ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เก็บศพไร้ญาติ

๒๒ มี.ค. ๒๕๕๒

 

เก็บศพไร้ญาติ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตอนเช้าพูดถึงเรื่องคติการเก็บศพ มันเป็นเรื่องพูดถึงพระยสะ “คติ” เป็นคติธรรมไง เพราะว่าพระยสะนี่ได้ฟังพระพุทธเจ้าเทศน์ ก่อนฟังพระพุทธเจ้าเทศน์

พระยสะพูดว่า “ที่นี่เดือดร้อนหนอ ที่นี่วุ่นวายหนอ”

พอพระพุทธเจ้าบอกว่า “ที่นี่ไม่เดือดร้อน ที่นี่ไม่วุ่นวาย ยสะมานี่”

เทศน์ให้ยสะฟัง พระยสะเป็นพระโสดาบัน เทศน์ซ้ำไปเป็นพระอรหันต์ เนี่ยบุญมาจากไหน บุญอันนั้นมาจากที่พระยสะกับหมู่คณะ ได้เคยเป็นผู้เก็บศพ เป็นผู้ที่เก็บสิ่งเหล่านั้นมาเผาเป็นธรรม เป็นการสร้างบารมี สร้างคุณงามความดีของพระยสะ บุญอันนั้นส่งผลมา

แต่ในปัจจุบันนี้เราเกิดมา เราพบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเราเห็นไหม ถ้าพระยสะไม่เจอพระพุทธเจ้า หรือพระพุทธเจ้ายังไม่เกิดมา พระยสะก็ต้องเวียนตายเวียนเกิดไปอยู่วันยังค่ำ “คติธรรม” คติธรรมหมายถึงว่าสิ่งนั้นทำแล้วได้เป็นบารมีมาไง แต่ถ้าไม่ได้เป็นปัจจุบันธรรม ถ้าไม่ได้เป็นปัจจุบันธรรมในปัจจุบันนี้ ถ้าปัจจุบันธรรม ในขณะนี้ ถ้าเรายังเก็บศพไร้ญาติอยู่เห็นไหม มันก็เหมือนกับทำบุญ

หลวงตาท่านบอกอยู่เห็นไหม “เราทำบุญกุศลมากขนาดไหน บุญกุศลจะไปรวมลงที่ใจ ถ้าไม่มีการภาวนาไปไม่รอดหรอก จะทำดีทำชั่วขนาดไหน ผลของมันก็คือการภาวนา”

แล้วในปัจจุบันนี้เราเกิดมาเป็นเราแล้ว เราจะไปเก็บศพอยู่อีกเหรอ การเก็บศพนั้น การทำอย่างนั้นมันเป็นบุญกุศล ใช่ มันเป็นบุญกุศล เห็นไหม ดูพระเราสิ เห็นไหมที่ว่า เดี๋ยวนี้ดูสิ ทำบุญกุศล ศพไร้ญาติ ทำโลงทำทาน สร้างโลงเพื่อเก็บศพไร้ญาติต่างๆ เป็นบุญไหม เป็น บุญคือบุญ แต่ธรรมะของเรา อริยสัจในการประพฤติกับปฏิบัติของเรามันเหนือกว่านั้น มันเหนืออันนั้น เหมือนสิ่งที่ถ้ายังไม่มีอริยสัจอยู่ ไม่มีครูบาอาจารย์อยู่ การทำอย่างนั้นทำเพื่อผลประโยชน์ไง สิ่งนี้เป็นผลประโยชน์

แต่ในปัจจุบันนี้ เรากึ่งพุทธกาล เราพบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและสัจธรรมอันนี้แล้ว ถ้าสัจธรรมอันนี้ เห็นไหม การภาวนาอย่างนี้ จะมีค่ากว่าการทำบุญกุศลอย่างนั้น ทีนี้ทำบุญกุศล เห็นไหม ดูสิ สิ่งที่ทำมาเป็นประเพณีวัฒนธรรม และประเพณีวัฒนธรรมทำให้เราไปติดข้อง แต่ธรรมน่ะ ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน เห็นไหม

“อานนท์ เธอบอกเขานะ ให้ปฏิบัติบูชาเถิด อย่าเป็นอามิสบูชาเลย”

ปฏิบัติบูชา ปฏิบัติบูชาคืออะไร ปฏิบัติบูชาคือการค้นคว้าหาจิตของเราไง ถ้าการค้นคว้าหาจิตของเรา ถ้าการปฏิบัติบูชา สิ่งนี้มีอยู่แล้วไง ธรรมะมีอยู่แล้ว ทีนี้ธรรมะมีอยู่แล้ว แต่คติธรรมอันนั้นก็เหมือนเรานี่ เรานั่งอยู่นี่ เรารู้ไหมว่าเราเก็บศพมากี่ชาติแล้ว เราอาจจะเป็นหัวหน้าเก็บศพก่อนนั้นมาก็ได้ ไม่อย่างนั้นเราจะมีจิตใจมุ่งเข้ามาในศาสนาได้อย่างไร?

บารมีธรรมมันมีอยู่แล้วใช่ไหม จะบอกว่าสิ่งนั้นมันเป็นส่วนประกอบไง เนื้อแท้กับเปลือกเราจะเอาอะไร เห็นไหม เนื้อแท้ คติธรรม สิ่งนั้นมีมาอยู่แล้ว สิ่งที่มีมา เราสร้างสมมา เราถึงได้มีดุลพินิจอย่างนี้ เราถึงได้มีมุมมองอย่างนี้ ไอ้มุมมองของเรา ศรัทธาความเชื่อนี้สำคัญมากนะ ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ ศรัทธาความเชื่อ เห็นไหม หัวรถจักร ทรัพย์ของมนุษย์ อริยทรัพย์ของมนุษย์

สัตว์มนุษย์เรานี่ ความเชื่อความที่เป็นศาสนามันดึงเราให้เข้ามาพิสูจน์ ถ้าดึงเราเข้ามาพิสูจน์ มีการกระทำของเราขึ้นมา เห็นไหม เกิดจากความมุ่งมั่น เกิดจากความเชื่อถือของเรา เราถึงเข้าไปถึงศาสนานั้น ทีนี้พอเข้าไปถึงศาสนา ศาสนาอยู่ที่ไหน วัดร้างเห็นไหม ถ้าศาสนามันเกิด เกิดที่ใจ

ถ้าใจมันมีความปรารถนา มันมีความต้องการของมัน มีการกระทำของมัน สิ่งนี้จะดึงเราเข้ามา แล้วเราพิสูจน์ เห็นไหม กาลามสูตรไม่ให้เชื่อ ไม่ให้เชื่อที่พระพุทธเจ้าพูด ไม่ให้เชื่อ ไม่ให้เชื่อเลย ให้เชื่อสัจจะความจริงขึ้นในหัวใจของเรา ให้เชื่อสัจจะความจริงเห็นไหม

ถ้าประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี่ มันจะเชื่ออันนี้ไง คติธรรมนั้นอันหนึ่งนะ การเก็บศพไร้ญาติ มันเป็นความเชื่อ เห็นไหม เป็นความเชื่อมา พอความเชื่อมันฝังมา ฝังมาในวัฒนธรรม ถ้าฝังมาในวัฒนธรรม การกระทำอย่างนั้น ทีนี้มันก็มีสิ่งที่ทำให้เราพิสดารให้เราเห็น เห็นไหม

อย่างที่เขาเข้าเจ้า เขาถือไม้ไปชี้ พอชี้ขุดก็เจอๆ สิ่งนั้น เห็นไหม ดูสิ เทวดา อินทร์ พรหม สิ่งที่เทวดา อินทร์ พรหม ที่สืบต่อกันมาล่ะ ต้องถือศีลต้องอะไรน่ะ สิ่งนั้นประทับทรง มันมี มันเป็นไปได้ แต่มันแก้ทุกข์ได้ไหม มันเป็นถึงกษัตริย์ จะชำระกิเลสได้ไหม มันก็ไม่ได้ใช่ไหม พอเป็นความเชื่อมา เราก็ไปยึดมั่นความเชื่ออันนั้นเห็นไหม ว่าการทำอย่างนี้แล้วได้บุญ มันเลยมีมูลนิธิต่างๆ ทำอย่างนั้นมากมายเลย

ทีนี้มูลนิธิต่างๆ ทำอย่างนั้นน่ะ ทีนี้มูลนิธิที่ทำ พระพุทธเจ้าบอกไง พระพุทธเจ้าบอก พระยสะเคยทำอย่างนั้น พระยสะได้บุญกุศลอย่างนั้นมา แต่ในปัจจุบัน พระยสะมาภาวนา ปัจจุบันพระยสะมาภาวนา เห็นพระพุทธเจ้าเทศนาว่าการ พระยสะฟังนะ ย้อนเข้ามาในอริยสัจ

ทุกข์ การเกิดนี้เป็นทุกข์อย่างยิ่ง การเกิดเป็นทุกข์อย่างยิ่ง การเกิดเป็นทุกข์ ในเมื่อมีการเกิดอยู่ มันต้องมีความทุกข์เป็นเรื่องธรรมดา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว เห็นไหม เวลาจะข้ามน้ำที่จะไปปรินิพพาน

“อานนท์ เธอตักน้ำมาเถิด เรากระหายน้ำเหลือเกิน”

กระหายเป็นเรื่องของร่างกาย เรื่องของร่างกาย ป่วย เพราะว่าฉันอาหารของนายจุนทะ แล้วป่วย ถ่ายท้อง พอถ่ายท้อง คนป่วย คนป่วยเดินไปก็หิวน้ำเป็นธรรมดา “อานนท์ เธอตักน้ำมาเถิด เราหิวกระหายเหลือเกิน” พระอานนท์ ด้วยความเคารพมากเลย น้ำมันขุ่นเพราะเกวียนเพิ่งผ่านไปเดี๋ยวนี้ น้ำขุ่น

“ขอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปข้างหน้าเถิด น้ำจะใสสะอาดดี”

“อานนท์ เราหิวกระหาย ตักมาเถิด”

นี่ไง ว่าทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นความจริง แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งนั้นเห็นไหม ครูบาอาจารย์ท่านถึงบอกว่าสุขกับทุกข์มีอยู่ แต่ไม่เอามัน นี่เราทุกข์เหลือเกิน ก็ร่างกายมันกระหายเหลือเกิน ในเมื่อมีการเกิดอยู่ แม้แต่เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่สิ้นกิเลสไปแล้ว เป็นศาสดาของเราด้วย มีฤทธิ์มีเดชมหาศาล

ดูสิ ดูพระโมคคัลลานะสิ เหาะหนีๆ เขาจะฆ่า ๓ หน ๔ หน สุดท้ายแล้วกรรมของเรามาถึง ปล่อยให้เขาทุบจนแหลกเลย ทุบจนแหลกด้วยฤทธิ์ ด้วยที่เอตทัคคะมีฤทธิ์มาก รวมร่างกายนั้น แหลกเลย มันจะรวมเข้าไปเป็นปกติได้อย่างไร แหลกด้วยฤทธิ์ รวมกลับมาให้เป็นปกติ แล้วเหาะไปลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก

“แล้วแต่สมควรแก่เวลาของเธอเถิด แต่ก่อนจะไปให้เทศน์ก่อน”

ดูสิ เหาะที่มันแหลกอยู่อย่างนั้น โดนทุบแหลกนะ ดูสิ เราโดนรถชน เห็นไหม ที่ว่าคนตายน่ะ แหลกไปอย่างนั้น มันจะทะลุ บาดแผลเต็มตัวอย่างนั้นไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรอ ไม่ใช่ แล้วเวลาเหาะ ไปเหาะอย่างนั้นเหรอ ก็เป็นร่างปกติของพระโมคคัลลานะ เห็นไหม ด้วยฤทธิ์ เหาะขึ้นไปลงมาแล้วเทศน์ๆๆ พระพุทธเจ้าให้แสดงฤทธิ์เต็มที่เลย พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร เหมือนกันหมด

พระสารีบุตรเวลาจะลาไปปรินิพพาน

“แล้วแต่สมควรของเธอเถิด แต่ก่อนไปเธอควรสอนน้องๆ หน่อย ควรสอนน้องๆ”

ให้ยืนยันไง เพราะถ้าอยู่โดยปกติ ภิกษุแสดงอุตริมนุสธรรม ธรรมเหนือมนุษย์ ปรับอาบัติหมดเลย เพราะถ้ายังมีชีวิตอยู่เห็นไหม มันเป็นภาระ พอมีชีวิตอยู่ ยังมีชีวิตอยู่ ยังปกตินะ ก็ต้องเหาะให้ดู ต้องเหาะให้ดู แต่เพราะตาย กำหนดว่าจะตายแล้ว เหาะขึ้นไปลงมาแล้วเทศน์ๆ เสร็จแล้วกลับมาคลายฤทธิ์ออก

พอคลายฤทธิ์ออกแล้วร่างแหลกเหลวเหมือนเดิมเลย เป็นความมหัศจรรย์ที่ว่าจิตธรรมะเหนือธาตุขันธ์ เหนือทุกอย่าง สอุปาทิเสสนิพพาน พระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่ เห็นไหม เหลือเศษส่วน เศษความคิด ความคิดกับร่างกายเป็นเศษทิ้ง เศษทิ้งเพราะจิตพ้นจากกิเลส จิตนี้เข้าถึงบรรลุธรรมแล้วพ้นหมดเลย พ้นแต่มีอยู่เห็นไหม สุขทุกข์มีอยู่ แต่ไม่เสวย ไม่เอาๆ สุขทุกข์ มีอยู่ แต่ไม่เสวย แล้วใครเป็นคนไม่เสวยล่ะ สุขทุกข์มีอยู่ เห็นไหม

ไม่ใช่ ธรรมะเป็นธรรมดา ธรรมะเป็นธรรมชาติ แล้วว่าธรรมชาติใครเป็นเจ้าของ สุขทุกข์มีอยู่ แต่ธรรมะไม่เสวย ไม่รับ ปล่อยไว้อย่างนั้นตามความเป็นจริง แต่ในเมื่อมีการเคลื่อนไหวอยู่ มันเศษทิ้งของโลกไง ถ้ายังมีการเกิดอยู่ ยังมีสถานะอยู่ มีสิ่งรองรับอยู่ แม้จะสิ้นกิเลสไปแล้วมันก็เหลือเศษทิ้ง เศษทิ้ง สอุปาทิเสสนิพพาน พระอรหันต์ที่มีชีวิตอยู่

อนุปาทิเสสนิพพานคือพระอรหันต์ที่ดับขันธ์ ทิ้งหมดเลย ธาตุขันธ์ ธาตุนี้ทิ้งแล้ว เพราะมันทิ้งมาตั้งแต่วันสิ้นกิเลสแล้วไง แล้วมันทิ้งในปัจจุบันนี้เห็นไหม ดูองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสิ

“เราฉันอาหารของนางสุชาดา เราถึงซึ่งกิเลสนิพพาน” กิเลสหมดจากหัวใจ กิเลสตายหมด การเกิดการตายออกหมดแล้ว

