เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๖ ส.ค. ๒๕๕๒

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๒
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราชาวพุทธ.. ตั้งใจฟังธรรม ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้ “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” มันต้องการพิสูจน์นะ “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” เราเชื่อหรือไม่เชื่อล่ะ ดูสิ คนเราไม่เคยฝึกไม่เคยสัมผัสจะไม่เข้าใจสิ่งนี้ “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” เด็กมันตะกาย มันเรียกร้องมันน่ะ มันต้องการความสนใจจากพ่อแม่มัน นั่นเป็นความดีของเขาแล้วนะ

แต่ถ้าความดีของเราล่ะ เราต้องคัดเลือก ดูพระเราสิ พระเราได้ฝึกไว้ พระที่ได้ฝึกไว้ ฝึกอย่างนี้ ถ้าทางโลกบอกว่าทำไมมันลำบากลำบนอย่างนี้.. ไม่ใช่! ดูสิ เวลาฝึกแล้วมันได้อะไรขึ้นมา มันได้สติ มันได้สัมปชัญญะ มันได้การเคลื่อนไหว สิ่งต่างๆ อย่างนี้มันพร้อมถึงกับการรักษาจิต ถ้ารักษาจิต สิ่งแวดล้อมมันไม่มี เราจะเอาอะไรรักษามัน จิตก็ไม่รู้จักวิธีรักษา จิตก็ไม่รู้อยู่ที่ไหน การรักษาจิตก็ไม่รู้จักรักษาจิต การรักษาจิตรักษาไว้เฉยๆ ยังไม่ทำอะไรเลย พอทำอะไรนี่เราต้องมานั่งควบคุม นั่งพยายามทำของเรา

“ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ความดีของใคร?

ความดีของคฤหัสถ์นะ อาบเหงื่อต่างน้ำเพื่อหาปัจจัยเครื่องอาศัย

“ความดีของพระ” ความดีของพระ ศีลธรรมจริยธรรมในหัวใจน่ะ ความดีของพระมันละเอียดกว่า การแสวงหาแทบแสวงหาไม่ได้เลย

เวลาโยมทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำทำงานมาเพื่อปัจจัยเครื่องอาศัย

พระเราเวลาทำงาน เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา.. เขาบอกว่าไม่ทำอะไรนะ พระวันๆ ไม่ทำอะไรเลย นั่นน่ะงานของพระหนักกว่าเราเยอะมาก เยอะตรงไหน? เยอะตรงพยายามเอาความรู้สึก เอาหัวใจที่มันดิ้นรน เอาไว้อยู่ในอำนาจของเรา ไอ้เรานี่มันงานข้างนอก งานวัตถุ เอาหัวใจนี่พยายามแสวงหาเพื่อผลประโยชน์ของเรา เพื่อประโยชน์การดำรงชีวิต

แต่พระพยายามทำงานเพื่อหยุด! หยุดหัวใจให้มันนิ่งให้ได้ นิ่งให้ได้นั่นน่ะ “สมถกรรมฐาน-วิปัสสนากรรมฐาน” พระกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน

แต่พวกเราไม่เคยมีงานไง เราไม่มีที่ฐานที่ตั้งไง เราหาที่ทำงานไม่เจอ เราก็ดิ้นรนกันหาที่ทำงานของเรา “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว”

ในสมัยพุทธกาลนะ มีพระองค์หนึ่งเป็นพระอรหันต์ แล้วมีลูกศิษย์เคารพบูชามาก นิมนต์ไปฉันที่บ้านทุกวันเลย ก็ไปฉันทุกวัน ในบ้านนั้นเป็นช่างเจียระไนแก้ว เขามีสามีภรรยา สามีเป็นคนทำอาหารถวายพระ ภรรยาก็อยู่ทำหน้าที่การงานอยู่ในบ้านนั้น วันหนึ่งมีกษัตริย์ให้เอาแก้วเจียระไนมาให้เจียระไน เขาทำอาหารถวายพระนั้นอยู่ มือมันเปื้อนเลือดจากเนื้อ เขาไปรับแก้วนั้นมาแล้ววางแก้วนั้นไว้ แล้วทำอาหารถวายพระ เวลาถวายพระเสร็จแล้วเขาก็ไปทำงานของเขา มือที่มันรับแก้วนั้นวางไว้ นกกระเรียนมันเห็น มันเดินมา มันมีเลือดปนอยู่ มันคิดว่าเป็นเนื้อมันก็กินไป พระท่านฉันอาหาร พระนั่งอยู่ที่นั่นพระท่านเห็น พอพระท่านเห็น เหตุมันเกิดขึ้น

