เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๙ ก.ค. ๒๕๕๒

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๒
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

พระพุทธเจ้าเตือนตลอดเวลา เราเกิดมาแล้วนี่ ร่างกายเราเข้มแข็งเราต้องรีบขวนขวาย เจ็บไข้ได้ป่วยมา โรคชราภาพมา ถึงที่สุดแล้วเราจะไปไหนกัน?

นี่เห็นไหม เวลาคนตายไป ยมบาลเขาถามว่า

“เห็นธรรมไหม? เห็นธรรมไหม?”

“ไม่เคยเห็นธรรม”

เห็นคนเกิดไหม? เห็นคนแก่ไหม? เห็นคนเจ็บไหม? เห็นคนตายไหม? นั่นมันเตือนตลอดเวลา แต่สิ่งนี้มันเป็นเรื่องธรรมดาที่มันต้องเจอใช่ไหม? เราเลยคุ้นชินกับมัน เราเลยไปเห็นแต่สิ่งที่เราต้องเป็นปัจจัยเครื่องอาศัย กับทางโลกบ่นว่าทุกข์ ว่าทุกข์ ว่าทุกข์ แล้วก็แสวงหากัน

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเลยนะ

“เราถือคบเพลิงคนละดุ้นคือความคิด แล้วก็วิ่งไปแล้วบอกว่า ร้อน! ร้อน! ร้อน!”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก

“มีบุคคลหนึ่งผู้ฉลาด ได้ทิ้งดุ้นฟืนนั้น คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วบอกให้พวกเราทิ้งดุ้นฟื้นนั้น คือตัณหาความทะยานอยากในหัวใจของเรา”

จะบอกว่าเป็นความคิดทั้งหมด.. ไม่ใช่! ความคิดของพระอรหันต์เป็นความคิดที่สะอาด ความคิดของเราเป็นความคิดที่สกปรก ความคิดสกปรกเพราะอะไร? เพราะมันมีอวิชชา ตัณหาความทะยานอยากบวกเข้ามา แต่ความคิดที่สะอาด เห็นไหม แค่ปัจจัยเครื่องอาศัย พออยู่พอกินนี่หาได้ แต่พวกเรามันเป็นกังวลกันไง กังวลว่าชีวิตเราจะไม่มั่นคง

ชีวิตของเราต้องมั่นคง ความมั่นคงมันมาจากไหน? โลกนี้มันไม่มีอะไร โลกนี้ความมั่นคงอนิจจังมันไม่มี มันเป็นอนิจจังทั้งหมด แต่ความอนิจจังนี้ ถ้าใครมีสติปัญญา เอามันมาใช้ประโยชน์ให้ได้ก่อน ถ้าใครใช้ประโยชน์ให้ได้ก่อน เห็นไหม ความอนิจจังคือชีวิตนี้มันมีวันสิ้นสุดเป็นธรรมดา แต่ก่อนที่มันจะสิ้นสุดเราเอามันมาใช้ประโยชน์ตรงนี้ให้ได้ก่อน ถ้าเราใช้ตรงนี้ได้ก่อน เราแก้ไขตรงนี้ได้ก่อน เราจะประสบความสำเร็จ

แต่ถ้ามันประสบความสำเร็จมันจะไม่เป็นอย่างนี้อีก ถ้ามันไม่ประสบความสำเร็จล่ะ? ถ้าไม่ประสบความสำเร็จมันก็จะเป็นอย่างนี้อีก นี่ประสบความสำเร็จหรือไม่ประสบความสำเร็จอยู่ที่การประพฤติปฏิบัติของเรา การประพฤติปฏิบัติถ้าเราเข้าใจถูกต้อง แต่ในปัจจุบันนี้เราเข้าใจกันไม่ถูกต้อง เราเข้าใจกันด้วยทุกอย่าง เพราะเรามีการศึกษา การศึกษามันไปหนุนให้ตัณหาความทะยานอยากนั้นเข้มแข็งขึ้นมา

