เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๒ ต.ค. ๒๕๕๒

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๒
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เขาคุยธรรมะ เวลาผู้ปฏิบัติมาเขากำหนดของเขา กำหนดของเขานี่เป็นดวง แต่เก็บมาเป็นดวงไง เก็บมาแล้วเป็นอยู่ที่ดวงนั้นนาน แล้วเข้าไปในดวงนั้น ถอยเข้าออกดวงนั้น ถอยออกเข้าดวงนั้นอยู่อย่างนั้นแหละ เขาบอกอยู่อย่างนั้นมา ๑๑ ปี

เราบอกว่าถ้าคนเป็นนะ ถ้ากำหนดแล้วถ้าเป็นดวงมันเป็นกสิณ ถ้าเป็นกสิณ เราเพ่งกสิณแล้ว กสิณขาว กสิณแดงต่างๆ กสิณนั้นน่ะ แล้วพอจิตมันสงบแล้วกสิณขยายให้เล็กให้ใหญ่ได้ ถ้ากสิณนะมันจะขยายให้เล็กให้ใหญ่ได้ แล้วถ้าเรามีกำลังเราต้องดึงสิ่งนั้นเข้ามาที่เรา..ดึงสิ่งนั้นเข้ามาที่เรา พอดึงสิ่งนั้นเข้ามาที่เรา พอมาถึงจิต พอเข้ามาเป็นจิต เห็นไหม เพราะว่าเขาบอกว่าจิตเป็นสองใช่ไหม

หลวงตาบอกจิตเป็นสอง ความรู้สึกกับความคิด เรากำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ นี่จิตเป็นสอง พุทโธ พุทโธ พุทโธ จนจิตเป็นหนึ่งได้

เขาว่าจิตเป็นหนึ่งไม่ได้ ความคิดเรา อารมณ์ความรู้สึกนี่อันหนึ่ง แต่ตัวจิต ตัวรู้สึกเฉยๆ อันหนึ่ง ตัวพลังงานอันหนึ่ง แต่ความรู้สึกนี่ สัญญาอารมณ์นี่ทุกคนเป็นสองโดยธรรมชาติ อันนี้ก็เหมือนกัน พอจิตเป็นดวง นี่เราเป็นคนเห็นดวง เห็นไหม เราเป็นคนเห็น เพราะจิตนี่ ธรรมชาติของจิตมันอันหนึ่ง แล้วเราไปเห็นดวงอันนั้น แล้วเราส่งจิตออกไปในดวงนั้น เข้าไปในดวงนั้น ทะลุดวงนั้นไปเข้าไปสู่ในดวงนั้น

แต่ถ้าจิตเราอยู่ เห็นไหม กำหนดดวงนั้น พอจิตมันเริ่มสงบมันจะเห็นสภาวะของมัน นี่อุปจารสมาธิ แล้วถ้ามันน้อมดวงนั้นเข้ามาที่เรา ถ้าสิ่งนั้นถ้ามีกำลังนี่รำพึงในสมาธิ ใครทำสมาธิแล้ว พอจิตสงบแล้วจะรู้จักว่านี่เราควบคุมได้ ถ้าเป็นสมาธิควบคุมได้คือมีสติ สติเขาเรียกรำพึง

มันเหมือนความคิด แต่ไม่ใช่ความคิด ถ้าเป็นความคิดมันเป็นปกติอย่างนี้ แต่ถ้าเป็นในสมาธิเขาเรียกรำพึง รำพึงนี่น้อมมันเข้ามา น้อมมันเข้ามา พอสิ่งนั้นถ้ามีกำลังมันจะหดเข้ามาถึงตัวมันเองได้ ถ้าหดเข้ามาได้เป็นหนึ่ง เห็นไหม พอจิตเป็นหนึ่ง จิตสว่าง ความสว่างนี้ตกลงที่ไหน นี่ความรับรู้ต่างๆ ไปถึงที่นั่น