แต่ถ้ากิเลสมันยังอยู่กับเรานะ ยังต้องขับเคลื่อนไปในวัฏฏะ เพราะมีแรงขับ ตัวกิเลสเป็นแรงขับ มีบุญกุศลมากขนาดไหนก็เกิดเป็นพรหม มีแต่บาปอกุศลมันถึงวาระของกรรม มันก็ไปเกิดในนรกอเวจี ถึงเวลาเราก็เกิดเป็นมนุษย์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ ถ้ามีแรงขับอยู่ เห็นไหม สิ้นกิเลส สิ้นกิเลส ไม่มี มันแรงขับไม่มีจะไปเกิดที่ไหน จะเอาอะไรไปเกิด

ในเมื่อสิ่งนี้แรงขับมันไม่มี แต่พลังงานมีอยู่ไหม พลังงานที่สะอาดบริสุทธิ์ มี แต่ไม่มีแรงขับ ไม่ไปอีกแล้ว ไม่ไปอีกแล้ว เห็นไหม การเกิดการตายถึงหลอกกันไง ไม่มีอะไรเกิดและไม่มีอะไรตาย จิตคงที่อย่างนั้น พระอรหันต์ที่มีชีวิตอยู่กับพระอรหันต์ที่ตายแล้วต่างกันตรงไหน สอุปาทิเสสนิพพาน พระอรหันต์กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ยังมีชีวิตอยู่ กับที่นิพพานไปแล้ว ต่างกันตรงไหน ต่างกันตรงไหน เพราะอะไร เพราะกิเลสมันขับออกไปจากใจแล้ว เห็นไหม

เนี่ยสิ่งนี้ ถ้ายังเกิดยังตายอยู่ ทีนี้ ถ้าพระพุทธศาสนามีความสำคัญมากมายขนาดนี้ แล้วทำไมเราจะไปเก็บศพ ไอ้ศพตัวนี้ ไอ้ศพเรานี้ มึงไม่เก็บตัวมึงล่ะ ไอ้ศพมึงเก็บให้มันดีสิ เก็บศพไร้ญาติๆ ไปติดเก็บศพไร้ญาติ แล้วไปเก็บศพใคร? ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงสอนพระว่าให้ไปเที่ยวป่าช้า ไปเที่ยวป่าช้า เพราะไปเห็นป่าช้า ไปเที่ยวป่าช้า ไปเห็นซากศพ ซากศพนะ เราก็เป็นซากศพหนึ่ง เราตายไปก็เป็นอย่างนี้

นี่ไง มรณานุสติเกิดแล้ว สติเกิดแล้ว แต่นี่ถ้าเราไปเห็นว่าเก็บศพไร้ญาติ เป็นบุญกุศลใช่ไหม เราก็วิ่งเต้นไปเก็บศพคนอื่นใช่ไหม ศพตายแล้วก็เก็บไปเผาไปทำ ก็ศพเขาน่ะ ก็ศพมึง ทำไมไม่ดู ก็ถ้าศพมึงดู เพราะธรรมะสอนกลับมาแล้ว นี่ไง ถึงบอกว่าคติธรรม สิ่งที่ว่าเป็นคติความเชื่อ แต่ในปัจจุบันนี้เขาบอกไม่ให้ติด ปัจจุบันนี้สิ่งที่มีคุณค่ามากกว่า เห็นไหม สิ่งที่มีคุณค่ามากกว่าคือหัวใจนั้น ถ้าหัวใจยังต้องการบุญอยู่ ยังต้องการเก็บศพอยู่

จริงๆ นะพวกเรา ถ้าพวกเราไปเริ่มต้นใหม่ เราก็อยากได้บุญ ทุกคนก็อยากได้บุญ สิ่งนั้นเป็นบุญไหม ก็เป็น เป็นบุญทั้งนั้น แต่เป็นบุญมันยังสืบต่อ เพราะเห็นไหม ยังมีแรงขับอยู่ ยังต้องเกิดต้องตายอยู่ ก็ทำไป แต่ในปัจจุบันนี้ ถ้าเรามีความเชื่อ การปฏิบัติบูชามีบุญกุศลมากกว่าทุกๆ อย่าง นั่งสมาธิเจ็บปวดโอดโอยนี่แหละมีบุญมาก มีบุญมากเพราะอะไร มีบุญมากเพราะเรารู้สึกตัวเราเอง เห็นไหม

ทำไมคนฆ่าตัวตายมีบาปมากกว่าฆ่าผู้อื่นตาย อ้าว ฆ่าคนอื่นตาย ฆ่าคนอื่นตายนี่ เราฆ่าเขา อ้าว เราก็ทำบาปอันหนึ่งใช่ไหม แต่เราฆ่าตัวเองตาย ทำไมบาปมากกว่าฆ่าคนอื่นล่ะ ถ้าทางกฎหมายเห็นไหม ทำร้ายตัวเองไม่เป็นอะไร แต่ถ้าไปฆ่าคนอื่นตายติดคุก ๒๐ ปี แต่เวลาทางธรรมะนะ ฆ่าคนอื่นตายมีกรรมไหม มี แต่เวลาเราฆ่าตัวเองตายมีกรรมมากกว่าไหม มียิ่งมากกว่าอีก เพราะร่างกายนี้มีคุณค่ามาก ชีวิตนี้มีคุณค่ามาก ชีวิตของเรามีคุณค่ามาก

แม้แต่ร่างกายเรา ชีวิตเราเอง เรายังใจดำ ทำร้ายตัวเราเองได้อย่างไร เวลาเราฆ่าคนอื่นตาย ด้วยโทสะ ด้วยโมหะ มันก็เป็นบาปอกุศลทั้งนั้น แต่ไอ้เวลาเราทำร้ายตัวเราเอง เห็นไหม เราทำร้ายตัวเราเอง บาปอกุศลมากมายมหาศาล นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราไปมรณานุสติ ไปเที่ยวป่าช้า ไปเห็นซากศพคนอื่น ไปเห็นซากศพคนอื่นเพื่อให้สะท้อนเข้ามา รู้จักซากศพของตัวไง เราตายก็เป็นอย่างนี้ สติมันก็จะฟื้นมา เห็นไหม

พอสติมันฟื้นมา ฟื้นมานี่ มันมรณานุสติ ต่างๆ มันจะย้อนกลับมา พอย้อนกลับมามันจะเป็นอะไรล่ะ ย้อนกลับมานี่เป็นอะไร เห็นไหม ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทวนกระแสเข้ามา ทวนกระแสเข้าไป สิ่งที่เราสอนกันไม่ได้ สิ่งที่เราชี้นำกันไม่ได้เพราะอะไร เพราะเราคิดกันแต่เรื่องวิทยาศาสตร์ไง

เรื่องวิทยาศาสตร์ใช่ไหม เรื่องเทคโนโลยี สอนต้องเป็นอย่างนั้นๆ แต่เวลาปฏิบัติทางจิต เห็นไหม พ่อแม่คนไหนบ้างไม่ปรารถนาดีกับลูก พ่อแม่คนไหนบ้างไม่ต้องการให้ลูกของเราเป็นคนดี พ่อแม่คนไหนบ้างไม่ต้องการให้ลูกเราเป็นคนดีในสังคม แล้วพ่อแม่ปากเปียกปากแฉะๆ ลูกมันว่าอย่างไรบ้าง ครูบาอาจารย์ก็เหมือนกัน

ความเห็นนะ เก็บศพไร้ญาติได้บุญ ทุกอย่างทำแล้วได้บุญ แต่นั่งสมาธิมันจะได้บุญตรงไหน นั่งสมาธิพุทโธๆ เก็บศพเยอะแยะได้แบกศพ อ้าว เวลานั่งสมาธิขึ้นมา มันคุณธรรมนะ สิ่งที่มันละเอียดกว่าไง ใจเราหยาบไง พอใจเราหยาบ เราก็ต้องจับต้องวัตถุขึ้นมา เพื่อจะจับต้องได้ว่าสิ่งนี้เราได้มีการกระทำ แต่พอนั่งสมาธิให้จิตสงบขึ้นมา จิตก็ไม่เห็น แล้วจิตมันจะเก็บศพตัวมันเอง มันจะพิจารณากายมัน ก็ไม่รู้

ไอ้ศพข้างในนี่ ศพข้างใน ถ้าจิตมันดีขึ้น มันมีการกระทำขึ้นเห็นไหม ไปเที่ยวป่าช้า การไปเที่ยวป่าช้าเห็นไหม มันเป็นกรรมฐาน มันเป็นกรรมฐานที่เราไปเที่ยวป่าช้ากัน เราไปดูสิ่งนั้นกัน ก็เพื่อจะย้อนกลับมา ย้อนกลับมาที่เรา ในปัจจุบัน เพราะเราพูดตอนเช้า เราพูดถึงเรื่องความเชื่อ พูดถึงสิ่งที่เป็นบุญไง เราพูดถึงผลไง บุญและบาปๆ สิ่งที่เป็นบุญมา แล้วเขาสร้างบารมีของเขา พระยสะได้สร้างบุญบารมีมามาก ทีนี้มันตกผลึกมา

ทีนี้ด้วยความคิดของพวกเรานี่มันหยาบ ความคิดมันหยาบ เห็นเขาทำก็จะทำตามไง ทำตามอยาก แต่พระพุทธเจ้าบอกว่าเขาเคยทำมาแล้วในปัจจุบันนี้เขามาเกิด มาเกิดสหชาตินี่ แล้วได้ฟังเทศน์ ได้ฟังธรรมพระพุทธเจ้า อันนี้สำคัญกว่า แต่ถ้าไม่ใช่พระพุทธเจ้านะ เขาก็ต้องเวียนตายเวียนเกิดไปโดยธรรมชาติของเขา

ดูสิ เขามาเกิดเป็นลูกเศรษฐี มาเกิดเป็นลูกเศรษฐี เห็นไหม แล้วถ้าพูดถึงถ้าไม่ได้ฟังเทศน์ ก็เป็นลูกเศรษฐี ก็มีครอบครัวไป ก็ต้องบริหารทรัพย์สมบัติของตัวเองไป มันก็ตายไปอีกชาติหนึ่ง เวลาทำคุณงามความดี เห็นไหม มีบุญมีกุศลมหาศาลเลย ไปเกิดเป็นเทวดา ไปเกิดเป็นต่างๆ กี่ร้อยชาติๆ แล้วสุดท้ายก็มาเกิดเป็นมนุษย์

สิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่เขาสร้างมา แต่พอมาเจอหลักธรรม เราเป็นชาวพุทธ สิ่งนี้สำคัญที่สุด สิ่งนี้สำคัญกว่า เพราะสิ่งถ้าไม่มีพระพุทธเจ้า เห็นไหม ดูสิ กาฬเทวิลยังน้อยใจ ยังเสียใจ เห็นไหม ทำได้หมด มีฤทธิ์มีเดชมาก เหาะไปนอนอยู่บนพรหมได้ ใครจะไม่เชื่ออย่างไรก็แล้วแต่ กาฬเทวิลเขามีพรหม เขาแบบว่าเขาทำเป็นฌานสมาบัติ เขาขึ้นไปนอนบนพรหม นอนบนพรหม เพราะทำได้แค่นี้ไง พลังงาน

อย่างดูเราสิ เรามีพลังงาน เรามีจรวดคนละลำ จรวดเราจะไปไหนก็ได้ นี่ก็เหมือนกัน จิตที่มันทำจนเป็นฌานสมาบัติของมัน มันจะไปไหนก็ได้ ไปไหนก็ได้คือเหมือนกับ ดูจรวดสิ ดูเครื่องบินเรานี่มันต้องเติมน้ำมันไหม มันต้องเติมพลังงานไหม มันถึงจะต้องใช้มันขับเคลื่อนไปได้

จิตก็เหมือนกัน จะไปนอนบนพรหม จะไปอะไรนี่ จิตมันต้องเข้าสมาบัติ เข้าสมาธิได้มั่นคงมาก นี่คือตัวพลังงานไง ตัวที่ทำให้จิตไปได้หรือไม่ได้นี่ไง พอจิตมันไปได้ สิ่งนี้ขนาดที่ว่าไปนอนอยู่บนพรหมนะ

พอพระพุทธเจ้าเกิด เห็นไหม ลือลั่น โลกธาตุหวั่นไหว ลงมาดูเลย พอลงมาดู ลงมาดูนี่ ดีใจด้วยและเสียใจด้วย ดีใจที่พระพุทธเจ้าเกิดแน่นอนแล้ว เพราะอะไร เพราะว่าเป็นพราหมณ์ อาการ ๓๒ ของพระพุทธเจ้าท่องได้หมด พอเป็นพราหมณ์ เห็นชัดเลย พระพุทธเจ้าเกิด แล้วต่อไปจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า แต่ตัวเองต้องตายก่อน ร้องไห้เสียใจเลย

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเรายังเวียน ถ้าไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีบุญกุศลขนาดไหน เพราะอะไรนะ ถ้าจะตรัสรู้เองโดยชอบ ต้องเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า หรือว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น แล้วในปัจจุบันนี้มันเจอแล้วไง มันเจอศาสนาแล้ว สิ่งต่างๆ เจอศาสนา เหมือนพระยสะเลย พระยสะได้ทำมาแล้ว

และในปัจจุบันนี้ ถ้าพระยสะฟังเทศน์ แล้วเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา เราก็เหมือนกันๆ ในเมื่อถ้าเรามีศรัทธามีความเชื่อแล้ว ในปัจจุบันนี้ถ้าเราปฏิบัติของเรา เราเข้าถึงของเราๆ เราจะเอาตัวเรารอดได้ เอาตัวเรารอด เห็นไหม เราจะไม่เข้าใจนะ เวลาอยู่ในท้องนี่ เวลาเราเกิดมา เวลาเราทุกข์เรายาก สิ่งนี้เราต้องมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ นะ

แต่ถ้าไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม โอปปาติกะ เกิดเลยๆ แต่เวลาตายขึ้นมา มันก็เศร้าใจเหมือนกัน เวลาหมดอายุขัย ทุกอย่างต้องมีอายุขัยของเขา ต้องมีความเป็นไปของเขา แล้วจะเวียนตายเวียนเกิด เพราะไม่พบศาสนา ไม่พบสัจธรรมอันนี้ ในปัจจุบันนี้เราพบ ถ้าพบศาสนา ศาสนามีคุณค่าที่สุด พระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีคุณค่าที่สุด

แล้วพระพุทธ พระธรรมมีคุณค่าแล้วทำไมเขาเข้าถึงไม่ได้ เขาเข้าถึงไม่ได้ เพราะว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มันเข้าถึงที่ว่า เห็นไหม อัตตาหิ อัตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ถ้าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เห็นไหม ตนต้องรักษาตน ตนต้องแก้ไขตน ทีนี้สิ่งที่ต้องแก้ตน แล้วตนอยู่ที่ไหน แต่ถ้าไปทำเป็นรูปธรรม เห็นไหม ไปทำสิ่งต่างๆ มันเห็นชัดเจนไง

มันประสาเราจะบอกว่า โลกมันหยาบ มันเห็นสิ่งนั้น สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว เห็นอนาคตังสญาณ บอกว่า คนนี้ทำสิ่งใดมา สิ่งใดมา เราอยากได้ เราไปทำอย่างนั้น แต่ในปัจจุบันนี้ ถ้าเราเคารพบูชาพระรัตนตรัย เราทำของเราตรงนี้ มันได้ผลมากกว่านั้น เพราะสิ่งที่เขาทำอยู่นั้น เพราะตอนนั้นยังไม่มีศาสนา

แล้วตอนนี้มีศาสนาแล้ว เราจะไปย้อนตรงนั้นทำไมล่ะ นี่คือ “การเก็บศพไร้ญาติ” คติธรรมเป็นอย่างนั้นนะ เป็นบุญไหม เป็น แต่เรามีปัญญามากกว่า เป็นบุญไหม เราฟังธรรม เราประพฤติปฏิบัติ ได้บุญมากกว่าเด็ดขาด การสร้างโลงศพได้บุญไหม ได้ การเก็บศพไร้ญาติได้บุญไหม ได้ แต่บุญก็คือบุญ บุญมันเป็นอามิส แต่การปฏิบัติมันชำระล้างเลย มันไม่เป็นอามิส มันเป็นปฏิบัติบูชา มันเข้าถึงเนื้อของจิต แล้วจิตมันแก้ไขได้เลย

ถ้าเราทำได้อย่างนี้ หมายถึงว่าการเก็บศพไร้ญาติ ดูสิ ถ้าเราเก็บศพเป็นธุรกิจ เห็นไหม ดูสิ เขาแย่งชิงกันเพื่อผลประโยชน์ อันนั้นก็อันหนึ่ง แล้วในปัจจุบันนี้เหมือนกัน เราคิดกัน เวลาเขาถามปัญหา เห็นไหม อยากให้เล่าเรื่องเที่ยวธุดงค์ เที่ยวธุดงค์ประสบการณ์อย่างไรบ้าง?

