ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ต้นคด

๑o มี.ค. ๒๕๕๒

 

ต้นคด
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มันมีพวก.. เขาว่าทำงานกรมทางหลวง เขามาพักที่รีสอร์ทที่สวนผึ้ง เขาพักรีสอร์ทตรงนี้เสร็จ พระตั้วเขาให้ซีดีไปไง แล้วเขาฟังเขาติดใจมา เขาบอกว่าของหลวงพ่อนี่ดีไม่มีบาลีเลย ไม่มีบาลีเลย บาลีไม่มีเลย ภาษาไทยล้วนๆ ฟังง่าย เราก็พูดนี่ไง พูดว่าถ้ามันไม่มีบาลี เราพูดได้ง่าย เราพูดแบบคล่องตัว มันเป็น..

หลวงตาท่านพูดอย่างนี้ เวลาหลวงปู่มั่นนะ “ธรรมเกิด” เกิดเป็นภาษาบาลี ถ้าภาษาบาลี พวกนี้มีฤทธิ์ หลวงปู่จวนก็เหมือนกัน หลวงปู่จวน เวลาขึ้น ขึ้นบาลี แล้วฟังหลวงปู่จวนเทศน์สิ หลวงปู่จวนเทศน์ เห็นไหม เทศน์แบบว่าบาลีล้วนๆ เลย พวกนี้เวลาขึ้น ขึ้นภาษา อย่างเช่นเราได้ภาษาอังกฤษ เราจะพูดภาษาอังกฤษเป็นพื้นฐานเลย แต่ถ้าเราไม่ได้ภาษาอังกฤษ เราต้องรู้ภาษาไทย แล้วต้องมีล่ามแปล

ฉะนั้นเวลาพูดกับโยมนี่เห็นไหม พูดกับโยมนี่ภาษาธรรมะกับภาษาโลก เราจะบอกว่าเวลาเราพูดนะ เราพูดแบบว่าได้สบายใจเลย แบบว่าเวลาเทศน์พระนี่ เวลาเทศน์พระเราเทศน์ได้สบายเลย เพราะอะไร เพราะเราพูดไปพระต้องเข้าใจไง นี่ถ้าพูดกับโยม บางอย่างมันเป็นเรื่องธรรมะ พระนี่คือภาษาเดียวกัน ใช่ไหม เป็นพระด้วยกัน แล้วก็พูดภาษาเดียวกัน แต่ถ้าพูดกับโยม โยมก็ไม่ใช่พระ พอโยมไม่ใช่พระ เราก็ต้องพยายามจะพูดให้โยมเข้าใจ

ถ้าความจริง ธรรมะเป็นอย่างนี้ปั๊บ มันเป็นอย่างนี้จริงๆ แล้วเราจะพูดอย่างไรให้เข้าใจ เราก็ต้องพูดเพื่อคำนวณด้วยว่าฟังแล้วเขาจะเข้าใจไหม มันต้องพูดให้เขาเข้าใจไง เวลาพูดกับโยมก็เป็นอย่างนี้ ฉะนั้น เวลาพูดกับพระนี่ ไม่ต้องกังวลอะไรเลย ใส่เปรี้ยงๆ เลย ไอ้นี่มันก็อย่างว่า มันก็ต้อง เดี๋ยวได้อะไรนะ มันได้หลายม้วนแล้วล่ะ เพราะมันเทศน์มาหลายปีแล้ว แล้วเดี๋ยวมันจะได้ ใหม่ๆ ก็ไม่ได้คิดไม่คิดว่าจะออกเลย

เมื่อก่อนพวกไอ้แจ่มมันมาฟังอยู่ที่พวกไฟฟ้านี่มา เมื่อก่อนไฟฟ้ามาก็อัดไว้ไง แจ่มนี่มันฟังเทศน์มาเยอะแล้วนะ มันบอกมันฟังเทศน์มาเยอะ มันอุปัฏฐากหลวงปู่เจี๊ยะ มันเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนอะไรแถวบางปะอิน เขาใกล้วัดหลวงปู่เจี๊ยะ เขาจะไปอุปัฏฐากที่นั่นเลย เขาฟังเทศน์ครูบาอาจารย์มาเยอะแล้ว แล้วเขาก็มาฟังเทศน์อยู่กับเรานี่ เมื่อก่อน อยู่ที่โพธารามก็ฟังเทศน์อยู่นี้

เขาบอกว่าเมื่อก่อนฟังเทศน์ก็เข้าใจอยู่ แต่เวลามาฟังเราตอบปัญหา เขาว่ามันมีเกร็ด มีอะไรนี่ มันได้ประโยชน์กว่า เขาขอ แต่ตอนนั้นเรายังไม่ถ่ายไง ตอนก่อนหน้านั้นมาที่นี่ ยังไม่ได้ถ่ายเลย เพราะคอมพิวเตอร์นี่ ปลายสายไฟมันตก คอมพิวเตอร์มันรวนหมด เปิดอย่างนี้นะเปิดไม่ได้เลย เมื่อก่อนคอมพิวเตอร์ใช้ไม่ได้เลย ไฟมันรวน

เพราะตอนที่มาทีแรก เราไม่ได้ตั้งใจว่าจะทำวิทยุไง แล้วพอดี เหตุที่ทำวิทยุเพราะคุณชายปั๋ม “หลวงพ่อ อาจารย์รักหลวงพ่อมาก” เขาพูดถึงอาจารย์ เขาเรียกหลวงตารักหลวงพ่อมาก “หลวงพ่อช่วยทีสิ ให้ขึ้นไปขอวิทยุให้ที เพราะวิทยุที่สวนแสงธรรม เฉลียวเขาอยากจะเปลี่ยนเครื่องให้” แล้วคุณชายปั๋มไปพูดกับหลวงตา ๒ รอบ ๓ รอบ คุณชายปั๋มบอกว่า “ผมโดนด่าออกอากาศมาหลายรอบแล้ว หลวงพ่อช่วยหน่อย”

ก็ขึ้นไปขอ พอขึ้นไปขอบอกว่า “ขอวิทยุ” ท่านบอกวิทยุอะไร ไม่มีใช่ไหม เราบอก “วิทยุในห้องส่งนั่นน่ะ” ท่านบอก “เอาไปเลย” นี่พอเอาไปเลยท่านแสดงแบบว่าความพอใจมาก โอ้โฮ เราก็มานั่งคิดนะ ที่เขาให้ไปขอ เราก็ขอเพื่อที่จะช่วยเขาแก้หน้า เพื่อให้เขาได้เปลี่ยนวิทยุ

แต่หลวงตาหวังเราขนาดนี้ ก็เลยคิดว่าต้องทำ พอทำปั๊บก็เลยต้องขยายเขต พอขยายเขต อานิสงส์มันก็เลยได้กับคอมพิวเตอร์นี่ไง ตอนมาใหม่ๆ เราคิดว่าสร้างวัดเสร็จก็จบใช่ไหม ก็ไม่ได้ขยายเขต เอาเครื่องมาปั่นกันนะ โอ้โฮ ลงทุนมาก ปั่นไฟใช้กันเอง เครื่องพังไปเลย

เวลามันใช้ คนงานมันใช้อ๊อก ใช้ไฟฟ้า แล้วมันไม่ดูน้ำมัน พอน้ำมันมันแห้ง ไอ้พวกนี้ วาล์วเวิลนี่หักหมดเลย ก้านวาล์วนี่หักเลย เครื่องปั่นตัวใหญ่ เครื่องหลวงปู่บุญมาพังหมด ท่านบอกเขาบอกของมันไม่แพงหรอก แต่หาไม่ได้อะไหล่ เครื่องเขาเลยไปไว้ที่บ้าน เราถึงเห็นอุปสรรคเยอะมาก

การที่เราจะอยู่แบบว่ามักน้อยสันโดษนะ อยู่แบบธรรมชาตินี่อยู่ยาก มันต้อง ถ้าเราจะใช้พวกเทคโนโลยีบ้าง ต้องรักษาให้ดี เพราะเทคโนโลยี เห็นไหม ไฟต้องไม่ตก แล้วพอได้อันนี้มามันเลยได้อานิสงส์ เพราะตอนนั้นก่อนหน้านั้นเลยไม่ได้ถ่ายไง มันเพิ่งมาถ่ายเมื่อปีสองปีนี่แหละ ซีดงซีดี ก่อนนั้นมีที่ไหน

จะทำอะไรก็ต้องฝากไอ้อ้นไปนนท์นู่นแน่ะ ส่งข้อมูลไป ไอ้ทางโน้นก็ไม่มีเวลานะ อีกปีหนึ่งส่งข้อมูลกลับมา พอส่งกลับมากว่าจะได้แจก ปีหนึ่งยังไม่ได้แจกเลย แต่เดี๋ยวนี้กด ปั๊บๆๆๆ นั่นน่ะ เห็นไหม อานิสงส์ อานิสงส์ทางวิทยุ โยมก็เลยได้ไปด้วย แล้วตอนนี้ข้อมูลมันออกไปๆ ให้มันออกไปเพื่อประโยชน์กับโลก แต่เหนื่อยไหม เหนื่อย เหนื่อยมาก

เวลาพูดกับพระก็อย่างหนึ่ง พูดกับโยมก็อย่างหนึ่ง แล้วพูดกับคนเข้าใจไม่เข้าใจ แล้วอย่างพูดภาษาบาลี มันเป็นเวลาของเรา เวลาอย่างที่หลวงตาท่านว่า เวลาของท่านเวลาธรรมะขึ้น ธรรมะมันขึ้นเป็นภาษาไทย แล้วท่านบอกว่าที่ขึ้นเป็นภาษาบาลี มีหลวงปู่มั่น หลวงปู่จวน แล้วเวลาประวัติหลวงปู่จวน ท่านบอกหลวงปู่มั่น หลวงตาเล่าหรือใครเล่าจำไม่ได้

