ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ธุดงค์หลงป่า

๑๕ มี.ค. ๒๕๕๒

 

ธุดงค์หลงป่า
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราเอาเรื่องแรกก่อนเนอะ เมื่อกี้เขาถามเห็นไหมเรื่องการครองเรือน เรื่องการครองเรือนน่ะ มันจะไปถามหาใครล่ะ เรื่องการครองเรือนนะ ในพระไตรปิฎกพูดไว้ชัดเจนมากแล้ว การครองเรือนเนี่ยเทศน์บ่อย การครองเรือนนี้แสนยาก เพราะการครองเรือนในความถูกต้องคือการครองหัวใจ เพราะใจแต่ละคนเห็นไหมการครองเรือน เราไปเห็นว่าการครองเรือนคือชีวิตครอบครัว ชีวิตครอบครัวเหมือนกษัตริย์เลย

กษัตริย์ปกครองประเทศต้องรักษาประชาชน ในชีวิตการครองเรือนมันหัวใจเขาหัวใจเรา หัวใจเรายังเอาหัวใจเราแทบไม่อยู่เลย แล้วหัวใจของคู่ระหว่างสามีภรรยา แล้วถ้ามีลูกขึ้นมาเนี่ยหัวใจที่สาม ดูพ่อแม่สิ โอ๋ โอ๋ โอ๋น่าดูเลย การครองเรือนมันทุกข์ไง แล้วประสาเราทางโลกว่า การครองเรือนเป็นธรรมชาติของมนุษย์

พระพุทธเจ้าสอนไว้อย่างนี้ พูดไว้ชัดเจนมาก การครองเรือนนะเปรียบเหมือนกับเราวิดทะเลทั้งทะเลเพื่อจับปลาเล็กๆ ตัวหนึ่ง ความสุขที่ว่าเรามีความสุขน่ะแค่ปลาตัวนั้นนะ แต่เราต้องลงทุนลงแรงวิดทะเลทั้งทะเลเลย เพื่อจะให้ทะเลมันงวดแล้วจับปลาตัวนั้น นี่มันก็เหมือนเป้าหมายเราไง แล้วในการครองเรือนของเราใช่ไหม จะมีความสุข เริ่มต้นมาชีวิตคู่ใหม่ๆ มีบ้าน มีรถจะมีความสุข มีลูกก็จะมีความสุข พอมีลูกแล้วต้องมีหลานจะมีความสุข พอมีหลานต้องมีเหลนจะมีความสุข มันหลอกไปจนตายเห็นไหม นี่การครองเรือน

นี่เวลาเราจะถือพรหมจรรย์เราไม่ครองเรือนล่ะ ไม่ครองเรือนก็ทุกข์ ถ้าไม่ทุกข์นะ  เวลา..สมมติอย่างพระเราบวชมาก็มีความสุขเลยสิ ทำไมพระบวชมาจึงมีความทุกข์ล่ะ มันทุกข์ ทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นความจริง เหมือนไฟนี่ปฏิเสธว่าไฟไม่ร้อนที่ไหนมี ใครปฏิเสธได้บ้างว่าไฟนี่ไม่ร้อน ไฟมันร้อนเป็นธรรมชาติของมัน ในเมื่อมีกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจ ไม่ทุกข์เป็นไปได้อย่างไร ถ้ามันมีตัณหาอยู่ไม่ทุกข์เป็นไปได้อย่างไร มันต้องเป็นทุกข์เป็นธรรมดา

นี่ทุกข์เป็นธรรมดานี่ พอเราคำว่าธรรมดาแล้ว มันสู้กับมัน ไฟเกิดที่ไหนดับไฟที่นั่นมันก็จบใช่ไหม นี้พอมีไฟเกิดที่ไหน ความทุกข์มันมีกิเลสเป็นธรรมดา ก็มีครอบครัวไงแล้วจะมีความสุขไง มันไปดับไฟผิดที่ใช่ไหม พอจะดับไฟนะ มันนึกว่าดับไฟมันก็สุมไฟกองใหญ่ขึ้น สุมไฟกองใหญ่ขึ้นแล้วมันนึกว่าดับไฟนะ เรามีทุกข์มีตัณหาเป็นธรรมดาใช่ไหม แล้วก็สุมอีกกองหนึ่งกองใหญ่ๆ เลย แล้วสุมอีกกองหนึ่ง แล้วสุมอีกกองหนึ่ง มันนึกว่าสุมกองไฟกองใหญ่แล้วมันจะมีความสุข

แต่พระพุทธเจ้าไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าบอก “ชักฟืนออก” เห็นไหม ชีวิตคู่ก็แยกเป็นพรหมจรรย์ ดึงเชื้อฟืนออก นี้ฟืนมันออก ไฟมันไม่มีฟืน มันจะติดมากไหม มันก็น้อยลงๆ แต่เราไม่มองกันอย่างนั้นนะ ไม่ได้หรอกถือศีลก็ทุกข์ ทำน่ะยิ่งทำอะไรทุกข์ไปทั้งนั้นเลย แต่การถือศีลการปฏิบัติธรรมเห็นไหมชักฟืนออก ชักเชื้อไฟออก พอชักเชื้อไฟออกบ่อยๆ ครั้ง บ่อยๆ ครั้งเข้า ในเมื่อไม่มีเชื้อไฟ ไฟจะไหม้อะไร แต่ถ้าเราไปเอาเชื้อใส่เข้าไป เอาฟืนใส่เข้าไป ไฟดับได้อย่างไร

เนี่ยโลกกับธรรมมันต่างกันอย่างนี้ไง โลกก็มองไปอย่างหนึ่ง ยิ่งพ่อแม่ธรรมดาเลยล่ะ พ่อแม่นี้อยากให้ลูกเป็นฝั่งเป็นฝาเป็นเรื่องธรรมดา แล้วมันเป็นฝั่งฝาจริงหรือเปล่าล่ะ มันเป็นไม่จริง แล้วอย่างลูกจะออกบวชเนี่ย พ่อแม่ก็ต้องเป็น.. ความคิดไงถ้าไม่มีพระพระพุทธเจ้า ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ออกจากราชวัง ศาสนาจะเกิดขึ้นมาได้ไหม ในเมื่อพวกเราก็คิดกันแบบโลกๆ ต้องมีครอบครัวต้องเป็นฝั่งเป็นฝาต้องมั่นคงแข็งแรง ก็มั่นคงแข็งแรงของกิเลสไง มั่นคงแข็งแรงของตัณหาความทะยานอยากไง แล้วไม่เป็นความจริง

แต่พระพุทธเจ้านี่ โลกติเตียนมาก ยิ่งพระเวสสันดรนี่โลกติเตียนมาก ว่าเห็นแก่ตัวสละลูก สละลูกกัณหา ชาลี สละเมีย ทำไมไม่สละตัว แต่เขาไม่คิดแบบปัญญาชน ไม่คิดแบบสุภาพบุรุษ เรานี่เป็นคนที่รักครอบครัวมาก เขามาขอลูกเรานี่เราให้ไหม เขามาขอเมียเรา ทั้งที่ครอบครัวรักกันมาก ดีมาก เราจะให้เขาไหม ทำไมเอ็งไม่ขอข้าล่ะ เอาข้าไปแทนได้ไหม แต่เขาไม่ขอเขาขอเมียเอ็ง เขาขอเมียเขาขอลูก แล้วเป็นคนที่สุภาพบุรุษ พระเวสสันดรนี้เป็นกษัตริย์เป็นนักรบ แล้วคนที่ขอเป็นขอทานไม่มีกำลังอะไรเลย

แต่ด้วยสัจจะเขาขอไง บารมีธรรมไงให้เขา พอให้เขาเสร็จแล้วชูชกจูงกัณหาชาลีไปต่อหน้า แล้วตีต่อหน้า พ่อที่เป็นนักรบ เป็นกษัตริย์ แล้วเขาเอาลูกของตัวไปแล้วตีลูกตัวต่อหน้าตัว เจ็บไหม แต่ทางโลกบอกเห็นแก่ตัว อย่างเรานี่ลูกเรารักสุดรักเลย แล้วลูกเราจะมีปัญหาเนี่ยเราจะยอมสละตัวเราไหม สบายเลยใช่ไหมถ้ารักนะ เนี่ยแต่โลกมองมุมกลับไง มองมุมกลับว่าเห็นแก่ตัวไม่ยอมผจญภัย ให้ลูกไปให้เมียไป ตัวไม่ไป ก็เขาไม่ขอตัวนี่ แล้วขอตัวก็ไม่ได้เพราะขอตัวเราเป็นร่างกายไง

