เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๖ ต.ค. ๒๕๕๒

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๒
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้วันพระ เวลาหลวงตาท่านเตือนนะ เตือนถึงว่าโลกธรรม ๘ ไง ให้ดูใจเรา ใจเขาใจเรา ไม่มีใครเกิดมาแล้วได้ดั่งใจตัวเองหรอก ถ้าเราจะเอาดั่งใจตัวเองเราต้องไปสร้างโลกของเราอยู่คนเดียว เราจะไม่ได้ดั่งใจเราเลย ถ้าเราอยู่กับโลกเขา ถ้าไม่ได้ดั่งใจเราเลย เราจะแก้ที่คนอื่นไม่ได้ เราจะต้องแก้ที่ใจเรา ถ้าเราแก้ที่ใจเราได้ เรารับสภาพสิ่งนั้นได้ ธรรมมันเกิดที่นี่ไง

เราอยู่กับโลกจะให้โลกเป็นอย่างใจเรานี้ไม่มีหรอก แต่ถ้าเรารักษาใจเราแล้วมันก็เป็นอยู่อย่างนั้นแหละ แต่เรารับสภาพนั้นได้ เห็นไหม นี่โลกธรรม ๘ สิ่งที่เป็นโลกธรรม ๘ นะ เวลาพูดถึงทางวิทยาศาสตร์ ทุกคนนี่โดยสิทธิ์ ทุกคนมีสิทธิทั้งนั้นแหละ ทีนี้สิทธิ์ของใคร คนที่มีความรู้มากน้อยขนาดไหน ถ้ามีความรู้ได้มาก เขาจะเป็นประโยชน์กับโลกมาก ถ้ามีความรู้มากนะ แล้วยิ่งใจเป็นธรรมด้วยยิ่งเป็นประโยชน์มาก ถ้าเขามีความรู้มากแต่ใจเขาไม่เป็นธรรม เขาทำลายโลกมหาศาลเลย

นี่โลกธรรม ๘ เขาว่าโดยสิทธิ์ โดยสิทธิ์ เวลาเราทำเขาจะบอกเลยบอกว่า สิ่งที่เรานี่อยากดัง อยากใหญ่ อยากมีชื่อเสียงทั้งนั้นแหละ แต่เขาไม่ได้คิดมุมกลับเลย ว่าถ้าเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบล่ะ เป็นการดูแลรักษาล่ะ แต่เขาไม่เคยคิดมุมกลับไง คนคิดในแง่เดียวนะ เพราะถ้าใครทำอะไรอยากใหญ่มันก็เป็นสิทธิ์ของเขา มันเป็นสิทธิ์ของเขาก็คือเป็นสิทธิ์ของเขา

ถ้าหน้าที่ของเรา เราต้องดูใจของเรา แล้วเราดูใจของเราแล้วสิ่งที่เราทำนั้นถูกต้องหรือเปล่า สิ่งที่ถูกต้อง ความถูกต้องมันก็ต้องเป็นความถูกต้องเสมอกัน ถ้าสิ่งที่เราทำมันไม่ถูกต้อง ถ้าเขาแย้งมานี่ เห็นไหม หลวงตาสอนประจำนะ

“คนโง่นะ ล้านคน แสนคน หรือว่ากี่สิบล้านคนก็แล้วแต่ ติเตียน นินทา กล่าวสรรเสริญ ไม่มีประโยชน์เลย”

ถ้าคนฉลาดคนเดียวพูดนะ คนฉลาดที่เขาพูดนี่ เช่นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่นครูบาอาจารย์เราท่านมีหลักมีเกณฑ์ของท่าน ท่านพูดของท่านนะ ท่านชี้ถึงความบกพร่องของเรา อันนั้นประเสริฐที่สุดนะ ถ้าคนฉลาดพูดเราต้องฟัง แต่ถ้าคนโง่พูดขนาดไหน มันไม่มีประโยชน์อะไรขึ้นมาหรอก