มันมีนิมิตไง นิมิตว่า หลวงปู่มั่นได้นิมิตเอง ว่าเอาหลวงปู่จวนขึ้นหลัง แบบเราให้เด็กมันขี่หลัง หลวงปู่จวน นิมิตของหลวงปู่มั่น เอาหลวงปู่จวนนี่ขึ้นหลังเลย แล้วหลวงปู่จวนนี่มีฤทธิ์ จะรู้อะไรไปหมดเลย เพียงแต่ว่า คนมีคุณธรรม ของจริง ไม่แสดง เงียบ มี จะบอกแต่คนใกล้ชิด อันนี้จะเป็นอย่างนั้นๆ แต่ไม่พูดออกมาข้างนอก

ไอ้อย่างพวกเรานี่ แหม อยากโชว์ อยากดัง อยากใหญ่ทั้งนั้น แต่ของจริง เงียบ ของจริงๆ ไอ้ของไม่จริงนี่สิ มันเหมือนกับว่ากลองจังไร ไม่ต้องตีหรอก มันดังตึ้มๆ โอ๊ย คนวิ่งหนีหมดเลยนะ เขากลัวผี เพราะไม่มีใครตี แต่ของจริงนะ คนใกล้ชิดนะ ใครตีถึงจะบอก ใครถาม ใครซัก จะบอก ถ้าอย่างนั้นไม่พูด เงียบ ของจริงเป็นอย่างนั้นนะ มีองค์เดียวที่ได้ขึ้นหลังหลวงปู่มั่น จะเป็นหลวงปู่จวนหรือหลวงตาเล่าจำไม่ได้ นี่ของจริง เวลาท่านขึ้น ท่านขึ้นเป็นบาลี

อ้าว วันนี้มีอะไรว่ามา วันนั้นตอนมาครั้งที่แล้วมาถามเรื่องอะไรนะ เรื่องไอ้สีลัพพตปรามาสไง แล้ววันนั้นพูดแรงมาก พูดดีด้วย เอ็มพีมันเสีย ไม่ได้เลย หายเกลี้ยง หายหมดเลย สีลัพพตปรามาส อันนี้พวกเราก็คิดกันไปเอง เรายังคิดว่าเดี๋ยวคืนนี้จะเทศน์ “กรอบกิเลส” กิเลสตีกรอบให้ไง กิเลสมันตีกรอบอย่างไร แล้วเราปฏิบัติอย่างไรนะ กิเลสทั้งนั้น

ถาม : ก็จะถาม จะถามคือได้ฟังจากซีดี ที่อาจารย์บอกว่าหลวงปู่เจี๊ยะถามท่านอาจารย์ว่า บอกอาจารย์ขอรหัสด้วย มีอย่างนี้ไหม ผมไม่กล้าหรอก ผมฟังเทป ผมไม่ได้มานั่งฟังเทศน์

หลวงพ่อ : นั่นล่ะ มีอย่างนี้ไหม เวลาคุยธรรมะกันไง เวลาอย่างที่พูด เวลาอะไรนี่ เหมือนกัน “แล้วมันเหลืออะไร มันมีอะไร” นี่ไง คนเป็นไง แค่นี้ตายห่าหมดเลย ตรงนี้มันเป็นการยืนยันกันไง สมมุติโยมมาหาเรานี่ โยมบอกเราว่าโยมมีตังค์ ไหนๆ มึงควักให้กูดู ไหนมึงควักให้กูดู เห็นไหม นี่ก็เหมือนกัน เวลาไปไหนเราก็บอก กูมีตังค์ๆๆ มีตังค์อยู่ไหน กูพูดเอง

ปฏิบัติก็เหมือนกัน มีอย่างนี้ไหม เหลืออะไร หลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่ลี ไปสิ หลวงปู่ลีใครไปถามนะ ถามเรื่องปฏิบัติ เวลาพวกเรานั่งกัน โอ้โฮ รู้โน่น รู้นี่ ไปถาม หลวงปู่ทำอย่างไร หลวงปู่ลีจะตอบเลย “นั่งตลอดรุ่งก็รู้เอง” มันมีอะไรไง มันมีอะไร นั่งตลอดรุ่งแล้วมันมีอะไร มันเหลืออะไร

หลวงปู่เจี๊ยะเวลาถาม “มีอย่างนี้ไหม เหลืออะไร” ท่านพูดกับเรา ตอนนั้นท่านพูดว่าอย่างไรนะ คือว่าโต้แย้งกันน่ะ โต้แย้งกันมาก แล้วทีนี้เพียงแต่ว่าจริตมันไม่ตรงกัน เพราะว่าท่านพิจารณากาย ของท่านจะดูตามข้อกระดูก นั่นพิจารณากาย พิจารณากายนี่เป็นเจโตวิมุตติ แต่ของเราพิจารณาจิต พิจารณาจิตในปลูกดอกบัวที่ใจเล่มสุดท้ายหน้าหลังนั่นน่ะ

ทีนี้คนมันเหมือนกับทหารเรือ ทหารบกเถียงกันว่า “อาวุธของใครดีกว่ากัน” ทีนี้พอมันพูดกันไปอย่างนั้น สุดท้ายแล้วท่านเป็นอาจารย์ใช่ไหม ท่านก็บอกว่า “ไอ้หงบ ตอนที่เราอยู่กับท่านอาจารย์” (ท่านเรียกหลวงตาว่าท่านอาจารย์) ท่านอาจารย์ก็บอกว่า “เจี๊ยะเอ๊ย เจี๊ยะพิจารณาแต่กาย เจี๊ยะลองพิจารณาจิตสิ ลองพิจารณาจิต” แล้วท่านก็ไปพิจารณาจิต

เช้าขึ้นมาท่านบอกว่า “เหมือนกัน” ท่านบอกเลยว่า “ท่านอาจารย์ไม่เห็นค้านอะไรผมเลย” คือท่านพยายามจะโน้มน้าวให้เราพิจารณากายไง ไอ้ทีแรกเราก็ดื้อ เพราะว่าเราก็แบบว่า ไปประสาเรานั่นน่ะ สุดท้ายท่านโน้มน้าว พูดอย่างนี้ปั๊บ อืม ถ้าหลวงตาบอกว่าให้หลวงปู่เจี๊ยะพิจารณา หลวงปู่เจี๊ยะพิจารณาได้ ถ้าเราพิจารณาจิตก็จริงอยู่ ถ้าเราพิจารณาจิตได้ เราก็ต้องพิจารณากายได้เหมือนกันไง เราก็ต้องพิจารณากาย

อย่างที่ว่า พอพิจารณากาย พยายามฝึกทำพิจารณากาย ตั้งขึ้นมา ทั้งๆ ที่เมื่อก่อน ครั้งแรกเราพิจารณากายอยู่ เพราะมันเห็นกายเหมือนกัน แต่พิจารณาไม่เป็น แล้วมันพิจารณาไป มันไม่ใช่นิสัยของตัว เริ่มต้นปฏิบัติใหม่ ทุกคนก็คิดอย่างนั้นหมด ทุกคนต้องพิจารณากายใช่ไหม เราก็พิจารณากาย นั่งสมาธินี่ นั่งหัวปักหัวปำเลยล่ะ ตอนนั้น

เนสัชชิกไม่นอนเลยตลอดรุ่ง ทีนี้พอนั่งไปจิตมันสงบ นั่งบน นั่งอย่างนี้ พอเห็นกายมันเป็นเหมือนกับไอ้นี่ เนื้อวัวที่เขาหมุนย่างกันเวลามีงานกันน่ะ มันเป็นก้อนเนื้อเลย สดๆ เป็นเลือดเลยนะ กลิ้งมาทับเรา นั่งอย่างนี้ ผงะเลยนะ สมาธินี่แตกเลย ก็เออ ต้องพิจารณากายเว้ย ก็ทำไปเรื่อยๆ แล้วมันจืด มันชืดไปเรื่อยๆ ไม่เอาไหนเลย เซ็ง คอตกแม่งทุกวันเลย

ก็เลยกลับมา เอ๊ะ จะทำยังไงได้ อย่างที่ว่า จะทำอย่างไรได้ ก็กลับมาใช้ความคิดไง ใช้ความคิด ไล่ความคิดไป แล้วมันสงบ อืม อย่างนี้ดีเว้ย แล้วมันเบาสบายมากเลย หลวงปู่มั่นมาเลย “นี่ทางของมึงๆ” เรานั่งอยู่อย่างนี้ หลวงปู่มั่นมายืนต่อหน้าเรา “ทางของมึงๆ” พูดอย่างนี้เลยนะ เราก็มั่นใจ เพราะเราเองทำแล้วมันดี

เหมือนเราน่ะ กินอาหารอร่อยอยู่แล้ว แล้วเจ้าของอาหารบอกว่าอร่อย เอ็งเชื่อไหม ก็กูกินอยู่แล้ว อร่อย ใช่ไหม ทีนี้เราทำอยู่แล้วมันดีไง หลวงปู่มั่นก็มาชี้อีก “เออ ทางของมึง” ท่านพูดอย่างนี้จริงๆ นะ ในนิมิตเลย “ทางของมึง” พูดอย่างนี้เลย เพราะเราเป็นคนหยาบไง มันก็มั่นใจไง มันแบบว่ามันปักไปแล้ว ๘๐-๙๐ เปอร์เซ็นต์ แต่หลวงปู่มั่นมาชี้อีก โอ้โฮ มัน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เลย

ก็ลุยไปใหญ่เลย มันก็ทำมาได้อย่างนี้ แล้วพอมาหลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่เจี๊ยะบอก “กูไม่ฟังมึงหรอก”

ไปอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะนะ “มึงน่ะจำของท่านอาจารย์ใหญ่มา” เวลาเราพูด เราเถียงท่านน่ะ “มึงน่ะจำของท่านอาจารย์ใหญ่มา” ท่านว่าเราจำหลวงตามาหมดเลย ถ้ามึงจะทำได้มึงต้องพิจารณากาย อย่างไรเราก็ไม่เอา อย่างไรเราก็ไม่เอา ไม่ใช่ไม่เอาหรอก มันเคยทำมาแล้ว แล้วมันไม่ใช่จริตไง

