เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๙ ก.ค. ๒๕๕๒

 

เทศน์เช้า วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๒
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราอยู่วัดอยู่วานะเราจะมาภาวนากัน เราภาวนากัน เห็นไหม เวลาอายุของหัวใจมันไม่มี เราเปรียบเทียบนะ เวลามนุษย์เราขาดอากาศหายใจมันตายนะ แล้วเวลาของหัวใจมันไม่มีเว้นวรรค มันมีความรู้สึกตลอดเวลา ฉะนั้น เรามาประพฤติปฏิบัติ เราเอาตรงนี้ปลุกเร้าเรา เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย เวลาปวดเมื่อย เวลาต่างๆ สิ่งนี้มันเป็นเรื่อง “ทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นความจริง”

พระพุทธเจ้าพูดจริงมากๆ เลยนะ “ทุกข์นี้เป็นอริยสัจ ทุกข์นี้เป็นความจริง” แล้วเวลาคนเกิดมาเพลิดเพลินนะ เราเคยมีอยู่ลูกศิษย์เข้ามาหา เขาบอกว่าเขามีตังค์มาก แล้วเขามีแฟนด้วย เขามาหาเรานะ เขาบอก “ไม่มีทุกข์ ผมไม่เคยเห็นทุกข์ ทุกข์ไม่มี นี่กำลังมีความสุขมากเลย เงินก็มี แฟนก็สวย ทุกอย่างดีไปหมดเลย”

เขาบอก “ทุกข์ไม่มี! ทุกข์ไม่มี!”

เราบอกว่า “เป็นไปไม่ได้! เป็นไปไม่ได้! ทุกข์เป็นความจริง เอ็งไม่เคยปวดเมื่อยบ้างเลยหรือ? ถ้าเอ็งไม่เคยปวดเมื่อย เอ็งเคยปวดถ่ายไหม? เวลาเราปวดถ่ายหนัก เข้าไม่ทันเอ็งก็ทุกข์แล้ว” พูดจนเขายอมรับ เห็นไหม

“ทุกข์นี้เป็นอริยสัจ ทุกข์นี้เป็นความจริง” นี้เพื่อให้เราตื่นตัวนะ แต่! แต่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ สิ่งนี้เป็นอริยทรัพย์ ทรัพย์อันประเสริฐ ประเสริฐจริงๆ นะ มันเกิดมาเพื่อให้เราทำการวิจัยกับร่างกายของเราไง มันเกิดมาให้เราเห็นมนุษย์ไง ว่าความเป็นมนุษย์ ความเกิดในวัฏฏะมันเป็นทุกข์อย่างนี้ แล้วธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้

ธรรมชาติของคนต้องเกิดต้องตาย ธรรมชาติของคนมันไม่มีเว้นวรรค ธรรมชาติของจิตมันไม่มีที่สิ้นสุด ธรรมชาติของจิตต้องเป็นอย่างนี้ แล้วเป็นอย่างนี้ไม่เป็นธรรมดานะ เวลามันขับไสไปเกิดในวัฏฏะต่างๆ มันหมุนไป เห็นไหม ไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหมนะ ก็ไปเพลิดเพลิน

คำว่าเพลิดเพลิน มันเพลิดเพลินเพราะผู้ปกครองนะ ไอ้ผู้ใต้ปกครองมันก็ทุกข์ยาก เพราะอะไร? เพราะอยู่เป็นเทวดามันก็มีการปกครองเหมือนกัน คนเรามีการปกครอง มีกติกา ทุกคนมันจะดีดดิ้นทั้งนั้นแหละ มันก็มีความทุกข์อันหนึ่ง ทุกข์นี้เป็นอริยสัจ ทุกข์นี้เป็นความจริง ถ้าทุกข์นี้เป็นอริยสัจ ทุกข์นี้เป็นความจริง นี่เรามาพบพระพุทธศาสนา พุทธศาสนาสอนอย่างนี้ แล้วเราจะจงใจ ตั้งใจทำไหม?

