เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑ ส.ค. ๒๕๕๒

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๒
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาพูดถึงศาสนา ทุกคนว่าศาสนาตามความเข้าใจของตัว

สมัยรัฐบาลเผด็จการนะ เขาสั่งเลย พระห้ามสอนมักน้อยสันโดษ เพราะการสั่งสอนมักน้อยสันโดษทำให้คนไม่ขวนขวาย ไม่ทำมาหากิน เขาคิดของเขาอย่างนั้นนะ แต่เขาไม่เข้าใจเพราะเขาไม่เคยประพฤติปฏิบัติ เขาไม่เคยเข้าไปลึกซึ้งในหลักของศาสนา ลึกซึ้งในศาสนานะ ความมักน้อยสันโดษ ความมักน้อยสันโดษในคู่ครอง ในตัณหาความทะยานอยาก แต่มีความเพียรชอบ การเสียสละ การทำทาน ความเพียรชอบ การดูแลกัน การเผื่อแผ่กัน มันมีอีกเยอะแยะไป

แต่เวลามักน้อยสันโดษ คำว่ามักน้อยสันโดษ เวลาเราทุกข์เรายาก มักน้อยสันโดษในสิ่งที่มันทะเยอทะยานจนเกินกว่าเหตุไง ถ้ามันทะเยอทะยานจนเกินเหตุแล้วมันจะชักนำเราไป มีแต่ความทุกข์ความยาก เอาความทุกข์ความยากนั่นมาเหยียบย่ำเรานะ

แล้วเวลาเราดูโลกเจริญๆ โลกไหนว่าเจริญๆ ขนาดไหน เขามีแต่ความทุกข์นะ

มันมีมากนะ เด็กทางตะวันออกเราไป เวลาไปอาศัยอยู่ ไปศึกษากับเขา แล้ววัฒนธรรมประเพณีของเราเราไปดูคนเฒ่าคนแก่ เราไปอยู่ในครอบครัว เขาอบอุ่นนะ เวลาเรียนจบแล้วจะกลับมาน่ะ เขารักยิ่งกว่าลูกเขาอีก เขารักเรายิ่งกว่าลูกเขาอีกนะ วัฒนธรรมของเขาพอโตขึ้นมาก็แยกครอบครัวๆ คนแก่คนเฒ่าก็ปล่อยกัน แต่เขารัฐสวัสดิการใช่ไหม แต่ของเรา ทางตะวันออกของเรา มันเป็นประเพณีวัฒนธรรมของเรา ความกตัญญูความกตเวทีเป็นเครื่องแสดงออกของคนดี คนดูแลพ่อดูแลแม่ คนเผื่อแผ่ สิ่งนี้มันเป็นคุณสมบัตินะ

เดี๋ยวนี้การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม มันเป็นเงินเป็นทองขึ้นมาเลยน่ะ เพราะอะไร เพราะมันฝังเข้าไปในสายเลือดไง มันฝังเข้าไปในสายเลือดของพวกเรา ฝังเข้าไปในสายเลือดของประเพณีวัฒนธรรม แล้วเราชาวพุทธ เราตกผลึกมาในหัวใจ แล้วบอกว่าสิ่งนี้ไม่ดีๆ มันมีคุณค่ากว่าเงินกว่าทอง มันมีคุณค่ามาก

“แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง”

ถ้าแผ่นดินธรรม เรามีการเจือจาน เรามีการเสียสละกัน เรามีการดูแลกันนะ ทองคำเรามาแบ่งกันได้นะ ถ้าแผ่นดินทองนะ มันแย่งกัน มันชิงกันนะ สังคมไม่มีความร่มเย็นเป็นสุขหรอก เราเอาความเจริญแต่วัตถุไง โลกเจริญๆ ไง คำว่าโลกเจริญ ต้องให้มันเจริญในความถูกต้องดีงาม ความเจริญแบบคุณธรรมอย่างนี้ เจริญอย่างนี้มันดี แต่ถ้าความเจริญออกมาด้วยการมือใครยาวสาวได้สาวเอา มันจะเป็นความดีไปได้อย่างไร มันเป็นความดีหรือ? สิ่งความดีอย่างนั้นมันเป็นความดีของโลกๆ มันไม่เป็นอย่างเราหรอก