สุดท้ายแล้ว ท่านพูดทำนองนี้ว่า “ท่านอาจารย์ใหญ่ยังบอกเราให้ทำ เรายังทำเลย” อ้าว เราก็ทำ พอทำก็ตั้งขึ้นมา ก็ฝึกอยู่นานนะ ไม่ใช่ว่าจะได้หรอก ก็ทำมาเรื่อยๆ แล้วสมัยนั้น สมัยสร้างวัดหลวงปู่เจี๊ยะ มันอย่างนี้ที่ไหน สมัยสร้างวัดหลวงปู่เจี๊ยะนะ ตกเย็นมานั่งสมาธิภาวนากันอย่างนี้ ทำวัตรเสร็จแล้วนั่งภาวนา

ท่านนั่งหน้า เราก็นั่งตรงข้ามท่าน นั่งกันอยู่อย่างนี้ นั่งทุกวัน นั่งกันอย่างนั้น พอทำวัตรเสร็จนั่งสมาธิ ท่านคงดูเราตลอดเวลาไง ออกมา “ทำไมมึงนั่งเอียงๆ อย่างนี้ล่ะ” ท่านว่านะ “ทำไมนั่งเอียงๆ ทำไมมึงนั่งเอียงๆ” โอ๊ว จิตอย่างนี้เลย โอ๊ย ใส่เลย เพราะคะแนนมันดี ไม่กลัวหรอก แล้วพอท่านให้ทำก็ทำมาเรื่อย ทำมาเรื่อย ก็ตั้งกายขึ้นมาไง

พอตั้งกายขึ้นมาพิจารณา มันเห็นในนิมิตนะ มันเห็นในจิต พอจิตตั้งขึ้นมาเห็นโครงสร้าง เป็นแบบโครงกระดูกที่เขาแขวนไว้ตามวัด ตั้งขึ้นมาอย่างนั้นเลย แล้วมันละลายลง ละลายเหมือนน้ำแข็งเลย ละลายลง เราก็มาหาท่านเลย

“กายละลายหมดเลยๆ”

“แล้วมันเหลืออะไรล่ะๆ”

หงายท้องเลย นึกว่าหมดแล้วไง แล้วเหลืออะไรวะ พอท่านพูดเสร็จมันสะกิดใจนะ ไม่ตอบเลย เงียบ แล้วมันเหลืออะไร ตอบอะไร มันละลายหมดมันก็ปล่อยเฉยๆ มันจับอะไรได้ อย่างนี้ไง หมายถึงว่าที่เราพูดเห็นไหม กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ กายเป็นกาย จิตเป็นจิต แล้วเหลืออะไร หลวงตาเน้นตรงนี้บ่อย ในเทศน์หลวงตาก็เน้นตรงนี้ แต่พวกเราฟังกันไม่เป็น

พระโสดาบัน เวลามันปล่อยกายหมดแล้ว ยถาภูตัง ตัวปล่อย ญาณทัศนะ ญาณรู้ว่าปล่อย ใครเป็นก็รู้ว่าปล่อย เห็นไหมที่เราพูด ทุกคนสะอึกเลยนะ ไม่ใช่ตัวกู ไม่ใช่ของกู คือกู เพราะไอ้กูมันเป็นคนพูดใช่ไหม แล้วถ้ามันปล่อย กูปล่อย แล้วกูคนที่มันปล่อยอยู่ไหน คนที่มันปล่อยกายมาอยู่ไหน

กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ กายเป็นกาย จิตมันปล่อยไปแล้ว จิตคืออารมณ์ มันปล่อยไปแล้ว ทุกข์เป็นทุกข์ แล้วไอ้คนที่มันปล่อยจิตมา ปล่อยกายมามันอยู่ไหน มันต้องรู้ชัดเจนไง นี่ไงสิ่งที่เหลือ ไม่ใช่โยนทิ้งไปแล้วก็ โอ๊ย โสดาบันนะ จับแม่ง โยนทิ้งไปเลย อู๊ย ว่างๆ เรานี่เป็นคนโยน

ไอ้ที่ว่าปล่อยๆ เข้าใจกัน ไม่เป็นนะ ไม่รู้อย่างนี้แล้วจับ ซักอย่างนี้ไม่เป็น นี่ไง เป็นไม่เป็น คุยกันคำเดียวเอง แล้วเหลืออะไร ถ้าประสาเรานะ ถ้าสมมุติเป็นกิเลสพูดนะก็ผิดอีก มันก็จะให้เหลือใช่ไหม เราทำอะไร เหมือนเรา เราจะใช้หนี้ เราเป็นล้านหนึ่ง เราใช้ไปเก้าแสน เหลืออีกแสนเก็บไว้ กลัวจะไม่เหลือเลยไง ไอ้แสนนั้นเป็นกิเลสไง

ถ้าเหลือแบบกิเลส ฟังอย่างนี้ เราพูดบ่อย เวลาเราพูดนี่นะเป็นธรรมะ แต่เวลาเราพูดจบไปแล้ว เอ็งจำไปนะเป็นกิเลสหมดเลย ต้องเหลือใช่ไหม พอไปปฏิบัติแล้วเขาจะให้เหลือไง กิเลสมันก็ได้ช่องใช่ไหม เอาตรงเหลือนั้นเป็นกิเลส ไปแอบอยู่ตรงนั้นไง ฉะนั้นเวลาปฏิบัตินะไม่ต้องให้เหลือ ล้างให้เกลี้ยงเลย สิ่งที่เหลือคือความสะอาดบริสุทธิ์ที่มันรู้ของมันเอง

พอฟังเราพูด คำพูดของครูบาอาจารย์นี่เห็นไหม หลวงปู่มั่นท่านยังบอก ท่านไม่พูดหมดไง ถ้าพูดหมดแล้วพวกเราเอาไปเป็นสัญญาไง เอาไปเป็นโครงสร้างที่เราจะเลียนแบบไง ตายกิเลสเลยนะ กิเลสขี่หัวตายห่า เพียงแต่ของจริงมันพูดกัน สิ่งที่เหลือต้องให้เหลือตามความเป็นจริง มันเหลืออย่างไร ให้มันเหลือตามข้อเท็จจริงของมัน ไม่ใช่เราไปสร้างให้เหลือ

แต่เวลาปฏิบัติไม่ใช่เหลือ ทิ่มไปเต็มตัวเลย ล้างหมดเกลี้ยงเลย จิตมันเป็นนามธรรม จิตมันรู้เอง แล้วเหลืออะไร หา ยังมีอีกเหรอวะ กับกุฏิเลยนะ กูไม่พูดเลย เงียบ เราก็ภาวนามาแล้วเราก็รู้ แต่เส้นทางนี้เรายังไม่ชำนาญใช่ไหม พอท่านพูดทีเดียวรู้เลย แล้วมันเหลืออะไร ยังมีอีกๆ ยังมีต้องซ้ำๆ อีก ไม่เถียงเลย ไม่เถียงสักคำเลย เฉยๆ กลับกุฏิเลย กลับ แล้วทำต่อ พอทำต่อขึ้นไป อ๋อๆ

แต่ถ้าเป็นเมื่อก่อนนะ ถ้ายังไม่มีหลักนะ มันเถียงตายห่าเลย อ้าว ก็มันละลายหมดเลยนะ คิดดูสิ ร่างกายเรามันละลายเหมือนน้ำแข็ง ละลายเกลี้ยงเลย ละลายไม่มีอะไรเหลือเลย โอ้โฮ ก็คิดว่าแบบ กูทำได้แล้วล่ะเว้ย รีบรายงานผลเลย เอาการบ้านไปส่งอาจารย์ไง ไปส่งการบ้าน ถ้าไม่ได้ตรวจการบ้าน ถามว่า แล้วมันเหลืออะไร แม่ง การบ้านกูผิดหมดเลย เก็บไว้ในใจ กลับไปทำต่อ

แล้วเราเดี๋ยวนี้มาฟังหลวงตาเทศน์ แล้วเราพูด เห็นไหม กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ แล้วสิ่งที่เหลือ หลวงตายังบอก แล้วเหลืออะไร สิ่งที่เหลือ เหลือคืออะไร เวลาทิ้ง เห็นไหม โสดาบัน สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ทิ้งไปแล้ว ตัวมันมีจิตเห็นไหม จิตมันเข้ามาเรื่อยๆ สกิทาก็ยังมี อนาคาก็ยังมี เพราะอะไร เพราะมันจะไปเหลือตัวจิตล้วนๆ ไง

แล้วพอถึงนั่นต้องทำลายตัวนี้ทิ้งหมดเลย มันเหลืออะไร เหลือตัวนี้ มันต้องเหลือ เหลือเข้ามาเรื่อยๆ เหมือนเวลาทำงาน เห็นไหม ทำงานเสร็จๆ ถึงอนาคา เห็นไหม อนาคาบอกว่านี่ว่างหมดเลย แต่มึงยังขวางอยู่นั่นน่ะ ไอ้เหลือๆ ไอ้เหลือตัวที่ขวางอยู่น่ะ ไอ้เหลือคนที่ทำความสะอาดบ้านไง พอทำความสะอาดบ้านมาเรื่อยๆ เหมือนสานสุ่ม สานไปเรื่อยๆ แม่ง สุ่มครอบกูยังออกไม่ได้

สานสุ่มไง อยู่ตรงไหนเราก็สานสุ่ม สานไปเรื่อย พอสานเสร็จสุ่มแม่งเสร็จแล้ว แล้วกูออกอย่างไร สุ่มเสร็จแล้ว มึงก็ออกมาสิ ออกไม่ได้ มันต้องเป็นอย่างนั้น มันเหลืออะไรเหลือมา พอเหลือมา ถึงที่สุดแล้ว พระอรหันต์ไม่มีอะไรเหลือ เวลาเราพูดเห็นไหม “จิตพระอรหันต์ ผิด”