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เราแสดงออกไป สิ่งที่เราทำกันไปมันถูกหรือมันผิดล่ะ ถ้ามันถูกหรือมันผิดนะ นี่โต้แย้งกันด้วยเหตุด้วยผลสิ ถ้าโต้แย้งกันด้วยเหตุด้วยผล สิ่งนี้มันจะเป็นประโยชน์กับโลก เป็นประโยชน์นะ ถ้าปัญญา ดูสิมิลินทปัญหา พระนาคเสนเวลาท่านโต้ตอบกันมันมีความสุขทั้งคู่นะ แต่พอฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตไปนะเศร้าใจมากเลย มันหมดแล้ว

มันหมดคือว่าภูมิปัญญาของเราที่สามารถจะเป็นประโยชน์ได้ แต่คนที่มีความรู้ระดับนี้มันไม่มี ถ้ามันไม่มีมันก็โดดเดี่ยว ความโดดเดี่ยวนี่มันไม่มีประโยชน์สิ่งใดๆ เลย แต่ถ้ามันมีภูมิมีปัญญาแล้วส่งเสริมกัน แก้ไขดัดแปลงกัน เพื่อประโยชน์แก่กัน เห็นไหม มันเป็นประโยชน์มหาศาลเลย สิ่งนี้เป็นประโยชน์นะ

นี่พูดถึงว่าวันพระ วันนี้วันพระเป็นวันที่ประเสริฐ ประเสริฐมันต้องประเสริฐในหัวใจของเรา มันดูใจเราไง ถ้าใจของเราประเสริฐขึ้นมา ใจของเรามีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา สิ่งต่างๆ มันเป็นอย่างนั้น มันเป็นสภาพแบบนั้น สัตว์โลกเป็นไปโดยกรรม

ในสมัยพุทธกาล สามเณรน้อยนะ เวลาเป็นพระอรหันต์ไปอุปัฏฐากอาจารย์ อาจารย์นี่เป็นพระผู้เฒ่า แต่เวลาหยิบพัดหยิบอะไรขึ้นมา พัดถึงตาของสามเณรน้อยบอดเลยนะ สามเณรน้อยยังอุปัฏฐากอยู่นะ พอสามเณรน้อยอุปัฏฐากอยู่ พอตอนเช้าขึ้นมาบอกว่า “ให้ออกไป”

“ไปไม่ได้แล้วตาบอด”

แล้วตาบอดอยู่นะ นี่มันทำให้อาจารย์สะเทือนใจมาก แล้วขอโทษเณร

เณรบอก “ไม่ต้องขอโทษหรอก มันเป็นผลของวัฏฏะ”

คำว่า “ผลของวัฏฏะ” นี่โดยเวรโดยกรรม เราเกิดมาพบกันต่างๆ นี้ มันเป็นผลของวัฏฏะ เรามีบุญกุศลร่วมมาด้วยกันเราถึงเกิดมาพบกัน สิ่งที่พบกันมันเป็นผลของวัฏฏะ ผลของบุญเก่า กรรมเก่า กรรมที่เราสร้างสมมา มันจะทำให้เรามาพบกัน สิ่งที่เรามาพบกันแล้ว ในปัจจุบันนี้ ถ้าเรายังไม่มีธรรมในหัวใจของเรา เราไม่รักษาใจของเรา เราจะมีผลกระทบกระเทือนกันต่อไป มันเป็นปัจจุบัน นี่กรรมปัจจุบัน ถ้ากรรมปัจจุบันมันยังมีต่อไป มันจะมีกรรมอนาคตต่อไป

แต่ถ้าเรารักษาใจของเรา เห็นไหม กรรมนี่ผลของวัฏฏะ เราเกิดมาพบกัน เราเกิดมาเจอกัน เราเกิดมานี่ร่วมสำนักกัน เราเกิดมาศึกษาร่วมสมัยเดียวกัน ถ้าร่วมสมัยเดียวกัน เราจะดูแลใจเราอย่างไรเพื่อประโยชน์กับมัน

คำว่าประโยชน์นะ ประโยชน์หมายถึงว่า ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมานี่เป็นประโยชน์กับเราก่อน ถ้าเราไม่รู้จริง เราเอาอะไรไปพูดไม่ได้หรอก แต่คนที่เขาไม่รู้จริง ที่เขาพูดออกมานี่ไม่เป็นความจริง แล้วมันเป็นประโยชน์ของใครล่ะ? เห็นไหม มันเป็นมิจฉาทิฏฐิ มันเป็นความเห็นผิด มันเป็นเข็มมุ่งชี้ไปในทางที่ผิด อธิษฐานบารมี บารมี ๑๐ ทัศ ถ้าผู้มีเป้าหมายผิดมันจะไปสู่เป้าหมายที่ถูกได้อย่างไร?