ดูสิ เวลาคนเกิดมา เห็นไหม เด็กเกิดมาพ่อแม่มีความชื่นใจมาก ครอบครัวไหนมีเด็กเกิดนะ โอ้โฮ มีแต่ความชื่นใจนะ เด็กเวลามันร้องมันกำมือมันมานะ มันจะมายึดมั่นถือมั่น เวลาคนจะตายนะ มันแบมือทุกคนน่ะ แบมือเสร็จแล้วก็ต้องเอาดอกไม้ยัดมือใส่นะ กำไว้ ไปบูชาพระๆ มันแบหมดเลย มันไม่มีอะไรติดมือมันไปเลย เวลาเด็กเกิดมา เวลามันร้องไห้มันกำมือมัน มันยึดมัน มันถือมัน มันจะเอา มันจะยึดมั่นถือมั่นของมัน เวลาคนตายขึ้นไปแบมือทุกคน แบมือแล้วนะต้องจัดศพให้ดีนะ นี่มันเป็นเครื่องหมายบอกนะ

เวลาคนตายไป ยมบาลเขาถามว่า “เห็นธรรมไหมๆ?”

บอก “ไม่เคยเห็น”

เขาถามกลับว่า “เห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตายไหม?”

นี่ไง เด็กมันกำมือ มันบอกเป็นนัย เวลาเราไปงานศพ เราวน ๓ รอบ เวลาวนรอบเมรุ ๓ รอบ กามภพ รูปภพ อรูปภพ “เอ็งจะต้องมาเวียนตายเวียนเกิดอีกนะ” มาวน ๓ รอบเสร็จแล้วก็ส่งขึ้นเมรุ ส่งขึ้นเชิงตะกอนแล้วก็เผาไปนะ ก็ไม่รู้เรื่องนะ มันเป็นเคล็ด มันเป็นประเพณี มันเป็นสิ่งเตือนคนมีชีวิตให้รู้จักชีวิต ให้รู้จักของเรา ความกตัญญูกตเวที การกระทำของเรา

แต่เด็กทุกคนน่ะอยากจะอิสระ ความเป็นอิสระ อิสระโดยความคิดของเรานะ ดูสิ เราดูแลกัน ผู้บริหารมันต้องมีประสบการณ์ของเขา เราจะบริหารชีวิตของเรา ชีวิตของเราเราจะบริหารจัดการกับมันอย่างไร ปัจจัยเครื่องอาศัย เราจะมั่งมีศรีสุขขนาดไหน เราแสวงหามาเราก็ใช้แค่อิ่มเดียวเท่านั้นน่ะ

“คนจนผู้ยิ่งใหญ่นะ” ดูหลวงตาเราสิ “คนจนผู้ยิ่งใหญ่” สมบัติส่วนตัวไม่มีเลย แต่หาเงินหาทองไว้ให้กับประเทศชาติ เขาบอกไม่ใช่กิจของสงฆ์ กิจของสงฆ์คือการนั่งสมาธิภาวนา.. ใช่ กิจของสงฆ์ ถ้าเอาตัวเองให้รอดก่อน แต่ถ้าตัวเองเอารอดได้แล้ว..

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเผยแผ่ธรรม นั่นกิจของใคร? ถ้าเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ก็บอกเลย นี่เวลามาภาวนากันพวกพระป่านี่เห็นแก่ตัว ของเขามีการช่วยเหลือเจือจานกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกจากราชวังนะ พระเจ้าสุทโธทนะสะเทือนหัวใจมาก นางพิมพาสะเทือนหัวใจมาก ถ้าไม่ได้ออกมาจากราชวังนะ จะมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม? องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกมา สะเทือนหัวใจกันไหม?

แล้วบอกว่าไม่ได้ เห็นแก่ตัวๆ เราคิดโดยกิเลสไง กิเลสมันออกหน้า มันแซงธรรมะไปก่อน นี่ใครประพฤติปฏิบัติเห็นแก่ตัว เวลาอยู่คนเดียวไม่เอาหมู่ไม่เอาคณะ ไอ้เอาหมู่เอาคณะน่ะเอาตัวไม่รอดสักคนหนึ่ง

