เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๓ ส.ค. ๒๕๕๒

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๒
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราเป็นชาวพุทธ ชาวพุทธนะถือบุคลากรมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ชาวพุทธถือมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะชาวพุทธพระพุทธเจ้าสอนเรื่องการเกิดและการตาย จิตวิญญาณนี้พาเกิดพาตาย สิ่งที่มีค่าที่สุดคือชีวิตของเรา สิ่งที่เห็นอย่างอื่นมันเป็นที่พึ่งอาศัย ปัจจัยเครื่องอาศัย พระพุทธศาสนาสอนที่นี่ พวกเราถึงพูดกันเรื่องสังคม เราพูดกันเลยบอกว่า ตอนนี้สังคมเสื่อมมาก เด็กไม่รู้ความกตัญญูกตเวที เด็กมีความคิดแปลกๆ ไป เราไปโทษแต่เด็กๆ

คำว่าโทษเด็ก หลวงตาท่านบอกว่า “เด็กมันมีอะไรเป็นตัวอย่าง มันมีผู้ใหญ่เป็นตัวอย่างนะ”

เราบอกว่าเอาเด็กเป็นศูนย์กลาง เวลาศึกษา เราเอาเด็กเป็นศูนย์กลางๆ ถ้าเด็กเป็นศูนย์กลางนะ ในสมองเด็กมันจะมีแต่นม, นอน, กลับบ้าน นี่ในสมองเด็ก เราเอาเด็กเป็นศูนย์กลาง เด็กเป็นที่รับรู้ แต่คนที่จะไปสอนเด็ก มันจะเอาอะไรไปสอนเด็ก เด็กนะ เห็นผู้ใหญ่ทำอะไร เอาเป็นตัวอย่างหมด เด็กมันจะมองผู้ใหญ่เป็นตัวอย่าง เด็กมันจะเอาพฤติกรรมของผู้ใหญ่เป็นตัวอย่าง แล้วถ้าผู้ใหญ่เห็นแก่ตัว ผู้ใหญ่เอารัดเอาเปรียบ ผู้ใหญ่ต่างๆ แล้วเด็กมันเอาอะไรเป็นตัวอย่างล่ะ เราก็โทษแต่เด็กๆ ว่าเด็กเป็นศูนย์กลางๆ

เด็กเป็นศูนย์กลางต่อเมื่อผู้ใหญ่มีกึ๋นนะ!

ครูบาอาจารย์ที่มีกึ๋นน่ะจะสอนเด็กอย่างไร ให้เด็กมันมีคุณภาพขึ้นมาอย่างไร

ใช่.. เด็กนี่เป็นศูนย์กลาง ศูนย์กลางเพราะเราต้องการให้เด็กเป็นคนดี เราต้องการให้เด็กซึมซับ สิ่งที่ซึมซับ เด็กมันจะซึมซับสิ่งใดเป็นประโยชน์กับมัน นั่นคือเราต้องการสิ่งนั้น ไม่ใช่ว่าเอาเด็กเป็นศูนย์กลางนะ แล้วเอาเด็กเป็นศูนย์กลาง เอาเด็กเป็นตัวตั้ง เอาเด็กเป็นตัวตั้งแล้วเด็กจะทำอะไรล่ะ ก็นมไง นอนไง แล้วก็กลับบ้าน คิดถึงแม่ไง

สิ่งต่างๆ เด็กมันต้องใฝ่รู้ เด็กมันอยากรู้อยากเห็นของมันไปหมด สิ่งที่อยากรู้อยากเห็นน่ะ ถ้าเราทำสิ่งใด เราให้คุณธรรมสิ่งใดที่ดีกับเด็ก เด็กนั่นเป็นสิ่งดี นั่นแล้วเด็กเป็นศูนย์กลาง คำว่า “เด็กเป็นศูนย์กลาง” เราก็ว่าเอาเด็กเป็นตัวตั้ง

ในปัจจุบันนี้เราจะมาประพฤติปฏิบัติกัน มาศึกษาธรรมะ ถ้าเอาผู้ประพฤติปฏิบัติเป็นตัวตั้ง นี่ไง ใครมาก็ต้องอำนวยความสะดวกๆ ทุกคนคิดเลย บอกอำนวยความสะดวก การประพฤติปฏิบัติต้องมีความสุข เรามาต้องมีความสุขก่อน มีความพอใจของเราก่อน นี่เรื่องกิเลสทั้งนั้นเลย! นี่เอาผู้ปฏิบัติเป็นตัวตั้งไม่ได้ เอาชาวพุทธเป็นตัวตั้งไม่ได้

