เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๔ ก.ย. ๒๕๕๒

 

เทศน์เช้า วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๒
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต. หนองกวาง อ. โพธาราม จ. ราชบุรี

 

วันนี้วันพระ เห็นไหม วันพระวันเจ้า หลวงตาจะบอกเลยมีแต่วันยุ่ง วันโยมนี้เป็นวันยุ่งนะ วันพระเป็นวันที่เราปล่อยวางทางโลก พระข้างนอก พระข้างใน ถ้าพระข้างใน พระของเราเห็นไหม ผู้ประเสริฐ หัวใจผู้ประเสริฐ

ชีวิตนี้สั้นนัก เหมือนพยับแดด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ชีวิตนี้เหมือนพยับแดด” แต่พวกเรามันคุ้นเคยกันเอง นอนใจกันเองว่า ชีวิตเรา ๘๐ ปี ๑๐๐ ปี แมลงวันนะ ๗ วันมันก็ตายแล้ว อายุขัยของมัน ๗ วัน มันเป็นอายุขัย

คำว่า “อายุขัย” มันจะดูถูกเหยียดหยามกันด้วยว่าใครอายุสั้น อายุยืน พอยิ่งอายุยืนเรายิ่งลืมตัว ถ้าเราลืมตัวนะมันผ่านไปวันๆ หนึ่งเร็วมาก เพียงแต่มันเป็นความรู้สึกของเราว่า เรายังมีชีวิตอยู่ เรายังมีโอกาสอีกมากมายมหาศาล เราประมาทในชีวิตมากนะ นี่มันเผาผลาญ

ดูสิ...ดูทางการแพทย์เห็นไหม พลังงานในร่างกายมันเผาผลาญ มันต้องเป็นอย่างนี้ มันจะเสื่อมสภาพไปเป็นอย่างนี้ ทางวัตถุก็มีให้เห็นกัน แล้วชีวิตเรา ดูสิหัวใจมันเผาผลาญเรา พลังงานนี้มันเผาผลาญเรา แล้วพลังงานนี้มันให้แต่ความทุกข์เรา แล้วความทุกข์เห็นไหม ความจริงของใคร เวลาพูดความจริง คนนั้นก็พูดผิด คนโน้นก็พูดผิด...ความจริงมันมีฐานรองรับนะ มันมีฐานความจริงที่รองรับ แต่ความจริงในปริยัติ ความจริงในการศึกษาทางวิชาการ มันเป็นความจริงทางทฤษฎี

แต่เวลาคนไปทำงานมันต้องมีความจริงที่มากกว่านี้ ความจริงมากกว่านี้หมายถึงว่า มันมีความรู้จริงอันนั้น เวลาพูดความจริงมันแค่พูดคำเดียวมันครอบคลุมทั้งหมดเลย แต่เวลาถ้าเรามีการศึกษาทางวิชาการ เราต้องพูดถึงที่มาที่ไปนะ โอ๊ย เราต้องพูดให้มันแบบว่ามันดูขลัง แต่พอเราไปทำ ทีเดียวก็จบ

ดูสิ เวลาหลวงตาท่านพูดกับอาจารย์ปัญญา อาจารย์ปัญญาเป็นนักวิชาการนะ ท่านถามอาจารย์ปัญญาว่า “เวลากินข้าวทำไมไม่เขียนผังก่อนล่ะ” ทางวิชาการเวลากินข้าวทำไมไม่เขียนทฤษฎีก่อน ต้องเขียนก่อนสิ ทำไมเวลากินข้าวเอาอาหารใส่ปากแล้วก็จบ

เวลาเป็นความจริงมันมีเท่านั้นแหละ ความจริงมีเท่านั้น แต่เวลาพูดไปนะ โอ้โฮ ข้าวนี่มาจากนานะ ข้าวนี่มาจากข้าวเปลือก ข้าวนี้มาจากการไถ การหว่าน หว่านเสร็จแล้วต้องรอน้ำ ต้องดูแลนะ เก็บเกี่ยวแล้วยังต้องมานวดมาสีนะ เสร็จแล้วต้องบรรจุใส่ถุง แล้วก็ต้องเอาไปตลาด เราก็ไปซื้อมาจากตลาด นี่! แต่เราเอาใส่ปากก็จบแล้ว

