เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๖ ส.ค. ๒๕๕๒

 

เทศน์เช้า วันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๒
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันพระ เห็นไหม เราชาวพุทธ เราเชื่อมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยเอาไว้เองนะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “ธรรมและวินัย.. ปริยัติ ปฏิบัติ”

“ปริยัติ” การศึกษา ศึกษาขนาดไหนก็คือการศึกษา

แล้วใน “การปฏิบัติ” ไม่ใช่การศึกษา เป็นประสบการณ์ตรงของชีวิต

นักบินเขาต้องมีชั่วโมงบินของเขา นักบินน่ะ ทีนี้นักบินเวลาเขาฝึกบินเขาได้ชั่วโมงบินหรือยัง นักบินเขายังไม่ได้ชั่วโมงบินของเขาเลย เวลาเขาฝึกบินเขาไม่ได้มีชั่วโมงบินหรอก แล้วนักบินมันไปฝึก มันต้องฝึกทางทฤษฎีของมันมาก่อน สุดท้ายแล้วก็มาฝึกที่เครื่องบินจำลอง เครื่องบินจำลองเขาก็ฝึกอยู่นั่นน่ะ การขับเครื่องบิน แต่เวลาเขาเอาเครื่องบินขึ้นนั่นน่ะ เมื่อนั้นเขาถึงมีชั่วโมงบินของเขา ตั้งแต่ชั่วโมงบินที่ ๑ ไป ทีนี้ชั่วโมงบินอันนั้นน่ะ เครื่องบินมันอยู่ที่ไหน?

ในการประพฤติปฏิบัติของเรา “ปริยัติแล้วมาปฏิบัติ”

“ปริยัติ” มันศึกษาทฤษฎีนั่นน่ะ มันไม่มีชั่วโมงบินหรอก ถ้ามันจะบินนะ มันก็บินแบบตำรวจน่ะ ตำรวจมันบินหาผลประโยชน์ของมัน มันบินเก็บส่วยมันตลอดไป การบินอย่างนั้นทำลายตัวเองหมดนะ นี่เหมือนกัน เราจินตนาการธรรมะกัน เวลาปฏิบัติกันน่ะ เราว่าจะเป็นอย่างที่เราตั้งใจ เราปรารถนา นั่นน่ะ มันบินอะไร เพราะมันไม่มี “ศีล สมาธิ ปัญญา” ความปกติของจิตก็ไม่มี สมาธิในหลักเกณฑ์ของตัวจิตก็ไม่มี แล้วจะออก.. นี่ไม่มีเครื่องบิน ถ้าไม่มีเครื่องบินจะเอาอะไรไปบิน? ความบินก็เป็นจินตนาการใช่ไหม มันไม่มีความเป็นจริงใช่ไหม

แต่ถ้ามีความเป็นจริงนะ เวลาจิตมันสงบเข้ามา จิตมันออกไปรับรู้ จิตมันออกไปวิปัสสนา นั่นชั่วโมงบินมันเกิดนะ แล้วชั่วโมงบินมันเกิดแล้ว แต่คนเราประสบการณ์นะ เวลาเป็นนักบินใหม่ๆ เราต้องเป็นนักบินสำรองก่อน นักบินที่ ๒ เราจะเป็นกัปตันไม่ได้ เพราะเราต้องฝึกของเราไป นี่เวลาจิตมันออกวิปัสสนานะ ไม่ใช่ว่าทีเดียวมันจะสำเร็จหรอก นักบินกว่าเขาจะบินกันได้ มันเป็นแต่ผู้ที่เขามีพรสวรรค์

ดูสิ ช้างเผือก เราหาช้างเผือกกันมาเพื่อเอามาปั้น เราพยายามมีแมวมองหาช้างเผือกมา ใจของคนก็เหมือนกัน มันมีขิปปาภิญญา ผู้ที่ปฏิบัติเร็วรู้เร็วน่ะมี! แต่มันมีส่วนน้อย ส่วนน้อยเพราะอะไร ช้างเผือก ดูสิ คนเกิดมาเยอะแยะไป ทางคติธรรม “รกหญ้าดีกว่ารกคน” คนเกิดเยอะแยะไป แล้วถ้ามันรกขึ้นมา ดูสิ หญ้ามันยังเป็นอาหารสัตว์ได้ คนที่มันมีเกเรเกตุง คนที่มันทำลายคนนะ