สิ่งต่างๆ เห็นไหม มันหยาบ เพราะเราคิดอย่างนั้นไง ความจริงเราออกธุดงค์กัน พระปฏิบัตินี่ออกธุดงค์ ธุดงค์เพื่ออะไร ธุดงค์เพื่อขัดเกลากิเลสนะ การธุดงค์ของเราเพื่อขัดเกลากิเลส การเที่ยวธุดงค์ไป ครูบาอาจารย์ท่านเที่ยวธุดงค์ไป ท่านไม่ใช่ไปเที่ยว ถ้าธุดงค์มีความชำนาญในการเที่ยวป่านะ พรานป่าเขาดีกว่าเราอีก เราออกธุดงค์กันนี่ ธุดงค์เห็นไหม เวลาไปที่ไหนพักแล้วภาวนาดี เราจะไปภาวนาอยู่ที่นั่น ถ้าจิตมันดี จนมันคุ้นชินแล้ว เราก็ย้ายถิ่นไป การธุดงค์นี้เขาไปภาวนากัน

การธุดงค์นี้เขาออกไปภาวนานะ ภาวนาเพื่อเรา แต่นี่เราเตรียมว่า เตรียมธุดงค์ ไปเที่ยวป่า เราธุดงค์ไป จะไปดูต้นไม้ไง จะไปดูต้นไม้จะไปดูสัตว์ป่า จะไปดูต่างๆ ถ้าอย่างนั้น พรานป่าเขาชำนาญมากกว่าเรา เราธุดงควัตร ธุดงควัตรนี่เป็นเครื่องขัดเกลากิเลส แต่เราออกวิเวก ออกธุดงค์

“ธุดงค์” เดินไปนี่นะมันก็ดูใจไป เดินจงกรมไป เดินจงกรมไปนะ แล้วเจอสถานที่ไหนมันเป็นที่สงัดวิเวก แล้วพอที่จะบิณฑบาตได้ เราก็จะพักอยู่ที่นั่นๆ เห็นไหม สมัยหลวงปู่มั่น เราไปเที่ยวมาทางอีสาน ป่าเขาที่ไหน เขาจะสร้างแคร่ไว้ ร้านไว้ แล้วพระจะหมุนเวียนไปพักไปผ่อน มันจะไป เห็นไหม สร้างอยู่ในป่านะๆ เพียงแต่มองว่าระยะเดินกี่กิโล ๕ กิโล ๓ กิโล ๘ กิโลแล้วแต่ แล้วแต่จุดว่าเราจะลงไปบิณฑบาตได้

เขาจะไปพักกัน หมุนเวียนไปๆ เพื่อให้เราตื่นตัวตลอดเวลาๆ ไม่คุ้นชินกับอารมณ์ความรู้สึกเรา ไม่คุ้นชินกับสังคม ไม่คุ้นชินกับอะไรทั้งสิ้น เขาธุดงค์กัน ธุดงค์เพื่อภาวนา ไม่ใช่แบกบริขารเข้าไปผ่านป่ามาว่าฉันเป็นพระป่าๆ ถ้าอย่างนั้นนะ สัตว์ป่าดีกว่ามึง สัตว์ป่าอยู่ในป่านะ มันอยู่ในป่ามันดำรงเผ่าพันธุ์ของมันด้วย

คำว่าธุดงค์เห็นไหม ธุดงค์หลงป่า ความหลงในหลงป่า มันมีความหลงอยู่บ้าง ครูบาอาจารย์เราบางองค์ก็หลง หลงแล้วก็หาทางออกมา เพราะหลง เราเข้าป่าไป มันเป็นในป่า เราอาจผิดพลาดได้ การหลงป่านี่ หลงป่าเพราะเราพลั้งเผลอ หรือเพราะเรามีกรรมนั่นอีกเรื่องหนึ่ง

แต่การ ในปัจจุบันนี้ ไปกัน เราไปธุดงค์ เราไปหลงป่ากัน ทุกอย่างไปพร้อมเลย เหมือนนายพรานป่าไปเที่ยวป่า เว้นไว้แต่ไม่มีอาวุธไปฆ่าสัตว์เท่านั้น หรือว่ามีบ้างก็ไม่รู้ล่ะ สิ่งต่างๆ เห็นไหม ความเข้าใจผิดของเรา เราเข้าใจว่านี่เพราะเราเป็นฆราวาส เราเป็นมนุษย์ใช่ไหม แล้วการเที่ยวป่า เดี๋ยวนี้มีความสุขเขาชอบเที่ยวป่า แล้วพระไปเที่ยวป่าก็จะไปทำตัวอย่างนั้น ไม่ใช่

พระเราอยู่ป่า พระเราเอาป่าเห็นไหม เอาป่าเอาความสงัดวิเวก เอาสิ่งที่เป็นความสงัดวิเวกเห็นไหม กายวิเวก ให้จิตวิเวก จิตที่วิเวกเพื่ออะไร จิตวิเวกเพื่อค้นหาตัวเรา ถ้าค้นหาตัวเรา เจอตัวเราแล้วนี่ เอาตัวเราชำระกิเลสไง เอาตัวเราเห็นไหม สิ่งที่เอาตัวเราออกค้นคว้าในสติปัฏฐาน ๔ ถ้าในสติปัฏฐาน ๔ เห็นไหม ภาวนาให้จิตมันสงบเข้ามา ถ้าจิตสงบเข้ามา มันสงบเข้ามาได้มากน้อยขนาดไหน มันจะเห็นกายบ้างไม่เห็นกายบ้าง

บางทีเราต้องการให้จิตสงบมากๆ เพื่อให้จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ ให้จิตตั้งมั่น ให้จิตออกค้นคว้าเราคิดคาดหมายนะ ถ้าจิตเรามีความสงบบ้างพอสมควร เราออกพิจารณาได้เลย ออกพิจารณาเพื่ออะไร เพื่อเป็นสมถะเหมือนกัน เพื่อให้จิตสงบเข้ามาลึกซึ้งเข้ามา เพื่อจิตมันเป็นปกติ ปกติเพราะอะไร ปกติ เห็นไหม ดูสิ ที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ไปเที่ยวป่าช้า ให้ไปเห็นซากศพ เห็นต่างๆ มันก็แทงใจเรานะ

เห็นซากศพ เห็นอะไรมันสะเทือนใจตลอด ดูเราคิดมรณานุสติ คิดถึงความตายสิ คิดถึงความตายๆๆๆ เราต้องตายเหรอๆ แล้วสมบัติที่สร้างมาให้ใคร สมบัติที่สร้างมาสิ่งต่างๆ มีขึ้นมาเพราะเรามีชีวิตขึ้นมา เรามีชีวิตขึ้นมา เรามีบุญกุศลขึ้นมา เราเลยสร้างสิ่งนี้ขึ้นมา แล้วสิ่งนี้มันมีค่าขนาดไหน แล้วมีค่าขนาดไหน แล้วมันซื้อมรรคผลนิพพานให้เราได้ไหม?

มันทำคุณประโยชน์ให้เราได้มากขนาดไหน ถ้าใจเราเป็นธรรม เราใช้จ่าย เราทำบุญกุศลเพื่อประโยชน์กับเรา เห็นไหม เงินทองใช้จ่ายขึ้นมาเพื่อคุณงามความดีของเรา เราเจือจานกับสังคม สังคมจะอาศัยความร่มเย็นเป็นสุขของเรา เราเจือจานสังคม สังคมอันนี้ นี่บารมีธรรมเกิดตรงนี้ไง บารมีธรรมเกิดจากการเราเจือจานสังคมเห็นไหม

เงินทองที่เราหามา แต่เราต้องตายจากมันไหมน่ะ เราต้องตายจากมัน เห็นไหม แล้วร่างกายนี่เห็นไหม ดูสิ เวลาเขาไป พระไปสวดศพ ไปสวดศพใช่ไหม นะโม ตัสสะฯ ไม่ต้องให้ศีลเลย เพราะถือว่าซากศพ ศพอันนั้น มีคุณค่ามาก เวลาศพมีคุณค่าเห็นไหม เราถึง นะโม ตัสสะฯ แล้วสวดมนต์ไปเลย สิ่งต่างๆ มัน สิ่งซากศพนี่นะ ในพุทธศาสนา เพราะในสมัยพุทธกาล เห็นไหม

เวลาพระไปฉันข้าว แล้วไปเห็นนางอะไรที่ว่าใกล้ตาย ขณะนั้นมันยังไปติดพันเขา พอถึงเวลาฉันเสร็จแล้ว โยมผู้หญิงคนนั้นก็เสียชีวิตไป พระพุทธเจ้าบอกให้เก็บไว้ก่อน เพราะพระสมัยพุทธกาลพูดด้วยความซื่อตรง พอกลับมานี่กินไม่ได้ นอนไม่ได้เลย ด้วยจิตใจมันปฏิพัทธ์มาก ถึงที่สุดแล้วนะ พระถามเป็นอะไร ทำไมฉันข้าวไม่ได้ เพราะรักมากๆ

บอกพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ารู้อยู่แล้ว พอถึง ๗ วันนะ พอถึง ๗ วันเอาพระไปพิจารณา พระองค์ที่รักมาก พระรักภาพที่เห็นครั้งแรก มันถูกใจมาก พอถูกใจมาก จิตนี่มันปฏิพัทธ์ มันเน้นย้ำอยู่ตลอดเวลา มันฝังใจมาก พอฝังใจมากนะ พอพระพุทธเจ้าบอก ไป เราจะพาไปดู ไม่รู้ว่าตายแล้วนะ เราจะพาไปดูซากศพ ด้วยจินตนาการของตัวใช่ไหม พอไปเห็นซากศพอีกทีหนึ่ง มันพุมันพองหมดเลยนะ มันสังเวชนะ มันกระทบใจรุนแรงมาก เป็นพระอรหันต์เลย เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาเลยนะ

นี่จากไปเที่ยวป่า แล้วทีนี้พอเป็นประเพณีวัฒนธรรม มันก็เหมือนกับล้างป่าช้านั่นแหละ เวลาเก็บศพไร้ญาติเห็นไหม เขาก็เก็บศพนี้เหมือนกัน แต่ทีนี้พอไปชักบังสุกุล ไปเห็นซากศพนั้นน่ะเป็นพระอรหันต์เลย เลยเป็นประเพณีวัฒนธรรมของเราให้พระไปชักบังสุกุล ชักบังสุกุลไง เพราะในสมัยพุทธกาล พระไปชักบังสุกุล ไปพิจารณาซากศพแล้วเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา

สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นประเพณีวัฒนธรรม เพื่อให้เราถึงที่สุดแห่งทุกข์ พระพุทธเจ้านี่ฉลาดมาก จะทำอะไรก็แล้วแต่กลับมาที่การแก้กิเลส กลับมาที่การแก้กิเลส แต่ด้วยประเพณีวัฒนธรรมของเราเห็นไหม สิ่งที่เขาทำมาได้คุณประโยชน์กลับมามหาศาลเลย

แต่ในปัจจุบันนี้ เราทำกันเป็นประเพณี จนผู้ที่มีวิชาชีพอย่างนั้น เขาเอาสิ่งนั้นมาเป็นผลประโยชน์ของเขาเลย เขาไม่เห็นแก่บุญกุศลเหรอ เขาถึงได้ทำอย่างนั้น สิ่งที่ทำ ที่คนที่ใจเขาเป็นธรรมก็หวังบุญกุศลของเขา แต่ใจที่ไม่เป็นธรรมนะ เป็นธุรกิจหมดล่ะ เพราะโลกมันเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าประสาเรา ถ้าอาจารย์เราไปทำจริงๆ ขึ้นมา เราจะย้อนกลับมาที่เรานี่

ย้อนกลับมาที่เรานี่ เห็นไหม พระไปชักบังสุกุลจนเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา แต่คนคฤหัสถ์ พระยสะเคยเป็นผู้เก็บศพไร้ญาติมา แต่เป็นเพราะสิ่งที่ประเพณีวัฒนธรรมให้คนเข้าถึง ไอ้นั่นเขาคนเข้าถึงบุญกุศล แต่พระไปชักบังสุกุล นี่เข้าถึงอริยสัจเลย เข้าถึงความจริงเลย เข้าถึงอริยมรรคเลย การพิจารณานี่ ธุดงค์เที่ยวจากข้างนอก ธุดงค์เที่ยวจากข้างในนะ

ถ้าเที่ยวจากข้างใน ข้างใน เห็นไหม กายนคร ถ้าจิตมันสงบขึ้นมามันจะเห็นกาย สภาวะตามความเป็นจริง แล้วมันวิภาคะ แยกส่วนขยายส่วนเพื่อประโยชน์กับเรานะ เราเกิดมาพบพุทธศาสนาแล้ว เราเกิดมาพบสัจจะความจริงแล้ว พบสัจจะความจริง ความจริงอันนี้ มันเป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นธรรมะสาธารณะ เป็นธรรมะส่วนกลาง

แต่ถ้าเราพิจารณาของเราขึ้นมา สิ่งที่เราจะชำระกิเลสกันได้ เราจะต้องมีธรรมะของเรา เราจะต้องแก้ไขกิเลสของเรา การจะแก้ไขกิเลสของเราเอาอะไรไปแก้ จะแก้กิเลสของเราเอาอะไรแก้ เวลาไปฟังธรรมๆ ฟังธรรมอยู่ปัจจุบันนี้ เสียงธรรมมาจากไหน มาจากครูบาอาจารย์ของเรา เราได้ยินเสียงขึ้นมา มันก็ทำให้เราเกิดต่อยอด ความคิดมันจะแล่นเลยนะ จะทำอย่างนั้น ควรจะเป็นอย่างนี้