เขาต้องทำทางวิชาการ นี่พูดถึงเราไปกลัวผิดกันไง เห็นไหม ปริยัติมันเป็นความจริงของปริยัติ ไม่ได้ดูถูกปริยัตินะ ถ้าพูดถึงปริยัติพระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมานะ ทำไมพระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาเป็นศาสดา แล้วในปริยัติเห็นไหม เวลาพระจุนทะเห็นลัทธิศาสนาต่างๆ เวลาล่มสลาย ลูกศิษย์ลูกหาเขามีปัญหามาก ไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า

“เวลาศาสดาของลัทธิต่างๆ ตายไปมันมีปัญหามากเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องทำอย่างไรมันถึงไม่เป็นอย่างนั้นล่ะ”

“ถ้าไม่ให้เป็นอย่างนั้นมันต้องมีธรรมและวินัย” พระจุนทะเป็นคนอาราธนาเลย บอกให้พระพุทธเจ้าบัญญัติธรรมและวินัย

“เราจะบัญญัติไม่ได้หรอก เราไม่ทำ ไม่พูดอะไรล่วงหน้า ไม่พูดอดีต – อนาคต จะพูดปัจจุบันดังนั้นถ้าถึงคราวแล้วเราจะบัญญัติธรรมวินัย” พอมีพระทำผิดๆ เห็นไหม แล้วมีความเห็นผิด เวลาพระพุทธเจ้าเทศนาว่าการ นี่ธรรมและวินัยเห็นไหม พระอุบาลี พระอานนท์จำมา ธรรมและวินัย

สิ่งที่เป็นธรรมวินัย นี่ทฤษฎี ปริยัติ พอปริยัติมันต้องมีการศึกษาไหม เพราะลัทธิศาสนาอื่นไม่มีปริยัติ พอไม่มีปริยัติขึ้นมา เวลาศาสดาตายไปแล้วไม่มีใครวินิจฉัย เพราะไม่มีใครวินิจฉัย เวลาเขาพูดกัน เวลาต่างคนต่างมีความเห็น พอต่างคนต่างมีการโต้แย้งกัน ศาสนามีการกระทบกระเทือนกัน เพราะผู้ที่มีความเห็นเป็นหมู่คณะเดียวกัน แต่มีความเห็นขัดแย้งกัน มันจะรุนแรงกว่าคนที่มีความเห็นแตกต่างกัน

ความเห็นเราเห็นด้วยกัน พอเสร็จแล้วเรามีความขัดแย้งกัน มันจะมีความรุนแรงมากเห็นไหม ลัทธิต่างๆ ศาสนาอื่นๆ เขาล่มสลายไป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติธรรมและวินัยไว้ ธรรมและวินัยเป็นปริยัติ ปริยัติเป็นกรอบ ให้ตัดสินกันที่ปริยัติ

เวลาตัดสินกันที่ปริยัติ แล้วเวลาพูดมาถึงปริยัติมันถูกไหมล่ะ เวลาครูบาอาจารย์ของเรา สิ่งที่ครูบาอาจารย์ประพฤติปฏิบัติไป ครูบาอาจารย์เราก็ศึกษาปริยัติมาก่อน พอปฏิบัติขึ้นมา มันเป็นความจริงขึ้นมาในหัวใจ ถ้าเป็นความจริงขึ้นมาในหัวใจมันขลังกว่าปริยัติเยอะแยะเลย ทำไมถึงขลังกว่าปริยัติล่ะ

ปริยัติ...ปฏิบัติ...