สังคมในปัจจุบันนี้ ผู้ที่บริหารมีความปวดหัวมาก เพราะอะไร เพราะว่ายุคคราวหนึ่ง ถ้าการศึกษาหนึ่ง ในสังคมสังคมหนึ่ง มันจะทำให้เด็ก ทำให้ทั้งสังคมนั้นมีมุมมอง มีความเห็นเป็นไป แล้วเราพยายามจะส่งต่อสังคมให้กับอนุชนรุ่นหลังไป เพื่อให้เขาอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข แต่เวลาผู้นำ ผู้ที่มีเชาวน์ปัญญา มีการกระทำที่จะส่งต่อสังคม ส่งต่อสิ่งแวดล้อมที่ดีๆ ให้กับอนุชนรุ่นหลัง แล้วอนุชนรุ่นหลังมันพอใจไหม อนุชนรุ่นหลังมันว่ามันมีปัญญาหมดนะ มันมีปัญญา มีความเข้าใจ มันมีความองอาจกล้าหาญ มันเป็นเรื่องโลกๆ หมดนะ มันไม่เป็นเรื่องธรรม

เรื่องธรรม.. เราอยู่กับโลกโดยไม่เดือดร้อนไปกับโลกนะ

ดูสิ เวลาเกิดพายุ เกิดต่างๆ มันพัดบ้านเรือนเราราบเป็นหน้ากลองไปเลย ถ้าเราเดือดร้อน เราก็เดือดร้อนไปด้วย เวลาเกิดมันเกิดเป็นภัยธรรมชาติ ภัยธรรมชาติมันเกิดแล้วไม่มีใครไปยับยั้งมันได้ แต่ถ้าเราต้องรักษาใจเราด้วย สิ่งที่เสียหายไปแล้ว สิ่งที่เป็นไปแล้วมันก็เป็นไปแล้วใช่ไหม ถ้าหัวใจเราเป็นธรรมนะ ก็นี่มันเป็นธรรมชาติ นี่เป็นสิ่งที่สุดวิสัย นี่เป็นเรื่องของกรรม นี่เป็นเรื่องที่เราฝืนไม่ได้ แล้วเราจะเสียใจ ช้ำใจ ทุกข์ใจไปอีก มันจะเจ็บช้ำน้ำใจขนาดไหน แต่ถ้ามีคุณธรรมในหัวใจนะ เราเข้าใจมัน

“ธรรมกับโลก” เราอยู่กับโลกเขา โลกเขาเป็นอย่างนั้น แต่คิดอย่างนี้ไม่ใช่ยอมจำนนนะ

เวลาโลกมันสุดโต่งไปข้างใดข้างหนึ่ง ธรรมะจะไม่สุดโต่งไปข้างใดข้างหนึ่งเลย

เวลาสุดโต่งไปข้างใดข้างหนึ่งบอกว่า เราอยู่กับโลกโดยไม่ติดโลก เราก็งอมืองอเท้าไม่ทำอะไรเลย อาศัยอยู่บนโลก อาศัยเอาเปรียบเขาไป.. มันก็ไม่ใช่! เราอยู่เราขวนขวาย ไม่อย่างนั้นมันจะมีความเพียรชอบหรือ ทำไมพระพุทธเจ้าบอกให้มีความเพียรชอบ มีความวิริยะ มีอุตสาหะ ต้องบริหารทิศให้ถูกใช่ไหม ครูบาอาจารย์อยู่เบื้องบน พ่อแม่อยู่ข้างหน้าใช่ไหม หมู่คณะอยู่เบื้องซ้ายเบื้องขวานะ นี่กรรมกรอยู่เบื้องล่าง เราต้องบริหารทิศให้ถูกนะ เราต้องบริหารจัดการชีวิตเรานะ ได้เงินมา แสวงหาเงินมาต้องเก็บไว้เป็นทุนส่วนหนึ่ง เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ส่วนหนึ่ง เก็บไว้เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยส่วนหนึ่ง ที่เหลือเราค่อยทำบุญ

