เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๕ ก.ย. ๒๕๕๒

 

เทศน์เช้า วันที่ ๕ กันยายน ๒๕๕๒
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เขามาบอกว่า เขาไปอ้างว่าหลวงตาก็ดูจิตไง ว่าหลวงตาก็ดูจิต แล้วถ้าหลวงตาก็พูดถึงอยู่ แล้วเราก็พูดด้วย เพราะในซีดีเราก็บอกว่าหลวงตาก็เคยดูจิต เขาก็เลยสับสนกันใหญ่เลย เขาบอกให้เราพูดชัดๆ พูดชัดๆ เรื่องในการปฏิบัตินะ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา เป็นศาสนาแห่งเหตุและผล เป็นศาสนาแห่งการหาเหตุหาผล เห็นไหม

หลวงตาสอนว่า “เหตุและผลรวมลงแล้วเป็นธรรม”

มันมีเหตุมีผล มรรค ๔ ผล ๔ อรหัตตมรรค อรหัตตผล ทำไมมีนิพพาน ๑ ล่ะ? อรหัตตมรรค อรหัตตผล ขณะที่เป็นอรหัตตมรรค มรรคญาณมันเกิดขึ้น ขณะที่มันจะสำเร็จ เหมือนเช่นเราทำอาหาร ขณะที่มันจะสำเร็จ แล้วเราตักใส่จาน เห็นไหม ตักใส่จานเป็นหนึ่งเดียว แต่ขณะที่มันจะกำลังสำเร็จ อรหัตตมรรค อรหัตตผล มันเป็นเหตุเป็นผล แล้วนิพพาน ๑

ทีนี้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งเหตุและผล รวมลง เห็นไหม รวมลงคือเป้าหมาย ฉะนั้น ในการประพฤติปฏิบัติ นี่ในการประพฤติปฏิบัติ ในการค้นคว้า ในการกระทำ ผลลัพธ์ นี่ผลลัพธ์ที่ตามความเป็นจริง ถ้าผลลัพธ์ที่ความเป็นจริงมันมีขึ้นมา นี่เรื่องเหตุมันถูกหมดแหละ ถ้าผลลัพธ์มันไม่มี เห็นไหม ถ้าผลลัพธ์มันไม่มีแล้วเราทำอะไรกัน

ผลลัพธ์ไง นี่ว่างๆ สบายๆ นี่เพราะผลลัพธ์มันไม่มี เหตุผลนี่อธิบายมาไม่ได้หรอก แล้วเวลาเราพูดถึงนะ เขาบอกว่าการปฏิบัติของเรา ในการปฏิบัติของครูบาอาจารย์ การปฏิบัติของพระป่า การปฏิบัติที่ประพฤติปฏิบัติกันมา กำหนดพุทโธ พุทโธ ทำศีล สมาธิ ปัญญา ต้องเกิดสมาธิ เกิดสมาธิต้องเกิดปัญญา นี่สิ่งนี้ทำให้เราเนิ่นช้า สิ่งนี้ทำให้เราแบบว่ามันหลงทางกันมา นี่เขาบอกว่าในการดูจิตมันจะง่าย มันจะสะดวก มันจะสบาย นี่การดูจิตของเขาแบบว่าทำแล้วมันจะได้ผล แล้วมันได้ผลจริงหรือเปล่าล่ะ?

ถ้าได้ผล ทำไมเขาไม่บอกถึงเหตุที่การกระทำของเขา เห็นไหม เป้าหมาย ผลของเขาที่ได้รับ ถ้าผลที่ได้รับนะ คนที่มีผล นี่คนที่เป็นเศรษฐีนะ คนที่มีเงินมากเขาไม่อวดนะ แต่เงินเขาเต็มบ้านเลย เงินเขาเต็มบัญชี เงินเขาเต็มไปหมดเลย เพราะอะไร?

