำว่าลึกซึ้งละเอียดอ่อนมันเป็นภาวนามยปัญญา แต่ในปัจจุบันนี้มันเป็นจินตมยปัญญา เราใช้จินตนาการกัน แล้วกว้างขวางใหญ่โตมาก ความรู้มหาศาลมาก
มันเข้าไม่ถึงความจริงอันหนึ่ง แล้วเวลาเราคุยธรรมะกันก็พูดเหมือนกันไง พูดให้เหมือนมันเหมือนทั้งนั้นแหละ พูดให้เหมือนแต่ความจริงมันเป็นไหมล่ะ? พูดให้เหมือนแต่คนรู้จริงเขาจะตรวจสอบได้ แต่พูดให้เหมือน เพราะคำพูดเหมือนกันใช่ไหม เราจะเอาอะไรไปตรวจสอบเขา ก็คำพูดเหมือนกัน พูดเหมือนกัน เหมือนเปรี๊ยะเลย เถียงไม่ออกเลย อ้าว.. ก็พูดเหมือนกัน แต่อารมณ์ความรู้สึกนะ ความเห็นไม่เหมือนกันเลย
นี่คนรู้จริงมี ถ้าคนรู้จริง นี่สังคมคนที่ฉลาด เวลาสังคมเกิดการวิกฤติ เกิดการต่างๆ เขาต้องการคนกล้าหาญ คนกล้าหาญจะทำให้สังคมนั้นพ้นจากวิกฤติอันนั้นได้ คนกล้าหาญ เห็นไหม ในร้อยคนพันคน จะมีคนจริงอยู่คนหนึ่ง ในคนจริงร้อยคนพันคน จะมีความรู้จริงอยู่คนหนึ่ง ความรู้จริงอันนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก นี่มันเกิดได้ยาก
แต่เวลาประพฤติปฏิบัติกัน ความไม่รู้จริงนี่จินตนาการกันไป คนรู้มหาศาลเลย คนกล้าหาญเยอะมาก แต่กล้าหาญทางไหนก็ไม่รู้ กล้าหาญของเขามันพากันไปถึงที่ไหน? คำว่าจะแก้ทุกข์ เวลาบอกว่าจะแก้ทุกข์นี่สงสารมาก สงสารที่ว่าวิธีมันหลากหลาย วิธีมันหลากหลายที่เราจะต่อสู้กับมัน เราจะหามันเราจะเอาหลากหลายอย่างไร? ถ้าเป็นจริตนิสัยนะมันจะฟังอะไร เห็นไหม
นี่ต้องมีศรัทธาความเชื่อก่อน ถ้าไม่มีศรัทธา ไม่มีความเชื่อ เราจะไม่แก้ไขอะไรเลย เราจะไปนอนจมอยู่กับสถานะเดิม แต่ในการประพฤติปฏิบัติ จิตมันจะพัฒนาการของมันขึ้นไป ดูสิแค่ความคิดเรา ความคิดที่มาวัด มาวา มาฟังธรรม เห็นไหม กับความคิดที่เขาอยู่บ้าน คนที่เขาอยู่บ้านเขาไม่ขยับเขยื้อนเลย เขาบอกพวกเรานี่ทุกข์ อู้ฮู.. ต้องแสวงหา ต้องขวนขวาย แต่การขวนขวายมันขวนขวายเพื่อใคร? ขวนขวายเพื่อจะไม่ใช่ว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ไง ขวนขวายเพื่อจะให้มันรู้ถึงตัวเองไง
การขวนขวายอย่างนี้ มันเป็นการขวนขวายการกระทำ ไม่ใช่ว่าอยู่เฉยๆ มันเป็นไปเอง เป็นไปไม่ได้ แค่เรามีศรัทธาความเชื่อ ในการฟังธรรมมันก็สะเทือนหัวใจเราแล้ว สะเทือนหัวใจให้เราได้คิดไง ให้เราได้คิด ดูสิเรากำไฟอยู่ร้อนๆ เรากำกิเลสตัณหาอยู่นี่ความร้อนๆ แต่เราว่ามีความสุขของเราเพราะมันพอใจของเรา เห็นไหม
พอเราจะปล่อยวาง เราจะทิ้งมัน เราปล่อยวางไม่ลง เราทิ้งมันไม่ได้ แต่พอมีคนชี้นำ มีคนบอกว่าสิ่งนี้มันสร้างความเดือดร้อนให้เรานะ สิ่งที่เป็นความคิดความเห็นในหัวใจมันสร้างความเดือดร้อนให้เรานะ ถ้ามันสร้างความเดือดร้อนให้เรา นี่เราปล่อยวางมัน เห็นไหม แต่ความจำเป็นในปัจจัย ๔ ความจำเป็นในชีวิต ความจำเป็นทางโลกมันต้องอาศัย เราก็อาศัยมันเท่านั้น แต่ความจริงเราปล่อยวาง ปล่อยวางไม่ใช่ปล่อยทิ้ง ปล่อยวางนี่แล้วเราก็ดูแลรักษามัน แต่ไม่ไปยึดมันจนแบกหามเป็นทุกข์เป็นร้อน