เวลามันเมื่อย มันเหนื่อย มันล้านี่เป็นธรรมดา ครูบาอาจารย์ของเรานะทุ่มทั้งชีวิต ทุ่มทั้งชีวิต การทุ่มทั้งชีวิตทำไมมันจะไม่เหนื่อยล้า เห็นไหม หลวงตาท่านพูดประจำ เวลาท่านเข้าป่าเข้าเขา ออกจากป่าจากเขามา หลวงปู่มั่นเห็นแล้วตกใจเลย “หา! ทำไมเป็นอย่างนี้?”

มันอดอาหารมาจนหนังหุ้มกระดูก หนังห่อกระดูกนี่คนทุกข์ไหม? คนทุกข์ทั้งนั้นแหละ มันทุ่มเท.. คำว่าทุ่มเท ทุ่มเทคือมันไปหมดใช่ไหม? กิเลสมันไม่มีส่วนแบ่ง เวลาทำนะทำสักแต่ว่า ปฏิบัติธรรมนะ ปฏิบัติธรรม เออ.. ต้องสบายๆ ทำอย่างเราสบาย

คำว่าสบายๆ คืออยากได้! คืออยากมีธรรม อยากมีความสุขอยู่ แต่มันก็ห่วงไง ห่วงสบายๆ ห่วงตัวเราไง ถ้าห่วงตัวเรา เห็นไหม มันทำกึ่งๆ มันไม่ทุ่มเท มันไปไม่หมด พอไปไม่หมด ครึ่งนั้นกิเลสมันเอาไปกิน

ครูบาอาจารย์ท่านพูดเลยนะ ดูสิอย่าง ๙ ประโยค ๑๐ ประโยคมาถามหลวงปู่ฝั้น บอกรู้ไปหมดทุกอย่าง รู้ไปหมด แล้วให้ผมทำอย่างไร? นี่ศึกษาจนจบกระบวนการ ๙ ประโยค คือจบกระบวนการการศึกษาแล้ว พอศึกษาแล้วให้ผมทำอย่างไร? ผมก็ยังทุกข์อยู่ เห็นไหม นี่รู้ไปหมดแล้วมันก็ยังทุกข์อยู่

นี่ก็เหมือนกัน มันทุกข์อยู่เพราะมันกึ่งๆ ไง ความรู้อย่างนี้มันรู้เพราะเราไม่เต็มที่ของเรา ถ้าเราเต็มที่ของเรา เห็นไหม เราทุ่มเทของเรานะ เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ทุกข์ไหม? ทุกข์ ทำไมมันจะไม่ทุกข์ อดอาหารนี่ทุกข์ไหม อดอาหารกระเพาะมันร้องจ้อกๆๆ ทุกข์ไหม? ทุกข์ แต่ทำไมถึงต้องทนทุกข์ล่ะ? ทนทุกข์เพราะเรากินอิ่มนอนอุ่นแล้ว ภาวนาขึ้นมามันก็ภาวนาไม่ได้สะดวก

การภาวนา เห็นไหม นี่ทรัพย์.. อย่างที่พูดเมื่อวานนี้ พ่อแม่ของพระรัฐบาล เวลาพระรัฐบาลจะบวชก็ไม่ให้บวช เวลาบวชเสร็จแล้ว ประพฤติปฏิบัติจนเป็นพระอรหันต์ก็ยังนิมนต์มาบ้าน แล้วนี่เอาทรัพย์สมบัติมากองหมดเลย ทรัพย์สมบัติเมื่อก่อนเขาไม่มีธนาคารนะ เงินทองของใครก็คือของเขานะ เขาเอาใส่ไหฝังกันไว้ พอเสร็จแล้วเขาก็เอามากอง ถามพระรัฐบาล ถามลูกไง บอกว่า

“นี่เงินทองนี้ทำอย่างไรลูก? เงินทองพ่อแม่หามาทำอย่างไร?”

