เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๓o ส.ค. ๒๕๕๒

 

เทศน์เช้า วันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๒
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มาวัดป่า มาหาพระป่า ไม่มีพิธีกรรม ไม่มีสิ่งใดๆ เลย แต่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม มนุษย์เป็นสัตว์การเมือง มนุษย์อยู่ด้วยกันต้องพึ่งพาอาศัยกัน พระพุทธศาสนาทำให้ร่มเย็นเป็นสุขนะ ถ้าไม่มีศาสนานะ คนจะเอารัดเอาเปรียบกัน มีลัทธิต่างๆ

หลวงตาท่านบอกว่า “ศาสนา ถ้าเป็นศาสนาด้วยความเชื่อถือ ความเชื่อมั่นของเรา”

พุทธศาสนา “พุทธะ” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่ปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น! ลัทธิศาสนาอื่นๆ ไม่มีใครปฏิญาณตน ไม่มีใครปฏิญาณอ้างว่าตัวเองสิ้นจากกิเลส องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงรู้ไง ที่มาของชีวิต ที่มาต่างๆ ชีวิตนี้คืออะไร?

“มนุษย์” เราเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสอนเรื่องอะไร?

เราน่ะทำบุญกุศล เราอยากมีบุญกุศล เราอยากมีความสุขกัน สัตว์ทุกตัวนะ เกลียดความทุกข์ ปรารถนาความสุข แต่ความสุขที่เราแสวงหากันอยู่นี้เป็นความสุขจากตัณหาความทะยานอยาก มันไม่ใช่ความสุขจากศาสนาไง ตัวศาสนา แล้วความโลภ ความโกรธ ความหลง ตัณหาความทะยานอยาก เราดิ้นรนกันตรงนั้น แต่ถ้าเป็นความจริงนะ ในศาสนาพุทธคือ.. “สุขสิ่งใดยิ่งกว่าความสงบในหัวใจเราไม่มี” ความสุขหาได้ท่ามกลางหัวอกเรานี่

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อยู่โคนต้นโพธิ์นะ ครูบาอาจารย์ของเราตรัสรู้อยู่ในป่าในเขานะ ในป่าในเขาน่ะมันมีที่ความสงบสงัด เป็นที่ไม่ปรารถนาของโลก โลกเขาไม่ปรารถนากัน โลกเขาต้องปรารถนาแต่ความเจริญรุ่งเรือง ปรารถนาแต่ความสะดวกสบาย ความสะดวกของเขา แต่เวลากิเลสมันได้ความสะดวกแล้ว มันไม่มีวันพอไง เราปรนเปรอมันไม่ได้ กิเลสเราปรนเปรอมันไม่ได้ ถ้าเราปรนเปรอมันนะ มันไม่มีวันที่สิ้นสุดหรอก

ดูสิ สังคมนิยม ทุนนิยม ล่มทั้ง ๒ ฝ่าย สังคมนิยมก็เป็นสังคมนิยมด้วยความคิดของตัว มันไม่เป็นสัจจะความจริงกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ภราดรภาพ ความเสมอภาคของพระอรหันต์ พระอรหันต์เท่านั้นมีความเสมอภาค ต่ำจากพระอรหันต์มามีแต่ความเอารัดเอาเปรียบทั้งนั้น เห็นไหม ความเสมอภาคของพระอรหันต์ ความภราดรภาพ ความเสมอภาค จิตที่มันสิ้นจากกิเลสแล้วนั่นคือความเสมอภาค ต่ำกว่านั้นมาไม่มี ต่ำกว่านั้นมามีแต่ความเอารัดเอาเปรียบ ทั้งสังคมนิยม ทั้งทุนนิยม ทุนนิยมคือตัณหาความทะยานอยาก คือความแข่งขัน มันล่มไปทั้ง ๒ ฝ่าย

“ธรรมะ” ธรรมาธิปไตย ธรรมะที่จะคุ้มครองโลก

ถ้าธรรมะที่จะคุ้มครองโลก.. ธรรมะอยู่ที่ไหน?