แต่ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์เทศน์ล่ะ มันจะเกิดมาจากไหน ความคิดของเราก็ต้องด้นขึ้นมาเอง เห็นไหม ความรู้สึกของเรา เราต้องพยายามแสวงหาของเรา ค้นคว้าของเรา ทีนี้ ค้นคว้าของเรา ค้นคว้ามาจากใคร ก็ค้นคว้ามาจากจิต จิตที่มีกิเลสไง จิตที่มันมีตัวตนของเรา จิตที่มันมีความมุ่งมั่นของมัน

ถ้ามีบุญกุศลขึ้นมา เห็นไหม มันหลากหลายนะ ความคิดของคน พันธุกรรมทางจิต “พันธุกรรมทางจิต” หมายถึงการสร้างมา อย่างเช่น พระยสะสร้างมาด้วยการเก็บศพไร้ญาติ เห็นไหม ด้วยการเก็บศพที่ว่าเขาทิ้งไว้เกลื่อนเลย พันธุกรรมของเขา เขาสร้างของเขามา

ในปัจจุบันนี้ มาเจอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเทศนาว่าการ เข้าถึงที่สุดของเรา เราก็เหมือนกัน เราก็สร้างพันธุกรรมทางจิตของเรามา แล้วมันหลากหลายมาก มันหลากหลายมาก ความคิดของคนมันหลากหลาย ความคิดของคนมันวุฒิภาวะของจิต หลากหลายมาก ความหลากหลายมาก พระพุทธเจ้าพยายามจะวางหลักการให้พวกเราเข้ามาถึงความสงบอันนี้ให้ได้

ถ้าเข้าถึงความสงบอันนี้ได้ ถ้ามันถึงความสงบขนาดไหน เราทำของเราไป เราจะห่วงกันอย่างเดียวว่าจะยกขึ้นวิปัสสนาเมื่อไหร่ เมื่อไหร่จะเป็นวิปัสสนา เพราะคำว่าวิปัสสนาจะฆ่ากิเลส วิปัสสนาสมถะมันมีกำลัง มันมีการกระทำคล้ายกัน คล้ายกันหมายถึงว่ามันอาศัยกัน มันเอื้อกัน แต่เรามีความเห็นว่าวิปัสสนามันจะมีคุณค่ากว่าสมถะ

วิปัสสนาสมถะ มันเหมือน เห็นไหม ดูสิ อวิชฺชา ปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารา ปจฺจยา วิญฺญาณํ ปัจจยาการของจิตที่มันออกไปมันเหมือนกัน มันมีคุณค่า ต้นกับปลายไง ข้าวสารกับข้าวสุก ถ้าไม่มีข้าวสาร เราจะเอาข้าวสุกมาจากไหน เวลาเราจะกินข้าว เห็นไหม เราก็ไปซื้อข้าวถุงมาเก็บไว้บ้าน ถึงเวลาก็หุงหา หุงข้าวมากิน ถ้าข้าวในถุงนั้นหมด เราจะเอาข้าวสารที่ไหนมาหุงข้าวสุก เอาข้าวสุกขึ้นมากิน

นี่ก็เหมือนกัน จิตของเรามันดิบๆ มันเป็นข้าวสาร พอมันเกิดมาแล้วมันอยู่กับเรา ถ้ามันเป็นสมาธิขึ้นมามันก็จะเป็นข้าวสุก แล้วข้าวสุกถ้าเรากินขึ้นมา เคี้ยวย่อยให้ร่างกาย วิปัสสนามันจะเกิดตรงนั้นไง มันก็มาจากกิเลสเรานี่แหละ มันก็มาจากจิตที่ดิบๆ นี่แหละ จิตของเรามันมีกิเลสของเรา ความคิดอันนี้ เราต้องพัฒนาของมัน เห็นไหม

ถ้ามันออกมาใช้จิต โดยเราพิจารณากายของเราขึ้นมา เป็นสมถะ มันก็เป็นข้าวสารที่จะเป็นข้าวสุก แล้วข้าวสุกนั้น ถ้าข้าวสุกเราไม่กินเราเก็บไว้ ข้าวสุกก็เน่า ถ้ามันเป็นวิปัสสนา ถ้าวิปัสสนาไม่เป็น วิปัสสนาแล้วจิตมันไม่เป็นไป เราจะเอาแต่ข้าวสุกๆ มันไม่ได้หรอก

สมถะกับวิปัสสนามันก็เหมือนข้าวสุกข้าวสาร มันอาศัยกันมันเอื้อกัน มันเป็นสิ่งเดียวกัน สิ่งเดียวกันที่มันแปรสภาพ มันเป็นสิ่งเดียวกัน คือสิ่งเดียวกัน คือจิตเราไง สิ่งเดียวกันคือหัวใจเรานี่ไง ถ้าหัวใจเราคือนี่ มันเป็นสิ่งเดียวกัน แต่มันใช้งานในหน้าที่อะไร? มันใช้งานอย่างไร?

ถ้ามันใช้งานสิ่งที่ดีเห็นไหม ใช้งานในสิ่งที่ดี มันจะเปลี่ยนแปลงของมัน ใช้งานในสิ่งที่ถูกต้อง เห็นไหม มิจฉาทิฎฐิ สัมมาทิฎฐิ มิจฉาคือความเห็นผิด เห็นไหม สมถะไม่ดี สมถะทำไม่ถึง แล้วเมื่อไหร่จะได้วิปัสสนา พยายามจะสร้าง มันต้องเกี่ยวเนื่องกัน

การเกี่ยวเนื่องกัน การทำเกี่ยวเนื่องกัน มันจะเข้าไปถึงตัวจิตให้ได้ พอถึงตัวจิตขึ้นมา เรารู้ มันเป็นสันทิฎฐิโก มันเป็นความรู้จริงของเรา ถ้าความรู้จริงของเรา สิ่งนี้มันเป็นประสบการณ์ของเราขึ้นมา มันจิตสงบบ้าง ใช้ปัญญาได้เลย แต่เราก็ทำความเข้าใจ ทำปัญญาเข้าไป

พอปัญญามันปล่อยใช่ไหม มันเข้าใจ มันลึกซึ้ง เห็นไหม ธุดงค์การเข้าป่ากัน เข้าป่าไปเพื่ออาศัยสถานที่เพื่อวิปัสสนา เพื่อใช้ทำสมถะวิปัสสนา เพื่อชำระใจของเรา แล้วเที่ยวอยู่บ่อยครั้งเข้า อาศัยสถานที่ที่วิเวก เห็นไหม ขนาดที่ว่าที่วิเวกแล้วนะ เป็นสถานที่เปลี่ยว ที่กลัว เพราะความกลัวมันเที่ยว เท่ากับเราช่วยกับสติไง เราช่วยเสริม ช่วยสิ่งต่างๆ ให้ธรรมเกิดจากใจของเรา แต่มันด้วยกิเลสด้วยความมักง่าย มันก็ไม่อยากไปไม่อยากเป็น ไม่อยากอย่างนั้น มันอยากสะดวกสบายของมัน เห็นไหม

ทีนี้การไปเที่ยวป่า ถ้าเราต้องการสะดวกสบาย เราก็หาเพื่อนหาอะไร ไปเดินเล่นในป่ากัน แต่ถ้าไม่ไปเดินเล่นในป่านะ เราเอาจริงเอาจังของเรา เรากำหนดเวลาของเรา เพราะพระถ้าบวชแล้ว การออกป่ามันไม่มีกำหนดเวลาไง เวลาออกพรรษาแล้ว เวลาหลายเดือนเราก็ไปเที่ยวป่ากัน เที่ยวป่าเพื่อจะฟื้นให้จิตมันมั่นคงขึ้นมา แล้ววิปัสสนาเข้ามา นี่การเที่ยวธุดงค์ไง

เราเข้าใจผิดกันนะว่าการเที่ยวธุดงค์เห็นแต่ป่า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม ตัดป่า แต่ไม่ตัดต้นไม้ เวลาเราเข้าใจเที่ยวธุดงค์ เห็นไหม ก็เที่ยวธุดงค์ในป่า เห็นต้นไม้ นี่ก็เหมือนกัน ตัดป่า ก็โค่นต้นไม้ให้หมดเลย ป่านี่โล่งเตียนเลย นั่นเป็นวัตถุไง แต่เวลาตัดกิเลสในใจเห็นไหม ตัดกิเลสออก

กิเลส สิ่งที่มันเป็นสิ่งที่หมักหมมในหัวใจนั้นออก ตัดออกหมดเลย แต่ต้นไม้ไม่ได้ตัดสักต้นหนึ่ง เห็นไหม เวลาเที่ยวธุดงค์ไปในป่า อยู่ในป่า เราชำระกิเลสของเรา เราไม่ได้กระทบกระเทือนกับสิ่งที่อยู่ในป่านั้นเลย ไปเพื่อเรา ไปเพื่อวิปัสสนาจากข้างในเข้ามาเพื่อประโยชน์กับเรา เห็นไหม เที่ยวธุดงค์

เที่ยวธุดงค์มันมีประสบการณ์นะ ประสบการณ์การเที่ยวธุดงค์ ตรงนี้สำคัญมาก เพราะพระป่า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะพระป่า พระป่า สิ่งต่างๆ มันสะเทือนหัวใจหมด แต่ถ้าเราอยู่ในสถานที่ ที่คุ้นชิน แล้วเราศึกษาของเราขึ้นไป กิเลสมันก็อาศัยสิ่งนั้นเป็นประโยชน์กับเขา ประโยชน์ของเขานะ ถึงว่าการเก็บศพอย่างหนึ่ง การเที่ยวธุดงค์อย่างหนึ่ง

สิ่งนี้ ถ้าเราทำแล้วมันจะเป็นประสบการณ์ของบุคคลคนนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างสมบุญญาธิการมหาศาล ออกเที่ยวป่า ออกต่างๆ เพราะเห็นการอยู่ในป่ามันเป็นสิ่งที่จะเอาชนะตนเองได้ง่ายขึ้น มันเป็นกำลังไง เป็นสิ่งที่เพื่อประโยชน์กับเรา ท่านถึงได้วางธุดงควัตรไว้ ให้ประพฤติปฏิบัติ ให้ถือเป็นว่า ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ สิ่งนี้เพื่อประโยชน์ ประโยชน์กับบุคคลคนนั้น เพื่อการกระทำสิ่งนั้น เพื่อประโยชน์กับเราด้วย

ถ้าเราเข้าใจความจริงแล้ว เราเข้าใจ แล้วจิตเราพัฒนาขึ้นมา มันมองย้อนกลับไปนะ มองย้อนกลับไป คนที่เขาเห็นสิ่งเหล่านั้นเป็นประโยชน์กับเขา มันก็เหมือนคนที่เห็นประโยชน์ส่วนหยาบ เราเห็นประโยชน์ส่วนละเอียด แต่มันก็น้อยเนื้อต่ำใจ ว่าทำเมื่อไหร่จะถึงที่สุดสักที อันนี้เป็นส่วนหนึ่ง มันก็มีหนทางเดียว หนทางคือเราต้องอาชนะตนเอง

แล้วถ้าขณะคนที่ไม่เอาหนทางนี้ สร้างบุญกุศลขนาดไหน เขาก็เกิดเขาก็ตาย ถ้าไม่มีการภาวนา ไม่มีการชำระกิเลส มันต้องเป็นไปอยู่นะ ทีนี้การภาวนาของเรา เราถือว่าเอาที่เป็นเป้าหมาย แล้วทำสุดฝีมือของเรา สิ่งที่จะเกิดขึ้นมาก็อยู่ที่ความสามารถของเราหนึ่ง อยู่ที่พื้นฐานของเราจะช่วยส่งเสริมเห็นไหม เราถึงทำความดีกันต่อเนื่อง เพื่อเรา

จะตอบปัญหานะ

ถาม : ๑. ทำไมทำความดีแล้วจึงไม่ได้ดี?

หลวงพ่อ : นี้ ๑. นะ เราจะได้ดีมาก.. ถ้าไม่ทำความดีโดยธรรมชาติของกิเลส กิเลสมันเห็นแก่ตัวอยู่แล้ว ฟังนะ กิเลสมันเห็นแก่ตัวอยู่แล้ว มันปิดตาเรา มันปิดตาเรา เห็นไหม สิ่งที่จะทำดีมันฝืนกับกิเลส แต่ถ้าทำตามกิเลส ทำตามความเห็น ตามความพอใจของเรา ตามความประสงค์ของเรานั้นเป็นสิ่งที่ตัณหาความทะยานอยาก คือกิเลสสมุทัยที่มันหลอกล่อใจอยู่ แล้วทำตามสิ่งนั้นไป มันจะเป็นความดีได้อย่างไร? มันจะเป็นคุณประโยชน์กับเราไหม?

มันเป็นความ.. เรานี่ เราเกลียดขี้หน้าใครคนหนึ่ง เราจะฆ่าเขาเลย ด้วยสนองตัณหาของตัว สะใจ พอฆ่าเขาไปแล้วเราได้อะไร เราก็ติดคุก เราก็ต้องหนีเอาตัวรอด เป็นความดีไหม นี่ไง ถ้าไม่ทำความดี มันก็ต้องทำความชั่วไง ฉะนั้นทำความดีแล้วไม่ได้ดี ได้ดีต่อเมื่อทำความดีแล้ว เพราะการทำความดีคือการฝืนความชั่วไง การทำความดีคือฝืนกิเลสเรา แล้วมันจะไม่ดีตรงไหนล่ะ

ทำความดีได้ดีมาก เพียงแต่ทำความดีแล้ว เราปรารถนาใช่ไหม เราต้องการประสบความสำเร็จในชีวิตของเรา แล้วมันไม่เห็นประสบความสำเร็จ ไอ้ที่มันไม่เห็นประสบความสำเร็จหรือมันมีอุปสรรค เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดา ดูพระเวสสันดรสิ พระเวสสันดรนี่นะ มุ่งมั่นในสิ่งที่ดี เพราะเป็นชาติสุดท้าย

ชาติสุดท้ายที่บารมีเต็มไง พระโพธิสัตว์ทุกองค์ ชาติสุดท้ายที่สร้างสมบารมีต้องสละลูกสละเมีย ทุกๆ องค์ ทีนี้ชาติสุดท้ายก็จะสละทานเห็นไหม ดูสิ ทำความดีไหม ทำความดี ทำไมประชาชนเขาไล่ออกจากเมือง เขาไล่ออกจากเมืองเลย มาขออะไร ขออะไรก็ให้หมด ให้หมด จนประชาชนทนไม่ไหว ไล่ประท้วง ไล่พระเวสสันดรออกจากเมืองไป

ทำความดีแล้วได้ความดีไหม?

