เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๗ ก.ย. ๒๕๕๒

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๒
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

อ้าว.. ตั้งใจฟังธรรม ธรรมะเป็นอาหารของใจ อาหารของใจที่ไหน? อาหารของใจเพราะมันสะดุดใจไง มันแทงใจดำเราไง เราอยู่กับมันคุ้นชิน ความคิดนี่มันสะสมอยู่ในหัวใจเรา หมักหมมจนเคยชิน ธรรมะเข้าไปกระทุ้งมัน ไปทำมัน ไปตีแตกมัน ตีแตกออกมา

เช่น ไฟเห็นไหม ไฟนี่มีประโยชน์มากในการดำรงชีวิตในความเป็นอยู่ แต่ไฟมันก็เผาผลาญทำลายโลกนะ มันทำลายทุกอย่าง โบราณมานี่เราไม่มีไฟ เรากินอาหารดิบๆ กัน แต่เพราะมีไฟ ไฟมันเป็นประโยชน์นะ เรารู้จักใช้สอยมันเป็นประโยชน์ แต่ถ้ามันลัดวงจรมันเผาผลาญนะ ดูไฟป่าสิมันเผาผลาญไปทั้งหมดเลย

จิตของคนก็เหมือนกัน จิตของคนนะมันมีดีและชั่ว ถ้ามันทำดี มันทำดีได้มหาศาล เวลาทำดีขึ้นมา นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสละทุกอย่างเพื่อพระโพธิสัตว์ เพื่อโพธิญาณ แต่ถ้าคนมันทำลายนะ จิตใจของคนมันทำลายหมดเลย มันทำลายทุกๆ อย่างไง มันถึงต้องมีศีลธรรมจริยธรรมเป็นเครื่องบรรเทา เครื่องยับยั้งมันก่อนไง

เริ่มต้นคือการยับยั้งนะ ยับยั้งจนที่สุด ถ้ายับยั้งมันถึงที่สุด ถ้าทำของมันได้นะ ถึงที่สุดมันพ้นไป เห็นไหม มันพ้นไปจากดีและชั่ว.. ความดีมันก็ติดดีไง ติดดีแก้ยากกว่าติดชั่ว ติดดีนี่ทำดีมันผิดตรงไหน? คนทำความดีมันผิดตรงไหน? คนทำความดี ความดีเป็นความดี ความดีเป็นความถูกต้องดีงาม แต่มันดีของใครล่ะ? มันดีของใคร? มันดีของอวิชชา เห็นไหม

คำว่าอวิชชาคือมันไม่รู้ ความไม่รู้ คนหลงคือไม่รู้ คนไม่รู้ไม่หลง หลงคือไม่รู้ ไอ้ไม่รู้คือความหลง ความหลง หลงไปในความเห็นของตัว หลงไปในทิฏฐิมานะของตัว ความเห็นของตัวนั้นล่ะมันเป็นความหลง สิ่งที่ได้มา สิ่งที่ศึกษาธรรมมานี่ธรรมของใคร? ธรรมเป็นธรรมสาธารณะใช่ไหม? ธรรมเป็นประโยชน์ใช่ไหม?

อย่างเช่นว่าธรรมะเป็นธรรมชาติ.. นี่การเกิด การตายก็เป็นธรรมชาติ ความดีความชั่วก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง ธรรมชาติทั้งนั้นแหละ แต่สิ่งที่มันพ้นไปจากธรรมชาตินี่ พาหนะที่เราใช้มา ถ้าเราไปติดว่าเป็นของเรา เราจะขึ้นมาบนศาลานี้ไม่ได้เลย เราจะยึดมันติดนั่นเลย แต่ถ้าเราวางมันไว้นะ เราทิ้งมันขึ้นมา เห็นไหม จิตมันพ้นจากดีและชั่ว ความดีที่มันติดข้องของมัน นี่ความดีอย่างนี้มาจากไหนล่ะ?

