เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๙ ส.ค. ๒๕๕๒

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๒
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาหลวงตาท่านพูดนะ ท่านบอก “บรรพบุรุษของเรานี่ฉลาดมาก เลือกนับถือพระพุทธศาสนา” เพราะศาสนาต่างๆ เขาพยายามเผยแผ่มา แล้วแต่หัวหน้าจะเลือกนับถือศาสนาไหน นี่บรรพบุรุษของเราเลือกนับถือพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาน่ะมันเป็นสิ่งที่ละเอียด

ดูสิ เวลาพระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะไปชวนสัญชัยจะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขนาดสัญชัยยังพูดเลยว่า “ในโลกนี้มีคนโง่มากหรือคนฉลาดมาก ถ้ามีคนโง่มากกว่าคนฉลาด อย่างนั้นเธอไปอยู่กับพระพุทธเจ้าเถอะ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งคนที่มีปัญญา เราจะอยู่กับคนโง่ เพราะคนโง่มันหลอกง่าย คนโง่มันชักนำได้ง่าย” สัญชัยไม่มา แต่พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะมาอยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

นี่ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ศาสนาแห่งปัญญาที่ไหน? เพราะปัญญามันชำระราบเข้าไปในหัวใจ ทำให้เราพ้นจากทุกข์ไปได้ นี่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา แล้วลึกซึ้งมาก แต่ในการเผยแผ่นะ ในบรรพบุรุษของเราเลือกนับถือพระพุทธศาสนาเป็นประเพณี เป็นวัฒนธรรม เป็นรากเหง้า เป็นสิ่งต่างๆ ออกมาเป็นประเพณีวัฒนธรรม

แต่ในปัจจุบันนี้โลกนี้เจริญไง คำว่า “โลกเจริญ” คือการศึกษาเจริญ มนุษย์มีปัญญามากขึ้น แต่ปัญญามากขึ้นน่ะปัญญาของโลก เอาแต่ทิฏฐิมานะเข้ามา เอาแต่ความรู้ความเห็นของตัวว่าตัวเองนี้เป็นผู้รู้ผู้ฉลาด พอผู้รู้ผู้ฉลาด กิเลสมันก็เอาความรู้อย่างนั้นมาทำลายตัวเอง เอามาทำลายตัวเองนะ

แม้แต่การประพฤติปฏิบัติ การจะเข้าถึงศาสนาก็เอาปัญญาของตัวๆ เข้าถึงศาสนา ในการประพฤติปฏิบัติก็ประพฤติตามอารมณ์ของตัว ตามความพอใจของตัว ตามความคิดของตัว ไม่ใช่ตามสัจจะความจริงของพระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าสอนไว้เป็นหลักตายตัว เป็นความจริงเลย “ศีล สมาธิ ปัญญา” ต้องมี “ศีล” ความปกติของใจขึ้นมาก่อน พูดอย่างนี้มันก็น่าเบื่อแล้ว พูดถึงทาน พูดถึงการมีความสุขสิ ทำไมพูดถึงศีลให้มันมาขัดแย้งกับเราล่ะ ศีลนี่ต้องมาบังคับ บังคับตัวเอง บังคับ.. “ศีลคือความปกติของใจ” ความบังคับตัวเอง

ลูกหลานของเรา เราเลี้ยงมา เราดูแลมา ถ้าเขาประพฤติตัวที่ดี เราสั่งสอนเขาจนเข้าไปถึงในรากหัวใจของเขา ในรากหัวใจน่ะ เด็กอายุ ๓ ขวบ พ่อแม่มีความอบอุ่นให้ พ่อแม่มีความรักความเมตตา เด็กมันจะอบอุ่นของมัน เด็กมันไม่ต่อต้านสังคม เด็กเขาจะมีความสุขของเขา นี่เหมือนกัน ในเมื่อถือศีล การถือศีลมันก็เป็นการบังคับตัวเอง เพราะบรรพบุรุษของเราเลือกนับถือพระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนา “ศีล สมาธิ ปัญญา”