เหตุเกิดขึ้นในเหตุการณ์เดียว แต่มันมีมุมมองถึง ๓ มุมมอง มีมุมมองไป ๓ มุมมองนะ

ช่างเจียระไนนั้นออกมา พอถวายอาหารพระเสร็จแล้วมาหาแก้วเจียระไนนั้นไม่เจอ ถ้าหาแก้วเจียระไนนั้นไม่เจอ ถ้าทำของกษัตริย์สูญหายไป ตัดหัวอยู่แล้ว ด้วยความคิดกังวลว่าตัวเองต้องโดนรับโทษนั้น มันก็มีความวิตกกังวลมาก

พระผู้ที่เห็นนกกระเรียนกินแก้วนั้นไปก็รับรู้อยู่

แล้วสามีก็ไปปรึกษาภรรยา ปรึกษามากเลยว่าของที่รับไว้..

วิทยาศาสตร์ มุมมองทางวิทยาศาสตร์คิดว่าคนมันมีอยู่ ๒ คน เพราะภรรยาอยู่ในห้อง ตัวเองก็มีช่างเจียระไนนั้นกับพระองค์นี้เท่านั้น.. เป็นวิทยาศาสตร์.. ๒ คน คน ๒ คน ของหายไป ถ้าเราไม่ได้เอา ก็ต้องพระองค์นี้เอา นี่คิดเป็นวิทยาศาสตร์ไง

ไปปรึกษาภรรยา ภรรยาด้วยความเชื่อ ด้วยความเชื่อด้วยความศรัทธาในศาสนา “พระองค์นี้เป็นอาจารย์ของเรา พระองค์นี้เป็นพระที่ดี นิมนต์มาฉันหลาย ๑๐ ปีแล้วก็ไม่มีพฤติกรรมสิ่งใดๆ มันแสดงออกเลยว่าท่านจะวอกแวกวอแว ท่านเป็นผู้ที่นิ่ง เป็นผู้ที่มีคุณธรรมในหัวใจ” หัวใจนี่เชื่อไม่ได้ว่าพระองค์นี้เอา

ไปปรึกษากัน สามีบอก “ไม่ได้ ถ้าไม่จัดการมา เราต้องตายทั้งครอบครัว..”

ภรรยาบอก “ตายก็ตาย ในเมื่อความเชื่อมั่น ความศรัทธาว่าพระองค์นี้เอาไปไม่ได้ เพราะพระองค์นี้เป็นอาจารย์ของเรา”

แต่สามีไม่ยอม สามีไปถามพระว่า “ท่านเห็นแก้วเจียระไนนั้นไหม ถ้าเห็นให้คืนมา”

พระบอก “เราไม่เห็น เราไม่ได้เอา” ทั้งๆ ที่เห็นอยู่ แต่ความเห็นอันนี้เพื่อปกป้องชีวิตไง เห็นชีวิตของสัตว์ ถ้าพูดไปสัตว์มันมีปัญหา บอกว่า “ไม่รู้ไม่เห็นๆ”

“ไม่รู้ไม่เห็นได้อย่างไร ก็อยู่กัน ๒ คนนั่นน่ะ ถ้าท่านเอาไปคืนผมเถิด ถ้าท่านไม่คืนผม ผมต้องโดนประหารชีวิตน่ะ”

“ก็ไม่ได้เอาไปๆๆ”

