เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๗ ธ.ค. ๒๕๕๒

 

เทศน์เช้า วันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๕๒
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราเป็นชาวพุทธนะ เราว่าเราเป็นเจ้าของศาสนา แล้วเราก็ยึดมั่นถือมั่นเลยว่าศาสนาจะเป็นความคิดของเรา นี่เวลาพระพุทธเจ้าสอน เห็นไหม สอนให้ปล่อยวาง ทุกคนว่าปล่อยวางแล้ว เป็นคนดีแล้วไม่ต้องไปวัด การว่าปล่อยวาง สลัดทิ้งไปแล้วก็ว่างเปล่าไง

แต่พุทธศาสนาไม่เป็นอย่างนั้น ปล่อยวางมี มีคนรู้ว่าปล่อยวาง มีเจ้าของปล่อยวาง ความว่างก็มี ใครรู้ว่าว่างอย่างไร ใครเป็นความว่าง.. ศาสนาพุทธว่าปล่อยวาง ว่างแล้วก็ว่างกันหมดเลย ว่างขี้ลอยน้ำมันก็ไม่มีเหตุมีผลไง

ดูร่างกายของมนุษย์สิ มันมีแต่การเปลี่ยนแปลงนะ ตั้งแต่เด็กขึ้นมา จนเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา จนชราภาพไปเป็นธรรมดา แล้วมันมีอะไรเหลือตกไว้ล่ะ.. มันเหลือตกไว้แต่คุณงามความดีของคนที่ทำนั้น แล้วอะไรเป็นคนทำคุณงามความดีล่ะ? มันเรื่องของหัวใจเป็นคนทำคุณงามความดีนะ

ร่างกายของเรา เห็นไหม เกิดมาเป็นมนุษย์ธาตุหนึ่งตายไปนะ ร่างกายนี่ ดูสิ สัตว์เวลามันตายนะ ร่างกายของมัน ซากของมันยังนำมาเป็นอาหารได้ ทุกคนปรารถนาซากของสัตว์ที่มันเป็นอาหาร ซากของคนไม่มีใครเอา ซากของคนมีแต่คนไม่ต้องการนะ ซากของคนเก็บไว้มีแต่กลัวผีด้วย แต่เขาไม่คิดว่าจิตเวลาเราประพฤติปฏิบัติ จิตมันก็เหมือนกับร่างกายนี้แหละ มันพัฒนาของมันได้ มันโตขึ้นมาได้

เวลามันโตขึ้นมา นี่เวลานักภาวนาถ้ามันมีการเปลี่ยนแปลง เห็นไหม เวลาร่างกายเราเปลี่ยนแปลงขึ้นมาจากเด็กเป็นผู้ใหญ่ เป็นคนชราภาพไป ทำไมเราเห็นการเปลี่ยนแปลงของมันล่ะ เวลาจิตถ้ามันเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เป็นคุณงามความดี เราประพฤติปฏิบัติถ้าจิตมันสงบขึ้นมามันมีอาการเปลี่ยนแปลง เราไปตกใจมันทำไมล่ะ เราไปตกใจว่ามีการเปลี่ยนแปลง

เขาก็บอกนะ “สมถะไม่ได้ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เปลี่ยนแปลงเป็นความผิด นี่มันต้องว่างๆ ว่างๆ”

ว่างๆ ก็เลยไปสร้างภาพว่าว่างไง มันเป็นสูตรสำเร็จ มันเป็นกรอบไว้ คิดในกรอบ แล้วกรอบก็คือกิเลส กิเลสคือรูปธรรมที่มันครอบงำจิตไว้ เวลาปฏิบัติก็ต้องตามกรอบนั้น มันจะประสบสิ่งอื่นกันไม่ได้เลย ว่างๆ ว่างๆ คิดไปว่าว่าง ว่างนั้นเป็นการเพ้อเจ้อ

แต่ถ้าเราทำความสงบของใจเข้ามา จิตมันจะสงบเข้ามา ก่อนที่มันจะสงบมันมีการเปลี่ยนแปลงของมันนะ โลกียปัญญากับโลกุตตรปัญญา.. นี่เรื่องของโลกๆ ความคิดสัญชาตญาณของมนุษย์มันเป็นเรื่องของโลก สัญชาตญาณของมนุษย์ใช่ไหม มันเกิดปฏิภาณไหวพริบ มันเกิดจากอำนาจวาสนาของคน คนเราปฏิภาณไหวพริบมันแตกต่างหลากหลายมา ดูสิ คนเกิดมาทุกคนอยากให้ลูกเราฉลาดทั้งนั้นแหละ ทำไมลูกของเราบางคนมันมีปัญญามาก บางคนมันทำของมันไปไม่ค่อยได้ เห็นไหม นี้อำนาจวาสนาของเขานะ