เพราะเราบอกว่าให้มีกำลัง ให้ดึงกลับมา แต่เขาไม่เข้าใจ เขาไปตั้งไว้แล้วส่งจิตออกไป ส่งจิตออกไปในดวงนั้น เห็นไหม นี่ส่งออก ส่งจิตออกไปในดวงนั้น เข้าไปในดวงนั้น เลยไม่เห็นสิ่งใดเลยเพราะสิ่งนั้นเป็นนิมิต เวลาเราลืมตาเห็นภาพสิ่งใด ตาเราเห็นภาพใช่ไหม จิตมันรับรู้ไง จิตมันไม่มีตา แต่จิตมันรับรู้ได้ด้วยธรรมชาติของมัน มันออกไปรับรู้ดวงนั้น มันส่งออกไปดวงนั้น

แต่ถ้าจิตมันสงบเข้ามา แล้วดึงสิ่งนั้นเข้ามา ดึงสิ่งนั้นเข้ามาถึงตัวมัน มันจะรับรู้สิ่งต่างๆ รับรู้สิ่งต่างๆ นี้เป็นอภิญญา แต่ถ้าเป็นอริยสัจ เห็นไหม พอจิตมันสว่างเข้าไปแล้ว จิตมันรับรู้นี่เป็นหนึ่ง พอจิตเป็นหนึ่งจิตกำหนดให้ดูอริยสัจ

อริยสัจ กาย เวทนา จิต ธรรม.. ถ้าเห็นกายอันนั้น พอเห็นกาย ใครเป็นคนเห็น? เราเห็นดวงแก้วนี่ เราเห็นเป็นดวงทำไมจิตมันส่งออกล่ะ แต่เราไปเห็นกาย ทำไมมันส่งออกไหม นี่ขณะที่เราไปเห็นดวงเราส่งออกเพราะอะไร เพราะสิ่งนั้นมันเป็นนิมิต มันเป็นความรับรู้

มันเหมือนกับเรานี่ ทางวิชาการเราไม่เข้าใจ เราปฏิบัติไปทางวิชาการเราไม่รู้ แต่เราปฏิบัติไปมันเป็นประสบการณ์ แต่เราเรียนทางวิชาการมาก่อน พอเราเรียนทางวิชาการมาเรารับรู้แล้ว พอเวลาประสบสิ่งใดทางวิชาการเราเทียบได้เลยว่าสิ่งนั้นคืออะไร สิ่งนั้นคืออะไร

จิตมันไม่เคยสงบมาก่อน มันเหมือนกับมันไม่เป็นตัวของมันเอง มันจะไม่รู้สิ่งใดของมันเลยใช่ไหม พอมันไม่รู้สิ่งใด นี่มันส่งออกมันก็ไม่รู้ว่าส่งออก เพราะมันไม่มีความรู้ทางวิชาการรองรับ ทางวิชาการนี่ เมื่อก่อนคนเราจะตื่นกลัวมาก ฟ้าร้อง ฟ้าแลบต่างๆ คนเราจะตื่นกลัวมาก กลัวฟืนกลัวไฟ คนโบราณเขาจะกราบไหว้บูชา เพราะเขาไม่เข้าใจ แต่วิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้วว่าสิ่งนั้นเป็นธรรมชาติ สิ่งนั้นเป็นอันหนึ่งใช่ไหม เราก็ไม่เคยกลัวมัน

นี่ก็เหมือนกัน จิตที่มันยังไม่สงบนี่มันไม่รู้สิ่งนี้ พอไม่รู้สิ่งนี้มันก็ไปเห็นต่างๆ เห็นไหม ว่าส่งออกเหมือนกัน ส่งออกอันหนึ่งส่งออกโดยอวิชชา ส่งออกโดยความไม่เข้าใจในตัวมันเอง เวลาจิตมันสงบเข้ามาแล้ว จิตเป็นหนึ่งขึ้นมา จิตเป็นหนึ่ง.. สมาธิแก้กิเลสไม่ได้ แต่ตัวสมาธิเป็นฐานที่จะทำให้มีกำลัง ตัวฐานที่จะมีกำลังนี่ออกรู้! ออกรู้! ถ้าไม่ออกรู้มันจะแก้ตัวมันเองไม่ได้ มันต้องออกรู้ ออกรู้ในอริยสัจ พอออกรู้ในอริยสัจ เห็นไหม ความออกรู้ในอริยสัจนั่นล่ะมันออกไปจากรากเหง้า สิ่งที่เป็นฐีติจิต สิ่งที่เป็นสัมมาสมาธิมันมีรากเหง้า ปฏิสนธิจิต จิตที่ปฏิสนธิวิญญาณ คนนี่ปฏิสนธิจิตมาเกิดในไข่ของมารดา พอเกิดในไข่ของมารดาแล้วมาเป็นเรานะ