พระรัฐบาลบอกว่า “แม่ ให้เอาใส่รถเข็นแล้วเข็นไปลงแม่น้ำนะ แล้วดั้มพ์ทิ้งไปเลย”

นี่เราเปรียบเทียบถึงความเห็นไง ความเห็นของพ่อแม่ เงินทองนี่สำคัญ เงินทอง ธาตุวัตถุนี้สำคัญ แต่ความเห็นของพระอรหันต์ เงินทองเป็นแร่ธาตุ เป็นแร่ธาตุที่เป็นสมบัติสาธารณะ จิตใจของคนที่เป็นคนดีนะ เงินทองนั้นเอาไปทำประโยชน์กับสาธารณะได้ ถ้าจิตใจคนที่เห็นแก่ตัว เงินทองนั้นก็มาเหยียบย่ำตัวเอง เงินทองทำให้เราเสียหายนะ

แต่พระรัฐบาล หัวใจนี่ธรรมที่เหนือโลก เห็นไหม สิ่งที่ธรรมเหนือโลก เราจะบอกว่ามุมมองไง นี่เรามองกันแต่เรื่องหัวโขน เรื่องหน้าเรื่องตา เรื่องต่างๆ แต่เวลาปฏิบัตินี่ ปฏิบัติแล้วนะคนจะสูงต่ำแค่ไหน? จะมีความสูงแค่ไหน? ใครจะต่ำต้อยแค่ไหน? เวลาปฏิบัติก็เดินจงกรม นั่งสมาธิมาเหมือนกันนะ

คนเราก็มีหัวใจเหมือนกัน ถ้าทำปฏิบัติไปแล้ว ทุคตะเข็ญใจก็เป็นพระอรหันต์ได้ เศรษฐีกฎุมพีก็เป็นพระอรหันต์ได้ กษัตริย์ก็เป็นพระอรหันต์ได้ เป็นพระอรหันต์ได้ทั้งนั้นเลย การเป็นพระอรหันต์แล้วมันเป็นที่ไหนล่ะ? มันเป็นที่การปฏิบัติที่ถูกต้อง เห็นไหม ดูเวลาประพฤติปฏิบัติ นั่งสมาธิทั้งคืนๆ นั่งตลอดรุ่งๆ ตลอดรุ่งแต่มันได้รูปแบบ แต่หัวใจไม่เป็นไป

นี่มนุษย์ร่างกายเหมือนกันหมดเลย ร่างกายนี่ได้มาเหมือนกันเลย หัวใจเหมือนกันไหม? หัวใจมันไม่เหมือนกันนะ ถ้าหัวใจไม่เหมือนกัน นี่วุฒิภาวะ อำนาจวาสนาบารมีมันต่างกัน ความต่างกัน มันเดินจงกรม นั่งสมาธิเหมือนกัน มากน้อยแตกต่างกัน ฉะนั้น ถ้าเป็นของเราแล้วเราไม่ต้องไปทุกข์ร้อน ปัจจุบันนี้เราเกิดเป็นมนุษย์ แล้วเราพบพุทธศาสนา เรามีอิสรเสรีภาพมาก เรามีโอกาสที่ประพฤติปฏิบัติมาก ไม่มีใครมีโอกาสเหมือนเรานะ ไม่มีใครมีโอกาส

ใครมีโอกาส? ดูสิ โอกาสในสังคมกว่าจะอนุญาตให้เขามาหนึ่ง โอกาสในหัวใจของเขา ในเมื่อโอกาสเขาไม่เชื่อ เขาบอกเลยคนที่ไปวัดนี่ไปทรมานตน พวกนี้พวกทุกข์นิยม เขาบอกทุกข์นิยม พวกนี้ไปแส่หาความทุกข์กัน แต่เขาอยู่สุขสบายในโลกของเขา เขามีความสุขสบาย.. มันจริงหรือ? มันจริงหรือ?