นี่เรามาวัดมาวากัน เราปรารถนาความสุข เราปรารถนาบุญกุศล เราทำบุญกุศลเป็นอามิส สิ่งต่างๆ “บุญกุศล” เราทำบุญกุศล การเสียสละ “กลิ่นของศีลหอมทวนลม” การเสียสละ การทำคุณงามความดี ผู้ใด “สีเลนะสุคะติง ยันติ สีเลนะโภคะสัมปทา” มีศีลน่ะ ศีลคุ้มครองเราไง เราคุ้มครองเราเพราะอะไร เพราะเรามีศีล ๕ เราไม่เบียดเบียนใคร เราไม่ทำความผิดพลาดสิ่งใด เราไม่ทำความชั่วสิ่งใด นี่ใครมันจะทำร้ายเรา เว้นไว้แต่กรรมเก่าไง เวลากรรมเก่า เราเกิดปัจจุบันนี้เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา เราตั้งใจทำความดีก็ได้ แต่สิ่งที่ต่างๆ มา นี่กรรมเก่า-กรรมใหม่ กรรมปัจจุบันนี้ เราทำคุณงามความดีของเรานี้ เพราะเราพบพระพุทธศาสนานี้ เราตั้งใจของเรา แต่สิ่งที่มันมา..

ดูสิ ดูพระโมคคัลลานะ พระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายผู้มีฤทธิ์เดชมาก เหาะเหินเดินฟ้าได้หมด ไปสวรรค์ชั้นไหนก็แล้วแต่นะ เวลาพระพุทธเจ้าเทศนาว่าการ บอกเลย “ไปสวรรค์มา” บอกว่า “ตระกูลนั้น บ้านนั้น คนตายแล้วไปเกิดที่ชั้นนั้นๆ” พระพุทธเจ้ารับรองหมดเลย แต่เวลาถึงที่สุด “กรรมเก่า” กรรมเก่าเพราะเคยได้ฆ่าแม่ไว้ ได้ทำลายแม่ไว้ ถึงที่สุดแล้วเพราะกรรมเก่านั้นตามมา

นี่ถึงว่าเราทำบุญกุศล เราทำบุญทำไมไม่ได้บุญ ทำบุญทำไมไม่ได้ดี ..ได้ดีแล้ว ได้ดีตรงที่เราสำนึกรู้สึกตัวของเราเอง เราเป็นคน! เราเป็นคน เป็นสัตว์สังคม เราเป็นคน เราเข้าถึงพระพุทธศาสนา ใจของเราน่ะสำนึกถึงตัวของเรา เรารักตัวของเรา เราถึงได้เสียสละ เราถึงได้ทำบุญกุศล เริ่มต้นตั้งแต่เราจะทำบุญนี่ ถ้าเราไม่มีเรา ใครจะเป็นคนทำ? ไม่มีหัวใจ หัวใจเป็นคนทำไหม? หัวใจเป็นคนทำนะ เราสำนึกถึงตน สำนึกถึงการรักตน ถ้าสำนึกถึงการรักตน เราจะเสียสละ มีมากมีน้อยเราทำของเรา นี่ทาน

นี่ถือศีล ศีลคุ้มครองเรา คุ้มครองเราเพราะเราซื่อสัตย์กับศีล เราถือศีล ศีลจะคุ้มครองเรา

ธรรมะ เห็นไหม “เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย”

คือมีสัจจะความจริงเป็นที่พึ่งไง สัจจะความจริงในหัวใจของเราเป็นที่พึ่ง

ดูสิ เวลาหลวงตาท่าน เวลาท่านมีชีวิตอยู่ ท่านว่าท่านว่างจากงาน

นี่เขาบอกว่า ในดูจิต เขาบอก “จิตว่างไม่ได้ จิตว่างไม่มี จิตว่างไม่มีนะ เพราะอะไร เพราะว่าที่ไหนมีจิต ตรงนั้นมีอารมณ์ ที่ไหนมีอารมณ์ตรงนั้นมีจิต จิตเลยว่างไม่ได้..”

แค่นี้เขายังไม่รู้เลย เขาไม่รู้ถึงว่าเวลารวมใหญ่นะ เวลาเป็นสมาธิมันว่างได้อย่างไร? เวลาจิตว่าง ว่างในสมถะ ว่างในวิปัสสนา แล้วจิตว่างมันมีว่างหลายระดับ ว่างของพื้นๆ ว่างของเด็กๆ ว่างของผู้ใหญ่ จิตว่างนี่มีเยอะมากนะ มีหลายระดับมาก

จิตว่างไม่มี.. ไม่มีก็คือปฏิบัติไม่มีไง ทำไม่เป็นไง ทำไม่เป็นก็ไม่มี

ถ้าทำเป็น.. มี! มีได้!

