เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๗ ต.ค. ๒๕๕๒

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๒
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราเกิดมาอาศัยเขาอยู่นะ เราเกิดมาในโลกนี้เราอาศัยโลกอยู่ โลกเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่โลกมันใหญ่จนเราไม่รู้การเปลี่ยนแปลงของมันนะ เราคิดว่าเราอยู่บนโลกนี้โลกจะเป็นความมั่นคงนะ โลกมันเคลื่อนที่ เปลือกโลกมันเคลื่อนที่ ดูสิ แผ่นดินไหวมันเกิดขึ้นตลอดเวลา เรามาอาศัยเขาอยู่นะ

แต่ว่าเราเกิดมานี่เกิดมาโดยกรรมดี เกิดมาในประเทศอันสมควร ในมงคลชีวิต ๓๘ ประการ.. อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ นี่สิ่งที่เกิดในประเทศอันสมควร มันเป็นมงคลชีวิตนะ แล้วเราเกิดมาในประเทศอันสมควร ประเทศที่ว่าร่มเย็นเป็นสุขไง

เราดูรอบข้างประเทศไทยสิ นับถือพุทธศาสนาเหมือนกัน ทำไมเขาเดือดร้อนกันขนาดนั้นล่ะ นี่นับถือพุทธศาสนานะ เห็นไหม พุทธศาสนา เวลาประเพณีวัฒนธรรมของเรา เราเกิดมานี่เกิดมาร่มเย็นเป็นสุข ร่มเย็นเป็นสุขนี่บุญพาเกิด แต่เกิดมาแล้วเราก็ยังทุกข์ยังยาก เพราะมันขัดแย้งในหัวใจ

ความขัดแย้งในหัวใจนี่กิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันมีอยู่ในทุกๆ ดวงใจ เห็นไหม ครูบาอาจารย์ท่านถึงบอกไง เขาไปอยู่เมืองนอกเมืองนากันมา มาอวดว่าจะไปที่นู่นที่นี่มา มันก็อิฐ ทราย หิน ปูน เหมือนกัน ถ้าเราควบคุมใจของเราได้นะ นั่นเป็นวัตถุ สิ่งที่เป็นวัตถุนะมันเจริญ นี่โลกเจริญ แต่ธรรมะไม่เจริญ

ถ้าธรรมเจริญในหัวใจของเรา เห็นไหม นี่เราอยู่ในโลกสมมุติ มันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาแหละ นี่ดูฝ่ายการปกครองเราก็เหมือนกัน จะทำอย่างไรให้สร้างบุคลากรในทางศาสนา ทำอย่างไรถึงจะสร้างศาสนทายาท ทุกคนปรารถนาดีทั้งนั้นแหละ แต่เวลาสร้างขึ้นมานี่ มันจะสร้างขึ้นมาได้อย่างไร หัวใจของคนมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลานะ

ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ของเราปฏิบัติมา ผู้ที่ปฏิบัติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากว่าจะตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เห็นไหม เวลาตรัสรู้ธรรม ขณะที่ยังไม่เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขณะที่ค้นคว้าอยู่นี่มันก็เหมือนเราๆ ท่านๆ ครูบาอาจารย์ท่านบอกเหมือนเราๆ ท่านๆ ก็เกิดมาเป็นมนุษย์เหมือนกัน ก็ต่อสู้เหมือนกัน ขณะที่ต่อสู้เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรามีบารมีหรือไม่มีบารมี เราก็ต้องต่อสู้ไปเต็มความสามารถของเราทั้งนั้นแหละ

แต่เวลาผู้ที่ต่อสู้ไปแล้วที่ประสบความสำเร็จ เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประสบความสำเร็จ นี่ย้อนอดีตชาติไปบุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ.. บุพเพนิวาสานุสติญาณ มันถึงรู้ว่าเราทำสิ่งใดมาไง รู้ว่าเราได้สร้างบุญกุศลมาขนาดไหน พระโพธิสัตว์สร้างบุญกุศลมาขนาดไหน