จุลปันถก พี่ชายเป็นพระอรหันต์นะ เวลามาบวชนี่ชีวิตลำเค็ญมาก แม่ตามทาสในเรือนนั้นไปแล้วกลับมาบ้านไม่ได้ นี่คิดถึงพ่อถึงแม่ก็ไม่กล้ากลับมาเพราะหนีตามทาสไป สุดท้ายแล้วกลับมาหาพ่อหาแม่เพราะว่ามันทุกข์มันยาก เห็นไหม พ่อแม่บอกไม่รับ เอาแต่ลูกไว้

นี่จุลปันถก มหาปันถก เป็นลูกใช่ไหม.. ลูกสาวตามเขาไป นี่ตาก็รับไว้ พอตารับไว้ใครถามนี่พูดถึงลูกสาวก็อายเขาไง ไอ้ลูกมันก็มีความลำเค็ญในหัวใจ พอเวลาโตขึ้นมาก็ขอตาออกบวชตาก็ให้บวช พอมหาปันถกบวชแล้วก็ได้เป็นพระอรหันต์ พอเป็นพระอรหันต์ก็คิดถึงน้องชายก็ไปเอาน้องชายมาบวช

พอเอาน้องชายมาบวช เห็นไหม บอกเลยนี่ให้น้องชายท่องคาถาคำหนึ่ง ก็ท่องไม่ได้ อย่างไรก็ท่องไม่ได้ ท่องไม่ได้ จนพี่ชายละอายใจนะ เพราะตัวเองเป็นพระอรหันต์แล้วมีลูกศิษย์ลูกหามหาศาลเลย ก็ให้สึกไปนะ พอจะไปสึกพระพุทธเจ้ามาดักหน้าไว้นะ

“จุลปันถกเธอจะไปไหน”

“พี่ชายจะให้ไปสึก”

“เธอบวชเพื่อใคร ถ้าเธอบวชเพื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ต้องสึกนะ ให้เอาผ้าขาวไปลูบนะ นี่ผ้านี้ขาวหนอ ขาวหนอ” พอลูบขึ้นมาเป็นพระอรหันต์เลย

นี่ไง ดูสิ เวลาบอกว่าปฏิภาณไหวพริบของคน เห็นไหม ดูสิ แล้วพระก็แปลกใจว่าทำไมสมองทึบขนาดนั้นแล้วทำไมเป็นพระอรหันต์ได้ สมองทึบขนาดพี่ชายสอนก็สอนไม่ได้ ทำไมเป็นพระอรหันต์ได้ พระพุทธเจ้าบอกนะมันมีเวรมีกรรมทั้งนั้นแหละ กรรมที่ทำมานี่ปฏิภาณไหวพริบของคน นี่เคยเป็นกษัตริย์ตรวจพลตรวจสนาม เอาผ้าเช็ดหน้าเช็ดฝุ่นนี่มันฝังใจ

นี่มันเกิดคำถามในหัวใจ เห็นไหม แล้วที่ทำไมมันโง่เขลาเบาปัญญาขนาดนั้นล่ะ คนเป็นกษัตริย์ทำไมเกิดมาโง่ขนาดนั้น ไอ้โง่นี่เมื่อก่อนเป็นคนที่มีปัญญามาก แต่เวลาแบบว่าพระท่องปาติโมกข์ เหมือนกับว่าเราฟัง เห็นไหม เด็กที่มันท่องผิดขานผิดนี่เราไปหัวเราะเยาะเขาไง จนมันอาย พอเด็กอายเด็กมันไม่กล้าทำความดีต่อไป

นี่เวลาทำเราต้องส่งเสริมคนทำดี คนเริ่มปฏิบัติมันก็มีการขาดตกบกพร่องเป็นธรรมดา คนจะฉลาดมันก็มาจากการฝึกฝนนั่นแหละ ปัญญามันจะเกิดขึ้นเองจากที่ไหน ปฏิภาณไหวพริบมันเกิดขึ้นมา.. นี่ปฏิภาณนะ ปฏิภาณไหวพริบต่างๆ อำนาจวาสนาของคน มันมองปัญหานี่มันคิดลึกซึ้งมาก จะคิดลึกซึ้งขนาดไหนนะ มันต้องมีศีลธรรมจริยธรรมเพื่อควบคุมมันไป