ความดีมาจากการฝึกฝนนะ ฝึกฝนที่เราทำกันนี้ เราพยายามทำของเรา อย่างเช่นการสละทาน เห็นไหม การเสียสละนี่ ทางโลกเขาบอกว่าการเสียสละมันจะเสียสละที่ไหน? เสียสละอย่างไร? พระพุทธเจ้าบอกว่า

“ถ้าเสียสละนะ เริ่มต้นนี่เธอพอใจที่ไหน เธอควรทำบุญที่นั่น”

เพราะความพอใจของเรา เพราะเรานี่มันคนมืดบอด เห็นอะไรที่มันพอใจ มันมีความศรัทธามันอยากทำ แต่ถ้าเอาผลล่ะ? เวลาถามพระพุทธเจ้านะ

“ถ้าเอาผลล่ะ?”

“ผลต้องวัดกันที่เนื้อนา” เห็นไหม ถ้าเอาผล

“แต่ถ้าเธออยากทำบุญ เธอควรทำบุญที่ไหน?”

“ควรทำบุญที่พอใจ”

พอใจเพราะอะไร? เพราะกิเลสมันตระหนี่ กิเลสมันยึดมั่นในตัวมันเองมาก ถ้ามีความพอใจรีบทำ กิเลสมันเผลอพักหนึ่งต้องรีบๆ ทำ

“เธอพอใจที่ไหนควรทำที่นั่น”

แต่ความพอใจนี่ ความพอใจของเรามันไม่เป็นความจริง ความพอใจ เห็นไหม ถ้าจะเอาผล วัดผลๆ วัดผลต้องเอาที่เนื้อนา เพราะเนื้อนามันจะตอบสนองสิ่งนั้นกลับมา

“ปฏิคาหก! ผู้ให้ให้ด้วยความบริสุทธิ์ ผู้รับรับด้วยความบริสุทธิ์”

ผู้ให้ เห็นไหม เราได้มาสิ่งใด สิ่งใดเราจะบริสุทธิ์ผุดผ่องขนาดไหน ผู้รับล่ะ? นี่ผลของมันคือข้อเท็จจริงของมัน แต่อย่างเรานี่ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราบริสุทธิ์ผุดผ่องขนาดไหน ผู้รับจะบริสุทธิ์ผุดผ่องขนาดไหน เรารู้ได้อย่างไร? เรารู้ไม่ได้.. เรารู้ไม่ได้เพราะอะไร? เพราะเรามืดบอด เรามืดบอดนะ แต่! แต่ถ้าหูตาสว่างมันเข้าใจได้ มันเห็นได้ มันรู้ของมันได้ มันรู้ของมันได้เพราะอะไรล่ะ? เพราะการฝึกฝนทั้งนั้นไง เพราะการฝึกฝน เพราะการกระทำ

ถ้าเราฝึกฝน เห็นไหม ของที่เราได้สัมผัส ของที่เราได้รู้ สันทิฏฐิโก เรารู้อยู่ของเรา ถ้าเขาพูดคลาดเคลื่อนไปจากสิ่งที่เรารู้นี่มันเป็นความถูกต้องจริงไหม? มันถูกต้องจริงเป็นไปไม่ได้ มันถึงให้เชื่อมั่นตรงสันทิฏฐิโกไง อาหารที่เราลิ้มรสนี่ อร่อยหรือไม่อร่อยเรารู้ของเรา เขาจะขึ้นป้ายร้อยป้ายพันป้ายก็เรื่องของเขา ก็เขาขึ้นป้ายว่าที่นี่อร่อยมาก ที่นี่สุดยอดมาก มันก็เรื่องของเขา แต่เราได้ลิ้มรสหรือเปล่าล่ะ? เราได้ลิ้มรสหรือเปล่า? เราได้สัมผัสในลิ้นของเราหรือเปล่า?