ขนาดสร้างบุญกุศลขึ้นมาขนาดไหน ขณะที่ประพฤติปฏิบัติ.. ทำทุกขกิริยานี่ทุกข์ขนาดไหน ทำทุกขกิริยาไง ทุกขกิริยาที่เขาพยายามเผชิญกันอยู่ในสมัยนั้น เจ้าลัทธิต่างๆ เขาทำกันอยู่ ก็พยายามทำกับเขาเหมือนกัน แต่ทำไปแล้วมันทรมานร่างกาย ขนาดทรมานร่างกายทั้งๆ ที่มีจิตใจนะ

อย่างเช่นเราอดอาหาร เวลาในกระเพาะไม่มีอาหารนี่เราหิวไหม เรามีความกระหายไหม มีทั้งนั้นแหละ แล้วบอกทรมานร่างกาย ทำไมในหัวใจมันเดือดร้อนไปด้วยล่ะ.. มันเดือดร้อนไปด้วยเพราะเราเกิดมาเป็นคนไง เราเกิดมาเป็นมนุษย์ มันมีร่างกายกับจิตใจ จิตใจมันเกิดมาแล้ว มันอยู่ในร่างกายนี้แต่เราไม่รู้จัก เราทรมานร่างกายคือเราอดอาหารทรมานร่างกาย แต่หัวใจมันปรารถนาอีกอย่างหนึ่ง ปรารถนาว่าจะได้ธรรมๆ เห็นไหม แต่เวลาทรมานร่างกายไปแล้วมันไม่ได้ทรมานจิตใจ แต่เวลาทำความสงบของใจเข้ามา นี่อานาปานสติ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรมานตนมาขนาดไหน ทำอานาปานสติ นั่นล่ะอานาปานสติ จิตมันสงบเข้ามา นี่รากฐานของจิตไง รากฐานของจิต ตัวจิต เห็นไหม นี่ทรมานกิเลส ทรมานจิต ทรมานที่ความรู้สึกอันนั้น เนื้อหาความรู้สึกอันนั้นล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับร่างกาย

ร่างกาย เห็นไหม เวลาเราอดอาหารนี่เราหิวเรากระหาย เพราะมันบีบบังคับไง บีบบังคับให้หัวใจนี้ดิ้นรน เพราะสัญชาตญาณมันเคยหาอาหารมาป้อนตัวมันเองใช่ไหม เวลาหิวเราก็เอาอาหารมาปรนเปรอมันมันก็อิ่มหนำสำราญ มันเคยทำมาเป็นสัญชาตญาณ เวลาเราเกิดเภทภัย สัญชาตญาณมันจะป้องกันตัวทันทีเลย

แต่เวลาความจริง นี่สัญชาตญาณของมัน สัญชาตญาณคือความรู้สึกของจิตไม่ใช่ตัวจิตไง พอจิตมันสงบเข้าไป เวลาอานาปานสติจิตสงบเข้าไปถึงตัวจิต เห็นไหม นี่ไง นี่รากฐานของมัน ถ้าเข้าถึงรากฐานของมัน ถ้าเข้าถึงหัวใจจะต่อสู้กับมันอย่างไร

นี่ไง ที่ว่าทรมานร่างกาย ทรมานร่างกาย.. ทรมานคือทรมานจากข้างนอก ทรมานจากร่างกายนี้ เพราะเราได้ศักยภาพมานี่สมมุติ เราเกิดมาในโลกเราอาศัยเขาอยู่ เกิดมาเป็นมนุษย์นี่เราก็อาศัยร่างกายนี้อยู่พักหนึ่ง อาศัยร่างกายอยู่พักหนึ่งคือชีวิตหนึ่ง เห็นไหม ดูสิ ใครเจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องเยียวยารักษากันไป เพื่อจะเอาเข้าถึงฝั่งให้ได้