ปฏิสนธิจิต เห็นไหม แต่บุพเพนิวาสานุสติญาณ ญาณต่างๆ สิ่งที่เป็นอดีตชาติต่างๆ ข้อมูลนี่มันไม่รู้ตัวมันเอง พอไม่รู้ตัวมันเองแล้วสิ่งที่มันรู้ไปก่อน ทางวิชาการต่างๆ ที่มันรู้ไปก่อน นี่ปริยัติ ปฏิบัติ พอมันรู้ไปอย่างนั้นปั๊บ มันรู้ไปโดยธรรมชาติของมัน แต่พอเราสงบเข้ามา สงบเข้ามาจนมันเป็นตัวของมันเอง ถ้าตัวของมันเองนั่นแหละคือข้อมูลของจิต

ถ้าข้อมูลของจิตนั้นออกไปวิปัสสนา พอจิตมันมีฐานของมันแล้ว จิตมันเป็นฐีติจิตแล้ว จิตมันมีสัมมาสมาธิแล้ว จิตมันมีรากฐานของมันแล้ว เวลาออกวิปัสสนามันจะกลับมาถอดถอนไอ้อุปาทานอันนี้

แต่ถ้ามันไม่มีสัมมาสมาธิ เห็นไหม มันไม่มีราก มันเป็นความคิด มันเป็นสัญญาอารมณ์จากข้างนอก สัญญาจากข้างนอกเห็นโดยสัญญาอารมณ์

ดูสิจิตส่งออกเห็นดวง จิตเห็นดวงแล้วจิตออกไปรับรู้ดวง ออกไปไหม สิ่งที่ออกไปรับรู้ดวงอย่างนั้น ความคิดในขันธ์ ๕ ความคิดในสังขารขันธ์ ความคิดในสัญญาต่างๆ เห็นไหม มันอยู่นอกจิต จิตส่งออกไปแล้วมันออกไปรับรู้สิ่งต่างๆ มันถึงตัดรากไง คำว่าตัดรากถอนโคน คุณงามความดีของเราเอง ตัดรากถอนโคนในสิ่งที่เป็นปัจจัตตัง สิ่งที่เป็นสันทิฏฐิโก รู้จำเพาะตนในจิต

รู้จำเพาะตนในจิต! นี่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมสาธารณะที่ใครทุกคนก็รับรู้ได้ อากาศต่างๆ ออกซิเจนเป็นสาธารณะหมดเลย แต่ออกซิเจนในปอดเราเป็นของเรานะ ที่เราหายใจเข้าไปในร่างกายนี่ มันก็ขับถ่ายออกมาเป็นธรรมชาติของมัน

นี่ก็เหมือนกัน ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เราเข้าใจ นี้มันเข้าใจโดยสิ่งที่จิตมันอยู่ข้างนอก แต่ถ้ามันเข้ามาถึงตัวมันเองนี่มันถอนรากถอนโคนเลย ถอนอวิชชา อวิชชาอยู่ที่นี่ไง ถ้าอวิชชาอยู่ที่นี่ ย้อนกลับมาที่นี่

จิตป่วย คนเรานี่เจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าไม่รักษานะ.. คนเราทำงานอ่อนเพลีย คนเราทำงานมาเหนื่อยยาก พักก็หาย นั่งก็หาย ถ้ามันเจ็บไข้ได้ป่วย พักอย่างไรมันก็ไม่หาย ความเจ็บไข้มันอยู่ในร่างกายเรา

