เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๙ ธ.ค. ๒๕๕๒

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๒
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ฟังธรรมเนาะ ธรรมะเป็นสูตรตายตัวนะ ทาน ศีล ภาวนา เราต้องทำทาน เห็นไหม เสียสละเพื่อให้จิตใจมันมีการเปิดออก จิตใจหมักหมม จิตใจนี่เวลาเราทุกข์เรายาก เราย้ำคิดย้ำทำ ความคิดอันนี้ เวลาความทุกข์ ความกังวลใจ มันสละออกไปจากใจไม่ได้ การทำบุญกุศล การเสียสละนี่มันเป็นการฝึกใจอย่างหนึ่ง เป็นการฝึกนะ คือการเสียสละ

พอเสียสละขึ้นมา ความยึดมั่นในความรู้สึก ในความคิด มันก็เป็นความยึดมั่นอันหนึ่ง เวลาเราสิ่งใดกระทบกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เห็นไหม นี่เวลาเราทำจนเคยชิน ใครจะพูดจนติดปากนะ พระพุทธเจ้าสอนให้ปล่อยวาง พระพุทธเจ้าสอนให้ปล่อยวาง สรรพสิ่งก็เป็นอย่างนี้ นี่พูดถึงเป็นความเคยชิน

นี่เราทำทาน เห็นไหม การเสียสละเพื่อบุญกุศลของเรา นี่ฟังธรรม ฟังธรรมเพื่อเตือนสติปัญญาของเรา เตือนสติปัญญานะ โลกของเรา เราเกิดมาพบพุทธศาสนานี้มันมีบุญกุศลมาก มีบุญกุศลจริงๆ มีบุญกุศลเพราะว่ามันตกผลึกเป็นประเพณีวัฒนธรรม ประเพณีวัฒนธรรมให้สังคมร่มเย็นเป็นสุข สังคมร่มเย็นเป็นสุขเพราะความเสียสละ ความเจือจานโดยพระพุทธศาสนาแท้

พุทธศาสนา.. ทีนี้พุทธศาสนาในหัวใจของเรา แต่เวลากิเลสตัณหาความทะยานอยากมันครอบงำ เห็นไหม นี่มโนกรรมมันเกิดจากใจของเราก่อน มโนกรรมเกิดจากภายในนะ พอเกิดจากภายใน มันแสดงออกเป็นวจีกรรม กายกรรม สิ่งการทำ ทำออกไป เห็นไหม

การฟังธรรมนี่เตือนสติเรา การฟังธรรมนะ เวลาฟังธรรมปุ๊บ เรามีการศึกษา ฟังธรรมแล้วทุกคนต้องมีความปรารถนา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม อธิษฐานบารมี การตั้งเป้าหมาย การอธิษฐานถึงเป้าหมายของเรา

นี่ก็เหมือนกัน ในพระพุทธศาสนา เราเกิดมาพบพุทธศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ “ที่สุดแห่งทุกข์คือนิพพาน” คือความสุขที่แท้จริง เราก็มีความปรารถนากัน พอเราปรารถนา เราก็ขวนขวาย ขวนขวายในการประพฤติปฏิบัติ ขวนขวายในการแสวงหา ในการแสวงหาในศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา เราบอกศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา เราก็ใช้ว่าปัญญากัน

ปัญญาในการศึกษา ปัญญาในภาคปริยัตินะ มันเป็นปัญญาโลกๆ ถ้าปัญญาอย่างนี้ เห็นไหม ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด มันมีปัญญามาก เพราะคนย่อมมีปัญญามากก็เลยติดปัญญาของตัวเอง ติดปัญญาของตัวเองนะ นี่ธรรมะต้องเป็นตามสิ่งที่เราศึกษามา เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ เป็นการพิสูจน์ทางจิต ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ทางทฤษฎี ทางทฤษฎี เห็นไหม

ดูสิ! ทางวิชาการนี่เขามีการศึกษาวิชาการมา แต่ภาคปฏิบัติ ผู้ที่ลงไปประพฤติปฏิบัติ ต้องมีวิชาการรองรับ ผู้ที่เขาไปประพฤติปฏิบัติตามหน้าที่การงานของเขา เขาประสบความสำเร็จของเขา เขาเอาความรู้ เอาความชำนาญของเขากลับมาสอนทางวิชาการ สอนทฤษฎี เห็นไหม ตามทฤษฎีทางวิชาการ ถ้ามีข้อเท็จจริงรองรับ ทางวิชาการนั้นจะก้าวหน้าไปมาก