“ศีล” คือเครื่องวัดตวงกันว่าเราทำความดี ดีทุกๆ คน มันดีในศีลในธรรมหรือไม่ ถ้าดีในศีลในธรรม บังคับตัวจนเป็นจริตเป็นนิสัย เป็นความเคยชินนะ ความเคยชินเข้าไป “ศีล สมาธิ ปัญญา” การประพฤติปฏิบัติมันต้องมีสมาธิก่อน ถ้าไม่มีสมาธิก่อน ความประพฤติปฏิบัติมันบวกด้วยอารมณ์ความเห็นของตัว ในการประพฤติปฏิบัติของครูบาอาจารย์ของเรา ในการประพฤติปฏิบัติของพระพุทธศาสนา “ศีล สมาธิ ปัญญา”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับปัญจวัคคีย์ ฝึกตนทรมานตนอยู่ ๖ ปี นี่สมาธิสมบูรณ์ การฝึกตนทรมานตน เพราะอะไร เพราะในเมื่อปัญญาในพระพุทธศาสนายังไม่เกิด แต่ปัญญาทางโลกเกิดแล้ว ปัญญาทางโลกคือว่า พวกที่เขามีปัญญากันน่ะ ถ้ามีการศึกษากัน เขามีกษัตริย์ ดูสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นกษัตริย์อยู่ คนจะเป็นกษัตริย์ คนจะปกครองมีปัญญาไหม ปัญญาอย่างนี้เป็นปัญญาทางโลก ปัญญาในวิชาชีพ ปัญญาในการปกครอง ปัญญาการบริหารจัดการ

แต่ปัญญาในการชำระกิเลสมันไม่ใช่ปัญญาอย่างนั้น ปัญญาที่การชำระกิเลสมันต้องมีความสงบของใจเข้ามา ปัญญาอย่างนี้ชำแรกเข้าไปในหัวใจของเรา เพราะทำให้สิ้นกิเลสของเรา วันนี้โลกมันเจริญ เพราะความจริงวัฒนธรรมของเรามันวางรากไว้ดีแล้ว แต่พอโลกเจริญ เจริญไปด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก

เขาบอกว่า “การประพฤติปฏิบัติต้องเรียบง่าย การประพฤติปฏิบัติต้องใช้ปัญญา เพราะเราใช้ปัญญาของเรา ปัญญาในการประพฤติปฏิบัติ ปัญญาที่การดูจิตกัน การค้นคว้า การทำสมาธิกัน”

นี่บอกว่า “สมาธิกับสติเป็นอนัตตา..” เขาพูดนะ เรามีความมุมมองอย่างนี้มาตลอด เพราะว่าถ้าเขาพูดอย่างนี้ แสดงว่าเขามีความรู้สึกอย่างนี้ แต่ตอนนั้นมันยังไม่มีหลักฐาน แต่ตอนนี้มีหลักฐานแล้ว เพราะเขาเขียนออกมาชัดเจนมากเลยว่า “สติกับสมาธิเป็นอนัตตา” ความเป็นอนัตตานะ แล้วถ้าทำๆ ไปนะ ดูสิ อย่างการดูจิต การดูจิตนี่นะ ให้ดูตามอารมณ์ไป

เขาว่า “ความคิดเท่าไรก็ไม่รู้ ต้องหยุดคิด แต่ความหยุดคิดนี้ก็ต้องอาศัยความคิด”

คำว่า “อาศัยความคิด” ของเขา เขาตีความของเขาว่าตามความรู้สึกนั้นไป อย่าคิดโต้แย้ง อย่าคิดมากเกินไป อย่าคิดมุมกลับ อย่าคิดฝืน ต้องไปตามนั้น ต้องตามความคิดนั้นไป ดูตามความคิดนั้นไป พอความคิดนั้นดูซ้ำดูซากไปมันเกิดสัญญา คือเกิดปัญญาซับซ้อนไปจนถึงมันจะรวมลงโดยของเขา โดยธรรมชาติของเขา มันจะเป็นสมาธิ เป็นสัมมาสมาธิโดยบรรจง โดยของเขา เขาว่าของเขานะ