ปริยัตินะ ศึกษาทฤษฎีมาแล้วไปปฏิบัติ พอปฏิบัติขึ้นมาเกิดปฏิเวธความรู้จริงอันนั้น ถ้าความรู้จริงอันนั้นแล้วมันเยิ่นเย้อ คำว่า “เยิ่นเย้อ” แต่โลกเขาชอบกันเพราะอะไร เพราะมันเป็นสมมุติขึ้นมาอันหนึ่ง ธรรมวินัยนี้เป็นสมมุติขึ้นมาอันหนึ่งนะ เวลาวิมุตตินี้พ้นไปจากสมมุติเห็นไหม สมมุติบัญญัติ แล้วสมมุติเราก็สมมุติ เราก็ติ๊ต่าง ทุกอย่างติ๊ต่างหมดเลย...ติ๊ต่างก็สมมุติไง ติ๊ต่างขึ้นมาก็รู้ได้ไง ต่างคนต่างติ๊ต่างนะ ตุ๊กตามาก็ลูบๆ คลำๆ กันไป เป็นอย่างนั้นๆ ก็ว่ากันไป พอว่ากันไป แล้วมันสร้างอารมณ์ได้ไง เห็นไหม

สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา จินตมยปัญญา จินตนาการมันก็ว่ากันไปเห็นไหม ไม่มีหรอก! สิ่งนั้นทฤษฎีเห็นไหม ธรรมและวินัยพระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ ปริยัติ! เพียงแต่ว่าไม่ให้หลุดจากกรอบไป

พอพุทธศาสนาเราเห็นไหม มหายาน หินยาน พอหินยานนะ ไอ้พวกท่องจำ มีนักวิชาการบ่นมากว่า ไอ้พวกท่องจำสู้พวกที่เปิดปัญญากว้างขวางไม่ได้ คำว่าใช้ปัญญา อย่างมหายานเห็นไหม อาจริยวาท อาจารย์คิดอย่างไร อาจารย์ทำอย่างไร ทำไปได้หมดแหละเห็นไหม

สุขาวดีนะ ในนิพพานมีสูงกว่านิพพานอีกนะ ความเห็นออกไปนะ พระอรหันต์กลับมาเกิดใหม่ได้ พระอรหันต์จะตายก็ได้ จะกลับมาเกิดก็ได้ ไม่กลับมาเกิดก็ได้ นี่มีความเห็นไปหลายหลากมากเลย แล้วจริงหรือเปล่าล่ะ? แล้วใครจะโต้แย้งล่ะ? ใครโต้แย้งล่ะ?

แต่มาเจอของจริงเห็นไหม ครูบาอาจารย์เราโต้แย้งเด็ดขาดเลย พระอรหันต์เกิดอีกไม่ได้! ไม่มีแรงขับ ไม่มีตัณหาทะยานอยาก จะเอาอะไรมาเกิด ในเมื่อเมล็ดพันธุ์พืชมันไม่มีชีวิตแล้วมันจะเอาอะไรมาเกิด เมล็ดพันธุ์พืชเหมือนกัน เมล็ดพันธุ์ที่ตายแล้ว ดูไข่มีเชื้อกับไข่ไม่มีเชื้อสิ ไข่มีเชื้อมันต้องมาเกิดอีก ไข่ไม่มีเชื้อมันมันฟักไม่ได้ จิตที่มันทำลายเชื้อไขของมันแล้ว มันจะเกิดอีกไม่ได้เด็ดขาด! ไม่มีทางที่จะเกิดได้อีกเลย

ไม่เกิดแล้วมันไปอยู่ไหนล่ะ อ้าว..ไม่ยอมไปนะ “โอ้โฮ ไม่ไปสวรรค์ เพราะสวรรค์ไม่มีใคร อยู่นรกอเวจีดีกว่า คนเยอะกว่า” นี่คิดกันไปโน่นนะ.. แล้วสวรรค์เวลาอยากมีความสุขเห็นไหม มันจินตนาการกันไป มันคิดของมันไป นี่ไงเพราะไม่มีอะไรล่ะ? ไม่มีปริยัติ!