นี่พระพุทธเจ้าให้ดูดายที่ไหน พระพุทธเจ้าไม่ให้ดูดาย

ไม่ใช่ว่าอยู่กับโลกโดยไม่ติดโลก ก็งอมืองอเท้าเลย.. ไม่ใช่

“ความมักน้อยสันโดษ” เวลาจิตใจมันมีความฟุ้งซ่าน มันไปขวนขวายเอากิเลสตัณหาความทะยานอยาก อันนั้นมักน้อยสันโดษ แต่เวลามันทำแล้วมันเป็นประโยชน์ เป็นคุณธรรม เป็นสิ่งที่ดีงาม มันต้องมีความเพียร มีความวิริยะความอุตสาหะ มันต้องมีความกระตือรือร้น

ครูบาอาจารย์ท่านบอก หลวงตาท่านพูดประจำนะ “รถมันมีเบรกและคันเร่ง” เราไปมองแต่คันเร่ง มีประโยชน์มากเลย เหยียบแล้วรถวิ่งไปหมดเลย แต่เราไม่เห็นว่าเบรกนี่สำคัญมาก เวลาเบรกแตก รถลงทุกคันน่ะ รถไม่มีเบรกอยู่ไม่ได้หรอก นี่ก็เหมือนกัน เวลามันเบรก เวลามันมีตัณหาความทะยานอยากเราต้องเบรก แต่เวลาเราทำคุณงามความดีเราต้องมีคันเร่ง รถไม่มีคันเร่ง ไม่มีเบรกมันก็ไปไม่ได้ มันต้องมีทั้งคันเร่งต้องมีเบรกของมัน

ในการดำรงชีวิตของเราก็เหมือนกัน สิ่งใดเป็นโลก สิ่งใดเป็นธรรม? เวลาเราทำขึ้นมา เราต้องมีความวิริยะอุตสาหะ เวลาเรามาประพฤติปฏิบัติ เราจะเป็นนักบิน แล้วเราฝึกเครื่องบินจำลอง เวลาเราเริ่มต้นประพฤติปฏิบัติเราก็รักษาใจของเรา..รักษาใจของเรา.. แต่เราจะคิดของเราเองว่าเราจินตนาการของเรา เราเป็นนักบินเลย เรามีความรู้เลย มันเป็นจินตนาการ มันเป็นโลกๆ ไปหมด ฉะนั้น ถ้าเราจะเอาความจริงเราต้องมีสติ เราต้องมีความวิริยะอุตสาหะ เราต้องมีความเพียรของเรา

เรื่องของการรักษายากที่สุด คือรักษาใจของเรา

“อัตตา หิ อัตตโน นาโถ.. ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน.. องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ชี้ทางเท่านั้น”

เราไม่ตั้งสติปัญญาของเราขึ้นมา เราจะควบคุมใจของเราได้อย่างไร

ถ้าเราควบคุมใจของเราไม่ได้ เราจะเอาอะไรไปทำงาน?

“จิตตภาวนา” ไม่มีจิต ไม่มีการภาวนา

ดูสิ เวลาเขามีความเห็นก็จะส่งเสริมในการประพฤติปฏิบัติ “อสุภะ” พิมพ์หนังสือรูปภาพซากศพมาแจกกัน มันเป็นอสุภะที่ไหน ความเข้าใจของโลกว่าเป็นอสุภะนะ แต่ถ้าความเป็นธรรมนะ นั่นกระดาษเปื้อนหมึก แล้วมันจะมีความรู้สึกอะไร แต่ถ้าจิตใจเราเป็น จิตใจเราจิตสงบ จิตใจเราเห็นซากศพ ซากศพมันเป็นธรรมนะ เวลาเราไปเห็นผีเห็นสาง เห็นจิตวิญญาณ แต่เห็นอสุภะมันเพราะจิตโดยจิตใต้สำนึกของเรามันรักตัวมัน มันต้องการความสุภะ มันต้องการความชอบใจ ความดีงามของมัน มันชอบของมัน มันยึดมั่นของมัน