แต่เราออกไปค้นคว้า ดูสิ เราส่งลูกเราไปเมืองนอกทำไม เราส่งลูกเราไปเรียนทำไม ลูกเราเห็นแก่ตัวไหม ต้องพลัดพรากจากกันไหม มันพลัดพรากจากกันไปเพื่ออะไรล่ะ? ก็ไปเอาวิชาการใช่ไหม ไปเอาความรู้มาใช่ไหม นี่ก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติ มันต้องแยกออกมา การแยกออกมานะ คนเรา ดูสิ ลูกเราอยู่กับเราโอ๋มันอย่างดีเลยน่ะ เวลาไปอยู่ของมัน มันต้องช่วยเหลือตัวมันเองนะ

เวลาเราเข้าไปเที่ยวป่าเที่ยวเขา เราไปเที่ยวป่าช้า เรากลัวผีไหม? อยู่คนเดียว เวลาความคิดของตัวนะ เวลาอยู่ด้วยกันน่ะ โอ้โฮ มันอุ่นใจน่ะ เวลาเราแยกตัวเราออกไปนะ ความคิด.. อยู่คนเดียวให้ระวังความคิดของตัวเอง ความคิดมันทำร้ายตัวเองนะ พอออกไป เราจะควบคุมมันอย่างไร เราจะดูแลมันอย่างไร ถ้าเราไม่แยกตัวเราออกไป เราจะไม่เห็นความคิดของเราเลย เพราะมีแต่คนจุนเจือ

“ในสโมสรสันนิบาต ทุกดวงใจว้าเหว่”.. แต่มันชอบ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดในธรรมะนะ “มนุษย์โง่กว่าสัตว์”

ดูนกสิ มันมีอิสรภาพของมันนะ มันอยู่มันกินตามธรรมชาติของมันนะ ของเรานี่นะ มนุษย์เป็นสัตว์สังคมใช่ไหม ต้องเขียนกติกา เขียนโซ่ตรวนขึ้นมา แล้วก็เอาโซ่ตรวนคล้องคอไว้ ห้ามทำไอ้นั่น! ห้ามทำไอ้นั่น! ห้ามทำไอ้นั่น! “มนุษย์โง่กว่าสัตว์” แต่มันเป็นเรื่องปกติของสังคม นี่พูดถึงเรื่องธรรมะไง

ปรมัตถธรรม คือการไม่มีสิ่งใดๆ เลย คือการหลุดพ้นออกไปจากการผูกมัดทั้งหมด

นี่ถ้าจิตใจมันหลุดพ้นออกจากความผูกมัดทั้งหมด มันจะหลุดพ้นออกไปได้อย่างไร? ทีนี้ก่อนที่มันจะหลุดพ้นออกไปจากข้อผูกมัดทั้งหมด สัตว์สังคมอยู่ด้วยกันมันก็ต้องมีกติกาเป็นธรรมดา แต่ท่านเปรียบเทียบให้ดูไง ว่าดูสัตว์สิ มันมีอิสรภาพของมันขนาดไหน มันจะทำของมันขนาดไหน แต่มันก็ต้องมีหัวหน้าฝูงนะ มันก็มีกติกาของมันนั่นล่ะ

แต่ของเรา เราคิดว่าเราฉลาดไง มนุษย์ว่าเป็นผู้ที่ฉลาด สิ่งต่างๆ ว่าเราจะแสวงหามา

“ความลับไม่มีในโลกนะ” ความคิดในตัวเราเอง เราคิดว่าไม่มีใครรู้ ความคิดของเรานะ มันเหมือนกระดาษ กระดาษขาว เราเขียนอักษรลงไปในกระดาษขาว อักษรมันจะปรากฏทันทีเลย ความคิด เห็นไหม ฐีติจิต ความคิดไม่ใช่จิต มันเกิดขึ้นมา พอความคิดเกิดขึ้นมา มโนกรรมเกิดแล้ว เพราะมโนกรรม ถ้ามโนกรรมในสิ่งที่ดี ทำดี-ทำชั่ว สิ่งที่ดีทำให้เราไปในทางที่ดีๆ

แล้วมันคิดสิ่งที่ดีได้ไหมล่ะ?

ความคิดสิ่งดีได้ ทุกคนปรารถนาดี ทุกคนต้องการคิดความดีหมด

.. แต่! แต่มันแพ้ตัวเอง!