ทำความดีแล้วทำไมประชาชนไล่ล่ะ “เพราะวุฒิภาวะของคนไม่เท่ากัน” เพราะวุฒิภาวะของประชาชนใช่ไหม ก็ต้องเกื้อกูลในเมืองของเราก่อนสิ ต้องดูแลต้องปกครอง ต้องให้ทุกคนมีความสุขสิ นี่ทำไมไปแจกคนโน้น ไปแจกคนโน้น เงินหลวงนะ เอามาแจกเขาๆ

แต่ด้วยความเห็นของพระเวสสันดร เห็นไหม สิ่งใดที่เป็นทาน สิ่งใดที่พอใจ ขอนี่ให้หมด จนโดนไล่ออกไปแล้วไปอยู่ในป่า ในป่าทำไมล่ะ ก็มีมัทรี มีลูกอีก ๒ คน ชูชกก็มาขอ ขอก็ให้ มัทรีเทวดามาขอ ก็ให้ นี่เพราะอะไร เพราะทำความดีไง แต่โลกไม่เห็น เห็นไหม

แล้วในปัจจุบันนี้ แล้วว่าเราทำความดีแล้วไม่ได้ดี ได้ เราพูดบ่อยนะ เรามาอยู่ที่นี่ เขานิมนต์มาที่โพธารามบ่อยๆ ครั้งแรกนี่ ธรรมดานะ นี่พูดถึงวงการสงฆ์ วงการสงฆ์ เขาเห็นพระที่อื่นมา เขาก็ต้องพยายามต่อต้าน เห็นไหม แล้วแรงมาก เราคุยกับตัวเอง เราจะจับโกหกพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกว่าทำดีต้องได้ดี ก็ทำดีอยู่นี่ ทำดีอยู่ข้างใน โอ้โฮ แรงมาก เขาต่อต้านแรงมาก ก็ทำดีเหมือนกัน ก็ทำดีแล้วทำไมเขากลั่นแกล้งรุนแรงขนาดนั้น

แต่ก็ธรรมดาของคน เห็นไหม ดู ทำไมพระโมคคัลลานะโดนเขาทุบตาย พระอรหันต์นะ มันคนเรามีเวรมีกรรมต่อกัน ทำดีต้องได้ดี แต่เพราะเรานี่มีเวรมีกรรมมา เห็นไหม ไม่รู้ชาติใดทำมา อย่างเช่นปัจจุบันนี้ทุกคนบอกเลยนะว่าอยากจะเกิดร่วม อยากจะเกิดพร้อมพระศรีอารย์ เราถามกลับนะ เอ็งมีสิทธิอะไรจะไปเกิดพร้อมพระศรีอารย์ เอ็งมีสิทธิอะไร?

อธิษฐานกันนะ ทุกคนอยากปฏิบัติง่ายๆ พระศรีอารย์มาแล้ว ปฏิบัติง่าย ทุกคนจะง่าย แล้วบอกเราจะไปเกิดพร้อมพระศรีอารย์ เอ็งมีสิทธิอะไร นี่อธิษฐานใช่ไหม เราจะไปเกิดพร้อมพระศรีอารย์ เราจะต้องสร้างนะ เราต้องทำของเรา สหชาติ การเกิดพระพุทธเจ้านี่ไม่ใช่ของง่ายๆ นะ

ดูสิ ผู้หญิงนะ คลอดลูกทุกคน มีลูกมีทุกอย่าง แต่จะคลอดพระพุทธเจ้าได้ไหม ไม่ได้ ต้องตั้งเป้านะ พุทธมารดาต้องสร้างนะ ต้องอธิษฐานว่าจะขอเป็นพุทธมารดา แล้วต้องสร้างบุญกุศล สร้างเรื่อยๆ จนถึงมาเกิดเป็นนางสิริมหามายา เห็นไหม พุทธมารดา เวลาคลอดเจ้าชายสิทธัตถะแล้ว ก็เสียชีวิตเลย ต้องสร้างนะ การเกิดพร้อมพระศรีอริยเมตไตรย เราคิดว่าเราอธิษฐาน แล้วเราสร้างบุญกุศลอะไร?

เหมือนเราอยากรวย แล้วเราไม่ทำเราจะรวยไหม เราอยาก นี่ก็เหมือนกัน ความดีนะ ความดีคือความดี ทำดีต้องได้ดี เพราะถ้าเราไม่ทำความดี เราจะไหลไปตามกิเลส ความดีคือสิ่งที่เรามีสติสัมปชัญญะ ความดีที่เราจะยับยั้งไว้ แต่ทำดีแล้วทำไมทุกข์ยากขนาดนี้ล่ะ เออ อันนี้ใช่ ทำดีแล้วทุกข์ เพราะอะไร เพราะมันขัดแย้งกับกิเลสไง ขัดแย้งกับความเห็นของเราไง ทำดี พระพุทธเจ้าว่าทำดีต้องได้ดี อย่างนี้อย่างที่ว่านี่ ดีของใคร ดีของเด็กๆ เห็นไหม

เด็กนี่เราเกิดมาแล้วเลี้ยงง่ายไม่ออดไม่อ้อนนะ โอ้โฮ พ่อแม่บอกมีลูกดีมากเลย แล้วมันก็เป็นความดีของเด็กใช่ไหม เด็กไม่อ้อน เด็กไม่กวนเรานี่ เด็กดีไหม ลูกเราดีไหม แล้วก็มันจะไม่อ้อนไปตลอดชีวิตเลย มันก็จะนอนอยู่อย่างนี้ตลอดชีวิตเลยล่ะ เรายอมมันไหม มันดีของเด็กใช่ไหม พอโตขึ้นมามันก็ต้องมีการศึกษามีการเล่าเรียนของมัน พอโตเป็นผู้ใหญ่มา เราก็ต้องมีหน้าที่การงานของเรา

พ่อแม่ที่ดีนะก็อยากให้ลูกทุกคน แต่ลูกแต่ละคนก็มีเวรมีกรรมนะ ลูกแต่ละคน บางคนก็ประสบความสำเร็จ ใช่ไหม บางคนทำหน้าที่การงานแล้วก็มีอุปสรรคบ้างมีต่างๆ อันนี้เราจะพูดกับพระเราตลอด ว่าสิ่งไหนที่เกิดขึ้นมา ให้ยิ้มสู้มัน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นมามันเป็นเวรเป็นกรรมมาทั้งนั้นล่ะ ถ้าเราทำดีมา ทำดีของเราไป ความดี ถึงที่สุด ความดีต้องให้ผลกับเรา

แต่นี่ถ้าพูดถึงเราทำแล้ว มันยังไม่ถึง เกิดมันมีอุปสรรคกับเรา อุปสรรคนี่นะ เอาไว้ให้แก้ อุปสรรคนี่เอาไว้ให้พิสูจน์ใจเรา เราต้องพิสูจน์ สิ่งที่เกิดขึ้นมานี่ ถ้าน้อยเนื้อต่ำใจ เราน้อยเนื้อต่ำใจ ทำไมคนอื่นไม่เป็นเหมือนเรา?

ทำไมเราไม่อยากกินอาหารเหมือนเขาบ้างล่ะ อาหารที่เขากินอร่อย เรากินแล้วไม่เห็นอร่อยเลย เราไม่พอใจละ อาหารที่ถึงลิ้นของเรา สิ่งที่เราพอใจคืออาหารที่เราพอใจใช่ไหม แต่อาหารของผู้อื่น เขากินของเขาว่าอร่อย เราไปกินไม่เห็นมีรสชาติเลย เพราะมันไม่ถูกกับจริตของเรา

สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราก็เหมือนกัน เราเห็นว่าเขา ดีๆๆ ทุกอย่าง เราไปทำอย่างนั้น มันจะมีความสุขเหมือนเราไหม ดูสิ อย่างเราปฏิบัติ โยมประพฤติปฏิบัติขนาดไหน จะมีความสุขขนาดไหน เรามองเป็นของเล็กน้อยมากเลย ถ้าจะให้อยู่กับจิตเรานี่ เรามีความสุขมากกว่า เราจะบอกว่านะ แม้แต่ปฏิบัตินะ โสดาปัตติมรรค สกิทาคามรรค อนาคามรรค อรหัตมรรค มันยังลึกลับซับซ้อนต่างกันเลย

ความดีของพระโสดาบัน กับความดีของพระสกิทาอนาคามีนะแตกต่างกันมาก แล้วความดีของพระสกิทามีกับความดีของพระอนาคานะ แตกต่างกันมาก ความดีของพระอนาคากับความดีของพระอรหันต์ แตกต่างกันมาก มรรค สิ่งที่จะเกิดมรรคเกิดการกระทำของจิตที่มันจะรวมตัว จิตที่มันจะมีดีขึ้นไป

นี่เราคิดประสาเรา เราคิดแบบวิทยาศาสตร์ไง เหมือนกับเลขเลย หนึ่งบวกหนึ่งต้องเป็นสอง เหมือนธุรกิจ ยื่นแบงก์ไปแล้วต้องเอาสินค้าอันนั้นมา อันนี้ทำไว้แล้วก็จะเอาความดี แต่มันไม่ใช่อย่างนั้น บางทีเรายื่นแบงก์ไป เขาจะให้สินค้าเรามหาศาลเลย เพราะอะไร เพราะว่าเจอคนดีด้วยกัน

บางทียื่นแบงก์ไป เครื่อง เอทีเอ็ม มันดูดบัตรไปเลย ยื่นแบงก์ไป มันไม่ให้อะไรตอบมาเลย มันโกงด้วย แล้วไหนทำดีต้องได้ดี เวรกรรมของคนไง เวรกรรมของคนมีนะ อันนี้สิ่งที่เวรกรรมของคนมี เวรกรรมของเรา

เราเกิดมานะ เราจะพูดประจำ เราเกิดมา เรามีร่างกายกับจิตใจ นี่บุญกุศลมากที่สุดมหาศาลเลย เพราะมีร่างกายกับมีจิตใจ เรามีปัญญา เรามีความคิด เราถึงมาฟังธรรมะ แล้วหาทางออก เราจะเอาตัวเราพ้นจากกิเลสได้ เราเกิดมามีร่างกายกับจิตใจ มันจะทุกข์มันจะยากขนาดไหน ดูสิ ในสมัยพุทธกาลเห็นไหม ที่พระอะไรที่ว่าฉันข้าวไม่เคยอิ่มเลย พระอรหันต์นะนั่น

จนพระสารีบุตรได้ยินข่าวก็ไปถามว่า “เป็นอย่างนั้นจริงเหรอ” “ให้เล่าให้ฟัง” บอก “จริง” บิณฑบาตนะ มันจะจับพลัดจับผลู จะไม่ได้กันอย่างนั้นล่ะ อยู่หน้าเขาจะอยู่หน้าอยู่หลัง จะบิณฑบาตแล้ว แม้แต่ใส่อาหารเต็มบาตรแล้วมันก็จะแว็บหายไปเอง จนพระสารีบุตร “วันนี้จะจับบาตรไว้ บุญของพระสารีบุตร เห็นไหม แล้วให้ฉัน”

เราคิดนะ เราคิดเปรียบเทียบในตัวเราเอง เราศึกษาสิ่งต่างๆ เราจะเปรียบเทียบหาค่าของมัน เราคิดว่าคนเกิดมาชาติหนึ่งนะ แล้วไม่เคยกินข้าวอิ่มในท้อง ไม่เคยอิ่มสักมื้อเดียว ทุกข์ไหม คิดดูสิ เราเกิดมา แล้วเราไม่เคยกินข้าวอิ่มเลย เราจะหิวตลอด เราทุกข์ไหม เป็นพระอรหันต์ด้วยนะ จนพระสารีบุตรต้องจับบาตรไว้ให้เลยนะ

พอพระสารีบุตรจับบาตรไว้ให้นะ วันนั้นฉันข้าวอิ่มมื้อแรกในชีวิตนะ แล้วก็นิพพานเลย ตายเลย เกิดมาทั้งชีวิตเลย ไม่เคยกินข้าวอิ่มเลย มันจะหายไปเอง แล้วพอไปดู ไปถามพระพุทธเจ้าบอกประวัติ

ประวัติบอกว่า เป็นเศรษฐีขี้ตระหนี่ แม้แต่เวลาตวงข้าวข้าวสาร เศรษฐีตวงข้าวสาร ข้าวสารตกไปที่พื้นเม็ดหนึ่ง มดมันก็มาลากไป มดมันมาขนไปไง ขนไปในรูมัน เอาจอบไปขุดเอาเม็ดข้าวนั้นคืนนะ ข้าวเม็ดหนึ่งก็ไม่ให้มดกิน ตระหนี่มาก

แล้วตระหนี่ทำไมเป็นพระอรหันต์ได้? เขาทำความดีของเขาอย่างอื่น เห็นไหม แล้วพอเป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่เคยกินข้าวอิ่มเลย แล้วดูพระสีวลีสิ ไปอยู่ที่ไหนมีแต่คนจะให้ เพราะเป็นคนเสียสละ เป็นคนที่เวลาออกไปไหน เห็นไหม เขาทำบุญที่ไหน จะเชิญไปเป็นประธาน จะเชิญไปเป็นหัวหน้าตลอดเลย ทำบุญมามาก

เวลามาบรรลุตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ขึ้นมา พระสีวลีจะมีบุญมากเลย ไปไหนจะมีคนคอยแต่ถวายทานๆๆ นี่สิ่งที่ทำมาไง ฉะนั้นเวลาเกิดสิ่งใดที่มันเผชิญกับเรานะ เหตุนี่เราสร้างมา แล้วเหตุของคนมันไม่เท่ากัน เราถึงบอกว่าจะจับผิดโกหกพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกว่า สอนให้ทำความดี “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” แล้วเราพยายามฝืนอยู่พยายามทำอยู่

แต่สิ่งที่มันมาตัดรอนเรา กรรมของเราอุปสรรคของเรา เราถึงดูพวกโยม ถ้าทำความดีแล้วได้ดี ส่วนใหญ่แล้ว อำนาจวาสนา อำนาจวาสนาหมายถึงจังหวะไง จังหวะและโอกาสที่เราทำธุรกิจ มันลงตัวพั้บๆๆ สังเกตไหม บางคนมาทำ แหม มันจะลงตัวพอดีนะ มันพอดีไปหมดเลย

ไอ้เรานี่คิดดีมากเลย คิดก่อนตลาดไง คิดสินค้ามาดีมากเลย ไปถึงตลาด เสนอขายเขาไม่มีใครรู้จักเลยนะ จนเราอยู่ไม่ได้ พอคนอื่นมาทำพอดีหมด นั่นบุญของเขา อำนาจวาสนาคือจังหวะและโอกาสที่มันสมดุลพอดีๆๆ ความคิดของคน วิทยาศาสตร์เดี๋ยวนี้ไปศึกษาสิ เดี๋ยวนี้เอามาทำวิจัยตลาด เรารู้ทันกันหมดล่ะ แต่สินค้าเราไปทำทำไมมีปัญหาล่ะ

ทีนี้มีปัญหาปั๊บ เราทำสิ่งนี้แล้ว ทำสุดความสามารถ นั่นเป็นอำนาจของเขา นั่นเป็นวาสนาของเขา เราก็ทำของเราไป ทำของเราไปในเมื่อเราทำ เราสร้างคุณงามความดี เราได้แค่นี้ ก็เราสร้างบุญมาแค่นี้ สร้างบุญมาแค่นี้ แล้วเราก็ทำของเราไป ความเพียรชอบ ความวิริยะอุตสาหะที่ดี ทำให้พระผู้นักปฏิบัติพ้นจากกิเลสได้

นี่เราทำธุรกิจ เราทำประโยชน์ความดีของเรา เราก็ทำของเราเต็มความสามารถของเรา ทำอย่างไรถึงมีความสามารถ มันได้ผลตอบรับแค่นี้ อืม นี้คือความสามารถของเรา แล้วอย่าน้อยเนื้อต่ำใจ เราจะยุตลอดนะ เราเชื่อมั่น เราเชื่อมั่นมาก

“ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว”