ผู้ใดเข้าถึงกระแส เป็นพระโสดาบันนี่เข้ากระแสสู่นิพพาน เท้าเหยียบพื้นแล้ว จากวังวน จากโอฆะ จากในทะเลลึกมีแต่สัตว์ร้ายในวัฏวนคอยจะเอาเราเป็นเหยื่อ พอเราพยายามต่อสู้ของเรา พยายามเข้าหาฝั่ง ถ้าเท้าแตะพื้นนี่โสดาบันเข้าถึงกระแส พอเท้าแตะพื้น เรานี่อยู่ในทะเลนะ อยู่ในโอฆะ เราต้องพยายามกระเสือกกระสนให้ดำรงชีวิตของเราได้ ให้เราไม่จมน้ำตาย อยู่ในวัฏฏะ จิตมันต้องขวนขวายขนาดนั้น เวลามันกระเสือกกระสนเข้าสู่ฝั่งแล้ว เท้าแตะพื้นแล้ว คนแตะพื้น เห็นไหม มันไม่ต้องกระเสือกกระสนขนาดนั้นใช่ไหม มันจะเดินขึ้นสู่ฝั่งได้ใช่ไหม

จิตก็เหมือนกัน ถ้ามันถึงกระแสของมัน ทำถึงกระแสของมัน เท้ามันแตะพื้น นี่จิตตภาวนาไง ถ้าจิตตภาวนา ครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติของท่านมา ท่านเห็นถึงการต่อสู้มา แต่ของเราเวลาฝ่ายปกครอง ฝ่ายที่เราต้องการสร้างศาสนทายาท.. ใช่ ทุกคนก็ต้องการสร้าง แต่เราสร้างแล้วมันจะสมความปรารถนาไหมล่ะ?

เพราะอะไร เพราะประสบการณ์ของจิตที่เราต่อสู้มา มันต้องต่อสู้ มันต้องขัดขืนนะ เวลาขัดขืนต่อสู้กับมัน ถ้าไม่ขัดขืนไป นี่เอาแต่ความสะดวกสบายของตัว นั่นกิเลสทั้งนั้นเลย กิเลสมันบังเงา อ้างว่าประพฤติปฏิบัติไง แล้วก็ว่าความสะดวกสบาย ปฏิบัติธรรมต้องมีความสุข.. ใช่! มีความสุขต่อเมื่อจิตสงบ

ทุกข์นั้นควรกำหนด.. คำว่าทุกข์ควรกำหนด เห็นไหม ต่อสู้กับมันด้วยเหตุด้วยผล ตัณหาความทะยานอยากมันปล่อยวางลง นี่ดูสิ เวลาก่อนเข้าพรรษามีกฎมีกติกา เราก็ต้องมีความบีบคั้น เวลาออกพรรษาไง ดูสิ คนเลี้ยงลิง เช้า ๓ เย็น ๔ กับเช้า ๔ เย็น ๓ แค่นั้นแหละ เช้า ๓ เย็น ๔ นี่เช้าให้ ๓ หน เย็นให้ ๔ ถ้าพลิกกลับมาเอาเช้า ๔ เย็น ๓ นี่ก็เหมือนกัน มันอันเดียวกัน เพียงแต่ว่ามันพลิกแพลง

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตเราไปข้อง จิตเราไปแวะ จิตเราไปมีความกดดัน มันก็มีความกดดันในหัวใจของเรา ทำอะไรติดขัดไปหมดเลย เห็นไหม เริ่มต้นจากไหน มโนกรรมนะ คนเรานี่การกระทำวจีกรรม กายกรรม เกิดจากมโนกรรม

มโนกรรม นี่มโนมิงปิ นิพพินทะติ มโนสัมผัสเสปิ นิพพินทะติ เห็นไหม มโนก็ต้องทิ้ง มโนก็ต้องทำลาย ถ้ามโนไม่มี สถานที่ไม่มี ภพไม่มี จิตไม่มี อ้าว.. มโนกรรมมาจากไหน แต่นี่มันเป็นกิริยา ผู้ที่สิ้นกิเลสไปมันเป็นกิริยา มันไม่มีกรรม ไม่มีมโนกรรม ไม่มีสิ่งใดๆ รองรับสถานที่อย่างนั้น แล้วทำอย่างไรล่ะ จะทำอย่างไรกัน จะทำอย่างไรให้เราพ้นจากสิ่งที่เราอาศัยเขาอยู่