ตัวเองคืออะไร? ตัวเองคืออวิชชา ตัวเองคือตัณหาความทะยานอยากที่เราแพ้มันตลอดเวลา เราแพ้มันนะ แล้วมันเป็นตัวขับให้เราเกิดเราตาย สิ่งที่เราเกิดเราตาย นี่ศีลธรรมจริยธรรมมันแก้ตรงนี้ได้ กฎหมายบังคับคน บังคับโดยจากข้างนอกนะ ศีลธรรมจริยธรรมบังคับตัวเราเอง เรามีความละอายไง เราทำบาปอกุศล เราทำผิด มันมีความละอาย มันสะเทือนใจเรานะ

คนจะดีได้ มันดีจากหัวใจไง ดีจากความคิด ดีจากภายใน นี่ศาสนาสอนลงที่นี่!

เวลาทำบุญกุศล เป็นปัจจัยเครื่องอาศัย เป็นบุญกุศล มันมาจากไหน? มันมาจากหัวใจ ถ้าหัวใจเราไม่คิดเสียสละ หัวใจเราไม่ใฝ่ในธรรม เราจะขวนขวายกันมาไหม? แล้วสิ่งนี้มันเป็นการแสดงออก กตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี ชาวพุทธเรา การเสียสละ มันเป็นเครื่องแสดงออกจากน้ำใจ นี่มันปัจจัยเครื่องอาศัย

“ทาน” ระบบของ “ทาน”

ระบบของ “ศีล” คือความปกติของใจ

ระบบของ “ปัญญา” ปัญญามันเกิดอย่างไร?

“ทาน ศีล ภาวนา”

การภาวนานะ ทำบุญกุศลมาขนาดไหนทำบุญกุศลเป็นอามิส มันจะขับเคลื่อนให้ใจดวงนี้ไปในทางที่ดี สิ่งที่ดี.. บางคนนะ เราทำทานๆๆ เราไม่ได้สร้างสิ่งนี้ เวลาเราพูดถึงผลบุญกุศล เห็นไหม เราจะได้วิมานเราต้องสร้างกุฏิวิหาร เราจะมีอาหารการกิน เราต้อง.. ไอ้นี่มันเป็นแยกย่อยออกไป แต่จริงๆ แล้วมันเจตนาอันเดียว เจตนาอันเดียวเราเสียสละทานของเรา

แต่ถ้าเสียสละของเรา เราจะมีมากมีน้อยไม่ต้องไปคิดตรงนั้น ของมีมากมีน้อยมันสำคัญที่น้ำใจ ถ้ามีน้ำใจมีคุณค่ามากนะ ของน้อยมันจะมีคุณค่ามาก ถ้าค่าน้ำใจมันต่ำของคนมันมีมาก มันก็จะได้น้อย สิ่งต่างๆ ถ้าเราไม่มีเลยล่ะ เราไม่มีเลยล่ะ เราก็มีค่าน้ำใจไง เราเห็นคนทำความดีก็อนุโมทนาไปกับเขา ใครทำคุณงามความดีเราชื่นชมไปกับเขา มันทำได้หมดนะ มันไม่ต้องจำเป็นว่าเราจะต้องขวนขวายจนต้องมีอย่างนั้น

คนเราน่ะ ชีวิตของคนมันลุ่มๆ ดอนๆ ทั้งนั้นน่ะ

อนาถบิณฑิกเศรษฐีมีเงินขนาดว่าเอาเงินปูพื้นที่ซื้อวัดถวายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย เวลาตกทุกข์ได้ยากขึ้นมากินข้าวกับน้ำผักดองนะ มันมีวิกฤติในชีวิตของเรา เราจะราบรื่นตลอดไปไหม มันก็มีหนักมีเบา มันมีลุ่มมีดอน ลุ่มๆ ดอนๆ ทั้งนั้นน่ะ เรารักษาใจของเรา ลุ่มๆ ดอนๆ ขนาดลุ่มๆ ดอนๆ ขนาดไหน ใจเราเราก็มั่นคงของเรา ใจของเรามั่นคง มันทดสอบเรา

การทดสอบ จิตใจเรามั่นคงขนาดไหน?