ด้วยความโกรธ เอาเชือกรัดคือเลย รัดคอ.. พอรัดคอมันอาเจียนออกมาเป็นเลือด นกกระเรียนนั้นเข้ามากินเลือดนั้น พอกินเลือดนั้น ท่านก็ชำเลืองดูอยู่ พอเห็นนกกระเรียนนั้นเห็นสงบไปก็ถามช่างนั้นว่า “เดี๋ยวก่อน หยุดก่อน ดูที่นกนั้นเป็นอย่างไร”

“จะดูอะไร ท่านเอาแก้วไปก็ต้องเอาคืนมาให้ได้”

“เดี๋ยวก่อน ดูก่อน”

พอถึงก็ไปดูนกกระเรียน นกกระเรียนมันตายแล้ว

“งั้นเราจะบอก.. แก้วอยู่ในท้องของนกกระเรียน นกกระเรียนมันกินไป”

โอ้โฮ.. ไปผ่ามาอยู่ในท้อง เพราะมันตายแล้ว ตายถึงบอก

นี่มุมมอง ๓ มุมมอง เพราะพอเรื่องนี้มันสะเทือนไป สะเทือนมาก สะเทือนไปถึงในสังคมนั้นไงว่ามีเหตุนั้นเกิดขึ้น ไปฟ้องพระพุทธเจ้า ไปถามพระพุทธเจ้าไง พระพุทธเจ้าบอกตามมุมมอง นี่ “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว”

พระพุทธเจ้าบอกว่า “ในเหตุการณ์นี้ นายช่างนั้นเป็นผู้ทำกรรม นายช่างนั้นจะตกนรกอเวจี”

“ภรรยาของเขาเป็นผู้มีความเชื่อถือศรัทธามาก เขาไม่มีเหตุการณ์ร่วมอะไร นี่ภรรยาของเขามีบุญกุศล เพราะได้ถวายอาหารนั้นด้วยความศรัทธาอันนั้น ด้วยบุญกุศลอันนั้น ทำดีของเขา ในใจเขาทำดี ภรรยาจะไปเกิดบนสวรรค์”

“พระองค์นี้เป็นพระอรหันต์ ไปนิพพานอย่างเดียว”

นี่ไง เหตุการณ์ๆ หนึ่ง “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ทำดีๆ เหตุการณ์อย่างไรเราจะฝืนอย่างไร นี่เหตุการณ์มันสะเทือนไปมหาศาล พระองค์นั้นก็ด้วยลูกศิษย์ลูกหา ด้วยความเชื่อมั่นเชื่อใจกันไปฉันในบ้าน แต่ตั้งแต่บัดนั้นพระองค์นั้นประกาศเลย “ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จะไม่เหยียบเข้าชายคาบ้านใครแม้แต่บ้านเดียว บิณฑบาตเป็นวัตร”

ไม่ยอมเหยียบเข้าไปในชายคาบ้านใครเลย ไม่เข้าบ้านใครอีกเลย เพราะเข้าไปแล้วมันมีปัญหา

นี่คนทำคุณงามความดี นี่ “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” เหตุการณ์ๆ หนึ่ง คน ๓ คน เวลาตัดสินเหตุการณ์นั้นไปด้วยมุมมองของตัว ด้วยศรัทธาความเชื่อของภรรยา เชื่อมั่นมาก เชื่อมั่นกับครูบาอาจารย์ของเรา เชื่อมั่นมาก เป็นไปไม่ได้ๆ แต่ไม่มีหลักฐาน.. เชื่อมั่นด้วยความเชื่อมั่นของตัว ไอ้สามีมันเป็นวิทยาศาสตร์ใช่ไหม ก็มีคนอยู่กัน ๒ คน พระไม่เอาไปใครจะเอา ก็ต้องพระเท่านั้นแหละ นี่คิดโดยวิทยาศาสตร์ไง

แต่ความจริง วิทยาศาสตร์คือความเชื่อมั่นของตัวในทฤษฎีที่ตัวคิด แต่ความจริงมันมีนกกระเรียนเข้ามาอีกตัวหนึ่ง นี่พระก็เห็น แต่พระ.. เวลาในเมื่อใจสะอาดบริสุทธิ์แล้ว การเกิดการตายเป็นสมมุติ จิตมันไม่มีเกิดไม่มีตาย เพราะมันสิ้นกิเลสไปแล้ว การตายเป็นสมมุติ ถ้ามีแรงขับอยู่มันก็ตายมันก็เกิด ในเมื่อมีแรงขับอยู่ก็ตายเกิด