นี่สันทิฏฐิโก รู้จริงเห็นจริงกับใจของตัว รู้จริงเห็นจริงกับการประพฤติปฏิบัติความจริงของเรา ถ้าเป็นความจริงของเรา เห็นไหม นี่สิ่งต่างๆ อันนี้มันเกิดขึ้นมาจากไหนล่ะ? ก็เกิดขึ้นมาจากการวุ่นวายนี่แหละ เราเกิดมากับโลกนะ จะไม่วุ่นวายไม่ได้หรอก เพียงแต่ศีลธรรม จริยธรรมนี่ทำให้มันเรียบง่าย ธรรมของพระพุทธเจ้าเรียบง่ายที่สุดเลย เรียบง่าย แต่ถ้าทำให้มันยากนะมันโคตรยากเลย ทำให้มันยากนะ พิธีกรรมนี่จะให้มันยากนะยากน่าดูเลย พิธีกรรมขั้นตอนเยอะมากเลย แต่ถ้าทำให้เรียบง่ายไง ทำให้เรียบง่ายมันก็เรียบง่าย มันอยู่ที่หัวหน้าพาทำให้เรียบง่ายหรือไม่เรียบง่าย

อยู่กับครูบาอาจารย์ท่านพูดบ่อย เวลาถวายทานกันทีหนึ่งนะ อ้าว.. นั่งพัดกันจนโอ้โฮ.. แมลงวันมันไข่มันฟักเป็นตัวนะ ยังกล่าวคำถวายทานไม่จบเลย ถ้าถวายทานจบแล้ว โอ้โฮ.. ได้บุญมากเลย กินไข่แมลงวันไปเต็มท้องเลย แต่ถ้าเราถวายของเราเลย เห็นไหม เราถวายของเรา เราทำของเราโดยเจตนาของเรา

เราเป็นผู้ใหญ่นะ เราเป็นวัดปฏิบัติ เป็นผู้ใหญ่หมายถึงจิตใจมันเข้มแข็ง จิตใจเข้มแข็งเรามีความศรัทธา มีความเชื่อของเราอยู่แล้ว เราให้ด้วยความมั่นใจของเรานะ นี่ปฏิคาหก ขณะให้ ให้แล้ว แต่ถ้าเราอ่อนแอนะ โอ้โฮ.. ยังไม่ได้ถวายเลยนะ โฮ้.. ก็ลังเลเนาะ โฮ้.. มันจะไม่ได้บุญหรอกเนาะ โอ้โฮ.. ต้องกล่าวคำถวาย ๕ ปีเนาะ

นี่เพราะอะไร? เพราะเราอ่อนแอ เราลังเลถึงพิธีกรรมเพื่อมาตัดความกังวลอันนี้ แต่ถ้าเราเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาแล้วนะ เรามั่นคงของเรามาตั้งแต่บ้าน เรามีศรัทธาไหม? เรามีความเชื่อในพุทธศาสนาไหม? พุทธศาสนานี่ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ปัญญาของใครล่ะ? ปัญญาของเรา แล้วปัญญามันมีหลากหลายนัก

เวลาปัญญานี่หลวงตาท่านพูดบ่อย เวลาพูดถึงขั้นของปัญญามันเหมือนเรด้า ไม่มีขอบเขต ไม่มีขอบข่าย ปัญญามันจะกระจายไปได้ทั่ว แต่ขั้นของสมาธิ เห็นไหม น้ำเต็มแก้ว นี่พยายามทำความสงบของใจเข้ามา ฐานของใจมันล้นฝั่ง มันมีขอบเขตของมัน นี่ความสงบของใจ.. ความสงบของใจ เห็นไหม เหมือนเรานี่ หน้าที่ของเรา สิทธิของเรา ความเป็นอยู่ของเรา ในสิทธิของใจมันมีอำนาจวาสนามาหลากหลายแตกต่างกันนะ