นี่โอกาสอย่างนี้ ถ้าจิตใจไม่เปิด เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการ “ภาชนะที่คว่ำไว้” ฝนตกแดดออกขนาดไหนมันก็ไม่ได้สิ่งใดในภาชนะนั้นเลย ถ้าภาชนะมันหงายขึ้นมา หัวใจเราปิด หัวใจเราคว่ำไว้ เราจะไม่มีอะไรเข้าไปในหัวใจของเราได้เลย ถ้าหัวใจเราเปิดขึ้นมา

ในปัจจุบันนี้ถ้าหัวใจเราไม่เปิด เราจะมีความเชื่อ ความศรัทธา มามุมานะ มาตากแดดตากฝน มาทรมานตนไหม? การทรมานตนคือทรมานกิเลสนะ เพราะกิเลสมันอยู่ในหัวใจของเรา เราต้องทรมานมัน เราต้องต่อสู้กับมัน เราต้องแก้ไขมัน แล้วถ้ากิเลสมันชำระออกไปจากใจ มันชำระออกไปอย่างไร?

คนที่ชำระกิเลสออกไปจากใจ พูดเรื่องการชำระกิเลสไม่ถูก มันจะไปชำระกิเลสด้วยความจริงได้อย่างไร? คนที่ชำระกิเลสออกไปจากใจ มันต้องอธิบายเรื่องการชำระกิเลสในหัวใจได้ชัดเจนมาก เพราะในหัวใจนี่กิเลสมันหลุดออกไปจากใจของมัน เห็นไหม

นี่คือเป้าหมายของเรา เรามีความเชื่อ มีความศรัทธาแล้วนะ.. นี่เราจะพูดให้กำลังใจตลอดเวลา เราเข้าใจเรื่องจิตใจของคนที่อาจหาญรื่นเริง ที่มันเข้าไปเผชิญกับการต่อสู้กับกิเลส มันต้องใช้กำลังใจขนาดไหน นี่เพราะเราทำมาแล้ว ฉะนั้น เราอยู่กับครูบาอาจารย์ของเรา เวลาเราทดท้อนะหลวงตาท่านจะกระตุ้นตลอดเวลา กระตุ้นตลอดเวลา ท่านจะกระตุ้นให้เราฮึกเหิมตลอดเวลา เหมือนกองทัพเลย ขวัญกำลังใจของกองทัพ กองทัพจะน้อยกว่า แต่มีขวัญกำลังใจที่ฮึกเหิมกว่า มันสามารถชนะข้าศึกได้

จิตใจของเราถ้ามันฮึกเหิม มันเห็นช่องทาง มันมีทางออก มันฮึกเหิมของมัน มันทำของมันได้ แต่ถ้าจิตใจมันอ่อนแอนะ กองทัพที่ใหญ่มหาศาลเลย แต่ด้วยความประมาท เห็นไหม มีแต่กินเหล้าเมายากัน รบเท่าไหร่ก็แพ้เท่านั้นแหละ

นี่ก็เหมือนกัน ไปวัด ฉันเป็นคนดี ฉันภาวนานะ ดูสิฉันถือศีล ๘ นะ แล้วก็ไปนอนจมอยู่อย่างนั้นแหละ มันจะได้อะไร? กองทัพที่ไม่มีขวัญกำลังใจ.. ขวัญกำลังใจนี่สำคัญมาก หลวงตาท่านพูดถึงหลวงปู่ขาว หลวงปู่ขาวเป็นเศรษฐีนะ เป็นพ่อค้าโคมีเงินมาก เสร็จแล้วมาบวช เห็นไหม ญาติพี่น้องบอกบวชแล้วก็อยู่วัดนี่แหละอย่าไปไหนเลย มรรค ผล ไม่มีหรอก หลวงปู่ขาวค้านในใจ เพราะทุกข์มากจะหาทางออกให้ได้

“นี่ถ้าออกจากวัดนี้ไป ไม่ได้เป็นพระอรหันต์จะไม่กลับมาเหยียบหมู่บ้านตัวเองอีกเลย”