ว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา การคิดของเราคิดด้วยปัญญา แต่ไม่เข้าใจเลยว่าปัญญานี้เป็นปัญญาของกิเลส ปัญญาที่ตรึกในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่แหละเป็นปัญญาของกิเลส เพราะกิเลสมันเป็นเรา ความคิดมันไม่ใช่เรา ความคิดมันเกิดดับขึ้นมา แล้วเราเอาความคิดนี้ไปตรึกในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเราใช้ปัญญาแล้ว เราใช้ปัญญาแล้ว แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ที่ท่านมีคุณธรรม ท่านเคยผ่านอย่างนี้มา ท่านบอกว่า

“ปัญญาอย่างนี้เป็นปัญญาอบรมสมาธิ”

คำว่าปัญญาอบรมสมาธิ เห็นไหม กระบวนการการปฏิบัติทั้งหมด จะเข้าใจหรือไม่เข้าใจ ผลของมันคือสมถะทั้งหมด! ผลของมันคือสมาธิทั้งหมด! แต่เพราะเราไม่เข้าใจเรื่องสมาธิ เพราะสมาธิมันเป็นความว่าง เราถึงเข้าใจว่าความว่างนั้นเป็นนิพพาน ความว่างที่เป็นนิพพานมันต้องว่างจากตัณหาความทะยานอยากด้วย แต่นี้เรากดให้เราว่างขึ้นมา ว่างเพราะอะไร? ว่างเพราะใช้ปัญญาโลกๆ เพราะเป็นสามัญสำนึก สามัญสำนึกมันหดเข้ามามันก็เป็นสมาธิ เป็นความว่าง

ความว่างอย่างนี้กิเลสมันอยู่ใต้พรมนั้น มันเป็นหินทับหญ้าไว้ ทั้งๆ ที่เป็นหินทับหญ้า แต่ตัวเองติว่าเป็นหินทับหญ้า แต่ยังไม่รู้จักว่าหินทับหญ้าเลย ทั้งๆ ที่ความคิดของตัว สติปัญญาของตัวนั้นคือหิน ทับกิเลสของตัวเองไว้ก็ยังไม่เข้าใจ แล้วไปติเตียนคนอื่นว่าหินทับหญ้า หินทับหญ้า

หินของมันทับตัวมันอยู่ มันก็ยังไม่รู้จักว่าหินทับมันอยู่ เพราะมันไม่รู้จักมันเลยเป็นมิจฉา พอเป็นมิจฉาสมาธิ เห็นไหม คำว่าเป็นมิจฉา นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “เพราะอวิชชา” ปฏิบัติด้วยอวิชชาเพราะความไม่รู้ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความเข้าใจผิด อวิชชาทั้งนั้นแหละ!

ความเข้าใจผิด ความไม่รู้ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ นี่มันรู้เท่าไม่ถึงการณ์เพราะมารมันละเอียดกว่า เพราะกิเลสตัณหาความทะยานอยากของใจมันละเอียดกว่าความคิดของเรา มันเลยครอบงำเราไว้ เอาธรรมะพระพุทธเจ้ามาอ้าง แล้วครอบงำเราไว้ในอำนาจของมัน แล้วก็ว่าว่างๆ ว่างๆ แล้วก็บอกว่าก่อนที่ประพฤติปฏิบัตินะ เมื่อก่อนเราก็เป็นคนไม่ดี เมื่อก่อนเราคิดชั่วร้าย เดี๋ยวนี้เราก็ปฏิบัติดีขึ้น

ความดีขึ้น คนเรานี่มันคิดดี คิดชั่วได้หมดแหละ ในจิตของเรามันเป็นกลาง มันมีกุศลกับอกุศล ถ้าเป็นกุศล เห็นไหม ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่รื้อค้นขึ้นมานี่เป็นกุศล แต่มันเป็นกุศลขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นกุศลที่เป็นสาธารณะ เราเองยังไม่ได้สัมผัส ยังไม่รู้เท่าตามความเป็นจริง