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน มารดลใจตลอดเวลานะ มารพยายามดลใจ เวลาพระพุทธเจ้าโต้ตอบกับมารในพระไตรปิฎกมีมหาศาลเลย เพราะว่า ดูสิ หลวงปู่มั่นเวลาเทศน์กับเทวดา.. เอาอะไรเทศน์? เทวดามาศึกษากับหลวงปู่มั่นได้อย่างไร? ก็บอกว่านี่พระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว มารไม่มี ทุกอย่างไม่มี.. มารในใจพระพุทธเจ้าไม่มี!

แต่ในวัฏฏะ.. มี! ในวัฏฏะที่มันอยู่บนหัวใจของสัตว์โลกน่ะมี

เวลาพระพุทธเจ้าเล็งญาณไป พระพุทธเจ้าจะรื้อสัตว์ขนสัตว์เล็งญาณมาในหัวใจของสัตว์โลก พระพุทธเจ้าเห็นอะไรบ้างในหัวใจของสัตว์โลก ในสัตว์โลกมีจิตไหม? จิตที่ว่ามันจะมีการใฝ่รู้มีการศึกษาน่ะมีไหม? มี.. แล้วมันโดนอะไรครอบงำอยู่ แล้วมารที่มันครอบงำอยู่ มันเปิดโอกาสให้ได้มากได้น้อยขนาดไหน ถ้ามารมันครอบงำไว้มากนะ โอ้.. เราเป็นคนเก่ง เราเป็นคนดี

ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรมานชฎิล ๓ พี่น้อง เขาบูชาไฟอยู่นะ เขาเป็นศาสดา เขาเป็นอาจารย์ของพระเจ้าพิมพิสาร เวลาพระพุทธเจ้าไปขออยู่อาศัยกับเขานะ “ไม่ให้อยู่ๆ” พระพุทธเจ้าจะทรมานเขาไง บอกว่า “สมณะด้วยกันพึ่งพาอาศัยไม่ได้ แล้วใครจะให้พึ่งพาอาศัย” มันจนด้วยเหตุผล ชฎิล ๓ พี่น้องก็จำเป็นต้องให้อยู่ พอให้อยู่ไปอยู่ในโรงบูชาไฟ โรงบูชาไฟมีพญานาค นี่พอพูดพญานาคไม่เชื่ออีกแล้ว นี่มีพญานาค เขาบูชาไฟ มีพญานาคอยู่ พอพระพุทธเจ้าไปอยู่ที่นั่นนะ เพราะชฎิล ๓ พี่น้องคิดว่าสมณะ ถ้าไปอยู่ที่โรงบูชาไฟ เพราะเขาบูชาไฟอยู่ เขาเพ่งกสิณอยู่ เขามีฤทธิ์มีเดชของเขาอยู่ ถ้าบอกว่าไปอยู่ที่นั่นเดี๋ยวพญานาคต้องทำร้ายไง พอเช้าขึ้นมาพระพุทธเจ้าไม่เป็นอะไรเลย เอ้า.. งงไง งงขึ้นมา พอขอดูพญานาคอยู่ไหน.. อยู่ในบาตร พระพุทธเจ้าเอาไว้ในบาตรเลย

แล้วนี่พระพุทธเจ้าจะสอนไง พอจะสอนขึ้นมา เอาตัวตนเป็นใหญ่ พระพุทธเจ้าเทศนาว่าการน่ะ “โอ้.. สมณะนี่เก่งเนาะ.. แต่สู้เราไม่ได้ เราเป็นพระอรหันต์”

“เอ๊ะ.. สมณะนี่เก่งนะ พระพุทธเจ้านี่เก่งนะ ฤทธิ์เดชของเขามีเยอะมาก เอ.. แต่พระพุทธเจ้าเอาตัวรอดมาได้อย่างไร พระพุทธเจ้านี่เก่งเนาะ.. แต่ไม่สู้เรา เราเป็นพระอรหันต์”

“เอ๊ะ.. พระพุทธเจ้านี่เก่งเนาะ.. แต่ไม่สู้เรา เราเป็นพระอรหันต์”

นี่ไง! เอาผู้ปฏิบัติเป็นตัวตั้ง! เอากิเลสตัณหาความทะยานอยากเป็นตัวตั้ง!