หลวงตาเวลาท่านพูด อธิบายพวกเรา จิตพระอรหันต์เป็นอย่างนั้นๆ แต่ถ้าจิตพระอรหันต์ ผิด เพราะตัวจิตตัวภพ ตัวจิตคือตัวภพ ตัวจิตคือตัวที่เหลือ ต้องทำลายตัวจิต แต่ตอนนี้ไม่ต้องทำลายนะ ตอนนี้ซัดเข้าไปเต็มที่เลย เดี๋ยวจะรู้เอง มันยังทำลายมันไม่ได้หรอก ทำลายไม่ได้เพราะอะไร เพราะมันมีเปลือกไง มันมีเปลือก มันมีสิ่งที่หุ้มอยู่ เราจะไปถีบมันที่ไหน

มีครูบาอาจารย์บางองค์ไม่เอ่ยชื่อ สอนอย่างนี้ ไม่ต้องทำอะไรเลย ทำจิตสงบเข้าไป แล้วไปแก้กันที่อวิชชา คือไปแก้กันที่ตัวจิตไง แล้วลูกศิษย์เขามา เราถาม สมมุติคนนี่ใส่สูท สมมุติว่าคนนี่ใส่สูท แล้วคนนี่ไม่ถอดสูทไม่ถอดเสื้อเชิ้ต แต่จะเอาเสื้อชั้นในมาซักได้ไหม ถ้าเราจะทำความสะอาดขนาดไหน มันก็ต้องทำความสะอาดที่ตัวสูท ตัวสูทต้องสะอาดก่อนใช่ไหม

มีอยู่อาจารย์หนึ่งสอน ทำจิตสงบลึกๆ เข้าไปเลย ไม่ต้องทำอะไรเลย แล้วไปแก้ที่อวิชชา อีกร้อยชาติๆ มึงทำไปเลย นี่ไง พูดแค่นี้รู้เลยว่าอาจารย์ไม่เป็น อาจารย์นี้ได้แต่ทฤษฎีมา แล้วใช้ตรรกะทำความเข้าใจตัวเอง แล้วเอาตรรกะ เอาทฤษฎี เอาความรู้อันนี้ไปสอนลูกศิษย์ แล้วทั้งๆ ที่ตัวเองก็ไม่รู้นะ ถ้าตัวเองรู้นะ ครูบาอาจารย์อย่างเช่นหลวงตา ครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรม ลูกศิษย์นี่จะเป็นธรรม

ลูกศิษย์ที่เป็นธรรมนะ จะทำตามเนื้อผ้า ถ้าลูกศิษย์ที่ไม่เป็นธรรมนะ มันจะทำเป็นทิฐิมานะ มันเหมือนกรณีของอภิธรรม กรณีอภิธรรมนี่นะ เรากินน้ำเราก็รู้ว่ากินน้ำใช่ไหม พอกินน้ำเสร็จ กินหนอ จริงไหม

เราจะบอกว่าหลวงปู่มั่นสอนอย่างนี้ หลวงปู่มั่นก็สอนในมุตโตทัย เห็นไหม การดื่ม การเหยียด การคู้ ต้องมีสติตลอดเวลา นี่คนเป็น เพราะการดื่ม การเหยียด การคู้ มันเป็นปัจจุบันธรรม แต่เพราะเรา เราคิดว่าเราปฏิบัติไม่เป็นใช่ไหม พอเราจะให้มันชัดเจนไง พอดื่มก็ต้องบอกว่าดื่มหนอ เพื่อเตือนให้เรารู้ว่าดื่ม ให้มันมีสติไง ให้มันมีรู้อาการดื่ม เพราะอาการปัจจุบันมันเร็ว เราไม่ทันมัน

พอดื่มก็ว่าดื่มหนอ เห็นไหม นามรูป เกิดหนอ รู้หนอ อารมณ์สร้างหมดนะ อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าไม่เป็น ก็จะสร้างอารมณ์อย่างนี้ ดูอาจารย์ที่สอนตรงนี้ ดู ต้องมีพิธีกรรม ต้องมีอย่างนั้น นั่นน่ะผิดหมดเลย แต่ถ้าเป็นหลวงปู่มั่น หลวงตา ไม่มี มึงนั่งก็ก้นมึงก็ติดพื้นอยู่ มึงก็รู้ว่ามึงนั่ง นั่งหนอ ๆ ไอ้ก้นกูติดอยู่นี่ไม่รับรู้นะ แต่กูไปนั่งหนอๆ นั่งหนอที่ไหนวะ นั่งหนอๆ ก็ก้นมึงนั่งไอ้ห่า

อาจารย์ที่ไม่เป็นนะก็ไปทำแบบว่าถือเคร่ง โอ้โฮ ไปนั่งกันบนขื่อ บนต้นไม้ ตกมาขาหัก แขนหัก ส่งโรงพยาบาล เขามาเล่าให้ฟัง ฟังแล้วเศร้าฉิบหายเลย รู้เลยว่า อ๋อ อาจารย์มันไม่เป็น อาจารย์มันไม่เป็นแล้วไปทำกันอย่างนั้น แต่ถ้ามันเป็นนะ เราจะนั่ง เราจะนั่งแก้ง่วงใช่ไหม เราก็ต้องมีสติของเรา มันจะตกบ้างเป็นครั้งเป็นคราว บางทีจะตก แต่ถ้ามีสติแล้วไม่ตก

สังเกตได้นะอย่างเช่นหลวงปู่จวน เวลาท่านนั่ง ท่านนั่ง ไปภูทอก เมื่อก่อนยังไม่มีบันได คิดดูสิ ถ้าสัปหงกก็ตกก็แล้วกันน่ะ ท่านนั่งหน้าผาเลย สมัยนั้นไปอยู่ใหม่ๆ ยังไม่มีบันได ไม่มี ไม่มีอะไรทั้งสิ้น เพราะท่านไปนั่งไง ท่านไปนั่ง ท่านไปภาวนาไง แล้วท่านก็ไปนั่งไปภาวนา จิตท่านสว่าง ท่านเห็นหมดล่ะ เวลาไปทำ พวกเรานี่ทำ งงนะ

ตอนหลวงปู่จวนจะทำบันได ให้ฝรั่งมาประมูล ว่าตีค่าเท่าไรในการทำบันไดขึ้นอย่างนั้น เขาตีถึงสิบล้านเลยนะ หลวงปู่จวนบอกกูมีล้านเดียว แล้วท่านก็ขึ้นไปข้างบนใช่ไหม ขึ้นไปผูกกับต้นไม้ ไปผูกกับหน้าผา โรยเชือกลงมา คือว่า ประสาเรา ฝรั่งทำมันต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือ มันต้องมีทุกอย่างเข้ามา

ของท่านมีเชือกเส้นเดียว ผูกเอว แล้วก็โรยตัวลงมา จะกลัดตอกเป็นบันไดน่ะ เอาเชือกผูกเอว แล้วโรยตัวลงมา เห็นไหม พอตั้งฐานได้ ก็เอาไม้ตีแล้วก็วางไม้เป็นบันไดเดินลงมา นี่คนเป็นกับคนไม่เป็นมันคนละเรื่องเลยนะ นี่พูดถึงเวลาธรรมเห็นไหม เวลานั่งทีเดียวก็ตาย แต่ตายไหมล่ะ ไม่เคยตกไม่เคยอะไรเลยนะ ไม่มีอะไร แต่คนไม่เป็น เราไม่เป็น แล้วทำกันเสียหาย

เวลาปฏิบัติเป็นอย่างนั้นหมด เดี๋ยวนี้ เป็นพิธีกรรมเฉยๆ แล้วยังพูดเป็นวิทยาศาสตร์นะ ต้องจับต้องได้ ต้องอย่างนั้นได้ ก็จับต้องได้ มันถึงเป็นวัตถุไง มันถึงเป็นกิเลสหมดไง แต่ถ้าเป็นความจริงนะ ความจริง ประสาเรานี่ ถ้าเราคิดธรรมดา เห็นไหม เราดื่มแล้วเราบอกดื่มหนอ ก็ดี ก็มันชัดเจนไง นี่คือปัจจุบัน ก็ให้มันชัดไง

แต่ถ้าคิดให้ละเอียดอีกชั้นหนึ่งสิ เราดื่มนั้นคือตัวจริง ดื่มหนอนั้นคือตัวปลอม เรานั่งกินอย่างนี้คือตัวจริงใช่ไหม นั่งหนอคือตัวปลอม แล้วมึงสร้างอารมณ์ปลอมตลอด แล้วมึงจะไปเข้าถึงความจริงได้ไหม มันไม่ได้ แต่! แต่มันก็ว่างนะ ว่างเพราะอะไร ว่างเพราะมันเป็นคำบริกรรมไง หนอ ความรู้สึกหนอก็ดึงให้จิตเราไปใช่ไหม มันก็แค่นั้น

แต่มันไม่ลงไปอีกเพราะอะไร เพราะว่าเราคิดว่าอันนี้เป็นวิปัสสนาสายตรง คือเราไปเข้าใจกันเองไง เราไปเข้าใจกันเอง เอาวิธีการเป็นเป้าหมาย วิธีการ พระพุทธเจ้าสอน วิธีการ ศีล สมาธิ ปัญญา เห็นไหม ขั้นของศีล ขั้นของสมาธิ เป็นวิธีการ เป้าหมายมันคือตัวจริงคือตัวใจ

ทีนี้พอเราเอาวิธีการนั้นเป็นเป้าหมายแล้ว เพราะมันหนอ ว่างหนอ รู้หนอ มันก็เลยกลายเป็นว่างที่ไม่มีสติไง เพราะใครมาจะบอกเราทุกคนนะ

“หลวงพ่อ ทำมา ๒๐ ปีแล้ว ว่างๆ ทำอะไรไม่ได้เลย ว่างๆ”

ก็สร้างตัวปลอมไว้ไง สร้างอารมณ์ไว้เห็นไหม ถ้าปกติ เราก็จะฟุ้งซ่านมันก็ทุกข์ พอสร้างปั๊บมันก็สุข เออ ดีเว้ย ว่างดีเว้ย แล้วก็ จริงไหม ก็เราได้แค่นี้ไง แล้วพอเวลาเราพูด โดยข้อเท็จจริงของเรานะ เราบอกว่า มิจฉาสมาธิ ถ้าสัมมาสมาธิมันจะมีสติ มันจะลึกกว่านี้ แล้วมันจะรู้ตัวขึ้นมา อย่างเช่นเรา เราตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ทำอะไรเราก็รู้ใช่ไหม

เราลองเบลอสิ เราทำอะไรก็ทำอยู่ แต่กูไม่รู้กูทำอะไรนะ นี่เหมือนกัน จิตมันก็ว่างของมัน เพราะมันไม่ได้ฟุ้งซ่าน เหมือนโดนกดไว้ เราถึงบอกว่าสมาธิอย่างนั้นเป็นมิจฉานะ แต่ถ้าเป็นความจริง ความจริง เห็นไหม เราทำอะไรเราก็รู้ตัวตลอดเวลา หลวงปู่มั่นพูดนะ แหม เราพิจารณาของเราไง ท่านบอกเลยนะ การดื่ม การเหยียด การคู้ ต้องให้มีสติตลอดเวลา

ทีนี้ถ้าคนไม่เข้าใจก็ตีความเลย เหมือนกันเลย เพราะเราก็ดื่มหนอ รู้หนอ ขยับหนอ อยู่แล้ว เห็นไหม เหมือนกันเลย แต่ไม่เหมือนเห็นไหม ไม่เหมือนเพราะว่า..

