เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๕ ส.ค. ๒๕๕๒

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๒
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เรามาทำบุญ เราอุตส่าห์ขวนขวาย เพราะเราเชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถ้าใจลงนะ “ใจลง” คนทำด้วยหัวใจ เราไปบ้านนอกคอกนา ดูผู้เฒ่าผู้แก่เขาทำบุญสิ เวลาเขาจะใส่บาตรน่ะ เขาน้อมใส่หัวด้วยหัวใจของเขา เพราะความเชื่อของเขา

เพราะเรามีความเชื่อของเรา เราถึงขวนขวายมาทำบุญกุศล เวลาทำบุญกุศลกันน่ะ เพื่ออะไร? เพื่อความสุข เพื่อความสุขนะ แล้วเรามีความสุขไหม? เราขวนขวาย เราดิ้นรน เราพยายาม กระหืดกระหอบนี่เป็นความสุขไหม? มันเป็นความสุข เป็นความสุขเพราะเป็นความพอใจ สิ่งที่ตอบสนองนะ มันเป็นอามิส นี่เป็นบุญที่เป็นอามิส สิ่งที่เป็นอามิส มีการเสียสละ

ความเสียสละนั้นเพื่ออะไร? เพื่อเปิดใจของเราไง

ถ้าเราไม่เคยเปิดหัวใจของเรา สิ่งที่หมักหมมในใจ เวลาเราทุกข์ขึ้นมา เราต้องการให้ทุกข์นี้ไม่อยู่กับเรา แต่เราจะมีความสามารถเข้าใจมันได้ไหม? มีความสามารถที่จะเปิดออกได้ไหม?

บุญกุศลนะ มันอยู่ที่ความลงใจ

เราดูพระนะ ถ้าสิ่งที่เป็นโลกๆ ดูพระทั่วๆ ไป เราเห็นของเรา เราเห็นแล้วเรารับได้ไหม? เรารับไม่ได้เพราะว่าพระพวกนั้นประพฤติตัวในสิ่งที่.. เพราะใจของเรา เราพยายามศึกษาธรรมะ เราเข้าถึงศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีธรรมและวินัย ธรรมและวินัยเป็นเครื่องตัดสิน

หลวงตาท่านพูดไว้ชัดเจนมาก “เหยียบหัวพระพุทธเจ้าไป แล้วแสดงธรรม”

เหยียบหัวธรรมวินัยไง เหยียบหัวข้อวัตรปฏิบัติ ข้ามนี้ไปแล้วแสดงธรรม.. มันจะเป็นธรรมะไหม? นี่เหมือนกัน เวลาเขาบวชขึ้นมาเป็นพระเป็นเจ้า บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา แล้วเขาทำตัวอยู่ในกรอบของธรรมและวินัยไหม ถ้าเขาไม่ทำตัวอยู่ในกรอบของธรรมและวินัย เราเป็นผู้ดูอยู่ บริษัท ๔ เราเป็นเจ้าของศาสนา เราดูอยู่ เราเห็นอยู่ แต่เจ้าตัวเขาไม่รู้ เจ้าตัวเขาคิดว่าเขาทำดีแล้ว เพราะเขามีความเห็นเขาได้แค่นั้น เราจะบอกว่านั้นเป็นโลก

แล้วครูบาอาจารย์ของเรา หลวงปู่มั่นท่านอยู่ป่าอยู่เขา มีใครไปดูแลอุปัฏฐากท่าน ท่านอยู่ในป่าในเขานะ ทำไมพวกเราเคารพนับถือศรัทธาล่ะ? ถ้าพูดถึงทางโลกนะ ท่านมีความทุกข์

หลวงตาท่านบอกประจำว่า “หลวงปู่มั่น ถ้าพูดถึงคน เรื่องของโลกมนุษย์นะ.. เศษมนุษย์” คืออยู่ป่าอยู่เขาท่านไม่มีคุณค่าเลย “เหมือนเศษคน” แต่ทำไมเราเคารพบูชากันล่ะ

เห็นไหม เพราะเคารพธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาเราบวชขึ้นมาแล้ว พระทุกองค์ “รุกขมูลเสนาสนัง.. เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ” ถ้าอุปัชฌาย์ไม่ให้กรรมฐาน เป็นพระไม่ได้ แล้วบวชขึ้นมาแล้วให้อยู่รุกขมูลเสนาสนัง รุกขมูล.. อยู่โคนไม้ อยู่ป่าอยู่เขา นี่พระทุกองค์บวชเหมือนกัน จะปริยัติ-ปฏิบัติ เหมือนกันหมดเลย พอเหมือนกันหมดเลยบวชเข้ามาแล้วมีความสำนึกไหม? ถ้ามีความสำนึกใจเขาก็จะเป็นธรรม

