เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๘ ต.ค. ๒๕๕๒

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๒
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาเราเกิดมาเจอสิ่งใด.. เจอสิ่งใด เห็นไหม ทุกคนคอตกนะ กรรมเก่า กรรมใหม่ กรรมมันให้ผลนะ กรรมเก่า กรรมใหม่ ถ้าเกิดกรรมดี เกิดในประเทศอันสมควร ประเทศที่ดี แต่ถ้ากรรมมันพาให้เกิดแล้ว สิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่เป็นปัจจุบัน ถ้าเป็นปัจจุบันนะ พวกเรานักบริหารจัดการต้องการให้โลกนี้เจริญทั้งนั้น ต้องการให้คนเป็นคนดี แต่ความดีของกาลเวลา กาลเทศะมันมีส่วนมากนะ

ความคิดถ้าเราคิดของเราไปก่อน แต่ถ้าสังคมมันไม่เป็นไปกับเรานะ เราเดือดร้อนมากเลย ความฉลาด ความมั่นคงในชีวิตกับความดี เห็นไหม ความฉลาดกับความดีมันแตกต่างกัน ความฉลาดของเรานี่เรารู้ของเราได้ แต่สังคมมันเป็นไปไม่ได้ มันมีตัวแปรมหาศาลเลย ถ้าเราในโลกสภาวะแบบนี้นะ เราอึดอัดมาก เราจะอึดอัดของเรามาก แล้วความอึดอัดนี้มันคืออะไรล่ะ

กรรมนี่ ขณะที่เราเกิดมาแล้ว เรามีปัญญาของเรา เราแก้ไขของเราได้ทั้งนั้นแหละ แต่มันแก้ไขได้เฉพาะตัวเราไง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมอยู่โคนต้นโพธิ์ อยู่องค์เดียวใช่ไหม

นี่ก็เหมือนกัน ความสุขความทุกข์ในหัวใจของเรา เราทำของเรานะ ถ้าเราควบคุมตรงนี้ได้ ควบคุมหัวใจของเราได้ ควบคุมความคิดของเราได้ ใช่ เราคิดของเราได้ แต่ความคิดของเรานี่ออกไปบริหารจัดการสิ่งทางโลกมันเป็นไปได้ไหม มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้เพราะอะไร สภาคกรรมนะ มันไม่ใช่เรื่องอะไรของเราเลยนะ เราอยู่นี่ ดูสิเวลาแผ่นดินไหว เวลาเกิดสึนามิ เห็นไหม มันกวาดไปหมดเลยนะ

นี่แล้วเรามาจากไหน ทำไมเราต้องมาเจอสภาวะแบบนี้ เวลาเราเจอสภาวะแบบนี้ ทำไมว่าเราทุกข์เรายากขนาดนี้ เวลาเราทุกข์เรายากนะ เห็นไหม นี่เกิดในประเทศอันสมควร ประเทศอันสมควรจากภายนอก ประเทศอันสมควรจากภายใน.. ประเทศอันสมควรจากภายใน นี่เราได้ชีวิตของเรามา มันก็เป็นประเทศอันสมควร แล้วเราจะบริหารจัดการมันอย่างไร

การเสียสละ เห็นไหม นี่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทาน ศีล ภาวนา การเสียสละนี่ กลิ่นของศีลมันหอมทวนลม การเสียสละ การเป็นผู้ให้ ดูสิ เวลาลูกศิษย์ของพระสารีบุตร สามเณรนี่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าให้ไปลาพ่อแม่นะ อีก ๗ วันจะตาย เห็นไหม อีก ๗ วันจะตาย พระสารีบุตรก็ให้เณรไปลาพ่อลาแม่ก่อน