นี่แค่ฟังธรรมนะ ฟังธรรมเพื่อเตือนสติเราเท่านั้นเอง แต่พอเรามีความศรัทธา เรามีความเชื่อ เราประพฤติปฏิบัติของเราไป เห็นไหม นี่ความจริงมันเกิดขึ้น พอความจริงมันเกิดขึ้น ความสงบเกิดขึ้นกับใจ ความรับรู้รสอันนั้นมันเกิดขึ้นมาจากใจ
ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต
ผู้ใดเห็นเงา จิตมันได้รับความร่มเย็นของมัน มันจะไม่พูดว่าว่างๆ ว่างๆ อย่างนั้นหรอก มันจะมีความจริงของมัน แล้วความจริงของมัน มันจะรู้เลยว่าทำความจริงแล้วมันจะพัฒนาการไปอย่างไร ปัญญามันเกิดขึ้นมันจะเป็นอย่างไร เพราะอะไร? เพราะว่าเวลาจิตมันสงบเข้ามามันได้รับรู้รสแล้ว มันได้รับรู้ความจริงของมันแล้ว มันรับรู้รสของมัน เห็นไหม รสอันนี้มันเป็นประจักษ์พยานกับตัวเอง
นี่ธรรมะต้องประจักษ์ ประจักษ์กับจิต แล้วเวลามันใช้ปัญญาเข้าไป มันปล่อยวางเข้าไป นี่รสชาติมันแตกต่างกัน เห็นไหม รสชาติมันแตกต่างกัน ความรู้ที่แตกต่างกันมันจะเกิดขึ้นมาจากหัวใจ จากที่ว่าฟังธรรม จากคนที่เขาไม่สนใจ มันก็มีความคิดเห็นต่างๆ กัน ทำไมเขามีความสุขล่ะ? เขาไม่ต้องทำบุญกุศลเขาก็อยู่ของเขา ทำไมเขามีความสุขล่ะ?
ความสุขอย่างนั้น เพราะความสุขมันจมอยู่กับกิเลสตัณหาความทะยานอยากไง ความสุขมันจมกับความพอใจของมัน เห็นไหม โดนกิเลสหลอก แต่พอเราเข้าใจแล้วเราปล่อยวาง เรารู้ทันตัวเราเอง เรารู้ทันตัวเองเพราะอะไร? เพราะกิเลสมันหลอกเรา พอกิเลสมันหลอกเรา นี่เราจะฝืนมัน เราจะทำตรงข้ามกับมัน มันตระหนี่ถี่เหนียว เราจะเสียสละมัน นี่สุขมันคนละสุข ความรู้มันคนละความรู้
สมาธิก็เหมือนกัน เวลาจิตมันสงบเข้ามา ความเป็นจริงมันเป็นอันหนึ่ง สัญญาอารมณ์เป็นอันหนึ่ง ปัญญาที่มันพิจารณาเข้าไปแล้วมันปล่อยวาง ความปล่อยวางเป็นอันหนึ่ง แต่ความรู้ เรากลัวไม่รู้ เราพิจารณาของเราไป เราต้องยึดให้มั่น เป็นความรู้เพื่อเอามาเป็นประเด็นโต้เถียงกันมันเป็นอีกอันหนึ่ง นี่แล้วมันเห็นความแตกต่างหมดเลย ถ้าคนรู้คนเห็นอย่างนี้มันจะเข้าไปแก้ความทุกข์ๆ ที่ว่าทำไมชีวิตนี้มันทุกข์นัก ทุกข์นักไง
ชีวิตนี้ทุกข์นักนะ ทุกคนจะแก้ไขทุกข์ แล้วเรามาภาวนากันมันก็ทุกข์ยาก มันทุกข์ยาก เราอย่าไปน้อยเนื้อต่ำใจ คนเรามีโอกาสได้ทำงาน คนนั้นจะมีโอกาสได้ประสบความสำเร็จ เรามีโอกาสได้มีศรัทธาความเชื่อ เรามีโอกาสได้นั่งสมาธิภาวนา เห็นไหม เรามีโอกาส เรามีการกระทำ คนไม่มีโอกาส ไม่มีการกระทำเขาจะไม่ได้ผลงานใดๆ กับเขาขึ้นมาเลย
จิตก็เหมือนกัน จิตที่ไม่มีการขยับเขยื้อน จิตที่ไม่มีการกระทำ นี่เราเดินจงกรม เราเดินอยู่จิตมันเดินด้วยอะไร? เพราะความรู้สึก จิตมันสั่งให้เดินมันก็เข้ามา นี่ว่าจิตไม่ได้ทำอะไร จิตมันเป็นนามธรรม ไม่ต้องทำอะไรเลย เราเดินเกือบเป็นเกือบตาย เราเหนื่อยเกือบตายว่าจิตมันได้ขยับเขยื้อน