ใจของเขาเป็นธรรมเพราะอะไร เพราะเขาลงธรรมวินัย

แต่ถ้าใจเป็นโลก บวชเป็นประเพณี บวชเป็นวัฒนธรรม บวชมาเพื่อดำรงชีวิต บวชมาเพื่อสักการะ “โมฆบุรุษตายเพราะลาภ” โมฆบุรุษไง เราเป็นโมฆบุรุษเพราะเราเห็นลาภสักการะ เราตายเพราะลาภสักการะ นั้นเป็นโลก ในเมื่อสิ่งที่เป็นโลก.. แล้วเป็นธรรมล่ะ “เป็นธรรม” เราลงใจ

เราทำบุญกุศล ดูสิ เขาตักบาตรๆ เขาทำบุญกุศลกัน บอกที่ไหนก็ทำได้.. ใช่ ที่ไหนก็ทำได้

ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ

“ถ้าทำบุญ ควรทำที่ไหน..”

“เธอทำที่พอใจ”

“แต่ถ้าเอาผลล่ะ”

“เอาผล ต้องว่ากันตามข้อเท็จจริง”

นี่ก็เหมือนกัน ใจเราพอเข้าถึงศาสนา เรากระหืดกระหอบกัน เราพยายามของเรา เพราะเราลงใจของเรา เราทำเพื่ออุดมคติของเรา เราทำของเรา

ในการประพฤติปฏิบัติ เราเห็นกันปฏิบัติๆ ปฏิบัติธรรมๆ เราก็จะประพฤติปฏิบัติธรรม เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา เราอ้างหลวงตาทุกคำนะ เพราะหลวงตาท่านพูดจริงๆ ท่านบอกว่า “ถ้าเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา หมามันดีกว่าเราอีก หมามันวิ่งไปวิ่งมา หมามันมี ๔ ขาด้วย เรามี ๒ ขา เราทำอะไรกันมา” ทำเป็นโลกๆ ไง ทำประเพณีไง เห็นเขาทำก็ทำตามๆ กันไป แต่ไม่รู้ว่าเราตั้งใจจริงหรือเปล่า เรามีสติสัมปชัญญะของเราจริงไหม เรารู้จักธรรมะของพระพุทธเจ้าคืออะไรไหม พระพระพุทธเจ้าสอนที่ไหน?

สิ่งที่เราศึกษา.. เดี๋ยวนี้โลกเป็นใหญ่นะ มาถึงบอกว่า “ตำราสอนอย่างนี้ๆ”

นี่หลวงตาท่านบอกว่า “สิ่งที่สัมผัสศาสนาได้ ไม่มีสิ่งใดสัมผัสศาสนาได้เลย ไม่มีสิ่งใดรองรับศาสนาได้เลย มีแต่หัวใจของสัตว์โลก”

“ความรู้สึกนี่สัมผัสธรรม”

กระดาษมันเปื้อนหมึก ปลวกมันกินไปทั้งเล่มเลย ปลวกมันยังไม่รู้อะไรเลย แล้วมันก็อ้างตำรานะ นี่สอนอย่างนั้นๆ แล้วตำราใครเป็นคนเขียน? แม้แต่พระไตรปิฎกนะ.. สาธุ

ครูบาอาจารย์ของเรา หลวงตาท่านพูดว่า “ใครจะกราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในหัวใจเท่ากับพระอริยบุคคล เท่ากับหลวงปู่มั่น เท่ากับครูบาอาจารย์ของเรา”

เราจะบอกว่า พวกพระป่าเราไม่เคยค้านพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่เคยค้านพระไตรปิฎก ไม่เคยค้านเลย เราเคารพด้วยหัวใจนะ เราบูชากันด้วยหัวใจ แต่ขณะที่เราปฏิบัติ สิ่งนี้มันยังไม่เข้าสัมผัสถึงใจของเรา เราเอาสิ่งนี้มาเป็นกรอบกติกา เหมือนเรา ทุกคนอยากเป็นเศรษฐี แต่เราไม่มีเงินสักบาทหนึ่ง แต่เราก็มีแต่ความร่ำร้องว่าอยากเป็นเศรษฐีๆ แล้วเราจะเป็นเศรษฐีไหม? แต่ถ้าเราทำมาหากิน เราหาอยู่หากินนะ เก็บเล็กผสมน้อย มีบาทเก็บบาท มี ๒ บาทเก็บ ๒ บาท อนาคตเราจะเป็นเศรษฐี