พอพระพุทธเจ้าถึงที่สุด พระพุทธเจ้าช็อกเลยนะ “เธอไม่ได้เป็นพระอรหันต์ เธอไม่มีอะไรในหัวใจเลย ให้เงี่ยหูลงฟัง..”

ชฎิล ๓ พี่น้องคอตกเลยนะ เพราะรู้อยู่ นี่จะมีฤทธิ์มีเดชขนาดไหน แต่ก็รู้อยู่ ฤทธิ์เดชนี่มันต้องรักษาไว้นะ ฤทธิ์เดชน่ะ ดูสิ ฌานสมาบัติต้องรักษาไว้ ถ้าฌานสมาบัติไม่รักษาไว้ฤทธิ์เดชมันหายหมด แล้วฌานสมาบัติมันรักษาไว้ยากไหม.. แล้วเอาคนไม่รู้เป็นตัวตั้งได้ไหม?

พระพุทธเจ้าบอกเลย เวลาพระพุทธเจ้าบอก เวลาพระพุทธเจ้าพูดกับมาร “มารเอย.. เมื่อใดภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ไม่สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วงของลัทธิต่างๆ ได้.. ”

ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เป็นเจ้าของศาสนา เป็นบริษัท ๔ พระพุทธเจ้าเอาศาสนาไว้ให้เรา เราได้รับมรดกตกทอดกันมาว่าเราเป็นผู้จะดูแลพระพุทธศาสนา.. แล้วรู้อะไร? รู้อะไร? ก็รู้ประเพณีวัฒนธรรมไง ก็รู้ว่าศาสนาก็ฝากไว้กับพระไง พระต้องทำตัวดีๆ นะ เราเป็นคฤหัสถ์ ไม่เป็นไร.. มันจะเป็นอะไรไม่เป็นอะไร..

เราจะปฏิบัติธรรมไง เราปฏิบัติธรรมต้องเอาธรรมเป็นตัวตั้ง เอาธรรมและวินัย เอาสัจจะความจริงเป็นตัวตั้ง สัจธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่สุดยอดแล้ว “โอปนยิโก” เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม “อกาลิโก” ไม่มีกาล ไม่มีเวลา

แต่ปัจจุบันนะเอาพวกเราเป็นตัวตั้ง

กึ่งพุทธกาลแล้วล่ะ สมัยพุทธกาลไม่มีอะไรน่ะ สมัยโบราณคนยังไม่มีปัญญาน่ะ เขาก็อยู่กันอย่างนั้น เดี๋ยวนี้สะดวกสบายไปหมดเลย เทคโนโลยีสะดวกสบายไปหมดเลย มันก็กดโปรแกรมคอมพิวเตอร์เข้าสมองเลยนะ นี่กดเลยนะ นิพพานเข้าสมองเลย มันจะได้เป็นพระอรหันต์กันหมดไง นี่ไง ด้วยความคิดของเรา ด้วยความเห็นของเรา.. มันเป็นไปไม่ได้

“หน่อแห่งพุทธะ” เราจะปลูกต้นไม้ เราทำคุณงามความดีขึ้นมา เราต้องถนอมรักษา เราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราต้องปรับสภาวะแวดล้อมของใจเราให้พร้อม สภาวะแวดล้อมของใจให้พร้อม เราจะประพฤติปฏิบัตินะ “ทาน ศีล ภาวนา”

“ทาน” คือการนวดดิน

“ทาน” คือการเตรียมความพร้อมของใจ

“ทาน” คือการเสียสละ

ทุกคนไม่มีการเสียสละ ไม่มีการให้อภัยกัน ไม่มีการดูแลกัน ไม่มีการเกื้อกูลกัน สังคมจะร่มเย็นเป็นสุขได้อย่างไร มันต้องมีหลักของทาน ทานก็แค่ทาน พอทำทาน “เอ้า ฉันเป็นคนดีนะ ฉันตักบาตรทุกวันเลย ฉันให้ทาน ฉันเป็นคนดี” นี่ไง เอาบุคคลเป็นตัวตั้ง เอาผู้ปฏิบัติเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอาธรรมะเป็นตัวตั้ง