สิ่งที่ว่ามันฝึกฝนได้ อำนาจวาสนานี่ เหมือนเหรียญมันมี ๒ ด้าน เราเคยทำดีและทำชั่วมาตลอด ทีนี้เวลามาประพฤติปฏิบัติเราก็ต้องไม่น้อยเนื้อต่ำใจ อย่าไปด่วนคาดหมายว่าเราไม่มีอำนาจวาสนา เราเป็นคนทุกข์คนยาก คนอื่นเขามีความสุขความสำราญกัน ไอ้ความสุขสำราญกันนี่เขาทุกข์ในหัวใจเรารู้ไหม นี่เศรษฐี มหาเศรษฐีเขามีความสุข ในหัวใจเขากัดหนองขนาดไหน นี่มันฝังใจทั้งนั้นแหละ

ความสุข ความทุกข์มันอยู่ที่หัวใจ เห็นไหม สิ่งนั้นมันเป็นเรื่องเปลือกนอก เราก็ไปคิดกันเองว่ามันจะเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างนั้น แล้วว่าจะเป็นอย่างนั้น เราคาดหมายเป็นอย่างนั้น มันไม่เป็นความจริง ถ้าเป็นความจริงนี่สันทิฏฐิโก ปัจจัตตัง เผชิญหน้า ความเผชิญหน้า เฉพาะหน้า ซึ่งๆ หน้า ซึ่งๆ ที่จิตมันเข้าไปเผชิญนี่ของใครของมัน ถ้าจิตเข้าไปเผชิญสิ่งใด ถ้ามันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร มันจะเปลี่ยนแปลงนะ จิตมันจะเปลี่ยนแปลง

เหมือนร่างกายมนุษย์นี่ล่ะ ร่างกายมนุษย์เวลาเปลี่ยนแปลงชราภาพไปเราก็ตายไป จิตมันไม่เคยตายนะ แต่จิตเวลาเกิดเป็นมนุษย์มันก็อำนาจวาสนาของกรรมภพนี้ กรรมภพนี้ถ้าเราแก้ไขของเราเข้าไป นี่ตัวพลังงาน ตัวจิต ปฏิสนธิจิต มันต้องแก้ไขของมันไป ถ้าแก้ไขของมัน นี่มรรคญาณที่ว่าธรรมจักร จักรมันเกิด

เวลาภาวนากัน ครูบาอาจารย์ของเรานี่ท่านบอกอยู่กับใครไม่ได้ หลวงตาบอกอยู่กับใครไม่ได้เลย เวลาปัญญามันหมุนอยู่กับใครไม่ได้เลย เพราะปัญญามันเกิดแล้วมันต้องการเวลา ต้องการอิสรภาพ ต้องการความสงัด ต้องการความเป็นส่วนตัว เพราะปัญญามันเกิด มันหมุนของมัน มันอยู่ข้างใน นี่ธรรมจักรมันเกิดนะ เวลาปัญญามันเกิดมันเกิดอย่างนี้

แต่นี่เวลาปัญญามันเกิดทางโลก เราจะไปอยู่ที่ไหนเราก็กลัวความลำบากลำบนใช่ไหม เราต้องอยู่ด้วยกันเพื่อความเจือจานกันใช่ไหม แล้วก็นั่งขบปัญหากัน ใครจะขบปัญหาแตก ใครปิ๊งปัญหาขึ้นมาก็ว่าเป็นพระโสดาบัน.. มันโสดาบันมาจากไหน มันโสดาบันมาจากไหนอย่างนั้นน่ะ มันเป็นปัญญาของใคร ปัญญาของโลกๆ ปัญญาที่เกิดขึ้นมาจากจินตนาการ ปัญญาที่เกิดขึ้นมาจากกิเลส จากฐาน จากภพ จากภวาสวะ

ความคิดทั้งหมดเกิดจากจิต จิตมีอวิชชาครอบงำมันอยู่ ในเมื่อต้นไม้มีพิษออกผลมาก็เป็นพิษ แล้วต้นไม้มีพิษนี่เราจะแก้ไขความเป็นต้นไม้มีพิษของมันได้อย่างไร.. ถ้าความเป็นพิษของมัน นี่กำหนดพุทโธ พุทโธ ชำระล้างมัน ชำระล้างมันด้วยพุทโธ แล้วพุทโธนี่ความล้างสารพิษใช่ไหม.. กลอยนี่ที่เราเอามาเป็นอาหารมันมีสารพิษของมัน เขาต้องเอามาแช่น้ำเพื่อล้างสารพิษของมัน ใจของเราถ้ามันพุทโธ พุทโธ เข้าไป เข้าไปชำระล้างให้มันสะอาดบริสุทธิ์ชั่วคราว ชั่วคราว

สมาธิทำให้จิตสงบได้ แต่สมาธิแก้กิเลสไม่ได้ แต่สมาธิสามารถทำให้ใจหยุดนิ่งได้ ความหยุดนิ่งของใจมันไม่คิดของมันออกมาแต่มันมีพลังงานของมัน ความไม่คิดแต่มันไหลเวียนของมัน มันมีพลังงานของมัน ไม่ใช่ไม่คิดตาย..