แล้วเวลามานั่งสมาธิภาวนา เวลาเจ็บปวดขึ้นมา เวลานั่งไปมันมีการทดสอบเราทั้งนั้นน่ะ จิตใจเราเข้มแข็งขนาดไหน? ถ้าเราจิตใจเข้มแข็งมาจากข้างนอก สิ่งที่เข้มแข็งมาจากข้างนอก เรามี.. ของอะไรมันจะเป็นสิ่งล่อสิ่งเร้า ดูสิ ของที่ผ่านมา.. “ศีล” ก็ว่าเราจะถือศีล เราเป็นคนดี คนอื่นเป็นคนไม่ดีเลย ผิดศีลตลอดเลย เวลาสิ่งนั้นเกิดขึ้นกับเรา เราทนได้ไหม? สิ่งเร้ามันล่อขึ้นมา เราจะผิดไหม? เราจะซื่อสัตย์กับสัจจะของเราไหม? เรามีสัจจะไหม? ถ้ามีสัจจะ เรายึดมั่นของเรา

พระเราถือบังสุกุลได้ ของที่ตกอยู่อย่างของในวัด ภิกษุจะหยิบเงินและทองไม่ได้ แต่เวลาของมันตกอยู่ในวัดน่ะภิกษุต้องหยิบเลย หยิบเพื่อหาเจ้าของเขา เวลาเจ้าของเขามา “ภิกษุหยิบเงินและทองเอง เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์” แต่เวลาเงินทองตกอยู่ในวัด ถ้าไม่มีใครเลย ภิกษุต้องเอามาวางไว้เป็นส่วนกลาง แล้วถึงเวลาให้เขามาเอาของเขาคืนไป ถ้าเขาเอาคืนไม่ได้ก็เป็นของสงฆ์ไป ต้องเก็บ.. บางอย่างเก็บ มันก็ต้องเก็บ สิ่งที่เก็บเก็บโดยไม่ใช่เก็บเป็นของส่วนตัว เก็บเพื่อความเรียบร้อยในสังคมนั้น นี่มันมีกติกาของมัน ถ้าเราศึกษานะ ไม่ใช่เลี่ยงบาลีไง

เวลากิเลสเราน่ะ เวลาจะให้ทำงาน บอกฉันจะภาวนา เวลาภาวนาไป นั่งแล้วก็อยากจะลุกไปทำงาน นี่ผัดวันประกันพรุ่ง อ้างว่าหนาวนักร้อนนัก อ้างกันไปตลอด กิเลสมันมีอำนาจชนะเราขนาดนั้นตลอดมา ถ้ากิเลสมีอำนาจชนะเราตลอดมา เราต้องต่อสู้

“อัตตา หิ อัตตโน นาโถ.. ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”

ถ้าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนนะ ตนเอาจิต เอาความรู้สึกของเราไว้ในอำนาจของตน.. คนนั้นประเสริฐที่สุด

สิ่งที่ประเสริฐที่สุดมันเริ่มต้นขึ้นมาจาก ๓ เส้า “ทาน ศีล ภาวนา” การเสียสละทานมันฝึกใจเรา มันเปิดความหมักหมมในหัวใจเปิดมันออก สิ่งที่เป็นวัตถุน่ะ มันเป็นการแสดงออกของน้ำใจ น้ำใจมันจะเปิดออกโดยการกระทำอันนั้น ถ้าทำจนชินหัวใจมันจะเปิดโล่ง พอมันเปิดโล่งขึ้นมา เราจะนั่งสมาธิ เราภาวนา มันง่ายขึ้น

แต่ถ้ามันหมักหมมของมัน เวลาไปทำอะไรนะ เสียงสะกิดมาจากภายนอก เสียงกระทบกระเทือนจากภายนอก เราจะไม่พอใจ แต่ถ้าเสียงกระทบจากภายนอกนะ ถ้าเรามีสติของเรานะ เขาตั้งใจไหม? มันเป็นอุบัติเหตุไหม? มันเกิดจากความไม่ตั้งใจหรือเปล่า? ถ้ามันจะเกิดจากความตั้งใจ มันก็ไม่สมควรทำใช่ไหม เพราะทุกคนปรารถนาความสงบสงัดทั้งนั้น เราก็ปรารถนาความสงบสงัด เขาก็ปรารถนาความสงบสงัด แต่คนเผลอนะ

หลวงตาพูดบ่อย “ปากมันอยู่ใกล้หูนี่ คนพูดเองไม่ได้ยินน่ะ”

เวลาไอ้คนนั่งอยู่ข้างนอกหนวกหูหน้าดูเลย แต่ไอ้คนพูดน่ะ เวลามันพูดน่ะ ปากมันอยู่ใกล้หูนั่นน่ะ เวลาพูด มันพูดของมันเสียงแจ้วๆๆ เลยนะ ไอ้คนอยู่ไกลๆ แสนจะรำคาญ นี่ไง เพราะขาดสติไง เพราะเราเองเราไม่ระลึกไง

แต่ถ้าเราคนประพฤติปฏิบัตินะ เราปรารถนาสิ่งใด?