เชื่อมั่นตรงนี้มากจริงๆ เชื่อมั่นมาก แล้วเราก็ทำแต่ของเรา

ดูอย่างที่เราเทียบมาที่หลวงตาเห็นไหม หลวงตาท่านพูดนะ ท่านบอกว่าถ้าชาวโลก คิดกันโดยวิทยาศาสตร์ ชาวโลกกับชีวิตของท่าน ท่านนี่เป็นคนโง่มาก คนโง่เพราะอะไร เพราะหาเงินให้ชาวบ้านใช้ หาเงินเข้าคลังหลวง หาเงินให้สังคมเป็นหมื่นๆ ล้าน ชาวบ้านหาผลประโยชน์นี่เป็นของเราใช่ไหม

ถ้าพูดถึงทางโลก ท่านบอกท่านโง่มาก เพราะหาเงินให้คนอื่น หาให้เขาหมดเลย คนโง่ไหม โง่มากเลย แต่ถ้าเผื่อถ้าทางธรรม ถ้าทางธรรม เห็นไหม อำนาจวาสนาของท่าน ท่านได้สร้างอำนาจวาสนามา เวลาโครงการ “ไทยช่วยไทย” ท่านจะบอกเลย ถ้าไม่ใช่สายบุญสายกรรม มันจะไม่เชื่อฟังกัน มันจะไม่เข้ามาส่งเสริมกัน นี้เพราะเป็นสายบุญสายกรรม

สายบุญสายกรรมคือ เราเกิดในวัฏฏะ เราเกิดเวียนตายเวียนเกิด เราได้สร้างคุณงามความดีด้วยกันมา เราได้เป็นพ่อเป็นแม่เป็นลูกเป็นปู่เป็นย่าเป็นหลาน เกิดเวียนตายเวียนเกิด ซับซ้อนกันมาๆ ได้เป็นเพื่อนเป็นฝูงเป็นอะไร ต้องเป็นกันมา นี่สายบุญสายกรรม

ฉะนั้นพอมาชาติปัจจุบันนี้ ท่านประพฤติของท่าน ถึงที่สุด สิ้นกิเลสของท่าน ชาติสุดท้ายของท่าน ท่านยังสร้างประโยชน์กับเรา เราถึงพูดตรงนี้นะ เวลาพระออกไปทำงานกัน เวลาพระน้อยเนื้อต่ำใจ เราจะบอกเขานะ บอกว่า พระโพธิสัตว์ จะต้องสร้างเอง จะต้องทำเองทั้งหมดเลย แต่นี่ของเรามีหัวหน้า มีคนทำให้ มีผู้นำ นำเราทำ ทำไมเรายังไม่เชื่อท่าน ทำไมเรายังลำบากลำบน

ถ้าไม่มีหลวงตา ไม่มีครูบาอาจารย์เป็นผู้ที่เป็นหัวหน้า เป็นผู้พาทำ เราต้องทำเองหมดนะ ทำดีก็ต้องหาเอง ทำอะไรก็ต้องหาเอง นี่มีคนพาเราทำเลย เราทำไมยังไม่ทำ นี่แสดงว่าวาสนาเราน้อยมาก วาสนาเราต่ำต้อยมาก ขนาดมีคนจูงมือไปเลย เรายังงอแง ขณะที่ พระโพธิสัตว์ ไม่ต้องมีใครจูงมือ ต้องค้นเอง ต้องทำเอง ต้องหาเอง ยืนยัน

ถาม : ทำไมทำความดีแล้วถึงไม่ได้ดี? แล้วทำอย่างไรถึงจะให้ได้ดี?

หลวงพ่อ : ให้ได้ดีก็อย่างที่ว่า ดีของใคร ดีส่วนโลก เห็นไหม เราทำอะไรประสบความสำเร็จ ประสบความสำเร็จแล้ว มันเป็นความดี แต่ถ้าเราดีให้เขา เห็นไหม ดูสิ คนทำดี เห็นไหม ทำดีเพื่อเราด้วย ทำดีเพื่อเขาด้วย ถ้าทำดีเพื่อเขา เห็นไหม เราได้ดีด้วย เราได้บริษัทบริวารด้วย

แล้วถึงที่สุด ในการประพฤติปฏิบัติ ไม่มีใครประพฤติปฏิบัติให้ใครได้ เราจะต้องปฏิบัติของเราเอง ความดีของเราไม่พ้นความดีนั่งสมาธิภาวนา ไม่ใช่การนั่งสมาธิภาวนาจะให้เราชำระกิเลส เป็นไปไม่ได้ จิตแก้จิต ปฏิสนธิจิตของเรามาเกิด ปฏิสนธิจิตของเรา มันจะไปชำระล้างมันเอง ในเมื่อดวงจิตขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดวงจิตของครูบาอาจารย์ของเรา จะมาชำระล้างกิเลสของเราเหรอ

ครูบาอาจารย์ท่านพูดบ่อยนะ “เวลานั่งสมาธิภาวนา อย่าให้ใครครอบงำจิต เพราะมันจะเป็นการสะกดจิต” ในเมื่อเป็นการสะกดจิต จิตที่โดนกดทับ มันจะเป็นอิสระกับตัวมันเองไหม ในเมื่อจิตมันไม่เป็นอิสระกับตัวมันเอง มันจะชำระตัวมันเองได้ไหม

ฉะนั้นจิตของเรา เราต้องทำสมาธิเข้ามา ให้มันเป็นอิสรภาพ ให้เป็นภราดรภาพ เพราะสมาธิเป็นสากล จิตเข้ามาถึงหลักของสมาธิเป็นสากล สากลหมายถึงว่ามันเป็นสัจธรรมอันหนึ่ง ที่ไม่มีมิติ ถ้ามีมิติเห็นไหม เราเกิด ตอนนี้เรา ๒๔ ชั่วโมง เราคุยกันได้ใน ๒๔ ชั่วโมง พอจิตเราสงบขึ้นมาปั๊บ มันเป็นกลาง ไม่มีมิติ แล้วจะไปเที่ยวที่ไหน จะไปพรหม จะไปเทวดา จะไปไหน ไปได้หมดเลย ถ้าคนทำเป็น

ถ้าคนทำไม่เป็นนะ พอจิตสงบเข้าไปแล้วนะ เหมือนเราเข้าไปที่ว่าง เก้อๆ เขินๆ หมุนซ้าย หมุนไม่เป็น ไปไม่ได้ ไม่รู้จะไปทางไหน หาทางออกไม่เจอ แต่ถ้าคนชำนาญนะ พอจิตสงบปั๊บ เข้าถึงฐานปั๊บ กำหนดเลย ไป พั้บๆๆๆ ไปได้หมดเลย แต่ถ้าเราเป็นปกติ เราต้องตาย ตายแล้วถ้าไปเกิด เป็นโอปปาติกะ เราก็ไปเกิดเป็นเทวดา ก็ชาติหนึ่ง ได้มิติในเทวดานั้น

หมดจากชาตินั้นก็เลื่อนไปๆ เป็นชาติๆ ไป เป็นที่เราเป็น เราเป็นสถานะนั้น สถานะนั้นไป แต่ถ้าจิตสงบเข้ามา แล้วเราเป็นกลาง เราไม่ต้องเกิด มันสามารถเป็นไปได้ สามารถทำได้ เห็นไหม ทีนี้พอจิตเราสงบขึ้นมานี่ เราไม่ไป เพราะไปแล้วนี่ แบบแม่ชีแก้ว ท่านปฏิบัติ ถ้าไม่มีสิ่งใดเลย ท่านบอกว่าท่านจะไม่ได้ปฏิบัติ

“ไอ้พวกเราก็ไปเห็นเทวดา เห็นอะไรต่างๆ โอ๊ย เก่ง นั่นคือการปฏิบัติ ไม่ใช่.. ส่งออกหมดเลย ส่งออกหมดเลย” เพราะไม่ใช่อริยสัจ อริยสัจคือการ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทุกข์ของเราอยู่ที่ไหน ทุกข์ของการไปเห็นพรหม ไปเห็นเทวดา พอไปเห็นเทวดา โอ้ เทวดามีความสุขนะ มันเป็นอย่างนี้นะ ทำไมเทวดาเขาไม่เท่ากัน

ทำไมมีพระอินทร์ ทำไมมีเทวดาที่ใต้ปกครองล่ะ ไปเห็นทุกข์ของเทวดานะ เทวดาฝ่ายปกครอง ฝ่ายผู้โดนถูกปกครอง อ้าว เทวดาไม่เสมอภาค มันจะไปประท้วงในเทวดา ว่าเทวดาต้องเสมอภาคอีกนะ เป็นทุกข์อีกแล้ว

ทีนี้ เพราะมันไม่ใช่อริยสัจ มันไปเห็นเข้ามันก็ไม่เข้าใจ แต่ถ้ามันย้อนกลับมาที่เรา เห็นไหม ทุกข์ใครเป็นคนทุกข์ ทุกข์มันเกิดที่ไหน ถ้าเห็นทุกข์ ก็คือเห็นอริยสัจ เราไม่เห็นทุกข์ไง ที่เราร้องไห้ ที่เจ็บปวดกันอยู่นี่นะ เป็นผลของทุกข์นะ เราจะเสียใจต่อเมื่อเราคิดใช่ไหม เราคิดจบแล้วเราถึงเสียใจใช่ไหม ความคิดนี่นะ อาการของจิต ความทุกข์ไง เวลาเราจะมีความคิดนะ จิตมันเสวยอารมณ์ พอจิตมันเสวยอารมณ์ จิตมันสัมผัส นั่นล่ะต้นเหตุแห่งทุกข์ นั่นล่ะคือตัวทุกข์

ตัวทุกข์คือตัวใจ ประสาเรานี่ใจโง่ มึงไปเอาทำไมไฟ มึงไปคิดทำไม มึงไปคิดสิ่งที่ฝังใจที่ไม่ดีๆ มึงไปคิดทำไม แต่เพราะกูโง่ไง กูเลยคิดไปก่อน เพราะกูไม่รู้จักตัวกูเองไง เพราะกูไม่มีสติไง ถ้ามีสติตามมันๆ ปัญญาอบรมสมาธิมันจะปล่อยเข้ามาๆ นี่จิตเป็นสากล จิตเป็นสมาธิ ถึงบอกว่าทำดีมันดีตรงไหน

ถ้าดีอย่างนี้ปั๊บนะ ถ้าเราดี ความดีของเรา ถ้าจิต เรานั่งกำหนดพุทโธ ปัญญาอบรมสมาธิ หรือกำหนดสมาธิอบรมปัญญา ถ้าสมาธิมันมั่นคง มันแข็งแรง มันวิปัสสนาของมันเป็นไป นี่ความดีอย่างละเอียด เราอาบเหงื่อต่างน้ำทำงานกันนะ เหงื่อไหลไคลย้อย เวลานั่งสมาธิ นั่งกำหนด เหนื่อยมาก จิตสงบแล้ว จิตออกทำงานนี่โอ้โฮ เหนื่อย ออกจากสมาธิมาน่ะ หอบเลยล่ะ ทำงานของใจ

ดูเหมือนกับนักบริหารเลย ผู้บริหารออกมาเห็นไหม เครียดไปหมดเลย ผมดำๆ เข้าไป บริหาร ๒ ปี ผมขาวไปหมดเลย มันเป็นวิตกวิจารณ์ เราก็ว่าเราเหนื่อย แต่ไปวิปัสสนา เหนื่อยกว่านั้น งานข้างใน แต่เวลามันปล่อย สุขมากกว่านั้น มีความสุขมาก เวลาปล่อยวางขึ้นมา จิตมันปล่อยวางขึ้นมา โล่ง ปล่อยหมดเลย เห็นไหม ความดีของใจไง ความดีของการกระทำจากภายในไง ความดีจากข้างนอกนี่ความดีอย่างหยาบๆ

นี้เพียงแต่ว่าเราเกิดมานี่เป็นภพเป็นชาติ ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นความดี แล้วทำดีต้องได้ดีๆ ถ้าไม่ได้มีความดี ไม่ได้มานั่งอยู่นี่ ไม่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์ไง มนุษย์สมบัติ อริยทรัพย์ เพียงแต่เกิดเป็นมนุษย์สมบัติแล้ว เราจะใช้ทำอะไร จะใช้ทำอย่างนี้ มีครูบาอาจารย์ เห็นไหม

หมู่คณะ คบบัณฑิตไง คบบัณฑิตพาออกจากกิเลสไง คบพาล พาลมันก็พาไปหาอยู่หากิน พาลมันก็พาลงทุ่งลงหนอง ไปหาปลาไง เราคบบัณฑิต บัณฑิตก็ดึงกันมานี่ เห็นไหม บัณฑิตข้างนอก เห็นไหม แล้วใจเป็นบัณฑิตหรือยัง ถ้าใจเป็นบัณฑิตนะ ความคิดไม่ดี ความคิดของเรา เราจะแก้ไขมันให้เป็นบัณฑิต

บัณฑิตคืออะไร บัณฑิตคือคิดธรรมไง คิดคุณงามความดีไง ถ้ามันเป็นอย่างนั้นปั๊บ พอมันคบบัณฑิต มันก็จะเห็นว่า ดีก็คือดี แต่นี่มันยังน้อยใจอยู่ มันไปคบกิเลสอยู่ กิเลสมันจะพาลงว่า ดีต้องได้รับผลตอบแทน เพราะคิดความดีอย่างนั้น เพราะคิดความดีอย่างนี้

เดี๋ยวนี้พระนะ เราไปเจอเข้า เวลาทำบุญ เขามีใบอนุโมทนา แล้วเขาอนุโมทนานี่ เขามีต้นขั้ว แล้วก็จะมาจับไง จับเบอร์ ใครทำบุญแล้วได้ปิกอัพ อู๊ย ทำบุญกันใหญ่เลย นี่ไง เพราะเราอยากดีแล้วได้ผลตอบสนองใช่ไหม พระก็เลยเอามาเป็นการจับฉลากกัน ทำดีแล้วจับฉลาก

ไอ้พวกเราก็เป็นเหยื่อ เพราะเราไปเห็นแก่วัตถุ แต่เราไม่เห็นเลยว่าบุญกุศลที่เราทำไปแล้ว เราเสียสละเข้าไปในศาสนา มันเต็มเปี่ยมแล้ว เพราะมันเกิดจากเจตนา เกิดจากหัวใจของเรา สิ่งที่ได้มา สิ่งข้างนอกมันเป็นผลพลอยได้ ลาภควรได้ ลาภไม่ควรได้ แต่พระเราก็เอาไปเป็นตัวหัวเชื้อ เพื่อจะน้อมนำให้เราทำบุญกุศล ให้เขามากขึ้นไป นั่นเห็นไหม เพราะอะไรล่ะ เพราะมองความดีกันแค่นั้นไง เศร้าใจนะ

เรามองเรื่องอย่างนี้นะ เราจะบอกเลย พระ เป็นผู้นำของสังคม แล้วพระยังไม่รู้จักดีนอก ดีใน ดีในอริยสัจ ดีในสิ่งที่จิตมันพัฒนาขึ้น ถ้าไม่รู้จักความดีที่มันพัฒนาขึ้น ความดีที่เป็นจริงขึ้นมา เราจะแนะนำเขาอย่างไร ก็เพียงแค่เราเป็นมนุษย์แล้วโกนหัวห่มผ้าเหลือง ความดีของเขา เขาก็จะได้ผลตอบแทน เราก็จะเอาสิ่งที่อยากได้ผลตอบแทนนั้นมาเพื่อล่อให้เขาทำความดีกันเท่านั้นเอง

