เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒ ธ.ค. ๒๕๕๒

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๒
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาคนเกิดขึ้นมา แม้แต่ปฏิสนธิในท้องแล้วนี่ ต้องมีลมหายใจตลอดเวลา ขาดลมหายใจนั้นเด็กก็จะดำรงชีวิตไม่ได้ เราเกิดมานั้นเราก็ต้องมีลมหายใจตลอดเวลา ในชีวิตนี้ลมหายใจจะขาดออกซิเจนไม่ได้ เวลาเราเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว เราต้องกินอาหาร มีอาหารดำรงชีวิต

แต่หัวใจนั้นมันมีอะไรไปดำรงชีวิตมัน หัวใจนี่มันเดือดร้อน มันเร่าร้อนอยู่ในหัวใจตลอดเวลา เราจะเอาอะไรไปดำรงชีวิตให้หัวใจนั้นมีคุณค่าขึ้นมา เราเกิดมาในพุทธศาสนา เราเกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา เรามีความสนใจในพุทธศาสนา

เวลาพุทธศาสนาเห็นไหม เหมือนกับมนุษย์เวลาที่จะมีครอบครัวใหม่นั้น ซื้อหนังสือมาเยอะแยะเลย เพื่อเรียนวิชาการเลี้ยงลูกไง วิชาเลี้ยงลูก ! เราก็เอาตุ๊กตามานะ จะต้องฝึกอย่างนั้น ทำอย่างนั้น นี่ปริยัติ !

ปริยัติคือการศึกษาไง ถ้าเราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอย่างหนึ่งนะ แต่เวลาไปปฏิบัติ เด็กนะศึกษานั้น ใช่ ! ทางวิชาการ ทางปริยัติเห็นไหม ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ แต่เวลาที่ปฏิบัติขึ้นมา มันไม่เหมือนการศึกษาเลย

ถ้าเหมือนการศึกษา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่แบ่งปริยัติกับปฏิบัติไว้คนละส่วนกัน ปริยัติกับปฏิบัติ ! ถ้าปริยัติกับปฏิบัติเอามารวมกันแล้ว มันจะกลายเป็นสิ่งที่คาดหมาย สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้ เป็นไปได้ยากเห็นไหม

ปริยัติ ! เรียนศึกษามา ศึกษามาเพื่อประพฤติปฏิบัติ เวลาเรียนก็ต้องเรียนจริงๆ เรียนเพื่อทำความเข้าใจกับมัน พอเข้าใจแล้วปฏิบัติแล้ว ความเป็นจริงเกิดขึ้นเป็นอีกอย่างหนึ่ง เช่น เวลาที่มาปฏิบัติเห็นไหม เวลาจิตสงบเข้ามา เราจะเห็นแสง เห็นนิมิต เห็นต่างๆ พอเราเห็นขึ้นมา เราก็ตื่นเต้นไปกับมันนะ ตื่นเต้นมาก ! สามล้อถูกหวย !

สามล้อมันต้องทำมาหากินของมันนะ มันทุกข์ลำบากมานะ พอถูกหวยมา ชีวิตนี้ก็เปลี่ยนไปเลย เปลี่ยนไปโดยที่ไม่มีสิ่งใดรองรับ ใช้เงินใช้ทองไม่เป็น ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย พอหมดเงินแล้วก็กลับมาถีบสามล้อใหม่ไง เพราะใช้เงินก็ใช้ไม่เป็น รักษาไม่เป็น พอหมดเงินหมดทองก็กลับมาถีบสามล้ออีก เพราะอะไร เพราะคนมันต้องดำรงชีวิต มันต้องมีอาหารของมัน มันต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัย แต่เวลาที่มีขึ้นมาเราก็ใช้มันไม่เป็น

นี่เหมือนกัน พอเรามาปฏิบัติ พอไปเห็นแสง เห็นสิ่งต่างๆ สามล้อถูกหวยนะ เวลาที่บอกว่าสามล้อถูกหวย มันเกิดขึ้นมาแล้วบริหารไม่เป็น จัดการไม่เป็น.. จัดการไม่เป็นเราก็ต้องหัดต้องฝึกไป