คนเรานี่นะจริตนิสัยไม่เหมือนกัน ความชอบ ความพอใจ มุมมอง ทิฏฐิมานะหลากหลายนัก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงวางไว้ ทำความสงบของใจด้วยวิธีการ ๔๐ วิธีการ กรรมฐาน ๔๐ ห้อง การทำความสงบของใจยังมีหลากหลายขนาดนั้น แล้วขั้นของปัญญาไม่มีขอบเขตเลย แต่คำว่าไม่มีขอบเขตนี่ ถ้าคนมีครูบาอาจารย์นะ.. สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา ปัญญาของโลกุตตรปัญญา ปัญญาของการชำระกิเลสโลกนี้ไม่เคยมี ในโลกนี้ไม่มี ถ้าในโลกนี้มีนะ คนๆ นั้นจะเป็นอริยบุคคลไปแล้ว ในโลกนี้ไม่มี การศึกษาของเรานี่ศาสตราจารย์ดอกเตอร์ขนาดไหน รอบรู้จักรวาลไปหมดเลย ขนาดไอน์สไตน์นะเขาจะตายเขายังบอกเลย ถ้าเขาเลือกได้เขาเลือกนับถือศาสนาพุทธ ทั้งๆ ที่เขาเป็นเจ้าของทฤษฎีทั้งหมดนะ!

เหมือนกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปรื้อค้นขึ้นมา นี่สิ่งที่มีอยู่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อค้นขึ้นมา นี่ทฤษฎีสัมพัทธภาพก็มีของมันอยู่แล้ว ไอน์สไตน์ไปรื้อค้นขึ้นมา เห็นไหม เขาเป็นเจ้าของทฤษฎีเลย ทฤษฎีทางโลก แล้วเขาตายไปด้วยอะไร? ด้วยความว้าเหว่ ด้วยความผูกพัน ด้วยความยึดมั่นถือมั่นของใจ เพราะคนตายนะ เวลาจิตมันตายมันมีขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันมีความคิด มีความรู้สึก

จิตพลังงานเฉยๆ ความรู้สึกอันนั้นมันตายไปพร้อมกับพลังงานนั้น พลังงานที่มันสะอาดบริสุทธิ์คือนิพพาน แต่พลังงานที่มันมีทิฏฐิมานะ มีความรู้ความเห็น เห็นไหม มีความรู้ความเห็น มีความกังวล เราต้องพลัดพรากจากชีวิต เราต้องพลัดพรากจากมรดกของเรา เราต้องพลัดพรากจากครอบครัวของเรา เราต้องพลัดพรากจากโลกนี้ไป จิตใจว้าเหว่ไหม? จิตใจมีความกังวลไหม? ตายไปพร้อมกับความทุกข์ยาก เห็นไหม ถ้าคนเรายังตายไปพร้อมกับความยึดมั่นถือมั่น ความยึดติด ความต่างๆ

นี่พูดถึงปัญญาทางโลกไง แต่ถ้าเป็นโลกุตตรปัญญา เห็นไหม โลกทัศน์ โลกคือเรา โลกคือหมู่สัตว์ โลกคือภวาสวะ โลกคือภพ โลกคือจิต! โลกนี่ โลกนอกๆ ไอ้โลกที่เป็นอจินไตย โลกที่เป็นผืนแผ่นดินที่เราเหยียบอยู่เนี่ย โลกนี่มันเป็นธรรมชาติของมัน

โลกทัศน์ โลกภพ ภวาสวะ ภพ ฐีติจิต มันอยู่ที่ไหน! รื้อค้นตรงนี้ ถ้าเราล้างภพล้างชาติมันมาล้างกันตรงนี้ ล้างกันตรงต้นของความคิด ความคิดเกิดบนอะไร? ความรู้สึก ความทุกข์ความยากเกิดบนอะไร? เกิดบนสถานที่ตั้ง สถานที่ตั้งคือภพ คือภวาสวะ คืออาสวะ ๓ กิเลสสวะ อวิชชาสวะ ภวาสวะ.. ภพๆๆๆ ภพอยู่ไหน? ภพชาติก็ชาติไทยไง ชาติไทย ชาติลาว สัญชาติไง สัญชาติมันเปลี่ยนแปลงได้ แต่ภพชาติอันนี้จะเกิดที่ไหนมันก็ของเรานะ นี่เราต้องแก้ไขที่นี่ เราต้องทำที่นี่ นี่พุทธศาสนาไง