เขาบอกว่า “สมาธิก็คือทื่อๆ ซื่อๆ เซ่อๆ”

สมาธิมีความสุขมาก สมาธิจิตมันอิ่มเต็มในตัวของมัน สมาธิจะมีความสุขมาก ถ้ามีความสุขของสมาธิ ถ้าไม่มีสมาธิไม่มีความสุข ทำไมพระผู้ปฏิบัติ ทำไมคิดว่าสมาธิเป็นนิพพานได้ เวลามันเข้าไปสู่ความสงบนี่มันนิพพาน โอ้โฮ.. มันสุข โอ้โฮ.. ถ้าอย่างนี้ก็นิพพานน่ะสิ แล้วนิพพานมีเหตุมีผลอะไร.. กาลามสูตรไม่ให้เชื่อ ไม่ให้เชื่อต่างๆ ให้เชื่อประสบการณ์ ถ้ามันเป็นนิพพาน พอมันเสื่อมขึ้นมา นิพพานทำไมมันเสื่อมล่ะ

มันเสื่อม ความจริงในหัวใจมันบอก ความจริงในหัวใจมันลังเลสงสัย คนลังเลสงสัย คนลูบๆ คลำๆ นี่สีลัพพตปรามาส เห็นไหม

นี่เขาว่า “เด็กไม่มีสังโยชน์ ไม่มีสังโยชน์เพราะเด็กมันไม่สงสัย”

เด็กจะไม่สงสัยอย่างไร “แม่นี่อะไร พ่อนี่อะไร” เด็กจะไม่สงสัยได้อย่างไร เด็กนี่ยิ่งกว่าสงสัยอีก เพราะ ๓ ปีแรกของเด็ก ทางวิทยาศาสตร์ก็พิสูจน์กันแล้วว่าเด็กนี่สมองมันจะเติบโตมาก เราจะเอาอะไรไปแขวนไว้ เอาทุกอย่างไปแขวนไว้ให้เด็กมันได้จินตนาการ ให้เด็กมันได้ฝึกฝนของมัน

เด็กๆ ไม่มีสังโยชน์ มันเป็นไปได้อย่างไร.. มันเป็นไปไม่ได้หรอก นี่ถ้ามันเป็นไปไม่ได้ เวลาปัญญามันเกิดมันเกิดอย่างไร เวลาว่าสมาธิมันเสื่อม เวลาเจริญแล้วเสื่อม เจริญแล้วเสื่อมนี่มันสงสัย พอมันสงสัยมันก็เป็นสังโยชน์ นี่มันสีลัพพตปรามาส มันลูบคลำ มันสงสัยของมัน

ไม่สงสัย ไม่สงสัย.. นี่ไงก็ว่างๆ ไง ไม่สงสัยก็ไม่สงสัย ความว่างก็สร้างความว่าง มันสร้างกันเองขึ้นมา เห็นไหม อย่างนี้มันการเปลี่ยนแปลงในทางกิเลส กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันยึดของมันนะ แล้วมันเปลี่ยนแปลง มันอยากได้ กิเลสคือมักง่าย คือขี้เกียจขี้คร้าน คือไม่ทำสิ่งใด แล้วก็จินตนาการว่าว่างๆ ว่างๆ แล้วอ้างว่าเป็นธรรม

นี่ธรรมะของกิเลส กิเลสมันเอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาแอบอ้าง อ้างอิงแล้วก็บังเงา แล้วอาศัยสิ่งนี้ออกหาเหยื่อไป แล้วความจริงมันเกิดขึ้นมาจากเราไหม.. ถ้าความจริงเกิดขึ้นมาจากเรา ความจริงมันอยู่ที่ไหนก็ได้ ทองคำแท้นะต้องการพิสูจน์ ยิ่งเผาไฟยิ่งสุก

นี่ก็เหมือนกัน ความจริงมันอยู่ที่ไหนมันก็พูดได้ นี้ความจริงดูสิครูบาอาจารย์เรา ในโลกนี่ใครพูดความจริงคนนั้นเจ็บปวด เพราะอะไร เพราะว่าคนที่รู้จริงมันมีน้อย เห็นไหม ครูบาอาจารย์ของเราท่านรู้จริง.. นี่อย่าดูถูกความนิ่งอยู่ของพระอริยเจ้า ! พระอริยเจ้านี่รู้