แต่เณรน้อยไปตามกลางทาง มันไปเห็นน้ำที่มันแห้งขอด ปลามันจะตายอยู่นี่ ด้วยความสงสาร ด้วยความไร้เดียงสาของเด็ก เด็กมันจับปลาไปปล่อย มันแก้ไขของมัน มันทำของมัน มันก็ไปลาพ่อลาแม่ตามที่อาจารย์มันสอนนั่นล่ะ นี่พอครบ ๗ วัน เณรมันไม่ตาย เณรไม่ตายเพราะอะไร เพราะการให้ชีวิตเขา การให้ความดีเขา

นี่ก็เหมือนกัน การเสียสละของเรา การเสียสละ ความตระหนี่ถี่เหนียว ความมั่นคงของชีวิต ทุกอย่างให้เป็นความมั่นคง ทุกคนต้องการความมั่นคงทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าเราเสียสละแล้วเราจะได้อะไร.. มันได้อะไร มันได้สภาคกรรมไง กรรมสิ่งที่แวดล้อมมันดีขึ้นมา

นี่การเสียสละ เห็นไหม ทาน ศีล ภาวนา สังคมมันจะดีมันดีตรงนี้ไง มันดีเพราะหน่วยของสังคมเป็นคนดี ทุกคนเป็นคนดีคนถึงจะดีขึ้นมา แต่มันเป็นไปได้ไหมล่ะ มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะอะไร ดูสิเวลาสมัยสหชาติ ใครเกิดพร้อมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่มีบุญกุศลมาก เพราะเป็นผู้นำที่ดีมากเลย เราติดขัดอะไร เราติดข้องสิ่งใด

อชาตศัตรูนะ เวลาจะยกทัพจับศึกขนาดไหน จะให้พราหมณ์เป็นที่ปรึกษาให้ไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่ารบครั้งนี้ชนะหรือแพ้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “รบเท่าไหร่ก็แพ้” นี่รบกับกษัตริย์ลิจฉวีเลย รบเท่าไหร่ก็แพ้เพราะอะไร เพราะเขามีความสามัคคีของเขา เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามพระอานนท์

“อานนท์เราเคยบอกธรรมไว้ ๗ ประการได้ไหม”

มาประชุมพร้อมกันเนืองนิตย์ เลิกประชุมพร้อมกัน ประชุมพร้อมกัน ความเคารพผู้ใหญ่ มีความกตัญญูกตเวที มีความสามัคคี นี่รบเท่าไหร่ก็แพ้ทั้งนั้นแหละ อชาตศัตรูส่งพราหมณ์เข้าไปยุแหย่ เห็นไหม ไปยุให้เขาแตกแยกกัน แล้วก็ไปรบทัพจับศึก

นี่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง เห็นไหม อนาคตังสญาณรู้ไปหมด แต่คำว่ารู้ไปหมด บางอย่างนี่เรื่องของกรรมนะ สุดท้ายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาบั้นปลายของชีวิต ญาติข้างพ่อกับญาติข้างแม่เวลาจะแย่งน้ำกันทำนา เพราะถึงเวลาต้องการน้ำทำนา ยกทัพเข้ามาหากันนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปนั่งอยู่เลย ปางห้ามญาติ เห็นไหม ถามญาติทั้ง ๒ ฝ่าย

“น้ำกับชีวิต อันไหนมีคุณค่ากว่ากัน”

ญาติบอกว่า “ชีวิตมีคุณค่ากว่า”

นี่ได้สติก็แยกกลับไป ครั้งที่ ๒ ก็ไปห้ามอีก พอครั้งที่ ๓ ห้ามไม่ได้ รบกันหมดเลย เห็นไหม นี่คือกรรมของเขา เวลามีกรรมของเขาขึ้นมาแม้แต่ญาติข้างพ่อข้างแม่ยังห้ามไม่ได้เลย น้ำกับชีวิตอันไหนมีความสำคัญกว่า ทั้งๆ ที่รู้นะ ทั้งๆ ที่รู้ นี่ไปห้ามก็ห้ามไม่ได้ เรื่องของกรรมเก่า กรรมใหม่นะ กรรมจะมีเหตุมีผล มันจะทำให้สิ่งที่เราปรารถนา สิ่งที่มันสามารถแก้ไขได้