โลกนี้ก็อาศัยอยู่ ชีวิตนี้ก็อาศัยเขาอยู่ ทั้งๆ ที่จิตของเรานะ เพราะจิตนี้ไม่เคยตาย เวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะ แต่เกิดเป็นมนุษย์นี่อาศัยภพของมนุษย์ อาศัยมนุษย์สมบัติอยู่ชั่วชีวิตหนึ่ง แล้วถ้าตายไปล่ะ พอตายไป เห็นไหม อาศัยเขาอยู่ชั่วกาลหนึ่ง อาศัยเขาทั้งๆ ที่เราเป็นจิตนี่ ปฏิสนธิจิตเกิดในไข่ของมารดา พอเกิดเป็นมนุษย์ยังต้องอาศัยชีวิตนี้ชั่วชีวิตหนึ่ง

การที่ว่าอาศัยนี่ ชั่วชีวิตนี้เราจะทำคุณงามความดีขนาดไหน เราจะค้นคว้าหาตัวมันเองได้อย่างไร ค้นคว้าหาตัวจิต ชำระตัวจิต ชำระใจของเราให้มันสะอาดผ่องแผ้วได้อย่างไร ถ้ามันสะอาดผ่องแผ้วขึ้นมา เราแก้ไขของเราขึ้นมา

นี่ถ้าคนสะอาดผ่องแผ้วแล้ว มันไม่ไปอีกแล้ว ไม่ไปอีกเพราะอะไร ไม่ไปอีกเพราะมันมีมรรคญาณ มีเหตุมีผล มีประสบการณ์ของจิต จิตมันมีการแก้ไขของมัน แต่ถ้าจิตไม่มีการแก้ไขของมัน มันจะปฏิเสธนะ สิ่งนั้นก็ไม่ใช่ มีความว่าง เห็นไหม นั่นก็ไม่ใช่ นี่ก็ไม่ใช่ ปล่อยให้มันสะดวกสบายของมัน มันก็สะดวกสบายทั้งนั้นแหละ แต่มันเสียโอกาสนะ นี่สบายๆ สบายทุกอย่าง ทุกอย่างเรียบง่ายไปหมดเลย

เรียบง่ายไปหมด มันเป็นกิริยาเฉยๆ มันเป็นความรู้สึกเฉยๆ แต่มันไม่มีการกระทำของหัวใจเลย ถ้าไม่มีการกระทำของหัวใจเลยมันจะสะอาดบริสุทธิ์ไปได้อย่างไร นี่มันเสียดายโอกาสไง เสียดายโอกาสว่าเราเกิดเป็นชาวพุทธแล้วพบพุทธศาสนา แล้วมีการประพฤติปฏิบัติ มีความตั้งใจจริงด้วย แต่ด้วยกิเลสมันบังเงา เห็นไหม ด้วยความเห็นผิดของเรา จะทรมานมัน จะแก้ไขมัน มันก็บอกว่าอย่างนี้เป็นอัตตกิลมถานุโยค แต่ถ้าทำตามความสะดวกสบายของมัน ไปตามอำนาจของมัน สิ่งนี้เป็นความสะดวกสบายของเรา เราก็ว่านี่การปฏิบัติต้องมีความสุข.. มันจะมีความสุขต่อเมื่อจิตสงบ

มันจะมีความสุข เห็นไหม ทุกข์นี้ควรกำหนด แล้วสุขล่ะ? สุขเราก็เสวยอารมณ์สิ สุขก็เป็นสุขของเรา เพราะทั้งทุกข์ทั้งสุขมันเป็นอนิจจัง ทั้งทุกข์ทั้งสุขมันไม่อยู่กับเราตลอดไป ทั้งทุกข์ทั้งสุข สุขเพราะมีความพอใจ เห็นไหม โลกนี้มีแต่ความทุกข์ ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ แล้วทุกข์ดับไป พอทุกข์ดับไปมันก็มีความสุขขึ้นมาชั่วคราวหนึ่ง แล้วพอดับไปแล้วชั่วคราวหนึ่ง ดับไปแล้วมันก็ต้องดับไปสิ เราก็ต้องมีความสุขตลอดไปสิ ทำไมมันเป็นไปไม่ได้ล่ะ?