นี่ไงหัวใจมันเด็ดขาดนะ เวลาออกไป หลวงปู่แหวนกับหลวงปู่ขาวขึ้นไปเชียงใหม่ หลวงปู่แหวนไปปฏิบัติ ออกจากบ้านไปแล้วไม่กลับมาเลย เห็นไหม ไม่ย้อนกลับมาเลย ขึ้นไปเชียงใหม่แล้วตายที่เชียงใหม่เลย แล้วเวลาเผาศพแล้วเป็นพระธาตุหมดเลย นี่หัวใจมันเข้มแข็งอย่างนั้น คนเราถ้าหัวใจเข้มแข็งอย่างนั้น อาจหาญรื่นเริงอย่างนั้น มันประพฤติปฏิบัติแล้วมันจะได้ผลของมัน

ฉะนั้น ถ้ามันประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม นี่เวลาเราพูด อย่างเมื่อวานบอก

“ไม่ต้องมาสงสาร อย่ามาสงสารพระ พระประพฤติปฏิบัติ พระทำของพระได้”

นี่เขาบอกสงสารพระมาก สงสารพระมาก ก็เหมือนคนว่ายน้ำไม่เป็น สงสารคนว่ายน้ำไม่เป็น ตกน้ำแล้วกระโดดลงไปช่วยเขา นี่ตายกันหมดเลยนะ คนว่ายน้ำไม่เป็นเห็นคนตกน้ำแล้วกระโดดลงไปอุ้มเลย กอดกันตายอยู่ในน้ำนั่นแหละ

นี่ก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติ กิเลสในหัวใจเรามันอ่อนแอ พอเห็นการปฏิบัติก็สงสารเขา สงสารเขา จะดึงกันจมน้ำหมดเลย แต่ถ้าเราพิสูจน์ก่อน เขาทำของเขาเพื่ออะไร? เขาทำด้วยเหตุใด? เขามีจุดมุ่งหมายอย่างใด? แล้วทำเข้าไปแล้ว เวลาปฏิบัติอย่าไปวิตกกังวลว่าฉันทำแล้วจะผิด.. อย่างที่ว่านั่งตลอดรุ่ง นี่นั่งตลอดรุ่งมันนั่งได้ยาก แต่เขานั่งตลอดรุ่งมันก็ยังผิด เพราะนั่นมันได้รูปแบบมา เห็นไหม แต่เนื้อหาสาระมันยังไม่ได้

ในการประพฤติปฏิบัติ เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ร่างกายเราได้รูปแบบมาแล้ว แต่เนื้อหาสาระคือหัวใจที่มันเป็นไปนะ หัวใจที่มันสงบขึ้นมา มันจะแตกต่างกับหัวใจที่มันฟุ้งซ่าน แล้วหัวใจที่มันเป็นขึ้นไปแล้วนี่เรารู้ สันทิฏฐิโก ปัจจัตตังเรารู้เอง สุขก็รู้เอง ทุกข์ก็รู้เอง แล้วทุกข์นี่ไม่มีคนปรารถนามัน แล้วเราต้องต่อสู้กับมัน

เราต้องต่อสู้กับเราเองนะ เห็นไหม ในการปกป้องดูแลกัน เขายังปกป้องดูแลเราได้ แต่ในการต่อสู้กับกิเลสใครจะดูแลเราได้ ครูบาอาจารย์กระตุ้นอยู่นี่อะไร? นี่ครูบาอาจารย์ก็กระตุ้นให้เราฮึกเหิม ผิดถูกไม่เป็นไร ผิดถูกเดี๋ยวเราแก้กัน มันต้องมีผิดมีถูกบ้างล่ะ คนเราเกิดมามันไม่ใช่พระอรหันต์เว้ย ทำอะไรจะไม่ผิดไปเลยมันเป็นไปได้อย่างไร?