ถ้ามีปริยัติขึ้นมา พระพุทธเจ้าบัญญัติเอาไว้แล้ว ธรรมและวินัยเห็นไหม ดูสิเวลาเราบัญญัติธรรมและวินัย นี่เป็นกรอบของเรา ปริยัติมันมีความสำคัญว่า เราไม่หลุดออกไปจากพุทธศาสนา พวกเราจะไม่หลุดออกไปจากพุทธศาสนานะ เพราะเราสิ้นสุดแล้ว มันจบกันที่พระพุทธเจ้า มันจบกับธรรมวินัย

หลวงตาท่านบอกว่า “อย่าเหยียบหัวพระพุทธเจ้าไป” นี่พูดธรรมะกันนะ แต่เหยียบหัวพระพุทธเจ้าไปเพราะข้ามธรรมวินัยไง อาบัติโน้นก็ไม่มี อาบัตินี้ก็ไม่เป็นไรๆ แต่พูดธรรมะนะ..พูดธรรมะนะ นิพพานๆ นะ แต่เหยียบหัวพระพุทธเจ้าตลอดเวลา นิพพานเหยียบหัวพระพุทธเจ้ามันเป็นนิพพานได้อย่างไร แล้วก็บอกว่าต้องปริยัติ

คำว่า “ปริยัติ” นี่คิดในกรอบ กรอบมันเป็นอย่างนั้น แต่นอกกรอบเราทำของเราได้ แต่นี่คำว่า “นอกกรอบ” เวลาปฏิบัติขึ้นมา เวลาอ้างขึ้นมาเห็นไหม ใครก็บอกเลยนิพพาน ทุกคนถึงที่สุดแห่งทุกข์หมดเลย แล้วเวลาเทศน์ธรรมะไปพวกนี้ก็อ้าปากนะ โยมนี้อ้าปากหวอเลย เอ่อ..เพราะมันไม่รู้ ไม่รู้มันก็โม้ไปสิ..

ดูอย่างที่ว่าเห็นไหม จิตดับไม่ได้ แล้วก็บอกว่าอะไรนะ เวลาปัญญามันจะเกิดนะ เป็นดวงๆ เห็นไหม ๓๐ ดวง ดูสิ เหมือนกับว่าพระป่านี้โง่ จิตมันจะรวมได้ไง จิตมันจะดับได้ไง จิตมันจะเป็นหนึ่งได้อย่างไร เพราะจิตขณะที่เกิด มรรคญาณมันเกิด จิตตั้ง ๓๐ ดวง ๔๐ ดวง ๕๐ ดวง ๑๐๐ ดวง มันก็ว่าของมันไปนะ

แต่เวลาครูบาอาจารย์ของเราเห็นไหม ธรรมจักร เวลาจักรมันหมุน เวลาปัญญามันเกิด เกิดอย่างไร นี่ปัญญายังไม่รู้เลย เพราะปัญญามันคนละขั้นตอนกัน ไอ้อย่างนี้มึงจำจนตาย ไอ้จิตกี่ดวง ๑๐๐ ดวง เพราะอะไร เพราะมันเป็นปริยัติไง ปริยัติใช่ไหม

จิตหนึ่งดวง จิต ๑๐๘ ดวง ขณะดวงนี้เกิด แต่ดวงนั้นดับ ดวงนี้ดับ ปัจจยาการไง มันเป็นไปได้ไหม มันเป็นอดีต-อนาคตไหม แต่เวลามันเกิดของเรามันเกิดพร้อมกัน เกิดเหมือนกัน เกิดรอบตัวของมัน มันมีครบกระบวนการของมัน

เหมือนอาหารนะ เหมือนแกง พอเราแกงเสร็จแล้ว ในแกงมันประกอบด้วยอะไรล่ะ มันก็มีเครื่องแกงใช่ไหม มีน้ำปลา ทุกอย่างอยู่ในแกงใช่ไหม แต่เราตักช้อนเดียว เรากินทีเดียว เรารู้รสไหม นี่ไง “โอ๊ย แกงนี้มันมีพริกแกงนะ มันมีกระชายนะ โอ๊ย ต้องแยกกระชายออกไปนะ” ...มึงจะบ้า!