ทางวิชาการมีแต่การวิชาการเห็นไหม นี่ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด ทางวิชาการเราตรึกกัน เราใช้ปัญญา ปรัชญาที่ลงตัวกันได้ แต่ยังไม่เข้าใจว่าทำความเป็นจริงขึ้นมามันจะประสบความสำเร็จได้ตามความจริงนั้นมากน้อยแค่ไหน นี่นะความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด

มันเหมือนธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ในการประพฤติปฏิบัติ ศึกษานี่ปริยัติมันก็ทางวิชาการ สมควรมีไหม มี.. เห็นไหม นี่โลกเจริญ เจริญก็ปัญญา ปัญญาของคนเอาตัวรอดได้ นี้ปัญญาของโลกกับปัญญาของธรรม เพราะปัญญาของโลก เห็นไหม เพราะกิเลสตัณหาความทะยานอยากของเราไปยึดมั่นถือมั่นมัน นี่ความรู้ท่วมหัว

พอความรู้ท่วมหัวแต่เราใช้จริงไม่เป็น เรามาใช้กับความจริงในชีวิตประจำวันของเราไม่ได้ ถ้าเราใช้จริงในชีวิตประจำวันของเราไม่ได้ เราก็ประพฤติปฏิบัติเข้ามาถึงหัวใจของเราไม่ได้ มันเป็นอาการของใจ มันเป็นสิ่งที่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันเป็นสัญญา การจำ ถ้ามันเป็นปัญญา ก็ปัญญาสังขาร

สังขาร เห็นไหม “ภิกษุทั้งหลาย! เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด” ความไม่ประมาทของสังขาร ความปรุง ความแต่งของความคิด สังขารคือร่างกายของเรา “เธอพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด” เราประมาทไหม? เราประมาท เราเอาประสบความสำเร็จ นี่ความรู้ท่วมหัวไง สิ่งนี้เป็นธรรมะของพระพุทธเจ้า ใช่ธรรมะพระพุทธเจ้า เราได้พิสูจน์ได้เป็นจริงหรือยัง?

คำว่า “ปล่อยวาง” ปล่อยวางน่ะ ปล่อยวางมันก็ปล่อยวางจากข้างนอก ปล่อยวาง เห็นไหม ว่าการปล่อยวาง เราก็เห็น เห็นว่าการยึดมั่นถือมั่นเป็นความทุกข์ พอการปล่อยวางมันเป็นความสุข แล้วการปล่อยวางเป็นความสุข สุขแล้วสุขอะไรล่ะ สุขแค่ไหน สุขที่เป็นไปอย่างไร นี่ถ้ามีการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันจะรู้ของมัน มันจะเห็นของมันนะ มันจะซึ้งใจของมันมาก นี่เห็นไหม สันทิฏฐิโก

สันทิฏฐิโก..ความรู้เฉพาะตน สันทิฏฐิโก..ความรู้เฉพาะหน้า ปัจจัตตัง..ความรู้ของเรา ความรู้ของเรา ความเห็นของเรา เราฟังเขาเล่า ฟังเขาบอกสถานที่ ที่ไหนว่ามันจะดีงามขนาดไหน เราก็ได้ฟังแต่เขาเล่า แต่ถ้าเราไปประสบการณ์ของเราเองจริงน่ะ มันต่างจากที่เขาเล่า ต่างจากทางสารคดี ต่างกับทุกๆ อย่างหมดเลย เพราะมุมมองของคน รสนิยมของคน ความเห็นของคน มันแตกต่างทั้งนั้นน่ะ ถ้าจิตใจเรามันเข้าไปสัมผัสตามความจริง เห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน ในภาคปฏิบัติ สิ่งที่จะประพฤติปฏิบัติ เพราะความรู้เราไปติดความรู้ของเรา พอติดความรู้ของเรา เห็นไหม นี่ปัญญาอบรมสมาธิ เราต้องใช้ปัญญาไล่นะ ไล่จนกว่าปัญญานี่มันจะทันความคิดของเรา แล้วมันปล่อยความคิดของเรา พอปล่อยความคิดของเรา มันเป็นอิสระในตัวมันเองเห็นไหม สิ่งที่เกิดขึ้นมานี่อาการของใจไม่ใช่ใจ