เพราะเรื่องกิเลสเป็นเรื่องของความรู้สึก เรื่องตัณหาความทะยานอยาก เรื่องนามธรรม นี่เขาขอวัตถุไปแล้วเขาตีต่อหน้าให้เราเจ็บ เหมือนเขาจะเหยียดหยามแกล้งให้เราเจ็บ มันยิ่งเจ็บ มันยิ่งเจ็บ มันยิ่งฝืน มันฝืน นี่บารมีธรรมมันเกิดตรงนี้ไง นี่แล้วพอมาเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะเห็นไหม เวลาออกจากราชวัง โธ่ไปดูในพระไตรปิฎกสิ พอราหุลเกิดนะ ละล้าละลังนะ โธ่ ดูครอบครัวใหม่สิ ครอบครัวใหม่คนไหนมีลูกคนแรกน่ะเห่อน่าดูเลย เห่อมากๆ แล้วเจ้าชายสิทธัตถะลูกเกิดแล้วเนี่ยรักลูกไหม รักลูกน่ะ

หลวงตาพูดบ่อย ไม่กล้าไม่ดูเพราะอยู่ในอกนางพิมพา กลัวไปดูแล้วจะออกบวชไม่ได้ รักขนาดไหนก็ต้องเสียสละออกไป ตอนเสียสละออกไปนะเสียสละราชบันลังก์ เสียสละเมีย เสียสละลูก เสียสละทุกอย่างออกไป เนี่ย ออกไปด้วยหัวใจที่มันหมองหม่นขนาดไหน ทุกข์ไหม ไม่ได้ออกไปแบบคนที่ไม่รับผิดชอบ ไม่ใช่ออกไปแบบคนสิ้นเนื้อประดาตัว ออกไปแบบทุกอย่างเขาเกื้อกูล

พระเจ้าสุทโธทนะนี่พร้อมเลยนะ ปกป้องไว้ตั้งแต่เกิดนะ เพราะพราหมณ์พยากรณ์ไว้แล้ว ถ้าออกบวชจะเป็นศาสดา ไม่ต้องการให้ออก ป้องกันไว้หมดเลยนะ แต่ด้วยอำนาจวาสนาด้วยบารมีน่ะ ไปเจอยมทูตทั้ง ๔ เห็นเกิด เห็นแก่ เห็นเจ็บ เห็นตาย พอออกไปด้วยความกลืนเลือดไปเลย ถ้าประสาเรานะ แล้วไปทนนะ เนี่ยหัวใจก็มีอย่างนี้ออกไปประพฤติปฎิบัติ ออกไปต่อสู้จนกว่าจะชนะกิเลสแล้วนะ แล้วกลับมาเอาเห็นไหม พระเจ้าสุทโทธนะเป็นพระอรหันต์ แม่ก็เป็นพระอรหันต์ พิมพาก็พระอรหันต์ สามเณรราหุลก็เป็นพระอรหันต์

กัณหา ชาลีเนี่ยเวลาให้ชูชกไป กัณหายอม ชาลีต่อว่าไง คิดอคติไง มาเกิดเป็นนางอุบลวรรณาไงเห็นไหม แม้แต่ความคิดนี่ คิดว่าพ่อน่ะไม่รักเรา ทำไมพ่อให้เรากับชูชกไป แต่อีกคนหนึ่งไม่คิด เวลาเกิดอีกชาติหนึ่งเห็นไหม ถ้าไม่คิดนะนางพิมพาจะมีลูก ๒ นางพิมพามีลูกเฉพาะกัณหา นางอุบลวรรณาไปเกิดต่างหาก แต่นางอุบลวรรณาก็เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน เป็นภิกษุณีที่มีฤทธิ์มาก แต่ไม่ได้เกิดร่วมสหชาติเพราะด้วยความคิดที่ผิด ตอนที่ให้ชูชกไปมันมีการต่อว่า คิดต่อว่า คิดคัดค้าน นี่ไงอำนาจวาสนามันอยู่ตรงนั้น

นี่พูดถึงครอบครัวนะ แต่เวลาบวชไปแล้วเนี่ย หรือเราประพฤติปฏิบัติไปแล้ว เห็นไหม จะบอกเลยว่าประพฤติธรรมแล้วสังคมวงศ์ตระกูลจะขาดด้วน ตระกูลจะไม่เป็นไป เราบอกไม่จริง ไม่จริงเพราะอะไรรู้ไหม เพราะการเกิดของสังคมมันมีมาก โลกเนี่ยกามคุณ ๕ กามคุณของโลกเป็นกามคุณ ๕ ถ้าอยู่ในศีลในธรรมกามคุณ ๕ เพราะมันเป็นแบบว่ามันมีเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ไง ไม่สูญพันธุ์ แต่มนุษย์มันจะมากอยู่แล้วนะ เนี่ยกามคุณ ๕ กามคุณ กามที่อยู่ในศีลในธรรมน่ะเป็นคุณ

แต่ถ้าเป็นพรหมจรรย์กามมันเป็นโทษแล้ว เพราะพรหมจรรย์มันเหนือกว่า พอมันเหนือกว่าสิ่งที่เหนือกว่าต้องลงทุนนี้มากกว่า ในการประพฤติปฏิบัติมันต้องดีกว่าเพื่อสุขที่ละเอียดไง ทีนี้ความสุขที่ละเอียด มันก็ต้องต่อสู้ ต่อสู้เต็มที่นะ ต้องต่อสู้กับตัวเองเพื่อเอาชนะตัวเอง นี่พูดถึงเรื่องการครองเรือน ถ้าการครองเรือนน่ะเห็นชัดๆ เลย แต่โลกเขามองกันอย่างนั้น เราเข้าใจได้ ในสังคมนี่เข้าใจได้ เห็นไหมกามคุณ กามคุณ ๕ เรื่องของโลกเห็นไหม โลกียปัญญา โลกุตตรปัญญา

เรื่องของโลก ฌานโลกีย์เรื่องของโลก โลกคิดได้แค่นี้ เทวดายังคิดได้แค่นี้เลย เทวดา อินทร์ พรหม คิดได้แค่นี้ ทำไมเทวดา อินทร์ พรหม ต้องมาฟังเทศน์พระอรหันต์น่ะ มนุษย์เหมือนกัน มนุษย์คนหนึ่งเห็นไหมจำธรรมพระพุทธเจ้ามาได้หมดเลย แต่ไม่ได้สัมผัสจริง ไม่ได้รู้จริง มันไม่เป็นความจริงขึ้นมา แต่พระอรหันต์น่ะมันเห็นจริงตามข้อเท็จจริง มันเห็นการเปลี่ยนแปลงของจิตนะ

ปัจจุบันที่เราปฏิบัติกันมันได้ผลเพราะอะไร เพราะมันได้ผลมันเหมือนตะกอนในแก้ว ตะกอนในภาชนะมันสงบตัวลง แต่วิธีการที่จะเอาตะกอนออกจากน้ำเนี่ย คนไม่เคยเห็นไม่เคยเปลี่ยนแปลง ความคิดของเราเนี่ยมนุษย์เรา ในร่างกายเรามีเลือดอยู่ ๕ ลิตร เลือด ๕ ลิตรมันก็อยู่กับเราเนี่ย เรากินอะไรเข้าไปมันก็หมุนเวียนอยู่ในเลือด ๕ ลิตรนี้ ทีนี้ถ้าเรามันมีเชื้อโรคมันก็อยู่ในเลือดใน ๕ ลิตรในร่างกายเราเนี่ย