พอฝึกไป เวลาที่ปฏิบัติเราบอกเลย เห็นแสง เห็นสี เห็นนิมิตต่างๆ นั้นเป็นสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงของจิต ถ้าจิตมันมีข้อเท็จจริงอย่างนั้น มันก็ต้องมีสภาวะแบบนั้น แต่ถ้ามันมีสภาวะแบบนั้นแล้ว มันก็ต้องบริหารจัดการต่อไปข้างหน้านะ

ดูสิ อย่างเด็ก ครอบครัวใครมีเด็ก มีลูกขึ้นมา แล้วลูกนอนแบเบาะอยู่ ถ้าลูกมันคว่ำได้ โอ้โฮ.. พ่อแม่ก็ดีใจแล้ว ถ้าลูกมันนั่งได้ พอนั่งได้นะ ลูกมันก็ยืนได้ พอลูกเรายืนได้ ลูกมันก็เดินได้

จิตของเราเวลาที่เห็นแสง เหมือนเด็กมันหัดพลิกตัวเท่านั้น มันหัดพลิกตัวนะ โอ้โฮ ! พลิกตัวได้ขึ้นมาก็สามล้อถูกหวยไง พอมันหัดพลิกตัวพ่อแม่ก็ตื่นเต้นแล้ว โอ้ ! ลูกเราจะโตแล้วนะ เรายังจะต้องดูแลไปอีกนานมาก ! กว่าลูกเราจะหัดนั่งได้ หัดยืนได้ หัดเดินได้ หัดพูดได้ พอพูดได้ มันก็จะออกไปศึกษาวิชาการ ออกไปเรียนรู้มาเพื่อดำรงชีวิตของมัน พอโตขึ้นมาแล้วก็ยังต้องออกไปเผชิญกับสังคมอีกนะ

การภาวนานั้นมีข้อเท็จจริงรองรับ เวลาเราศึกษาวิชาการเลี้ยงลูกเห็นไหม แล้วก็เอาตุ๊กตามาเป็นแบบอย่าง มันไม่มีชีวิต จะทำอย่างไรก็ได้ ปริยัติคิดอย่างไรก็ได้ คิดขึ้นมาสมาธิคือสมาธิ สมาธิแล้วก็จะเป็นเหมือนเพชรเลยนะ โอ๊ย.. มันจะตั้งมั่น มันจะใสสว่าง มันจะอยู่กับเราตลอดไปนะ

พอไปเอาความจริงเข้าเป็นอย่างนั้นไหม เวลาปฏิบัติขึ้นมาสมาธิเป็นเหมือนเพชรไหม มันมีคุณค่ามากกว่าเพชรนะ เพราะเพชรมันกินไม่ได้ มันให้คุณค่าตามสมมุติ สมมุติว่าให้ค่ามันปั๊บ เพชรมันมีราคาขึ้นมาเลย ถ้าเกิดสงคราม เกิดต่างๆ ขึ้นมา เพชรมันกินได้ไหม เพชรมีประโยชน์อะไรไหม เพชรเขาเอาไปบด เอาไปย่อยสลาย เอาไปเป็นลูกหนังสติ๊กยิงหัวคนยังมีดีกว่า เพราะมันทำลายข้าศึกได้เห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน เวลาที่จิตมันเข้าไปประสบสิ่งใด แล้วบอกอย่างนั้นผิด อย่างนี้ผิด เวลาเริ่มต้นมันไม่มีผิดหรอก เด็กอนุบาลนั้นก็ให้อยู่ในขั้นของการอนุบาล ให้มันมีความจริงใจ มีการศึกษาของมัน โตขึ้นถึงขั้นประถมมันก็ต้องหัดเขียนหัดอ่านแล้ว ยิ่งถ้าเป็นอุดมศึกษามันต้องทำวิจัยแล้ว เพราะต้องให้มีความรู้จริงของมัน ไม่ใช่แค่คัดลอกๆ พอถึงเวลาบอกรู้ๆๆ ชีวิตทั้งชีวิตเรียนเอาแผ่นกระดาษคนละใบ ๒ ใบ แล้วก็เอากระดาษนั้นไปแขวนไว้ที่ฝาผนังบ้าน โอ่.. ฉันจบมา ! จบมา ! แล้วชีวิตนี้เป็นอย่างไร