มนุษย์ทุกคนเกลียดความทุกข์ ปรารถนาความสุข

คนประพฤติปฏิบัติเกลียดความคลุกคลี เกลียดเสียงกระทบกระเทือน ต้องการความสงบสงัด

เราก็ต้องการอย่างนั้น แต่ทำไมเราเผลอทำให้กระทบกระเทือนคนอื่นล่ะ? เพราะอะไร เพราะถ้าเราปฏิบัตินะ เราปฏิบัติหมายถึงว่าเรามีการกระทำ เรารู้ใจเขาใจเรา เรารู้ถึงหัวอกของเขา เขาต้องการอะไร เราควรจะทำอย่างไร ไปกระทบกระเทือนเขาไหม? นี่ไง มันเป็นการแสดงออกของค่าน้ำใจนะ แต่ถ้ามันเป็นเรื่องของกิเลสน่ะ แล้วเขาประพฤติปฏิบัติ เราไม่ได้อย่างเขา.. มันน้อยเนื้อต่ำใจ ความน้อยเนื้อต่ำใจ ความหวาดระแวงต่างๆ มันทำให้กระทบกระเทือนกันไปหมด มันจะไปหวาดระแวงอะไร

คนเราเกิดมาเสมอภาคนะ เรามีปากมีท้องเหมือนกันทุกคน เรามีความรู้สึกในหัวใจทุกๆ คน เรามีสิ่งยอกใจอยู่ทุกๆ คน แล้วสิ่งนี้ ทุกคนจะช่วยเหลือกันไหม?

ครูบาอาจารย์ของเรา “จากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง”

“ใจดวงหนึ่งนะ” ทุกข์จากใจดวงนี้ แล้วมันแก้ไขจากใจดวงนี้ได้แล้ว ใจทุกดวงก็เป็นอย่างนี้ ใจของทุกๆ ดวงเหมือนกันหมดเลย! มีแต่มันหนักเบาต่างกันเท่านั้นเอง มันมีความยอกใจเหมือนกันทุกๆ ดวง! ถ้าไม่เหมือนกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพ้นจากกิเลสแล้ว ทำไมสั่งสอนได้หมดเลย เข้าใจหมด

“จากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง”

แต่ในปัจจุบันนี้มันไม่ใช่ใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง

มันเป็นความคิดอันหนึ่งสู่ความคิดอันหนึ่ง.. แล้วความคิดมีขอบเขตไหม?

ถ้าใจดวงหนึ่งมันเข้าไปถึงฐีติจิตนะ เข้าไปถึงรากเหง้าของใจนะ ฐานที่ตั้งของความคิด ฐานที่ตั้งของอวิชชา ฐานที่ตั้งของความทุกข์ ถ้าเข้าไปถึงฐานที่ตั้งนั้น มันจะไปแก้ไขฐานที่ตั้งนั้นได้.. นี่กรรมฐาน

“กรรมฐาน” ฐานที่ตั้งแห่งการงาน ต้องมีฐานของมัน ต้องมีที่ทำงานของมัน

จิตสงบเข้ามาอยู่ที่ไหน?

ในปัจจุบันนี้นะปฏิเสธ! สมาธิก็ไม่ต้องทำ การทำสมาธิไร้ประโยชน์ ใช้ปัญญาไปเลย.. ปัญญาเป็นความคิด ความคิดไร้ฐานมันจะไปตอบสนองที่ไหน มันไม่มีผลตอบสนอง แต่ถ้าครูบาอาจารย์เรากรรมฐาน เขาบอกกรรมฐานทำให้เสียเวลาเปล่าต่างๆ

มันเหมือนเด็กเรานะ เด็กเราส่งเข้าอนุบาล มันเขียนคำแรกคือ ก.ไก่ มันต้องหัดเขียนให้ได้ ถ้าเราบอกว่าเด็กของเราไม่ต้องเขียนเลย ไม่ต้องเขียนไม่ต้องอ่าน มันพูดได้ไหม? มันพูดได้ มันพูดได้ แต่มันอ่านไม่ออก มันเขียนไม่ได้

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าไม่เข้าถึงฐีติจิต ไม่เข้าถึงหลักของมัน ไม่ถึงสมาธิ มันจะเขียนได้ไหม? มันเขียนไม่ได้หรอก แต่มันพูดได้ไหม? ได้.. ดูสิ คนที่ไม่รู้หนังสือ เขาก็พูดกับเราได้ เขาสื่อสารกับเราได้ เพราะมันเป็นสามัญสำนึก แต่ให้เขาเขียนไม่ได้ เขาอ่านไม่ออกนะ

ในการประพฤติปฏิบัติ ไม่ถึงฐาน! ไม่ถึงกรรมฐานของมัน มันทำอะไรกัน?