เราเกิดมาก็กิเลสทั้งนั้นแหละ แต่เราจะต่อสู้กับมัน ผิดก็คือผิดจะเป็นไรไปล่ะ? ผิดแล้วเราแก้ไข แก้ไขให้มันถูก เรามีครูมีอาจารย์คอยแนะนำเราอยู่ ถ้าไม่มีครูมีอาจารย์นะ ผิดก็ต้องพิสูจน์กันไป กว่าจะรู้ถูกรู้ผิดนะ มันก็ทอนกำลังเราไปจนอ่อนแอเต็มที่แล้ว เห็นไหม นี้ผิดถูกครูบาอาจารย์ยังมีอยู่ เราค่อยแก้ไขของเรานะ ทำของเรา แก้ไขของเรา มันจะเข้าสู่ความถูกต้องได้

“อริยสัจมีหนึ่งเดียว! นิพพานมีหนึ่งเดียว! เข้าถึงเหมือนกันหมด ต้องเข้าเหมือนกันได้”

ถ้าครูบาอาจารย์กับลูกศิษย์เวลาโต้แย้งธรรมะกัน เห็นไหม หลวงตาท่านพูดโต้กับหลวงปู่มั่นตลอดเลย บอก “แพ้ทุกที แพ้ทุกที” ท่านบอกนักปราชญ์กับคนโง่

นี่ก็เหมือนกัน ในหัวใจของเราเหมือนกับคนโง่ แต่เราคิดว่าเราเก่ง เรารู้ไง แต่เวลาเราสนทนาธรรมกันมันต้องแก้ไขตรงนั้น ผิดถูกไม่สำคัญนะ ผิดถูกต้องแก้ไข ถ้ากลัวผิดๆ เราจะไม่มีการก้าวเดินเลย กลัวผิดๆ ทุกคนคิดอย่างนั้นกลัวผิด ผิดถูกพูดออกมา ผิดถูกเราแก้ไขกัน

มันเป็นไปได้ เห็นไหม เราจะพ้นจากทุกข์ได้ ถ้าไม่พ้นจากทุกข์ได้ พระพุทธเจ้าสิ้นกิเลสไปแล้ว ครูบาอาจารย์ของเราประพฤติปฏิบัติมาแล้ว ศาสนามีมรรคมีผลสิ ถ้าไม่มีมรรคมีผล เราจะมาทุกข์ยากกันทำไม? เราจะมาตากแดดตากฝนกันอยู่ทำไม? ทำไมเราไม่อยู่ที่สุขสบายล่ะ? แล้วมันสุขสบายจริงไหม? มันไม่จริงซักอย่างหนึ่ง

สรรพสิ่งนี้เป็นอนิจจัง ไม่มีสิ่งใดคงที่เลย มันแปรสภาพตลอดเวลา แม้แต่จิตใจของเราก็แปรสภาพตลอดเวลา แต่มันเป็นสันตติ แปรสภาพที่มีอยู่ เห็นไหม นี่จิตวิญญาณมันไม่มีอายุ มันคงที่ของมันนะ แต่มันชราคร่ำคร่าไหม? คนแก่คนเฒ่านะ นอนแหมะอยู่บนเตียง กิเลสในหัวใจมันแก่เฒ่าด้วยไหม? มันยังคิดของมันไป มันยังคิดของมันตลอดเวลา ไม่มีแก่ไม่มีเฒ่าเลย

นี่สิ่งนี้มันจะเวียนตายเวียนเกิด แต่ร่างกายเราสิมันแก่มันเฒ่า เพราะอะไร? เพราะเกิดเป็นวาระของมนุษย์มันมีอายุขัยทั้งนั้นแหละ วัฏวนมันเป็นอย่างนี้ เกิดตายๆ เกิดตายในสถานะ แต่จิตไม่เคยเกิดเคยตาย จิตเป็นของมันอยู่อย่างนั้น เราทุกข์อยู่กับมันตลอดไป เว้นไว้แต่เวลาภาวนาจนสิ้นกิเลสแล้ว จิตมันก็เป็นอย่างนั้นอีกแหละ

จิตปกติ จิตของกิเลส จิตของปุถุชนมันก็ไม่เคยตาย มันมีของมัน แต่มันเกิดมันตายในสถานะของมนุษย์ ของสัตว์ ของเทวดา ของอินทร์ ของพรหม เวลาทำซึ่งสิ้นกิเลสไปแล้วจิตมันก็ไม่เคยตาย จิตมันก็มีของมันอยู่อย่างนั้น นี่สสารธาตุรู้มันก็มีของมันอยู่อย่างนั้น แต่มันไม่มีกิเลสไง