จิตที่ฟุ้งซ่านได้ สิ่งใดมันมีตรงข้ามหมด คนเราเกิดมาต้องตายหมด แล้วคนตายต้องเกิดหมด แต่พระอรหันต์ทำไมไม่เกิดล่ะ ตรงข้ามมี นี่ไง เวลาเจ้าชายสิทธัตถะไปเที่ยวสวน เห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย ถามมหาดเล็กไง

“นี่คืออะไร”

“นี่คนเกิด นี่คนแก่ นี่คนเจ็บ นี่คนตาย”

“ถ้ามีการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย มันต้องมีตรงข้าม ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย”

เจ้าชายสิทธัตถะยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์นะ ยังคิดได้เลยว่ามันต้องมีตรงข้าม!

นี่เหมือนกัน ถ้าจิตมันฟุ้งซ่าน มันตรงข้ามกับฟุ้งซ่านมันก็ต้องมี มันต้องมีของมัน แต่ทำถูกหรือเปล่า ทำเป็นหรือเปล่า ถ้าทำไม่เป็นมันก็ไม่เจอ ถ้าทำเป็นมันก็เจอ

พอไม่เจอขึ้นมาน่ะก็เขียนตำราเลยนะ จิตว่างเป็นไปไม่ได้ จิตว่างไม่มี เวลามันเจอจิตมันจะเป็นสมาธิ นี่ดูไปเรื่อยๆ ถึงที่สุดแล้วไม่จงใจมันจะเป็นสมาธิเอง พอเป็นสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิจะเกิดบนจิต สัมมาสมาธิเกิดที่ไหน บอกเกิดบนจิต..

โม้ทั้งนั้นน่ะ! ความไม่จงใจ ความไม่ตั้งใจน่ะ เราขับรถ โยมขึ้นรถนะ แล้วสตาร์ทรถแล้วปล่อยมันไหลไปเอง มันจะไปตามไปเองนะ แล้วมันจะลงสมาธิ ..มันจะลงเหว ขับรถใครไม่ควบคุมพวงมาลัย ขับรถใครไม่ดูแลรถ..

จะขับจิต! จะเอาจิตนี้ไปสู่เป้าหมาย! ไม่มีสติสัมปชัญญะจะควบคุมมันอย่างไร สติมันมาจากไหน? สติมันมาจากไหน สติน่ะ? สติเกิดจากจิต สติไม่ใช่จิต นี่เราไปหาสตินะ ไปขอซื้อสติ ไปเอาสิ่งต่างๆ ไปหาสติในโลกนี้ ไปหาสติที่ไหน? สติของคนอื่นก็เป็นสติของคนอื่น

“สติเกิดจากจิต” ไม่ใช่จิต

“สติเกิดจากจิต”

เราระลึกรู้ นี่สติเกิดแล้ว สตินะ ถ้าเป็นตัวอักษรนะ “ส.เสือ ต.เต่า สระอิ” นั่นคือสติ สตินั่นเป็นชื่อมัน ถ้าชื่อมันก็คือชื่อมัน เราไปศึกษาทฤษฎีก็ชื่อมันใช่ไหม แต่สติในใจเราอยู่ไหน สติที่เกิดจากจิตอยู่ที่ไหน? สติเกิดจากจิต ไม่ใช่จิต ถ้าสติเป็นจิต เราเป็นคนเกิดมามีชีวิต มีจิตตลอด เรามีจิตตั้งแต่ปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิวิญญาณเกิดในไข่ของมารดา มีชีวิตตลอดมานะ มีชีวิตตลอดจนกว่าเราจะตาย แล้วถ้าสติมันเป็นจิต มันต้องมีสติมาตั้งแต่ในท้องน่ะ ในท้องนั่นมันต้องมีสติมาตลอด.. มันไม่มี เห็นไหม “สติ” พอเรามาศึกษาธรรมะ

หลวงตาบอกเลย “สติต้องการทุกเมื่อ ต้องการในทุกสถาน สตินี่ต้องการตลอด”

ถ้าเราต้องการ ถ้ามันมีเองก็เป็นพระอรหันต์ตั้งแต่เกิดสิ มันก็ไม่เป็นอีก

“สติเกิดจากการฝึกฝนนะ” เราตั้งสติ คนมีสติดี คนมีสติสัมปชัญญะ การกระทำสิ่งต่างๆ มันจะผิดพลาดน้อย สติเป็นอนิจจัง พอมันเกิดขึ้นมามันก็คายตัวมันไป มันเริ่มต้นมันก็..

