เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒ พ.ย. ๒๕๕๒

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๒
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้วันพระ วันนี้อุโบสถด้วย พระพุทธเจ้าสอนให้ดูที่ตัวเรา หลวงตาท่านก็สอน “ให้ดูใจเรา! ให้ดูใจเรา! อย่าไปยุ่งกับใคร ให้ดูใจเรา”

นี่ก็เหมือนกัน เราประพฤติปฏิบัติก็เพื่อดูใจเรา เห็นไหม นี่เมื่อวานเสร็จงานแล้วชีวิตต้องดำเนินต่อไป เวลาตายแล้วนะเขานึกว่าจบสิ้น ตายแล้วชีวิตก็จะต้องดำเนินต่อไป ตายแล้วจิตมันไม่ตาย เราตายจากภพชาติไปแต่จิตมันไม่ตาย ชีวิตยังดำเนินต่อไป สิ่งที่ดำเนินต่อไป เราจะต้องมีสติสัมปชัญญะ นี่รักษาที่เรา

เราเกิดมาเป็นเวรเป็นกรรม มันเป็นสภาคกรรม กรรมร่วมกัน นี่ก็เหมือนกัน เกิดในสังคมต่างๆ มันมีเวรมีกรรมร่วมกันมา เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า

“สิ่งที่เราทำมาแล้วเสียใจภายหลัง สิ่งนั้นไม่ดีเลย”

ถ้าเราเห็นสภาวะแบบนี้เราจะตั้งใจทำคุณงามความดี สิ่งที่มันเบียดเบียนกัน มันมีแรงเสียดสีต่อกัน เราให้อภัยต่อกัน.. เราให้อภัยต่อกัน.. เราอย่าไปถือโทษโกรธใครทั้งสิ้น เขาไม่รู้โดยธรรมชาติของเขา

แต่ถ้าเขารู้ล่ะ เขารู้ของเขา เขาจงใจทำของเขา นี่ไงอวิชชา เขาจงใจทำของเขา เขาว่าเขาทำถูก นี่ไงความจริงๆ ของใคร แต่ถ้าความจริงของเขาอย่างนี้ เห็นไหม สิ่งต่างๆ นี้เราปฏิเสธไม่ได้ มันมีของมันอยู่ เราต้องรักษาใจเรา ถ้าเรารักษาใจเราเราจะอยู่กับโลกนี้ได้ แต่มันเป็นหน้าที่ของเรา เพราะอะไร เพราะมันเห็นอยู่ตำตาไง ปล้นกลางแดด แดดแจ้งๆ อย่างนี้ปล้นกันกลางแดด ถ้ามันปล้นกลางแดดนะผลประโยชน์ทั้งนั้น มันปล้นกันกลางแดดเราต้องพูดผิดถูกไง

หน้าที่ของเราเราพูดผิดถูก แต่เราไม่ต้องการสิ่งใด เราไม่หวังสิ่งใด แต่เราบอกว่าอย่าปล้นกันกลางแดด อยู่ต่อหน้าแดดต่อหน้าแสงสว่างนี้เราต้องพูดกันเรื่องความจริง เราเอาความจริงมาคุยกัน เราต้องพูดด้วยเหตุด้วยผลว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูกต้อง เพราะอะไร เพราะสิ่งที่ทำไปแล้วนี่พันธุกรรมทางจิต ถ้าจิตมันได้สะสมไป สะสมสิ่งอย่างนี้ไป นี่มีมุมมอง มีทัศนคติ เวลาไปภาวนาข้างหน้ามันก็มีทัศนคติอย่างนั้น แต่ถ้ามันดัดแปลงที่นี่ไง

เมื่อวานเขามาถามอยู่ว่า “เพื่อนเขามีความเห็นอย่างนั้น มีความเห็นอย่างนั้น”

เราก็บอกเขาว่า “องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดไว้ในพระไตรปิฎก นี่เขาเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ชาติที่แล้วๆ เวลาพระมีปัญหานะ ทำไมเขาเป็นอย่างนี้ เมื่อชาติที่แล้วเขาทำอย่างนี้มา.. ทำอย่างนี้มา.. ชาตินี้เขาถึงเป็นอย่างนี้ๆ” เห็นไหม มันเป็นพันธุกรรมทางจิต นี่อยู่ในพระไตรปิฎกนะ