นี่ไงเราทำได้ เราพบพุทธศาสนานะ เราเกิดมาแล้ว เรามีโอกาส มีวาสนา เห็นไหม เขาไม่มีโอกาสเหมือนเรา เขามาแล้วเขาต้องกลับ เรามีโอกาสมากกว่า.. โอกาสนี่วินาทีหนึ่ง เวลาหนึ่ง เราตั้งสติตลอดเวลา พระพุทธเจ้าสอนไว้แล้ว

“คนมีสติ แม้แต่วินาทีเดียว ดีกว่าไอ้คนที่ปล่อยชีวิตทั้งชีวิตโดยที่ไม่สนใจเรื่องสิ่งใดเลย”

นี่โอกาสของเขามันไม่มี เพราะหัวใจเขาไม่เปิด โอกาสเขามี หัวใจเขาเปิดแล้ว แต่มีความติดขัดในครอบครัวของเขา ในสังคมของเขา ทุกคนมีหมดนะ ดูสิองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะออกบวช เห็นไหม พระเจ้าสุทโธทนะเจ็บปวดขนาดไหน? เจ็บปวดขนาดไหน?

นี่ทุกคนปรารถนาเวลาจะให้เป็นผู้ปกครอง เหมือนเราปรารถนาหัวหน้าที่ปกครองเรา แล้วคนที่ปกครองเราหายไป แล้วเขาจะอยู่กันอย่างไร? แต่เขาก็อยู่กันมาได้ เห็นไหม เขาจัดการของเขาได้เหมือนกัน ถึงเวลาแล้วทุกอย่างมันแก้ไขได้ทั้งนั้นแหละ

นี่ก็เหมือนกัน ชีวิตเราเราต้องแก้ไขได้ ความเป็นไปของเราแก้ไขได้ เราต้องแก้ไขของเรา แก้ไขของเราเพื่ออริยทรัพย์.. เพื่ออริยทรัพย์นะ! พูดจริงๆ แต่พูดถึงคนอื่นเขาไม่กล้าพูดอย่างนี้ แค่ทรัพย์ แค่ความสุขเราก็หาไม่ได้แล้ว อริยทรัพย์คือหลักหัวใจ หัวใจที่เป็นคุณงามความดีที่เป็นจริง แล้วพิสูจน์ได้ด้วย

เราทำได้นะ อย่าน้อยเนื้อต่ำใจ ถ้ามันเดือดร้อน มันทุกข์ มันยากนัก นี่ไง นี่พระพุทธเจ้าบอกแล้ว “ทุกข์นี้เป็นอริยสัจ” เราต้องต่อสู้กับมันไง เราต่อสู้กับมันนะ

“รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง” นี่รสของธรรม! เวลาถึงธรรม รสที่มันเกิดขึ้นจากเราแล้วเราจะซึ้งมาก แล้วเราจะมีสิ่งที่เป็นที่พึ่ง พระพุทธเจ้าบอกแล้วนะ

“ให้เรามีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีสิ่งใดๆ เป็นที่พึ่งเลย”

สมาธิธรรม ปัญญาธรรม สุดท้ายแล้วมันเกิดมรรคญาณ เกิดอริยทรัพย์ นี่ธรรมแท้ๆ เกิดจากหัวใจ สิ่งนี้โลกหาไม่ได้ โลกไม่มี แต่เราเป็นคนที่มีปัญญา เราจะหากัน เราจะรื้อกัน จะค้นกัน จะเอามาพิสูจน์ตามความรู้สึกหัวใจของเรา เป็นสันทิฏฐิโกต่อหน้าของเรา เราถึงมีโอกาส เราถึงเห็น อย่าน้อยเนื้อต่ำใจกับชีวิต

เขาจะสุข เขาจะทุกข์ เขาจะเพลิดเพลินของเขา นั่นมันเรื่องของเขา เรื่องของเรานี่เราทำของเรา เพื่อความจริงของเรา เพื่ออนาคตของเรา เพื่อความสุขของเรา เอวัง