“สติเป็นอนิจจัง สติไม่ได้เป็นอนัตตา” ถ้าเป็นอนัตตาจะไม่มีอะไรเลย สติเป็นอนิจจัง เกิดจากการฝึกฝนของเรา

สติ-มหาสติ-สติอัตโนมัติ มันเป็นขั้นตอนของมันไปนะ

นี่ไง จิตว่างมันมี ถ้าทำเป็น ถ้าจิตว่าง..

เพราะจิตว่าง เขาบอก “จิตว่างไม่ได้ จิตว่างไม่มี ในนี้ไม่มีจิตว่าง”

นี่เป็นความเข้าใจผิดของเขา แล้วก็ความเข้าใจผิดของมนุษย์เราของชาวพุทธเรา ว่าพระพุทธเจ้า ศาสนาบอกสอนให้ปล่อยวาง พระพุทธเจ้าสอนให้เป็นกลาง เราก็ไปปล่อยวางหมด ว่างหมด ทุกคนว่างหมดเลย ว่างแบบขี้ลอยน้ำไง ไอ้ว่างแบบพวกเรานี่ ไอ้ว่างโดยที่ไม่ไปฝึกฝนเลยน่ะ ไอ้ว่างโดยนึกเอา โอ้.. พระพุทธเจ้าบอกให้ว่างๆ เราก็ว่างๆ ว่างๆ เลยกลายเป็นว่าไม่ต้องทำอะไรเลย เป็นคนดีหมดแล้วไง แล้วพอไปปฏิบัติก็บอกจิตว่างก็ไม่มีอีก เห็นไหม ตรงข้ามทั้ง ๒ ฝ่ายเลย

แต่ถ้าเราตั้งสติของเรานะ กำหนดพุทโธๆๆๆ เข้าไปน่ะ พุทโธเป็นความคิด พุทโธเกิดจากจิต เพราะจิตไม่นึกก็เกิดพุทโธไม่ได้ “พุทโธๆๆๆๆ” เพราะอะไร เพราะความคิดน่ะมันกระจายตัวมันออกไป พุทโธ พุทธานุสติ! พุทธานุสติ! พุทธานุสติ.. ฟังสิ! พุทธานุสติ สติที่เรานึกถึงพระพุทธเจ้า สติเรานึกถึงพุทโธๆๆ พุทโธเกิดจากใคร? เกิดจากจิต เพราะจิตมันนึกพุทโธใช่ไหม แล้วมีสติพร้อมใช่ไหม พุทโธๆๆ มันหดสั้นเข้ามาเป็นตัวจิต “เอ๊อะๆ!”

นี่ไง ไหนว่าความว่างมึงไม่มีไง มึงจะรู้อย่างไรว่าว่างไม่มี เดี๋ยวมึงจะรู้ ถ้ามึงทำถูกนะ นี่ทำไม่ถูก ทำไม่เป็นน่ะ พอมันว่างก็สร้างภาพว่าง ว่าอย่างนี้เป็นว่างไง

“สัมมาสมาธิ” สัมมาสมาธิเกิดจากไหน ก็เกิดจากจิต สัมมาสมาธิมันต้องเกิดเอง ไม่เจาะจง ถ้าเราเจาะจงนั้นไม่ใช่ เห็นไหม การเจาะจง การตั้งสติ ผิดหมดเลย