มันขยับเขยื้อน ดูสิเวลามันเกียจคร้าน มันไม่ต้องการ มันไม่มีการกระทำ เราฝืนมันนี่มันมีการขยับเขยื้อนไหม? พอเวลาทิฏฐิความเห็นมันเกิดขึ้นมามันมีการขยับเขยื้อนไหม? เวลาจิตมันเป็นไปมันมีความรับรู้ไหม? ความเห็นต่างๆ ความรู้ต่างๆ ที่เราเห็นในอายตนะมันรวมลงที่ใจหมด ทีนี้การปฏิบัติก็ปฏิบัติมาจากใจ ถ้าใจมันมีการปฏิบัติ ใจมีการขยับเขยื้อนขึ้นไป มันมีการเปลี่ยนแปลงของมันไป เห็นไหม ความทุกข์ความยากนั้นเราพอใจนะ นี่เราจะแก้ไขทุกข์
ทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นความจริง เราต้องมีความเพียรชอบ มีมรรคญาณเข้าไป นี่ทุกข์แก้ทุกข์ เอาความขยันหมั่นเพียร ถ้ามันจิตสงบมีปัญญาเกิดขึ้นไม่ใช่ความทุกข์หรอก มันรื่นเริง มันอาจหาญ มันมีความสุข มันมีความพอใจ ถ้าไม่พอใจเราจะเดินจงกรมได้กันเป็น ๗ วัน ๗ คืนได้อย่างไร? เราเดินจงกรม นั่งสมาธิ ปฏิบัติทั้งชีวิตได้อย่างไร?
เพราะมันมีความพอใจ คนเรามันมีความสุข มันมีผลตอบแทน มันมีความพอใจไหม? พอมีความพอใจ อันนั้นมันกระตุ้นให้เรากระทำ มันกระตุ้นให้เรามีความขยันหมั่นเพียร ไม่ใช่ว่าความเห็นมันเกิดขึ้นมานี่ลอยมาจากฟ้าหรือ? ถ้าไม่มีอะไรชุ่มชื่นหัวใจเลย ไม่มีอะไรมาบำรุงหัวใจเลย ใครจะมีความมุมานะขนาดนั้น มีความมุมานะเพราะอะไร? เพราะมันจะพ้นจากทุกข์ มันเห็น มันเอื้อมมือได้ หยิบได้ จับต้องได้ เห็นไหม นี่แก้ทุกข์
เวลาบอกทุกข์ก็สงสารว่าทุกข์ แล้วเวลามาปฏิบัติ มาวัดแล้วนึกว่าจะสุขสบาย มาวัดแล้วต้องมาเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา โอ้โฮ.. บอกมันทรมานตน ไหนว่ามาวัดแล้วสบายไง มานั่งโอดโอยอยู่นี่ โอดโอยเพื่อจะฆ่ามัน เพื่อเอาชนะมันให้ได้ ฆ่ากิเลสให้มันตายคาที่ ให้เราเห็นต่อหน้ามัน อยู่ต่อหน้าเรา เห็นไหม เป็นความเพียรของเรา ต่อสู้กับเรา
งานไหนก็แล้วแต่ที่เขาว่าทำงานเดือดร้อนมาก ทุกข์ยากมาก ไม่เท่ากับงานเอาชนะตัวเอง นี่ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประเสริฐมาก ประเสริฐเพราะมันเป็น อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน สมบัติของเรา ในบ้านเรือนของเรานี่สมบัติเรามหาศาล เราเห็นของเราหมด
นี่ก็เหมือนกัน จิตใจของเราดีงามขนาดไหน จิตใจเราทุกข์ยากขนาดไหนเราเห็นหมด เรารู้หมด แล้วถ้าจิตใจของเราสะอาดบริสุทธิ์ ที่มันเป็นความจริงขึ้นมา มันจะเป็นคุณสมบัติของเรา มันจะเป็นประโยชน์กับเราขนาดไหน.. นี่แก้ทุกข์ แก้ทุกข์ด้วยความขยันหมั่นเพียร แก้ทุกข์ด้วยการต่อสู้ ไม่ใช่แก้ทุกข์ขึ้นมามันจะลอยมาจากฟ้า ไม่ต้องทำอะไรเลยแล้วมันจะมีความสุขไปมันเป็นไปไม่ได้
นี่ศาสนาพุทธสอน เห็นไหม ศาสนาแห่งเหตุและผล แล้วเราเป็นบริษัท ๔ เราเป็นเจ้าของศาสนา แล้วเอาธรรมะเข้าหัวใจเรา เราจะได้ธรรมะจริงๆ อยู่ในหัวใจของเรา เอวัง