หลวงตาท่านพูดบ่อย “มีชีวิตอยู่กับการสิ้นไปมีค่าเท่ากัน มีค่าเท่ากัน จะอยู่กับตาย ไม่มีอะไรสูงกว่ากัน ดีกว่ากันเลย”

แต่ทีนี้พูดไปแล้วชีวิตสัตว์มันจะตกร่วง ทีนี้ไม่พูดน่ะ “เราจะตายก็ตาย” ยอมตายเลย นี่ความคิดของคน ความคิดของคนที่หัวใจ “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” แล้วดีของใคร ดีของใคร ถ้าเป็นเรา เราจะยอมตายไหม เราจะบอกไหม เราจะมีวิธีการแก้ไขอย่างไรไหม..

ถ้าการแก้ไข นี่ไง เราต้องย้อนกลับมาในชีวิตประจำวันของเรา ถ้าเราทำของเรา เหตุการณ์เราจะเกิดมหาศาล เหตุการณ์ในชีวิตเราจะมีกระทบกระเทือนเรามาก แล้วเราจะมีจุดยืนอย่างไร เราจะเอาชีวิตของเรารอดพ้นไปอย่างไร

“ธรรมะ” เวลาเราบวชมา ธุดงค์ไป มันมีปัญหาเหมือนกัน มีปัญหามา เวลาพระมาปรึกษา เราบอกว่า “เอ็งจะกินธรรมหรือเอ็งจะกินปัจจัย ๔ ล่ะ” ปัจจัยเครื่องอาศัยน่ะ คือเอ็งต้องการสิ่งนั้นหรือเอ็งต้องการธรรมะ ถ้าต้องการธรรมะต้องฝืนใจ เราฝืนนะ ฝืนไว้ ด้วยความต้องการของร่างกาย ด้วยความต้องการต่างๆ มันต้องการทั้งนั้นน่ะ

แต่ถ้าเราชนะมันได้ เรามีอุดมการณ์ เหมือนกับทางโลกบอกอุดมการณ์กินไม่ได้ อุดมการณ์กินไม่ได้หรอก แต่อุดมการณ์น่ะ มันให้อุดมการณ์กับชีวิตนี่นะ จิตใจเรามั่นคง.. ศีลธรรมจริยธรรมมีคุณค่ายิ่งกว่ากฎหมาย กฎหมายทำผิดแล้วมันถึงตามจับมาลงโทษ แต่ถ้าเรามีอุดมการณ์ในชีวิต เราจะทำความผิดอย่างนั้นไหม นี่ศีลธรรมจริยธรรม กฎหมายแทบไม่มีค่าเลย แต่กฎหมายนี่เอาไว้บังคับคน คนจะดีไปหมดเป็นไปไม่ได้ คนในสังคมจะมีแต่คนดีหมดเป็นไปไม่ได้ สังคมที่ไหนมีคนดีก็ต้องมีคนเลว ที่ไหนมีคนเลวที่นั่นต้องมีคนดี คนดีของใคร ดีในสังคมนั้น แล้วเราจะเป็นใคร?

ถ้าเรามีอุดมการณ์.. อุดมการณ์ คือ สมบัติภายในนะ

เวลาพระเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าชำระกิเลสไปได้ “อริยทรัพย์” ทรัพย์จากภายใน ทรัพย์ส่วนบุคคล ใครจะผ่าอกเอาไปได้ บุญกุศลที่เราทำไปจะติดไปกับเรา ทำคุณงามความดีจะติดไปกับเรา ถ้าความชั่วล่ะ มันก็ติดไปกับเรา แต่เราไม่เห็นตรงนั้นไง นี่อุดมการณ์ ว่าอุดมการณ์กินไม่ได้ อุดมการณ์กินไม่ได้ แต่มันติดไปกับเรานะ