โยม : แล้วมันต่างอย่างไรกับอานาปานสติซึ่งของแท้ดูลม แต่เราไปจับพุทโธไปด้วย พุทโธนี่คือตัวปลอม

หลวงพ่อ : ตัวปลอมๆ อันนี้คือตัวปลอม

โยม : แล้วนั่งหนอ กับพุทโธ ต่างกันอย่างไร

หลวงพ่อ : ต่างกัน ต่างกันที่ว่า คำว่าปลอม เรารู้ตัวเองว่าเราเอาของปลอม เพื่อเข้าไปหาความจริง หลวงปู่มั่นพูดอีกล่ะ

“ต้นคดปลายตรงไม่มี” ถ้าต้นตรงปลายถึงจะตรง

ถ้าเริ่มต้นจากต้นคด ปลายจะตรง.. นี่ไง มันผิดตรงเริ่มต้นนี่ไง ถ้าพุทโธมันก็เป็นสมมุติ เรานึกขึ้นมา แต่เราตั้งใจเพราะดื่มหนอรู้หนอเหยียดหนอมันเป็นกิริยาที่มันเป็นสัญชาตญาณที่การขยับของร่างกายมนุษย์ การกำหนดพุทโธ เห็นไหม เป็นคำบริกรรม ในเมื่อเรารู้ว่าคำบริกรรม สติเราพร้อมเพราะทำไม เพราะข้าวสารมันเป็นข้าวสุกไปไม่ได้ เรารู้ว่าเราเอาข้าวสารมา เราจะหุงข้าวสารให้เป็นข้าวสุก เรารู้ไหม

คำบริกรรม จิตเรามันดิบๆ จิตเราเป็นสมมุติ จิตเราเป็นอวิชชา จิตเรานี่มีกิเลสครอบงำอยู่ แต่เราศรัทธาธรรมของพระพุทธเจ้า เราศรัทธาศาสนธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เรานี่จิตดิบๆ คือข้าวสาร เราจะอยากให้ข้าวสารเราเป็นข้าวสุก นี่ไงถ้าข้าวสาร นี่ไงพุทโธๆ คำบริกรรม เราทำ เห็นไหม เราต้องกลายเป็นข้าวสุก พุทโธๆๆ ถ้าจิตสงบก็คือข้าวสุก คือตัวข้าวสารมันเข้าใจแล้วมันทำของมัน

เรานึกพุทโธใช่ไหม เราตั้งบริกรรมพุทโธ เราตั้งขึ้นมาใช่ไหม ออกมาจากไหน ออกมาจากข้าวสาร ออกมาจากตัวจิต ทีนี้ไอ้ที่ว่า การว่ารู้หนอ การเคลื่อนไหว ข้าวสารเหมือนกัน ถ้าเอาข้าวสารให้เป็นข้าวสุกมันก็จะสุกใช่ไหม แต่เรานึกว่าข้าวสารนี่มันเป็นข้าวสุก ตัวของการปฏิบัติมันเข้า คิดแต่ว่า คิดว่าข้าวสารนี่มันเป็นข้าวสุกแล้ว มันไม่มีการเปลี่ยนแปลงไง

แล้วถ้าเราเข้าใจผิด เห็นไหม มันเริ่มต้นจนทิฐิผิดนี่แหละ ทีนี้พุทโธนี่เป็นสิ่งที่นึกขึ้นมาใช่ไหม ใช่ หลวงตาท่านพูดอย่างนี้ไง ท่านพูดบอกว่า ความคิดเรา ความคิดปกติสามัญของเรานี่ ความคิดนี่ ความคิดโดยอวิชชา ความคิดโดยกิเลส ใช่ไหม แต่พุทโธนี่มันเป็นกิเลสไหม เป็น มันเป็นความคิดไหม เป็น แต่มันเป็นความคิดฝ่ายธรรม สังขารปรุงเป็นกิเลส สังขารปรุงเป็นธรรม เป็นธรรมคืออะไร เป็นธรรมคือกรรมฐาน ๔๐ ห้อง

พุทธานุสติใช่ไหม เรายืนอยู่นี่ เราพุทโธๆๆๆๆ จนพุทโธมันพุทโธไม่ได้ ฟังสิ รู้หนอมันมีรู้หนอจนรู้ไม่ได้ไหม รู้หนอต้องชัดเจนตลอดเวลานะ ถ้าไม่ชัดเจนนั่นผิดแล้วนะ แต่พุทโธๆๆๆๆ เห็นไหม ข้าวสารมันจะเป็นข้าวสุก พุทโธๆๆๆ มันละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ จนพุทโธเป็นเราเลย เห็นไหม พุทโธเป็นเรา พอเป็นข้าวสุกแล้ว นึกพุทโธไม่ออกแล้ว พุทโธนึกไม่ได้เลย

แต่ถ้ายังนึกได้อยู่ มันยังดิบๆ สุกๆ อยู่ เห็นไหม เรายังนึกได้อยู่ เราต้องนึกไปเรื่อยๆ พุทโธๆๆ เพราะตัวมัน ตัวสมาธิคือตัวจิตเป็น ทีนี้มันใกล้เคียงกันมากไง มันใกล้เคียงกันมากจนเราแบ่งไม่ถูกเลย อย่างเช่นอานาปานสติก็เหมือนกัน อานาปานสติ เขาก็ต้องลมหนอ ลมหนอ ถ้าลมหนอนี่ ลมต้องชัดเจนอยู่ตลอดเวลา จริงไหม

อานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้าออก เรากำหนดลมอยู่ตลอดเวลา จิตมันจะอยู่กับลมตลอดเวลา อยู่กับลม ลมละเอียดเข้าไป ถ้ามันกึ่งนะ เวทนาสักแต่ว่าเวทนา ถ้ามันกึ่งอยู่นี่ เราเคยเป็น เวลากำหนดลมหายใจ อานาปานสติกำหนดลม เพราะเราลองหมด ประสาเรา เราเข้าสมาบัติ เราใช้อย่างนี้เลย

พอลม พอมันกึ่ง แบบว่าจิตมันปล่อยหมดแล้ว แต่มันเข้าไม่ถึงอัปปนา คือเข้าไม่ถึงจิตที่ลึกกว่า มันไม่เข้า มันแบบว่าทำสมาธิบางทีมันก็เข้าบางทีมันก็กึ่ง คือสักแต่ว่าไง พอสักแต่ว่านี่ โอ้โฮ ลมนี่นะเป็นเหมือนใสเป็นแก้วเลย เป็นท่อนซุงเลย พึ่บพั่บๆๆ โอ้โฮ ถ้าคนไม่เป็นก็นึกว่า โอ้โฮ มหัศจรรย์ฉิบหายเลย แต่ถ้ากำหนด ถ้าขั้นตอนต่อไปถ้ามันกำหนดดีๆ จิตมันดีนะ จากที่ว่าใสๆ มันเริ่มจางลง จางลง จนไม่มีลมหายใจ

พอไม่มีลมหายใจปั๊บ เราก็กลัวสิ จะตายใช่ไหม ถ้ารู้หนอนี่ ลมหายใจห้ามมีไหม รู้ลมหนอ ลมหนอ ลมขาดไม่ได้ ถ้าลมขาดคือว่าเราไม่รู้ใช่ไหม พอเรากำหนดลมหายใจๆๆๆ พอกำหนดลมหายใจ อานาปานสติ ลมเริ่มละเอียดเข้าไปนะ ไอ้อย่างสักแต่ว่านี่จะเป็นแท่งเลย แต่ถ้ามันไม่สักแต่ว่านะ มันพัฒนาของมัน กำหนดลมหายใจเข้าออก ลมละเอียดมาก ละเอียดจนแผ่วเบา จนกำหนดลมแทบจะไม่รู้สึกลมหายใจเลย

จนลมหายใจนี่ดับ ดับเลย พอดับเลย ดับเลยนี่ยังไม่เข้านะ เพราะมันเริ่มดับ ปฏิกิริยาของมัน จิตมันเริ่มจะเข้า พอจิตเริ่มดับ เพราะคำว่าดับแล้ว ใครรู้ว่าดับ เพราะมันจะมีหรือมันจะดับ จิตยังรู้อยู่ มันยังไม่ถอยเข้าไป ถ้าอย่างนี้ปั๊บ เสียงยังได้ยินอยู่ เพราะมันยังรู้ อายตนะยังมี จิตมันยังออกรับรู้อยู่ จนเริ่มละเอียดเข้าไปๆ ข้าวสารเป็นข้าวสุก ละเอียดเข้าไปๆ มันพัฒนาการของมัน เข้าไปนะ