แล้วถ้าเป็นสมาธิขึ้นมาแล้วนะ สมาธิมันเกิดที่ไหน? สมาธิเกิดจากจิต นี่เขายังรับประกันเข้ามาอีกชั้นหนึ่งว่ามันเป็นสัมมาสมาธิไง

แต่ความจริงมันไม่ใช่เลย ความจริงไม่ใช่เพราะอะไร เพราะมันตามไป พอมันตามไป มันเป็นไปโดยธรรมชาติเป็นไป มันก็เหมือนเราตกภวังค์ เราหายไปน่ะ มันไม่เป็นอย่างนั้นหรอก ดูอย่างชาวไทยเราชอบกินของดิบของสุกเป็นจริตนิสัย ชอบกินของดิบของสุกมันจะส่งผลอะไร? ก็พยาธิในตับไง แต่เวลาพยาธิในตับ.. ก็ความคิดไง ความเคยชิน ความเคยชินของใจ ใจมันคิดไปตามปกติ ถ้าเราตามปัญญานี้ ตามมันไป ผลของมันก็เกิดพยาธิในตับ เกิดโรคภัยไข้เจ็บใช่ไหม

นี่เราตามความคิดไปโดยที่เราไม่ฝืนเลย มันเป็นไปโดยไม่เจาะจง เป็นไปโดยธรรมชาติ เป็นไปโดยไม่เจาะจงนี่เป็นสัมมาสมาธิ.. แต่พวกเรานี่เจาะจง! พุทโธๆ เรากินลาบ กินอาหารสุกๆ ดิบๆ คืออารมณ์กิเลส อารมณ์ดี-อารมณ์ชั่วของเรา อาหารสุกๆ ดิบๆ แล้วเรามีการศึกษา ทางการแพทย์เขาบอกว่า กินอาหารสุกๆ ดิบๆ มันจะทำให้ร่างกายนี้เป็นโรคเป็นภัย ต้องทำให้อาหารสุกให้หมด แล้วกินอาหารร้อนๆ

นี่ก็เหมือนกัน เราความคิดสุกๆ ดิบๆ ตามความคิดไป เราไม่คิด เราจะพุทโธๆๆ นี่ถ้าเรากินอาหารที่ดีๆ เรากินอาหารที่พุทโธๆ ร่างกายมันจะแข็งแรงไหม ร่างกายจะมีโรคภัยไข้เจ็บไหม

“เพราะด้วยการเจาะจง.. สมาธิมันต้องไม่เจาะจง สติเจาะจงไม่ได้ ถ้าสติเจาะจงมันเป็นการสร้าง สติสร้างไม่ได้ ต้องเป็นเองทุกอย่าง.. แล้วพอตามความคิดไป กินอาหารสุกๆ ดิบๆ ไปเรื่อย อยู่กับลมไปเรื่อย ตามอารมณ์ไปเรื่อย พอถึงที่สุดแล้วนะ ตามอารมณ์ไป ถ้ามันสมดุลของมัน มันเป็นธรรมชาติของมัน มันจะลงเองโดยไม่เจาะจง ถ้าไม่เจาะจงเป็นสมาธิ..” เขาว่าอย่างนี้นะ.. มันโดยไม่เจาะจง ถ้าเจาะจงไม่ใช่สมาธิ..

เจาะจงคือสตินะ ความเพียรชอบ

นี่ไง เขาปฏิเสธหมดไง เขาบอกว่า “ถ้าตามความคิดไป แล้วความคิดมันจะรวมลง มันจะเป็นสมาธิโดยไม่ต้องเจาะจง ถ้าเจาะจงไม่ใช่สมาธิ เพราะเจาะจงคือไม่ได้ ถ้าไม่เจาะจงมันเป็นของมันเอง มันเป็นของมันเอง..”