คำว่าพระอริยเจ้า.. อริยภูมิ ภูมิของจิตมันรู้ว่าความคิดอย่างนี้โลกเขารู้กับเราไม่ได้หรอก โลกนี่ขนาดความคิดทางวิชาการมันยังหัวแทบระเบิดอยู่แล้ว แล้วนี่ธรรมะมันเหนือธรรมชาติ เหนือการคาดจินตนาการ เราจินตนาการนิพพานไม่ได้หรอก เราจินตนาการนรก สวรรค์ได้ เพราะจิตนี้ไม่เคยเข้าสู่นิพพาน ไม่เคยเข้าสู่ในแดนของนิพพานเลย

แต่ถ้านรก สวรรค์นี่ทุกคนจินตนาการได้ ทุกคนจินตนาการภูต ผี ปิศาจได้ ทุกคนจินตนาการสิ่งต่างๆ ได้หมดเลย แล้วเราไปพูดสิ่งที่เหนือการจินตนาการ นี่มันจะรู้กับเราได้อย่างไร แต่มันจะรู้ได้ต่อเมื่อผู้ปฏิบัติถึงกัน เห็นไหม ธรรมสากัจฉา เอตัมมังคะละมุตตะมัง มันเป็นมงคลในการประพฤติปฏิบัติ มงคลชีวิตเลย

ดูสิ ครูบาอาจารย์ของเราท่านใช้ชีวิตของท่านในป่าในเขาเพื่อพิสูจน์หัวใจของท่านเอง พอพิสูจน์ของท่านเองนี่มันมีประสบการณ์จริง เห็นไหม นี่กาลามสูตรไม่ให้เชื่อ แต่ให้เชื่อความจริงอันนั้น ความจริงที่จิตมันพลิกคว่ำพลิกหงาย เวลาสังโยชน์มันขาดไปแล้วนะ ทำอย่างไรมันก็กลับมาอีกไม่ได้

สิ่งที่เวลาสังโยชน์มันขาดไปแล้ว โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามีนี่มันจะเสื่อมไม่ได้ มันจะแปรสภาพไม่ได้ มันจะลังเลสงสัยไม่ได้ มันจะลังเลสงสัยในภพภูมิที่มันรู้ไม่ได้เลย เพราะถ้าลังเลสงสัยนี่มันจะรู้จริงได้อย่างไร.. ความไม่ลังเลสงสัยในภพภูมิของตัว ความไม่ลังเลสงสัยในภพภูมิอันนั้น นั่นล่ะปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก อันนั้นล่ะเป็นความจริง นี่ความจริงอันนี้มันจะพิสูจน์ของมัน.. นี่ไม่ให้เชื่อใครทั้งสิ้น ให้เชื่อความจริงกับการเกิดขึ้นมาของจิต แล้วจิตมันมีการเปลี่ยนแปลงนี่เราไปตื่นเต้นอะไร

เริ่มต้นจากการประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม เวลาทำความสงบของใจมันต้องมีสตินะ กำหนดพุทโธ พุทโธ นี่มีสติก็กำหนดพุทโธไว้ตลอดเวลา อย่าทิ้งนะ นี่ครูบาอาจารย์ท่านสอน หลวงตาท่านย้ำประจำ

“อย่าทิ้งพุทโธ ! อย่าทิ้งผู้รู้กับอย่าทิ้งพุทโธ แล้วเราจะไม่เสียหายเลย”

ถ้าเราทิ้งพุทโธ แต่เราไปรู้ไปเห็นสิ่งต่างๆ เราจะตามความรู้นั้นไป เราทิ้งบ้านเราแล้ว เราทิ้งฐานเราแล้ว เราไปรู้สิ่งใด ดูสิ เวลาเราออกมาจากบ้านแล้วเราไม่กลับบ้านเลย บ้านเราใครก็เข้าไปขโมยทรัพย์สมบัติของเราได้

นี่ก็เหมือนกัน ตามแต่ความรู้สึกมันไป เราไม่ทิ้งพุทโธ มันจะรู้สิ่งใดนี่รับรู้ไว้ รับรู้แล้ววางไว้แต่เราไม่ทิ้งฐาน ไม่ทิ้งความรู้อันนี้ มีสติรู้ตลอดเวลา รู้ๆๆๆ นี่ไงต้นไม้มีพิษ เราจะทำให้มันไม่เป็นพิษ ไม่เป็นพิษเพราะไอ้ผู้รู้ ไอ้ฐานอวิชชาเนี่ย.. เวลาความคิดเกิดจากมัน คิดจากจินตนาการ คิดจากการควบคุมไม่ได้เลย แต่พอเวลาต้นไม้ไม่เป็นพิษ เราก็มีสิ่งที่เป็นดอกเป็นใบของมัน มันก็จะเป็นประโยชน์กับเราทั้งหมดเลย