มันเป็นไปไม่ได้ เห็นไหม ดูสิ เวลาเราปลอดโปร่ง มีความโล่ง มีความพอใจ มันก็มีความสุขชั่วคราว ความสุขก็เป็นอนิจจัง ความทุกข์ก็เป็นอนิจจัง เพราะอะไร เพราะเวลาประพฤติปฏิบัติเข้าไปแล้ว ธรรมะนี่มันล่วงพ้นจากความสุขและความทุกข์ไง ทั้งดีและชั่ว ดีก็อนิจจัง ทุกข์ก็อนิจจัง เห็นไหม ร่างกายนี้ก็เป็นสมมุติอันหนึ่ง เป็นอนิจจังอันหนึ่ง เราเกิดมากับมันก็ชั่วชีวิตหนึ่ง

จิตนี้มันก็เป็นอนิจจังในอารมณ์ความรู้สึก แต่ตัวมันเองมันมีค่าของมัน ตัวมันเองเป็นสันตติที่มันไม่เคยตาย ไม่เคยบุบสลาย จะตกนรกอเวจี จะอยู่สวรรค์ เทวดา อินทร์ พรหมขนาดไหน ถ้ามันหมดวาระมันก็ต้องเวียนตายเวียนเกิด เห็นไหม นี่ไงว่าเราไปอาศัยเขาๆ แต่มันมีตัวจิตตัวนี้ มันมีตัวจิตตัวสำคัญอันนี้ ถ้าความสำคัญอันนี้มันย้อนกลับมา มันมีคุณค่าของมัน คุณค่าของมันเพราะอะไร คุณค่าของมันเพราะเรามีสติสัมปชัญญะ

สติ มหาสติ มีสติสัมปชัญญะขึ้นมา เห็นไหม เราควบคุมมัน แล้วเราพยายามถนอมรักษามัน เราจะแก้ไขมัน อาศัยสิ่งแวดล้อม อาศัยชีวิต อาศัยปัจจัยเครื่องอาศัย อาศัยสติ อาศัยสมาธิ อาศัยปัญญา อาศัยเครื่องอาศัยทั้งหมด มันเป็นเครื่องอาศัย เครื่องบำรุงรักษา แต่เครื่องอาศัยจากข้างนอกเราแสวงหามันมาใช่ไหม แต่เครื่องอาศัยจากภายในมันมาจากไหนล่ะ มันหามาจากไหนล่ะ?

มันมาจากจิต จิตแก้จิต! ถ้าจิตแก้จิต สติ สมาธิไม่มีซื้อขาย ไม่มีของสาธารณะที่จะหาได้มาจากไหน สติเกิดจากจิต สมาธิเกิดจากจิต ปัญญาเกิดจากจิต แล้วเอาไปแก้ไขที่จิต ถ้าแก้ไขที่จิตมันจะทำอย่างไร.. เครื่องอาศัย เห็นไหม ถ้าเราทำได้ สิ่งที่เป็นเครื่องอาศัย จากสมมุติบัญญัติมันจะเป็นวิมุตติ มันจะเป็นความจริงขึ้นมา แต่สิ่งที่อาศัยเราก็อาศัยมันอยู่ พอมันเป็นเครื่องอาศัย เราก็อาศัยมันตลอดชีวิต จิตไปอาศัยเขา จิตไปอาศัยสติปัญญา จิตไปอาศัยเขา

ปัจจุบันนี้จิตก็อาศัยชีวิตนี้ อาศัยกรรมดี เกิดเป็นมนุษย์นี่ก็อาศัยเขาอยู่ชั่วคราวอยู่แล้ว แล้วก็ยังไปอาศัยความคิด อาศัยต่างๆ อาศัยไปเฉยๆ แล้วมันเป็นเครื่องอาศัย แต่มันไม่เป็นความจริงขึ้นมา เราถึงต้องถนอมรักษา เราต้องพยายามของเรานะ จากสิ่งที่อาศัยเราทำเป็นสมบัติของเราขึ้นมาให้ได้