ความคิดที่เราคิดว่าเป็นปัญญาๆ นี่ มันเป็นปัญญาของพระพุทธเจ้า ทั้งๆ ที่เราศึกษาเอง เราค้นคว้าเอง เราคิดขึ้นมาของเราเองก็เหมือนกัน มันก็เป็นอาการของใจ มันเกิดขึ้นมาจากใจเพราะปัญญาอย่างนี้มันเกิดขึ้นมาจากจิต มันมีจิตเป็นพลังงาน มีจิตเป็นที่กำเนิด เห็นไหม ฐีติจิต อวิชชาเกิดจากฐีติจิต อวิชชาความไม่รู้ตัวมันเอง รู้เท่าไม่ถึงการณ์ รู้ต่างๆ ความคิด.. คิดว่าคิดได้นะแต่รู้เท่าไม่ถึงการณ์เห็นไหม

แต่ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา เราต้องใช้ปัญญาอบรบสมาธิ นี่พุทธศาสนา ปริยัติต้องมาที่ปฏิบัติ การประพฤติปฏิบัติ ปัญญาจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริงมันจะเห็นต่างว่าปัญญาโลก ปัญญาธรรมแตกต่างกัน ปัญญาโลกคือปัญญาโดยกิเลส ปัญญาของกิเลส กิเลสเอามาใช้ ความเชื่อก็กิเลสเอาไปใช้หมด

ความเชื่อเป็นอริยทรัพย์ ถ้าไม่มีความเชื่อ ไม่มีความศรัทธา เราจะไม่มาศึกษากัน ไม่มาฟังธรรมกัน แต่ความเชื่อนี้กิเลสเอาไปใช้หมดเลย ความเชื่อนี่กิเลสเอาไปใช้ เพราะมันเชื่อโดยอวิชชา เชื่อโดยความเป็นจริงโดยอวิชชาที่ครอบงำหัวใจอยู่ แต่ความเชื่อนี้ถ้าเป็นความเชื่อแล้วเราพิสูจน์ เห็นไหมพิสูจน์เป็นสันทิฏฐิโก เป็นปัจจัตตัง

ความเชื่อ! ความเชื่อแก้กิเลสไม่ได้ แต่ความเชื่อ ความเป็นกลาง สรรพสิ่งที่เป็นกลาง เป็นกลางนี่มันนะ ดูสิ อุเบกขา ว่าธรรมะอุเบกขานี่เป็นที่สุดแห่งทุกข์ ไม่ใช่! อุเบกขานี่มันจะลงไปซ้ายและขวา อุเบกขามันจะลงไปดีและชั่ว อุเบกขาภพ นี่ตัวสมาธิ ตัวสถานที่ตั้ง ตัวความจริงมันจะเอียงได้ไง คือมันเสื่อมได้ มันเจริญได้ มันเจริญขึ้นมามันก็เสื่อม เสื่อมขึ้นมาก็เจริญได้ เห็นไหม

พอเจริญขึ้นมามันก็เป็นกลาง นี่อุเบกขาธรรม ว่าอุเบกขาธรรมมันก็อัพยากฤตไง สุข ทุกข์ เป็นกลาง ความเป็นกลางๆ มันปล่อยมาเป็นกลาง เห็นไหม ดูสิ ปัญญาอบรมสมาธิ เพราะสมาธิมันเป็นกลาง เป็นกลางแล้วนี่มันมีความสุขและเพราะมันปล่อยมา ความยึดมั่นถือมั่นระหว่างดีและชั่ว แล้วมันไม่ยึดมั่นระหว่างดีและชั่วแล้วเป็นอะไรล่ะ มันก็เป็นหัวตอสิ มันเป็นหัวตอใช่ไหม?