กิเลสหรือความรู้สึกเราก็อยู่ในขันธ์น่ะ ความรู้สึกความคิดเนี่ย กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันอยู่ในความคิดเรา แล้วมันก็ฟูมันก็แฟ่บอยู่ในความคิดเรา แล้วศึกษาธรรมมันก็ได้แค่นี้ แต่ถ้าพูดถึงนะ ดูสิ คนที่เขาเป็นโรคเลือดเห็นไหมเขาถ่ายเลือด ถ่ายเลือดให้มันหายใช่ไหม เนี่ยถ้าเป็นโลกุตตรปัญญามันขุดค้น มันเปลี่ยนแปลง มันเปลี่ยนแปลงอย่างไร ภาวนามยปัญญามันกรองจิตอย่างไร จิตมันจะพ้นจากกิเลสได้อย่างไร มันเห็นชัดเจนนะ เลือด ๕ ลิตรเนี่ย ถ้ามันเปลี่ยนแปลง อย่างเชื้อโรค อย่างโรคของเลือด แล้วมันเปลี่ยนแปลงอย่างไร ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมันจะสะอาดได้อย่างไร มันจะเป็นความจริงได้อย่างไร เนี่ย มันเห็นได้ชัดเจนมาก

นี่พูดถึงปัญญามันคนละชั้น มันเลยมุมมองเลยต่างกันไง แต่ทีนี้เวลาโยมน่ะ ความจริงมันธรรมดา อย่างเช่นเราเนี่ยถ้าเรามีครอบครัว เวลาเรามีลูกขึ้นมา ลูกจะไปบวชเนี่ยเราพอใจไหม เราก็อยากจะให้ลูกอยู่กับเรามันเรื่องธรรมดา ทีนี้เขาเรียกว่าทวนกระแสไง ทวนกระแสถ้าลูกออกบวช บวชแล้วเป็นไปได้ไหม เป็นไปได้จริงไหม ถ้าเป็นจริงนะบุญมหาศาลเลย

บุญนี้มหาศาลเลยเพราะอะไรรู้ไหม เพราะพระเจ้าอโศกมหาราชสร้างวัด ๘๔,๐๐๐ วัด เป็นญาติกับศาสนาหรือยัง ยัง สร้างวัดสร้างวัตถุเนี่ย ๘๔,๐๐๐ วัด อุปัฏฐากศาสนามหาศาลเลย ไปถามอาจารย์ของตัว พระติสสะไง บอกยังไม่เป็นญาติกับพระศาสนา ถ้าเป็นญาติกับศาสนาต้องทำอย่างไร ต้องเอาลูกมาบวช เพราะอะไรรู้ไหมเพราะเอาลูกมาบวชลูกเป็นสายเลือด สายเลือดเอาเข้ามาบวช พอบวชแล้วคิดถึงลูกคิดถึงศาสนา คิดถึงลูก คิดถึงพระ ถ้าลูกเราทำความผิดคิดถึงลูกเรา ลูกก็คือลูกเรา ถ้าลูกเรามีโทษคิดถึงเมื่อไหร่ก็เป็นความเศร้าหมองในใจ

แต่ถ้าเราคิดถึงพระลูกชาย พระลูกชายเห็นไหม เราจะคิดถึงใคร เราก็คิดถึงศาสนาเพราะสายเลือดเราไปค้ำจุนในศาสนา นี่ไงที่ว่าในพระไตรปิฎกเห็นไหม เอาลูกมาบวชพ่อแม่ได้ ๑๖ กัป ๑๖ กัปเพราะอะไร เพราะลูกบวชเท่ากับพ่อแม่บวช เพราะไข่ของแม่ เพราะสเปิร์มของพ่อออกมาเป็นลูก ดีเอ็นเอของลูกตรวจเท่าไรก็เป็นของพ่อแม่หมด ดีเอ็นเอตรวจเป็นของพ่อแม่หมด

นี่พ่อแม่เอาเลือดเนี้อเชื้อไขเข้าไปค้ำยันศาสนา ค้ำยันศาสนา เอาเลือดเนี้อเชื้อไขเข้าไปค้ำยันศาสนาไว้ เพราะในศาสนามีพระบวช มีพระบวชตลอดเวลา พระพุทธเจ้านิพพานไปนี้ยังไม่ขาดจากสงฆ์ ถ้าขาดจากสงฆ์เนี่ยบวชพระไม่ได้ มันยังไม่ขาดจากสงฆ์เห็นไหม ค้ำยันศาสนาก็เป็นญาติกับพระศาสนา เนี่ยได้ ๑๖ กัป นี้ได้บุญตรงนี้ไง ได้บุญตรงที่ว่าเราเอาเลือดเนี้อเชื้อไขของเราเลย ไปสืบทอดให้ชีวิตศาสนามันยาวอีกนิดหนึ่ง นิดหนึ่ง ๗ วัน ๑๕ วัน ปีหนึ่ง ๑๐ ปีเนี่ยเราก็ไปสืบต่อศาสนาด้วยเลือดเนื้อเชื้อไขของเรา ได้บุญไหม มันได้บุญแน่นอน นี่พูดถึงบุญนะ พอเวลาลูกบวชออกจากโบสถ์แม่เอาไปเลย ๑๖ กัป

แล้วถ้าลูกประพฤติปฏิบัติภาวนาไปได้บุญกุศล จิตสงบขึ้นมาได้บุญขึ้นมาเนี่ย มันจะส่งเสริม ส่งเสริมนะ พ่อแม่จะได้บุญเลย พระเนี่ยเห็นไหมเหมือนกับคนงาน เวลาเราทำงานเสร็จเราได้ผลตอบแทน เวลาบิณฑบาตมาเนี่ยโยมใส่บาตร อาหารที่ได้มาเหมือนค่าจ้างแล้วเวลาพระปฏิบัติขึ้นมาได้ผลตอบแทน ถ้าพระที่ดีจิตสงบเห็นไหม มันมีในสมัยพุทธกาล มันมีทุคตเข็ญใจไปนิมนต์พระมาฉัน แล้วพระเนี่ยพระก็มีกิเลส พระก็มาจากลูกชาวบ้านมาจากลูกคน เอ๊ คนนี้คนทุกข์คนยาก พรุ่งนี้จะไปฉันข้าว ข้าวไม่อร่อยแน่ๆ เลย ก็เลยไปบิณฑบาตกินก่อนไง ไปบิณฑบาตมาฉันอิ่มแล้วนะ แล้วไปฉันบ้านนั้นก็ไปเป็นแค่พิธี

แต่บังเอิญทุคตเข็ญใจเขาจะทำบุญเขาก็ไปบอกบุญ คนก็มาช่วยงานเยอะแยะเลย นี้พอมาช่วยงานของถวายพระมันเยอะไง พระถึงจะทำอย่างไรแล้วแต่ แต่พระมีกิเลสขนาดไหน แต่พระก็ไม่โกหก พระสมัยพุทธกาลนะไม่โกหก พออาหารมาถวายให้ฉัน นี้พระฉันอิ่มแล้วจะฉันได้ไง ก็บอกฉันอิ่มแล้ว เอ้าทำไมท่านไปฉันที่ไหนมาล่ะ ก็ไปบิณฑบาตมาก่อนแล้วฉันแล้วถึงมางานนี้ไง อู๋ เจ้าภาพเขาเสียใจมากนะ เสียใจมากเขาก็เอาอาหารเนี่ย ประชดน่ะ ใส่บาตรๆ เต็มเลย ไป๊ กลับไปฉันวัด ใส่บาตร เขาประชด

เขาคนทุกข์คนยากกว่าจะได้ทำบุญแต่ละครั้งก็ไม่ใช่ของง่าย เขาไปผ่าฟืนไง เอาค่าแรงจากการไปผ่าฟืน กรรมกรน่ะ รับจ้างเอามาซื้ออาหารมาถวายพระ แล้วพระมาฉันของเขาไม่ได้เนี่ยเขาก็เสียใจ พอเสียใจเขาก็ประชด ประชดเสร็จแล้วเขาก็มานั่งคิดไง เอ๊ เราจะทำบุญแล้วมันจะได้บาปหรือเปล่าน้อ เราอยากได้ทำบุญแต่ทำไมมันทำแล้วเราถึงเศร้าหมองอย่างนั้น ก็เลยไม่สบายใจ ไม่สบายใจก็ไปเฝ้าองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปเฝ้าองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าข้าพเจ้าทำอย่างนี้จะได้บุญหรือเปล่า