ดูสิดูพระโพธิสัตว์ เวลาปรารถนาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สร้างบารมี ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย ต้องถูกต้องด้วย ถ้าไม่ถูกต้องมันจะไปไหน เห็นไหม เข็มมุ่งที่ผิดมันจะพาไปในทางที่ผิด ถ้าเข็มมุ่งที่ถูกมันจะพาเราไปสู่อธิษฐานบารมี บารมี ๑๐ ทัศขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พาไปถึงที่ถูกต้อง

ถ้าความถูกต้อง นี่เราเกิดมาร่วมสมัย สิ่งที่ถูกผิดมันก็ด้วยเหตุด้วยผล แล้วมันรู้จริงนะ ความลับไม่มีในโลก เรานี่เป็นคนรู้ก่อน เราเป็นคนกระทำเราจะรู้ของเราว่าผิดถูก เจ้าของรู้ ตัวเองนี่รู้ ถ้ารู้ขึ้นมาเพราะสิ่งที่มันมีอยู่ในหัวใจ อย่างไรมันก็มี ดูสิของที่เราเก็บซ่อนไว้ เราเก็บรักษาไว้ เราลืมไปนะ เราหาไม่เจออย่างไรมันก็อยู่ที่ตรงนั้นแหละ แต่เราหามันไม่เจอ

สิ่งที่อยู่ในหัวใจของเรามีแต่ตัณหาความทะยานอยาก ในหัวใจของเรานี่เรารู้ของเรา มันมีของมันอยู่ มันขัดข้องหมองใจ มันมีของมันอยู่ แต่เราหามันไม่เจอ เวลามันว่างๆ ว่างๆ อยู่นี่ เรารักษาใจของเรามันก็ว่างได้ แต่ว่างได้มันก็มีความขัดข้องหมองใจ แต่ถ้าเวลามันถึงความถูกต้องดีงามของมันแล้ว มันเสร็จสิ้นกระบวนการของมัน ของเราไม่ได้เก็บซ่อนไว้ เราไม่ได้รักษาไว้ ของรักษาไว้มีภพ รักษาไว้มีสถานที่ รักษาไว้มีการกระทำ รักษาไว้มันต้องมีการรักษา แต่ถ้ามันไม่รักษาล่ะ?

สิ่งที่เราเสียสละไป เห็นไหม ดูสิ ของนี่เราทำบุญกุศลไป เราทำทานไป มันหมดไปจากเราแล้ว เราต้องรักษาไหม เราไม่ต้องรักษาเลย ดูสิ เราเสียสละขึ้นมา สิ่งนี้มันเป็นวัตถุ เป็นอามิส สิ่งที่เป็นวัตถุที่เราเสียสละออกไป แต่ใครเป็นผู้เสียสละล่ะ ใจเป็นผู้เสียสละ เห็นไหม ใจนั้นมันเป็นผู้เสียสละออกไป มันก็ได้บุญกุศลของมัน

บุญกุศล นี่ที่ว่าสิ่งที่เสียสละออกไปเป็นวัตถุ แต่ผู้ที่ได้คือได้เป็นทิพย์ ได้เป็นทิพย์นี่วิญญาณาหาร เกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหมก็กินวิญญาณาหาร เขาไม่มีตลาด เขาไม่มีการซื้อขาย วิญญาณาหาร วิญญาณเกิดจากจิต เห็นไหม เวลาเกิดจากจิต เทวดา อินทร์ พรหมก็ภพนี่ โอปปาติกะ จิตมันไปเกิดในโอปปาติกะนี่กินวิญญาณาหาร สิ่งที่เป็นอาหารมันเป็นทิพย์ๆ ของมัน ถ้าเราไม่ได้ทำไว้ล่ะ?