จิตก็เหมือนกัน มันจะสงบขนาดไหน มันจะดีขนาดไหนนะ ถ้ามันไม่ได้ถอนรากถอนโคน ถ้ามันไม่ได้รักษา จิตป่วยมันกลับมาเป็นจิตปกติไม่ได้ ความปกติมันมีหลายขั้นตอน อย่างปกติของเรานี่ เห็นไหม เราฟุ้งซ่าน เรามีความคิดต่างๆ สิ่งนี้มันเป็นธรรมชาติของจิต ธรรมชาติไง เพราะคนเกิดมาสัญชาตญาณมันมี มีจิต มีสัญชาตญาณ มีทุกอย่างพร้อมเลย

สัญชาตญาณไม่ใช่จิต มันเกิดจากจิต มันเป็นอาการ ปฏิภาณไหวพริบเกิดจากสัญชาตญาณ มันเกิดจากจิตทั้งหมดแหละ มันเป็นอำนาจวาสนาบารมี แต่ตัวจิตล่ะ ตัวจิต? ตัวจิตตัวนี้ ตัวที่ไม่ได้ชำระล้างอันนี้ เห็นไหม สิ่งต่างๆ ที่ชำระล้างอันนี้ ทีนี้พอมันเข้ามาถึงตัวจิต แล้วจิตมันออกรับรู้ ออกทำความสะอาดของมัน นี่มันถอนอุปาทาน ถอนสิ่งต่างๆ ถอนในหัวใจออกมา

นี้การประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม แล้วมันเสียดาย เขาทำมา ๑๐ กว่าปี แล้วเขาก็ประพฤติปฏิบัติอยู่ เมื่อวานมา แล้วเราบอกทำได้อีกไหม ถ้าทำได้ย้อนกลับมาที่นี่ ถ้าย้อนกลับมาที่นี่ ตอนนี้เขาก็เลยออกมาใช้ปัญญาแล้ว ออกมาใช้ปัญญา แล้วเขาบอกทิ้งตรงนี้แล้ว ทิ้งตรงนี้ออกมา ทำอยู่ ๑๑ ปี

พอถึงคำนี้ปั๊บเราก็สะท้อนมาถึงตรงที่หลวงปู่หลุย กับหลวงปู่เทสก์ ในอัตโนประวัติของหลวงปู่เทสก์ ติดสมาธิ ๑๗ ปี อีกองค์หนึ่งติด ๑๑ ปี ไอ้ตรงนี้สำคัญมากเลย นี่เมื่อวานนี้ ๑๑ ปี ติดดวงอย่างนี้ ๑๑ ปี แล้วทีนี้ออก พอออกมาแล้วก็ใช้ปัญญาอย่างนั้น แล้วใช้ปัญญาอย่างนั้นก็ยังทำไป ต้องกลับมาทำความสงบเหมือนเดิม กลับมาทำความสงบของใจ แล้วทำใจให้ดีขึ้นแล้วออกรู้ ออกรู้นะ

นี่เมื่อวานคุยกัน เพราะเขาปฏิบัติมาแล้วสงสัย เขามีบริษัทอะไรของเขา เขาเอาครูบาอาจารย์มาเทศน์ทุกเดือน ทีนี้พอพูดธรรมะเขาเข้าใจหมดนะ แต่เข้าใจอย่างนี้มันเข้าใจโดยที่เรารับรู้ แต่ความเข้าใจจริงสันทิฏฐิโกนะ

เมื่อวานบอกเขา ถ้าเห็นกาย.. พระ...เขาอยู่ที่เมืองกาญจน์ เอาซีดีไปฟังเขาบอกว่า หลวงพ่อบอกว่าเวลาเห็นกายนี่นะ แล้วแบบว่ามันต้องผงะ มันต้องอะไรนี่ เขาบอกว่าเขาฟังแล้วมันค้านในใจ เขาค้านในใจ แต่ปีนี้เขาไปอยู่กับ..... เห็นไหม เขาก็เร่งของเขา เร่งของเขา เพราะเขาไปเห็นของเขา..