ทีนี้พระพุทธเจ้าตอบนะ ได้บุญแน่นอนเธอใส่บาตรเท่าไรก็แล้วแต่ ถ้าพระได้ฉันอาหารของเธอแล้ว ถ้าพระไปนั่งสมาธิจิตเป็นสมาธิ บุญของเธอได้มหาศาล ถ้าพระฉันของเธอแล้วไปปฏิบัติจะได้บุญมหาศาล นี่ไงค่าตอบแทน ก็ฉันอาหารของเขา แล้วเราไปทำเราได้กำลังนั้นมา แล้วเราไปทำสมาธิ สมาธิเกิดขึ้นมาบุญก็เป็นบุญของผู้ที่ใส่บาตรนั้น

พระพุทธเจ้าพูดคำนี้เลย ตอนพระพุทธเจ้าจะนิพพานนะ นายจุนฑะใส่บาตรไง นิมนต์ไปฉันที่บ้านมื้อสุดท้ายก่อนที่พระพุทธเจ้าจะนิพพาน แล้วไปฉันสุกรมัททวะน่ะ แล้วพอฉันสุกรมัททวะพระพุทธเจ้าก็นิพพาน พระพุทธเจ้าห่วงว่า ถ้าท่านนิพพานไปแล้วเนี่ย ลูกศิษย์ที่รักพระพุทธเจ้าจะไปต่อว่านายจุนฑะ ว่าเพราะฉันอาหารนายจุนฑะแล้วทำให้พระพุทธเจ้าเจ็บไข้ได้ป่วย ก็เลยสั่งพระอานนท์ไว้

อานนท์ ตั้งแต่พระพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้ามาเนี่ย การทำบุญที่ได้บุญมหาศาล บุญที่ประเสริฐมีอยู่สองคราว คราวหนึ่งนางสุชาดาใส่บาตรเรา เราฉันอาหารนั้นของนางสุชาดาแล้วเราถึงซึ่งกิเลสนิพพาน กิเลสในหัวใจเนี่ย เพราะฉันอาหารนางสุชาดามื้อนั้น แล้วท่านก็นั่งวันวิสาขะ แล้วพระพุทธเจ้าก็ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เนี่ยเราฉันอาหารของนางสุชาดาหนหนึ่ง เราถึงซึ่งกิเลสนิพพาน

กับคราวที่สอง เราฉันอาหารของนายจุนฑะ แล้วเราถึงซึ่งขันธนิพพาน พระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์สิ้นกิเลสแล้ว กิเลสตายไปจากใจแล้วนะ เห็นไหมสิ้นกิเลสเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา แต่พระอรหันต์น่ะ สอุปาทิเสสนิพพาน พระอรหันต์ที่มีชีวิตอยู่ยังมีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ มีร่างกายก็มีความคิดอยู่ แต่ตัวจิตไม่ใช่ความคิด แล้วพอฉันอาหารของนายจุนฑะเนี่ยถึงซึ่งขันธนิพพาน ขันธ์ ขันธ์คือขันธ์ ๕ ขันธ์คือความคิดเห็นไหม ถึงซึ่งขันธนิพพาน แต่ตอนฉันอาหารของนางสุชาดาถึงซึ่งกิเลสนิพพาน เนี่ยฉันอาหารเห็นไหม

เวลาทำบุญ เราบอกว่าพระเนี่ยทำบุญกุศล บวชแล้วออกมาจากโบสถ์มาเนี่ยพ่อแม่เอาไป ๑๖ กัป แต่ถ้าบวชแล้วถ้าพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบปฏิบัติตรง บุญจะทับถม ทับถมขึ้นมาเลย บุญจะเกิดขึ้นที่นั่น พ่อแม่คิดถึงพระก็คิดถึงลูก แล้วลูกปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเห็นไหม บุญกุศลหรือคุณงามความดีมีให้เราตักตวงมากมหาศาลเลย แต่กิเลสมันบังตาไว้ มันไม่ยอมให้ทำ มันบอกโน่นก็ไม่ใช่บุญ นี่ก็ไม่ใช่บุญ ถ้าทำบุญเยอะๆ แล้วจะเป็นบุญ แล้วบุญที่ไหนมันเยอะล่ะ ทำบุญมากน้อยขนาดไหนนะอยู่ที่การภาวนาพุทโธเนี่ย พุทโธ พุทโธ นี้พอพุทโธเนี่ยจะทำบุญมากทำบุญน้อยเห็นไหม

เวลาเข้าไปวัดปฏิบัติน่ะถึงต้องให้สงบเสงี่ยม เพราะอะไรรู้ไหม เพราะปฏิบัติน่ะมันต้องอาศัยสิ่งแวดล้อมที่ดี สิ่งแวดล้อมที่มันสงบสงัดเห็นไหม กายวิเวก กายต้องวิเวกก่อน ถ้าบอกว่าไปกายวิเวกก็เหงาแย่นะสิ ก็ต้องมานั่งคุยกันน่ะ สุ่มหัวเอาหัวชนกันแหม สุขมาก มันไม่วิเวกเพราะอะไรเพราะมันคุยกันเห็นไหม เนี่ย มันไม่วิเวก กายไม่วิเวก จิตไม่วิเวกไง พอแยกกายวิเวก อยู่คนเดียวต่างคนต่างอยู่ พอกายวิเวกปั๊บ จิตมันก็ไม่วิเวกแล้ว เพราะมันคิดร้อยแปดเลย ถ้าอยู่ด้วยกันนะคุยกันนะ โอ้ คุยเรื่องนั้นเรื่องนี้นะ ลืมเพลินนะ

พอแยกไปปุ๊บนะ โอ้โฮ เรื่องมันจะเกิดมาก อยู่คนเดียวให้ระวังความคิด คนไม่เข้าใจไงว่าอยู่คนเดียวเนี่ยปฏิบัติง่ายนะ เพราะอยู่คนเดียวมันเป็นความจริง ความคิดเกิดจากเรา กิเลสเกิดจากเรา สรรพสิ่งเกิดจากเรา เราต้องเอาชนะเรา การประพฤติปฏิบัติคือการเอาชนะตนเอง แต่ขณะที่เราคลุกคลีกัน เราอาศัยกัน สัตว์มนุษย์เป็นสัตว์สังคม อยู่ด้วยคนเดียวไม่ได้ อาศัยกันอยู่แล้วก็พูดปลอบประโลม พูดปลอบใจกัน ปลอบแบบโกหก ต่างคนต่างปลอบกันนะ เออเอ็งก็มีความสุขนะ ข้าก็มีความสุขนะ ทั้งๆ ที่ไม่มีความสุข ทุกข์ทั้งนั้นล่ะ แต่มันหลอกกันไง เอ็งก็สุขเนอะ เออดีเนอะ นู่นก็ดี นี่ก็ดี นี่ไงโกหกไง อยู่กันแบบโกหก

แต่ถ้าอยู่คนเดียวเป็นความจริง ทุกข์ก็ทุกข์จริงๆ สัจธรรม หิวกระหาย เดือดร้อน อ่อนเพลีย ความจริงทั้งนั้น อยู่คนเดียวเนี่ยความจริง แล้วถ้าชนะใจเรา เราก็ชนะได้จริงๆ แต่อยู่ด้วยกันสังคม เนี่ยมนุษย์เป็นสัตว์สังคม หวังพึ่งพาอาศัยกัน แต่ก็พึ่งพาอาศัยกันโดยสังคม สังคมคือวัฎฏะ กามภพ รูปภพ อรูปภพ เวียนว่ายตายเกิดมันเป็นธรรมชาติของมันแล้วเราจะออก วิวัฏฏะ เราแยกออกเป็นหนึ่งเห็นไหมพรหมจรรย์ พรหมจรรย์คือหนึ่งเดียว แล้วต่อสู้กับตัวเองเพื่อตัวเอง