แต่ถ้าเราไปเจอประสบการณ์ชีวิตเห็นไหม ดูสิ คนมีการศึกษาหรือไม่มีการศึกษา เขาเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี เพราะอะไร เพราะปฏิภาณไหวพริบของเขา เขาสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวของเขา

นี่ก็เหมือนกัน ภาคปฏิบัติของเรา เราใช้ชีวิตของเราอย่างไร เราปฏิบัติของเราเป็นอย่างไร ถ้ามันมีเห็นสิ่งต่างๆ ขึ้นมานั้น เราก็ต้องรับรู้นะ จะบอกว่า จะผิดไปหมด ไม่ผิด !

เวลาที่หลวงตาท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เวลาท่านผ่านมาแล้วนั้น ท่านบอกเลยนะว่า “เรามารถมาเรือ ทุกคนต้องทิ้งรถ ทิ้งเรือ ไว้ที่ท่าที่แพ แล้วตัวเราต้องขึ้นฝั่ง ขึ้นไปเพื่อไปบ้านไปเรือนของเรา”

อาศัยมรรคญาณ มันเป็นวิธีการ มันเป็นมรรค เป็นเครื่องดำเนิน ต้องอาศัยมันทั้งหมด แต่ถึงที่สุดแล้วอันนั้นก็บ้าตัวหนึ่งนะ หลวงตาท่านบอกว่า “เวลาที่ปฏิบัติอยู่นั่นก็บ้าตัวหนึ่ง” คือเคร่งครัดปฏิบัติกับมันก็เป็นบ้าอันหนึ่ง แต่ก็ต้องอาศัยบ้าอันนั้นมานะ ไม่มีบ้าอันนั้นมาจะมาเป็นครูบาอาจารย์ได้อย่างไร

ไม่มีข้อเท็จจริงในหัวใจขึ้นมา ไม่ได้เป็นเด็กอ่อน ไม่ได้หัดพลิก หัดนอนแช่ขี้แช่เยี่ยวมา แล้วพ่อแม่ก็พยายามจับมือเอาไว้ ไม่ให้เอาขี้ยัดปาก เด็กมันไม่รู้เรื่อง ก็เอาขี้ใส่ปากเห็นไหม หิวก็กินสิ ง่วงก็นอน หิวก็กินมันก็เอามือล้วงขี้มากินไง

พ่อแม่ก็ต้องดึงมือไว้ บอกว่า “นี้มันเป็นขี้ ! ไม่ใช่อาหาร อาหารนั้นเป็นอีกอย่างหนึ่ง” พอเด็กมันหัดแช่ขี้แช่เยี่ยว พอมันจะพลิกได้ เห็นได้ พอมันโตขึ้นมา พอมันขี้มันเยี่ยว มันแช่ขี้แช่เยี่ยว มันรำคาญ มันก็ร้องไห้นะ พ่อแม่ต้องไปทำความสะอาดให้มันเห็นไหม

พอมันรู้อะไรถูก อะไรผิด แต่ถ้ามันหิวกระหาย มันไม่มีอาหารจะกิน มันก็จำเป็นของมัน ดูสิ เวลาที่เด็กมันหิว มันจะดูดนิ้วมือนะ เพราะนึกว่าเป็นนม

นี่ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติไป เริ่มต้นก็เห็นสี เห็นแสง แสงที่เห็น หรือนิมิตที่เห็นนะ เราก็รับรู้ไว้แล้วกลับมา กลับมาเพื่อจะยืน กลับมาเพื่อจะเดิน กลับมาเพื่อจะวิ่ง กลับมาเพื่อจะดำรงชีวิตให้ได้ ไม่ใช่เห็นสีเห็นแสงแล้วไปติดมัน

เห็นสีเห็นแสง เราบอกว่า ไม่ผิด ! ไม่ผิด ! เพราะมันต้องเป็นอย่างนี้ ทุกคนต้องปฏิบัติ ครูบาอาจารย์แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังต้องทดสอบตัวเองมาทั้งนั้น มีตำราขนาดไหน แต่เวลาที่เราปฏิบัติไป มันไม่เป็นอย่างที่เราคิดหรอก