มันเป็นของมันเองก็ไม่มีสติไง! มันเป็นของมันเองก็มันหายแวบไปไง! นี่ไงถึงว่าตัดรากเหง้าไง นี่ไง นี่พูดถึงเขาอธิบายถึงการทำสมาธินะตอนนี้

แต่เมื่อก่อนเขาว่านะ พูดถึงว่าพวกชาวพุทธเรา ตั้งแต่บรรพบุรุษของเรา บอกกำหนดพุทโธๆ นี่โบราณกาลให้นึกพุทโธ พุทโธ ทั้งนั้นน่ะว่าพุทโธ

เขาบอก “พุทโธ นี่ชาวพุทธนะ ชาวพุทธนี่หลงมานาน พวกกำหนดพุทโธนี่หลงใหลมานาน หลงใหลทำแล้วไม่ได้ผล ผู้ที่ทำไม่ได้ผล มันจะไปทำให้ตัวเกร็ง ตัวทื่อ ตัวแข็งทื่อ..”

พุทโธๆ นี่มัน.. เรานะ พวกเราขับรถ.. นี่พูดเพื่อเป็นคตินะ.. เราขับรถไประวังอุบัติเหตุ เราจะชำนาญขนาดไหน อุบัติเหตุมันก็เกิดได้ธรรมดาใช่ไหม นี่ก็เหมือนกัน ในการปฏิบัติ ทางไม่เคยเดิน ความผิดพลาดนี่มันเรื่องธรรมดา ทีนี้เรื่องธรรมดาเราก็ต้องระวังของเราใช่ไหม เราต้องระวังของเรา เราต้องมีสติของเรา ผิดพลาดเราก็ต้องแก้ไขใช่ไหม เราขับรถทุกวันๆ น่ะ มันยังเกิดอุบัติเหตุได้ ทั้งๆ ที่เราควบคุมมันได้นี่แหละ

แต่จิตนี่เอาสติควบคุมมัน แล้วพุทโธๆ มันจะไม่ผิดพลาด มันเป็นไปได้อย่างไร แล้วพวกเราก็มักง่าย พวกเราก็มีกิเลสในหัวใจ มันก็จะดึงไปตามมัน.. แต่นี่บอกว่าอย่างนี้ผิดหมดเลย แต่ถ้ามากำหนดตามดูไปเรื่อยๆ ห้ามคิดโต้แย้ง ห้ามคิดอะไร ต้องไปตามมัน.. ไม่มีทาง! มันเป็นไปไม่ได้!

พอเป็นไปไม่ได้ปั๊บ เขาบอกเลย บอกว่า “สิ่งที่สติกับสมาธิเป็นอนัตตา..”

เป็นไปไม่ได้! ไม่มีอนัตตา! สติ สมาธิมันเป็นอารมณ์ เป็นอาการของใจ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากใจ เป็นอนัตตาไปไม่ได้ เป็นอนัตตามันต้องมีจิต ดูสิ จิตที่เห็นอสุภะ “อนัตตาเกิดจากจิต” ดูสิ รูปภาพที่เราเห็นมันเป็นของตายตัวใช่ไหม รูปภาพเป็นของตายตัว แต่ถ้าจิตมันเห็นภาพ เห็นนิมิตของมัน เพราะอะไร เพราะมันมีจิตใช่ไหม เพราะจิตมีกำลังมาขยายภาพเป็นวิภาคะได้ ขยายส่วนแยกส่วนได้.. อนัตตาเกิดตรงนั้นไง เกิดจากจิตที่มันเป็นไปจากข้างในไง นี่สิ่งที่เป็นไป

นี่ถึงบอกว่าสิ่งที่ทำมานะ บรรพบุรุษของเราฉลาดมาก เลือกนับถือพระพุทธศาสนา แล้วบรรพบุรุษของเราประพฤติปฏิบัติกันมา ทำความดีกันมา แต่ในปัจจุบันนี้โลกเจริญ คำว่า “โลกเจริญ” คือการศึกษาเจริญ พอการศึกษาเจริญมันเจริญทางการศึกษา ศึกษาจากทฤษฎีคือวิทยาศาสตร์ เห็นไหม วิทยาศาสตร์มันเป็นกฎทฤษฎีที่ว่าพิสูจน์แล้วต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนั้นนะ