นั่นคือผลลัพธ์ สิ่งที่มันมีอยู่ใช่ไหม? แต่ถ้าเราบอกว่าเป็นเศรษฐีเลย แต่เรากู้ใช้ตลอดนะ เราไม่มีเงินเลย เราต้องกู้หนี้ยืมสินตลอด เราเป็นเศรษฐีไหม? เป็นเศรษฐีกู้เงินไง ไม่ใช่เศรษฐีแท้ไง เพราะเศรษฐีกู้เงินมันต้องใช้เครดิตใช่ไหมเพื่อจะไปกู้ยืมจากคนนู้นคนนี้ได้ ไม่อย่างนั้นเขาจะไม่ให้เรากู้ยืม เพราะเราไม่มีเครดิต เขาจะคิดดอกเบี้ยแพง ก็ต้องบอกว่าผลลัพธ์เราดี ผลลัพธ์เราดี

นี่เขาบอกว่าให้พูดชัดๆ เพราะเขาอ้างกันว่า “หลวงตาก็ดูจิต”

เราบอกว่า “ใช่ หลวงตาท่านเคยทำ แต่ท่านเคยทำแล้วมันไม่มีผล ผลมันรักษาไว้ไม่ได้”

เวลาท่านศึกษามาจนจบ เห็นไหม พรรษา ๙ จบเปรียญ ๓ ประโยคแล้วออกประพฤติปฏิบัติ นี่การที่ออกประพฤติปฏิบัติ ขณะที่ออกประพฤติปฏิบัตินั้นมาอยู่ที่จักราช นั่นน่ะท่านก็กำหนดของท่าน เพราะตอนนั้นท่านยังไม่ได้เข้าไปหาหลวงปู่มั่น ตอนนั้นหลวงตายังไม่ได้ไปหาหลวงปู่มั่น ท่านออกมาจากกรุงเทพฯ ท่านก็ไปปฏิบัติของท่าน ท่านก็กำหนดจิตเฉยๆ

ท่านบอกกำหนดจิตเฉยๆ ก็ดูจิตนี่แหละ แต่ท่านไม่พูดตรงๆ เพราะคนที่ผิดมาแล้ว พ่อแม่ที่ผิดมาแล้วไม่อยากให้ลูกผิด พ่อแม่ที่ผิดไปแล้วนะไม่ต้องการให้ใครทำผิดซ้ำ พ่อแม่ที่ผิดพยายามจะถนอมลูก ลูกเราอย่าให้เหนื่อยยากเหมือนเราเลย เพราะเราเหนื่อยยากมาแล้ว

นี่ก็เหมือนกัน มาอยู่ที่จักราชก็มาดูจิตอยู่นี่แหละ แล้วจิตมันเป็นสมาธิได้บ้าง พอเป็นสมาธิได้บ้าง นี่ไปทำกลดหลังหนึ่งแล้วเสื่อมหมดเลย พอเสื่อมหมดเลยก็ดูจิตใช่ไหม? ก็กำหนดจิต ท่านบอกตอนนี้ทุกข์ยากมาก ทุกข์ยากมาก เหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา กำหนดไปได้วัน ๒ วันมันก็สงบ แล้วครกนั้นก็ไหลทับเรามา ทุกข์มาก ทุกข์มาก.. ทุกข์เท่ากับจิตเสื่อมนี้ไม่มี

หลวงตาท่านบอกเลย ที่ท่านทุกข์มาก ทุกข์เรื่องจิตเสื่อม ทุกข์ที่สุดในชีวิตเลย เพราะเหมือนกับเรามีเงินมีทอง เห็นไหม แล้วเราหมดตัวเลย แล้วเราต้องไปหาเงินหาทองอีก มันทุกข์มากเพราะทำขึ้นมาไม่ได้ จนหลวงปู่มั่น พอดีท่านต้องไปเผาศพหลวงปู่เสาร์ ก็ปล่อยให้ท่านอยู่คนเดียว เห็นไหม นี่ตอนนั้นท่านยังไม่คุ้นเคย ท่านยังไม่สนิทชิดเชื้อกับหลวงปู่มั่น ก็ยังไม่มีหลักมีเกณฑ์ไง

ตอนนั้นท่านยังไม่มีหลักมีเกณฑ์ เห็นไหม พอท่านไม่มีหลักมีเกณฑ์ นี่ดูจิตแล้วเสื่อมไป ๑ ปีกับ ๖ เดือน แล้วมาดูจิตอยู่นี่มันไม่มีคำบริกรรม ไม่มีคำบริกรรมคือไม่มีจุดยืน ไม่มีจุดยืนคือมันรักษาตัวเองไม่ได้ ท่านก็ตัดสินใจว่าอย่างนั้นเรามากำหนดพุทโธ พุทโธ พอมากำหนดพุทโธ ๓ วันแรก..