จากลมหายใจเริ่มจางลง ละเอียดลง จนไม่รู้จักลมหายใจเลย จนถอยเข้าไป สตินี่รู้ตลอดเวลาเลย เข้าไป นิ่ง จนเข้าถึงสักแต่ว่าดับ พั้บ นั่งอยู่นี่นะไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย ความสัมผัสอะไรไม่มี อายตนะไม่มี สักแต่ว่ารู้ นั่งเป็น.. ถ้าจะบอกว่าคำว่านั่งเป็นหัวตอ เขาจะบอกว่าสมาธิหัวตออีก ไม่ใช่ สมาธินี้ชัดเจนมาก อัปปนาสมาธิ รวมใหญ่ เงียบ ทีหนึ่งหลายๆ ชั่วโมง อาศัยเกาะลมเข้าไปเห็นไหม อานาปานสติ

คำว่าอานาปานสติกับรู้ลมหนอนี่ต่างกันไหม อานาปานสติมันมีขั้นตอนของมัน หยาบละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ แต่รู้ลมหนอนี่ รู้ลม รู้หนอๆ ประสาเรานะ ก็หยาบๆ อยู่อย่างนี้ มันเข้าละเอียดไม่ได้หรอก เพราะต้องรู้อยู่ ก็เหมือนเรารู้ลมอยู่ ลมขาดไม่ได้ไง ข้อเท็จจริงเป็นอย่างนี้นะ แล้วมีพระสอนกัน พระมาหาเรา บอกว่าในวงการพระของเขา เขาบอกว่า กำหนดลมหายใจนี่ลมต้องขาดต้องหายไป

เวลาเราสอนเขานะ บอกว่าเป็นไปไม่ได้ ต้องมี เพราะถ้าบอกว่าลมต้องขาดต้องหายไป เราก็จะสร้างความขาด กิเลสมันละเอียดมาก แต่ความจริงๆ คือลมต้องไม่มี ต้องขาดจริงๆ แต่เราเถียงเขา เพราะเราเถียงเขา เพราะเราสงสารเขา ถ้าเราไม่บอกเขาอย่างนี้ปั๊บ ถ้าเราเห็นด้วยกับเขาปั๊บ เขาก็จะไป รู้ลมหายใจนี่ ลมเข้าลมออก แล้วก็จะนึกให้มันหายไง แล้วมันก็จะตกภวังค์อยู่อย่างนั้น

จริงๆ ลมมันต้องดับหมด แต่! แต่ต้องดับด้วยข้อเท็จจริง ไม่ใช่เราตั้งใจหรือว่าเปิดช่องให้มันดับไง เปิดช่องให้มันดับคือมันตกภวังค์ กิเลสนี่ มึงอย่าให้มันรู้อะไรนะ ถ้ามันรู้อะไรนะ มันสร้างภาพให้มึงก่อน แล้วเสร็จหมด นี่การปฏิบัติยาก ยากตรงนี้ ครูบาอาจารย์ ถ้าฉลาดๆ ท่านจะพูดอะไรนี่ไม่ให้รู้หมดไง จะบอกแต่วิธีๆๆๆ

แล้วเวลาเกิดขึ้นกับเรา มันเกิดเอง แล้วพอมันเกิดเอง สมมุติเรานั่งอยู่นี่สัก ๒ คน ปฏิบัติด้วยกัน วิธีเดียวกัน ทุกอย่างเหมือนกันหมดเลย เวลาเกิดนะยังไม่เหมือนกันเลย เพราะมันอยู่ที่จริตนิสัย อยู่ที่วาสนาของคน มันไม่เหมือนกัน ฉะนั้นเวลา เราจะพูดบ่อย เวลาเราพูดถึงปัญหาของคนนี้ คนนี้นั่งฟังเป็นคติได้ แต่อย่ายึด ถ้ายึดไปแล้วผิด

เมื่อก่อนมันมีอยู่ สุนิสา เขานั่งตลอด นั่งสว่างทุกวันนะ แล้วเราบอกว่าถ้าคนที่นั่งได้สว่างทุกวันนี่นะ จิตมันสงบได้นี่มันต้องมีกำลัง แต่ทำไมเขาไม่มีกำลังล่ะ เราบอกนั่งหลับเขาไม่เชื่อ เขาไม่ยอมเชื่อ สุดท้ายเขานั่งอยู่นั่น พวกไอ้กบพวกอะไรเขานั่งจับกัน เขาบอกกรนเลย เขาบอกหลับแน่นอน มาหาเรานะ จนยืนยันว่าหลับถึงยอมรับว่าหลับ อันนี้อันหนึ่ง

สอง เขาบอกเขานั่งได้ตลอดเวลา แต่เวลาเราตอบปัญหาคนอื่น แกชอบฟังแล้วแกจะเอาไปปฏิบัติ แล้วแกก็มาหาเรา

“ไม่ดีเลย หลวงพ่อ ไม่ดีเลยๆ”

เราสงสารเขา นี่ลูกศิษย์ใช่ไหม ใกล้ชิด

“ก็มึงเสือก กูไม่ได้สอนมึง กูสอนคนนี้ แล้วมึงเอาไปทำไม”

“อ้าว ก็นั่งฟังอยู่ก็คิดว่ามันง่ายไง”

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเรานั่งฟังกันอยู่นี่ ถ้ามันเป็นคตินะ มันเป็นประโยชน์กับเราได้นะเราเก็บไป แต่ถ้าทำแล้วมันไม่ได้อย่างที่เราทำนะ มันก็คือวาสนาเรา ไม่ใช่ว่าเห็นเขากินอาหารอย่างอื่นอร่อย แล้วจะไปกินกับเขา ไม่อร่อยหรอก เราต้องกินอาหารที่ว่าอร่อยของเรา เป็นอาหารของเรา เราเห็นคนอื่นกินอาหารอร่อยนะ แล้วเราจะไปกินตามเขา อร่อยอย่างนี้ขมตายห่าเลย เนอะ

เราสังเกตได้ไหม เหล้านะ ขวดเป็นแสนเป็นล้านนะ มันซื้อมากินนะ โอ้โฮ กูกินไม่เป็น ขมฉิบหาย มันอร่อยตรงไหนของมันวะ สุดยอดๆ อร่อยตรงไหน เพราะเราไม่ใช่คอเขาใช่ไหม แต่ถ้าเป็นคอเขานะ โอ้โฮ เขาถนอมของเขานะ นั่นน่ะมันเป็นอย่างนี้ มันเป็นเพราะเราไม่เข้าใจ เพราะอย่างนี้ เพราะโลกเป็นอย่างนี้หมด เราจะบอกว่าโลกเป็นอย่างนี้หมดใช่ไหม

คำสอนของอภิธรรม เขาถึงสามารถสอนพวกชาวพุทธได้ แต่ชาวพุทธทำกันแล้วนะ คนที่จะภาวนาได้ มันจะต้องหลุดออกมาจากคำสอนอันนั้น มีคนที่ภาวนาอย่างเขา แล้วหลุดมาได้ มีบ้าง แต่น้อยมาก เพราะจิตมันเป็นไง เพราะเราทำ

อย่างเช่นนะ เราจะสอนผิดก็จริงอยู่ แต่เราสอนลูกศิษย์เป็นร้อยเป็นพัน จะมีสักคนสองคน ที่มันทำแล้วมันได้ของจริง พอได้ของจริงนะ มันแปลกด้วยนะ พอได้ของจริงปั๊บ เราเองเป็นคนได้ แต่เราอยู่ในกระแสสังคมที่เขาสอนกันอย่างนั้น พอเราไปบอกเขาสิว่าเราเป็นอย่างนั้นนะ เขาจะว่าเราผิดทันทีเลย เขาว่าเราผิดด้วยนะ จนถ้าเขาแยกไปหาครูบาอาจารย์ที่แท้จริง ท่านจะบอกมึงน่ะถูก อาจารย์มึงน่ะผิด

เรื่องนี้เกิดขึ้นมาบ่อย แต่นานๆ จะเจอสักคนหนึ่ง ที่ปฏิบัติอยู่กับเขาแล้วจิตมันเข้าได้จริง พอเข้าได้จริงปั๊บ มันขัดแย้งกับคำสอนเขา แต่กระแสเขาจะรุนแรงมาก กระแสเขาจะแรง เขาจะบอกว่าไอ้คนที่ได้จริงนี่ผิด ไอ้คนที่ได้ของปลอมนี่ถูกหมดเลย เพราะหัวหน้ามันปลอมมาตั้งแต่หัวหน้า เราเคยเห็นเรื่องนี้มาเยอะนะ

ทีนี้พอพูดออกไปมันก็เหมือนว่า เนอะ พูดออกไปเหมือนกับว่าเขาผิดๆ แต่เราก็พูดตามข้อเท็จจริง เราไม่ได้พูดเรื่องตัวบุคคล แล้วพออย่างนี้พอเข้าอย่างนี้ก็อย่างที่ว่า พูดเรื่องสีลัพพตปรามาส เขาว่าธรรมนี่มีสีลัพพตปรามาสไหม ผิดหมดไหม ผิดหมดเลย

แม้แต่พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตอนปฏิบัติ ๖ ปี สีลัพพตปรามาสเพราะอะไร ส้ม เปลือกส้ม เปลือกส้มนี่มันหุ้มผลส้มทั้งหมดเลย แล้วจิตเราคือเนื้อส้มอยู่ในเปลือกส้มนั้น แล้วทำไปมันจะไม่ผิดได้อย่างไร มันผิดแน่นอน เพราะเปลือกส้มคืออวิชชา มันหุ้มจิตอยู่ แล้วใครทำทีแรกก็ถูกเลยมี ใครทำถูกมีไหม มันเป็นไปไม่ได้

ฉะนั้นไม่ต้องไปกังวลว่าสีลัพพตปรามาส หรือไม่สีลัพพตปรามาสไง ตั้งใจทำไป อย่างพูดเมื่อกี้ อย่างที่ว่าลมหายใจ เริ่มต้นมันผิด ก็เรามาจากเรา มาจากกิเลส มาจากอวิชชา เพราะเราเกิดมีอวิชชาไหม แล้วจะไม่ให้มันมีได้ไหม นี่ไง คำพูดคำสอนเขานะ ต้องไม่มีตัวอยากนะ ถ้ามีตัวอยาก ปฏิบัติไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้