แต่เวลาจิตสงบขึ้นมา สัจธรรม อริยสัจจะ มันเกิดขึ้นมาจากสัจจะความจริง มันเป็นความจริงอย่างนั้น ความจริงอย่างนั้นความจริงมันแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา แต่ความยึดมั่นถือมั่นของใจของเรามันต้องการความปรารถนาของมันตามตัณหาความทะยานอยาก แม้แต่ความรักสวยรักงามของแต่ละบุคคลก็ไม่เหมือนกัน รักสวยรักงามแต่ละชนิดแต่ละอย่างมันก็เป็นไปต่างๆ กัน มันเป็นจริตนิสัย แต่โดยพื้นฐานมันก็รักสวยรักงามทั้งนั้นน่ะ รักสวยรักงาม แล้วมันสวยงามจริงไปได้ไหม มันเป็นความสวยงามเป็นจริงไปไม่ได้ เพราะสรรพสิ่งในโลกนี้มันไม่มีอะไรคงที่ได้ มันต้องแปรสภาพของมัน ทุกอย่างต้องแปรสภาพของมัน มันเป็นสัจธรรมเป็นธรรมดา

แต่เพราะใจของเรามันบวกไปกับเขา เคลื่อนไหวไปกับเขา พอใจไปกับเขา มันก็ว่าสิ่งที่มันปรารถนามันจะแสวงหาได้ แต่พอจิตมันสงบขึ้นมามันไม่ใช่ปรารถนาไปกับเขา มันเป็นอิสรภาพ มันเป็นความจริงของมัน แล้วถ้าจิตมันออกรู้ออกเห็นขึ้นมานะ นี่จิตมันเห็นความเปลี่ยนแปลง เห็นกาย เห็นเป็นไตรลักษณ์ เห็นต่างๆ นั่น อสุภะมันเกิดตรงนั้น! อสุภะมันเกิดตรงจิตมีการกระทำ ใครทำแทนใครไม่ได้ ใครจะส่งเสริมแทนกันไม่ได้

ถ้ามันส่งเสริมแทนกันได้.. เราอยู่กับครูบาอาจารย์นะ ท่านเห็นลูกศิษย์ลูกหาเวลามันลงทุนลงแรง ท่านสงสารนะ ดูสิ เราเดินจงกรมนั่งสมาธิกันน่ะ ทุกคนสงสารกันไหม ทุกคนก็อยากช่วยเหลือกันน่ะ แต่มันช่วยเหลือได้ไหมล่ะ แล้วช่วยเหลือมันก็ทำให้อ่อนแอ ครูบาอาจารย์ต้องเหมือนเลย ต้องคอยยุ ต้องคอยให้ขวัญกำลังใจ เวลาเราประพฤติปฏิบัติทุกคนต้องท้อแท้ทั้งนั้นน่ะเป็นเรื่องธรรมดา กิเลสมันจะตัดขาเราตลอดเวลา แล้วถ้าเราไม่มีครูบาอาจารย์คอยให้กำลังใจ คอยส่งเสริมให้ขวัญกำลังใจ แล้วมันจะเอาอะไรไปประพฤติปฏิบัติล่ะ? นี่ขวัญกำลังใจอยู่ที่นี่ อยู่ที่ครูบาอาจารย์ของเรา

ท่านบอกว่า “ท่านเป็นศูนย์รวมของใจของลูกศิษย์ลูกหา”

ถ้าศูนย์รวมของใจ ใจเราพึ่งพาอาศัยท่านทั้งนั้นน่ะ มันมีความอบอุ่น มันมีความมั่นใจนะ อย่างเรามาปฏิบัติ สิ่งที่เราไม่เคยไป เราก็ต้องมีการผิดพลาดเป็นธรรมดา ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์คอยบอก เราก็กลัวเราจะหลงไปในทิศทางใด ถึงเวลาเราปฏิบัติเราต้องมีครูมีอาจารย์ เราต้องมีผู้ชี้นำ ทุกคนจะคิดหาที่พึ่งอย่างนั้น ถ้ามีที่พึ่งอย่างนั้น เราต้องพยายามทำของเรานะ