เห็นเขาทำกันแล้วนะ มันคิดเลยนะ วุฒิภาวะมีเท่านี้กันหนอ วุฒิภาวะของผู้ชี้นำมีกันเท่านี้เองเหรอ แต่ถ้าวุฒิภาวะของเรานี่ ดี เห็นไหม ดี ดีมันจะพัฒนาเป็นชั้นๆๆๆ ขึ้นไป แล้วความดี ดีมันมีมหาศาลเลย ฉะนั้นประสาเราทำดีเพื่อดี ไม่ใช่ทำความดีเพื่อให้คนเขาว่าเราดี

หลวงตา ครูบาอาจารย์เรานี่ ท่านลึกซึ้งมาก แล้วอย่างคุณธรรมในหัวใจของท่าน ใครจะไปรู้ตามท่านได้ ใครจะไปให้ค่าได้ว่าพระโสดาบันมีคุณสมบัติอย่างไร พระสกิทา พระอนาคามีคุณสมบัติอย่างไร เราจะรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกิทา พระอนาคา แล้วถ้าเราจะให้เขาตอบสนองว่า ให้เขาเห็นว่าเป็นความดีของเรา แล้วในโลกนี้จะมีใครบ้างจะรู้จักพระโสดาบัน รู้จักพระสกิทา รู้จักพระอนาคา แล้วเราจะรอให้ความดีเขายกย่องว่าเราเป็นอย่างนั้น ให้ตายอีกร้อยชาติก็หาไม่ได้

ฉะนั้นถ้าจิตเราเป็น จิตเราขึ้นมาเห็นไหม อันนี้ต่างหาก ความดีของเรามันถึงจะเป็นสัจจะความจริงของเรา อันนี้จะเป็นความดีจริง เรารู้เองนะ สันทิฏฐิโก เรารู้ของเรา เราพัฒนาของเรา นี่พูดถึงความดีไง ข้อกรณีอย่างนี้จะมีคนน้อยใจแล้วมีคนคิดมาก แต่เวลาเราดู แม้แต่เด็ก มันว่านอนสอนง่าย เราก็ว่ามันดีแล้ว เห็นเด็กดีๆ นะ โอ้โฮ เด็กคนนี้ใช้ได้เลย ไอ้เด็กคนนี้เกมาก ไอ้เด็กคนนี้ไม่ดี เห็นไหม

เราก็มองตั้งแต่เด็กแล้ว ชอบเด็ก เพราะเด็กมันไร้เดียงสา ชอบตรงที่เด็กมันไร้เดียงสา ไม่มีมายา แต่ถ้ามันโตขึ้นมาแล้ว กูไม่เอา กูขี้เกียจไปแก้มายามึง ไม่เอา ชอบตรงไร้เดียงสา แล้วถ้าผู้ใหญ่ดี เราก็ชอบ ความดี เห็นไหม เรามองความดีหลายชั้น แล้วยิ่งภาวนา ยิ่งตั้งใจทำจริงนะ เราส่งเสริม แล้วเราพยายามช่วยเหลือเต็มที่ บางทีมันอยู่ที่วาสนา อยู่ที่กรรมของคน ส่งเสริมเต็มที่

ประสาเรานะ ถ้าประพฤติปฏิบัติแบบเต็มที่แล้ว ถ้ามันไม่ได้ มันก็คือไม่ได้ แต่ไม่ได้ เราก็ปฏิบัติบูชา เพื่อส่งเสริมอำนาจวาสนาบารมีของเราข้างหน้า ที่เราจะต้องเผชิญต่อสู้กับมันไป ไม่มีสิ่งใดจะมีคุณค่ามากเท่านี้อีกแล้ว เราทำของเรา บุญกุศลมหาศาล แต่เวลานั่งมันเจ็บปวด

ถาม : ๒. ถ้าเราทำบุญวันนี้ พอวันพรุ่งนี้ เราไม่ได้ตั้งใจไปทำบาปอยู่ เช่น เผลอฆ่ามดตาย จะลบบุญที่เราทำไว้ไหม

หลวงพ่อ : ไม่ ทำบุญแล้วจบ ทำบาปแล้วจบ บุญก็คือบุญ บาปก็คือบาป ไม่มีการลบล้างกัน ไม่มี บุญคือบุญ วันนี้เราทำบุญแล้ว พรุ่งนี้เผลอไปฆ่ามดตาย ฆ่ามดตายก็กรรม ก็บาป บุญก็คือบุญอย่างเก่า บุญอันนั้นเกี่ยวอะไรกับบาปอันนี้ล่ะ เราทำบุญขึ้นมา บุญ บุญหรือเราสร้างคุณงามความดี คุณงามความดีจะเปลี่ยนนิสัย เปลี่ยนการกระทำ ให้เราทำแต่สิ่งที่ดี แต่เราเผลอ เราเผลอไปทำมดตาย อันนั้นคือเผลอทำมดตาย

เราพูดบ่อยนะ เวลาคนเขามาที่นี่ เห็นไหม รถไปชนหมาตาย มาถึงนี่ทุกข์ใจ ร้อนใจ โอ้ หลวงพ่อ ชนหมาตาย จะทำบุญให้หมา เราพูดกลับ ไม่ใช่ หมามาชนรถมึงตาย อ้าว บางทีมันสุดวิสัยนะ เราขับรถมาเร็วๆ แล้วมันตัดหน้า เห็นไหม มันเป็นวาระกรรมของสัตว์ตัวนั้น

ใครบ้างอยากขับรถไปชนหมาตาย เพราะเราขับรถไปชนหมา รถเราเสียหาย เราก็ต้องเสียตังค์นะ แต่มันเป็นเหตุบังเอิญ เหตุสุดวิสัย ที่มันวิ่งตัดหน้าโดยความกระชั้นชิด โดยเราบังคับรถเราให้หยุดไม่ได้ มันก็ต้องมีกรรมของมัน สัตว์ตัวนั้นก็มีกรรมของเขา พอสัตว์ตัวนั้นมีกรรมของเขา เขามาเป็นอุบัติเหตุ แต่มันต้องมีการเกี่ยวพันกันมาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง มันถึงต้องมาเป็นอย่างนั้น

คือวาระกรรมของเขาที่เขาต้องไปเป็นอย่างนั้น เราจะเบี่ยงเบนให้เป็นอย่างอื่น เว้นไว้แต่ เรามีตั้งสติ เรามีตั้งสติแล้วเราเบรกกะทันหัน หรือเราหลบหลีกไป มันคลาดแคล้วกันไป อันนั้นก็เพราะธรรมของพระพุทธเจ้านี่ไง เพราะมีสติ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้ประมาท ให้มีสติ เรามีสติของเราอยู่ กฎแห่งกรรมคือกฎตายตัว กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน ไม่ใช่กฎตายตัว

กรรม เรามีกรรมมาเกิดเป็นมนุษย์ ถ้ากฎตายตัว เราเกิดกรรมขึ้นมาแล้ว มนุษย์ทำความดีความชั่วมา เราก็ต้องเป็นมนุษย์ไปจนตาย แล้วพอตายแล้วก็ไปเกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นมนุษย์ มนุษย์เพราะกฎมันตายตัว มันไม่ใช่ เราเป็นมนุษย์ เราสร้างคุณงามความดี ไปเกิดเป็นเทวดาก็ได้ ถ้าเราไม่ต้องการเป็นเทวดา เราจะเกิดเป็นมนุษย์อีก เพราะมนุษย์นี่มีคุณค่ามากกว่าเทวดา แล้วสร้างบุญกุศล

จะไปเกิดเป็นมนุษย์ก็ได้ เป็นเทวดาก็ได้ แล้วเราตั้งใจ จะไม่เกิดเป็นเทวดา เราจะเกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นมนุษย์เพื่อประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม เราเกิดเป็นมนุษย์เพื่อจะให้สร้างบารมี เพื่อเราจะพ้นจากทุกข์ เราเกิดเป็นเทวดาก็ได้ นี่สิ่งที่บุญกุศลมันพาไป สิ่งที่บุญกุศลพาไป แล้วบาปอกุศลล่ะ บาปอกุศลเราทำบาปไว้ บาปมันก็ต้องมีกับเรา

ถ้าบาปมีกับเรา เห็นไหม มันไม่ใช่กฎตายตัว มันเป็นสิ่งที่กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน แล้วเราแก้ไขของเรา ถ้ากฎตายตัว พระพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้ พระพุทธเจ้าเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะแล้ว พระพุทธเจ้าก็ต้องกฎตายตัวตายไปพร้อมกับเจ้าชายสิทธัตถะ แต่ทำไมพระพุทธเจ้าเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ แล้วพระพุทธเจ้าบรรลุธรรมขึ้นมาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม

เกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เกิดเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดจากจิต จิตมันเกิดมีวิวัฒนาการของอาสวักขยญาณ ไปทำลายกิเลสในหัวใจของพระพุทธเจ้าให้หมดสิ้นไป พอหมดสิ้นไป เห็นไหม การเกิดการตายไม่มีอีกแล้ว ทีนี้การเกิดการตายไม่มี ถึงบอกไม่ใช่กฎตายตัว มันเป็นสัจธรรม มันเป็นสัจธรรมหมายถึงว่า “ใครทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว”

เพียงแต่ว่า มันเหมือนข้อมูลในคอมพิวเตอร์ แล้วเอ็งคีย์เข้าไปถึงข้อมูลเรื่องใด มันก็จะออกเรื่องนั้นออกมา ถึงเวลากรรมมันให้ผลหรือไม่ให้ผล สิ่งนั้นมันออกมา แต่คลิ้กออกมา เราไม่ดู เรากดทิ้งก็ได้ ทีนี้มัน สิ่งใดที่ออกมา เราแก้ไขได้ไง เราจะบอกว่าแก้ไขได้

แก้ไขด้วย อย่าไปเชื่อให้ใครมาแก้กรรมๆ นะ ไปให้ใครแก้กรรม กระเป๋าจะฉีก เขาจะหลอกเอาตังค์ ไม่มีใครแก้กรรมให้เราได้ เราจะแก้กรรมด้วยการปฏิบัติของเราเอง เราจะแก้กรรมด้วยวิปัสสนาญาณ วิปัสสนาญาณทำให้เจ้าชายสิทธัตถะเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมานี่ไง นี่ก็เหมือนกัน เราตั้งใจทำของเราขึ้นมา เราแก้ไขของเราขึ้นมา

เวลาสำเร็จแล้ว เห็นไหม ดูสิ ทำไมพระโมคคัลลานะเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาแล้ว ทำไมให้โจรเขาทุบตายล่ะ ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว บางทีเรื่องนี้ บางทีมันสัมผัสแล้วมันสะเทือนเนอะ ญาติข้างพ่อ ญาติข้างแม่ แย่งน้ำทำนากัน

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่อนาคตังสญาณนะ ไปถึงก็ไปนั่งขวางไว้เลย พอใครเข้ามาก็เจอ พอเจอพระพุทธเจ้า ญาติข้างพ่อกับญาติข้างแม่ไง พอเข้ามาก็กราบ ก็เคารพบูชา

“ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามานั่งที่นี่ล่ะ?”

“มันทุกข์”

“มันทุกข์เรื่องอะไร”

“ก็ญาติจะฆ่ากัน”

ก็มานั่งขวางอยู่ แล้วพอเข้ามา มากราบ เพราะท่านกังวล ญาติข้างพ่อข้างแม่ใช่ไหม ปางห้ามญาติไง แล้วให้สติ “น้ำที่เอามาทำนา กับชีวิตของญาติ อะไรมีค่ากว่ากัน” “ชีวิต” ได้สติก็กลับไป

ครั้งที่ ๒ ก็ยกทัพมาจะรบกันอีก แย่งน้ำทำนา ก็มานั่งขวางเลย พอนั่งขวางก็เคารพบูชาก็เข้ามากราบ “น้ำกับชีวิต สิ่งใดจะมีค่ามากกว่ากัน” “ชีวิต” ก็แยกกลับไป

ครั้งที่ ๓ มาอีกแล้ว พระพุทธเจ้าว่ามันเป็นเรื่องกรรม เห็นไหม พระพุทธเจ้าปล่อย ถึงที่สุด รบฆ่าฟันกันตายเกลี้ยงเลย กรรม เวลา เห็นไหม แต่ถ้าเรามีสติ เราแยกของเรา แล้วแก้ไขของเรา เราอ่านพระไตรปิฎก เป็นคตินะ บางเรื่องมันคิดแล้วฝังใจ เราคิดถึงเรื่องอะไร เราจะเอาตัวเราไปตรงนั้น คิดถึงเรื่องอะไร เราจะเอาเราเข้าไปเล่นบทบาทนั้น

แล้วก็เอาสิ่งนี้ คิดถึงเราว่า เหตุการณ์อย่างนี้เอง เหตุการณ์อย่างนี้ พระพุทธเจ้าแก้ไขอย่างนี้ เราจะแก้ไขอย่างไร เราจะทำอย่างไร เราจะทำอย่างไรเข้ามา เห็นไหม “กฎแห่งกรรม” เขาว่ากันอย่างนั้น แต่ไม่ใช่ มันเป็นวาระของกรรม แต่ถ้ามีสติ เห็นไหม พระพุทธเจ้าเตือนขนาดนี้ ถ้าเขามีสติ เขาเปลี่ยนแปลงได้

มันมีอยู่ในสมัยพุทธกาลเหมือนกัน มีบุรุษ ๒ คน ผลัดกันฆ่ามาทุกชาติๆ แล้วพอถึงชาตินั้น เพื่อนนอนหลับก็จะมาอีก คนที่เคยโดนฆ่าชาติอื่นจะมาฆ่าชาตินี้ พระพุทธเจ้ามาโดยฤทธิ์เลย เพราะถึงเวลาวาระ พระพุทธเจ้านี่จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ไง ตื่นเช้าจะเล็งญาณเลยว่าสมควรจะไปเอาใครก่อน คนนั้นจะเสียเวลา จะตายก่อน ก็ไปเอาคนนั้นก่อน

คนนี้พร้อมที่จะต้องการความช่วยเหลือมหาศาลเลย แต่พระพุทธเจ้าเล็งญาณว่าคนไหนมันจะหมดวาระมันจะสิ้นชีวิตก่อน หรือจะเสียโอกาสก็จะไป พอถึงเวลาแล้ว เพื่อนก็ลุกขึ้นมากำลังจะฆ่าเพื่อน พระพุทธเจ้าบอก หยุดก่อนๆๆ อยู่ในพระไตรปิฎกไง หยุด แล้วปลุกเพื่อนขึ้นมา ปลุกเพื่อนให้ฟื้นขึ้นมา ให้ตื่น พอตื่นขึ้นมาพระพุทธเจ้าเทศน์เลย

๒ คนนี้ ชาติก่อนคนนั้นจะฆ่าคนที่โดนฆ่า ฆ่ากันมา ชาติที่แล้วคนนั้นจะฆ่าที่นั่น จะฆ่ากันที่นี่ จะฆ่ากันที่โน่น ฆ่ากันมานี่หลายภพหลายชาติ ฆ่ากันมาประจำเลย เธอจงให้อภัยต่อกัน อโหสิกรรมต่อกัน ขอขมาต่อกัน ให้ภพชาติปัจจุบันนั้นขอขมาต่อกัน แล้วออกประพฤติปฏิบัติทั้งคู่ ทำไมไม่ฆ่ากันตายล่ะ ถ้ากรรมเป็นกฎตายตัว