ของเล็กน้อยๆ นี่เส้นผมบังภูเขา เหมือนเราสอนเด็กเลยนะ เด็กมันไม่ฟังกับเราหรอก มันไม่เข้าใจหรอกว่าเราจะสอนมันอย่างไร มันไม่เชื่อว่าเราปรารถนาดีกับมัน เห็นไหม อันนี้คืออะไร อันนี้คือกิเลสตัณหาความทะยานอยากของคน วุฒิภาวะของคน คนนี่ กาลเวลาของคน วุฒิภาวะของคนยังไม่ถึงเวลาของเขา บอกเท่าไหร่เขาก็ไม่มีความเข้าใจ

หลวงตาท่านสอนบ่อย “คนหลับอยู่ อาหารนี่ป้อนเขาไม่ได้หรอก” เรานี่รู้นะ แต่เราจะไปเตือนเขา เขาหาว่าเราไปจับผิดเขา เขาไม่คิดว่าเราจะปรารถนาดีกับเขาเลย แต่ถ้าเวลาเขารู้ผลของเขาว่าเราปรารถนาดีกับเขานะ เขาซึ้งใจ แต่กาลเวลามันก็ผ่านไปแล้ว

นี่เราอยู่ในสังคมอย่างนี้เราถึงปวดหัวกัน เราปวดหัวนะ ทีนี้เราปวดหัวขึ้นมา นี่การเกิดเป็นมนุษย์เป็นอริยทรัพย์ เราเกิดมาแล้วพบเหตุการณ์ต่างๆ เราพบสิ่งต่างๆ มันเป็นการแก้ไข มันเป็นการควบคุมหัวใจของเรา ถ้าคนดีมันดีในหัวใจของเรานะ มันยับยั้งชั่งใจของมันได้

พอรู้แล้ว เห็นไหม เวลาพระอริยเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา นี่ความนิ่งอยู่ของพระอริยเจ้านะ เพราะพูดไปแล้วมันกระทบกระเทือนกันไง แล้วถ้าไม่พูดล่ะ ไม่พูดนี่ครูบาอาจารย์เราท่านนิ่งเฉย นิ่งเฉยนะ ความนิ่งเฉยนี่รู้ทั้งรู้ แต่พูดออกไปแล้วมันไม่มีประโยชน์อะไรหรอก มันกระเทือนกันไปหมดเลย แต่ถ้าเก็บไว้ในหัวใจ นี่มันกรรมของสัตว์

เวลาท่านพูดออกมา เห็นไหม มันกรรมของสัตว์! คำว่ากรรมของสัตว์นี่มันสุดวิสัย มันเห็นอย่างนั้น มันมองอย่างนั้น แล้วมันมองอย่างนั้น มันเห็นอย่างนั้นเพราะเหตุใดล่ะ นี่เพราะวุฒิภาวะของใจ เพราะกรรมมันสร้างมา เวลาเราเชื่อในเรื่องศาสนากัน เราเชื่อเรื่องศาสนา ถ้าความเชื่อนี่เราทุ่มเทไปขนาดไหน ถ้าความเชื่อเป็นความถูกต้องก็ดีงาม ถ้าความเชื่อของเรามันผิดพลาดขึ้นมาล่ะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกมีความเชื่อมีความศรัทธา นี่เป็นหัวรถจักร เป็นสิ่งที่ชักให้เราเข้ามาทำบุญกุศล แล้วพอเรามีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา ท่านถึงเอากาลามสูตรเข้ามาอีก กาลามสูตรนะ อย่าเชื่อว่าเป็นอาจารย์ของเรา อย่าเชื่อว่าทฤษฎีนี้คิดแล้วมันเป็นไปได้ อย่าเชื่อทุกสิ่งเลย ให้เชื่อประสบการณ์ ให้เชื่อจากการกระทำตามความเป็นจริงของเรา