นี่ไงธรรมมันเหนือโลกตรงนี้ไง นี่ที่ว่าธรรมะเหนือโลกเนี่ยเราอยู่คนเดียวพรหมจรรย์ แล้วพอพรหมจรรย์แล้วเนี่ยทำความสงบ ทำความดีขึ้นมาเพื่อลบล้าง เหมือนพระพุทธเจ้าท่านว่าน่ะเราถึงซึ่งกิเลสนิพพาน ถึงซึ่งขันธนิพพาน นี้ไงพอถึงขันธนิพพานที่ว่าความคิดฆ่าไม่ได้ ฆ่าไม่ได้เนี่ย ถึงซึ่งกิเลสนิพพานแล้วมันจะไปเหลืออะไรล่ะ ความคิดมันมาจากไหนล่ะ ความคิดไม่ใช่จิต แล้วที่มันเหลือมันเหลืออะไร เหลือวิมุตติสุขมันเหลืออย่างไร แล้วมีความสุขอย่างไร ถ้าไม่ถึงไม่รู้มันจะมีความสุขได้อย่างไร ไม่ถึงไม่รู้มันจะไม่เวียนว่ายตายเกิดได้อย่างไร

ในเมื่อมันออกจากวัฏฏะไปแล้วเห็นไหม อยู่คนเดียวเนี่ยสำคัญ อยู่คนเดียวนี่สุดยอด เพราะเขาปรารถนาว่าการเกิดก็เกิดด้วยคนเดียวไม่ได้ มีพ่อหรือมีแม่คนเดียวเกิดไม่ได้ ต้องพ่อแม่เป็นครอบครัวถึงเกิดเราได้เห็นไหม โลกเป็นอย่างนี้แล้วเราจะต่อไปอย่างไร ถ้าเราต่อของเราได้ อยู่ของเราได้เนี่ยพรหมจรรย์ ดูพระพุทธเจ้าเทศน์สิ เทศน์กับประชาชนทั่วไป อนุปุพพิกถา ตั้งแต่สมัยทาน ศีล พรหมจรรย์ เห็นไหม เนกขัมมะ แล้วก็ออกบวช

เวลาพระพุทธเจ้าเทศน์นะ พอจิตมันพร้อมแล้วถึงเทศน์อริยสัจ อริยสัจความเอาชนะตนเองนี่สำคัญมาก ถ้าชนะตนเองมันถึงยอดมาก นี่พูดถึงว่าชีวิตในการครองเรือน แล้วมีพระธุดงค์หลงได้อย่างไร พระธุดงค์มันหลงตั้งแต่ยังไม่ธุดงค์นั่นน่ะ ถ้าเราไม่หลงเนี่ยเราไม่หลง มันหลง ธุดงค์หลงป่า พระพุทธเจ้าบอกไว้แล้ว พระพุทธเจ้าสอนไว้ในธรรมะนะ ตัดป่าแต่ไม่ตัดต้นไม้ ตัดป่าแต่ต้นไม้ไม่ตัดสักต้นเดียว ไปดูในพระไตรปิฎกสิ ทุกคนอ่านแล้วงงนะ พระพุทธเจ้าบอกว่าให้รื้อ ให้ถางป่าให้ราบเลย แต่ห้ามตัดต้นไม้แม้แต่ต้นเดียว ป่ารกชัฏคือกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ทำลายกิเลสตัณหาความทะยานอยากแล้วไม่ได้ทำลายอะไรเลย

แต่คนเราเข้าใจผิด พระไตรปิฎกยังมีอยู่เยอะมาก บอกให้ตัดป่าแต่ห้ามตัดต้นไม้ นี้ถ้าเราไม่เข้าใจปั๊บเนี่ย บอกให้ตัดป่านะแทรคเตอร์กูลุยเลย ราบเลยไม่เหลืออะไรเลย เอ้าเขาบอกให้ตัดป่ารกชัฏ ตัดกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เขาไม่ได้ให้ตัดต้นไม้ มันหลงตั้งแต่นี่แล้ว มันหลงตั้งแต่ยังไม่ออกธุดงค์ ไม่ออกธุดงค์มันก็หลงในใจมันแล้วเห็นไหม

แล้วออกไปธุดงค์ นี่การหลงป่า การหลงป่าเนี่ยพระธุดงค์ หลวงตาท่านพูดไว้ในอะไรนะที่ว่าหลงไป ๓ องค์เห็นไหม หลวงตานี่ไม่ธรรมดานะท่านเที่ยวป่ามาขนาดไหนยังหลงไปอดข้าวอดตายน่ะ ทีนี้มันอยู่ที่กรรมที่เวรของพระนะ หนึ่ง แล้วก็อยู่ที่พระปฏิบัติด้วย อย่างเรานี่เราก็หลงป่า เราไปเที่ยวป่าเนี่ยเราต้องมีพระไปด้วย เรานี่ไม่มีความชำนาญเรื่องป่า จำไม่ได้ ใครจะพาไปไหนแล้วแต่นะ กลับมานะแล้วให้ไปเองรอบสองนะไปไม่ถูก เนี่ยไปไม่ถูกหรอก นิสัยจำทางไม่เป็น

แต่เพื่อนบางคนนะ เราอยู่กับพระธุดงค์เวลานั่งคุยกันเนี่ย ไปปั๊บนะจะเห็นต้นไม้ต้นนั้น เห็นก้อนหินก้อนนั้นเขาคุยกันได้ขนาดนั้นนะ ก้อนหินเขาจำก้อนหินได้ ไปถึงป่าทั้งหมดเลยเนี่ย เขาจะคุยเป็นถนนเลย แล้วไปถึงตรงนั้นแยกตรงนั้นเข้าตรงนั้นๆ แล้วเวลาเราธุดงค์มากับเขา เราจะบอกเขาตลอดว่าไปไหนก็ไปได้ ไปไหนไม่กลัวทั้งสิ้นเลยแต่ต้องบอกทาง ไปด้วยกันแล้วกลับมาเขามาส่งถึงชายป่าแล้วนะ บอกเดินไปเนี่ยตรงไปเนี่ยออกพ้นป่า เรายังหลงเลย หลง เราก็หลง ไอ้อย่างนี้มันอยู่ที่เชาว์ปัญญานะ แล้วสังเกตได้ไหม พวกเราบางคนจะจำทางแม่นมาก บางคนจำทางไม่ได้เลย เหมือนกันเข้าป่าก็เป็นอย่างนั้น

ถ้าคนไม่ชำนาญป่านะ เราไปอยู่ป่าใหม่ๆ เราเข้าไปเที่ยวธุดงค์ เพื่อนๆ พระไม่มีนาฬิกาแต่เขารู้เวลาดีกว่าเราอีก แล้วเรามีนาฬิกานะแต่เพื่อนไม่มีนาฬิกา ไปนัดกันไงพอเข้าป่าแล้วพอถึงตี ๓ ตี ๔ ต้องลงแล้ว พอลงมาจะบิณฑบาต วันนั้นเราก็เก็บของนั่งรออยู่นะ ตั้งนานทำไมเพื่อนยังไม่มา สักพักหนึ่งวิ่งมา วิ่งมาเนี่ยกระหืดกระหอบเลย เอ้ยดูดาวผิด ดูดาวผิด

เขาดูดวงดาวกันนะ พวกพรานป่าเขากำหนดดูดวงดาวเนี่ยเขารู้เวลาดีกว่าเราอีก ดาวนี่มันไม่คงที่ใช่ไหม ข้างขึ้นข้างแรมใช่ไหม เขาก็คำนวณได้ เราอยู่ป่ามาน่ะ เราอยู่กับพระเที่ยวป่าเนี่ยเขาชำนาญมาก เขาคุยกันเนี่ยเป็นคุ้งเป็นแควเลยนะ แต่ให้เรานึก นึกตามไม่ทันหรอก ก็ไปด้วยกันเนี่ย ต้นไม้ก็เหมือนต้นไม้เนี่ย แล้วกลับมาต้นนั้นเป็นต้นนี้ ใบไอ้นั่นใบไอ้นี่ ใบตรงนั้นเป็นอย่างนั้น ใบตรงนั้นเป็นอย่างนี้ เราไม่รู้เรื่องกับเขาเลยนะ เขาคุยกันสนุกครึกครื้นนะ ไอ้เราก็นั่งฟังอยู่นะ แต่ไปไหนไปด้วย แต่หลง