ธรรมะของพระพุทธเจ้าก็เหมือนกัน อภิธรรม..ต้องเป็นอย่างนั้น แต่คนทำน่ะ มันทำได้อย่างนั้นไหม? การพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่เขาทำกันแล้ว เราก็รู้ทฤษฎีมันออกมาให้ค่าต้องเป็นอย่างนั้น แต่เราได้ทำอย่างนั้นหรือเปล่าล่ะ? แต่ที่ทำอย่างนั้น อย่างเช่นสินค้า อย่างทางเทคโนโลยีเขาทำของเขา เพราะเครื่องมือคุณภาพเขา ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ดูสิ ดูอย่างไอที เวลาเขาทำคอมพิวเตอร์ ของเขานี่อุณหภูมิต้องพร้อม ทุกอย่างต้องพร้อม แล้วของมันออกมามันจะมีคุณภาพ

นี่ก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติ อภิธรรมๆ เราทำได้ขนาดนั้นหรือเปล่า เราทำได้จริงนี่ผลมันจะออกมาค่าอย่างนั้นหรือเปล่า แต่อ้างกันไปหมดเลย! แล้วอ้างตามอารมณ์ ตามความพอใจของตัวนะ แต่ถ้าตั้งใจทำ ตั้งใจของเรา จะทำความจริงของเรา..

เขาว่า “ชาวพุทธนี่โง่เง่ามานาน ชาวพุทธนี่หลงใหลมานาน ไอ้พวกพุทโธๆ นี่มันทำให้เสียเวลา แล้วชาตินี้จะได้วิปัสสนาหรือเปล่าก็ไม่รู้..”

ไอ้ชาตินี้ได้วิปัสสนาไม่ได้วิปัสสนา เรากำหนดพุทโธๆ เราระลึกถึงพระพุทธเจ้า เราคิดถึงพ่อแม่เรามีความผิดตรงไหน เราคิดถึงพ่อแม่เราเราจะมีความอบอุ่นใจไหม นี่เราพุทโธๆ พุทธานุสติ เราระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ตลอดทุกวินาที ทุกลมเข้า-ออก มันจะเสียหายไปที่ไหน แล้วถ้าเกิดถ้าเราปฏิบัติ เรามีสติของเรา เกิดมาเป็นความจริงขึ้นมา จิตมันเป็นสมาธิขึ้นมา จิตมันมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา นี่มันเป็นข้อเท็จจริง มันเป็นความจริง แล้วคนเป็นความจริง ใครเป็นสมาธินะ ไม่พูดอย่างที่เขาพูด

นี่ไง สมาธิเกิด สัมมาสมาธิมันจะเกิดที่ไหน? เกิดที่จิต ดูๆ ไปมันจะเป็นไปโดยการไม่เจาะจง..

การไม่เจาะจงไม่มีสติ ..เป็นไปไม่ได้เลย! เราชำนาญการขนาดไหน ถ้าเราไม่ตั้งสติงานเราจะเสียหายไหม แล้วพอเราตั้งสติเจาะจง

เขาบอก “ถ้าเจาะจงไม่ได้อะไรเลย ที่ปฏิบัติกัน ที่ไม่ได้เพราะเจาะจงไง เพราะตั้งสติไง แล้วก็บอกสตินี้เป็นอนัตตา แล้วคนเจาะจงคือมีสติสัมปชัญญะใช่ไหม”

คนเจาะจงคือมีสติ มีความมุ่งมั่น มีการรักษาที่ดี นี่คือสติ

เขาบอกว่า “การเจาะจงผิดหมด ต้องไม่เจาะจง ต้องเป็นเอง” แล้วพอยกมาก็สติเป็นอนัตตา อนัตตาคือมันไม่มี..