นี้เวลาประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน เวลาประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราไม่เชื่อไม่ศรัทธาเลยนะ เราจะไม่มีการเริ่มต้นตั้งแต่การเสียสละอย่างนี้หรอก ไม่มีเรื่องของทาน ไม่มีเรื่องของศีล ไม่มีเรื่องของสมาธิ เรื่องของทำจิตให้ตั้งมั่น ถ้าไม่มีตรงนั้นขึ้นมาแล้วเราจะเริ่มต้นกันตรงไหน พอเริ่มต้นขึ้นมา ในการประพฤติปฏิบัติเราถึงได้พูดสติปัฏฐาน ๔ ที่เขาปฏิบัตินี่ผิดหมดเลย

คนที่ปฏิบัตินี่ผิดหมดเลย ผิดเพราะอะไร ผิดเพราะพื้นฐานเรามันผิดมาก่อน พอพื้นฐานผิดมาก่อนเราปฏิบัติไปนี่ สิ่งใดที่มันผิดพลาดเราต้องแก้ไขเอาตอนนั้นไง เราปฏิบัติของเรา สิ่งใดถ้าจิตสงบไหม สงบแล้วเป็นมิจฉาหรือสัมมา

มันสงบ คำว่า “สงบ” จิตมันสงบขึ้นมา สงบไปไหน มันหายไปหมดเลย มันตกภวังค์ไปเลย นี่นิ่งเงียบไปหมดเลยนะ แล้วเวลาจะรู้สึกตัวขึ้นมาเหมือนคนสะดุ้งตื่น เหมือนคนที่สติกลับมา นั่นล่ะมันเป็นภวังค์นะ มันเป็นมิจฉาสมาธินะ.. นี่ที่ว่าเป็นความว่างๆ ความว่าง ความสงบ มันถูกหรือเปล่า ถ้าความสงบมันถูกขึ้นมา เหมือนคนเรานี่ ดูสิ ดูนักกีฬาเวลาออกกำลังกายขึ้นมาเขาจะแข็งแรงมากเลย นักกีฬาเขาออกกำลังกายของเขา

จิตที่มันมีกำลังของมัน เป็นสมาธิของมัน มันจะมีกำลังของมัน พอมีกำลังของมัน มันจะมีรสชาติของมันแล้วมันออกวิปัสสนา มันออกรู้สิ่งต่างๆ ความคิด ปัญญาที่เกิดจากสัมมาสมาธิ ไม่เกิดเหมือนปัญญาที่เราคิดกันอยู่นี้ ปัญญาที่เราคิดกันอยู่นี้มันเป็นปัญญาเกิดจากจิต ทุกอย่างความคิดเกิดจากจิตทั้งหมด แต่มันบวกไปด้วยกิเลส มันไม่สะอาดบริสุทธิ์ของมัน

แต่เวลาจิตมันสงบขึ้นมานะ ปัญญาที่มันเกิดขึ้นมานี่ โอ้โฮ.. มันสะท้อนใจมากนะ มันสะท้อนใจจนขนาดที่ว่าคนนี่น้ำตาล่วงน้ำตาไหลได้เลย มันสะท้อนใจว่าทำไมมันโง่อย่างนี้ ทำไมเราโง่อย่างนี้ มันกลับมาถามตัวเองนะว่าตัวเองทำไมโง่อย่างนี้.. โง่คืออะไร โง่คืออวิชชา โง่คือความไม่รู้สึกตัวมันเอง

นี่ถ้าจิตมันสงบของมัน สิ่งที่ประพฤติปฏิบัติมา เริ่มต้นนะ คนปฏิบัติเหมือนนักกีฬา เหมือนผู้ที่ฝึกงาน มันต้องมีผิดมาบ้าง พอมันผิดมาบ้างความผิดนั้นเราก็แก้ไขของเราไป ไม่ใช่ว่าเราปฏิบัติแล้วจะถูกหมดเลย แล้วจะเอาให้ถูกต้อง ให้เป็นทฤษฏีที่ถูกต้องหมดเลย มันจะไปหาที่ไหนล่ะ เพราะเราเกิดมากับความรู้บ้างไม่รู้บ้างของเรานะ