หลวงตาท่านพูดเอง เวลาปฏิบัติใหม่ๆ นะ โอ่.. ถ้าเราปฏิบัตินี่ทุกข์ยากมาก ใหม่ๆ นี่ มันเหมือนเราจะทำไร่ทำนาของเรา เราไปเจอที่ดิน กว่าเราจะถากถางป่า กว่าเราจะทำเป็นคันนาขึ้นมา มันทุกข์ยากขนาดไหน

นี่ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติเริ่มต้นมันทุกข์มันยากมาก ก็คิดว่าปฏิบัติไปแล้ว พอได้ขั้นได้ตอนแล้วมันจะสบายขึ้นๆ แต่เวลาปฏิบัติไปไม่เป็นอย่างนั้นเลย ท่านบอกว่า “ทุกข์อย่างหยาบ ทุกข์อย่างกลาง ทุกข์อย่างละเอียด ทุกข์อย่างละเอียดสุด” เฉาๆ เศร้าๆ อาลัยอาวรณ์ ทุกข์ของอนาคามี พระอนาคามีเห็นไหม ยังมีความผ่องใส มีความเศร้าหมอง มันมีทุกข์ตลอดไปจนถึงที่สุดแห่งทุกข์

แต่ความเข้าใจของพวกเราเห็นไหม พอปฏิบัติไปแล้วเดี๋ยวจะมีความสุข ใช่ ! มันมีความสุขนะ เวลาเราทานอาหาร กินข้าวแล้วอิ่มมีความสุขไหม มีความสุขแล้วเดี๋ยวมันหิวอีกไหม

นี่ก็เหมือนกัน มันมีความสุขขณะที่มันสำเร็จ ขณะที่จิตมันสงบมีความสุขมาก ความสุขอย่างนั้นเราจะตั้งไว้ได้อย่างไร ความสุขคือจิตสงบ เราจะรักษาไว้ได้อย่างไร เห็นไหม

ตีเมืองนั้นแสนยากเลย พอตีเมืองได้ รักษาเมืองนั้นยากกว่า พอทำให้จิตสงบนั้นแสนยากเลย พอจิตสงบแล้วจะรักษาความสงบนี้ ยิ่งยากกว่าอีก ยากกว่ารักษาความสงบนะ แล้วพอตีเมืองได้ รักษาเมืองได้ จะบริหารเมืองอย่างไร ! จะบริหารประเทศชาตินี้อย่างไร

พอรักษาจิตด้วย พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธกับสติตั้งให้ดี ฝึกให้ชำนาญ ถ้าเหตุมันมี สมาธิไม่มีวันเสื่อม แต่พอมีความสงบก็อยากได้ความสุขมาก อยากมีความสุขมาก อีกปีหนึ่งก็ไม่ได้ เพราะเราหวังผลใช่ไหม

นั่งอยู่ที่นี่บอกว่า เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐีกันหมดเลย แต่ไม่เคยทำมาหากินกันเลย มันจะเป็นเศรษฐีได้อย่างไร ถ้าคุณเป็นเศรษฐีนะ ลุก ! แล้วไปทำมาหากิน ทำไร่ทำนาขึ้นมา หาพืชผลเอาไปขาย เอาเงินมาเห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน เราอยู่กับ พุทโธ พุทโธ พุทโธ จิตต้องออกทำงาน จิตต้องรักษามัน แล้วผลมันจะเกิดขึ้นมา แหม..พอได้เงินขึ้นมา ขายข้าวได้ทีหนึ่ง ได้เงินอยู่หนึ่งที โอ้โฮ.. รวยแล้วไม่ต้องทำอะไรอีกเลย

เสื่อม ! เห็นไหมสมาธิเสื่อม สมาธิคือการต้องรักษา ชำนาญในวสี ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติจะเข้าใจว่าเราจะรักษาของเราอย่างไร แม้แต่รักษาใจจะรักษาขึ้นมาอย่างไร พอรักษาใจให้มั่นคง พอใจมั่นคงขึ้นมา เศรษฐี ! ทุกข์ๆ ยากๆ ไม่มีตังค์เลย ไม่มีเงินทอง เราก็ต้องอาศัยคนอื่นอยู่เพื่อดำรงชีวิต