นี่ก็เหมือนกัน ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “ที่สุดแห่งทุกข์”

เราประพฤติปฏิบัติมันอยู่ที่ความสามารถของเรา อยู่ที่การกระทำของเรา ถ้าเราปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม.. เรามองพระทางโลก เราเห็นพระที่เป็นทางโลกเราก็รับไม่ได้ เราอยากมีพระอย่างครูบาอาจารย์ของเราที่ประพฤติปฏิบัติ เวลาเราปฏิบัติขึ้นมาในการปฏิบัติของเรา เราก็ต้องปฏิบัติให้เป็นธรรม

ปฏิบัติให้เป็นธรรมคืออะไร? ปฏิบัติให้เป็นธรรมมันต้องมีสติมีสัมปชัญญะ มีการทำข้อเท็จจริงที่มันเกิดขึ้นมากับเรา ไม่ใช่ว่าให้คนโน้นมาให้ค่า คนนี้มาให้ค่า ใครก็ให้ค่าเราไม่ได้หรอก

“สันทิฏฐิโก” หัวใจสัมผัส.. ทุกข์ก็รู้ว่าทุกข์ สุขก็รู้ว่าสุข

เวลาเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาจะน้อยเนื้อต่ำใจเลย “ก็นั่งภาวนา ก็เดินจงกรม ทำไมไม่สงบสักที ทำดีแล้วไม่เห็นได้ดีสักที” นี่ไง ไปเรียกร้องไง นี่เราไปให้คะแนน ตัดคะแนนของเราเอง เราทำใจของเราเอง พอทำใจของเราเองมันก็ฟูขึ้นมา กิเลสนี่มันร้ายนัก กิเลสมันอยู่หลังความคิดเรา มันคิดให้เราน้อยเนื้อต่ำใจ แล้วมันก็กระทืบซ้ำเลยนะ “เออ.. เราไม่มีอำนาจวาสนา สิ่งที่เป็นคุณธรรมให้คนมีอำนาจวาสนา.. เลิกซะ เรากลับไปดำรงชีวิตของเราปกติดีกว่า”

ดำรงชีวิตปกติ-ไม่ปกติ เราไม่ต้องไปคิดถึงมันหรอก มันเป็นธรรมชาติ มันเป็นสิ่งที่มีชีวิต เราเกิดมาเป็นมนุษย์เรามีชีวิตอยู่แล้ว การดำรงชีวิตเราต้องสูดลมหายใจ เราต้องมีลมหายใจ เราต้องดำรงชีวิตของเราไปจนสิ้นสุดอายุขัย มันเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว เราไม่ต้องกลับไปมันก็เป็นธรรมชาติอยู่แล้ว

แต่ในปัจจุบันนี้เรามีสติสัมปชัญญะไหม? ถ้ามีสติมีสัมปชัญญะเราต้องเตือนตัวเอง แล้วถ้าเตือนตัวเอง นั่งสมาธิภาวนาให้เป็นธรรม! ให้เป็นธรรมนะ ความเป็นธรรมคือมันสมดุลไง ความสมดุล เรามีสติมีปัญญาใคร่ครวญของเรา แม้แต่ว่าการใช้ปัญญาๆ ทำทานก็ต้องมีปัญญา ถือศีลก็ต้องมีปัญญา ถ้าถือศีลไม่มีปัญญานะ มันเกร็ง

หลวงตาบอกว่า “ถือศีลเหลือศูนย์ไง ว่านี่จะเป็นศีลมันเลยเป็นศูนย์ ไม่ได้อะไรเลยไง”

ถ้าเป็นศีลนะ ศีลคือความปกติของใจ แล้วปัญญาของเรา เราใคร่ครวญว่าเราควรทำสิ่งใดไม่ควรทำสิ่งใด ถ้ามันไม่ครบองค์ประกอบของศีลนะ องค์ของศีลที่มันทำลายไม่ครบนะ มันไม่ขาดหรอก ศีลด่าง ศีลพร้อย ศีลทะลุ ศีลขาด ศีลนี่มันความปกติของใจ ถ้าใจมันคิดใจมันทำ อันนี้พอถือศีล เกร็งเลยนะ ทำอะไรไม่ได้เลย เลยเหลือศูนย์เลย เพราะทำอะไรไม่ได้เลย.. มีปัญญาหรือเปล่า? ไม่มีปัญญา

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา.. ใช่!