แต่สติมันเป็นอนิจจัง ความเป็นอนิจจังคือว่ามันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป อารมณ์ของคนมันแปรปรวน สติระลึกขึ้นมา เดี๋ยวมันก็เป็นอนิจจัง สิ่งที่เป็นอนิจจัง

“สิ่งใดเป็นอนิจจังสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา”

สิ่งที่เป็นอนัตตามันเกิดขึ้นมาเพราะมันเป็นทุกข์ เพราะอนิจจังมันควบคุมไม่ได้ มันถึงเป็นทุกข์ เป็นทุกข์เพราะใครทุกข์ล่ะ? สิ่งไม่มีชีวิตทุกข์ไม่ได้นะ

จิตมันเป็นทุกข์ ความอาลัยอาวรณ์ ความห่วงหา ความต้องการของเรานี่เป็นทุกข์

“สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา”

อนัตตามันเป็นปัญญาไล่เข้าไป นี่ไง นี่ชาวพุทธโดยบรรพบุรุษของเรา ชาวพุทธโดยครูบาอาจารย์ของเรา ท่านทำความจริงของเรามา

แต่ในปัจจุบัน ตอนนี้สังคมมันกำลังเห่อเหิมกันไปในการที่ว่าไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่เจาะจง ถ้าใครตั้งใจทำอะไรเป็นการเจาะจง คนนั้นไม่ดีหมดเลย แล้วเวลาปฏิบัตินะ เขาบอก ทุกคนจะพูดอย่างนี้ พูดว่าทำไมมันสบายๆ ล่ะ เขานี่สบายหมด อย่างพวกเรานี่เครียดกันมากเลย เขาไปสบายๆ ทุกคนติดตรงนี้ว่าสบายๆ..

เอ้า.. เด็กไม่ต้องทำอะไร สบายไหม? เด็กพวกเรา อย่างพวกเรา พ่อแม่ต้องเอาเด็กไปโรงเรียน โอ้โฮ.. ไปที่โรงเรียนสิ มันร้องไห้น้ำตาท่วมหน้าโรงเรียนเลย นี่เราต้องการให้เด็กเราเป็นคนดีใช่ไหม แล้วบอกว่าลูกเราไม่ต้องไปโรงเรียนเลย ตามสบายๆ ตลอดเลย.. แล้วมันสบายไหม?

เหมือนกัน จิตน่ะนะ เพียงแต่มันตั้งสติ มันระลึกถึงธรรม ตรึกในธรรมพระพุทธเจ้า มันเป็นความดีอันหนึ่ง ความดีที่ว่าเราสนใจในพระพุทธศาสนา ความดีเราเข้าถึงศาสนา พอเข้าถึงศาสนาใช่ไหม เราก็ไม่ตามทางโลกไป มันก็มีศีลบังคับใจ พอบังคับใจขึ้นมามันก็สบายๆ เห็นไหม ความดีที่ยิ่งกว่านี้มันมีเยอะแยะไป ความดีที่เราพัฒนา สมาธิ เห็นไหม “ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ” ถ้าไม่มีสมาธินะ ไม่มีหลักจิตนะ ตัดรากตัดโคน ตัดที่อยู่ของกิเลส ตัดที่ปฏิสนธิวิญญาณ.. ปฏิสนธิวิญญาณ

เขาบอกว่า “จิตเป็นวิญญาณขันธ์..”