พอเรามีเงินมีทองขึ้นมา เราก็ใช้เงินใช้ทองเพื่อดำรงชีวิต พอจิตมันสงบขึ้นมาเห็นไหม มันมีเงินมีทองเพื่อดำรงชีวิต พอดำรงชีวิต แล้วรักษาเป็นไหม ถ้ารักษาไม่เป็นก็สามล้อถูกหวย เดี๋ยวต้องกลับไปถีบสามล้อใหม่นะ

ถ้ารักษาเป็นเห็นไหม เงินที่ได้มา เราเป็นสามล้อมา ได้เงินมาแล้ว เราก็เอาเงินมาดำรงชีวิต มาประกอบธุรกิจ เราจะไม่กลับไปถีบสามล้ออีกแล้ว เพราะเรามีเงินใช้จ่ายแล้ว เรามีเงินหมุนเวียนในชีวิตของเราแล้ว เราจะเอาเงินนี้ไปทำงานเพื่อให้ชีวิตนี้มั่นคงขึ้นมาแล้ว ชีวิตเราเคยทุกข์เคยยากมา พอมีปัญญาขึ้นมา บริหารจัดการขึ้นมาได้ มีเงินมีทองเข้ามาเห็นไหม

พุทโธ พุทโธ อย่าทิ้งมัน ! พุทโธ พุทโธ สติสงบเข้ามาแล้ว พอมีสติ สมาธิกลับเข้ามาแล้ว มันสงบเข้ามาก็เพราะพุทโธ มันสงบเพราะเราลงทุนลงแรง เราสงบเพราะเรา เราตั้งสติแล้วกำหนดคำบริกรรม เพราะจิตที่ไม่บริกรรม มันจะคิดแส่ส่ายไปของมัน เราบังคับไม่ให้แส่ส่าย ให้มันอยู่กับพุทโธ

พุทโธคือคำบริกรรม คือเอาจิตมันเกาะไว้ เหมือนเด็กหัดเดิน เด็กหัดเดินเขาต้องเกาะไม้ไว้ เกาะสิ่งใดไว้ เพื่อให้มันหัดเดินขึ้นมาให้ได้ พอหัดเดินได้ พอมันเดินได้ มันทิ้งนะ มันจะเดินของมันเอง ไม้นั้นไปกีดขวางไปด้วย

พุทโธ พุทโธ พุทโธ ไป พอจิตมันสงบเข้ามา พุทโธเป็นตัวพุทโธของมันเองแล้วมันเกิดมาจากอะไร... เกิดมาจากคำบริกรรม จากจิตที่เกาะไว้ ถ้าจิตนี้ไม่เกาะไว้ มันจะไปคิดอย่างอื่น มันไปกำอย่างอื่นไว้ กำไฟไว้ทั้งหมดเลย แล้วทิ้งจากไฟให้มันมากำพุทธานุสติ กำคำบริกรรม พุทโธ พุทโธ ทิ้งไฟ ! ทิ้งไฟ !

ไฟคืออะไร ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ ไฟคือโลภะ ศึกษามาก็ศึกษาด้วยความโลภ เวลาที่ปฏิบัติไม่ได้ดั่งใจก็โทสะ ปฏิบัติไม่ได้ดั่งใจก็เคียดแค้นตัวเองเห็นไหม โทสะ โมหะ นี่เป็นไฟทั้งนั้น แล้วจิตไปกำมันอยู่ มันทุกข์ไหม

กับบังคับพุทโธ แล้วพุทโธมีอะไร ก็พุทโธ พุทโธ นี่อูย.. ทุกข์ยากมากเลย ไปคิดมันยังรื่นเริงเห็นไหม เพราะอะไร เพราะความเคยชินเห็นไหม เพราะเราเห็นแต่กิเลสตัณหาความทะยานอยากกับเรา มันเคยชินกันมา เราบังคับมันด้วยสติ บังคับมัน ! บังคับมัน ! บังคับให้พุทโธ บังคับมัน ! แล้วมันจะรู้เอง