ปัญญาในขั้นของใคร? ปัญญาเพื่ออะไร?

ถ้าปัญญาในการชำระกิเลส ไม่ใช่ปัญญาอย่างเราคิดนี้หรอก ความคิดอย่างเรา เพราะปัญญา ของเราทั้งหมดกิเลสเอามาใช้ เพราะปัญญาของพวกเราเกิดจากอวิชชา ปัญญาของเราเกิดจากจิต ปัญญาของสามัญสำนึกเกิดจากจิตหมด แล้วจิตนี่มันอยู่ในใต้ของกฎอวิชชา อวิชชามันครอบงำหัวใจนี้อยู่ ปัญญาที่ใช้กันในโลกนี้ทั้งหมด เป็นปัญญาของกิเลสทั้งหมด!

แต่ถ้าทำความสงบของใจเข้ามา กิเลสสงบตัวลง หินทับหญ้าๆ เขาดูถูกเหยียดหยาม “หินทับหญ้าๆ” มีหินทับหญ้านั่นน่ะ เพราะหินมันทับหญ้าไว้ ทับกิเลสไว้ กิเลสมันคิดไม่ได้ตามอิสรภาพของมัน กิเลสมันไม่ได้แสดงตัวเต็มกำลังของมัน มันโดนสมาธิกดไว้ แล้วโลกุตตรปัญญาเกิดอย่างไร? จะเห็นหน่อของพุทธะ หน่อพุทธะเกิดจากหัวใจ หน่อพุทธะมันเกิดขึ้นมาจากเรา ถ้าหน่อพุทธะเกิดจากเรา เราทำอย่างไร?

ปฏิบัติธรรมให้เป็นธรรม เราปฏิบัติกันอย่าให้เป็นโลก

เรามองดูว่าพระประพฤติปฏิบัติตัวไม่ดี เราว่าเป็นโลกๆ เขาอยู่ดำรงชีวิตกันแบบโลกๆ ถ้าพระปฏิบัติตัวดีขึ้นมา เขาลงธรรมลงวินัย ทั้งที่ปฏิบัติเขายังไม่ถึงที่สุด แต่เขาก็มีกฎของเขา

“ทาน ศีล ภาวนา”

“ศีล สมาธิ ปัญญา”

“พื้นฐานดี” ทุกคนบอกว่าอยากปฏิบัติสมาธิ อยากได้สมาธิ อยากได้มีปัญญา แต่ทุกคนมองไปที่เป้าหมาย ทุกคนไม่เคยคิดว่า “ศีล คือความปกติของใจ” นี่สิ่งแวดล้อมที่ดี การถือศีล ศีล ๘ ถือธุดงควัตร เรากินอยู่พอดำรงชีวิต ไม่ให้ธาตุขันธ์มันทับจิต นี่เราต้องการสมาธิ แต่เราก็เอาความหนักหน่วง เอาธาตุเอาขันธ์ ธาตุคือพลังงานในร่างกายที่มันเหลือเฟือ มันก็กดจิตให้ง่วงเหงาหาวนอน ขันธ์คือความคิด ความวิตกกังวล มันก็กดจิต ทุกอย่างกดจิตหมด พอกดแล้วเราก็บอกให้จิตเป็นอิสรภาพ ขอให้จิตเป็นคนดี แต่เราไม่เคยดูศีลเรา เราไม่เคยดูสภาพแวดล้อมของเราน่ะ ถ้าเราดูสภาพแวดล้อมของเรา เรากลับมาดูที่พฤติกรรมของเรา

แล้วถ้าพฤติกรรมมันดีขึ้น ทุกอย่างมันดีขึ้น การปฏิบัติของเรามันจะเป็นธรรมมากขึ้น พอเป็นธรรมมากขึ้นน่ะ เป้าหมายเราก็ถึงสมาธิได้ง่ายขึ้น ปัญญาที่เกิดขึ้นมาจะเกิดโลกุตตรปัญญาที่เกิดจากจิตที่เป็นสมาธิขึ้นมา โลกุตตรปัญญาเกิดขึ้นมา โอ้โฮ.. น้ำตาไหลนะ! น้ำตาไหลพรากเลย!