ความรู้บ้าง ไม่รู้บ้าง เห็นไหม เพราะอวิชชามันครอบคลุม มันเลยภาพมัวๆ มัวซัวมา เราถึงมาเวียนตายเวียนเกิดไง ถ้าภาพมันชัดเจนเราจะมาอย่างนี้ไหม ถ้ามันภาพชัดเจนสิ่งที่มันดีกว่านี้ สิ่งที่มันสมควร เราจะเอาสิ่งที่ดีกว่านี้ไหม แล้วมันมัวซัวขึ้นมาอย่างนี้ เพราะจิตมันเป็นอย่างนี้ พอเราปฏิบัติกันมันจะมีถูกบ้างผิดบ้าง

ถ้าภาพมันมัวอยู่ แล้วพอมัวแล้วเขาแสวงหาสิ่งที่ยิ่งจับต้องไม่ได้ ยิ่งมัวซัวของเขาไป เห็นไหม นี่การประพฤติปฏิบัติแบบเอาแต่ใจตัวไง แบบเอาแต่ความเห็นของตัวไง แต่ถ้าเป็นความจริงนะ เป็นความจริงคือสัจธรรมอันนี้เป็นความจริง แล้วจิตใจของเรามันสัมผัสได้ มันมีความเป็นไปได้ เราถึงจะต้องพิสูจน์ ต้องตรวจสอบ อย่าให้เชื่อ ไม่ให้เชื่อสิ่งใดๆ เลย แล้วประสบการณ์ที่มันเป็นจริงขึ้นมาแล้ว เราเทียบเคียงกับผู้ที่เป็นจริงได้

ธัมมสากัจฉา เอตัมมังคลมุตตมังไง เวลาสนทนาธรรมกันธรรมมันมีอันเดียว พูดถึงสมาธิ พูดถึงฌานสมาบัติ สมาบัติเขาว่าสมาบัติเป็นอย่างนั้นๆ เพ่งสีอะไรก็เป็นสมาบัติ ..สมาบัตินึกเอาทั้งนั้นเลย ถ้าเป็นสมาบัติจริงนะ เขาเข้าเป็นฌานสมาบัติจริงนะ ถ้าสิ่งนั้นเป็นสมาบัติจิตของเขาจะมีกำลังมาก พอจิตเขามีกำลังมาก คนที่มีกำลังมาก คนที่มีกำลังซื้อมาก คนที่มีเงินมากนี่เขาทำอะไรก็ได้

จิตถ้ามีกำลังของมันนะ มันต้องรับรู้สิ่งใดๆ เป็นประโยชน์กับมันได้ สิ่งต่างๆ นี่ อย่างเช่นมันจะรู้อะไรของมันในจิต มันจะรู้สิ่งที่แปลกๆ สิ่งที่โลกเขารู้กันไม่ได้ นี่ไงขนาดว่าอวดอุตตริมนุสสธรรม เข้าฌานสมาบัติแล้วพูดออกมาก็คือว่าอวดแล้ว ถ้าผู้ทรงศีลนะ แต่ถ้าเป็นคฤหัสถ์ของเขา เขาไม่มีสิทธิ์ตรงนี้ เขาพูดของเขาได้

เวลาเขาออกของเขามา เห็นไหม แม้แต่ฌานสมาบัติ นี่สิ่งที่คาดที่หมายไปก็พูดจับพลัดจับผลูกันไป แต่ถ้าเป็นความจริงนี่มันเหาะเหินเดินฟ้าได้ มันรับรู้สิ่งใดๆ ได้ แต่ในปัจจุบันนี้ที่เขาพูดกัน ที่เขาปฏิบัติกัน มันไม่จริงทั้งนั้นเลย เพราะถ้ามันจริงแล้วเขาสงสัยทำไม แล้วสิ่งที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ เห็นไหม ดูสิ เหาะเหินเดินฟ้าก็ขึ้นเครื่องบินสิ เวลาอยากหูทิพย์ ตาทิพย์ นี่โทรศัพท์มันใช้ได้หมดแหละ วิทยาศาสตร์มันพิสูจน์ได้ด้วยคลื่น ด้วยต่างๆ วิทยาศาสตร์มันยังพิสูจน์ได้ มันยังทำให้เป็นสินค้าได้ เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกกับสังคมได้