นี่เห็นไหม โทษของมันอยู่ตรงนี้นะ ถ้าใครเคยดูจิต ใครเคยทำความสะดวกสบาย ใครเคยปล่อยตัวเองตามสบาย โดยไม่มีกติกา ไม่มีสิ่งใดบังคับตัวเอง พอมันจะบังคับตัวเองทุกข์มาก คนเรานี่เหมือนเด็กใจแตก คนเสียคน เหมือนเด็กติดยาเสพติด แล้วบอกให้มันหยุดมันจะทุกข์ขนาดไหน?

จิตมันเคยตัวของมัน มันเคยสะดวกสบายของมัน มันเคยดู เคยเร่ร่อนของมัน ตามสบายของมัน แล้วนี่คำสอนของเขาเขาบอกให้ดูเฉยๆ ดูตามไปเฉยๆ อย่าฝืน อย่าดื้อ ไม่ต้องตั้งสติ ไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น การตั้งสติคือผิดหมด ต้องดูตามไป เหมือนกับเราปล่อยลูกของเราให้มันทำตามใจตัวของมัน ลูกเรานี่จะโตขึ้นมาโดยให้มันอยู่ตามสบายของมัน ไม่ต้องมีกติกา พ่อแม่ไม่ต้องบังคับ ปล่อยมันตามสบายของมัน เห็นไหม แล้วพอจะมาบังคับ เด็กคนนั้นจะเป็นคนดีขึ้นมาได้ไหม?

จิตใจของเราปล่อยให้มันเสียหายกันไป ปล่อยมันไปตามสภาวะของมัน แล้วสภาวะของมัน นี่เด็กมันก็อ้อนเป็นธรรมดาของมัน เด็กมันก็ต้องการความสะดวกสบายของมัน เด็กมันเห็นเพื่อนมีอะไรมันก็อยากมีตามเขา มันอยากมีตามเขา แต่มันทำได้ไหม?

นี่ก็เหมือนกัน เห็นเขามีสมาธิๆ ก็ว่ากันไป นี่ดูจิตกันไป เห็นไหม ท่านบอกว่าท่านดูจิตมา จิตเสื่อมไป ๑ ปีกับ ๖ เดือน ตั้งแต่บวชมา ตั้งแต่ปฏิบัติมา ไม่มีทุกข์คราวใดทุกข์หนักหนาสาหัสสากรรจ์เท่ากับทุกข์จิตเสื่อมคราวนี้ มันเลยกลับมาพุทโธ พุทโธ.. พุทโธ ๓ วันแรกหัวใจแทบระเบิด เพราะมันปล่อยเคยตัว

จิตนี่มันปล่อยเคยใช่ไหม? ออกมาปฏิบัติ ออกมาจากเชียงใหม่ แล้วก็ออกมาจากจักราช มาจำพรรษาแรก พรรษาแรกนี่พรรษาที่ ๙ พรรษาที่ ๑๐ ปีนั้นท่านทุกข์มาก นี่เพราะมันยังเอาตัวเองไม่ได้..

คำว่าดูจิตของหลวงตานี่ท่านเคยดูมาแล้วผิดพลาด เราถึงมั่นใจมาก หลวงตาไม่เคยพูดเรื่องดูจิตเลย ใครไปหาท่านท่านจะบอก “ให้พุทโธอย่างเดียว” เพราะอะไร? เพราะท่านเคยผิดพลาดมาก่อน คนที่มีความผิดพลาดมาก่อน คนที่ทำเสียหายมาก่อน จะไม่สอนให้คนทำผิดเหมือนเรา จะไม่สอนให้คนทำผิดเหมือนเรา

นี่เพราะคนเคยผิดมา แล้วจะบอกนี่อ้าง ตอนนี้เขาอ้าง นี่ลูกศิษย์มาหาบอกหลวงพ่อพูดให้ชัดๆ สิ เพราะตอนนี้เขาบอกว่าหลวงตาก็ดูจิต แล้วหลวงพ่อพูดว่าดูจิตๆ พูดกำกวม เราบอกว่าเราไม่ได้กำกวมนะ เราพูดชัดเจน แต่เขาบอกว่าเขาลัดสั้นง่ายไง เราพูดลัดสั้น เหมือนกับเราเข้าใจไง เราก็พูดแต่เนื้อๆ ไง ไม่อธิบายเยิ่นเย้อไง

นี่ตอนนี้ลูกศิษย์เขาอ้างกัน อ้างว่า “หลวงตาก็ดูจิต หลวงพ่อก็พูดว่าดูจิตเหมือนกัน ฉะนั้น คำว่าดูจิตมันก็เป็นสายทางเดียวกัน มันก็ใช้แทนกันได้”