แต่ถ้าเราจะเอาความจริงขึ้นมาน่ะ ถ้ามันสงบขึ้นมา ความรู้อันนี้ เราจะย้อนกลับมา กลับมาฐีติจิตนะ อวิชชาเกิดบนอะไร เกิดบนฐีติจิต อวิชชาคือความไม่รู้ ไม่รู้เกิดบนอะไร แล้วรู้ รู้เกิดอะไร รู้เกิดบนที่ไหน ก็เกิดบนภพทั้งนั้นน่ะ เกิดบนภวาสวะ เกิดบนภพ กิเลสสวะ อวิชชาสวะ ภวาสวะ

เวลากิเลสกับอวิชชานี่โอ้โฮ.. น่าเกลียดน่ากลัว มันเป็นอวิชชา เราก็รู้ว่ามันเป็นความไม่ดี พระพุทธเจ้าบอกว่ามันไม่ดี เห็นไหม มันเป็นอวิชชา มันเป็นกิเลส กิเลสคือตัณหาความทะยานอยาก แล้วภพล่ะ นี่ไงกิเลส ๓ ภวาสวะ กิเลสสวะ อวิชชาสวะ แล้วอวิชชาสวะนี่ฐีติจิต ฐีติจิตคือจิตเดิมแท้ผ่องใส ผ่องใสมันอยู่ที่ไหน?

นี่ภาคปฏิบัติไง เราถ้าไปติดปัญญาของเรา เราจะก้าวเดินไปไม่ได้ เพราะปัญญาอย่างนี้ มันโดยสามัญสำนึก มันโดยข้อเท็จจริงเขาเป็นอย่างนี้

คนเราเกิดมานี่มีกายกับใจ ใจมันก็เป็นธรรมชาติรู้ พอธรรมชาติรู้ ความรู้ต่างๆ นี่มันรู้โดยตัณหาความทะยานอยาก แม้แต่ประพฤติปฏิบัติธรรม แม้แต่เราอยากได้ เราอยากมีความสุข แล้วพอเวลาเรามีความสุขจริงๆ ความสุขนี้มาจากไหนน่ะ ความสุขนี้เกิดจากความอิ่มเต็มในใจของมันนะ นี่สุขโดยอามิส เราหาสิ่งต่างๆ มันสุขโดยอามิส แล้วสุขโดยตัวของมันเองล่ะ?

ถ้ามันสุขโดยตัวของมันเอง พอมันเข้าไปสัมผัส มันจะเข้าใจของมัน เห็นไหม สุขในตัวของมันเองนะ ความสุขสิ่งใดเท่ากับมีจิตสงบไม่มี แล้วจิตสงบ จิตมันอยู่ที่ไหนล่ะ สรรพสิ่งมันอยู่ที่ไหนล่ะ เห็นไหม แล้วถ้าความคิดมันคิดออกมา มันเป็นสัญชาตญาณ มันเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติที่รู้ ธรรมชาติที่รู้มันก็ฟุ้งซ่านอยู่นี้ มันเป็นการส่งออกอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา พลังงานมันส่งออกตลอดเวลา มันเป็นธรรมชาติของมัน

พอเป็นธรรมชาติของมันน่ะ แล้วปัญญาไล่เข้าไป แล้วถ้าความรู้เราเยอะแล้วนี่ ความรู้เรามี เราติดในความรู้ของเรา เห็นไหม นี่ก็เป็นปัญญา นี่พลังงานไง คำว่า “ส่งออก” มันสร้างภาพ กิเลสมันสร้างภาพให้หมดเลย สิ่งที่รู้ที่เห็นนี่มันสร้างภาพให้หมดเลย สร้างภาพให้เหมือน เหมือนไหม ยิ่งกว่าเหมือนอีกนะ ดูสิ ดูในโลกนี้สินค้าเทียม รูปลักษณ์ภายนอกดูดีกว่าสินค้าแท้ด้วย ดูสิ ดูดีกว่าของจริงด้วย

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราเข้าไปสับมัน ความแท้จริง ข้อเท็จจริงมันเกิดจากใจเรา มันเกิดจากความเห็นของเรา มันเกิดจากเรา สิ่งที่มันเป็นอาการของใจ มันเกิดจากอวิชชา เกิดจากความเป็นไป เห็นไหม ถ้าเราตั้งสติของเรา นี่ปัญญาอบรมสมาธิที่ทำกันอยู่ ถึงที่สุดแล้ว ไล่เข้ามาสุดแล้วน่ะ กลับมาอยู่ที่ความเป็นกลาง กลับมาอยู่ที่ตัวจิต

แต่.. แต่เพราะเป้าหมายไง เจตนา เพราะเป้าหมายของเราก็แบบว่าอธิษฐานบารมี เป้าหมายผิด ทุกอย่างผิดไง เราคิดว่าสิ่งนี้พอจบสิ้นกระบวนการแล้วคือจบไง เห็นไหม นี่ความคิดของเรา ความคิดที่ว่าความรู้ท่วมหัวไง ความรู้ท่วมหัวน่ะธรรมะเป็นกลาง สรรพสิ่งเป็นกลาง ก็มันว่างแล้วก็เป็นกลางแล้วไง เห็นไหม นี่ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด

แต่ถ้าในทางประพฤติปฏิบัติน่ะ เป็นกลางเพราะอะไร ใครเป็นกลาง รู้ได้อย่างไรว่าเป็นกลาง แล้วกลางนี่มันมีมิจฉากับสัมมา มิจฉามันเป็นกลางแล้วก็จบ เป็นกลางแล้วนี่เป็นธรรม แต่ถ้าสัมมานะ เป็นกลางนี่ กลางตัวนี้ตัวภวาสวะตัวภพนี่ ปฏิสนธิจิตนี่มันเกิดมาอย่างไร ถ้าที่ไหนมีการเกิดที่นั่นมีทุกข์ ที่ไหนมีการเกิดที่นั่นมีการดับ ที่ไหนมีการเกิดที่นั่นมีการทำลาย แล้วสิ่งที่มันเป็นกลางมันเกิดมาจากไหน ทำไมมันถึงเป็นกลางล่ะ ที่มามันมาจากไหน ต้องสาวที่มามันมาให้ได้สิ

ถ้าสาวที่มาให้ได้ เห็นไหม มันเกิดมาจากไหน จิตนี่มันเกิดมาจากไหน ตัวจิตมันอยู่ที่ไหน ถ้าไล่เข้ามาถึงจุดนี้ได้น่ะ ปัญญาน่ะพอไล่เข้ามา ปัญญาอย่างนี้เกิดจากไหน เกิดจากภวาสวะ เกิดจากภพ เกิดจากความป็นกลาง เกิดจากตัวจิต เห็นไหม นี่โลกุตตรธรรม ปัญญาที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนา ปรารถนาอย่างนี้ ถ้าปัญญาอย่างนี้เราเกิดขึ้นมานะ..

ดูสิ เวลาพระสารีบุตร พระอรหันต์ในสมัยพุทธกาลนะไม่เชื่อพระพุทธเจ้า ไม่เชื่อพระพุทธเจ้าก็ตรงนี้ไง เพราะว่ามันรู้จริงเห็นจริงของมันไง แต่ถ้าเป็นปัญญาจำ ปัญญาจำที่เราจำมา ปัญญาวิทยาศาสตร์ ปัญญาที่จำมาน่ะ พิสูจน์ได้ พิสูจน์ได้น่ะ แล้วเอาความจริงน่ะ.. ความจริงไม่รู้ นี่ความรู้ท่วมหัวนะ เราต้องวางความรู้จากทางโลกไว้ แล้วทำความสงบของใจเข้ามา

แล้วถ้าความรู้ของเราเป็นจริงนะ เป็นจริงขึ้นมา ปัญญาที่ปัญญาชำระกิเลสเกิดขึ้นมาจากเราเป็นความจริง คนนั้นจะทดท้อในความรู้สึกที่เราจะสื่ออย่างไรเลยล่ะ เราจะสื่ออย่างไร จะสื่ออย่างไร มันคนละมิติกันที่จะสื่อออกมากับโลกนะ นี่มันคำพูดคำเดียวกันน่ะ แต่ความหมายมันคนละความหมายกัน นี่ความหมาย ไม่อย่างนั้นธรรมะจะเหนือโลกได้อย่างไรล่ะ ไม่อย่างนั้นทำไมจิตมันต้องเกิดล่ะ ทำไมเราต้องไหลไปตามวัฏฏะล่ะ มันไหลไป จิตมันจะไหลไปอย่างนี้

แล้วที่มันจะทวนกระแส ที่มันจะไม่ไหลไปน่ะ มันมีอะไรทำให้มันไม่ไหลไปล่ะ มันมีอะไรเป็นตัวประกัน มันมีอะไรเป็นคนยืนยันว่ามันไม่ไป มันมีของมันหมดนะ มันถึงอหังการไง อหังการในความรู้ความเห็นอันนั้น แต่ถ้าสื่อออกมานี่มันคนละมุมมองกัน คนละความเข้าใจกัน นี่ไงธรรมเหนือโลก เห็นไหม ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ถ้าปัญญาอย่างนั้นเกิดขึ้นมา ภาวนามยปัญญาเกิดขึ้นมา