ไม่ได้ทำไว้ เขาบอกว่าวิญญาณาหารก็นึกเอา วิญญาณาหาร ขันธ์ ๕ เกิดจากจิต ถ้าอย่างนั้นมันก็เป็นสมมุติ เราก็นึกเอาสิ เราอยากจะกินของดิบของดีนี่นึกเอา แล้วเรานึกแล้วได้ไหมล่ะ มันนึกแล้วไม่ได้ มันไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย มันไม่มีที่มาที่ไปไง แต่ถ้าเราเสียสละของเรา เราจะนึกหรือไม่นึกล่ะ เราเป็นคนเสียสละออกจากมือเราไป

นี่สิ่งที่นึกเอา มันก็เหมือนอนุโมทนาทาน เราไม่ได้ทำของเราแต่เราอนุโมทนา เราก็มีความสุข มีความพอใจของเรา แต่มันจะเป็นอย่างที่เราทำเองไม่ได้ นี่เหตุปัจจัยมันไม่เหมือนกัน เหตุปัจจัยต่าง ผลก็ต่าง เหตุปัจจัยเสมอกัน แต่ถ้าเจตนาหรือว่าหัวใจไม่เสมอกัน มันก็ยังต่างอยู่วันยังค่ำแหละ

ปฏิคาหก ผู้ให้ให้ด้วยความบริสุทธิ์ ผู้รับรับด้วยความบริสุทธิ์ เห็นไหม ปฏิคาหกระหว่างผู้ให้กับผู้รับ ระหว่างผู้ให้ เนื้อนาบุญของโลกไง เราหว่านข้าวไปบนลูกรัง ไปบนปูนต่างๆ ข้าวมันเกิดไม่ได้หรอก ถ้าเราหว่านข้าวไปบนดินอุดมสมบูรณ์ขนาดไหน ปฏิคาหกนะ เรามี แต่ถ้าผู้รับไม่มี เห็นไหม ของเรามีอยู่มันก็เน่าเสียไปโดยธรรมชาติของมัน เรามีอยู่แล้วมีผู้รับด้วย นี่มันจะตอบสนองกัน ปฏิคาหกทั้งผู้ให้และผู้รับเรามี

แต่ถ้าไม่มีผู้รับ เห็นไหม นี่ครูบาอาจารย์ท่านพูดอยู่ ในพุทธศาสนาเราได้เน้นถึงการทำทาน นี่เราได้บุญกุศลของเรา แต่ถ้าพูดถึงลัทธิศาสนาอื่นไม่มีภิกษุ เขาไม่มีเนื้อนาบุญนะ แต่เขาเสียสละของเขาเหมือนกัน แต่เขาไม่มีเนื้อนาบุญ ปฏิคาหกมันไม่ครบหรอก

แต่ถ้าปฏิคาหกของเรานะ เรามีครูมีอาจารย์ของเราเป็นที่ลงใจของเรา พอลงใจของเรานี่ เราเสียสละไปด้วยความเต็มใจ ด้วยความสดชื่น ด้วยความพอใจ ขณะจะให้หรือให้แล้ว ต่างๆ เห็นไหม นี่มันมีความพอใจของมัน ผู้รับรับแล้วเป็นประโยชน์ไหม นี่ปฏิคาหก

นี้พูดถึงบุญกุศลนะ การทำดีของเรา เราตั้งใจทำดีของเรา แล้วนี่สิ่งที่โลกเขาเป็นไป เห็นไหม รักษาใจเรา เราทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด สิ่งที่ดีที่สุดแล้ว แล้วถ้าเป็นประโยชน์กับเราที่สุดขึ้นมา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดกับพระอานนท์ เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพานนะ

“เธอบอกเขาให้ปฏิบัติบูชาเถิด”

