เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๕ ธ.ค. ๒๕๕๒

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๒
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต. หนองกวาง อ. โพธาราม จ. ราชบุรี

 

ถ้าเป็นเริ่มต้นเราปฏิบัติเห็นไหม เวลาเกิดเป็นมนุษย์นี่เป็นอริยทรัพย์ การเกิดเป็นมนุษย์นี่ได้ร่างกายมา ทางการแพทย์โดยศึกษาเรื่องมนุษย์มันเป็นเรื่องมหัศจรรย์ เลนส์ของตา เอาไปศึกษาแล้วไปทำเป็นกล้อง

สิ่งที่เป็นวิทยาศาสตร์นี่ก็ศึกษามาจากร่างกายมนุษย์ ร่างกายของมนุษย์นี่เวลามันสร้างมา เห็นไหม ธรรมชาติมันสร้างมาให้ มันจะมีเม็ดเลือดขาวพยายามจะต่อต้านพวกเชื้อโรคต่างๆ ร่างกายมันสร้างมาให้แล้วให้เวลาเราสมดุล แต่พวกเราไม่รักษา รักษามันไม่เป็น แล้วอีกอย่างเราไม่เข้าใจด้วย

พอไม่เข้าใจด้วย เห็นไหม สิ่งนี้เป็นสิ่งที่คุณสมบัตินะ อริยทรัพย์ ทรัพย์การเกิดเป็นมนุษย์นี่มีอริยทรัพย์มาก นี้พอเกิดมาแล้วในพระพุทธศาสนาบอกว่าสิ่งนี้เป็นสมมุติ เกิดมาแล้วมันต้องเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ทุกอย่างเป็นธรรมดา เห็นไหม โลกกับธรรม

เวลาเป็นโลกๆ สิ่งนี้ได้มาเป็นเรื่องของโลก เวลาธรรมะเห็นไหม ธรรมะคือปรมัตถธรรม ถ้าหัวใจไม่ติดข้องกับมัน หัวใจมันปล่อยวางไว้ตามความเป็นจริง สิ่งที่ตามจริงของเขา ดูแลรักษานะ

ร่างกายเรานี่เปรียบเหมือนได้เรือ เราได้เรือมาคนละหนึ่งลำ ยังอยู่ในวัฏสงสารแล้วพยายามจะพายเรือนี้เข้าฝั่งให้ได้ ถ้าร่างกายนี้เรารักษามัน เหมือนเรารักษาเราปะชุนเรือเราให้เรือไม่รั่ว ไม่ชำรุดเสียหาย

เราจะพาหัวใจ หัวใจนี่เป็นเจ้าของเรือ เพราะมันอยู่บนเรือ เหมือนคนขับรถ เจ้าของรถ คนขับรถ รถเป็นรถ ร่างกายนี่เป็นเหมือนรถ เหมือนเรือ แล้วหัวใจเราเป็นเจ้าของมัน จะพามันเข้าสู่ฝั่งอย่างไร

ถ้าเข้าสู่ฝั่ง เห็นไหม เราก็รักษามันให้แข็งแรง แต่ถ้าเข้าสู่ฝั่งในพระพุทธศาสนา หัวใจเรานี่ สิ่งต่างๆ นี่ถ้ามันเกิดมาแล้วมันได้สมบัติแล้ว มันก็เวียนไปเกิดตามบุญกุศล

บุญกุศล บาปอกุศลทำไปให้เราขับไปในวัฏฏะ ถ้าเราพิจารณาของเรา จิตใจเราสงบเข้ามา วิปัสสนาเข้ามา มันแยกเรือกับรถออกจากกัน แยกเรือกับรถกับเจ้าของไง เวลาเจ้าของเรือพาเรือเข้าฝั่ง เราก็จะพายเรือเข้าฝั่ง การพาเรือเข้าฝั่ง ฝั่งเห็นไหม เวลาโสดาบันน่ะพาดกระแส เข้าถึงเท้าเหยียบพื้นดินแล้ว จะขึ้นสู่ฝั่ง ขึ้นสู่บก

เวลาใจของเราพาดเข้าสู่กระแสของนิพพาน ถ้ากระแสของนิพพานนะ ผลของวัฏฏะมันจะเวียนตาย มันจะพัดจิตนี้วนไปตามวัฏฏะนี้ เวลาเข้ากระแสนี่ เราออกจากวัฏฏะ เห็นไหม ออกจากวัฏสงสาร ออกจากโอฆะ ออกจากต่างๆ นี้มันต้องรักษาไง แต่รักษาไปตามหน้าที่ รักษาธรรมเห็นไหม