ในเมื่อเนื้อส้ม มันผลส้ม เปลือกส้มมันคุมเนื้อส้มทั้งใบอยู่ แล้วจะบอก จะมีช่องว่างของเปลือกส้มให้มีช่องลอดออกมาบ้างเลย มันไม่มีหรอก แต่มันต้องอาศัยทำไปจนเปลือกส้มนี่มัน เราปอกเปลือกส้มออก เปลือกส้มมันจางลง มันหลุดไปบ้าง เออ นั่นน่ะ เป็นโอกาสที่จะเกิดวิปัสสนาตรงนั้น คือมันต้องทำอย่างนี้ขึ้นไป

ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ปั๊บนะ พวกเราจะไม่เสียใจเลยว่าเราผิดเราผิด โธ่ เราพูดกับพวกนี้บ่อย เมื่อก่อนเราบอกว่าคนโน้นผิดคนนี้ผิด ไอ้นี่จะถามเลยว่า แล้วตัวเองไม่เคยผิดเหรอ บอกถ้าพูดเรื่องผิดนี่ ๓ ปีพูดไม่จบเลย กูนี่เรื่องผิด ถ้าเราไม่ผิดมา เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนอื่นผิด เรานี่โคตรผิดเลย ก็มันทำไปทั้งตัวแล้วมันคนจริงจัง ทำไป คนผิดทำจริงๆ มันก็ผิดไปเต็มหน้าเลย ผิดก็ผิดไป อ้าว นี่ผิดนี่หว่า

เราถึงพูดไงเวลาเราพูดบ่อย เห็นไหม บอก พวกที่หลงผิดๆ เขาไม่รู้ว่าเขาหลงนะ เราไม่เชื่อ เขาถึงเวลาเขาต้องรู้ เพียงแต่ว่ารู้แล้วเขาจะแก้ไขไหม หรือจะกลับตัวไหม เท่านั้นเอง คนมีกิเลสในใจ คนปฏิบัติ ที่ว่าไม่รู้ว่าตัวเองหลงนะ เป็นไปไม่ได้ๆ มันมีลูกศิษย์หลายคนเขาไปปฏิบัติอภิธรรม พอไปปฏิบัติอภิธรรม แล้วพอไปถึงแล้วจิตเขาว่างไง เขาปล่อย เหมือนไปจำจากผู้หญิงอะไรมา

เขาไปปฏิบัติอภิธรรม พอจิตเขาว่างปุ๊บ เขาไปถามอาจารย์เขา อาจารย์เขาบอกว่า ไอ้อย่างนี้มันมีอยู่ในตำรา แต่อาตมาทำไม่ถึง อาตมาไม่รู้ ก็เออ ยังดีเว้ย มันพูดตรงๆ เขาบอกในตำรามันบอกอยู่ว่ามี เห็นไหม เราจะบอกว่า อาจารย์ที่หลงผิด อาจารย์ที่เขาไม่เป็น เวลาของจริงมันเกิดขึ้นมาตอบไม่ได้ ตอบไม่ได้หรอก

แต่ถ้ามึงยังปฏิบัติอยู่ กูเอาตำรามาสอนมึง ได้ คุยกันนี่ได้ แต่พอเราไปปฏิบัติแล้ว เกิดข้อเท็จจริงขึ้นมา เกิดอาการของจิตขึ้นมา ไปถามเขา เขาตอบไม่ได้นะ เพราะสิ่งที่เขาศึกษามา เขามาสอน เขาจำตำรามา เวลาเกิดตามข้อเท็จจริง เขาไม่รู้หรอก เขาไม่รู้ แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัตินะ เขาต้องการตรงนี้ อย่างที่พูดเมื่อกี้ พุทโธสมมุติไหม สมมุติ พุทโธคือกิเลสไหม กิเลส ก็กิเลสทั้งนั้น ก็กูสอนมาด้วยกิเลสนี่ไง

พอกิเลสมันเปิดออก เดี๋ยวจะเจอของจริง กูรอของจริงตรงนั้นไง รอตอนฟ้าเปิด ถ้าฟ้าเปิดปั๊บ เออ ทุกอย่างจะเห็น จะรู้เลย นี่ฟ้ามันไม่เปิด ฟ้าไม่เปิด กูก็บอกมึงทำอย่างนี้ รอฟ้าเปิด ถ้ามันทำจนฟ้าเปิดได้นะ เราเดินได้เลย ต้นตรง ต้นไม่คด สิ่งที่ปฏิบัติกันอยู่นี่ ต้นมันคด แล้วมันคด คดไปตามต้นนะ ต้นมันคดใช่ไหม มันก็งอไปตามต้น ไปเลย ว่างๆ ว่างๆ

ตอนนี้ย้อนกลับมานี่ เวลามาคุยอย่างนี้ปั๊บ ถ้าเราเข้าใจถูกต้อง เราทำปฏิบัติดีแล้ว เราต้องปฏิบัติแล้วต้องง่ายดาย ต้องทำได้สิ ไม่ใช่ ไม่ใช่เพราะอะไร เพราะการเอาชนะตนเอง การเอาชนะกิเลสมันแสนยาก แต่ไม่เหลือวิสัยมนุษย์ เราสงสารมากนะ อย่างที่ว่านี่ ที่ให้บริกรรมพุทโธ เขามาอยู่ที่นี่ ๒-๓ อาทิตย์ไง เขาดูจิตกันมา แล้วเขามาบอก

“โอ๊ย หลวงพ่อยาก ยากน่าดูเลย”

เรามันสังเวช มันสะเทือนใจมาก มันสะเทือนใจเพราะอะไร เพราะเราไปดูจิตกันอยู่ มันง่ายๆ มันทำอะไรง่ายๆ แล้วมันก็สบายๆ แล้วพอ เราเหมือนกับว่าสุขสบายแล้วไง แล้วมาบอกเราว่าผิด คนสำนึกว่าผิดแล้วจะมาปฏิบัติ พอปฏิบัติเข้ามันก็ทุกข์ยาก

เราจะบอกว่า จริงอยู่ พุทโธนี่ยากมาก การปฏิบัตินี่มันยาก เพราะมันเป็นของจริง ก็ต้องยากอย่างนี้ มันเป็นของจริง แล้วเราจะเอาชนะตัวเองจริงๆ มันต้องทุ่มเท การเอาชนะตัวเองมันไม่ง่ายหรอก แล้วการปฏิบัติที่ว่าอย่างนี้ มันง่ายหรือไม่ง่าย แล้วมันง่ายนี่ หวานเป็นลม ขมเป็นยา หวานเป็นลม ของหวาน ของอร่อย ของกินเล่น บอระเพ็ดมันขม แต่มันเป็นยารักษาสุขภาพของเรา

พุทโธๆๆๆ การปฏิบัติธรรมนี่ ทุกข์ยาก ต้องทน ต้องสู้ แต่เป็นของจริง นี่เราไปคิดกันอย่างนั้น กิเลสมันก็ทอนกำลังเราเห็นไหม แล้วส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนั้น เหมือนกับเรานี่ โทษนะ ในความรู้สึกบางที เหมือนเราหลอกเขา ก็เขาสุขสบายกันดีอยู่แล้ว ลากเขาเข้ามาทุกข์ทำไม ก็เขาดูจิตกันอยู่ เขาสบายแล้ว ว่างๆ ว่างๆ เลย แล้วลากเขามาทุกข์ทำไม

บางทีเราคิดอย่างนี้เลยนะ เหมือนกับรับผิดชอบไง ใครมาก็บอกเขาผิดๆ แล้วพอจะเอาจริงขึ้นมาก็ “โอ้โฮ มันยาก โอ้โฮ มันทุกข์” มันสะเทือนใจนะ เหมือนกับเขาดีกันอยู่แล้วไง ก็เหมือนกับคนเขารักกันแล้วดีกันอยู่แล้ว ไปยุแหย่ให้เขาแตกกัน ความคิดบางทีโลกเขาคิด เขาคิดกันอย่างนั้นนะ เวลาเขาบอกยากๆ เราถึงสงสาร แล้วมันสะเทือนใจ ประสาเรานะ ก็เขาสบายอยู่แล้ว ทำไมเราต้องไปดึงเขามาทุกข์

แต่ถ้าเราคิดประสาธรรมะนะ ก็สิ่งที่สบายอยู่แล้วหวานเป็นลม เป็นลมๆ แล้งๆ ไม่ได้อะไรเลย แล้วเราจะพูดกับเขาเพื่ออะไร แต่พอมาแล้วมันก็เป็นอย่างนี้ น่าสงสาร ทีนี้พอคำว่าน่าสงสารนะ ถ้าเรายังเป็นเรา ถ้าไม่มีจุดยืนนะเราก็โลเล แต่สำหรับเรานะ กูทุกข์มาก่อนมึง กว่ากูจะทำได้ กูเดินจงกรมมาทั้งวันทั้งคืน กูอดนอน กูผ่อนอาหาร กูสู้มาขนาดไหน นี่ไงธรรมะ เวลาครูบาอาจารย์ท่านบอก เห็นไหม ธรรมะนี่มันฟากตายๆ ฟากตายตรงนี้ไง เพราะทำมาจริงมาจัง เห็นไหม

แล้วเวลาของเขานี่ ง่ายๆ สบายๆ นี่ เราบอกว่าไม่มีหรอก หลอกกัน ครูบาอาจารย์ทุกคนเลย ฟากตายทั้งนั้น ไม่มีองค์ไหนบอกว่าทำง่ายๆ ไม่มี ถ้าง่ายๆ นี่ไม่เชื่อเลย ไม่เชื่อเลย แล้วอย่างเรา เราเวลาพูดก็พูดแบบง่ายๆ นี่แหละ แต่อย่างหลวงตาท่านพูดเห็นไหม ไม่มีใครเคยเห็นเรา เวลา ๙ ปีที่เราปฏิบัติอยู่นะ อยู่ในป่านี่เศษคน เหมือนคนไม่มีค่า สู้กับกิเลสตัวเอง เอาชีวิตเข้าแลกมาตลอด แล้วพอพ้นออกมาแล้ว ถึงจะมาสอนกัน