“อื้ม.. มันเป็นอย่างนี้เอง! มันเป็นอย่างนี้เอง! เราหาความสุขมาทั้งชีวิต เราวิ่งหามาเพื่อจะเป็นเศรษฐีโลก เศรษฐีเงิน เศรษฐีทอง.. วิ่งมาทั้งชีวิตๆ” พอมันเจอขึ้นมา น้ำตาไหลพรากเลย

แล้วมีใครบอกเรา? เห็นไหม สันทิฏฐิโก นี่ไง ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมนะ

เราเห็นพระปฏิบัติ เราบอก “โลกกับธรรม”

ในปัจจุบันนี้ การประพฤติปฏิบัติ การถือศีลภาวนามันจะเป็นโลกหมดแล้วไง เป็นโลกหมดแล้วเพราะ “เดินจงกรมเราก็เดิน เอ้า.. นั่งกูก็นั่ง ทำกูก็ทำทั้งนั้นน่ะ ไม่เห็นได้อะไรเลย” นี่ไง มันเป็นกิริยา เป็นท่าทางเฉยๆ แต่ความจริงในหัวใจมันไม่เป็นความจริง ฉะนั้น เราต้องปล่อยนะ ตั้งสติไว้ ความคิดความเห็นของคน เป้าหมายของคนไม่เหมือนกัน ตั้งสติไว้ ตั้งสติควบคุมจิตเราไว้ เพราะทุกอย่างเกิดจากจิต ความคิดอำนาจวาสนา กรรมเวรต่างๆ เกิดจากจิตหมด.. ขอนไม้ ซากศพมันไม่มีเวรไม่มีกรรมหรอก มันไม่มีจิต มันไม่มีสิ่งรับรู้แล้ว มันหมดอายุขัยของมันไปแล้ว

แต่เรายังมีจิตอยู่ ยังมีความรับรู้อันนี้อยู่

บุพเพนิวาสานุสติญาณ กรรมดี-กรรมชั่ว มันมากับจิตดวงนี้

ถ้าจิตดวงนี้ยังมีอยู่น่ะ อย่างเรามีอุดมคติอย่างไร มีความรู้สึกอย่างไร ความคิดของเรามันจะเหยียบย่ำเรา แล้วความคิดนี้มันอยู่กับเรา แล้วเราคิดอะไรเราก็เจ็บปวดทุกที กรรมมันก็ให้ผลเราทุกที เราก็คิดทุกที แล้วเราก็นั่งร้องไห้ทุกที เห็นไหม กรรมมันมีอยู่กับเรา มันกระทำกับเรา แล้วก็มาเหยียบย่ำเรา แล้วเราพยายามจะแก้ไข เราจะต้องตั้งสติของเรา แล้วใคร่ครวญของเรา รักษาของเรา

“ธรรมจะเกิดที่นี่”

“ศีล สมาธิ ปัญญา จะเกิดที่นี่”

“เกิดที่หัวใจของเรา” หัวใจของเราสัมผัสธรรม แล้วสัมผัสแล้ว มันจะรับรู้! มันจะรับรู้! ไม่ต้องมีใครบอก “สันทิฏฐิโก” ไม่มีใครเอาธรรมะยัดในหัวใจของใครได้

คนเจ็บไข้ได้ป่วยไปหาหมอ หมอมาฉีดยาเข้าได้นะ เราไปหาครูบาอาจารย์ เอาธรรมฉีดเข้ามาในใจเราได้ไหม? มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นการกระทำของเรา

“ดอกบัวบานท่ามกลางหัวใจ” มันจะบานท่ามกลางหัวอกของเรานะ เราจะรู้ของเรา เราจะเห็นของเรา มันจะเป็นคุณประโยชน์ของเรา นี่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

เรื่องโลก เราวิตกวิจาร เห็นการกระทำกันมันเป็นโลกไปหมด แล้วพอเราจะไปทำให้มันสมควรแก่ธรรม เขาบอกว่ามันเป็นสิ่งที่เกินกว่าเหตุ เป็นอัตตกิลมถานุโยค เป็นการทรมานตน พระพุทธเจ้าไม่ได้สอน แต่มันไม่ได้บอกว่าทรมานกิเลสนะ เวลากิเลสมันจะนอนกินสบายของมัน มันบอกนี่ปฏิบัติธรรม เวลาเราทำเพื่อจะชำระกิเลส มันบอกนี่คืออัตตกิลมถานุโยค ไม่ใช่การชำระกิเลส.. ดูกิเลสมันหลอกเรา แล้วเราก็เชื่อ

ฉะนั้นสิ่งนี้เราน้อมเข้ามาในใจเรา แล้วตั้งสติของเรา ใครคิด ใครเห็นอุดมคติ ความเห็นของใจ มันดัดแปลงใจนะ แล้วแก้ไขเรา เพื่อผลประโยชน์ของเรา เอวัง