เวลาไปโรงพยาบาลน่ะ ถ้าเป็นธรรม เรารักษาน่ะแล้วแต่เวรแต่กรรม รักษาใจของเรา หลวงตาจะสอนว่า “เวลาป่วยให้ป่วยคนเดียว ให้ร่างกายมันป่วยอย่าให้จิตใจมันป่วยด้วย”

แต่โดยธรรมชาติของมนุษย์ เวลาป่วยขึ้นมาร่างกายก็เจ็บไข้ได้ป่วย หัวใจก็หวั่นไหว หัวใจก็ทุกข์ยากไปเห็นไหม มันป่วย ๒ คนไง ป่วยทั้งเรือ ป่วยทั้งเจ้าของเรือ

แต่ถ้าเรือมันป่วยเจ้าของเรือมันไม่ป่วย เจ้าของเรือมันรักษาเรือมัน เห็นไหม สิ่งที่เหมือนกันน่ะ สิ่งที่เราต้องรักษา รักษาเพื่ออะไร? เพื่อจะมีโอกาสของเราได้ประพฤติปฏิบัติ เวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา เราจะนั่งภาวนาขึ้นมาน่ะ มันจะเป็นไปได้ไหม

ร่างกายแข็งแรง เวลานั่งที่ไหนน่ะ ร่างกายแข็งแรงจิตใจเข้มแข็ง พอจิตใจเข้มแข็งเรานั่งได้นาน รักษาหัวใจให้ได้ดี ถ้าหัวใจมันดีขึ้นมามันจะมีความสงบของมัน ถ้ามีความสงบของมันน่ะ แยกแยะใคร่ครวญดู ควรปะ ควรชุนอย่างไร เรือนี้ควรปะควรชุนอย่างไร

เวลาเข้าโรงพยาบาลไป ถ้าเป็นโรคไปน่ะ เข้าไปมันจะวิตกกังวล โรคเครียดเห็นไหม วิตกกังวลทำให้การรักษาก็ลำบากลำบน ถ้าจิตใจเราปล่อยวาง มันเป็นเรื่องธรรมดา มันเป็นเรื่องของเขา ร่างกายนี่เป็นของเขา เราก็รักษาแล้ว เราก็ดูแลของเราแล้ว ถ้ารักษาหายก็คือหาย รักษาไม่หาย ไม่หายก็คือไม่หาย โรคเวรโรคกรรมมันก็มี เห็นไหม ร่างกายเสื่อมสภาพเป็นธรรมดา โรควิตกกังวล นี่โรคอุปาทาน

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกโรคเกิดกับเราได้ ๓ ชนิด เจ็บไข้ได้ป่วยด้วยร่างกายนี่เสื่อมสภาพนี่เป็นเรื่องธรรมดาของมันเลย แต่เราก็พยายามรักษากัน ดูแลกันเหมือนนักกีฬาเขาฝึกซ้อมกันเพื่อให้ร่างกายเขาแข็งแรง

นี่ก็เหมือนกัน เราก็ดูแลรักษาด้วยสติปัญญาของเรา มันจะเสื่อมสภาพเราก็รักษามันไปเพื่อไม่ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ต้องทุกข์ไม่ต้องยาก ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ เห็นไหม นี่เรารักษาของเราไป

ถ้ารักษาไปมันเป็นธรรม เห็นไหม รักษาจิตใจของเราเป็นธรรม เข้าโรงพยาบาลถ้าใจเป็นธรรมเป็นธรรมอย่างหนึ่งนะ ธรรมกับโลกอยู่ด้วยกัน ถ้าหัวใจเราพอสมควร พอสมดุลของมันนั้นคือธรรม ไม่ใช่ไม่รักษา ไม่ใช่รักษาจนวิตกกังวลไป รักษาพอความเป็นจริงของมัน! เราจะรักษาของมันว่ามันเป็นจริงขนาดไหน เราจะรักษาได้แค่ไหน แต่หัวใจนี่ต้องรักษาได้มากกว่า เห็นไหม

ดูสิ เราพูดแต่ธรรมๆๆ เห็นไหม ธรรมน่ะมันกว้างขวางมาก พูดถึงศีล ! ศีลคือความปกติของใจ ถ้าศีลคือความปกติของใจ ศีล ๕ เห็นไหม ศีล สีเลนะสุคะติงยันติ สีเลนะโภคะสัมปทา ศีลเป็นความปกติของใจ รักษาใจเรา