อันนี้พูดถึงหลงนะ แต่หลงข้างในสำคัญมาก ข้างในมันหลงอยู่แล้ว ไอ้หลงป่าเนี่ย ป่ามันก็เหมือนพวกพรานป่าเขาชำนาญป่า แต่พรานป่าชำนาญป่าเขาก็หลงป่าได้ บางทีเขาก็หลง ไอ้ป่าข้างนอกน่ะมันเป็นป่ารกชัฏ ป่าอย่างนี้มันอีกเรื่องหนึ่ง แต่ป่าข้างในเนี่ย ป่าข้างในเนี่ย อันนี้ว่าหลงนะเราเกิดมาหลงกันอยู่แล้ว อันนี้เพียงแต่ว่าไม่ใช่ว่าพระธุดงค์จะเก่งกล้า เพราะเราก็มีความคิดอย่างนี้มาก่อน เรามีพระเพื่อนเป็นพระฝรั่งเยอะ พอหน้าหนาวนี่เขาก็มีแต่เครื่องกันหนาวนะ เราก็ถาม เฮ้ย เอ็งอยู่เมืองหนาวเอ็งหนาวได้ยังไงวะ โอ้ย มันหัวเราะนะ มันบอกว่ามึงจะบ้าเหรอ อยู่เมืองร้อนเมืองหนาวก็หนาวเหมือนกันทั้งนั้น อยู่เมืองหนาวเวลาหนาวกูก็มีเครื่องกันหนาวไง

อ๋อ เราก็นึกว่าคนเมืองหนาวมันจะทนได้ดีกว่าเราไง ไอ้เรามันอยู่เมืองร้อนใช่ไหม เราอยู่เมืองร้อนเวลาหน้าหนาวเนี่ยมันก็ต้องหนาวใช่ไหม ไอ้คนเคยอยู่เมืองหนาวมาหน้าหนาวมันก็เรื่องเป็นปกติ เราถามเขาอย่างนี้จริงๆ ด้วยความซื่อ คิดว่าพวกยุโรปนี่เวลาหน้าหนาวเขาจะไม่หนาว เขาบอกไอ้บ้าเอ๊ย มันก็หนาวเหมือนกันแหละ เพียงแต่อยู่ทางยุโรปนี่เวลามันหนาวมันมีเครื่องกันหนาว เขาก็อยู่กันอย่างนั้น ไอ้เราก็นึกพาซื่อไง นึกว่าคนมาจากเมืองหนาว หน้าหนาวมันจะหนาวน้อยกว่าเรา มันบอกเหมือนกัน

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เขาว่าพระธุดงค์จะไม่หลงป่าไง พระธุดงค์ที่ชำนาญนะ ผู้เที่ยวจนชำนาญอย่างหลวงปู่ชอบเห็นไหม ที่ว่าทางพม่าเขาส่งมาตอนที่อังกฤษมันยึดพม่า ให้เดินตรงไปอย่างนี้เลยนะตามทางนี้ไป ตามทางในป่าเนี่ยมันจะเป็นทางเหมือน.. ดูป่าเราสิถนนนี่ ถ้าคนจะเดินหน่อยมันจะเป็นทางเลย ทางเดินก็คือว่าเหมือนมีช่องทางคนเดินไปปั๊บ คนเดินปั๊บเนี่ยหญ้ามันจะไม่ขึ้น แต่มีใบไม้ปกอยู่มองแทบไม่เห็นเลย มันเลือนราง เราจะมองตามนั้น แล้วเดินไป เนี่ยๆ เขาบอกทาง แล้วถ้ามึงเผลอนะออกนอกทางนะ เสร็จ เสร็จ เนี่ยเอาหลวงปู่ชอบมาส่งนะ แล้วเดินไปตามทางนี้อีก ๓ วันเดินไปทางนี้อีก ๓ วันจะทะลุถึงเมืองไทย

จนหลวงปู่ชอบเดินมา ๓ วันนะ แล้วพอสุดท้ายวันที่ ๓ นะโดยปกติเนี่ยกลางคืนนั่งสวดมนต์เทวดาก็มานั่งฟัง เทศน์เทวดาก็มาถามปัญหา ปัจจุบันนี้จะตายอยู่แล้วเนี่ยเทวดาไม่เคยช่วยเหลือเลย ไม่มีใครดูแลเลย เวลาอยู่ปกติคนนู้นก็มาเอาประโยชน์ คนนี้ก็มาเอาประโยชน์ ตอนนี้พระธุดงค์กำลังจะตายเนี่ย ไม่มีใครสนใจเลยน่ะ แหงนหน้าขึ้นมามีคนมาคอยใส่บาตร บ้านอยู่ไหนน่ะ โน่น แต่ตอนนั้นกำลังหิว เราเข้าใจเรื่องนี้นะ ถามว่าบ้านอยู่ไหน เขาก็ชี้มือขึ้นไปบนฟ้าแต่ไม่ได้คิดนะเพราะกำลังตาลาย ก็รีบบิณฑบาตก่อน

พอบิณฑบาตก่อนเขาเอาอาหารใส่บาตร มันเหมือนพระกัสสปะ พระกัสสปะเห็นไหมเข้าสมาบัติออกจากสมาบัติแล้วจะมาโปรดคนยากคนจน นี่พอบิณฑบาตไปน่ะพระอินทร์ปลอมเป็นช่างทอหูก พอเอาอาหารใส่บาตรนี่พระกัสสปะ ช่างทอหูกเนาะอาหารเรา เราก็รู้อยู่นะอาหารเรา ข้าวมันไก่ ข้าวแกงเราก็รู้ๆ กันอยู่ แล้วคนจนจะมีอะไรเนาะมันก็ใส่มา นี้พระอินทร์น่ะ อาหารทิพย์มันใส่มา เราก็ดูรู้พอใส่แปะ นี่ไม่ใช่คนจนแล้ว พระกัสสปะกำหนดจิตดูเลย พอกำหนดจิตดู โอ๋ย พระอินทร์แปลงร่างมาไง

มหาบพิตร มหาบพิตรอย่าขี้โกงสิ เอ้านี่ก็ขี้โกงอะไรล่ะ เอ้าก็นี่เขาจะโปรดคนทุกข์คนยาก พวกคนร่ำรวยเขามีคนดูแลอยู่แล้ว พระกัสสปะชอบโปรดคนจน นี้จะโปรดคนจนน่ะ โอ๊ยข้าพเจ้าเนี่ยคนจน จนมาก พระอินทร์เนี่ยจนมาก เอ้าทำไมถึงจนล่ะ ก็ปกครองเทวดาอยู่ นี้เทวดาที่เป็นผู้ปกครองเคยทำบุญพระพุทธเจ้ามา พอทำบุญกับพระพุทธเจ้ามามีแสงมากกว่า พระอินทร์แสงน้อยกว่า ทำบุญกุศลได้สถานะเป็นพระอินทร์ แต่คนอื่นเขาทำบุญกับพระพุทธเจ้ามา เขาเป็นผู้ใต้ปกครองแต่เขามีแสง ลำแสงเขาเยอะกว่า เขารวยกว่า เหมือนเรานับทองน่ะ ทองเราเยอะกว่า

นี่เทวดาเขาวัดกันด้วยแสง ด้วยแสงด้วยความสว่าง เขาสว่างกว่า เขากว้างกว่า เขามีบุญญาธิการกว่า พระอินทร์เลยอ้างว่าจนไง จนเพื่อมาใส่บาตรพระกัสสปะเพื่อจะไปเพิ่มแสงเพิ่มบุญ เพื่อให้บุญมากกว่าที่จะไปปกครองนั้นไง มหาบพิตรอย่าขี้โกงเขาสิ นี่มาโปรดคนจนน่ะ เอ้านี่ก็จนน่ะ จนกว่าเขาน่ะ นี่มาที่หลวงปู่ชอบพอเขาใส่บาตรปั๊บ โอ๊ะ บ้านอยู่ไหน ชี้ไปข้างบน พอใส่บาตรแล้วคอยมองไง แล้วก็หลบไปหลบมา เวลาเดินถึงต้นไม้ หลบหลังต้นไม้ก็หายไปเลย นี่ก็มาฉันอาหารที่บิณฑบาตมา แล้วบอกว่ามันพอดิบพอดี อูยมันดีไปหมดเลยล่ะ แล้วกินหมดพอดี อิ่มพอดี