นี่ไง เวลาปฏิบัติมันคนละมิติกัน ความคิดเวลามันเกิด มันเกิดคนละเรื่องเลยนะ มันเกิดคนละเรื่องเลย ถ้ามันเรื่องเดียวกันพระพุทธเจ้าไม่บัญญัติไว้! สุตมยปัญญา จิน-ตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา

ภาวนามยปัญญานี้ คนที่ไม่เคยเห็นภาวนามยปัญญามันจะพูดอะไรผิดไปหมดเลย มันพูดไม่รู้หรอก ผิดไปหมด เพราะอะไร เพราะเราพูดที่นี่ใช่ไหม แต่ใจเราไปเหนี่ยวรั้งปริยัติ ไปเหนี่ยวรั้งอภิธรรมไง กี่ดวงๆ กลัวพลาดไง มันกลัวมันจะตกเหว มันกลัวความคิดมันหายไป มันกลัวความคิดมันตกเหว มันถึงต้องเอาความคิดนี้ไปเกาะอภิธรรมไว้ อารมณ์อย่างนี้จะเป็นอย่างนี้ อารมณ์อย่างนั้นจะเป็นอย่างนั้น มันเลยไปไหนไม่ได้ไง

มันไปไหนไม่ได้เลย เพราะอะไร เพราะเหมือนเราขุดสระ เราขุดน้ำ เราจะเอาน้ำมาใช้ เราต้องหย่อนกระป๋องเพื่อจะโพงน้ำขึ้นมา ไอ้นี่มันลงไปไม่ได้ต้องอยู่ปากบ่อหมดเลย แล้วก็มองน้ำ มองน้ำนะ ลงไปไม่ได้ เพราะอะไร เพราะมันผิดอภิธรรม มันผิด ๑๐๘ ดวง มันผิดไปหมดนะ แล้วก็บอกยืนมองน้ำนะ “โอ้โฮ อิ่ม โอ้โฮ กินน้ำแล้วชื่นใจ โอ้โฮ นิพพาน โอ้โฮ น้ำนี่เข้ามาในตัวเรานะ โอ้โฮ มีความสุขมาก”

น้ำอยู่ก้นบ่อ! มันยังไม่ถึงก้นน้ำ มันยังไม่เอาน้ำขึ้นมาจากบ่อเลย มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้หรอก สิ่งที่เขาพูดมามันเป็นไปไม่ได้ แต่มันไม่มีใครโต้แย้ง แล้วคำว่า “โต้แย้ง”ก็ไม่มีการโต้แย้ง

แล้วพอเราโต้แย้งนะ เห็นไหม ดูสิ เขาบอกว่า “ธรรมะต้องมีความสามัคคีนะ พวกเราต้องสามัคคี ในความสามัคคี ความเป็นธรรมต่างๆ แล้วเวลาเขาบอกว่าต้องให้อภัยกัน ทุกอย่างเป็นธรรม”

ใช่ ให้เป็นธรรมนะ ความดีมันมีหลายหลาก ดูสิ เวลาเราพูด เมื่อก่อนเราพูดตั้งแต่ต้นมาแล้วเห็นไหม ใครก็ว่าเรารุนแรงมากๆ ไอ้รุนแรงมันส่วนรุนแรงนะ ขณะเวลาที่มันจำเป็นมันก็ต้องจำเป็น

แต่ขณะที่มันเพื่อความเข้าใจ เพื่อความถูกต้องมันก็จบกันไป ความจบกันไปแล้วความดีมันมีขนาดไหน ความดีทางโลกเห็นไหม ความดี ดีกันด้วยความออมชอม ด้วยความเห็นใจกัน อันนั้นมันก็ดีของโลกๆ