แต่สิ่งที่ทางโลก สมบัติเป็นสมบัติสาธารณะ เราหามามันก็อุดมการณ์เหมือนกัน เราต้องมีเชาวน์ปัญญาเหมือนกัน มันต้องอาศัยบุญกุศลเหมือนกัน เราต้องมีทำบุญกุศลมา เว้นแต่บาปอกุศล มันมีบารมีมา คนที่เกิดมามีอำนาจวาสนาในสังคมนี่นะ มาจากพรหม เวลาพรหมมาจากพรหมมันมีอำนาจวาสนา แต่เขาใช้ทำอะไร? ดูสิ สังเกตได้คนที่มีอิทธิพลน่ะ เขามีอิทธิพลของเขา สังคมเชื่อถือของเขา ถ้าเขาใช้ไปในทางที่ดีจะดีมหาศาลเลย ถ้าเขาใช้ไปในทางที่ชั่ว เห็นไหม

สิ่งที่อำนาจวาสนา บุญกุศล แรงขับนี้มา แล้วเราจะทำไปทางไหนล่ะ เราจะทำไปในทางที่ดีหรือทางลบล่ะ ทางบวกหรือทางลบ ถ้าทำเป็นทางบวกจะบวกๆๆ ไป ถ้าเราใช้ทางลบ ทางลบมันเกิดที่ไหน ทางบวกทางลบมันเกิดที่ตรงไหน? ก็เกิดที่อุดมการณ์นี่ไง!

ถ้ามีอุดมการณ์ “กลิ่นของศีลหอมทวนลม” กลิ่นของคุณงามความดีมันหอมทวนลม กลิ่นของบาปอกุศลมันขจรขจายไป “กลิ่นของศีลหอมทวนลม” กลิ่นของคุณงามความดี นี่คุณงามความดีของเรา เราทำเพื่อเรา ถ้าเป็นสมบัติของเราน่ะ เราต้องฝืน

“ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว”

ถ้าเรามั่นใจของเราว่าเราทำดีของเรา นี่โลกธรรม ๘ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเลย “ใครที่โดนโลกธรรม ๘ กระทบกระเทือนนั้นอย่าได้เสียใจ อย่าได้น้อยใจ ให้ดูเราเป็นตัวอย่าง” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดานะ มีฤทธิ์มีเดช ทำยมกปาฏิหาริย์ ทำมหาศาลเลย แต่เวลามีคนติฉินนินทา ทำไมท่านไม่ใช่ฤทธิ์ใช้เดชให้มันกระเด็นไปเลยล่ะ ท่านก็ไม่ทำ เพราะทำอย่างนี้มันเป็นเรื่องฤทธิ์เรื่องเดช มันเรื่องภายนอก เรื่องพลังงาน

แต่เรื่องอุดมการณ์เรื่องความคิด มันต้องเปลี่ยนความคิดเขา มันต้องเปลี่ยนความคิดเขา เปลี่ยนความเห็นของเขา ถ้าเปลี่ยนความคิดความเห็นของเขาน่ะ เขาดีมาจากภายใน เขาดีมาจากความคิดของเขา ความคิดของเขาพัฒนาของเขา แล้วเขาดีมาจากที่นั่นน่ะ ไม่ต้องไปสอนเขาเลย เขาดีมาจากใจของเขา แต่นี่เราไปบังคับเขาด้วยฤทธิ์ด้วยเดช พระเดชพระคุณ คุณธรรมเขาทำของเขาเอง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดนแรงเสียดทานมหาศาล เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้เผยแผ่ศาสนา แล้วลัทธิศาสนาต่างๆ มันมีอยู่แล้วในสมัยพุทธกาลนั้น แล้วก็มีการถือวรรณะ ถือต่างๆ ข่มขี่กันมาก แต่พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นมามันเป็นธรรม เป็นความเสมอภาค