แล้วในปัจจุบันนี้ถ้าเรามีความเห็นผิดมา หรือความเห็นที่เราต้องการความสะดวกสบายมา สิ่งใดที่มีมานี่เราแก้ไขของเรา มันทุกข์ไหม? ดัดไม้เขาต้องเผาไฟ เขาต้องดัดไม้ให้มันตรงไม้มันจะมีประโยชน์ นี้เราจะดัดแปลงใจของเรา ถ้าเราไม่ทน เราไม่ต่อสู้กับมัน นี่ขันติธรรมไง

ในการประพฤติปฏิบัติเราไม่ได้สิ่งใดเลยเราก็ได้ขันติบารมี ขันติธรรมนะ ใครบ้างไม่อยากสะดวกไม่อยากสบาย ทุกคนอยากสะดวกสบายทั้งนั้นแหละ แต่ความสะดวกสบายมันให้สิ่งใดกับชีวิตของเรา แต่ถ้าความเพียรชอบ เราดัดแปลง เราต่อสู้ เราขัดขืน

หลวงตาสอนประจำ “การฝืนใจตัวเองคือฝืนกิเลส” เพราะกิเลสมันอยู่ที่ใจของเรา ถ้าเราฝืนใจของเรา ใจมันต้องการสิ่งใด ใจมันปรารถนาสิ่งใดเราฝืนมันๆ นั่นเท่ากับฝืนกิเลส

แต่เขาบอกว่า “มันเป็นอัตตกิลมถานุโยค จงใจ ตั้งใจ เป็นอัตตกิลมถานุโยค”

แล้วความต่อสู้ขัดขืนกับกิเลสมันอยู่ที่ไหน ในเมื่อเราไม่ได้ขัดขืนใจเราเลย ไม่ได้ขัดขืนสิ่งที่มันปรารถนา มันต้องการสิ่งใดเลย แล้วเราจะไปฝืนมันอย่างไร

เราฝืนมัน เห็นไหม อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา คนพาลไม่ควรคบ คนพาลจากข้างนอก แต่คนคิดชั่วนั่นล่ะมันพาล ถ้าเราฝืนมัน ฝืนกิเลส กิเลสมันอยู่ที่นี่ไง เราต้องฝืนมัน พอฝืนมันนี่มันทุกข์ไหม ทุกข์! ถ้าไม่ฝืนมันก็ทุกข์ แต่ทุกข์ที่เราพอใจ มันพอใจไปมันก็มองไม่เห็นว่าทุกข์ แต่พอเราจะฝืนมันมันบอกว่าเป็นความทุกข์ ความทุกข์อันนี้ไง ทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นความจริง เพราะเราฝืนมัน แล้วทุกข์มันเกิดมาจากไหน เราต้องดูสัจจะความจริงจากสิ่งนั้น

นี่พูดถึงว่าชีวิตยังต้องดำเนินต่อไปนะ แม้แต่ตายแล้วชีวิตก็ยังต้องดำเนินต่อไปในวัฏฏะ มันยังหมุนเวียนไปนะ นี่เราถึงว่าทำสิ่งใดให้มีสติสัมปชัญญะ เราอย่าตามใจตัวเองเกินไปนัก ทำพอประมาณไง หลวงตาจะบอกเลยนะ “พระเรานี่ถ้าไม่รู้จักประมาณตน แล้วใครจะพอประมาณ ถ้าพระพอประมาณไม่เป็น”

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อมันจำเป็นต้องทำเราก็ทำ แต่ทำแล้วนี่ทำเพราะอะไร เพราะเวลาครูบาอาจารย์ท่านพูด เห็นไหม “ท่านเห็นเป็นประโยชน์กับผู้กระทำนะ มันไม่เห็นผลประโยชน์สิ่งใดกับเราเลย แต่ผู้ที่กระทำเขาได้ประโยชน์ของเขา ทำเพื่อประโยชน์ของเขา ถ้าเพื่อประโยชน์ของเขาเราก็ต้องฝืนทนเอา แต่ถ้าเอาสะดวกสบาย มันเอาแต่ใจของตัวเราก็ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องทำสิ่งใด”