ถ้าดีของธรรมะนะ ดีของธรรม ดูสิ เวลาคนเจ็บไข้ได้ป่วยไปโรงพยาบาล เป็นเนื้อร้าย เป็นสิ่งต่างๆ ไปตัดทิ้งทำไม ก็เอามันไว้สิ...เอาไว้ไม่ได้ก็ต้องตัดมันทิ้งไป เพื่ออะไร เพื่อรักษาชีวิตใช่ไหม เสียสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ เสียสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต เสียสละชีวิตเพื่อรักษาธรรม

ธรรมะคือความถูกต้อง ความถูกต้องความจริงจังอันนี้มันอยู่ที่ไหน แล้วถ้ารู้จริงจะพูดจริงไหม แล้วถ้ามันพูดออกมามันพูดไม่จริง มันเป็นความจริงที่ต่ำต้อยมาก มันเป็นความจริงโลกๆ ไง โลกกับธรรม โลกียธรรม โลกุตตรธรรม

ทางวิชาการเราศึกษามาเห็นไหม ก็บอกแล้วว่าทางวิชาการสำคัญไหม? สำคัญ..สำคัญ..สำคัญ..ถ้าไม่สำคัญศาสนาจะยั่งยืนมาได้อย่างไร ผิดถูกเราลืม หรือเราฟั่นเฟือน เราเปิดธรรมวินัยได้ เราเปิดหนังสือได้ เพื่อให้มันถูกต้องดีงาม

แต่หนังสือนั้นเอ็งไม่เข้าใจหรอก เอ็งไม่รู้หรอก หนังสือเขียนว่าหวาน เขียนว่าเค็ม แต่ลิ้นเอ็งไม่ได้แตะรส ไม่มีทางหรอก หวาน เอ่อ หวานก็คือหวาน คุยหวานไว้ หวานๆๆๆๆ เหมือนกันเลย แต่ไม่เคยมีใครกินรสหวาน ไม่รู้ว่าหวานเป็นอย่างไร โอ้หวานๆๆๆ นะ หวานทั้งนั้นนะ แต่ไม่เคยกินน้ำตาล มันจะหวานได้อย่างไร มันจะหวานไปอย่างไร...ก็หวานนึกไง แล้วก็เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น แล้วมันก็หลากหลายมาก

ฉะนั้นมันเป็นไปไม่ได้ ถ้าเป็นไปได้นะ พระพุทธเจ้าไม่บอกภาวนามยปัญญาหรอก แล้วเวลาภาวนามยปัญญา เวลาขุดน้ำเจอน้ำแล้วนะ ไม่ต้องไปห่วงมันว่ามันจะลึกจะตื้นขนาดไหน กระโจนลงไปเลย ต้องเอาน้ำขึ้นมา ต้องคลุกกับน้ำ ต้องเอาน้ำขึ้นมาเพื่อเอาน้ำมาใช้ประโยชน์

นี่ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติแล้วไม่ต้องไปห่วง ไม่ต้องไปเหนี่ยวรั้งไว้ ไอ้เหนี่ยวรั้งไว้อย่างนี้มันกลัวตก มันกลัวผิดพลาด กลัวจะไม่เข้าใกล้ธรรมะไง กลัวจะพูดธรรมะไม่ชัดเจน! กลัวพูดธรรมะผิด!