นี่เราชาวพุทธไง เราว่าเราชาวพุทธ ในเมื่อเราทำบุญกุศลกันเพื่อบุญกุศล เพื่อสังคม เพื่อโลก มันก็ให้สังคมร่มเย็นเป็นสุข ความร่มเย็นเป็นสุขเพราะอะไร แพ้เป็นพระ เราเป็นผู้เสียสละ เราเป็นผู้ให้ เราเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเป็นหลักแกน เราเป็นแกนกลาง เราเป็นหลักของศาสนา เราจะให้เขา

อย่างดูสิกาลปัจจุบันนี้ การเสียสละ เห็นไหม เขาจะไม่ให้รู้สึกตัวเขา เพราะอะไร เพราะถ้าเราให้เขา ๑๘ มงกุฎมันเยอะไง ยิ่งเสียสละเขารู้ว่าเราเสียสละ เขาก็จะทุกข์จะยาก จะมาเอาจากเรานั่นแหละ แต่เราเสียสละ เราดูของเรา เราเป็นไปของเรา เราทำของเรา เห็นไหม นี่เราเสียสละ เราเป็นแกนกลางของศาสนา แกนกลางของสัจธรรม

ถ้าเสียสละอย่างนั้นไปแล้ว แล้วถ้าเราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราจะต้องทำตัวเราเอง เราจะต้องเอาชนะตัวเราเอง เราจะต้องเอาสติ เอาปัญญาชนะเรา ชนะในความรู้ความเห็นของเรา ถ้าไม่ชนะเรา ตัณหาความทะยานอยากมันบอกเป็นเรา ธรรมะเป็นเรา เรารู้ธรรมทุกอย่างเลย ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด

แต่ถ้าเป็นสัจธรรมนะ เห็นไหม อย่าดูถูกความนิ่งอยู่ของพระอริยเจ้า ในธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเลย นี่พระอริยเจ้ารู้ตั้งแต่ขั้นโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามีขึ้นไปน่ะ มันพูดกันไม่รู้เรื่องหรอก มันพูดกันไม่รู้เรื่อง เว้นไว้แต่ ธรรมสากัจฉา เอตัมมังคะละมุตตะมัง ผู้ที่รู้กับรู้นะ มันสบตากันมันก็รู้แล้ว มันอันเดียวกัน

แต่ถ้ามันคนละอัน ถ้าไม่เหมือนกันก็คือไม่เหมือน แต่ถ้าเป็นความจริงอันเดียวกัน มันก็คืออันเดียวกัน มันพูดกันได้ พูดกันได้ในผู้ที่รู้จริง แต่ถ้าไม่รู้จริงพูดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ ยิ่งพูดยิ่งไกล ยิ่งพูดยิ่งไม่รู้ แต่ถ้าปฏิบัติเป็นความจริงแล้ว มันรู้ขึ้นมาจากหัวใจ มันรู้จากความจริง เห็นไหม นี่สันทิฏฐิโก สำคัญมาก จริงจังมาก แล้วมีจริง มีจริงในหัวใจของเรา ลังเลสงสัยก็เราเป็นคนลังเลสงสัย ถ้าเป็นจริงขึ้นมา ใครเป็นคนจริงล่ะ แล้วใครไปรู้จริง เห็นไหม นี่หัวใจของเรามีคุณค่ามาก

เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เรามีกายกับใจ หัวใจนี้สำคัญมาก นี่อาหารการกินนะ เราช่วยเหลือเจือจานกันได้ แต่เวลาทุกข์นี่ พยายามจะปลอบประโลมกันขนาดไหนมันก็ทุกข์ แต่ถ้ามีสติปัญญา เราเอาทุกข์ออกจากใจเราเอง แล้วเราถอนรากถอนโคน ถอนรากถอนโคนไอ้ตอในหัวใจ ไอ้ตอที่มันฝังใจอยู่ แล้วทำลายมัน ฐีติจิต ตัวภพ ทำลายแล้วสุขนี้สุขที่เราเป้าหมาย เห็นไหม ที่เราตั้งเป้ากันแล้วไม่กล้าทำ ไม่กล้าคิดจะเป็นไป ถ้าเราจะเป็นโลกก็โลก ถ้าเราจะเป็นธรรม เราพยายามตั้งเป้า แล้วทำของเราให้ถึงที่สุด จะเป็นประโยชน์กับเรา เอวัง