ถ้าจิตมันสงบเข้ามา พอจิตมันสงบ ถ้าความคิดมันเกิดขึ้นมา ปัญญามันเกิดขึ้นมา มันเกิดขึ้นมาจากจิตที่เป็นสัมมาสมาธิ กิเลสมันสงบลงชั่วคราว ปัญญาอย่างนี้ปัญญาออกวิปัสสนา ออกใช้ปัญญาขึ้นมา มันจะเป็นตทังคปหาน มันจะปล่อยวางได้บ้างไม่ได้บ้าง มันเป็นจริต เป็นนิสัย เป็นอำนาจวาสนาของแต่ละบุคคล

บางคนนี่ขิปปาภิญญา พิจารณาง่ายรู้ง่าย มันจะรู้ได้ง่ายๆ เลย คนเรานี่ปัญญามาก มีความรู้มาก สงสัยมาก ลังเลมาก พิจารณาแล้วพิจารณาเล่ารู้ไปหมดเลย แต่ตรงนี้ยังไม่รู้มันก็ไม่ยอม.. รู้ไปทุกอย่างเลย แต่เหลืออีกนิดหนึ่งมันไม่รู้

นี่คนมีปัญญามาก เห็นไหม เวลาปัญญามาก ปัญญาน้อย หรือว่าอำนาจวาสนาของคนมันหลากหลาย มันไม่เหมือนกัน นี้การพิจารณาไปเราต้องอย่าทิ้งผู้รู้ของเรา อย่าทิ้งฐีติจิต อย่าทิ้งหัวใจของเรา อย่าทิ้งสิ่งที่สัมผัสธรรม อย่าทิ้งตรงนี้แล้วตั้งพุทโธไว้ แล้วตั้งสติไว้ พุทโธกับสตินี่ มันจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรนี่รับรู้แล้วปล่อย

ถ้ารับรู้แล้วออกตามมันไปนี่หมดแล้ว ทิ้งฐานแล้ว เพราะ ! เพราะเวลาสงบมันสงบที่จิต มันไม่ได้สงบที่การรับรู้ มันสงบที่จิต ฉะนั้นจิตเราต้องตั้งมั่นไว้ มีอะไรสิ่งใดผ่านมา

การผ่านมาคือการเปลี่ยนแปลง เด็กเป็นผู้ใหญ่ จิตมันมีการเปลี่ยนแปลง จิตนี้มีการเปลี่ยนแปลงสมาธิได้อย่างไร.. สมาธิไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่สมาธิ แล้วเวลาจิตมันจะเป็นสมาธินี่เราไปตื่นเต้นอะไรกับมัน เพราะเราเอง ! เราเอง เห็นไหม ดูสิกิเลสมันหลอกตลอด แม้แต่ทำสมาธิอยู่ เดินจงกรมอยู่ นั่งสมาธิอยู่มันก็หลอกเราทั้งๆ ที่ทำความดีอยู่ซึ่งๆ หน้านี่แหละ เราก็ว่าเป็นความดี นี่ปฏิบัติแล้วเป็นความดีแล้วทำไมมันไม่ได้ผลเป็นความดีนั้น

ไม่ได้ผลเป็นความดีนั้นเพราะกิเลสไง เพราะความเคยใจ เพราะความมักง่าย เพราะความด่วนได้ เพราะอยากสรุปผล นี่สิ่งนี้มันหลอกเราทั้งนั้นเลย เราไม่เชื่อ ! ไม่เชื่อ ! ไม่เชื่อ ! ไม่เชื่อ ! พิสูจน์กันด้วยพุทโธ พุทโธ พุทโธ พิสูจน์กันด้วยจิตมันเป็น พอมันเป็นจริงๆ เอ้อเฮอ ! เอ้อเฮอนะ ถึงเมืองพอ ถึงบางอ้อนี่ให้มันถึง ไอ้นี่มันไม่ถึง แล้วสงสัย..