ถ้าเราปฏิบัติธรรม ปรมัตถธรรม เราจะเข้าใจสภาวธรรม แต่มันไม่มีหลักเลย ธรรมอะไรล่ะ มันธรรมอะไร ก็ธรรมชาติไง ธรรมชาติก็แปรปวนไง แต่ธรรมะที่เหนือธรรมชาติมันอยู่ที่ไหนล่ะ แล้วเหนือน่ะ เหนือความเป็นไปของโลก เห็นไหม จิตใจเราเสื่อมสภาพเป็นธรรมดา หัวใจมันต้องเวียนไปในอนิจจังเป็นธรรมดา แต่หัวใจที่มีอนิจจัง หัวใจมันอยู่ที่ไหนล่ะ..

ต้นไม้ ผลไม้ เวลามันออกมาแต่ละรุ่นแต่ละคราวเห็นไหม มันสุกไม่เท่ากันนะ ผลไม้ที่ออกมาก่อนมันจะแก่ก่อน ผลไม้ที่ออกมาตามหลังมันจะแก่มาตามหลัง แล้วผลไม้ออกมาเราจะเก็บทั้งต้นเลย ไม่ใช่! ผลไม้เขาเก็บตามแต่รุ่นของมัน รุ่นไหนที่มันแก่ก่อนก็เก็บก่อน เป็นประโยชน์ก่อน รุ่นไหนมันอ่อนเราก็ต้องให้รักษาก่อน

มนุษย์เกิดมาตั้งแต่วัยเด็ก เด็กๆ เห็นไหม ดูสิ พ่อแม่บังคับมาวัดนี่ แหม.. ทำไมบังคับกันเหลือเกิน พ่อแม่บางคนเขาบอกนะ เอาลูกมาวัด แต่เอาลูกมาวัดเพื่ออะไร เพื่อเขาให้วัดใจของเขา เพื่อได้ประสบการณ์ของเขา เพราะเราได้ดีมาก็เพราะว่าเราเข้าวัดเข้าวา

เข้าวัดเข้าวาคืออะไร.. เข้าวัดเข้าวาคือข้อวัตรปฏิบัติ คือวัดใจไง ใจของเรา ข้อวัตรปฏิบัติ ใจของเราเป็นอย่างไรน่ะ เรารักใจของเรา ความสุขความทุกข์ในหัวใจของเรา เราหาของเราไม่ได้ เราไม่รู้ของเรา เห็นไหม

ข้อวัตรปฏิบัตินี่มันจะเทียบเคียงเข้ามา เหมือนน้ำในแก้ว ถ้ามันเต็มแก้วอยู่ เราอาจจะไม่รู้ได้ว่าในแก้วนั้นมีน้ำหรือเปล่า ถ้ามันเติมสี เติมอะไรเข้าไป มันมีส่วนผสมเข้าไป มันจะเห็นเลย อ๋อนั่นมีน้ำอยู่

จิตใจของเราก็เหมือนกัน เป็นนามธรรม เป็นความรู้สึกของเรา เป็นของเราแท้ๆ หลวงตาบอกว่า “ปลาในสุ่ม สุ่มมันครอบไว้” เห็นไหม ร่างกายมันครอบจิตใจไว้ แล้วจิตใจเป็นอะไรล่ะ ไม่เข้าใจเลย รู้เรื่องวิทยาศาสตร์ รู้เรื่องของคนอื่นหมดเลย แต่ไม่รู้เรื่องของเรา เห็นไหม

ผลไม้แต่ละรุ่น.. ถ้าผลไม้แต่ละรุ่นน่ะ รุ่นที่แก่ก่อน เห็นไหม เก็บก่อนได้ประโยชน์ก่อน ผลไม้อ่อนเราก็ดูแลรักษากันไป นี้เหมือนกัน ความต้องการของคนหลากหลาย คนมาทำบุญที่วัดก็เพื่อความสุขความสมบูรณ์ของตน คนที่มีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา ก็ต้องมีหลักมีใจของเราขึ้นมาเพื่อเราจะค้นหาตัวเองให้เจอ

ถ้าค้นหาตัวเองเจอ ค้นหาชัยภูมิแห่งการประพฤติปฏิบัติ ชัยภูมิเห็นไหม สัปปายะ ๔ สถานที่ปฏิบัติ สถานที่เป็นสัปปายะ แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาหัวใจเป็นสัปปายะ ฐีติจิต ภพของจิตเป็นที่อยู่ของปัญญา ความคิดเกิดจากจิต ความคิดเกิดจากจิตเหรอ ความคิดมันเกิดที่ไหน เราเห็นแต่ความคิด ความคิดมันลอยมาจากฟ้า