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นธรรมสาธารณะนะ เราอาศัยสติ สมาธิ ปัญญา อาศัยแล้วแก้ไขขึ้นไปจนมันเป็นสัจจะความจริงขึ้นมา สัจจะความจริง การกระทำของเรานะ นี่สิ่งที่อาศัย เห็นไหม เราเกิดมาอาศัยโลกอยู่นะ โลกมันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โลกร้อนนี่โลกมีการเปลี่ยนแปลง นี่อาศัยเป็นสมมุติ แล้วในชีวิตของเราก็เป็นสิ่งที่เป็นสมมุติอันหนึ่ง แต่มันเป็นความจริง จริงตามสมมุตินะ

มันมี เรามีครอบครัว มีชาติ มีตระกูล มีต่างๆ นี่ทางการแพทย์ กรรมพันธุ์ ดีเอ็นเอของพ่อแม่ทั้งนั้นแหละ นี่ตรวจได้หมด เพราะมันเป็นสายบุญสายกรรมนะ มันเป็นเรื่องบุญเรื่องกรรมมา พระโพธิสัตว์ เห็นไหม ดูสิ ปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ นี่ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย เวียนตายเวียนเกิด นางพิมพาก็ปรารถนาเป็นคู่ที่สร้างบารมีกันไป ทีนี้ปรารถนา นี่ดีเอ็นเอทางกรรมนะ ทางกรรมทางจิตมันมีความผูกพันกันมา สายบุญสายกรรม เห็นไหม

แต่พูดถึงทางโลกในปัจจุบันนี้ มันเฉพาะปัจจุบันนี้เท่านั้นแหละ นี่ที่ว่าดีเอ็นเอที่ตรวจนั่นล่ะ นี่เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้อย่างนี้ ถ้าวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้เราก็ยอมรับมันเป็นเครื่องอาศัย สิ่งที่เป็นเครื่องอาศัย สิ่งที่เป็นการบอก เป็นการสมมุติ เห็นไหม เหมือนสัตว์เลย เหมือนวัวเลย มันมีตาของมันนะ เผ่าพันธุ์ของมัน หูมันหนีบมาเลยว่าเป็นเผ่าพันธุ์ใด ตีตราด้วยนะ

นี่ก็เหมือนกัน มันเป็นชาติตระกูลไง ตีตรากันมาด้วยดีเอ็นเอไง ตีตราด้วยกรรมพันธุ์ไง แต่กรรมดีกรรมชั่วล่ะ ความดีของเราล่ะ ที่เราสร้างของเราขึ้นมาล่ะ นี่ประสบการณ์ความจริงของเรา เราสร้างขึ้นมา เราทำของเราเพื่อประโยชน์กับเรานะ

นี่เกิดมาอาศัยแล้ว สิ่งที่อาศัยมันมี พระพุทธเจ้าก็ทำให้เรา เห็นไหม พาหะ เครื่องดำเนิน มรรคโค ทางอันเอก มรรคโคเห็นไหม นี่มรรคของฆราวาสเขา มรรคของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด มรรคหยาบๆ คุณงามความดีนี่ บวชเป็นพระเป็นบุญกุศลมาก ทำคุณงามความดีมาก แต่บวชเป็นพระแล้วไม่ปฏิบัติมันได้อะไรล่ะ?

บวชเป็นพระนี่ ความดีอย่างหยาบๆ ขึ้นมาตั้งแต่ฆราวาสเขา เราบวชแล้วเป็นปะขาว เป็นชี เป็นพราหมณ์ แล้วเราก็ประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา นี่บวชเป็นพระเป็นเจ้าเป็นสมมุติสงฆ์ แล้วถ้ามันปฏิบัติขึ้นมา เห็นไหม นี่เกิดในธรรม

ถ้าจิตมันเป็นธรรมขึ้นมานี่ เท้าถึงพื้นนะเข้ากระแส มันเข้ากระแส ถ้าเท้าถึงพื้นแล้วนะ ตั้งแต่เหนื่อยยากขึ้นมาจากในโอฆะ ในทะเลหลวง พอเท้าถึงพื้นนี่มันอยากจะขึ้นฝั่ง พออยากจะขึ้นฝั่ง อยากจะพ้นจากน้ำทะเลไปเพราะอยู่ในน้ำ นี่เท้าถึงพื้นแต่มันก็มีสัตว์ร้ายอยู่ในน้ำนั้นนะ มันยังทำลายเราได้ เราอยากจะพ้นจากนี้ไป เราจะขวนขวายของเรา จะทำของเรา