เขาไม่อ้างตรงๆ ไง เห็นไหม คนที่อ้างเขาจะไม่อ้าง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้าอ้าง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์มันชัดเจนเกินไป ก็จะอ้าง ๒๕ เปอร์เซ็นต์ หรือ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ บอกว่านี่หลวงตาก็ดูจิต มันเป็นสายทางเดียวกัน คือทำได้เหมือนกัน

นี่ไม่ใช่! ไม่ได้.. ไม่ได้เพราะอะไร? เพราะผลลัพธ์มันไม่มี ถ้าผลลัพธ์มันมี ทำไมเขาบอกว่าให้ดูจิตกันไปใช่ไหม? ดูจิตกันไป อย่าฝืน อย่าดึง แล้วเวลามันจะเป็น เห็นไหม มันจะเป็นโดยความไม่จงใจ.. เพราะนี่ผลลัพธ์ไม่มี คนถ้ามีผลลัพธ์นะ ใครทำหน้าที่การงาน กว่าตำแหน่งเราจะโตขึ้นมาได้ กว่าเราจะทำธุรกิจของเราขึ้นมาได้ เราจะผ่านอุปสรรคมาขนาดไหน? ไม่มีใครหรอกมันจะลอยมาจากฟ้า ไม่มี

นี่ก็เหมือนกัน ในการกำหนดพุทโธ การประพฤติปฏิบัติมันต้องมีเหตุมีผลของมัน นี่ดูไปเฉยๆ แล้วพอเวลามันเป็นนะมันไม่จงใจ คือมันเป็นอัตโนมัติ มันเป็นของมันเอง มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ คำว่าเป็นไปไม่ได้ ดูสิอยู่ดีๆ เขาจะให้เราเป็นผู้อำนวยการ ที่ไหนมีไหม? อ้าว.. อยู่ดีๆ กูให้มึง ๕ ขั้น อย่าว่าแต่ ๒ ขั้นเลย กูเอา ๕ ขั้นแจกเลย มีไหม? ไม่มีหรอก ไม่มี

อันนี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อผลลัพธ์มันไม่มีนะ แล้วนี่หลวงตาท่านถึงไม่เคยพูดว่าดูจิตเลย แต่เวลาท่านพูดเวลารวบรัด หรือพูดโดยความกระชับกับลูกศิษย์นะ

“เวลากลับบ้านให้ดูจิต ดูใจนะ ให้รักษาจิต รักษาใจนะ”

คำนี้เป็นคำที่ผู้ใหญ่เตือนเด็กนะ เหมือนเรานี่บอกลูกนะให้เป็นคนดีนะ ลูกนะให้ขยันหมั่นเพียรนะ

นี่ก็เหมือนกัน ให้เรารักษาจิต รักษาใจนะ ให้รักษามัน ให้ดูแลหัวใจของตัว ท่านพูดในทำนองนี้ ท่านพูดให้เราทำนองว่ารักษามันนะ เราตั้งสติรักษามัน ไม่ใช่ดูจิตอย่างนั้น แล้วถ้าดูจิตอย่างนั้น พอเวลาท่านผิดพลาดมาแล้ว ท่านถึงได้เขียนหนังสือออกมาว่า “ปัญญาอบรมสมาธิ”หลวงตาท่านสอนเรื่อง “ปัญญาอบรมสมาธิ” ท่านไม่ได้บอกว่าดูจิต!

หลวงตาเขียนด้วยนามปากกาด้วยหลวงตาเขียนเองว่า “พระมหาบัว ญาณสัมปันโน” เขียนเรื่อง “ปัญญาอบรมสมาธิ”

มันชัดเจนมากๆ แต่เขาก็เอาไปแอบอ้างกัน แล้วมันเป็นความจริงอย่างนี้ นี่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธินะมันเป็นความเห็นผิดไง ความเห็นผิดของเขา อย่างเช่นหลวงปู่ดูลย์ท่านสอน หลวงปู่ดูลย์ท่านจะพูดให้ ท่านก็จะบอกว่าปัญญาอบรมสมาธิ แต่ท่านพูดในทำนองที่ว่าความถนัดของท่าน ท่านพูดรวบรัดให้มันเป็นกระชับสั้นใช่ไหม? แล้วคนไปตีความผิด เช่น..

“คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ต้องหยุดคิด การหยุดคิดก็ต้องใช้ความคิด”

การหยุดนี่คือสมาธิ หยุดจิต จิตนี่หยุดได้ เพราะหลวงปู่ดูลย์ท่านพูดของท่านถูกนะ แล้วท่านพูดของท่าน ท่านไม่ได้พูดหมายความว่าให้ดูเพ่ง ให้ดูตามมันไป

ท่านบอกว่า “คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ต้องหยุดคิด แต่การหยุดคิดก็ต้องใช้ความคิด”

หลวงตาท่านบอกว่า “ปัญญาอบรมสมาธิก็ต้องใช้ความคิด”

นี่มันใช้ปัญญาไหม? นี่ปัญญาอบรมสมาธิ.. ความจริงแล้วถ้าคนเป็นแล้วนะเป้าหมายอันเดียวกัน แล้วมันมีเหตุมีผลรองรับ แล้วมันทำแล้วมันถูกต้อง เหมือนเหตุ มีเหตุมีปัจจัยมันส่งเสริมกันมา

“นี่คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ต้องหยุดคิด การหยุดคิดก็ต้องใช้ความคิด”

แต่เขาบอกว่า การหยุดต้องใช้ความคิด ก็คือการตามความคิดไป นั่นคือเขาให้ใช้ความคิดของเขา

แต่หลวงตาบอก “ไม่ใช่.. เป็นปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธิ”

แล้วหลวงปู่ดูลย์ท่านพูดอยู่ “ดูจิตๆ จนจิตเห็นอาการของจิต”

นี่จิตเห็นอาการของจิต จิตก็คือตัวจิตใช่ไหม? อาการของจิตคือขันธ์ ๕ วิญญาณขันธ์ที่เขาว่านั่นน่ะ หลวงปู่ดูลย์แบ่งไว้ชัดเจน หลวงปู่ดูลย์พูดไว้นี่ชัดเจนมาก ท่านแบ่งไว้หมดเลย

แต่! แต่ปัญญาคนมันไม่ถึง ปัญญาคนไม่ถึง ปัญญาของเขาไม่ถึง เขาเลยตีความอ่านโศลกของหลวงปู่ดูลย์ไม่ออก พอไม่ออกก็ใช้ปัญญาของตัว แล้วตอนนี้พยายามจะเคลมไง จะเคลมว่านี่หลวงตาก็ดูจิต ใครๆ ก็ดูจิต

ไม่ใช่หรอก ไม่ใช่.. เพราะอะไรรู้ไหม? มันเป็นขั้นตอนของมัน ขั้นตอนของมันนะ ถ้าทำความสงบของใจ เห็นไหม ศีล สมาธิ ปัญญา นี่คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ต้องหยุดคิด พอหยุดคิดก็ต้องใช้ความคิด พอหยุดคิด.. คนเรานี่นะ เวลาสำนึกถึงตัวเอง ทุกคนเคยทำผิดพลาดนะ แล้วถ้าเราสำนึกตัวเองเราจะมีความรู้สึกอย่างไร? เวลาเราทำผิดเข้าไป หรือเราหลงผิดไป แล้วมีคนเตือนขนาดไหนเราก็ไม่เชื่อ แต่วันไหนเราไปรู้ว่าเราผิด ในความรู้สึกของเราจะเป็นอย่างไร?

ความคิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ พอหยุดคิดมันสำนึกในตัวมันเอง จิตนี่ จิตเรานี่พอมันหยุดคิดมันจะรู้สึกตัวมันเอง มันจะสำนึกถึงตัวมันเอง พอสำนึกถึงตัวมันเองแล้วปั๊บ ความคิดอันใหม่นี่ เห็นไหม โลกุตตรธรรมมันจะออก

คนเรานี่ ทุกคนเคยผิดพลาดมา ทุกคนเคยทำความผิดมา แล้วความผิดนั้น เวลาเราคิดถึงความผิดของเรา เราเสียใจไหม? เราสำนึกตัวไหม? หยุดคิดนี่เป็นอันนั้น หยุดคิดนี่ คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ นี่ทำของมันไปเรื่อยๆ ตามธรรมชาติของมันไป มันดิ้นรนของมันไป ถ้ามันหยุดคิด พอหยุดปั๊บมันสำนึกตัว สำนึกตัว