ในจิตของเรานี่ จิตใต้สำนึกเรา อวิชชาความไม่รู้ของเรามันมีอยู่ แล้วถ้าความไม่รู้โดยตัณหาความทะยานอยากมันก็กระตุ้นความคิดในฝ่ายอกุศล ความคิดในฝ่ายอกุศลนะ นี่ว่ามันจะเป็นจริงไหม? นิพพานมันจะมีไหม? มรรค ผล มันจะมีหรือเปล่า? เราทำไปแล้วจะเสียประโยชน์ ไหม? เราเกิดมาทั้งชีวิตแล้ว ชีวิตนี้เราเกิดมาแล้วเราควรจะหาความสุขใส่ชีวิตไหม? มันคิดของมันโดยอกุศลหมด เห็นไหม

นี่หลวงตาท่านบอกว่า “ธรรมะนี่ จิตใจเรียกร้องหาความช่วยเหลือ”

คำว่าเรียกร้องหาความช่วยเหลือ มันให้ใครมาช่วยเหลือมันล่ะ? ก็ให้ธรรมะ สัจจะความจริงมาช่วยเหลือ แต่ของเราเวลาเราจะช่วยเหลือ เราก็ไปเหยียบย่ำทับมันซ้ำเข้าไป ด้วยเราคิดว่าเป็นธรรมๆ มันเสียเวลา เสียโอกาสไง เสียเวลาของเราไป

นี่สิ่งเป็นจริงขึ้นมามันต้องเป็นความชอบธรรม แต่สิ่งที่เรารู้ขึ้นมานี่มันไม่ชอบธรรม มันเป็นความจริง จริงโดยสาธารณะ แต่มันไม่ชอบธรรมกับเรา ไม่ชอบธรรมกับสัจจะความจริงอันนั้น เพราะจิตใต้สำนึกมันมีสิ่งใดปกคลุมมันอยู่ สิ่งที่ปกคลุมมันอยู่ เห็นไหม แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาถึงที่สุด จะปัญญาอบรมสมาธิ จะสมาธิอบรมปัญญา จะการกระทำขนาดไหน ผลของมันคือสมถะทั้งหมด!

ผลของมันคือสมถะทั้งหมด แต่ที่ครูบาอาจารย์ของเราที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ท่านผ่านประสบการณ์ของท่านมา ท่านถึงมาบอกว่า

“ต้องตั้งสติเข้ามา ให้มันหดสั้นเข้ามา จนมันเป็นจิตที่เข้มแข็ง จิตที่ตั้งมั่น”

พอจิตตั้งมั่นเหมือนผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ออกแสวงหา ดูสิเราเอาเด็กของเราไปทิ้งไว้กลางกรุงเทพฯ มันกลับไม่ถูกหรอก แต่เรานี่กลับถูก เพราะเรามีปาก เรามีสติ เราถามหาได้ เราถามเส้นทางได้ เราหาทางกลับบ้านเราได้

จิตก็เหมือนกัน จิตที่มันยังไม่มีฐีติจิต จิตที่ยังไม่เป็นสมาธิ มันไม่รู้จักถิ่นที่อยู่ของมัน มันเร่ร่อนตลอดเวลา เวลามันปล่อยวางเข้ามา เห็นไหม ปล่อยวางเข้ามาโดยธรรมชาติของมัน มันจะปล่อยวางของมัน นี่เมื่อก่อนเราเป็นคนที่ไม่ดี เดี๋ยวนี้เป็นคนที่ดีแล้ว ว่าง สบายๆ สบายๆ แล้วได้อะไรขึ้นมา มันก็ยังเวียนตายเวียนเกิดโดยธรรมชาติของมัน เพราะถิ่นที่อยู่ของมัน มันยังไม่รู้จักถิ่นที่อยู่ของมัน ไม่รู้จักถิ่นที่อยู่ของตัว จะไปแก้ไขสิ่งใดในถิ่นที่อยู่ของตัวนั้นได้

ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ เห็นไหม เพราะครูบาอาจารย์ของเราท่านประพฤติปฏิบัติมา ท่านผ่านประสบการณ์นั้นมา ท่านถึงคอยเตือนพวกเรา ทีนี้ท่านคอยเตือนพวกเราว่า

“ต้องสงบเข้ามาก่อน ให้ถึงถิ่นที่อยู่ของเราให้ได้”

ถ้าถึงถิ่นที่อยู่ของเราแล้ว ความสกปรก ความดี ความงาม ความชั่วร้ายต่างๆ ในถิ่นที่อยู่นั้น เราต้องมาแก้ไขความสกปรก ความดีงามในถิ่นที่อยู่นั้น.. นี้ถิ่นที่อยู่มันอยู่ที่ไหน? เราต้องหาถิ่นที่อยู่นั้นให้เจอ แต่เราหากันไม่เจอ เราว่าว่างๆ ว่างๆ เป็นถิ่นที่อยู่ของธรรมชาติ เป็นถิ่นที่อยู่ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

นี่ไงที่ว่าธรรมะเป็นธรรมชาติๆ ถ้าเป็นธรรมชาติเราจะไม่ได้อะไรเลย.. แต่ถ้าเป็นของเรา เป็นความรู้ของเรา เป็นประสบการณ์ของเรา ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าเป็นสันทิฐิโกล่ะ? ทำไมเป็นปัจจัตตังล่ะ? ถ้าเราสงสัยเอง เราทุกข์เอง เราไม่แก้ไขของเราเอง เราไม่ประพฤติปฏิบัติของเราเอง ใครจะมาปลดเปลื้องให้เราได้?

นี่ทำบุญกุศล เห็นไหม เนื้อนาบุญของโลก ถ้าเราเชื่อมั่นในครูบาอาจารย์ของเรา เราทำบุญด้วยเนื้อนาบุญของโลก นี้มันเป็นเรื่องของทานนะ เรื่องของทานคือเรื่องการเสียสละ เรื่องของสังคม สภาวะสิ่งแวดล้อมสิ่งที่ดี เรื่องของทาน แล้วเราต้องทานภายในของเรา ทานกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ทานความทุกข์ความยากออกไป แล้วมันอยู่ที่ไหนล่ะ?

พอเวลามันว่างๆ ขึ้นมา นี่ว่าเมื่อก่อนเป็นคนที่ไม่ดีเลย เดี๋ยวนี้เป็นคนดีแล้ว.. เด็กนะ หรือความประพฤตินี่มันดีก็ได้ แต่ถ้ายังมีตัณหาความทะยานอยากอยู่ มันกลับไปเลวอีกก็ได้ ถ้าจิตใจของเราไม่ถึงถิ่นที่อยู่ของมัน มันเลว มันดีไปโดยอำนาจวาสนา โดยส้มหล่น โดยบุญหล่นทับ แต่ถ้าเป็นความจริงของเราจะเป็นบุญหล่นทับไม่ได้ อริยสัจ สัจจะความจริง เราจะต้องเป็นผู้พิจารณา เราจะต้องเป็นผู้ค้นคว้า เราต้องเป็นผู้คุม

สัจธรรม ถิ่นที่อยู่นั้น ปัญญาที่เกิดจากถิ่นที่อยู่นั้น แล้วปัญญาธรรมจักรมันจะเข้ามาทำลายกิเลสในถิ่นที่อยู่นั้น แต่ถ้ามันเป็นกงจักรนะ นี่พลังงานออกจากถิ่นที่อยู่นั้น แต่ไปเกิดกงจักรอยู่ข้างนอก แล้วย้อนกลับมาทำลายถิ่นที่อยู่นั้น ทำลายเรานะ เวลาเราทำความชั่ว ทำความอกุศล บาปอกุศลตกอยู่ที่ใจของเราทั้งหมดเลย มันเกิดมาจากไหนล่ะ?