แต่พวกเราไม่เคยเห็นตอนกิริยาท่านทำไง แล้วยิ่งเดี๋ยวนี้โลกเจริญอย่างว่า แล้วท่านถึงได้เข้มแข็ง เห็นไหม ในวัดของท่านนะ ไม่ให้มีเก้าอี้แม้แต่ตัวเดียว ใครมีเก้าอี้ ท่านรับไม่ได้เลย ท่านบอกว่า กลัวลำบากไง จะนั่งก็ต้องเอาเก้าอี้มารองไว้ ท่านจะไม่มีเก้าอี้เลยนะ ท่านบอกว่ามีเก้าอี้ อำนวยความสะดวกกับกิเลสไง เดิน ๒ ทีแล้วก็นั่งพักไง ยังไม่ทันเดินเลย เอาเก้าอี้มารองรับไว้แล้ว แต่อย่างพวกเรานะ โน่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้ โอ๊ย ต้องมีมุ้งลวด ต้องมีแอร์ด้วย

เราไปอำนวยความสะดวกให้กับกิเลสไว้ก่อนตั้งแต่ยังไม่ปฏิบัติ แต่ท่านเคยต่อสู้กับมัน ท่านฝืนมาตลอดๆ ครูบาอาจารย์ท่านเคยฝืนมาเป็นอย่างนั้น เราคิดบ่อยนะเวลาท่าน นโยบายของท่าน แต่สำหรับของเราเห็นไหม เราเอามารองไว้เลย เก้าอี้ตั้งไว้เลย เพราะพอคนแก่มานั่งไม่ได้ เราเอามา ที่เอามาเพราะเห็นว่าเห็นคนแก่ไง เวลาผู้เฒ่าผู้แก่มา เขานั่งไม่ได้ ก็ให้เขาพอนั่งได้

แต่ของท่านนี่ไม่ได้เลย ดูสิ เมื่อ ๒ วันนี้ เขาจะเอาเก้าอี้มาให้ท่านนั่งไง ตรงที่ท่านนั่ง ท่านก็นั่งให้หน่อย แล้วท่านก็ให้เอาออกไป เราก็นั่งดูทีวีอยู่ก็บอกว่าไม่ได้อยู่แล้ว เพราะอะไร เพราะเก้าอี้นั่งอย่างนั้น มันเป็นเหมือนโซฟานี่ เขาทำมาให้นั่ง เขาบอกว่าถ้านั่งอย่างนี้แล้วเข่าไม่ดีจะให้นั่งอย่างนั้น ถ้านั่งอย่างนั้น เวลาแจกอาหารทำอย่างไร เวลามันแจก แจกอาหาร เพราะท่านไม่ยอมไง เพราะเวลาหลวงตาทำอะไรแล้วเราจะคิดถึงหลวงปู่มั่น

หลวงปู่มั่นอายุ ๘๐ ท่านไม่ยอมอะไรเลย เพราะท่านจะเป็นแบบอย่าง นี่ท่านก็อนุโลมกับโลกเยอะแล้ว แต่ถ้าท่านไหลไปอีก พระจะเอาอะไรเป็นที่พึ่ง มันเป็นที่อ้างอิงไง ทำอะไรก็แล้วแต่ ครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียง ทำอะไร พระจะอ้างอิงว่า ทำไมอาจารย์องค์อื่นทำได้ เพราะกิเลสมันอยากไปอยู่แล้วใช่ไหม พอผู้ใหญ่ทำปั๊บ ก็ท่านก็ยังทำเลย

ท่านเสียสละไง ท่านเสียสละของท่านเอง นั่งเจ็บเข่า นั่งทุกอย่าง ท่านก็ทนเอา ผู้ใหญ่ที่เป็นธรรมนะ แต่ถ้าไม่เป็นธรรมนะ มันก็ไปอีกเรื่องหนึ่ง แต่สำหรับเราคิด อย่างครูบาอาจารย์ ลูกศิษย์ก็คิด เพราะท่านก็เหน็ดเหนื่อยมามากแล้ว ตอนนี้เราต้องถนอมชีวิตท่านเพื่อประโยชน์กับเรา แต่ท่านก็คิดถึงชีวิตแบบอย่าง ชีวิต คิดถึงคนเอาเป็นคติ มันก็คิดกันได้หลายๆ ทาง

ฉะนั้นไม่ต้องห่วง สีลัพพตปรามาสเป็นทุกคน เป็นแน่ๆ อยู่แล้วด้วย สีลัพพตปรามาส จนแยกเองว่าอันนี้สีลัพพตปรามาสเว้ย อันนี้เข้าทางเว้ย คือเราจะไปเห็นเองไง เออ เข้าสมาธิเป็นอย่างนี้ ไม่เข้าเป็นอย่างนี้ ถ้าสุขเป็นอย่างนี้ ทุกข์มันเป็นอย่างนี้ เราจะเห็นของเรา แล้วมันจะแยก ทุกข์อันไหนมันจะเข็ด มึงทำอย่างนี้ไป เดี๋ยวมึงจะหัวตำภูเขา ถ้ามึงทำอย่างนี้ไปเดี๋ยวมันจะดี เออ แล้วมึงเลือกเอาสิ มึงจะเอาสบายหรือจะเอายาก ถ้ามึงจะเอายาก เดี๋ยวมึงจะไปทางที่ดี มันจะเลือก เพราะเราจะไปเห็นผลตรงนั้น

เพราะเราเห็นตรงนั้นเราถึงจะเลือกได้ สู้ได้ คิดได้ ทำเพื่อประโยชน์กับเรา สีลัพพตปรามาสทั้งนั้น จนมาถึงจุดหนึ่งแล้วถึงจะละขาด พอละขาดเข้าไป สักกายทิฏฐินะนั่น เห็นจริงแล้วปั๊บ เห็นจริงแล้วสีลัพพตปรามาส ขาดเลย เพราะเห็นจริง เห็นจริงแล้วมันจะสงสัยได้อย่างไร เห็นจริงตัวเดียวเท่านั้น วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสไม่มีเลย เห็นจริง นี่เรายังเห็นไม่จริงเลย เราเห็นแล้ว เราเห็น ลังเล นี่ทันทีเลย วิจิกิจฉาเกิดแล้ว สีลัพพตปรามาสเกิดแล้ว เพราะจิตเรายังไม่เต็มที่ มันต้องเป็นอย่างนี้โดยธรรมชาติ

แต่ถึงที่สุดแล้วมันจะเป็นอย่างนั้น นี่เหมือนกัน เหมือนกับที่ว่าอภิธรรม ไม่มีความอยาก มันเป็นอย่างนั้นโดยธรรมชาติ แต่ถ้าเราเป็นมรรค คือเราพยายามสร้างความเพียร พอถึงที่สุดปั๊บนะ อยากนั้นก็หายไป เพราะตัวอยากทำให้เราทุกข์นะ พอปฏิบัติได้หนหนึ่ง คราวหน้า โอ้โฮ อยากได้อันนั้น ทุกข์ฉิบหายเลย เฮ้อ ปล่อยแล้วเว้ย ทำไปอย่างนั้น ผลัวะ! ได้อีกแล้ว

นี่ไง อ๋อ ไอ้อยากนี่เองทำให้กูทุกข์เพราะฉะนั้น กูก็ทำของกูไปอย่างนี้ ได้ก็ช่าง ไม่ได้ก็ช่าง แต่สู้อย่างนี้ เออ ดีขึ้นเรื่อยเลย ไอ้ตัวอยากนี่มันเหมือนกับกวนน้ำให้ขุ่นตลอดเวลา เป็นอย่างที่เขาว่าจริงๆ แล้วมันจะเป็นจริงต่อเมื่อปฏิบัติจริงรู้จริง แต่นี่ไม่เป็นอย่างนั้น ห้ามเลยไม่ให้อยาก เหมือนกดไว้ พอกดไว้ก็เหมือนปฏิเสธไง

โยมมาเซ็นชื่อให้เราเลย ทำงานตั้งแต่ตอนนี้ไปตลอดชีวิตจะไม่รับเงินเดือนเลย เงินเดือนยกให้เราหมดเลย อดเลย นี่ก็เหมือนกันนะ ไม่ให้มีอยากเลย คือมันรับผล พอถึงเวลาแล้วไม่ได้อะไรเลย อ้าว ก็ทำงานไป ถึงสิ้นเดือน เงินเดือนออกก็คือเงินเดือนออก เงินเดือนออกคือผลที่เกิดขึ้น แต่เราบอกว่าไม่อยากเลย เงินเดือนไม่เอา ไม่เอาๆ หมดเลย อดเลย

มันมีหลายอย่างที่เขาทำแล้วมันผิด เช่นว่าไม่มีความอยากเลย อยากนะ มันเหมือนกามฉันทะ กามราคะ กามฉันทะคือความพอใจ ตัวตนเรามั่นคง นี่กามฉันทะ ความอยากอย่างนี้มันมีโดยธรรมชาติ กามราคะคืออยากโดยนอกจากอาการของจิต อันนั้นเป็นกิเลส แต่ตัวมันเองที่มันพอใจ มันจะเป็นกิเลสได้อย่างไร

กามฉัน กามราคะ เพราะตัวเองมีความอยาก มันถึงมีทุกอย่างเกิดขึ้น ถ้าไม่มีตัวตนอะไรจะเกิดขึ้น อยากในตัวตน เป็นอะไรไป มันปฏิบัติไปมันจะรู้มันจะเห็น แล้วค่อยๆ ปฏิบัติไป จนทางวิชาการเขายอมรับ มันจะเป็นประโยชน์ขึ้นมาในภาคปฏิบัติ ภาคปฏิบัติมันจะเป็นอย่างนี้เนาะ เอวัง