“ทาน.. มีศีล มีสมาธิ มีภาวนา”

ระยะทางที่เราจะพัฒนาใจของเราอีกมหาศาลเลย ถ้าอีกมหาศาล นี่ไง เอาธรรมะเป็นตัวตั้ง เราจะต้องบังคับเราให้เข้าสู่ธรรม บังคับให้เข้าสู่ความจริง นี่ทาน เตรียมความพร้อมของใจ มีการเสียสละ มีการเปิดกว้าง มีการให้อภัยกัน การอยู่ด้วยกันกระทบกระเทือนกันก็ให้อภัยกัน ทุกคนมีความผิดพลาดเป็นธรรมดา ลิ้นกับฟันมันยังขบกันในปากของเราเลย เราอยู่ด้วยกันเป็นคนส่วนมาก เราต้องให้อภัยกัน สิ่งที่เขาไม่ได้ตั้งใจ เขาไม่ได้คิดอะไร ดังนั้นผู้ที่ให้อภัยแล้ว ที่เป็นมารก็อย่าไปรุกรานเขา อย่าไปทำความเดือดร้อนให้คนอื่น ความกระทบกระเทือนกัน การส่งเสียงดัง

เพราะคนผู้ปฏิบัติต้องการความสงบสงัด สถานที่วิเวก “สัปปายะ ๔” สถานที่วิเวก กายวิเวก จิตวิเวก.. ถ้าสถานที่มันไม่มีวิเวก มีการคลุกคลีกัน มีกระทบกระเทือนกัน แล้วจิตมันจะวิเวกได้อย่างไร เราต้องการความวิเวกหรือต้องการธรรม.. นี่เอาธรรมเป็นตัวตั้ง! แต่พอ “เอ้า.. ก็เราเป็นอย่างนี้ นิสัยเราเป็นอย่างนี้” นิสัยเป็นอย่างนี้ก็รู้ว่าเป็นนิสัย แต่นิสัยของเรา เราก็ต้องแก้ไขของเรา เราพยายามทำของเรา เพราะมันกระทบกระเทือนคนอื่น

ทาน มีศีล มีความปกติของใจ มีสมาธิขึ้นมา มีปัญญาขึ้นมา.. นี่ธรรมะเป็นตัวตั้ง! แล้วธรรมะเป็นตัวตั้ง ธรรมะเป็นความจริงไหม? ถ้าธรรมะเป็นความจริง สิ่งที่สัจธรรมเป็นความจริง เราต้องบังคับตัวเราเข้าไป เพราะว่าเราต้องปรับสภาพแวดล้อมของใจเราเข้าไป ถ้าเราไม่ปรับสภาพแวดล้อมของใจ มันจะพร้อมเข้าไปถึงตัวธรรมได้ไหม?

ทุกคนบอกว่านี่ปฏิบัติธรรม ทุกคนมากันหมดเลยนะ แล้วก็เดินจงกรมเลย นั่งสมาธิเลยนะ สมาธิมันจะลอยมาจากฟ้า สมาธินะมันจะผุดขึ้นมาจากใจของเรา สันทิฏฐิโก.. เห็นไหม

โอปนยิโก เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม.. จิตสงบนะ พอใครทำปฏิบัติจิตสงบ จิตมีปัญญาขึ้นมานะ อยากบอกนะ “อื้อหืมๆ!” เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม เรียกร้องเขามาดูความเป็นไปของเราน่ะ สัจจะความจริงมันเกิดแล้ว สัจจะความจริงมันไม่อยู่ในพระไตรปิฎกนะ ไม่อยู่ในตำรับตำรา ไม่อยู่ที่ไหนเลย อยู่ที่ใจสัมผัส อยู่ที่ความสัมผัสของใจ ใจมันสัมผัส ใจมันรับรู้ขึ้นมา

พระพุทธเจ้าถึงสอนว่า “ไม่ให้เชื่ออะไรทั้งสิ้น กาลามสูตร ไม่ให้เชื่อแม้แต่พระพุทธเจ้าสอน ไม่ให้เชื่ออาจารย์ของเรา ไม่ให้เชื่อว่าสิ่งนี้มันจะเข้ากันได้ ไม่ให้เชื่อว่าเขาชี้นำว่าเป็นอย่างนั้น ให้เชื่อสัจจะความจริงอันนั้น!”