เด็กพ่อแม่ไม่บังคับ พ่อแม่ไม่ดูแล เด็กจะโตมาโดยที่มีการศึกษา โดยที่มีนิสัยดีไม่ได้เลย ..รักวัวให้ผูกรัก ลูกให้ตี.. ตีไม่ได้ตีด้วยความโกรธ เราตีมันเพราะว่าบังคับให้มัน กำหนดพุทโธ บังคับจิต.. บังคับมัน.. ไม่ได้ ! มันเป็นอัตตกิลมถานุโยค การบังคับมันทรมานตน

แล้วเวลาที่พระอรหันต์สมัยพุทธกาล ไปเข้าเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามทุกทีว่า “ใครทรมานมา” จิตนี้ไม่บังคับ ไม่ขู่เข็ญ ไม่มีความตั้งใจ ไม่มีความเพียรชอบ ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ เป็นมรรคอันหนึ่ง เป็นความเพียรชอบ หน้าที่ชอบ เพียรชอบ มันต้องเป็นมรรคอันหนึ่ง แล้วมรรคข้างนอกเห็นไหม สัมมาอาชีวะ สัมมาอาชีวะนี้หยาบๆ มาก เพราะมันเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง

สัมมาอาชีวะเห็นไหม นี่จิตกับความคิด จิตมันกินอารมณ์เป็นอาหาร จิตมันกินความรู้สึกเป็นอาหาร แล้วเราให้อาหารที่ดีกับมัน ให้พุทโธ พุทโธ พุทธานุสติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราให้อาหารที่ดีกับมัน มันไม่ยอมกินเห็นไหม มันจะไปกินไฟ มันจะไปกินโทสะ โมหะ ไปกินความโลภ ความโกรธ ความหลง ไปบังคับมันเห็นไหม พ่อแม่บังคับลูกให้ลูกเป็นคนดี

เราจะเป็นคนดี เราบังคับจิตของเราให้เข้าสู่ธรรมะ เข้าสู่สติปัญญา เราบังคับจิตตรงไหน บังคับให้มีสติปัญญา สติคือการบังคับ ถ้ามีสติอยู่ก็กั้นเลย กั้นไม่ให้จิตนี้ออกไปหยิบไฟ ออกไปกำไฟ มีสติสัมปชัญญะบังคับมัน บังคับก็ไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้ มันเกินไป !

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศึกษามาขนาดนี้ พอจิตมันเป็นไปแล้วเห็นไหม เราบังคับด้วยสติ การบังคับเริ่มต้น การทำงานฝึกฝนใหม่ๆ ทุกคน คนฝึกงาน ทำงานจะมีการขาดตกบกพร่องบ้างเป็นธรรมดา

การบังคับ การหาช่องทางของเรายังไม่ชำนาญ ชำนาญในวสี นี่ไงพูดอยู่นี่ ปริยัติ ปฏิบัติ การปฏิบัตินี่มันจะชำนาญ จิตที่มันเป็นไปแล้วก็จะมีความชำนาญ แล้วพอชำนาญอย่างเรานั้น พอเราชำนาญแล้วเสื่อม เจริญแล้วเสื่อม ทุกอย่างต้องมีเจริญแล้วเสื่อม

ทุกอย่างในโลกนี้เป็นอนิจจัง ทุกอย่างคงที่ไม่มี เว้นไว้แต่พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ คงที่ตายตัว ! เพราะเป็นอกุปปธรรม ! สัพเพ ธัมมา อนัตตา เป็นกุปปธรรม !

กุปปธรรมคือธรรมชาติ คือภาสวะความเปลี่ยนแปลง สภาวะที่มันเปลี่ยนแปลง มันเคลื่อนไหว อนิจจังแปรสภาพตลอด ธรรมชาติคือสสารมันแปรปรวนตลอด สิ่งที่คงที่ไม่มี !