โลกเขาเป็นไปกับภาษาโลกของเขานะ “นกกับปลา” เราจะเป็นอะไร เราเลือกเอานะ จะเป็นนกหรือจะเป็นปลา นกกับปลามันคุยกันคนละภาษานะ สิ่งแวดล้อมของปลามันอยู่ในน้ำ สิ่งแวดล้อมของนกมันอยู่บนอากาศ แล้วการประพฤติปฏิบัติ ปริยัติกับปฏิบัติมันคนละเรื่องกัน ปริยัติกับปฏิบัติ โลกกับธรรมมันก็คนละเรื่องกัน เราจะเป็นนกหรือจะเป็นปลา เอาสักอย่างหนึ่ง

ถ้าเราเป็นนก เราก็บินของเรา เราก็หาอยู่หากินของเรา.. เราเป็นปลาเราก็อยู่ในน้ำของเรา เราหาอาหารของเรา เราจะเป็นปริยัติหรือเราจะเป็นปฏิบัติ เราจะเอาจริงทางไหน ถ้าอยู่ปริยัติ ปริยัติก็ปากเปียกปากแฉะ เอาท่องจำกันมาแล้วก็มาคุยกัน แล้วนกกับปลามันก็จะเถียงกันจนวันตาย นกกับปลาน่ะ สิ่งแวดล้อมมันต่างกัน เถียงกันจนวันตาย

นี่ก็เหมือนกัน เราจะเอาอะไร? ถ้าเราจะเอาความจริงขึ้นมา เอาสิ่งใดเอาสักอย่างหนึ่ง ปริยัติ เรียนก็เรียน เรียนเสร็จแล้วเราจะมาปฏิบัติ เราเป็นเต่าหรือ เป็นตะพาบน้ำอยู่บนบกก็ได้ อยู่ในน้ำก็ได้ นี่เหมือนกัน เดี๋ยวก็บนบกเดี๋ยวก็ในน้ำ เหมือนเป็ด บินก็ได้ ว่ายน้ำก็ได้ แต่ไก่มันลงน้ำไม่ได้ มันตายหมดนะ

นี่เราจะเป็นนกหรือจะเป็นปลา ถ้าเราจะเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ศึกษาก็ศึกษา ถึงเวลาต้องศึกษา ปริยัติต้องศึกษา ศึกษามาแล้วเวลาปฏิบัติอย่าเอาเข้ามาเป็นจินตนาการ อย่าเอาเข้ามายุแหย่ มันยุแหย่หัวใจของเรานะ พอจิตมันเริ่มมีอาการเป็นไป ..เป็นอย่างนั้นๆ ..มันให้ค่าจนเกินกว่าเหตุ มันไม่เป็นความจริง

ถ้าเป็นความจริง ทำไมมันทุกข์ขนาดนี้ล่ะ ไม่เห็นเป็นความจริงสักที ความจริงมันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นสันทิฏฐิโก รู้เองเห็นเอง ความเห็นเองอันนั้นน่ะ มันมั่นคงกว่าการรับประกันของใครๆ ทั้งสิ้น ความเป็นจริงในหัวใจมันจะรับประกันความเป็นไปของมัน แต่ความเป็นไปอันนี้เพราะระยะทาง ระยะทางที่จะถึงเป้าหมายนั้น เราต้องไปให้ถึงเป้าหมายนั้น แต่การก้าวเดินของเรายังไม่ถึงเป้าหมายนั้น แต่เพราะเราตั้งเป้าหมายไว้ใช่ไหม เราก็ว่าเป้าหมายนั้น สิ่งใดที่เกิดขึ้น พอจิตมันรู้จิตมันเห็น เราก็ว่านี่เป็นธรรมๆ ทั้งนั้นน่ะ