ถ้าถึงสัจจะความจริงอันนั้นนะ มันเป็นความจริงอันมหาศาลเลย

ดูสิ เวลาพระสารีบุตรเขาไปถามปัญหา “ไม่เชื่อพระพุทธเจ้า.. ไม่เชื่อๆๆ” จนพระเขานินทากันน่ะ ข่าวมาถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเลยเรียกพระสารีบุตรไปพบเลย “สารีบุตร.. เธอไม่เชื่อเราเหรอ”

กราบนะ กราบพระพุทธเจ้าก่อน คนจะพูดความจริง คนจะพูดความจริงกราบพระพุทธเจ้าก่อนด้วยความเคารพบูชาอย่างมาก “แต่ก่อนเรายังเด็กน้อยอยู่ เราต้องพึ่งพาพ่อแม่ทั้งนั้นน่ะ เราเป็นเด็กน้อยอยู่ เราต้องมีคนชักจูง มีคนพึ่งพาอาศัยทั้งนั้นน่ะ แต่เดี๋ยวนี้ข้าพเจ้าเลี้ยงตัวเองได้ เป็นผู้ใหญ่ ทำมาหากินได้ ทุกอย่างยืนอยู่ได้ ไม่เชื่อใครเลย เชื่อการกระทำที่เราทำมา เราหาอยู่หากิน เราทำได้” สัจธรรมที่เกิดขึ้นมาจากใจของพระสารีบุตร อันนั้นเป็นความจริง

พระพุทธเจ้าสาธุ! สาธุ! ถ้าไม่อย่างนั้นนะ ถ้าเชื่อเราตลอดนะ เราจะมีเด็กทารกตลอดไป เราจะไม่มีผู้ใหญ่ขึ้นมาเลย เป็นผู้ใหญ่ขึ้นมามันต้องรู้จริงของมัน

นี่สัจจะความจริงเป็นอย่างนั้น ถ้าพูดถึงมันเป็นสัจจะความจริงขึ้นมาแล้ว

นี่ศาสนามั่นคง มั่นคงเพราะว่าเราเข้าไปสัมผัสธรรมแล้วรู้จริงขึ้นมา แล้วรู้จริงนะ มันเป็นอันเดียวกันๆ อันเดียวกัน ถ้าไม่อันเดียวกันนะ พระศรีอริยเมตไตรยจะมาตรัสรู้อะไร? สัจจะความจริงเป็นอย่างนั้น

นี่พูดถึงว่าเราเอาตัวเราเป็นใหญ่ พูดถึงสังคมไง ถ้าเรามองสังคมนะ เราจะทดท้อ ท้อแท้ สังคม บุคลากรมนุษย์เป็นใหญ่ ถ้าบุคลากรมนุษย์เป็นใหญ่ เราเป็นคนดีคนแรก ถ้าเราเป็นคนดีคนแรกนะ “อัตตา หิ อัตตโน นาโถ.. ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ตนดัดแปลงตนเป็นที่ดีแล้วจะเป็นร่มโพธิ์ร่มไทร

ครูบาอาจารย์ของเรา ครูบาอาจารย์ท่านพูด เวลาท่านเทศน์ให้พระฟังนะ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์เป็นธรรมเจดีย์ เป็นเจดีย์ทองคำ ไอ้พวกเราเป็นอีกาไปเกาะบนเจดีย์นะ แล้วก็บอกเป็นทองคำ กูเป็นทองคำนะ “อีกากับเจดีย์ทองคำ” เราก็เหมือนกัน สังคมเป็นอย่างนั้นๆ เราต้องแก้ที่เรา แก้ที่เรานะ แล้วแก้ที่เรา เราทำตัวเราให้ดี แล้วสังคมมันจะชักนำไป