เพราะสิ่งนี้ ประเพณีวัฒนธรรมไม่ใช่ธรรม! ธรรมะเหนือธรรมชาติ ประเพณีวัฒนธรรมเป็นเครื่องดำเนิน เป็นเครื่องเข้าไปสู่ธรรมะ

นี่ก็เหมือนกัน บุญกุศล การกระทำของเรานี้เพื่อเข้าสู่ธรรมะ เห็นไหม ถ้าเข้าไปสู่ธรรมะ ธรรมะอยู่ที่ไหน ธรรมะมันอยู่ที่ใจ ตู้พระไตรปิฎกหรือสิ่งต่างๆ มันเป็นวิชาการทั้งนั้นแหละ กฎหมายคนตีความได้หลากหลายทั้งนั้นแหละ ธรรมะทุกคนก็ตีความได้หลากหลายทั้งนั้นแหละ ยิ่งตอนนี้บอกเลยต่อไปจะไม่พูดอีกแล้ว จะพูดเข้าพระไตรปิฎกแล้ว พูดธรรมะ

อ้าว.. ก็ธรรมะมันเถียงไม่ได้ หนังสือมันเถียงไม่ได้ แต่คนมันโต้เถียงได้นะ..

ถ้าเป็นความจริงนะ ต้องพูดออกมาแต่ความจริงอันนั้น ถ้าไม่มีความจริงอันนี้มันพูดออกมาไม่ได้หรอก แล้วพูดออกมามันก็ผิด พูดธรรมะก็ผิดธรรมะเพราะเป็นทฤษฏี ถ้าเราไม่รู้ทฤษฏีนั้นเราจะพูดทฤษฏีนั้นให้มันถูกต้องมันเป็นไปไม่ได้หรอก คนที่จะพูดทฤษฏีให้ถูกต้องได้ คนนั้นต้องผ่านประสบการณ์จริงมา

มันเป็นปริยัติ นี่ไงถ้าพูดอย่างนั้นก็บอกเราเป็นภาคการศึกษา เราเป็นปริยัติก็จบไป แต่บอกเราเป็นการปฏิบัติ เรามีมรรคผลด้วย ถ้าเป็นการปฏิบัติถ้ามีมรรคผล เพราะมรรคผลมันเกิดจากประสบการณ์ มรรคผลมันเกิดจากความเป็นจริง แล้วถ้าความเป็นจริง เห็นไหม ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ แค่นี้มันก็บ้องตื้น.. นี่เวลาพิจารณาแล้วจิตจะรวมลงอัปปนาสมาธิ ถ้ารวมลงนะ ถ้าเขาบอกว่า “เป็นอัปปนา” ถ้าไม่มีคำว่าสมาธิยังฟังได้

รวมลงอัปปนาสมาธิ ตัวสมาธินี่เป็นตัวล็อกตาย ล็อกเลย เพราะสมาธิเกิดปัญญาไม่ได้ สมาธิเกิดปัญญาไม่ได้หรอก แต่ถ้าลงอัปปนาธรรม เห็นไหม จิตมันลงเป็นพื้นฐานเพราะมันปล่อยวางมาแล้วเป็นอัปปนาธรรม อย่างนั้นน่ะได้! ทีนี้จะบอกว่าอัปปนาธรรม..

นี่พูดอย่างนี้เดี๋ยวเขาจะออกอัปปนาธรรมเลย แต่อัปปนาธรรมอย่างไรล่ะทีนี้ พูดมาก็ตาย เพราะอัปปนาสมาธิมันมีหลักวิชาใช่ไหม อัปปนาธรรมไม่มีหลักวิชาการ ในวิชาการไม่มีนะอัปปนาธรรม