เราเห็นกายโดยสามัญสำนึก เห็นโดยสัญชาตญาณมันเห็นกายแบบวิทยาศาสตร์ ก็เห็นกันอย่างนี้ เห็นอย่างนี้ แต่ถ้าจิตสงบแล้วเห็นนะ โอ้โฮ.. ผงะเลย ผงะเลย ผงะเพราะอะไร เพราะแบบว่ารสชาติมันเข้มข้น มันถึงอกถึงใจไง มันถึงฐีติจิต มันจะถอนรากถอนโคนไง แต่เราไปมองด้วยสัญชาตญาณ มองด้วยสัญญาอารมณ์มันไม่ถึงหัวใจหรอก มันไม่เข้าถึงหัวใจ มันถอนกิเลสไม่ได้ แต่ถ้าถอนกิเลส การเห็นกายโดยที่จิตสงบนะ โอ้โฮ.. มันผงะเลยนะ พอมันผงะ พอจับได้ปั๊บแล้วเริ่มออกไป

เขาบอกเมื่อก่อนเขาฟังคำนี้ เขาแบบว่าค้านในใจ แต่พอเจอเอง วันนั้นมากราบที่นี่ กราบลาออกไปเที่ยวต่อ บอกว่าเข้าใจ แต่ก่อนฟังแล้วมันขัดหูตลอด ขัดมาตลอดเลย แต่พอเขาเจอผลัวะ! แล้วย้อนกลับมาเมื่อวาน เมื่อวานก็พูดอย่างนี้

นี่สิ่งที่เขารู้เขาเห็น ที่เขาพูดนี่นะมันเป็นอันหนึ่ง แต่ถ้าเขาเห็นความจริงอันหนึ่งนะ รสชาติมันต่างกัน ถ้ารสชาติไม่ต่างกันนะ พระพุทธเจ้าไม่แบ่งไว้เอง พระพุทธเจ้านี่สุดยอดนะ พระพุทธเจ้าเป็นศาสดาของเรานะ พระพุทธเจ้าวางไว้เอง

“ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ”

ปริยัติ ความรู้ของปริยัตินี่รู้ได้ทางวิชาการ ปริยัตินี่รู้ แต่รู้ด้วยสมอง รู้ด้วยขันธ์ ๕ รู้ด้วยสัญญาอารมณ์ มันไม่ได้รู้ด้วยจิต

แต่ถ้าปฏิบัติมันรู้โดยจิต มันไม่ได้รู้ด้วยสมอง มันไม่ได้รู้ด้วยสัญญาอารมณ์ มันรู้ด้วยจิต นี่จิตแก้จิตไง หนามยอกต้องเอาหนามบ่ง

จิตแก้จิต ตัวจิตแก้ตัวมันเอง เข้าไปแล้วผงะเลย พอผงะแล้ววิปัสสนาไป แยกไปแยะไป โอ้โฮ.. มันถอนนะ มันถอน ถ้ามันไม่ถอนนะมันจะสำรอกกิเลสออกมาได้อย่างไร มันสำรอก มันคายออก คำว่ามันสำรอก มันคายออกนี่เป็นตทังคปหาน ไม่ใช่สมุจเฉท ตทังคปหานมันปล่อยของมันไปเรื่อย ปล่อยไปเรื่อยๆๆ ถ้าคนเผลอนะ เผลอเพราะความเข้าใจไง มันลึกลับมหัศจรรย์ แค่เห็นก็ผงะแล้ว แค่เราเห็นเพชรเห็นทองก็ผงะแล้ว แล้วเราได้นับเพชรนับทอง นับแล้วก็ว่าของเราสิ

นี่ก็เหมือนกัน พอมันปล่อยแล้วก็คิดว่าของเราสิ พอของเรา เรานับแล้วยังไม่เป็นของเรานะ เวลาเขาเอาคืนทีหนึ่งหมดเลย พอมันเสื่อมไง พอมันเสื่อมกรรมฐานม้วนเสื่อเลย พอมันเสื่อมแล้วนะถ้าจะเริ่มต้นก็ต้องเริ่มต้นตั้งแต่นับหนึ่งใหม่มาเหมือนเดิม นับหนึ่งใหม่มาคือต้องทำความสงบพื้นฐานของใจมาให้ได้ แล้วพื้นฐานของใจนี่ออกรับรู้ แล้วพื้นฐานที่ใช้บ่อยครั้งเข้านะมันจะเสื่อมค่า พอเสื่อมค่าแล้วมันเหมือนมีดนี่