แต่ถ้าเราเห็นชัยภูมิแห่งการปฏิบัติ จิตมันสงบเข้ามานะ พอจิตสงบเข้ามา มันเห็นพื้นที่ของมัน เห็นไหม อ๋อ.. มันมีความสุขอย่างนี้ แล้วตะครุบมาได้ นี่ไงปลาในสุ่ม จับมันให้ได้ ถ้าจับปลาได้น่ะ เราจะขอดเกล็ดมัน หรือเราจะทำอย่างไรไม่ให้มันตายนะ นี่ปลาเวลาทำแล้วมันตาย

แต่เวลาหัวใจนี่ย่ำยีใช้ธรรมะเข้าไปตะครุบ เข้าไปกลั่นกรองขนาดไหน ใจไม่เคยตาย ความรู้สึกไม่เคยตาย ความเจ็บช้ำน้ำใจที่อยู่ในหัวใจเรานี่ คิดเมื่อไหร่มันก็เจ็บทุกทีเลย ความสุขพอเวลามันจะคิด มันมีขึ้นมานะ คิดสิ่งประทับใจ คิดได้นิดหน่อยไม่เหมือนกับความเจ็บช้ำน้ำใจเลย

แม้แต่ความคิด ความสุขความทุกข์ในหัวใจมันก็ไม่เคยตาย มันไม่เคยตายเพราะอะไร เพราะมันมาจากใจ แล้วมันอยู่ที่ไหน หัวใจยิ่งมีการกลั่นกรอง มันยิ่งใส มันยิ่งสะอาดบริสุทธิ์ขึ้นมา นี่ชัยภูมิแห่งการประพฤติปฏิบัติ เราก็นั่งสมาธิ โอ๋.. นั่ง โอ๋.. เราก็นั่งอยู่นั่น นี่สัปปายะ สัปปายะอย่างนี้ เห็นไหม

มันผลไม้แก่ ผลไม้อ่อน เริ่มต้นเราก็มีสัปปายะ เราต้องแสวงหาของเราไปก่อน ถ้าแสวงหาไปก่อน แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาน่ะ เราจะเห็นชัยภูมิของเรา เราจะเห็นจิตของเรา ถ้าเราไม่เห็นจิตของเราน่ะ จิตเป็นคนทุกข์ จิตเป็นคนยาก จิตเป็นคนรับรู้หมดเลย แต่เราไปรู้ที่ความคิด สัญญาอารมณ์ไง

มนุษย์เกิดเป็น ๒ ทุกอย่างมีของคู่ เห็นไหม ผู้หญิงคู่กับผู้ชาย สุขคู่กับทุกข์ มืดคู่กับสว่าง จิตคู่กับความคิด เพราะมันมีสัญญาอารมณ์น่ะ สัญญาอารมณ์ไม่ใช่จิต สัญญาอารมณ์เกิดจากจิต ถ้าไม่มีจิตสัญญาอารมณ์มันเกิดจากอะไร ความคิดมันเกิดจากอะไร ความคิดน่ะมันเกิดจากอะไร

แล้วก็ความคิดเกิดจากสมอง สมองมันเป็นศูนย์ประสาทนะ มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์นะ ความคิดมันเกิดจากจิต แล้วจิตอยู่ไหน เห็นไหม พุทโธ พุทโธ พุทโธ โดยใช้ปัญญาอบรมสมาธิเข้ามาสู่จิต เห็นไหม เข้าไปสู่จิต มันเป็นหนึ่งเห็นไหม โอ.. มันมีความสุขของมัน นี่ไงจับปลาได้ ปลาในสุ่มนี่จับปลาได้

ถ้าจับปลาได้น่ะ เราจะจับปลานี้มาทำอาหารอะไร เราจะเอาประโยชน์สิ่งใดของเรามา ลงทุนลงแรงจับปลามาได้นะ แล้วก็ปล่อยปลามันหลุดไป โอ้โฮ กว่าจะจับได้ กว่าจะหาได้ แล้วหลุดไปไม่ได้อะไร เหนื่อยเปล่าๆ พอเรารักษาใจของเรา ใจมันสงบขึ้นมาน่ะ ใจมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมาน่ะ ปล่อยให้มันเสื่อมไป ทำงานไม่เป็น แม้แต่มีชัยภูมิที่ทำงานแล้วยังจะทำไม่ถูกอีก