สุดท้ายแล้วนะ ถ้าไม่ถึงเป้าหมายนั้น เป้าหมายนั้นมันจะมีสถานที่รองรับ ถ้าไม่ใช่ถึงเป้าหมายนั้น จิตมันถึงเป้าหมายนั้นมันก็มีภาพของมัน แต่มันอยู่ของมันไม่ได้ พออยู่ไม่ได้มันต้องเสื่อมไปเป็นธรรมดา พอมันสูญสลายไป มันสิ้นไป เพราะมันเป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรม ความรู้สึกเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป แต่ความรู้สึกอันนี้ ถ้ามีสติปัญญามีสติของมัน รักษาของมันนะ

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ”

ถ้าเรามีการกำหนดพุทโธ มีสติของเรา.. สมาธิมันจะเสื่อมไปไหน? ความเสื่อมของมัน เสื่อมเพราะเหตุมันพร้อมอยู่ เราตักน้ำใส่ตุ่มทั้งวันๆ น้ำมันไม่ล้นตุ่มให้มันรู้ไป นี่ก็เหมือนกัน เจาะรูไว้เต็มตุ่มไปหมดเลย ตักน้ำขัน มันไหลออกเป็นร้อยทางเลย มันจะเป็นประโยชน์ขึ้นมาได้อย่างไร เพราะสติเราไม่พอ ความเพียรเราไม่พอ

ถึงบอกว่าถามตัวเองนะ จะเป็นนกหรือจะเป็นปลา เอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วทำตามนั้น จะนกเรียนก็เรียนไป จะเป็นปลาจะลงน้ำก็ปฏิบัติก็เอาไป แล้วเอาให้จริงให้จัง เตือนสติตัวเรา แล้วทำไป อย่าน้อยเนื้อต่ำใจ ทุกคนเป็นอย่างนี้หมด ทุกคนนั่งอยู่นี่เกิดมาจากไหน? เกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่ทั้งนั้นล่ะ เกิดมาเหมือนกันหมด นี่ชีวิตเหมือนกันหมดเลย ทุกคนเหมือนกันหมด แต่เวลาปฏิบัติไปมันไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนกันที่ว่าจิตมันจะเป็นไปอย่างไร การกระทำของมันน่ะมีสมดุลอย่างไร มันต้องเป็นตามข้อเท็จจริงของเรา

“อาหาร” คนอื่นเขากินของเขาน่ะ มันจะดีเด่ขนาดไหน มันจะเลวทรามขนาดไหน มันก็เป็นเรื่องของเขาใช่ไหม อาหารที่เรากินเข้าปากของเรา มันก็คือสมบัติของเราใช่ไหม

ในการเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา นั่นก็กิริยาการกระทำของเรา มันก็ใจของเราทั้งนั้นล่ะ จะยากดีมีจน จะทุกข์จนขนาดไหน เราทำของเรา ถ้ามันสงบขึ้นมาอันนี้มันเป็นอริยทรัพย์ มันสัจจะความจริง มันเป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นความเห็นของเรา ตั้งใจทำแล้วทำให้ได้.. ทำให้ได้นะ

“รสของธรรม ชนะซึ่งรสทั้งปวง”

แล้วว่าเราทุกข์เรายากอยู่นี่ เดินจงกรมนั่งสมาธิ รสของความทุกข์ทำไมมันทุกข์ขนาดนี้ล่ะ รสของทุกข์อันนี้มันจะทุกข์ถึงที่สุด ทุกข์อันนี้มันจะทุกข์เพื่อจะไม่เกิด ทุกข์เพื่อจะจบจากความทุกข์ แต่ความเห็นของโลกนะ เจ็บช้ำน้ำใจ เจ็บปวดแสบร้อนขนาดไหนมันก็ทุกข์ เจ็บปวดแสบร้อนน้ำตาไหล น้ำตาพราก แล้วเขาจะต้องมาทุกข์ซ้ำๆ ซากๆ มันไม่มีวันจบ มันเป็นวัฏจักร มันหมุนเวียนของมัน มันเป็นกงกรรมกงเกวียน

แต่ความทุกข์ของเรา เราทุกข์เพื่อจะออก ความทุกข์จะออก เราจะลงทุนลงแรง เราพอใจจะทำนะ การทำงานไม่เหนื่อย..ไม่มี การนั่งสมาธิภาวนาไม่ทุกข์ไม่ยาก..ไม่มี แต่ความทุกข์ความยากนี้ เพราะเรารู้ว่าเราทุกข์เรายาก