พลังงานเกิดจากจิตนะ ความคิดเกิดจากจิต ความคิดไม่ได้เกิดจากที่อื่น ความคิดเกิดจากจิต จิตนี้มีตัณหาความทะยานอยาก มันออกไปทำสิ่งที่เป็นอกุศลเข้ามา นี่เป็นกงจักร แล้วกงจักรนี้มันเข้ามาทำลายใคร? ก็เข้ามาทำลายถิ่นที่อยู่นั้นใช่ไหม? เข้ามาทำลายพลังงานนั้นใช่ไหม? แต่ถ้ามันถึงถิ่นที่อยู่นี้ ถึงสมาธินี้ แล้วสมาธิที่ตั้งมั่นนี้

ตั้งมั่น เห็นไหม เราควบคุม เราตั้งมั่น เห็นสิ่งใดที่ผิด อุคหนิมิต เห็นสิ่งที่เป็นจิตวิญญาณ สิ่งต่างๆ สิ่งที่เป็นนิมิตต่างๆ เราไม่เอา มันจะพาเราแฉลบออกนอกลู่นอกทาง แต่ถ้ามันเป็นอริยสัจ เป็นสัจจะความจริง เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เพราะ! เพราะจิตนี้ ถิ่นที่อยู่นี้มันก็ห่วง มันห่วงว่าถิ่นที่อยู่นี้มันจะอยู่ของมันได้ไหม? มันจะมีอะไรควบคุมมันไหม? มันก็ไปติดอยู่กับกาย กับความคิดนี้ ติดอยู่กับกายกับจิตนี่แหละ

กาย เวทนา.. เวทนาก็ความรู้สึกของกายกับใจ เห็นไหม จิตก็คือตัวจิต ธรรมารมณ์ก็เกิดจากจิต ถิ่นที่อยู่นี้มันจะปกป้องของมัน มันจะรักษาของมัน นี่มันจะทำให้เราแฉลบออกนอกทาง แต่ถ้าเราควบคุมด้วยสติปัญญา นี่ธรรมจักรมันเกิดอย่างนี้ ปัญญามันเกิดอย่างนี้ อริยสัจมันเกิดอย่างนี้ มันเข้ามาทำลายถิ่นที่อยู่นี้ แล้วมันสะอาดที่ไหนล่ะ? มันสะอาดที่ไหน? มันว่างที่ไหน?

มันก็ต้องสะอาดที่จิตนั้น! ว่างที่จิตนั้น! แล้วสันทิฏฐิโกมันจะรู้ขึ้นมา ไม่ใช่พูดกันลอยๆ ลอยๆ นะ พูดกันลอยๆ ไม่มีประโยชน์อะไรหรอก มันเป็นการที่เราสร้าง เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา โดยที่ว่าเราเกิดมานี่มีวาสนา เราเกิดมาเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา แล้วพุทธศาสนามันก็มีเป็นยุคเป็นคราว แต่ยุคคราวปัจจุบันนี้ ครูบาอาจารย์ของเรา หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านเป็นผู้รื้อค้น ท่านมีประสบการณ์

คนที่รื้อค้น พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ของเราสร้างตระกูลของเรามา สร้างสิ่งที่พึ่งพาอาศัย ปัจจัยเครื่องอาศัยมา ท่านบุกเบิกของท่านมา แล้วเราเกิดมานี่มีผู้นำทาง มีผู้ชี้ทาง มีทุกอย่างพร้อมเลย เราทำไมนอนใจล่ะ? เวลาสมบัตินะ ให้นับตังค์กัน เอาตังค์มากองไว้ ใครนับได้เท่าไหร่เอากลับบ้านไปเลย นี่นับทั้งวันเลยนะ เวลาให้ภาวนามันไม่เอา เพราะสุขอันนั้นมันดีกว่าตังค์นะ ตังค์นี่เอามากองไว้แล้วให้นับกลับบ้านไป พอออกจากศาลานี้ไป รัฐบาลประกาศยกเลิกใช้ ก็เป็นเศษกระดาษ