เนี่ยหลงป่า นี้ไม่หลงเพียงแต่ว่ามันอยู่ในป่า ๓ วัน เนี่ยอย่างพระปฏิบัติ พระปฏิบัติได้ฝึกดีแล้วอดอาหารอดข้าวอดอะไรเนี่ย มันทำได้มันเรื่องปกตินะ แต่พวกเราอดอาหารนะ เมื่อก่อนเราบวชใหม่ๆ อ่านประวัติหลวงปู่เทสก์กับหลวงปู่หลุย ถึงบอกเกิดสงครามโลก สมัยสงครามโลกไม่มีผ้าใช้ ไอ้นี่มันก็เลยแทงใจเรามาก หนึ่ง องค์หนึ่งหลงติดสมาธิอยู่ ๑๗ ปี องค์หนึ่งติดอยู่ ๑๑ ปี ไอ้หลงก็อย่างหนึ่ง

แล้วเรื่องเกิดสงครามเกิดข้าวยากหมากแพง พระเราเนี่ยประชาชนเขายังไม่มีอยู่มีกิน แล้วพระเราจะเอาอะไร มันทำให้ตัวเองนะเร่งความเพียรมาก เราคิดตลอดเวลาตอนที่เราบวชใหม่ๆ ถ้าเราบวชอยู่ เรายังปฏิบัติอยู่ ถ้าจิตใจเรายังไม่สามารถช่วยตัวเองได้ แล้วเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นมาเราจะทุกข์แค่ไหน ในเมื่อเหตุการณ์มันดีอยู่เห็นไหม เราพูดบ่อยในเมื่อสังคมยังสงบสุข สมณะชีพราหมณ์มีโอกาสได้ประพฤติปฏิบัติเราต้องขวนขวาย เราต้องตั้งใจ เราต้องรีบขวนขวายของเราเพื่อจะเอาตัวเรารอดให้ได้ ขนาดเราเองก็มีทุกข์ในหัวใจ แล้วไปเกิดภัยพิบัติอย่างนั้นขึ้นมา เราจะเกิดทุกข์กี่ซับกี่ซ้อนเล่า

นี้เหตุการณ์สังคมปกติบิณฑบาตมาพออยู่พอฉัน เราต้องรีบขวนขวายของเรา มันจะเตือนตัวเองตลอด อ่านหนังสือไป อ่านอะไรไป มันจะย้อนกลับมาหาตัวเองตลอด แล้วทำให้ตัวเองตื่นตัวตลอด เรื่องการภาวนานี่ โธ่ ข้าราชการเขาไปทำงานตั้งวันหนึ่ง ๘ ชั่วโมง ทำไมเราจะทำไม่ได้ อย่างที่หลวงตาท่านพูดหลวงตาท่านบอกเลย ไอ้คนติดคุกติดตะรางมันเหลาตอกวันละ ๓ เส้น ๔ เส้นน่ะ ไอ้เราปฏิบัติทำไมจะปฏิบัติไม่ได้ แต่เราก็คิดเหมือนกัน เราคิด ข้าราชการนี่เขาไปนั่งโต๊ะเขียนหนังสือวันหนึ่ง ๘ ชั่วโมง เขาเพื่อหาอยู่หากินของเขา แล้วเราพระปฏิบัติ เราจะพ้นจากกิเลส ไอ้ ๘ ชั่วโมงน่ะมันน้อยไป มันต้องทุ่มไปๆ ตลอดไง

ทำไมเขาทำหน้าที่การงานเขายังทำได้ เขาทำเพื่ออยู่เพื่อกินเขายังทำขนาดนี้ แล้วเราจะทำเพื่อพ้นจากกิเลส จะทำอย่างนั้นมันจะพอกินได้อย่างไร นี่เวลาเราเร่งความเพียร เพราะเราอ่านหนังสือ อ่านตำรับตำรานี่มันจะมีคติ เราจับประเด็นแล้วเอามาปลุกปลอบใจตัวเองตลอด ต้องอย่างนี้ ต้องอย่างนี้ มันเหมือนกับเราหาอุบายตลอดไง หาอุบายเพื่อจะฟิตตัวเองขึ้นมา เพื่อจะให้ตัวเองแบบว่ามีขวัญกำลังใจต่อสู้กับกิเลสตลอด ต่อสู้กับตัวเองเนี่ยต่อสู้ ต่อสู้

แล้วมันก็เห็นผลนะ แต่กว่าจะเห็นผลนะ ธรรมดาเวลาทุกคนมันจะมีกิเลส มันจะมีสิ่งเร้าให้เราผิดพลาด ไอ้ความผิดพลาดเนี่ยเราถึงเวลาใครมาถามน่ะ เนี่ยหมอเขามาถาม เขาไปอ่านเขาไปปฏิบัติทางอภิธรรมมา เขาบอกว่าเนี่ยสีลัพพตปรามาส ไอ้พวกเราเนี่ยไอ้พวกพุทโธ สีลัพพตปรามาส ลูบคลำมันไม่เป็นความจริงหรอก เราบอกเลยนะในการปฏิบัตินะ ล้านทั้งล้าน สิบล้านร้อยล้านทั้งร้อยล้านนะ ถ้าปฏิบัติสีลัพพตปรามาสหมด เพราะการเริ่มปฏิบัติทุกคนมีกิเลสหมด แล้วคนมีกิเลสมันจะปฏิบัติแล้วเป็นพระอรหันต์เลยน่ะ มันเป็นไปได้อย่างไง ในเมื่อทุกคนมีกิเลสทุกคน มันจะเป็นสีลัพพตปรามาสไปก่อน

แต่คำว่าสีลัพพตปรามาส คือว่า มันก็มีความสงสัยไปก่อนเป็นธรรมดา แต่ถ้ามีความสงสัยเราก็มีความตั้งใจมีความจริงใจกับเรา มันผิดก็รู้ว่าผิด มันถูกก็รู้ว่าถูกก็แก้ไขไป มันจะเข้าไปหาสิ่งที่ถูกได้ แต่ในความเห็นของเขา เขาบอกว่าถ้ามีความอยากปฏิบัติไม่ได้ ต้องไม่มีความอยากเลย ก็แกล้งว่าไม่มีไง แกล้งว่าเราไม่มีพยายามเปิดใจให้กว้างไว้ แกล้งคือปฏิเสธ ปฏิเสธไว้ นี้พอผลที่ตอบมาคือผลที่ปฏิเสธไง

เราถึงเปรียบเทียบเวลาที่เราคุยกับเขา เปรียบเหมือนเราเป็นข้าราชการ เราจะเซ็นชื่อหรือว่าเราไม่รับเงินเดือน แล้วเราทำงานของเราไปตลอดชีวิตไม่รับเงินเดือนได้ไหม การปฏิเสธคือการเซ็นสัญญาว่าจะไม่รับ ฉะนั้นพอปฏิบัติไปแล้วมันถึงเป็นมิจฉาหมดเพราะมันไม่รับไม่ต่อเนื่อง แต่ถ้าเป็นของเราเนี่ย รับ ผิดก็รับว่าผิด ถูกก็รับว่าถูก จากผิดมันก็จะเป็นถูกขึ้นมา จากถูกมันก็เข้าถึงหัวใจ เพราะพุทโธกำหนดจากใจ ทุกอย่างกำหนดจากใจ

แต่บอกว่าไม่มีความอยากเลย มันไปตัดตอนกัน ตัดตอนระหว่างความคิดกับจิต ความคิดเป็นความคิด จิตเป็นจิต ปฏิเสธกันหมดต่างคนต่างอยู่ไม่มีอะไรกันเลย มันแว้บนะบอกเราหย่ากัน หย่ากันหมดเลย สมบัติเราห้ามยุ่งต่อกัน ไม่ใช่ กิเลสกับหัวใจมันไม่หย่ากัน มันอยู่ด้วยกัน มันถึงมีเจ้าของรับผิดชอบ ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว มันหย่ากันเลย ขาดจากกัน ต่างคนต่างอยู่ นี้ไม่มีความอยากไง แล้วปฏิบัติไปแล้ว เอ้าแล้วมึงปฏิบัติไปก็ต่างคนต่างได้ มันก็ไม่เข้าถึงใจไง มันก็เลยเป็นมิจฉาสมาธิ มิจฉาปัญญา มิจฉาทั้งหมดเลย