แต่! แต่เวลาจิตมันพิจารณาไปแล้ว เวลาเราคิดพุทโธ พุทโธ หรือปัญญาอบรมสมาธินี่มันรวมลงสู่สมาธิ แต่ถ้าเราใช้ปัญญา ใช้มรรคญาณนี่มันรวมลงสู่อัปปนาธรรม เพราะอะไร เพราะผลของสมาธิ ผลของดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ สมาธิชอบ สติชอบ ปัญญาชอบ.. ความชอบธรรมของมัน แล้วมรรคญาณมันรวมตัวของมัน รวมตัวของมันลงอัปปนาธรรม

ธรรมคือธรรมะไง ธรรมคือเป็นผลไง รวมลงนี่รวมลงอัปปนาธรรม.. เราพูดบ่อย บอกว่า “การปล่อยวางผลของสมาธิอย่างหนึ่ง ผลของความสุขสมาธิ ที่จิตลงสมาธินี่มีความสุขอย่างหนึ่ง ผลของการวิปัสสนาญาณมันมีผลอีกอย่างหนึ่ง”

เพราะผลของวิปัสสนาญาณมันได้ถอดถอนความลังเลสงสัย ความเศร้าหมองของใจความต่างๆ แต่ถ้าลงอัปปนาสมาธินี่มันมีความสุขมากแต่ไม่ได้ถอดถอนสิ่งใดเลย แบบกดไว้ ความกดไว้กดไว้โดยสติ โดยคำบริกรรม แต่เป็นสมาธิได้

อย่างที่พูดเมื่อวานนี้ เห็นไหม เรื่องพระอาทิตย์.. ถ้าเข้าถึงดวงอาทิตย์ ดวงอาทิตย์นี่ ดูสิ มันให้พลังงาน ให้สิ่งมีชีวิตใช่ไหม แต่แสงไวโอเลตของมันทำให้เกิดมะเร็ง นี่มันก็มีโทษของมันใช่ไหม

นี่ก็เหมือนกัน ความคิดของเรามันก็มีกิเลส มันมีพลังงานอยู่แล้ว แต่มีกิเลสใช่ไหม พุทโธ พุทโธ พุทโธไปจนพลังงานเป็นพลังสะอาดไง นี่ไงมันถึงว่าเป็นผลของขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิไง มันเป็นพลังงานเฉยๆ มันยังไม่เกิดปัญญาหรอก แต่เกิดปัญญาต้องออกวิปัสสนาญาณ.. วิปัสสนาญาณ พอผลของมันเป็นอัปปนาธรรม

ถ้าอัปปนาธรรมเรายังโอเคนะ แต่อัปปนาสมาธินี่ไม่มีทาง เป็นไปไม่ได้เลย! นี่บ้องตื้นมากเพราะว่าอัปปนาธรรมมันยังไม่มี ถ้าอัปปนาสมาธิมันมีอยู่ในทางวิชาการ ก็เลยเอาคำว่าอัปปนาสมาธิมาใช้.. คำว่าสมาธิเกิดปัญญาได้ไหม

ก็เขาพูดเองว่า “ไม่ได้ ไม่ได้ แล้วบอกว่าผลของวิปัสสนาญาณไปเกิดอัปปนาสมาธิ แล้วจะเกิดมรรค โดยขบวนการของมรรคจะเกิด ขบวนการของอริยสัจจะเกิด”

นี่พูดถึงว่า ถ้าเขาจะบอกว่าจะพูดทางวิชาการก็พูดไปไม่ถูกหรอก พูดไปไม่ได้หรอก มันอยู่ที่ปริยัติ แล้วปฏิเวธ เห็นไหม ถ้าพูดทางวิชาการแล้วปฏิเวธ พูดทางวิชาการแล้วรู้แจ้งนี่ปฏิเวธ.. ปริยัติ ปฏิเวธ ไม่มี! พระพุทธเจ้าถึงบอก “ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ” ต้องมีการปฏิบัติอย่างเดียว ต้องมีประสบการณ์จริงอย่างเดียว

นี่ไงเพราะเหตุนี้ไง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว แล้วทอดธุระนี่จะรู้ได้อย่างไร ถ้าทางวิชาการมันเป็นทฤษฏี ทางวิชาการพูดนี่เข้าใจได้ แต่เข้าใจแบบโลก เข้าใจแบบความเห็น เข้าใจแบบมุมมองของเขา