แต่ถ้าเป็นคุณสมบัติของเรานะ เป็นสมาธิของเรา เป็นปัญญาของเรา ใครจะประกาศให้มันประกาศไป แต่สมบัติของเราเป็นสมบัติของเรา เห็นไหม สมบัติของเรา สมบัติที่เกิดจากใจของเรา เป็นสมบัติของเราจริงๆ ใครจะประกาศ ใครจะยกเลิกขนาดไหน มันก็เป็นเรื่องของเขา แต่ความร่มเย็นเป็นสุข ความรู้สึกของเรามันเป็นของเรา ใครจะประกาศไม่ประกาศมันไม่เกี่ยว

นี่เขาบอกว่าสมบัติจริงของเราคือสมบัติส่วนตัว สมบัติในสังคมมันเป็นสมบัติที่เขาอาศัยใช้กัน เราคิดไหมว่าเราควรจะได้สมบัติสิ่งใด? ถามใจตัวเองนะ ถ้าถามใจตัวเอง ใจตัวเองดีขึ้นเราจะต้องหาสมบัติให้เรานะ เกิดมาพบพุทธศาสนาแล้ว ครูบาอาจารย์ท่านพูดประจำนะ เรามีโชคมาก เรามีโชคดีมาก ถ้าใครไม่มีโชคดี ไม่ได้เกิดมาพบพุทธศาสนา

ดูศาสนาอื่นๆ สิ ศาสนาอื่นๆ เห็นไหม มีแต่ความเชื่อของเขา แล้วทำไปนี่แล้วแต่อ้อนวอนกัน ขอกัน แต่ของเราพระพุทธเจ้าปฏิเสธหมดเลย สกปรกก็สกปรกที่ใจเรา ถ้าสะอาดก็สะอาดที่ใจเรา แต่การกระทำ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมานี่ทอดอาลัย ทอดอาลัยเพราะมันเป็นคนละมิติกัน มิติของโลก โลกียปัญญา มิติของธรรม โลกุตตรปัญญา

โลกียปัญญา โลกียะโลกมันจะให้เราผูกพันอยู่กับมัน โลกุตตระเราจะล้างมัน เราจะล้างมัน โลกุตตระเราจะล้างโลก ล้างในหัวใจ อันนี้พระพุทธเจ้ายังทอดอาลัย แต่ในปัจจุบันนี้วิทยาศาสตร์คือโลก วิทยาศาสตร์คือโลกียะ วิทยาศาสตร์คือเรา แล้วเราคิดกันด้วยวิทยาศาสตร์ แล้วมั่นใจว่าถูกต้องๆ

ถามใจตัวเอง แล้วพิจารณาดูว่ามันถูกจริงหรือเปล่า ถ้ามันถูกจริงนะ ความรู้สึกที่ลึกลับ ลึกซึ้งกว่าวิทยาศาสตร์ ที่ไม่สามารถพูดออกมาเป็นวิทยาศาสตร์ได้ แต่เทียบเคียงได้เป็นบางเรื่อง นี่สิ่งนี้มันจะลึกซึ้งกว่า รสชาติของมัน “รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง”

รสของโลกเขา เขามีรสชาติของเขา ชีวิตของเขา เขาถึงวิ่งเต้นเผ่นกระโดดกัน แต่รสของธรรมที่ความสงบสุขในใจ รสมันชนะได้อย่างไร? ถ้าไม่ชนะมันจะชนะรสชาติของโลกได้อย่างไร? นี่ค้นหานะ ปัญญาเรามี จิตใจเรามี เราค้นหานี่คือธรรมะ

เรามาเสียสละกันเราก็เป็นชาวพุทธ ทาน ศีล ภาวนา การภาวนานี่จะยกหัวใจของเรา แล้วไม่ให้ใครมาหลอกลวงเรา ไม่ให้ใครมาชี้นำเรา เรารู้เองของเรา ในหัวใจของเรา เอวัง