แต่ถ้าเป็นความจริงปล่อยให้เป็นไปตามความเป็นจริง ปฏิบัติตามความจริง มันสะเทือนถึงหัวใจ มันเข้าถึงใจตลอด เพราะมันมาจากใจ เจตนา เจตสิก เวลาคิดออกมาเป็นเจตนา เวลาเข้าเป็นเจตสิก มันจะเข้าไปถึงข้อมูลของใจ ข้อมูลลึกๆ เข้าไปถึงหัวใจ เข้าไปรื้อค้นกันที่ใจ มันจะเป็นความจริงขึ้นมา เนี่ยครูบาอาจารย์ที่เราปฏิบัติแล้วเป็นอย่างนี้จริงๆ ทำตามความเป็นจริง ปัจจุบันเป็นปัจจุบัน

แต่นี่ไม่เป็นอย่างนั้น นี่ไปตีความธรรมะพระพุทธเจ้าเอง อยากก็เป็นกิเลส แล้วกิเลสมันจะไปแก้ธรรมะได้ไงล่ะ กิเลสมันจะไปแก้กิเลสได้อย่างไร มันก็เป็นกิเลสน่ะ แล้วคิดเองเออเองหมดเลย แต่ครูบาอาจารย์เราไม่ได้คิดเองเออเอง ครูบาอาจารย์หลวงปู่มั่นเป็นพระอรหันต์ หลวงปู่เสาร์เป็นพระอรหันต์ การเป็นพระอรหันต์มันเป็นการชำระ มันเป็นการรู้เห็นมาตามความเป็นจริงแล้ว มันถึงมาสอนเราตามความเป็นจริงนั้น แต่โลกคิดถึงไม่ได้ วุฒิภาวะไง วุฒิภาวะของโลกก็คิดได้แบบโลก คิดแบบธรรมไม่ได้ พอคิดแบบธรรมไม่ได้ก็คิดแบบนั้นไป

แล้วเวลาพวกเราปฏิบัติ เขายังพูดอีกนะว่า เวลาพวกเราปฏิบัติ พวกเราไม่ศึกษาก่อน ไม่เคารพพระพุทธเจ้า ทำไมจะไม่เคารพ หลวงตาน่ะครูบาอาจารย์ คนเรานะถ้าบรรลุธรรมขึ้นมานะ กราบพระพุทธเจ้าด้วยหัวใจนะ เวลาหลวงตาท่านพูดเห็นไหม พุทธ ธรรม สงฆ์ รวมลงที่ใจหนึ่งเดียว แล้วทำไมไม่เคารพไม่บูชา เคารพบูชามาก แต่เคารพบูชาเหมือนกับเรากตัญญูกตเวที พ่อแม่กับเราเป็นอันเดียวกันหรือเปล่า ไม่ใช่หรอก พ่อแม่คือพ่อแม่ เราน่ะคนละคนใช่ไหม แล้วเรารักพ่อแม่เราทำไมล่ะ ทำไมเรารักพ่อแม่เราล่ะ แล้วพ่อแม่เป็นเราหรือเปล่า ไม่ใช่ ไม่ใช่นะ คนละคนนะ พ่อแม่คือพ่อแม่ เราเป็นเราใช่ไหม แต่เรารักพ่อแม่เราไหม รักสิเพราะอะไร เพราะเรามีความกตัญญูกตเวที

นี้ก็เหมือนเราปฏิบัติธรรมน่ะธรรมของเราใช่ไหม พระพุทธเจ้าเป็นของพระพุทธเจ้าใช่ไหม แล้วเราเคารพพระพุทธเจ้าไหม เคารพสิ แต่เป็นของเราใช่ไหม คนละคนใช่ไหม ธรรมมันเป็นอย่างนั้น มันเป็นปัจจุบันธรรมไม่ใช่ว่าไม่เชื่อไม่อะไรแล้วจะดูถูกเหยียดหยาม ไม่ใช่ คำว่าไม่เชื่อก็มันคนละคน มันคนละอัน มันไม่ใช่อันเดียวกัน แต่คนที่มีความกตัญญู คนที่มีความเคารพบูชาเนี่ยมันเคารพไหมยิ่งกว่าเคารพอีก มันเคารพมาจากหัวใจนะ แต่เวลาบอกว่าพุทธพจน์ เถียงพุทธพจน์ ไม่เคารพพระพุทธเจ้าอย่างนู้นน่ะ ไม่ใช่ พุทธพจน์ถูกหมด แต่มึงน่ะผิด ไอ้คนพูดน่ะผิด ไอ้พุทธพจน์น่ะไม่ผิดหรอก แต่คนพูดมันตีความผิด แล้วก็จะมาบังคับให้เป็น

แต่ครูบาอาจารย์เรานะก็เคารพระพุทธเจ้าเหมือนกัน แล้วที่สอนไม่สอนธรรมะพระพุทธเจ้าจะไปสอนธรรมะใคร ธรรมะพระพุทธเจ้าทั้งนั้นน่ะแต่สอนแบบผู้รู้จริงไง อยากทำความดี อยากปฏิบัติมันจะผิดไปไหน ลูกรักพ่อแม่มันผิดไปไหน ลูกเคารพพ่อแม่ ลูกอุปัฏฐากพ่อแม่ผิดไปตรงไหน นี่ก็เหมือนกันในเมื่ออยากทำความดี ความอยากน่ะอยากสร้างคุณงามความดี มันจะผิดไปไหน แต่ถ้าอยากได้ผลสิ นั่ง ๒ นาทีจะเอาสมาธิ บวชแล้วจะเอานิพพาน เออ อันนี้ผิด อันนี้มันอยากในผลไม่อยากในเหตุ อยากอย่างนี้เป็นตัณหา

โอ้ โกนหัวบวชเป็นพระอรหันต์แน่ๆ เลย รีบๆ บวชเลยนะ พอบวชเสร็จแล้ว กลับบ้านกันหมด นั่งคอตกเลย ทำไมทิ้งกูอยู่วัดคนเดียว เหงา ความคิดไง แต่ขนาดไหนก็ต้องสู้นะ ถ้าเป็นความจริงของเรา นี่พูดถึงว่าหลงนะ คนเข้าใจผิด ทำไมพระธุดงค์ทำไมหลงป่า พระก็มาจากคน เราขับรถไปที่ไหนเรายังขับรถหลงเลย ถนนมันเปลี่ยนอยู่ทุกวันนะ ของข้างนอกมันหลงได้

ดูอย่างในมิลินท์เขาถามนะ มิลินท์ถามพระนาคเสนว่า พระอรหันต์หลงในอะไร ไม่หลงในอะไรไง พระอรหันต์หลงในสมมติบัญญัติ พระอรหันต์ไม่หลงในอะไร พระอรหันต์ไม่หลงในอริยสัจ สัจจะความจริงในหัวใจนั้นน่ะไม่หลง แต่สมมติบัญญัติไง สมมติคือชื่อสมมติเรียกขานกันน่ะสมมติ บัญญัติคือบัญญัติของพระพุทธเจ้า ฉะนั้นพระอรหันต์สวดมนต์ผิด สวดมนต์เนี่ยบัญญัติ สวดมนต์ผิดสวดมนต์ถูกได้ แต่ในใจของพระอรหันต์ไม่มีวันหลงในธรรมธาตุ ในสัจธรรมความจริงอันนั้น

เนี่ยพระอรหันต์ถึงมีสติ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ในสัจธรรมนั้นเห็นไหม เวลาจะสื่อความหมายจากธรรมธาตุอันนั้น มันต้องสร้างรูปขึ้นมา มันต้องสร้างตัว ขณะสร้างตัวมันต้องไหว พอไหวเนี่ยสติมันพร้อมออกมา มันถึงพร้อมหมดไง สติพร้อมหมด พร้อมในตัวมันเอง พร้อมในตัวของจิตตัวนั้นเอง แต่เวลาจะคิดเนี่ยมันคนละเรื่องกัน เพราะความคิดไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ความคิด จบแล้วเนาะ เอวัง