หลวงตาจะบอกบ่อยเลย เวลาประพฤติปฏิบัติไป เวลาพักอาศัยนะ ต้องหลับต้องนอน อย่าไปเสียดายงาน เวลาออกไปวิปัสสนาแล้วตทังคะนะ จะเอาใหญ่เอาโตเลย เขาบอกว่าอย่าไปเสียดายงานให้มาพักผ่อนก่อน คนนอนหลับพักผ่อนแล้วออกไปทำงานมันจะสุดยอดมาก คนเวลาออกทำงานจนล้าจนอะไร จะเอางานให้ได้ มันไม่ได้หรอก เห็นไหม มันต่างกัน

ถ้าไม่หลับนอนพักผ่อน จะทำงานไปก็ไปไม่รอด จะไปทำงานอย่างเดียวโดยไม่พักผ่อน มันก็ไปไม่รอด มัน ๒ อย่างนี้ไปไม่รอดทั้งคู่เลย สมาธิก็ไปไม่รอด ปัญญาก็ไปไม่รอด เดินทางใดทางหนึ่ง ไปไม่รอดทั้งคู่ ต้องกลับมาเกื้อหนุนกันมันถึงจะไปรอด กลับมาเกื้อหนุนกันต่างหากมันถึงไป ถ้าไม่กลับมาเกื้อหนุนกันไปไม่ได้! ไปไม่ได้!

แล้วตรงนี้ ตรงไหนมันเกื้อหนุนพอดีล่ะ นี่ไงครูบาอาจารย์ต้องมาแนะตรงนี้ไง ครูบาอาจารย์ต้องคอยแนะตรงนี้ เพราะครูบาอาจารย์ต้องพลาดมาก่อน ครูบาอาจารย์ทุกองค์ต้องพลาดมาก่อน ถ้าไม่พลาดมาก่อนไม่รู้หรอก มันต้องพลาดมาก่อน แล้วไอ้พลาดอันนั้นล่ะ ถึงบอกว่านี่ทำไปแล้วจับให้ได้ จับให้ได้ พอจับของเราให้มันลึกเข้ามา

เพราะว่าพอปฏิบัติไปเราเข้าใจไง ความเข้าใจเหมือนเด็กนี่ เด็กพอได้สิ่งใดถูกใจ มันก็จะคิดว่าพอใจของมัน แต่ความจริงมันต้องไปมากกว่านี้ มันต้องไปมากกว่านี้ถึงตอบไง นี่ไงเราถึงกล้าพูด เห็นไหม ว่าธรรมะเหนือธรรมชาติ เหนือธรรมชาติ!

สิ่งที่เราทำอยู่นี้คือธรรมชาติ สัพเพ ธัมมา อนัตตา นี่ธรรมชาติ สภาวธรรมของพระพุทธเจ้านี่เป็นธรรมชาติ เป็นธรรมชาติอันหนึ่งจริงๆ แต่ธรรมชาติอันนี้ไม่มีใครเอามาใช้เป็นประโยชน์ไง

ธรรมชาติคือธรรมชาติ สรรพสิ่งเป็นธรรมชาติ ทุกอย่างเป็นธรรมชาตินะ นี่ไงเวลาพระพุทธเจ้าเทศน์ “เธอจงมองโลกนี้เป็นความว่าง เธอจงมองโลกนี้เป็นความว่าง” นี่แล้วในธรรมที่พระพุทธเจ้าเทศน์สุภัททะ เห็นไหม “เธอจงมองโลกนี้สักแต่ว่า” ทุกคนมองโลกนี้เป็นสักแต่ว่า แต่ลืมไป! กลับมาถอนอัตตานุทิฏฐิ ผู้รู้ ผู้เห็น.. ผู้เห็นสักแต่ว่า นี่ใครเห็นสักแต่ว่า

นี่ไงสภาวธรรมเป็นธรรมชาติไง สักแต่ว่า ธรรมชาติหมดเลย แล้วใครเป็นคนบอกล่ะ ใครเป็นคนบอกว่าเป็นธรรมชาติล่ะ แล้วใครเป็นคนแบกไว้ธรรมชาติอันนั้นน่ะ แล้วใครเป็นคนจะไปทิ้งธรรมชาติอันนั้นล่ะ ใครจะไปทิ้งมัน? อ้าว.. มันก็เป็นธรรมชาติไง สัพเพ ธัมมา อนัตตา สักแต่ว่าหมด โลกนี้ว่างหมด แต่เราขวางอยู่นี่