นี้การปฏิบัติบูชาของเรานี่ เราปฏิบัติแล้ว การปฏิบัติบูชานี่บูชาใคร? บูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่พุทธะในหัวใจของเราเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ผลมันจะเป็นสันทิฏฐิโก เป็นปัจจัตตัง ใจนั้นเป็นผู้รับ ใจนั้นเป็นผู้สัมผัส ประสบการณ์อันนี้ผิดถูกมันจะเข้าใจของมัน มันจะพยายามแยกแยะ พยายามรื้อค้นของมันมาถึงที่สุดของมัน

นี่ปฏิบัติธรรมถวายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เข้าไปพบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทโธ พุทโธ พุทโธ จนพุทโธไม่ออก พระพุทธเจ้าอยู่ในหัวใจของเรา อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากข้างนอก นี่เป็นอุบาย แต่ถึงที่สุดแล้วอุปัฏฐากใจของเราต่างหากล่ะ

“พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน”

พุทธะอยู่ที่ไหน? ในมหายานบอกว่า “เจอพุทธะที่ไหน ฆ่าพุทธะที่นั่น” เจอพุทธะคือเจอภพ เจอพุทธะคือเจอเรา เห็นไหม ดูสิ หลวงตาท่านพูด เวลาท่านบอก

“จิตนี้สว่างไสวๆ” ธรรมะมาเตือน..

“ที่ไหนมีจุดมีต่อม..ที่นั่นมีภพ” ก็ยังไม่เข้าใจ เห็นไหม ที่ไหนมีความรู้สึก นั่นล่ะมันมีตัวตนของมันทั้งนั้นแหละ นี่ไล่ต้อนเข้ามา ไล่ต้อนเข้ามา.. เจอพุทธะที่ไหน ฆ่าพุทธะที่นั่น มีความรู้สึกที่ไหน ทำลายที่นั่น มีความเห็นที่ไหน ทำลายที่นั่น ทำลายตลอดไป ยิ่งทำลาย เห็นไหม การฆ่าที่ประเสริฐที่สุดคือการฆ่ากิเลส เพราะกิเลสเป็นนามธรรม

การเบียดเบียน การทำลายกัน การส่อเสียดกัน พระพุทธเจ้าห้ามหมดเลย มันสร้างบุญสร้างกรรม เพราะมันเป็นตอบสนองระหว่างคน ๒ คน แต่ในหัวใจของเรา เห็นไหม ระหว่างความคิดกับจิตมันเป็น ๒ เหมือนกัน แต่ ๒ เพราะเราคนเดียว มันสะอาดบริสุทธิ์เพราะการกระทบของจิต ความคิดกับจิต พอมันกระทบความคิดกับจิต พอมันรักษาเข้ามา มันสะอาดเข้ามา ถึงที่สุดเข้ามามันปล่อยความคิดหมด มันเป็นคนเดียว เห็นไหม หนึ่งเดียว พุทโธ พุทโธ หนึ่งเดียว

นี่จิตหนึ่งๆ ก็คือหนึ่งเดียว แต่เวลาทำขึ้นมา หนึ่งเดียวนั่นล่ะคือตัวภพ หนึ่งเดียวนั่นล่ะคือสิ่งที่รับรู้ ขณะที่หนึ่งเดียว สัจธรรมมันมีหนึ่งเดียว นี่มันยากตรงนี้ไง มันยากหนึ่งเดียว..

“ที่ไหนมีจุด มีต่อม มีแสงสว่าง..ที่นั่นมีภพ” เห็นไหม นี่ธรรมะมาเตือนตลอด แล้วภพนี่ ทำลายภพอย่างไร? ทำลายภพ ทำลายจิตนี้อย่างไร? ทำลายพุทธะนี้อย่างไร? พุทธะถ้าทำลายแล้วนี่สะอาดบริสุทธิ์หมดในหัวใจ อันนี้มันอยู่ที่ไหน?

รักษาใจเราจนละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ มันจะมีการกระทำของมันเข้าไปนะ เราปฏิบัติธรรมเพื่อบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นบุคลาธิษฐาน แต่เวลาจิตเราสงบเข้ามา โอ้โฮ.. พุทธะอยู่ที่นี่ พุทโธ พุทโธ ตัวพุทโธอยู่ที่นี่นี่เอง เวลาทำความสะอาดเข้าไป สิ่งที่สะอาดบริสุทธิ์ต่างๆ วิมุตติญาณทัสสนะ ยะถาภูตัง ญาณะทัสสะนัง วิมุตติญาณทัสสนะแล้วมันพ้นออกไป มันเป็นความลึกลับมหัศจรรย์

แต่! แต่มันอยู่ในหัวใจของผู้ที่กระทำ อยู่ในหัวใจผู้ที่ประพฤติปฏิบัติจนถึงที่สุด อย่างนี้เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก ถ้าจิตมันไม่มีการกระทำจนสะอาดบริสุทธิ์ การกระทำอันนั้น ประสบการณ์อันนั้น นี่ครูบาอาจารย์ที่ท่านเทศน์ออกมา ท่านเทศน์จากประสบการณ์ของท่าน

พระไตรปิฎกนะมันเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประสบการณ์ตรงอันนี้ ถ้าคนไม่เคยพบไม่เคยเห็นแล้วมีการกระทำ ถ้าพูดถึงเป็นความจริงต้องเป็นความจริงหนึ่งเดียว สัจจะมีหนึ่งเดียว อริยสัจมีหนึ่งเดียว นี่มันอันเดียวกันทั้งนั้นแหละ! ไม่มีความแตกต่างหรอก ไม่มีความแตกต่าง จะปฏิบัติทางวิชาการไหน วิธีการใดก็แล้วแต่ เหมือนกันหมดเลย!

อริยสัจมีหนึ่งเดียว! มีหนึ่งเดียว จะว่าเป็นจริตนิสัย.. ใช่ จริตนิสัย แต่ผลของมันขณะกระทำเห็นไหม นี่อริยสัจเป็นธรรมชาติไหม? ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เป็นธรรมชาติ นี่แล้วจิตนี้มันกลั่นออกมาจากธรรมชาติ มันกลั่นออกมา จะมีจริตนิสัยอย่างไรก็แล้วแต่มันก็กลั่นออกมาจากทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคนี่แหละ จะวิธีการไหน จะเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ จะจริตนิสัยอย่างไร ก็ต้องกลั่นออกมาจากอริยสัจ

วิธีการ ความชอบต่างๆ จริตนิสัยมันแตกต่างกัน แต่เวลาเข้าไปในกระบวนการของอริยสัจมันอันเดียวกัน กระบวนการอริยสัจ เห็นไหม ดูสิ เวลากระบวนการการผลิต เครื่องผลิตนี่ วัตถุมันยังแตกต่างกันมา แต่ถ้าโรงงานนั้นผลิตออกมาเป็นสินค้าชนิดเดียวกัน แต่วัตถุดิบมันมาจากที่แตกต่างมาจากหลายพื้นที่

จริตนิสัยก็เหมือนกัน จะอ้างว่าจริตนิสัยไม่เหมือนกัน อะไรไม่เหมือนกัน เป็นไปไม่ได้! จะอ้างอย่างไรก็ได้ จริตนิสัยอ้างได้ถึงความชอบ ความไม่ชอบ แต่ขณะเข้ากระบวนการของธรรมชาติ กระบวนการของอริยสัจนี่มันอันเดียวกัน ผลตอบมันถึงเหมือนกัน! เหมือนกัน! ถ้าไม่เหมือนกันต้องมีผิดอยู่คนหนึ่ง แล้วการผิดนั้น เห็นไหม เป็นสิทธิ์ของผู้ถูกหรือผู้ผิด หรือผู้ถูกทั้งคู่ หรือผิดทั้งคู่แล้วมาคุยกัน

ธัมมสากัจฉา เอตัมมังคลมุตตมัง.. เอตัมมังคลมุตตมังนี่เป็นมงคลอย่างยิ่ง เป็นมงคลต่อผู้ประพฤติปฏิบัติ เราหาครูหาอาจารย์กันก็เพื่อเหตุนี้ไง เพื่อตรวจสอบการประพฤติปฏิบัติของเรา เพื่อความจริงของเรา เพื่อให้มันเข้าถึงสู่ความจริง เพื่อเป็นประโยชน์กับชีวิตของเรา เอวัง