นี่มันบอกจริงๆ แล้วในหัวใจมันว่างเปล่า ถ้าเป็นความจริงนะ ธรรมะออกจากใจมันจะผิดไปไหน จะเอาหัวชนฟ้าเอาหัวจิ้มดินขนาดไหนก็พูดถูกหมด พูดอย่างไรมันก็ถูกเพราะพูดออกจากความรู้สึก พูดออกมาจากความรู้อันนั้น พูดออกมาจากความรู้จริงอันนั้นมันเป็นความจริงทั้งหมด ถ้าพูดออกมาจากความไม่รู้จริงมันถึงเป็นความปลอม นี่มันปลอมอย่างนั้น

นี่ผู้ประเสริฐเห็นไหม ความดีของเราต้องดีจริง แล้วทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว เราทำดีของเรา สักวันหนึ่งความดีมันก็ต้องเป็นความดีวันยังค่ำ ทำความดีแล้วจะเป็นความดีเห็นไหม

เราตั้งใจของเรานะ เรามาประพฤติปฏิบัติกัน ความดีของโลกเขาก็ขยันหมั่นเพียร คนขยันหมั่นเพียรทางโลกเวลาเข้ามาทางธรรมก็ประสบความสำเร็จนะ คนที่อยู่ทางโลกก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะอะไร เพราะว่ามันจับจด ทำอะไรไม่เอาไหน คนไม่เอาไหนไปอยู่ไหนมันก็ไม่เอาไหน ถ้าคนเอาไหนไปอยู่ที่ไหนมันก็เอาไหนหมดนะ

คำว่า “เอาไหน” เห็นไหม ดูสิ มันสติปัญญา แล้วนี่เรามาแล้ว เราสำนึกตัวของเราเองเห็นไหม เราสำรวจ จะประพฤติปฏิบัติ จะดัดแปลงตน ในการประพฤติปฏิบัติคือบังคับจิตใจ บังคับ

เขาบอกว่า “บังคับไม่ได้ บังคับนี่เป็นอัตตกิลมถานุโยคทันทีเลย ต้องรู้ตัวทั่วพร้อมตามสภาพความเป็นจริง”...มันก็ไปคาอยู่นั่น มันเป็นไปไม่ได้หรอก

สติคือความระลึกรู้ คือความตั้งใจมั่น ความตั้งใจมั่นในมรรคมันมีพร้อมๆ มีบอกอยู่แล้ว สัมมาสติ สติคือความระลึกรู้ คือความตั้งใจมั่น แล้วความตั้งใจ ความจงใจคือตั้งสติ แล้วความจงใจก็ทำจงใจด้วยจิตลงสมาธิเกิดปัญญาด้วยความจงใจ ด้วยความตั้งใจ ความจงใจเกร็งคือความจงใจของกิเลส มันเกร็งมันทำให้ลงไม่ได้

แต่ความจงใจ ความตั้งใจของธรรมนะ มันจงใจ มันตั้งใจจนมันชำนาญ มันหมุนไปโดยสัจจะความจริงขึ้นมา มันคล่องตัวของมัน มันตั้งใจ จงใจ ตั้งใจก็เกร็งไง ตั้งใจมันก็เก๊กไง ตั้งใจมันก็อะไรลงไม่ได้ไง อันนั้นเพราะมันฝึกหัดใหม่ แต่คนทำงานคล่องตัวมาแล้ว ความตั้งใจ ความจงใจ นี่คือสติ

สังเกตได้ไหม เขาจะไม่เคยพูดถึงคำว่า “มหาสติเลย” เขาพูดถึงสติเป็นอนัตตา แต่เขาไม่พูดถึงมหาสติเลย

สติ..มหาสติ.. ครูบาอาจารย์จะบอกเลย “สติ มหาสติ สติอัตโนมัติ” สติมันจะเจริญไปเยอะแยะเลย แต่เขาไม่เคยพูดคำนี้เลย เพราะเขาไม่รู้จัก เขาไม่เคยเห็น ในตำราไม่ได้เขียนไว้ แต่ความจริงมีนะ ถ้าเราปฏิบัติจริงรู้จริงตามความเป็นจริงของเรา มันจะเป็นจริงในหัวใจเพื่อเรา เราปฏิบัติแล้วเห็นไหม ความจริงทางโลก ความจริงทางธรรม แล้วเราประเสริฐของเรา เพื่อตัวเรา เพื่อเป็นประโยชน์ของเรา เอวัง