“ทำไมมันว่างๆ ล่ะ ทำไมมันเป็นอย่างนั้น”

ทำไมนี่สงสัย.. ทำไม.. หรือว่า.. น่าจะ.. นี่สงสัยทั้งนั้น ! ทำไมเป็นอย่างนี้ เพราะเราสงสัย เพราะมันไม่เป็นจริง เห็นไหม เราต้องพิสูจน์ของเราเรื่อยๆ พอการพิสูจน์บ่อยๆ ถึงเข้า พอมันจริงมันก็คือจริง สมาธิก็คือสมาธิ.. สมาธิ เวลาครูบาอาจารย์บอกเหมือนน้ำล้นแก้ว เพราะว่าสมาธิมันความเป็นไปของมันเท่านั้น นี่ตัวสมาธิ แล้วตัวปัญญาล่ะ

ปัญญาเกิดจากสัมมาสมาธิ มันจะเป็นโลกุตตรปัญญา มันจะเป็นปัญญาจากไม่ใช่ต้นไม้พิษ มันจะเข้ามาเพื่อประโยชน์กับความเป็นไป เพราะปัญญานี่มันเกิดจากจิต ปัญญาเข้ามาชำระล้างจิต เห็นไหม เข้ามาทำให้ต้นไม้นั้นดีขึ้น เข้ามาทำให้ทุกอย่างดีขึ้น

แล้วเวลาปฏิบัติมันทุกข์มันยากไหม? มันทุกข์ยาก การเกิดนี่แสนทุกข์แสนยาก การอยู่ดำรงชีวิตมันยิ่งทุกข์ยากเข้าไปใหญ่ ทีนี้เรามีสติสัมปชัญญะ นี่คืออำนาจวาสนานะ ดูสิ ชาวพุทธเราทั้งโลกสนใจประพฤติปฏิบัติมีเท่าไหร่ แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเรามีโอกาสมากน้อยขนาดไหน เรามีความจำเป็นไปทุกอย่างล่ะ

ดูสิ ทางร่างกาย เห็นไหม ออกซิเจนขาดไม่ได้เลย ถ้าออกซิเจนขาดชีวิตก็หมดไป แล้วชีวิตของเรามันก็ต้องมีความจำเป็นต้องดำรงชีวิต จำเป็นต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัยทั้งนั้นแหละ เราก็ต้องหาอยู่หากิน นี่มันก็เป็นการบีบคั้นเข้ามา แต่ถ้าเราเสียสละ เรามีความมั่นคงของใจ เราเสียสละได้ เรามีโอกาสของเรา

นี่เวลาบวชพระบวชเจ้านี่นะ ผู้ที่เขาจะส่งเสริมคนดีนี่มีพร้อมตลอด ถ้าเราทำตัวของเรา ให้มั่นคง ทำตัวของเราให้ดี เป็นที่ไว้วางใจของเราได้นะ ไม่ใช่เป็นที่ไว้วางใจของคนอื่นได้ เป็นที่ไว้วางใจของเราได้ เพราะครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า เรานี่จะรู้ก่อนว่าถ้าทำดีทำชั่ว เราจะมีความบกพร่องขนาดไหน ถ้าเราจับผิดเรา เราพยายามแก้ไขเรา

นี่ไง ! นี่ไง นี่กรรมฐาน ข้อวัตรปฏิบัติ นี่ฐานที่ตั้งให้เรากลับมาทำงานที่นี่ ถ้ามันเป็นที่ไว้วางใจของเราได้ เราพยายามหาความบกพร่องของเราให้ได้ นี่มันจะมั่นคงที่นี่ ถ้าศาสนามั่นคงทุกอย่างก็มั่นคง นี่ออกบิณฑบาตเป็นวัตร ทุกอย่างเป็นวัตร เพื่อกลับมาชำระล้างเรา

ในการประพฤติปฏิบัติมันจะมีการเปลี่ยนแปลง แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ดี เราไม่ต้องไปตื่นเต้น ไม่ต้องไปตกใจ เราต้องอยู่กับผู้รู้ คำว่าอยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธตลอดไปนี่นะ มันจะเปลี่ยนแปลงขนาดไหนเราเห็นนะ เราเห็นการเปลี่ยนแปลง แล้วเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เปลี่ยนแปลงที่กลับไปสู่ความสงบ เปลี่ยนแปลงที่มันมีปัญญาเข้าไปชำระกิเลส ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงแบบโลก

เปลี่ยนแปลงแบบโลกนี่คือเปลี่ยนแปลงตลอด ความคิดเปลี่ยนแปลงตลอด ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงตลอดเลย แต่มันเอาไฟมาเผาเรา เห็นไหม สิ่งที่เปลี่ยนแปลง ความคิดมันเปลี่ยนแปลงตลอดเลย นี่ไฟทั้งนั้นเลย แต่ถ้าเราทำความสงบของใจได้ ถ้ามันจะเปลี่ยนแปลง มันจะเปลี่ยนแปลงเพื่อคุณงามความดี