“นี่สุขควรเสวย ทุกข์ควรกำหนด”

สุขไม่ต้องกำหนด สุขมันเป็นธรรมชาติของมัน นี่แล้วเราอยากได้สุขของเราไปเรื่อยๆ เราทำของเราไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ปฏิบัติแล้วต้องสบายๆ สบายอย่างนี้มันสบายเข้าข้างตัวเอง สบายแล้วมันจะทุกข์อีกนะ นี่ทุกข์แบบโลกไง ดูสิกินอิ่มแล้วก็หิวอีก แสวงหาความสุขแล้วก็ทุกข์อีก

นี่ก็เหมือนกัน แต่เราเอาทุกข์แลกทุกข์ เราต้องมีความเพียร มีความมุมานะ มีความอุตสาหะ นั่งสมาธิภาวนานี่เจ็บหลังเจ็บเอวขนาดไหนนะ เจ็บมันส่วนเจ็บในร่างกาย เวลาหิวข้าวมันยังหิวเลย ไอ้นี่ทรมานมันก็ต้องมีเป็นเรื่องธรรมดา เห็นไหม แต่ทุกข์อันนี้ทุกข์เพื่อจะแสวงหา ถ้ามันปล่อยวางโล่งนะ

“อืม.. สมาธิเป็นอย่างนี้เอง” ในตำราเป็นชื่อของมัน ในความรู้สึกของเรา แล้วคนพูดสมาธิถูก คนได้เข้าสมาธิแล้วพูดถึงสมาธิสมาธิก็ถูก “อ๋อ.. สมาธิเป็นอย่างนี้! ฐานของจิตเป็นอย่างนี้ รากเหง้ามันเป็นอย่างนี้”

นี่ฐีติจิต เห็นไหม ดูสิอวิชชาเกิดจากฐีติจิต อวิชชามันเกิดที่นี่ วิชชามันเกิดที่นี่ แล้วมันเกิดการกระทำของมันแล้ว มันจะละกันที่นี่ พอความจริงเกิดที่นี่ เห็นไหม นี่ไงรากฐานเรามีนะ

สิ่งที่เป็นสมมุติ มันเป็นสมมุติทั้งหมดแหละ แต่มันมีหัวใจเราที่เป็นความจริงอันหนึ่ง แต่ความจริงอันนี้มันโดนสมมุติครอบงำอยู่ แล้วถ้าเราเพิกถอนออกมา เราไปเห็นความจริงขึ้นมา สัจจะอันนี้ ความจริงของเรามันเป็นปัจจัตตัง รู้จำเพาะตน แล้วพูดที่ไหนก็ถูกที่นั่น แล้วฟังออกหมด รู้หมดว่าอะไรผิด อะไรถูก เข้าใจโดยสัจจะความจริงเลย เข้าใจโดยไม่ต้องไปอ้างตำรา ไม่ต้องอ้างใครเลย

อ้างมันเนี่ย อ้างหัวใจ อ้างความรู้สึก อ้างประสบการณ์อันนี้ อันนี้แหละ ความจริงอันนี้ประเสริฐที่สุด แล้วมันอยู่ที่ไหนล่ะ ทุกคนมีสิทธิ์หมด ทุกคนมีหัวใจหมด ทุกคนมีชีวิตหมด สิ่งต่างๆ เสมอภาคนะ สิทธิเสมอภาคอยู่ที่นี่ แต่ทางโลกนี่สูงๆ ต่ำๆ ลุ่มๆ ดอนๆ อันนี้เป็นเวรเป็นกรรม ใครสร้างมาก็ได้อย่างนั้นนะ แต่ทุกคนมีสิทธิ ทุกคนมีหัวใจ ทุกคนสัมผัสได้ด้วยธรรม เอวัง