เราเห็นคนนั้นก็ทำอย่างนั้นๆ เราจะฝืนมัน เราจะไม่ทำแบบนั้น เราจะยืนอยู่ให้ได้

เวลาสังคมเกิดวิกฤติ เขาต้องการคนกล้าหาญ คนกล้าหาญนะ สังคม เวลาเกิดวิกฤติ คนกล้าหาญ คนมีปัญญามันจะชักนำสังคมนะ เวลาคนตื่นคนน่ะ เวลาสัตว์มันตื่น ฝูงสัตว์มันตื่น มันตื่นมหาศาลเลย เวลาฝูงคนมันตื่นนะ มันทำสังคมนี้ปั่นป่วนไปหมดเลย สังคมนะ เวลาสังคมมันปั่นป่วนขึ้นมา ต้องคนกล้าหาญ

ที่ว่ากระต่ายตื่นตูมน่ะ “ฟ้าถล่มๆ!” พอพญาราชสีห์ “ถล่มที่ไหน? กลับไปดูเดี๋ยวนี้!” ไปเจอลูกตาลอยู่โคนต้นตาล ถ้าฟ้าถล่มสังคมมันตื่นตูมกันไป แล้วตื่นตูมกันไป กระแสสังคมอยู่ที่ใครจะปั่น ใครปั่นสังคมได้ ใครคุมสื่อ คุมอำนาจ แล้วสังคมเป็นอย่างนั้นไปหมด

ถ้าเรามีสติปัญญา เราต้องมีจุดยืนของเรา อะไรต้องใช้ปัญญา อะไรต้องใคร่ครวญ นี่ไง เราเป็นคนที่มั่นคงก่อน อย่าไปหวั่นไหวว่าใครจะเลวใครจะดี เราต้องยืนเราให้ได้ ถ้ายืนให้ได้ มันเป็นเวรเป็นกรรมไง นี่ผลของวัฏฏะ การเกิดนี้เป็นผลของวัฏฏะ ไม่มีใครปฏิเสธมันได้

เราปาฝุ่นไปบนอากาศสิ เราโยนของไปในอากาศสิ มันต้องไปตกไปตามแรงเหวี่ยงใช่ไหม เราการเกิดมามันแรงเหวี่ยงของกรรม การทำบุญกุศล ทำบาปอกุศลมันเหวี่ยงมาให้เป็นปัจจุบันนี้ การที่เกิดนี่เป็นผลของวัฏฏะ แล้วพอผลของวัฏฏะแล้วเราจะปฏิเสธสิ่งใดได้

ทีนี้ปฏิเสธสิ่งใดไม่ได้ “ธรรมโอสถ” ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะมาถนอมน้ำใจเรา จะมาทำให้เราอยู่ในสังคมได้ด้วยมีความร่มเย็นเป็นสุขพอสมควร พอสมควรนะ เพราะว่าอะไร เพราะการเกิดนี้มันเป็นความทุกข์อย่างยิ่ง “ชาติปิ ทุกขา” ชาติความเกิด พอมีการเกิด มีสถานะ ต้องรับรู้ทุกๆ อย่างเลย “การเกิด” มีสมควรเพราะเราเกิดมาแล้ว เรารักษาชีวิตนี้ให้มีความร่มเย็นเป็นสุขพอสมควร แล้วถ้ามีใครมีความสามารถประพฤติปฏิบัตินะ เอาใจของเราพ้นออกไปจากอำนาจของมารได้ พ้นจากแรงเหวี่ยง พ้นจากการควบคุม แล้วจะเห็นเองว่าธรรมะ วิมุตติสุขมันมีความสุขขนาดไหนในพระพุทธศาสนาของเรานี้

นี่พูดถึงสังคม “มองสังคม”

เมื่อวานคุยเรื่องสังคมไง เราก็สะท้อนใจ โยมก็สะท้อนใจ แต่พูดไม่จบหรอก ไม่มีวันจบ เรื่องของสังคมไม่มีวันจบ วัฏฏะมันจะวนไปอย่างนี้ แต่เราเกิดในช่วงใดดีมันเป็นอย่างไร เราเอาตรงนั้นเป็นตัวตั้ง แล้วเราพยายามรักษาใจเรา แล้วเอาตัวเราให้พ้นได้ แล้วเราจะเป็นผู้นำของสังคม

“ผู้นำ” หลวงตาพูดประจำ “ผู้นำสำคัญมาก ไม่มีผู้นำ เราจะไปกันไม่รอด ขาดผู้นำ เราจะไปกันไม่รอด”

เราทำใจเราให้มีจุดยืนแล้ว เราเป็นร่มโพธิ์ร่มไทร มันจะมีนกกามาอาศัย เอวัง