การทำในพระพุทธศาสนา เขาว่าผิดหมดเลยนะ แต่การนึกเอาน่ะว่าถูกหมดเลยนะ การนึกเอา การสร้างสังคมขึ้นมาใหม่ การต่างๆ อันนี้มันเป็นศาสนาหรือ? มันไม่เป็นศาสนาเลย นี่สิ่งที่เขาพูด สิ่งที่เขาทำนั่นน่ะ แล้วสังคมก็เชื่อกันไป เลยกลายเป็นถอนรากถอนโคนคุณงามความดีของผู้ที่ปฏิบัติเอง การไปถอนรากถอนโคนนะ นี่พูดถึงว่าพระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนา หลวงตาท่านพูดอยู่ “พระพุทธศาสนาเปรียบเหมือนห้างสรรพสินค้า” เราไม่ต้องการมรรค ผล นิพพาน เราต้องการนะ แต่โดยทั่วไปน่ะ เขาบอกว่ามรรค ผล นิพพาน มันสุดเอื้อม อยากทำบุญแล้วอยากร่ำอยากรวย อยากมีความสุขเท่านั้นเขาก็พอ อันนี้มันเป็นอามิส มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น มันเหมือนการแลกเปลี่ยน ทำบุญไปเท่าไร “ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว” ทำดีขนาดไหน ความดีจะตอบสนองเรามาเท่านั้น แล้วตอบสนองเป็นทับทวีคูณ ถ้าใจเราบริสุทธิ์ เราทำดีแบบทิ้งเหว แล้วปฏิคาหก ผู้ให้ให้ด้วยความบริสุทธิ์ ผู้รับรับด้วยความบริสุทธิ์ ความดีจะตอบสนองนี่ทับทวีคูณเลย

แต่ถ้าทำความดีแล้วอยากได้ อยากได้เพราะอะไร เพราะเราลงทุน เราลงทุนนะ ทำบุญเหมือนลงทุน พอลงทุนแล้วเราคิดต้องการผลตอบแทนมาก มันจะไม่ได้อะไรเลย เพราะเรามีตัณหาไง ความหวัง ความตอบแทนมากคืออะไร? คือตัณหา แล้วตัณหาความทะยานอยากมันเป็นสมุทัย ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ สมุทัยมันเป็นนามธรรม สมุทัยควรละ เราสร้างตัณหา สร้างความคาดหมายของเรา แล้วเราก็ทุกข์ของเราไปเอง แล้วบอกทำบุญแล้วไม่ได้บุญ ทำดีแล้วไม่ได้ดี นี่ไง เราทำดีนะ เราทำของเรา มันต้องได้ดีของเรา หนึ่งเริ่มต้นจากเราก่อน เราเสียสละ เราเป็นคนดีอยู่แล้ว

นี่สอนลูกสอนหลาน เวลาลูกหลานทำบุญกุศล มีความสุข ยิ้มแย้มแจ่มใส นี่บุญเต็มๆ เลยน่ะ บุญคือความสุขใจ บุญคือครอบครัวพูดกันรู้เรื่อง ลูกเรา ในครอบครัวเราคุยกันรู้เรื่องนี่สุดยอดเลย ถ้าพูดแล้วนะ พูดกันไม่เข้าใจ พูดกันแล้วมีความคิดแตกต่าง โอ้โฮ.. ปวดหัวมากเลย

เห็นไหม บุญมันเกิดที่นี่! บุญมันเกิดตรงนี้! ไอ้อาศัยสิ่งภายนอก มันเป็นสิ่งภายนอก ไอ้นี่บุญแบบโลกนะ นี่สัตว์สังคม มนุษย์สังคม ถ้าสังคมอย่างนี้ดี สังคมมีร่มเย็นเป็นสุขเพราะอะไร เพราะศีลธรรมจริยธรรม แล้วประพฤติปฏิบัติเข้าไปน่ะมันยังอีกลึกลับซับซ้อนมหาศาลเลย ลึกลับซับซ้อนมหาศาลมาก แต่ถ้าไม่เป็น มันทำให้เสียหายกันไปหมดนะ

หลวงปู่มั่นพูดประจำ “หมู่คณะให้ปฏิบัติมานะ ผู้เฒ่าจะแก้ว่ะ แก้จิตมันแก้ยากนะ แก้จิตมันแก้ยากนะ ผู้เฒ่าไปแล้วจะไม่มีคนแก้”

นี่ไง โดยปัจจุบันนี้เขาแก้กันน่ะ.. เขาไม่ได้แก้! เขาชักลากกันไปเลย

เขาว่า “ถ้าเป็นสมาธิมันก็จะต้องโดยไม่จงใจ ต้องเป็นเอง ต้องเป็นเองนะ ถ้าจงใจผิดหมด..”

สัมมาสมาธิกลายเป็นผิด! ตกภวังค์ มิจฉาสมาธิกลายเป็นถูก! ความถูกของผู้เห็นผิด! มิจฉาทิฏฐิ! มิจฉาทิฏฐิ! ความทิฏฐิเห็นผิดในพระพุทธศาสนา! เอวัง