แต่ขณะจิตที่มันมีกำลังของมัน มันเป็นเฉพาะตน เฉพาะส่วน เฉพาะจิตที่มีกำลังของเขา จิตที่มันแปลกประหลาดกับจิตปกติของเรา จิตปกติของเรานี่เราจะรับรู้ได้ด้วยภาพมัว คือว่ามันรู้ของมัน แต่บางอย่างมันก็มาปกคลุมให้มันเป็นภาพสีเทาอย่างนั้นไป เราต้องของเราให้สงบ เพราะมันจะสะอาดที่นี่นะ

ความสะอาด ความสงบของใจ เห็นไหม ความทุกข์ ความยากในสังคม ในชีวิตของเรานี้อันหนึ่งนะ แล้วนี่ธรรมะมันเป็นอย่างนี้ ธรรมกับโลกไง แต่ธรรมนี่มันต้องอาศัยนะ ธรรมนี่ เวลาครูบาอาจารย์ท่านใจเป็นธรรม ท่านบอกว่า

“ธรรมแท้ๆ มันแสดงออกไม่ได้ มันต้องแสดงผ่านสมมุติ”

เหมือนสื่อ เหมือนที่ว่าเวลาหูทิพย์ ตาทิพย์นี่มันผ่านอะไร มันผ่านคลื่น ผ่านวิทยุต่างๆ นี่ก็ผ่านร่างกาย ผ่านขันธ์ ๕ ผ่านสิ่งที่ออกมา

สิ่งนี้ เห็นไหม “โลกกับธรรม” ธรรมนี่มันอยู่ในหัวใจของเรา ธรรมเป็นสมบัติอริยทรัพย์ ใจนี่มันมีคุณค่ามากเลย แต่ขณะที่เราดำรงชีวิตอยู่ เราต้องอยู่กับโลก การที่อยู่กับโลก เราต้องบริหารจัดการกับโลกไป โลกเราบริหารจัดการมันไม่ได้ มันเป็นไปตามกระแส มันเป็นไปตามความตกผลึกของสังคมอย่างนั้น ฉะนั้นเราอยู่กับโลกแล้วเราจะบริหารมันอย่างไรไง

อยู่กับโลกเราเข้าใจเรื่องโลกไหม ถ้าเข้าใจเรื่องโลก เข้าใจเรื่องร่างกายนี่มันเสื่อมสภาพไหม ร่างกายนี้เป็นโลกอันหนึ่งนะ แต่หัวใจของเรา ถ้ามันเป็นโลก เราก็คลุกคลีไปกับโลก แบกหามมัน ทุกข์ยากกับมัน นี่ทุกข์ยากกับมันนะ แต่ถ้าเป็นธรรมนะเราปลงไง ปลงธรรมสังเวช เวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านปลงธรรมสังเวช เห็นไหม มันสะเทือนหัวใจมาก มันสะเทือนหัวใจมาก แล้วมันช่วยอะไรเขาได้ มันทำอะไรไม่ได้ มันถึงอุเบกขาไง

พรหมวิหาร ๔ ของผู้ที่มีคุณธรรม ผู้ที่บริหารนะ ผู้บริหารนี่เราอยากช่วยเขามากเลย แล้วมันทำไม่ได้ มันทำถึงที่สุดก็ไม่ได้ มันมีกรรมมีเวรของกัน มันไม่ฟัง มันไม่ยอมรับอย่างนี้ สิ่งนั้น เห็นไหม ปลงธรรมสังเวช นี่อุเบกขา วางอุเบกขา ถ้าใจมันมีอุเบกขาเรารักษาใจ ถ้าใจมันรักษาใจมันได้ แม้แต่สิ่งที่ทำไม่ได้ มันรับรู้แล้วมันก็วางอุเบกขาไว้ นี่แล้วปลงธรรมสังเวช