ทีนี้มันเพียงแต่ว่าคนที่มันไม่มีเอกสารสื่อสารกัน มันก็สื่อสารกันด้วยปาก ด้วยคำพูดใช่ไหม เหมือนกันหมดน่ะ พูดเหมือนกับเปรี๊ยะเลย แต่ให้ลองเขียน เขียนไม่เป็นน่ะ เขียนก็ไม่ได้ อ่านก็ไม่ออก เพราะอะไร เพราะมันไม่ถึงฐาน ไม่เข้าทำที่ฐาน แล้วก็ว่ากันไปนะ

ใครจะพูดอย่างไร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “กาลามสูตร ไม่ให้เชื่อแม้แต่อาจารย์ของเรา ไม่ให้เชื่อใครทั้งสิ้น เชื่อจากประสบการณ์ของเรา เชื่อแต่ความจริงของเรา” ความจริงในหัวใจนะ แล้วความจริง ความสุขความทุกข์มันมีอยู่ทุกใจ ทุกดวงใจมีเหมือนกันหมดเลย

แล้วเวลาเราเกลื่อนมานะ ว่างๆ ว่างๆ มีความสบายใจชั่วคราวนะ แต่มันเป็นไปไม่ได้หรอก

สิ่งที่มีอยู่.. คนมีไข้ คนมีเชื้อโรคอยู่ในร่างกาย มันต้องแสดงออกเป็นธรรมดา ใจมันมีกิเลสอยู่ มันต้องแสดงออกเป็นธรรมดา ช้าหรือเร็วเท่านั้น เราแค่ถนอมรักษามัน ดูแลมันนะ บ้านเราทำความสะอาดขนาดไหน มันก็สกปรกวันยังค่ำน่ะ ทำความสะอาดขนาดไหน มันต้องทำซ้ำทำซากอยู่อย่างนั้นน่ะ แต่ถ้ามันไม่มีบ้าน ไม่มีสิ่งใดเลย มันทำออกหมดเลย มันจะไปรักษาอะไร?

นี่ตัวใจนะ ถ้ามีการกระทำ มีความเป็นไปได้จริง มันจะเป็นเรานะ

เริ่มต้นจากการทำทาน ศีล สมาธิ ปัญญา สิ่งต่างๆ ที่เราทำแล้วเพื่อพัฒนาใจของเรา

ถ้าใจเราพัฒนาขึ้นมา ทำบุญกุศล ใครจะว่าติเตียนอย่างไร ใครจะชื่นชมอย่างไร มันเรื่องของเขานะ

“คำพูดของคนอย่างหนึ่ง ข้อเท็จจริงในการกระทำนั้นอย่างหนึ่ง”

เราทำดีทำชั่ว เรารู้ของเรา เราทำความดีของเรา เราก็รู้ของเรา ทำความชั่วก็รู้ของเรา ใครจะติจะเตียนนั่นมันเรื่องของโลกเขา มันเป็นเรื่องโลกธรรม ๘ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ ติฉินนินทา เป็นเรื่องธรรมดา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดนมาหนักหนานัก

เวลาในคติธรรม “ถ้าใครโดนโลกธรรมที่เบียดเบียนนัก ใครโดนโลกธรรมที่รุนแรงนัก ให้นึกถึงเรา จะไม่มีใครโดนเท่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้ดูเราเป็นตัวอย่าง”

ช้างศึกลงสนามรบแล้ว จะโดนคันศร จะโดนธนูขนาดไหน มันจะทนของมันได้ แต่ถ้าไม่ใช่ช้างศึก มันเจอแล้วมันไม่เข้าลงสงคราม มันวิ่งหนีเลย

ชีวิตเราต้องเจอกับความจริง

เราอยู่กับมัน อยู่กับความจริง แล้วยืนชีวิตเราให้ได้ เพื่อประโยชน์สุขกับชีวิตของเรา

เอวัง