แต่ถ้าเป็นอกุปปธรรม โสดาบันนี่คงที่ คงที่ของโสดาบัน คงที่ของสกิทาคามี คงที่ของอนาคามี คงที่ของพระอรหันต์ แล้วมันอยู่ที่ไหน คงที่อย่างไร อย่างไรถึงแปรปรวน อย่างไรถึงคงที่ มันมีของมัน มันเป็นความจริงของมัน นี้เราต้องแก้ไข

นี่พูดถึงการปฏิบัตินะ อย่าท้อแท้ เพราะนี้เป็นคุณค่า เพชรนิลจินดานะ ไก่ได้พลอย ! มันไม่รู้จักคุณค่าของพลอย แต่ถ้ามันได้เม็ดข้าวมันชอบของมัน เดี๋ยวนี้เรามองสมบัติทางโลก สมบัติเห็นไหม แก้วแหวนเงินทองนั้นมีคุณค่า

แต่เราไม่เห็น “อริยทรัพย์ ! ทรัพย์ของมนุษย์” ทรัพย์ของความสุขภายใน แล้วถ้าเราเห็นคุณค่า แล้วเราไม่เสียสละ แล้วทุกข์ไหม... ทุกข์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๖ ปี หลวงปู่มั่นท่านทรมานของท่านอยู่ในป่าของท่าน เอาชนะตัวของท่านเองให้ได้ ครูบาอาจารย์อย่างหลวงปู่มั่น ท่านพยายามกระหนาบ กระหนาบเพราะอะไร เพราะหลวงปู่มั่นท่านล้มลุกคลุกคลานมา

เหมือนพ่อแม่เลย มีเสื่อผืนหมอนใบมาจากเมืองจีน พยายามมาทำมาหากินจนมีจุดยืนขึ้นมาได้ แล้วลูกขึ้นมาเดี๋ยวนี้มันทำได้ไหม เสื่อผืนหมอนใบ ถ้ายืนตัวขึ้นมา มันทำได้ไหม มันทำกันไม่ได้ ! มันอ่อนแอ !

เดี๋ยวนี้พออ่อนแอ.. มีปัญญา บริหารจัดการ เงินทองก็ได้มาจากตลาดหุ้น เก็งกำไรกันไง ไม่มีอุตสาหกรรม ไม่มีการผลิต ไม่มีสิ่งต่างๆ ให้มันเกิดขึ้นมาเป็นข้อเท็จจริงเลย มันเป็นแต่การเก็งกำไร พอเก็งกำไรขึ้นมา อย่างนั้นก็สะดวก อย่างนั้นก็สบาย เงินจะไหลมาเทมา ไหลมาเทมาเป็นของสมมุตินะ

ดูสิ ลูกเกิดมาที่มีบุญกุศลไม่ต้องทำอะไร รับมรดกของพ่อแม่ นี่สบายไหม นี่ไม่ต้องทำอะไรเลย พ่อแม่ให้เลย มรดกตกทอดมาเลย อันนี้มันเป็นเรื่องของโลกๆ

แต่มรดกกรรม มรดกอริยภูมิ มันให้กันได้ไหม สุขทุกข์ในใจมันให้กันได้ไหม มันต้องการกระทำนะ เราต้องทำของเราขึ้นมาด้วยสัจจะความจริง ถึงบอกว่ามันมีอะไรเกิดขึ้นมา สิ่งต่างๆ มันเป็นขั้นตอนของมัน

จะเห็นแสงมันก็เป็นเด็กอนุบาล เด็กเห็นไหม เด็กๆ เก็บของที่ให้พ่อแม่ พ่อแม่ปรบมือให้ใหญ่เลย โอย.. เก่งๆ นี้ก็เหมือนกัน พอเห็นแสง เออ.. เก่งๆ เก่งแล้ว เพราะมันมีการขยับตัวแล้วนะ จิตมีการเปลี่ยนแปลงแล้ว จิตมีความสงบ จิตเห็นสิ่งนู้นสิ่งนี้ มีความเปลี่ยนแปลง

พอเห็นมีความเปลี่ยนแปลงไป เห็นนิมิตผิดอีก.. สมถะผิดอีก.. อันนั้นคือตำรา อันนั้นตำราเลี้ยงลูก แต่อันนี้เราเลี้ยงลูกเรา เลี้ยงใจเรา ลูกเรามันจะมีผิดพลาดบ้าง ลูกเราจะงอแงบ้าง ลูกเราจะกินนมนอนสบายบ้าง จิตมันดีบ้าง ทุกข์บ้าง มันเป็นธรรมดา เราต้องมีประสบการณ์แล้วแก้ไขต่อสู้ไป