เวลามันเปลี่ยนแปลงไปทางโลกนี่พอใจ คาดหมายจินตนาการไปร้อยแปด เวลามันเปลี่ยนแปลงไปทางที่ดีนี่ตื่นเต้นตกใจแล้วไม่ยอมทำสิ่งใดเลย ตื่นเต้นไปกับมันนะ.. หยุด หยุดนิ่งๆ

เวลาครูบาอาจารย์ท่านบอก เห็นไหม เวลากำหนดพุทโธนี่อยู่ที่ปลายจมูก คนเข้าคนออกเราจะดูตลอดเวลา จิตมันจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร เราตั้งสติของเราเพื่อประโยชน์กับเรานะ

จะบอกว่าสิ่งใดเกิดขึ้น อาการมันเป็นไปนะ.. อาการ เห็นไหม อาการจะสงบ อาการจะเข้าสู่ฐาน อาการต่างๆ นี่มันจะมีบ้าง แต่ถ้าใครไม่มีอาการเลย มันสงบไปเรียบๆ สงบไป พอเป็นความเป็นจริงมันรู้จริง ได้หมดใช่ไหม นี่สติตั้งไว้ไม่ต้องตื่นเต้นตกใจ แล้วถ้ามีสิ่งใดเรานั่งอยู่นี่ มีสิ่งใดมาปรึกษาได้

แต่ ! แต่ที่ฟังอยู่ทุกวันๆ นี้มันเป็นนิยายไง มันเลยเบื่อ แต่ถ้ามันเป็นความจริงนะ คนพูดนี่นะไม่รู้ตัวนะ แต่คนฟังนี่รู้แล้ว อ้าปากมารู้เลยว่า เออ.. นี่ใช่ อ้าปากมาอันนี้ไม่ใช่ ไม่ใช่..

แต่ถ้าไม่ใช่ปั๊บ พูดมาขนาดไหน “หลวงพ่อฟังสิ หลวงพ่อฟังก่อนสิ” อันนี้มันก็น่าเห็นใจเรานิดหนึ่ง

ไอ้ที่เราพูดนี่เราพูดให้โยมมั่นใจ พูดให้โยมไม่ต้องตื่นเต้นตกใจ เวลาสิ่งใดเกิดขึ้นมานี่เราแก้ไขได้ แต่การแก้ไขนั้นมันก็ต้องแก้ไขไปตามอาการ แต่ถ้าไม่มีอาการให้แก้ไขเลยนี่มันไม่มีอาการ แต่เราเข้าใจว่าเป็นอาการ เราเข้าใจว่าไง ฉะนั้นเราถึงบอกว่า “ฟังก่อนสิ ฟังก่อนสิ” ต้องเห็นใจเราว่าเราฟังบ่อยมาก ฟังจนบางทีมันก็ฟังมาจนเต็มที่แล้วนะ

ฉะนั้นเราถึงบอกว่าไม่ต้องตื่นเต้นตกใจ แล้วทำไปเพื่อประโยชน์กับเรานะ.. ทำมาทำประโยชน์กับหัวใจของสัตว์โลก หลวงตาท่านพูดบ่อย “ท่านไม่เคยเห็นสมบัติสิ่งใดในโลกนี้มีคุณค่าเท่ากับหัวใจของมนุษย์ มรรคผลนิพพานมันสถิตอยู่ที่หัวใจของสัตว์โลก” นี่หัวใจของสัตว์โลก

ทีนี้ปฏิบัติแล้วมาคุยกับเรา ทำไมเราไม่เห็นคุณค่าของมันล่ะ แต่ถ้ามันยังไม่เป็นความจริงอยู่ เราก็บอกว่าให้กลับไปทำก่อน ให้กลับไปทำก่อน แล้วค่อยพยายามทำขึ้นมา ถ้าเราไม่บอกนะ ตามไปๆ ก็อย่างที่ว่านี่ ทิ้งบ้านทิ้งเรือน ทิ้งหัวใจของเราไปเอาแต่เงา เอาแต่ความรู้สึก ตะครุบเงาไป มันจะไปเรื่อยๆ นะ แล้วพอมันถึงที่สุดแล้วก็ไม่ได้ผล เห็นไหม

แต่ถ้าเราไม่ทิ้งไป เรากลับมาฐานของเราให้ได้ มันจะสงบก็สงบที่ฐานที่หัวใจเรานี่ล่ะ มันจะดีมันจะชั่ว มันจะปฏิบัติไม่ปฏิบัติก็หัวใจเรานี่ล่ะ ฉะนั้นกลับมาที่ธาตุรู้ ความรู้สึกอันนี้ แล้วกำหนดพุทโธตลอดไป เอวัง