โลกนี้มันว่างอยู่ มันไม่มีชีวิต มันไม่รับรู้อะไรนะ แต่ใจเรานี่ไปรับรู้ ใจเราไปแบกมันไว้ ถ้าไม่กลับมาถอนตรงนี้.. นี่เพราะมันยังหมุนอยู่เป็นธรรมชาติ แต่ถ้ามันเป็นอกุปปธรรมนี่เหนือธรรมชาติ เหนือธรรมชาติ! มันทิ้งธรรมชาติไว้ ทิ้งไว้ตามความเป็นจริง เราอยู่กับธรรมชาตินี่แหละแต่ปล่อยมันวางไว้ แต่มันเป็นอกุปปธรรมแล้ว

อกุปปะคือไม่มีการเปลี่ยนแปลง ธรรมชาติใดที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ธรรมชาติมีการเปลี่ยนแปลงหมดแหละ แต่อกุปปะไม่มีการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแล้วพูดเป็นธรรมชาติได้ไหม พูดเป็นธรรมชาติมันก็กลับมาเป็นสัพเพ ธัมมา อนัตตาสิ มันเป็นอนัตตาอีกน่ะสิ.. มันไม่เป็น! แล้วถ้าไม่เป็นมันเป็นอย่างไร?

ผู้รู้ ผู้เห็น สันทิฏฐิโก รู้จริง ถ้ารู้จริง เห็นไหม นี่ประพฤติปฏิบัติ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยนะเราก็รักษา ถ้ามันหายแล้วเวลาประพฤติปฏิบัติมันก็ต้องลงทุนลงแรง เวลาเหนื่อยยากมันต้องมีนะ มันต้องเหนื่อยต้องยาก คนเราจะทำมาหากินมันต้องเหนื่อยต้องยากทั้งนั้นแหละ ปฏิบัติมันต้องเหนื่อยต้องยาก แต่ผลของมันมีคุณค่า เราพอใจกับมัน เราทำได้มันจะเป็นประโยชน์กับเรานะ นี่ธรรมะ!

เราบอกว่าธรรมะนี่ฝ่ายปฏิบัติ แล้วเวลาเราล่ะ เราเป็นคฤหัสถ์ เราเป็นฆราวาสเราก็อยากได้บุญกุศล เราทำบุญกุศลก็พอแล้ว เสียสละขึ้นมาเพื่อบุญกุศล เพื่อความสุข เพื่อความดีงามในครอบครัวก็ถูกต้อง เห็นไหม เวลาพระพุทธเจ้าบอกพระอานนท์ เวลาพระพุทธเจ้าจะนิพพาน

“อานนท์ เธอบอกเขานะให้ปฏิบัติบูชาเราเถิด อย่าเป็นอามิสบูชาเลย”

การเสียสละต่างๆ เป็นอามิส สิ่งต่างๆ เป็นอามิสบูชา บูชาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อความสุขสงบในครอบครัวของเรา ความสุขสงบในครอบครัวของเรามันก็เวียนตายเวียนเกิดใช่ไหม แต่ถ้าปฏิบัติบูชานี่มันถอนรากถอนโคนอวิชชาในหัวใจเลย อันนี้เป็นอีกประเด็นหนึ่ง เห็นไหม แต่เวลาผู้ที่เป็นฆราวาสเขาบอกว่า เออ.. ทำบุญกุศลก็เพื่อชีวิต ก็เพื่อความร่มเย็นเป็นสุข

อันนั้นก็ถูกต้อง ถูกต้อง เห็นไหม ประเพณีวัฒนธรรมไม่ใช่ธรรม ประเพณีวัฒนธรรมให้เราทำบุญกุศล แต่ตัวธรรม ตัวความจริงที่เป็นเราเข้าใจ อันนั้นจะเป็นสภาวธรรม เอวัง