ใจเราเรียกร้องความช่วยเหลือ เรียกร้องธรรมะ แล้วไม่มีใครให้มัน นี้เรียกร้องธรรมะ เคยอ่านพระไตรปิฎกกัน โอ้โฮ! ซึ้งมาก.. ซึ้งมาก.. แต่ไม่ได้แก้ไขตัวเองเลย ไม่ได้ป้อนอาหารให้เลย ไม่ได้โตขึ้นมา

เรามาประพฤติปฏิบัติ เรามาเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา เราพยายามสร้างขึ้นมา พอมันสงบเห็นไหม นี่มันได้อาหารแล้ว อาหารคือสันทิฏฐิโก คือปัจจัตตัง ใจมันเป็น ใจมันสัมผัส ใจมันรับรู้ ทุกข์สุขมันรับรู้ แล้วทุกข์สุขมันเปลี่ยนแปลงขึ้นไป จนมันคายทิ้งไฟ มันปล่อยวางไฟ จนมันเป็นอิสรภาพออกมา

แล้วปล่อยวางแล้วมันมีเหตุมีปัจจัย มันปฏิสนธิจิต กิเลสมันอยู่ที่นั่นเห็นไหม มันปล่อยแล้วเดี๋ยวจะไปหยิบอีก เพราะมันมีความต้องการ มีความพอใจ ใช้ปัญญาญาณใคร่ครวญมัน ต่อสู้กับมันเห็นไหม มันจะปล่อยวาง ตทังคปหาน มันปล่อย เห็นโทษเห็นภัย เห็นโทษนะ..

ดูสิ แก้วแหวนเงินทอง มันมีประโยชน์กับสังคม แต่มีโทษกับผู้ประพฤติปฏิบัติ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไปกับพระอานนท์ “เงินนี้คืออสรพิษ” เงินนี้เป็นอสรพิษนะ ! มันกัดหัวใจของสัตว์โลก มันกัดหัวใจของคน แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ เราไม่ไปยุ่งกับมัน เห็นไหมบางอย่างนั้นมีประโยชน์กับสังคม แต่มันไม่มีประโยชน์ต่อการประพฤติปฏิบัติ

เราถึงบอกว่า ถ้าเราประพฤติปฏิบัติแล้ว เราไม่ต้องสนใจอย่างนั้น ตั้งสติของเรา ทำเพื่อเรา ประโยชน์เพื่อเราเห็นไหม นี่ตั้งใจ ! วันนี้วันพระ ประสบการณ์สิ่งใดแล้ว มันมีการเคลื่อนไหว มีการขยับ ไดโนเสาร์หัวใจมันก็นอนตายอยู่นั้น เวลามันขยับตัวบ้าง มันมีการกระทำของมันบ้าง เราเห็นมัน แล้วแก้ไขมัน มีอย่างใดเราปรึกษาครูบาอาจารย์ได้ ครูบาอาจารย์ท่านเคยผ่านอย่างนี้มาแล้ว ไม่ผิดหรอก !

ไม่ต้องกลัวผิดหรือกลัวถูก ต้องมีประสบการณ์ ผิดก็แก้ไข ถูกก็เป็นประสบการณ์ของเรา เพื่อประโยชน์กับเรานะ วันพระ ! วันนี้ตั้งใจให้ประพฤติปฏิบัติ อย่านอนจมกับมัน วันไหนก็เหมือนกัน.. วันไหนก็เหมือนกัน

เราอยู่ป่าอยู่เขานะ.. ไม่ใช่อวด ! ถ้าวันพระนะไม่เคยนอน เนสัชชิกตลอด ถ้าวันพระถือเป็นเรื่องปกติเลย แต่วันปกติเรายังไม่นอนอยู่แล้ว ยิ่งวันพระนะ ไม่นอนเลย ! ทำทั้งวันทั้งคืน ทำกันอยู่อย่างนั้น จนกว่ามันจะเห็นดำเห็นแดงกัน เพื่อประโยชน์กับเราไง ทดสอบเรา ห้องวิจัยอยู่ในหัวใจของเรา หามันให้เจอแล้วปฏิบัติเพื่อเรา เอวัง