นี่ไง “เกลือจิ้มเกลือ” ในเมื่อมันทุกข์ก็จะเอาความทุกข์นี่สู้กับมัน แล้วถ้ามันเห็นสัจจะความจริง “อ๋อ!” มันปล่อยหมด ทุกข์อยู่ไหนๆ มันหาทุกข์ไม่เจออีกนะ หาทุกข์ไม่เจอ ถ้าเจออริยสัจ เจอสัจจะความจริง แล้วการทำของเรา.. ตั้งใจทำ

มันเป็นธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ปริยัติ ปฏิบัติ โลกกับธรรม สิ่งต่างๆ คามวาสี อรัญวาสี มันมีทุกอย่างมาพร้อม พระพุทธจ้าบัญญัติไว้ ไม่ใช่เรามาแบ่งกันเอง เราสร้างขึ้นมา แล้วเราแบ่งพรรคแบ่งพวก เรารังเกียจคนโน้น เรารังเกียจ.. ไม่ใช่! มันเป็นสัจจะ! มันเป็นข้อเท็จจริงอย่างนี้! มันเป็นการกระทำอย่างนี้!

ในการศึกษามาเราต้องการปฏิบัติ “นกกับปลา” ชั่วโมงบินมันจะสอนเรานะ แล้วเรายังไม่มีชั่วโมงบิน เราไม่มีเครื่องบิน เรายังจะมีการศึกษา แต่เรายังไม่เห็นเครื่องบินเลย เราเห็นเครื่องบินก็เครื่องบินจำลองเพราะอยู่กับที่ เป็นการฝึกหัด เรายังไม่ได้เหินฟ้านะ แล้วเครื่องบินจำลองคือเครื่องบินที่ขึ้นบนอากาศมันก็ต่างกัน แล้วพอเครื่องบินขึ้นไปแล้ว ชั่วโมงบินแต่ละชั่วโมงบินมันก็ต่างกัน ประสบการณ์ของจิตมันจะมีอีกมากมายมหาศาลที่เราจะทำให้เรารู้จริงเห็นจริงในจิตของเรา ในความรู้ของเรา ปัญญาของเรานะ สมบัติของเรานะ อริยทรัพย์ของเรา หัวใจของเรานะ ไม่ใช่สมบัติของใครเลย ค้นคว้าหาเอาแล้วจะเป็นสมบัติของเรานะ

วันนี้วันพระ เราต้องจริงจังนะ ธรรมดาเราอยู่ในป่านะ วันพระนี่เนสัชชิก ไม่เคยนอนเลย ถ้าวันพระลุยทุกทีๆ นี่มันต้องมีหนักมีเบาไง มันต้องมีความจริงจังบ้าง เราจะอยู่ไปวันหนึ่งๆ นะ วันนี้ก็หมดไป พรุ่งนี้ก็หมดไป ก็หมดไปวันๆ หนึ่ง นี่ออกพรรษาแล้ว แล้วได้อะไรกันขึ้นมา เรามาเพื่อหาอะไร? มาหาความจริง ความจริงของโลกเขา ไม่ต้องไปเที่ยวหากับเขา ความจริงของเรา หัวใจความรู้สึกอันนี้ วันนี้หาให้เจอ

หลวงปู่มั่นท่านบอกเลยน่ะ “ปลาในสุ่ม” หัวใจมันอยู่ในร่างกายนี้ สุ่มปลา สุ่มอยู่อย่างนี้ แล้วเราหาปลาในสุ่มยังหาไม่ได้ แล้วมึงจะไปหาปลาในคลอง ในทะเล ในแม่น้ำ จะหาที่ไหน

นี่ตั้งใจจริง มันจะออกพรรษาอยู่แล้ว วันมันจะล่วงไปๆ ทุกวันมันล่วงไปๆ

จริงจัง! จริงจัง! แล้วทำของเราเพื่อประโยชน์กับเรา เอวัง