ผู้หญิงบวชได้ครั้งแรกในสมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นางโคตมี สมัยพุทธกาล ผู้ชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงไม่มีสิทธิอะไรเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้บวชหมด ให้นางภิกษุณีบวช ให้ต่างๆ บวช นี่ไง เป็นธรรมๆ แล้วมันไปขัดแย้งกับสังคมไหม สังคมอย่างนั้นเขาไม่ยอมรับผู้หญิง ชาวพุทธมานี่เปิดหมดเลย ผู้หญิงก็ได้ ผู้ชายก็ได้ ใครก็ได้ เพราะความดีความชั่วมันไม่ได้ดีเพราะการเกิด ไม่ได้ดีเพราะคุณสมบัติ ไม่ได้ดีเพราะทรัพย์สมบัติ มันดีที่การกระทำ สิ่งที่ทำคุณงามความดี มันดีจากภายใน

แล้วในปัจจุบันนี้ ดูศาสนาเรา พระพุทธศาสนาบอกถึงที่มาที่ไปนะ คนเราเกิดมาจากไหน? เราก็บอกเกิดจากท้องพ่อท้องแม่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเกิดมาจากกรรม เกิดจากการกระทำของเราเอง เกิดจากการทำดีทำชั่วของเรา เกิดจากผลของเรา นี่ความเกิดอย่างนี้ พระพุทธศาสนาชี้ได้หมดเลยว่าชีวิตนี้มาจากไหน ชีวิตนี้คืออะไร เกิดมามันเกิดมาทำไม เกิดมาแล้วทำอะไร แต่ในพระพุทธศาสนาเกิดมาแล้วต้องทำความดี เกิดมาเพื่อจะเอาชีวิตเราเข้าสู่ทวนกระแส ถ้าใครทวนกระแสก็เข้าถึงฝั่ง ชีวิตนี้พาเข้าถึงฝั่ง แล้วมันสิ้นสุดมันจะไม่ไปอีก ถ้าไม่ไปอีกมันเป็นไปได้ มันเป็นไปได้นะ มันให้ทดสอบ มันเป็นไปได้ ของมันมีอยู่

แต่นี่เราเป็นชาวพุทธ เป็นเปลือกๆ ทำบุญกุศลกัน อยากได้อำนาจวาสนา อยากมีบารมี มันชั่วคราวๆ ทั้งนั้น ของชั่วคราว ของไม่จริง ของไม่จริงเป็นอนิจจัง “สิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา”

เราก็ว่านี่เป็นอนัตตา โน่นก็เป็นอนัตตา อนัตตาแล้วมึงได้อะไรล่ะ? คำก็อนัตตา สองคำก็อนัตตา มันเป็นไตรลักษณ์ แล้วใครเห็นไตรลักษณ์ล่ะ ไตรลักษณ์เกิดที่ไหน ไตรลักษณ์เกิดที่ไหน? ..เกิดในตำราไง เกิดในสังคม เราไม่ได้อะไรเลย เราเกิดมาเป็นลูกตุ้มสังคม พระเป็นลูกตุ้มสังคม พระไม่ทำการทำงาน พระเป็นลูกตุ้มสังคม..

พระนี่นะ พูดถึงศีลธรรมจริยธรรม ถ้าสิ่งที่ดีสังคมร่มเย็นเป็นสุข ร่มเย็นเป็นสุขจากใคร สิ่งที่ความร่มเย็นเป็นสุข ถ้ามันเป็นผู้ชี้นำ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน พระอานนท์ร้องไห้แล้วร้องไห้อีกนะ “ดวงตาของโลกดับแล้ว! ดวงตาของโลกดับแล้ว!” สมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีชีวิตอยู่นะ อชาตศัตรูจะไปรบกับใครก็ไปถาม ใครจะมีความสงสัยในหัวใจไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหมดเลย อนาคตังสญาณบอกได้หมดเลย นี่ดวงตาของโลก ทำให้คนทำความดี พอพระพุทธเจ้าจะนิพพาน พระอานนท์เป็นพระโสดาบันนะ โอ้โฮ.. รำพึงรำพันเลย “ดวงตาของโลกดับแล้ว!” ผู้ชี้นำดับแล้ว