นี่ไง หยุดคิดคือสมาธิ หยุดคิดคือตัวตน หยุดคิดคือเข้ามาถึงตัวเรา แล้วมันใช้ปัญญาของมันออกไป ถึงบอกว่าหลวงตาท่านไม่ได้ดูจิต แล้วเราก็บอกว่าดูจิตผิด ดูจิตผิด.. ความจริงแล้วหลวงปู่ดูลย์ท่านจะพูดเต็มๆ ว่าปัญญาอบรมสมาธิ เพราะท่านบอกว่า

“ดูจิตจนจิตเห็นอาการของจิต! จิตเห็นอาการของจิต แล้ววิปัสสนามัน วิปัสสนาไป”

วิปัสสนามัน คำว่าวิปัสสนาคือใช้ปัญญาไป ไม่ใช่ดูแล้วพอถึงที่สุดเราดูจบกระบวนการได้ ไม่มี ไม่มี ไม่มี.. เป็นไปไม่ได้ นี่คือทฤษฎี คือข้อเท็จจริง แต่เวลาผลลัพธ์ของเขา พอผลลัพธ์เข้ามานะ เขาว่าดูจิตไปไม่เจาะจง มันจะลงสัมมาสมาธิ เห็นไหม

คำว่าสัมมาสมาธิ เพราะมรรค ๘ มันมีสัมมาสมาธิ คือต้องอ้างว่าเป็นสมาธิ แต่มันไม่ใช่ มันเป็นการเผอเรอ เผลอปั๊บสติจะมาเอง ตกใจปั๊บสติจะมาเอง สติห้ามฝึก อ้าว.. มันก็เป็นไปไม่ได้หรอก เผลอปั๊บตังค์ของคนอื่นจะมาอยู่ในกระเป๋าเรา เผลอปั๊บนะ เงินในแบงก์จะไหลมาเข้ากระเป๋าเราหมดเลย โอ้โฮ.. เป็นไปไม่ได้หรอก ไม่มี ไม่มี เผลอปั๊บสติมาเอง เอาที่ไหนมา?

นี่ไงเหตุมันไม่เหมือนกัน เห็นไหม นี่แล้วเวลาใช้ปัญญานะมันเป็นพยายามจำสภาวธรรม จดจำสภาวธรรม จดจำบ่อยๆ เข้า จิตดวงหนึ่งจะเข้าใจจิตอีกดวงหนึ่ง จดจำสภาวธรรม จดจำ! จดจำคือสัญญา จดจำคือก๊อบปี้ พอถึงเวลาปัญญาจะเกิด.. เกิดเองอีกแล้ว เกิดเองอีกแล้ว เกิดเอง เกิดเองคือลอยมาจากฟ้า

จะบอกว่าไม่มีหรอก เพราะลูกศิษย์เขามาพูด บอกหลวงพ่อพูดให้ชัดๆ เขาอ้างว่าหลวงตาก็ดูจิต ใครๆ ก็ดูจิต ถ้าดูจิตก็เคยทำมา เคยทำมาก็คือเส้นทางเดียวกัน คือไม่เสียหาย ไปด้วยกันได้.. เคยทำมา เราเกิดมาตั้งแต่เป็นเด็ก เราเกิดมานี่เราเคยหกล้มไหม? เราเคยเจ็บช้ำน้ำใจบ้างไหม? ทุกคนเคยหมด

คนที่ปฏิบัติมาก็เหมือนกัน เริ่มต้นมันยังจับทางไม่ได้ มันก็ต้องพยายามหาทางนั่นแหละ คือว่าเคยทำมาก็รู้ว่าผิดไง เคยทำมาแล้วผิด พอเห็นผิดแล้วท่านจะไม่สอนอย่างนี้เด็ดขาด เรามั่นใจล้านเปอร์เซ็นต์เลยว่าหลวงตาไม่สอนเด็ดขาด เพราะท่านได้เจ็บช้ำ ท่านบอกเลย

“ทุกข์คราวใดเท่ากับจิตเสื่อมในชีวิตนี้ไม่มี”

แล้วจะสอนให้คนไปเจอความทุกข์อย่างนั้นในหัวใจของท่าน มันเป็นไปไม่ได้! มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ คนเรามันเคยทุกข์มา ท่านพูดประจำนะ “ทุกข์ตั้งแต่ในการปฏิบัติมา ไม่เคยมีทุกข์ใดเท่ากับจิตเสื่อม ๑ ปีกับ ๖ เดือนนี่ฝังหัวใจนัก”

ท่านทำแล้วผลตอบสนองคือจิตเสื่อม จิตไม่มีหลัก ไม่มีที่ยึด แล้วท่านจะสอนคนดูจิต มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้! เอวัง