ไม่ใช่! ปฏิสนธิวิญญาณ “อวิชชาปัจจยา สังขารา สังขาราปัจจยา วิญญาณัง” วิญญาณในปฏิสนธิวิญญาณ วิญญาณในขันธ์ ๕ ขันธ์อย่างหยาบ ขันธ์อย่างละเอียด แล้วจิตไม่ใช่ขันธ์ จิตเป็นปัจจยาการ จิตเป็นพลังงานเฉยๆ จิตมันบอก โอ้โฮ.. เวลาภาวนาไปนะจะลึกลับซับซ้อน จะเห็นมากไปกว่านี้อีกมหาศาลที่เขาพูดนะ

ดูแล้วนะมันสังเวช คือเด็กอนุบาลน่ะ พูดแต่พื้นๆ คำว่าพื้นๆ น่ะ อย่างเรา อย่างผู้ปฏิบัติเห็นไหม ปฏิบัติแล้วอยากจะอวดรู้ว่าฉันมีคุณธรรมนะ พูดคำนึงก็อวิชชา สองคำก็อวิชชา อะไรก็ปัจจยาการนะ พูดแต่ธรรมะที่ว่าเราคาดไม่ถึงไง

โอ้โฮ.. คนนี้ต้องมีคุณธรรมเนาะ โอ้โฮ.. พูดปรมัตถ์ เทศน์ธรรมะนี่โอ้โฮ.. อวิชชาทั้งนั้นเลยนะ ไม่พูดถึงกิเลสหยาบๆ เลย.. ทึ่งใหญ่เลย! ทั้งที่ไอ้คนพูดน่ะไม่รู้เรื่อง! ไม่รู้เรื่องเลย! ถ้ามันรู้เรื่องมันจะมีพื้นฐานของมันขึ้นมา แม้แต่พื้นฐานสติก็บอกว่าไม่ต้องฝึก เจาะจงไม่ได้ ฝึกไม่ได้..

พื้นฐานก็ลบล้างแล้ว แล้วมันจะเป็นคนดีได้อย่างไร เด็กเรา ลูกหลานเรา ถ้าตั้งแต่เด็กน้อย คุณงามความดีของมันนะ แค่กินนมนอนนี่ โอ้โฮ.. ความดีของเด็กนะ มันไม่กวน แล้วมันจะให้นอนจนตายได้ไหม ไม่ต้องทำมาหากินน่ะ จะมีนมป้อนมันตลอดชีวิตได้ไหม ความดีของเด็กน้อย ความดีของทารก ทารกมันไม่กวนพ่อกวนแม่นะ พ่อแม่หาอยู่หากินนะ โอ้โฮ.. ลูกดี๊ดีเลย แล้วมันจะนอนกินอย่างนี้ตลอดชาติได้ไหม

นี่ก็เหมือนกัน พอไปปฏิบัติแล้วสบายๆ ไง เริ่มต้นไง แล้วมันสบายๆ อย่างนี้ไปตลอดชาติได้ไหม แล้วจะบอกว่าอย่างนี้คือการหลุดพ้นนะ ไอ้พวกที่จงใจ ต้องมีการศึกษา ต้องกว่าเด็กจะโต ทำมาหากินเหงื่อไหลไคลย้อย โอ้โฮ.. พวกนี้พวกชาวพุทธที่โง่งมงาย พุทโธนี่พุทโธมาตลอด พุทโธนี่ทำให้ชาวพุทธเสียโอกาสมาเยอะแล้ว พุทโธๆ ทั้งชีวิต ไม่ได้ปฏิบัติเลย ไม่ได้วิปัสสนาเลย มาหาฉันนี่นะ นอน ๒ วันเท่านั้นน่ะ เป็นพระอรหันต์เลย

นี่เพราะว่าเรา.. เรื่องนี้มันเรื่องจริง แต่มันไม่มีใครออกมายืนยัน แล้วการออกมายืนยัน เราพูดนี่เราไม่ได้พูดด้วยอารมณ์ เราพูดด้วยเหตุด้วยผลนะ ด้วยเหตุด้วยผลในพระพุทธศาสนา

หลวงตาสอนว่า “ศาสนาพุทธ คือ เหตุและผลรวมลงเป็นธรรม”

“เหตุ” มันต้องมีเหตุ มันต้องมี “ผล”

“เหตุ” และ “ผล” มันสมดุลกัน มันก็เป็นสัจธรรม

“ธรรมะเหนือธรรมชาติ เพราะธรรมชาตินั้นเป็นวัฏฏะ” เอวัง