แต่พวกเรานี่สิ พระลูกตุ้มสังคม พระไม่ทำอะไรเลย พระถ้ามีคุณธรรมนะ พระมีสมบัติของเรา คือมีศีลมีธรรมในหัวใจ นิ่งอยู่ เวลาสังคมมันเกิดปั่นป่วน เขาต้องการใคร? ต้องการคนมีสติ ต้องการมีคนกล้าหาญ ต้องการคนบอกเราว่าเราควรทำอย่างใด แต่ถ้าเราไม่มีคนคอยบอกเรานะ ตื่นคนน่ะ เวลาม็อบมันเอาไม่อยู่น่ะมันรุนแรงขนาดไหน คนเราเวลาตื่นน่ะไปกันหมดเลย

นี่ดูสิ ครูบาอาจารย์ของเรา ดูสิ เวลาลดค่าเงินบาทลอยตัวน่ะ สังคมปั่นป่วนขนาดไหน นี่มีมหาบุรุษคนหนึ่ง หลวงตาออกมาเลย บอก “เราจะช่วย! เราจะช่วย!” ให้กำลังใจ ให้สติปัญญา ให้พวกเราไม่ทำลายตัวเอง.. เราไม่เห็นคุณค่าเลย เราไปเห็นคุณค่าที่แก้วแหวนเงินทอง เราไม่เห็นคุณค่าของศีลธรรมจริยธรรมของการนำของครูบาอาจารย์ของผู้ที่เป็นธรรม

แล้วบอกพระลูกตุ้มสังคม พระไม่ทำอะไร พระที่ไม่ทำอะไรคือพระของเขา พระที่เขาบวชมาเพื่อสุขสบายของเขา ในสังคมทุกคนต้องมีคนดีคนชั่ว ไอ้อย่างนี้เราจะบอกว่าพระเราดีหมด มันเป็นไปไม่ได้ พอเป็นไปไม่ได้ เรามองกันแล้วเราเลือกเอาเอง เราหาเอาเอง

นี่ “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว”

เราต้องฝืนตรงนี้ ต้องฝืนตัณหาความทะยานอยากมันล้นฝั่ง มันลากเราไปตลอด คำฝืนน่ะ ฝืนละเล็กละน้อย ฝืนไม่ทำ ไม่ไปกับมันนะ ลำบากก็ทน เขาบอกว่าพวกนี้โง่ ไม่เอาความสะดวกสบายเลย เป็นผู้แห้งแล้ง ถือศีลไม่มีอะไรเลย เขาไม่ถือศีลถือธรรม เขาไปสะดวกสบาย เราแห้งแล้ง ...ไอ้คนแห้งแล้งนี่มันจะเอาตัวรอดได้ ไอ้คนที่มีความสะดวกสบาย มันจะไปตามกระแส กระแสจะชักลากมันไป

ในสังคมๆ หนึ่ง ดูสิ ฝนตกฟ้าร้อง เกิดวาตภัยขึ้นมา ยากดีมีจนเหมือนกันหมดนะ จะประสบเหมือนกันหมด แต่ใครจะมีจิตใจเข้มแข็ง ดูสิ เกิดวาตภัย เกิดน้ำท่วม เกิดต่างๆ บางคนช่วยเหลือตัวเองด้วย ช่วยเหลือเพื่อนบ้านด้วย แต่ถ้าเราเป็นคนอ่อนแอนะ เราลำบากเรานะ เราทุกข์ใจของเรา เราช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แล้วเป็นภาระเขา นี่ในสังคมนั้นถ้าเราเข้มแข็งขึ้นมา ฝืนมันไปเรื่อยๆ ฝืนหัวใจของตัว ทำแต่สิ่งที่ดีๆ แล้วสิ่งที่ดีๆ มันช่วยตัวเองได้ด้วย แล้วมันจะช่วยเพื่อนบ้านได้ด้วย ช่วยสังคมได้ด้วย

นี่ไง พระ ถ้าเอาใจของใจไว้ในอำนาจของตัวมันช่วยตัวเองได้ แล้วมันจะช่วยสังคมได้ คอยบอก คอยเตือน คอยเป็นที่พึ่งอาศัย คอยเป็นที่พักใจ เป็นสถานที่พักใจให้เรามีที่อบอุ่น ให้ชีวิตนี้พอเป็นไปได้ เอวัง