แต่ความเข้าใจจริงที่มันจะเข้าผ่านการปฏิบัติ ผ่านขบวนการปฏิบัตินี่จะรู้ได้อย่างไร จะรู้ได้อย่างไร มันต้องมีขบวนการอันนี้ พระพุทธเจ้าถึงวางไว้ “ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ! มันต้องมีการปฏิบัติ”

ทีนี้ถ้าปริยัติแล้วปฏิบัติเลยมันก็เถียงกันไปไม่มีวันจบ ถ้าเป็นปริยัติไม่มีวันจบ เช่นเวลาหลวงตาท่านพูดถึงเวลาท่านน้ำตาร่วงขึ้นมาต่างๆ นี่ว่า “พระอรหันต์ร้องไห้ได้อย่างไร” ทางวิชาการมันขัดแย้งไหม

แต่ท่านบอกว่า “อ้าว.. น้ำตามันไม่เกี่ยวกับมรรคผลเว้ย!” เวลาหลวงตาท่านตอบนะ “น้ำตาก็คือน้ำตา เออ.. มรรคผลนิพพานก็คือมรรคผลนิพพาน มันเกี่ยวอะไรกันล่ะ” นี่คนจริงตอบ เห็นไหม แล้วเถียงมาสิ..

แต่ถ้าไปพูดปริยัติ พูดทางวิชาการแล้วจะเถียงอย่างไร อ้าว.. พระอรหันต์ร้องไห้ได้อย่างไร เวลาน้ำตาท่านไหลนี่ปลงธรรมสังเวช เวลามีความสังเวช ใจเป็นธรรมขึ้นมาแล้ว ธรรมนี่มันสังเวช แบบความรู้สึกของใจเรามันสะเทือนมาก เราสะอึกสะอื้นออกมาด้วยร่างกาย ด้วยธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ มันไหวตัวของมัน เพราะความกระเทือนของหัวใจที่มันกระเทือนมาก

หัวใจเรา ดูสิ เวลาเราตกใจทำไมขนพองเลยล่ะ ทำไมเลือดสูบแรงล่ะ นี่มันเป็นความตกใจ มันเป็นเรื่องของโลก เป็นเรื่องของกิริยา

แต่ถ้าเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ธรรมสังเวช ธรรมของครูบาอาจารย์เรานี่ธรรมสังเวช หัวใจมันเป็นธรรมแล้วมันสะเทือน พอสะเทือนขึ้นมาร่างกายมันเป็นไปโดยสัญชาตญาณ น้ำตาไหลน้ำตาร่วง

แต่ร่วงอย่างนี้ ท่านบอกว่า “น้ำตาไหลน้ำตาร่วงของพวกเรา น้ำตาไหลน้ำตาร่วงของคนที่มีกิเลสมันเป็นน้ำตาภพชาติ แต่น้ำตาของการปลงธรรมสังเวช เป็นน้ำตาชำระล้างภพชาติ” ในปริยัติไม่มีแล้วตอบไม่ได้ ทีนี้ถ้าพูดถึงมันต้องมีปฏิบัติ ปฏิบัติแล้วถึงจะถึงที่สุดได้

นี่พูดถึงชีวิตเราจะต้องดำเนินต่อไป เราจะเตือนว่า กฐินจบไปแล้วไม่ใช่จบนะ ชีวิตเรามีอยู่ เราจะต้องสู้ เราพยายามตั้งสติแล้วทำของเราให้เกิดผลของเรา เพื่อชีวิตของเรา เพื่อความดีของเรา ความดีไม่จบเมื่อวานนี้นะ ชีวิตยังมีอยู่ เห็นไหม

หลวงปู่ฝั้นบอกว่า “หายใจเข้าและหายใจออกทิ้งเปล่าๆ” เราจะต้องตั้งสติแล้วทำคุณงามความดีของเราไป มันเป็นอดีตไปแล้ว ปัจจุบันนี่อนาคตจะเกิดขึ้นมา เราตั้งเพื่อชีวิตของเรา แล้วทำดีเพื่อเรา เพื่อประโยชน์กับเรา เอวัง