พุทธศาสนา เห็นไหม หลวงตาท่านพูดบ่อย เหมือนกับห้างสรรพสินค้า มีสินค้าหลากหลายมาก เราไปวัดไปวา เราไปศึกษาเราก็เลือกเอา เราเลือกเอา เราคัดเลือก เราพยายามแสวงหาของเรานะ แล้วสิ่งที่เป็นประโยชน์กับเราที่สุด เราเข้าไปในห้างสรรพสินค้า สินค้าในห้างสรรพสินค้านั้นเราไม่จำเป็นต้องใช้ซักอย่างหนึ่งเลย แล้วอะไรบ้างที่เราจำเป็นต้องใช้ อะไรบ้างที่เราจำเป็นต้องใช้

นี่ก็เหมือนกัน ในพุทธศาสนานี่พิธีกรรมหลากหลายนัก แล้วอะไรที่มันถอนทุกข์เรา อะไรที่เป็นประโยชน์กับเราล่ะ? ห้างสรรพสินค้าเข้าไปนะ สินค้าไม่จำเป็นต้องใช้เลย ซื้อมันเหมามาเก็บไว้ในตู้ให้หมดเลย แล้วได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา แต่ความจำเป็นกับชีวิตเรานี่มันมีอะไรบ้าง พุทธศาสนาเหมือนห้างสรรพสินค้าเลย ตั้งแต่มีทาน มีศีล มีภาวนา เข้าไปทำหลากหลายนัก แล้วเราต้องการอะไร? เราต้องการอะไร? เราอยากได้อะไร ทำไมเราไม่แสวงหา

พระไตรปิฎกในตู้พระไตรปิฎกเป็นพระไตรปิฎกนอกนะ พระไตรปิฎกในคือตู้หัวใจของเรานี่แหละ พระไตรปิฎกนอกมันก็ชี้เข้ามาที่พระไตรปิฎกใน พระไตรปิฎกในก็คือหัวใจของเรา แล้วเราจะรื้อค้นมันอย่างไร? เราจะเปิดตู้พระไตรปิฎกของเราอย่างไร? หาตู้พระไตรปิฎกเจอไหม? หาภวาสวะเจอไหม? หาฐีติจิตเจอไหม? หาความเป็นจริงเจอไหม? แล้วเปิดตู้พระไตรปิฎกในหัวใจออกมา! ธรรมะมันจะออกมา ธรรมะมันจะเป็นความจริงขึ้นมาจากการประพฤติปฏิบัติของเรานะ ให้เป็นความจริงของเรา

นี้พุทธศาสนาเริ่มต้นตั้งแต่การตั้งสติ การทำดีของเรานี่แหละ ทำดีขึ้นมาก็เพื่อเรานะ นี้พุทธศาสนานะ เราเป็นชาวพุทธ ศาสนาพุทธนี่ประเสริฐมาก แต่เราลูบๆ คลำๆ กัน แล้วครูบาอาจารย์ที่คอยชี้นำก็ลูบๆ คลำๆ กัน ใส่แว่นตาดำ ใส่แว่นสีกัน ตาบอดสี ตาเอียงกัน แล้วก็มาเถียงกัน แล้วใครเป็นคนเห็น ใครเป็นรู้ล่ะ?

นี่พุทธศาสนานะ เราตั้งใจของเรา เพื่อประโยชน์กับเรานะ เรามาทำบุญกุศลแล้วนี่บุญ นี่ธรรม ธรรมคือความสัมผัสกับใจ เห็นไหม ที่พูดนี่เป็นธรรมะ แต่เวลาถวายทานมาเป็นวัตถุ เป็นอาหารเพื่อดำรงชีวิต แต่หัวใจต้องการธรรมะ ต้องการปัญญา ต้องการความรู้เพื่อมากะเทาะมันไง เคาะไปที่หัวใจ หาตู้นี้ให้เจอแล้วเปิดตู้นี้ได้จะเป็นประโยชน์กับเรา เอวัง