ธรรมสังเวชตรงไหนล่ะ ตรงเพราะเขาสร้างกรรมของเขามา เขาทำของเขามา พันธุกรรมทางจิตของเขามีมุมมองอย่างนี้ เราพยายามเปิดแล้ว อย่างไรเขาก็ไม่รับรู้ นี่กรรมของเขา นี่ไม่ใช่สายบุญสายกรรมของเรา กรรมของเขา เขามีความเห็นของเขา

นี่ปลงธรรมสังเวช แล้วมันเป็นเวรกรรมของเขา ถ้าเราวางอุเบกขา ใจเรามันก็ปล่อยวางมา ใจเรามันไม่ไปแบกหามไง ถ้าเราคิดว่าเราบริหารโลกนี่เราแบกทุกข์มากเลย ถ้าพูดอย่างนี้แล้ว แสดงว่าไม่รับผิดชอบสิ่งใดเลย.. รับผิดชอบเต็มความสามารถเลย ถึงสุดท้ายแล้วถึงวางอุเบกขาไง ช่วยเหลือเต็มที่ ทุกอย่างทำเต็มที่เลย แต่ทำแล้วมันเป็นอย่างนี้ ทำถึงที่สุดแล้วมันเป็นไปไม่ได้ พอเป็นไปไม่ได้ก็วางอุเบกขา มันก็กรรมของสัตว์ เราช่วยแล้ว แต่ขณะที่ช่วยอยู่ถ้าเขาเปิดตา เขามีการเปลี่ยนแปลง นี่แก้ไข เห็นไหม นี่ทรมาน

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านบอกเวลาท่านประหารนะ คือท่านไม่พูดด้วย มันเป็นกรรมของสัตว์ เราต้องวางเฉย วางเฉยคือเราไม่มีโอกาส แต่ที่เรามีโอกาสกัน ครูบาอาจารย์ท่านพยายามสอนเรา บอกเรา นี่มีโอกาสอยู่ แต่ถ้าท่านหยุดนะ ปล่อยวางนะ นี่หมดโอกาสแล้ว

เพราะอะไร เพราะว่าแร่ธาตุนี่ เห็นไหม คนเราเข้ากันด้วยธาตุ น้ำไปตามน้ำ น้ำมันไปตามน้ำมัน มันไปตามความเชื่อความเห็นของมัน คือไปตามธาตุ ธาตุของมันมันเป็นอย่างนั้น แต่ถ้ามันแก้ไขได้นี่เรากลั่น เราเปลี่ยนจากน้ำมันดิบเอามาเป็นน้ำมันที่เราใช้เชื้อเพลิงได้ ทุกอย่างเป็นประโยชน์ขึ้นมาได้ มันก็ดำรงชีวิตของเราได้ การกระทำของเราได้ มันก็เกิดบุญเกิดกรรม เกิดการกระทำ ใจของเรามันจะพัฒนาของเราขึ้นมาเพื่อประโยชน์กับเรานะ

นี่โลกกับธรรม! เราศึกษาธรรมมันเป็นความรู้สึกเรา มองกระแสโลก แล้วเราตั้งตัวของเรา เอาตัวเราให้รอดให้ได้ ถ้าเอาตัวรอด เห็นไหม ต้นโพธิ์ต้นไทร สิ่งที่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรที่ให้สัตว์โลกมันได้อาศัย ใจของเรามีคุณธรรมขึ้นมามันจะมีคนพึ่งพาอาศัยเราได้นะ แต่ถ้าใจเราไม่มีคุณธรรมเราก็ทุกข์ เขาก็ทุกข์ เราพยายามสร้างตัวเราให้ได้ก่อนเพื่อประโยชน์กับเรา แล้วจะเป็นประโยชน์กับโลก เอวัง