งานไม่เคยทำนะ งานทางโลก งานเขาทำน่ะ ดูสิ ทางวิชาการน่ะ ทำวิจัยต่างๆ นี่ ครูที่มีประสบการณ์ เขาจะฝึกฝนรุ่นใหม่ขึ้นมา รุ่นใหม่ คลื่นรุ่นใหม่มันจะพยายามขึ้นมา

นี่ก็เหมือนกัน หัวใจที่มันประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ครูบาอาจารย์เราท่านประพฤติปฏิบัติมาแล้วน่ะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายันเลย มันต้องเป็นอย่างนี้! มรรคญาณจะเกิดขึ้นอย่างนี้

ถ้ามรรค.. บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ อาสวักขยญาณเข้าทำลายกิเลส มันเหมือนกันหมด มันต้องเป็นอันเดียวกันหมด มันพูดได้ ทำได้ มันชัดเจนมาก

ไม่ได้เลื่อนๆ ลอยๆ ว่ามันเป็นเอง มันอัตโนมัติ มันจะมาเอง จะเดินไปชนมันเลยนะ เดินเข้าไปนิพพานตกใส่หัวเลยนะ นี่เขาว่ากันไปเห็นไหม

มันไม่มีหรอก! มันเป็นไปไม่ได้! อยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำงานเลย เงินทองไหลมาเทมาน่ะใครบอก เป็นไปไม่ได้หรอก! เงินทองมันจะได้มาเพราะเราลงทุนลงแรง เราทำงานขึ้นมา เงินทองมันถึงจะมีขึ้นมา ปล้นมามันก็ได้เงินเหมือนกัน แต่ปล้นมามันผิดกฏหมายนะ นี่เงินทองไปฉกฉวยเขามา เห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน ศึกษาธรรมะ ธรรมะ พุทธพจน์ พุทธพจน์ พุทธพจน์ปล้นพระพุทธเจ้ามา ปล้นธรรมะพระพุทธเจ้ามาเป็นของตัวเอง ไม่มีหรอก!

เงินของเรา เราทำอย่างไรขึ้นมามันถึงมีเงินของเราขึ้นมา เราพิจารณาของเราอย่างไรขึ้นมามันถึงเป็นประโยชน์กับเราขึ้นมา ปัญญามันเกิด มันเกิดอย่างไร

นี่เห็นไหม ได้ปลามาแล้วนะ ไม่ใช่ปล่อยให้ปลามันหลุดไปอีก เขาได้ปลามานะ เขาจับปลามา เขามีสุ่มมีปลามา บอกว่า “ปลาในสุ่ม ปลาในสุ่ม จับมาได้นะ” ไอ้เราก็ไปเอาปลาตะเพียนเด็กเล่นน่ะ มันแขวนอยู่น่ะ ก็จับว่าปลา มันกินไม่ได้หรอก ปลาพลาสติกเขาเอาไว้ขายให้เด็ก

ดูสิ ในท้องตลาดปลาของเล่นน่ะ เด็กๆ มันมีเยอะแยะไปเลย ปลาอย่างนั้นเหรอ นั้นมันปลาสมมุติ ไอ้ปลาจริงๆ มันปลามีชีวิต ปลาที่เป็นเนื้อที่กินได้

จิตที่เป็นสัมมาสมาธิ จิตที่ไม่เป็นความจริง สัมมาสมาธิน่ะโดยปัญญามันเกิดขึ้นมา มันเกิดกันอย่างไร มันจับต้องได้ทั้งนั้นล่ะ ปลาเป็นๆ จับนี่มันดิ้นนะ ไอ้ปลาพลาสติกจับแล้วมันไม่ดิ้น มันไม่ตายหรอก มันไม่เกิดแล้วไม่ตาย มันคงที่อย่างนั้นน่ะ

นี่ธรรมะเป็นธรรมชาติไง ของมันมีอยู่แล้วไง เดี๋ยวนิพพานมันตกใส่หัว

ไม่มี! เราต้องทำของเรานะ

นี่พูดถึงผลไม้แต่ละรุ่น ในวุฒิภาวะการเกิดแล้วเราก็เหมือนกัน เราเกิดขึ้นมา เราต้องเป็นเด็กทารกมาก่อนน่ะ เป็นไปโดยวัยเห็นไหม ความคิดเด็กๆ เขาคิดอย่างไร โตเป็นวัยรุ่นเขาคิดอย่างไร เวลามีประสบการณ์ของจิตแล้วคิดอย่างไร

การประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน เริ่มต้นตั้งแต่ประพฤติปฏิบัติน่ะ มันจะทุกข์ยากอย่างไร เด็กนะ เด็กๆ โดยธรรมชาติของมัน เด็กมันจะทรงตัวมันได้ มันจะนั่งได้ ยืนได้ เดินได้โดยธรรมชาติของมัน มันจะช้าจะเร็วนะเรื่องของมัน

แต่จิตของเรานี่มันเหมือนเด็กอ่อน เหมือนทารกที่ยืนไม่ได้เลย นี่ชัยภูมิที่ทำงานหาไม่เจอเลย ไหลไปอยู่อย่างนั้นล่ะ เป็นนามธรรมจับต้องอะไรไม่ได้เลย สติไปจับต้องได้เป็นสมาธิขึ้นมา โอ้โฮมัน.. อื้อฮือ อื้อฮือ เลยนะ แล้วเวลาปัญญามันหมุนแต่ละรอบ แต่ละรอบน่ะ มันมหัศจรรย์นะ

เวลาผู้ประพฤติปฏิบัติพอถึงที่สุดแล้วน่ะ “มันจะสอนใครได้หนอ จะสอนใครได้หนอ” มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ นะ มันเหมือนกับสุดวิสัย มันลึกล้ำมหัศจรรย์จนทำอย่างไรได้ แต่ก็ทำได้ด้วยความเป็นจริงอันนั้น

ถ้าอันนั้นมันทำได้จริงขึ้นมา แล้วอันนี้ครูบาอาจารย์ของเราเป็นร่มโพธิ์ร่มไทร เป็นที่พึ่งอาศัย พ่อแม่ครูอาจารย์เห็นไหม พ่อแม่ก็เลี้ยงดูไปอย่างนั้นน่ะ ครูบาอาจารย์ท่านยังเลี้ยงดูด้วย ยังสอนเรื่องความผิดความถูกในใจด้วย

แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติมันจะติดขัดของมัน มันจะมีอุปสรรคของมัน มันจะมีอุปสรรคทุกดวงใจ ไม่มีดวงใจไหนจะเรียบง่ายสะดวกสบายจนผ่านไปได้ง่ายๆ ไม่มีหรอก ! มันต้องมีครูบาอาจารย์คอยบอกคอยแก้ไข

ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์คอยบอก แม้แต่สมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ เวลาพระอรหันต์น่ะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถามว่า “ใครทรมานมา ใครเป็นคนสอนมา ใครเป็นคนบอกมา” พระพุทธเจ้าท่านพยายามทำของท่านมาน่ะ ๖ ปีน่ะท่านต่อสู้มาขนาดไหน

แล้วเวลาใครไปกราบ ถามเห็นไหม “ใครทรมานมา” ทรมานคืออาจารย์ทรมานลูกศิษย์ไง ทรมานด้วยคำพูดไง ทรมานด้วยวิธีการไง ดัดแปลงให้มันเข้ามาทางที่ถูกต้องไง ใครทรมานมา ไปเปิดพระไตรปิฎกสิ เวลาพระไปเฝ้าพระพุทธเจ้านะ “ใครทรมาน ใครทรมานมา”

ใครทรมานคือใครแก้ไขมา ใครจับให้ผ่านอุปสรรคในหัวใจนั้นมา มันมีของมัน อุปสรรคมีเยอะมาก แล้วมันจะผ่านไปได้ เห็นไหม

ปลาในสุ่ม เราทำของเรา รักษาของเรา นี่พูดถึงเรื่องร่างกายนะ ร่างกายกับจิตใจมันอยู่ด้วยกัน แล้วอย่าวิตกกังวลจนเกินไปนัก แต่เราก็ต้องดูแลรักษาด้วยความเป็นธรรม อย่าให้เป็นทางเป็นโลก เห็นไหม

ทางโลก ! โลกก็วิตกกังวล กลัวทุกข์ กลัวอยาก กลัวจะไม่หาย กลัวไปทุกอย่างเลย รักษาหายก็หาย ไม่หายก็เวรกรรม เวรกรรมของมันเป็นอย่างนั้น สิ่งที่รักษาเพื่ออะไร เพื่อรักษาไว้ให้มั่นคงแข็งแรง ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ เอวัง