กฎแห่งกรรมใช่ไหม ชาติที่แล้วเขาฆ่าเรามา แล้วชาตินี้กำลังจะเถือคอกันอยู่นี่ ถ้ากฎแห่งกรรม มีดมันก็จิ้มเข้าไปสิ ทำไมพระพุทธเจ้ามาแก้ได้ล่ะ กฎแห่งกรรมนี่ก็ไม่จริง ถึงบอกกฎแห่งกรรม กรรมให้ผลจริงๆ เราเชื่อเรื่องกรรม เชื่อเรื่องทางนี้ดี ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เราเชื่อเรื่องกรรมมาก

เวลาเราพูดกับพระ เห็นไหม ให้สู้ๆ คือจะบอกว่า “แก้ไขได้ไง แก้ไขได้ ดัดแปลง เปลี่ยนแปลงได้ด้วยตัวของเรา” แต่สมัยพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านมีฤทธิ์มีเดช ท่านจะรู้ของท่านไง แต่ปัจจุบันนี้ เราต้องช่วยตัวเราเอง แต่เราเชื่อธรรมของพระพุทธเจ้า แต่ถ้าไปแก้กรรมที่เขาแก้กันไม่เชื่อ

เพราะแก้อย่างนี้มันเหมือนการทรงเจ้าเข้าผี อ้อนวอนขอกัน เขาก็จะบอกว่าเรามีกรรมมากนะ กรรมอย่างนั้น กรรมอย่างนี้ โทษนะ เอ็งรู้ได้อย่างไร จริงเหรอ แล้วเวลาทายนะ โอ้โฮ ทุกคนก็บอกว่า ทายแม่นๆ ถ้าเราทุกข์นะ เขาพูดถูกหมดเลย เพราะเราทุกข์อยู่แล้ว พอพูดอะไรถูกทั้งนั้น แต่ถ้าเราไม่ทุกข์แล้วเขามาทายนะ ผิดหมด

เพราะคนทุกข์ คนหาทางออก แล้วมันเป็นความชำนาญของเขา ฉะนั้นถ้าทำความดีแล้วทำความดีไป แต่ถ้าพอทำ พอเราเผลอทำสิ่งใดที่มันตกร่วงมันก็เป็นอดีตไปแล้ว สิ่งใดที่เราผิดพลาด มันทำไปแล้ว นั่นคือความสิ่งที่ผ่านไปแล้ว มันเป็นอดีตไปแล้ว เราก็เอามาเป็นคติ เตือนใจเราว่า เราไม่ควรทำอย่างนี้อีก ไม่ควรทำอย่างนี้อีกเห็นไหม

ความดีเรายืนยันนะ แต่จริงๆ ก็เห็นใจมาก เห็นใจที่เราทำความดีกันแล้วมันก็ท้อใจ เพราะกิเลสของเราไง ไอ้อย่างนี้มันเหมือนกับพระปฏิบัติ ดูสิ หลวงตาท่านบอกเลย นั่งตลอดรุ่ง โอ้โฮ ทนนะ ทุกข์มาก ท่านบอกเลย ของท่านเอง เวลามันนั่งไปมันเจ็บปวดมาก เหมือนกับไฟทั้งกองสุมๆๆ เราเลย

คิดดู เปรียบเราเหมือนหัวตอแล้วเอาไฟสุม มันเจ็บปวดขนาดไหน มันจะเจ็บปวดขนาดไหน แต่ด้วยสัจจะ ด้วยปัญญาของตัว ค้น ค้นหา จนท่านผ่านมาได้ ถ้าเราไม่มีความเข้มแข็งนะ เราจะผ่านวิกฤติอย่างนั้นมาได้อย่างไร

ถาม : เมื่อนั่งสมาธิในขณะที่ฟังเทศน์ไปได้สักระยะ เวลานั่งมักเกิดเวทนาตามร่างกาย จะรู้สึกปวดมาก พยายามใช้เหตุผลส่วนต่างๆ ในร่างกายไม่สามารถปลดได้ แต่ก็แก้เวทนาไม่ได้ พอพยายามแก้โดยดูลมหายใจ ก็สามารถแก้ปัญหาได้เพียงสักแป๊บหนึ่ง แล้วจิตก็ออกมาดูเวทนาอีก หนูควรจะแก้ไขเวทนาที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร

หลวงพ่อ : โดยปกตินะ เราจะพูดอย่างนี้ก่อน โดยปกติ ผู้ที่ภาวนา ในการภาวนา พระพุทธเจ้าไม่ได้เน้นอย่างเดียวว่าทุกคนต้องผ่านที่เวทนา ฉะนั้น โดยปกติ ถ้าเราทำสมาธิโดยที่มันมีเวทนา เราจะเอาความเข้มแข็ง เราใช้พุทโธๆๆๆๆ มันก็จะเบาเข้ามาได้ อย่างเช่นที่ว่า เวลาใช้ปัญญาเข้าไป เวทนานี่ สู้เวทนาไม่ได้เพราะกำลังไม่พอ ถ้ากำลังไม่พอ

สมมุติอย่างเรานี่ เรานั่งกำหนดนะ กำหนดสู้กับเวทนา ถ้าใจเราอ่อนแอ หรือเราปฏิบัติมาโดยยังไม่มีความเข้มแข็ง พอเราบอกเวทนาปุ๊บ เราจะสู้กับเวทนานี่ เราจะโดนเวทนากระทืบ ๒ เท่า เพราะโดยธรรมชาติ เวทนามันเจ็บปวดโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว แล้วเราสู้กับมันโดยอยากให้มันหาย มันจะเกิดกำลังบวกของเวทนาแรงขึ้น แล้วเราจะเจ็บปวดมาก

แต่ถ้าจิตเรามีกำลัง กำลังเราพอ เราต่อสู้กับเวทนา เหมือนกับว่าผู้ที่มีกำลังเสมอกันต่อสู้กัน โดยกำลัง เวทนามันจะปล่อยได้ วางได้ แต่ถ้ากำลังไม่พอ เราจะไปต่อสู้กับเวทนา เวทนานี่ เพราะตัณหาเราเข้าไปบวก มันเป็นเวทนาอยู่แล้วมันปวดอยู่แล้ว

แล้วโดยสามัญสำนึก เราอยากให้มันหาย แล้วเราสู้ด้วยความอยากให้หาย เหมือนเราเป็นหนี้อยู่แล้ว แล้วเราไม่ใช้หนี้เขา หนี้มันก็เพิ่ม มันก็พอกสิ หนี้มันก็เพิ่มเท่าตัว นี่เป็นเวทนาอยู่แล้ว อยากให้มันหาย โดยที่ไม่ได้ใช้หนี้มัน หนี้มันก็พอกขึ้นมา เห็นไหม

ฉะนั้น การแก้เวทนา เราถึงบอกบ่อยว่า การแก้เวทนา มันมีอยู่ ๒ วิธี วิธีหนึ่ง คือกำลังไม่พอนี่ พุทโธๆๆๆๆๆ ให้ชัดๆ รวมให้ชัดๆ ดึงความรู้สึกทั้งหมดกลับมาที่เวทนา กลับมาที่พุทโธ หรือกลับมาที่ลมหายใจ เวทนามันจะหายไปเอง หายไปเองเพราะอะไร หายไปเองเพราะถ้าเป็นเวทนา เพราะจิตเราไปกังวล จิตไปรับรู้มันถึงปวดไง

เวลาเรานอนหลับ ไม่ปวดเลย เพราะจิตมันหลับ มันไม่รับรู้เวทนา เห็นไหม ทีนี้พอรับรู้ปั๊บ ขณะที่เราตื่นอยู่ เราก็พยายามกำหนด พุทโธๆๆ ดึงความรู้สึก ทีนี้พอเราบอก ก็พุทโธเต็มที่แล้ว มันพุทโธที่ปาก มันไม่พุทโธที่ใจ พุทโธๆ นี่ พุทโธที่ปากไว้ก่อน พุทโธๆๆๆๆ จนเต็มที่นะ พุทโธกับใจเป็นเนื้อเดียวกัน พอเป็นเนื้อเดียวกัน ใจมันอยู่ที่พุทโธหมดแล้ว มันจะไปรู้เวทนาได้อย่างไร มันจะไปรับรู้เวทนาได้อย่างไร นี่เขาเรียกขันติไง

ถ้าใจกำลังไม่พอ ที่ว่าใช้ปัญญาพิจารณาแล้ว โดยส่วนต่างแล้ว มันแก้ปวดไม่ได้ มันแก้ปวดไม่ได้เพราะว่าจิตเรามันกำลังไม่พอ แล้วพอมากำหนดลมหายใจเห็นไหม กำหนดลมหายใจชัดๆ พอจิตมันอยู่ที่ลมหายใจชัดๆ มันหายได้แป๊บหนึ่ง แป๊บหนึ่ง

คำว่าแป๊บหนึ่ง ใจมันอยู่ที่ลมหมด มันไม่ได้รับรู้เวทนาเลย มันก็หายแวบหนึ่ง แต่เพราะเหมือนเรา จับพลัดจับผลู ทำผิดทำถูก มันไม่เข้าใจไง แป๊บหนึ่งก็ออกไปรับรู้เวทนาอีก เห็นไหม

แล้วจะทำอย่างไรต่อไป? ควรแก้เวทนาที่เกิดขึ้น พอแก้เวทนาที่เกิดขึ้น เราจะพูดอย่างนี้ เพราะบางทีมีผู้ปฏิบัติมา บอกต้องผ่านเวทนา ต้องต่อสู้กับเวทนา นั่งต่อสู้กับเวทนา เราไปทางเหนือนะ ลูกศิษย์บอกว่าต้องกามราคะ ต้องต่อสู้ นึกถึงเรื่องกามตลอดเวลาเลย ต้องนึกถึงเรื่องกามอย่างเดียวเลย

เราสงสาร เราบอกเรื่องกามราคะ ถึงที่สุด ถ้าถึงกำลังเราเข้มแข็งแล้ว ทุกคนเวลาภาวนาขึ้นไปโดยข้อเท็จจริงนะ โสดาปัตติมรรค สกิทาคามรรค ถ้าผ่านนะ โสดาปัตติมรรคก็เป็นโสดาปัตติผล สกิทาคามรรคก็เป็นสกิทาคาผล อนาคามรรคนั่นล่ะ มันจะต่อสู้กับความรับรู้ ต่อสู้กับกามราคะ กามราคะมันขั้นของอนาคา พระอนาคาเท่านั้นจะข้ามพ้นจากกาม ถึงที่สุดแล้วเราจะต้องเจอกามราคะ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ทุกคนที่จะปฏิบัติจะพ้นจาก ไม่เผชิญกับกามราคะ เป็นไปไม่ได้ แต่มันจะเผชิญกับกามราคะต่อเมื่อกำลังเราเข้มแข็งแล้ว เราเผชิญกับกามราคะ เราจะมีกำลังต่อสู้กับมัน ด้วยสมน้ำสมเนื้อ

แต่ในปัจจุบันนี้ เราเริ่มต้นปฏิบัติใหม่ เราบอกให้นึกเป็นเรื่องของกามๆ ไม่ใช่ การเห็นกาย มันเห็นเป็นความเห็นผิดเรื่องกาย มันไปเห็นกาย เห็นกายเพราะสักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดในกาย พิจารณากายตามความเป็นจริง พิจารณากายถูกต้องตามความเป็นจริง มันเป็นเรื่องของความเห็นผิด มันไม่ใช่เรื่องของกามราคะ

เว้นไว้แต่จริตนิสัยเราพิจารณาเป็นกาม เราไปเห็น แล้วทุกสิ่งทุกอย่างมันกระตุ้นความพอใจของเรา เราก็พิจารณาให้เป็นกาม ให้เห็นเป็นสิ่งที่มันสกปรกโสมม มันก็ปล่อยไปได้ คือเอาเป็นอุบายให้จิตเรานิ่งได้ แต่มันไม่เป็นความจริงในขั้นของกามราคะ บางสำนักบอกว่าให้สู้กับเวทนาอย่างเดียวๆ

ทีนี้การสู้กับเวทนา ถ้ากำลังไม่พอ ถ้าเราตั้งกำลังเราต่อสู้ มันก็เป็นไปได้ แต่! เราเชื่อมั่นของเรา ว่าคนที่เกิดมา จิตนี่ พันธุกรรมทางจิตมันหลากหลาย หลวงปู่เจี๊ยะ ท่านพิจารณากาย พิจารณากาย พิจารณากาย จนท่านเป็นพระอรหันต์

หลวงตา ท่านพิจารณาเวทนา หลวงตานี่ต่อสู้กับเวทนา ขั้นแรกท่านพิจารณาเวทนา จนพอจิตมันรวม มันปล่อยหมด “มันจะเอาเวทนาหน้าไหนมาหลอกเราอีกวะ” ถึงเวลาตายมันก็เวทนาอย่างนี้ มันจะหลอกเราอีกไม่ได้ นี่โสดาบัน

พิจารณาธาตุสี่ เห็นไหม คืนสู่สภาพเดิมของเขา ว่างหมด จิตเป็นจิต กายเป็นกาย นี่สกิทา แล้วท่านออกไปพิจารณาอสุภะ แล้วพอพิจารณาไปถึงขั้นสุดท้าย ท่านพิจารณาจุดและต่อมของจิต พิจารณาเวทนา พิจารณาธาตุ พิจารณาอสุภะ พิจารณาจิต นี่ไง หลวงตาเทศน์บ่อย เห็นไหม

หลวงตาท่านบอกท่านพิจารณากาย พิจารณากายจนพอแล้ว มันไม่ยอมพิจารณากายอีกแล้ว มันไม่เอา มันจะพิจารณาจิตต่อไป แต่ละขั้น เห็นไหม แต่หลวงปู่เจี๊ยะ ท่าน พิจารณากายๆๆๆ จนท่านเป็นพระอรหันต์ เราจะยกตัวอย่างให้เห็นว่า การที่จะต่อสู้กับเวทนา เราก็ต่อสู้กับเวทนาโดยความเป็นจริง

แต่ถ้าในการต่อสู้ เราสู้ไหวหรือไม่ไหว เราจะมาเปลี่ยนเป็นการต่อสู้ เราจะพิจารณากายก็ได้ พิจารณาเวทนาก็ได้ พิจารณาจิตก็ได้ พิจารณาอารมณ์ อารมณ์ความคิด ถ้าจิตสงบ มีการกระทบนั้น เขาเรียกธรรมารมณ์ ธรรมะ ธรรมารมณ์ ธรรมะ ธรรมะคือสัจธรรม กับอารมณ์ความรู้สึกของเรา เห็นไหม เราจับเป็น เราก็พิจารณาเป็นวิปัสสนาได้

วิปัสสนานี่ เวลาเราจะต่อสู้กับกิเลส คือว่ามันมีโจทย์ให้เราทำตั้งเยอะแยะ มันไม่ต้องทำแต่เวทนาอย่างเดียวไง โจทย์ที่เราจะสู้ คำว่าโจทย์นี้หมายถึงว่า เราจะบอกว่า เรามั่นใจว่า พันธุกรรมทางจิตคือความชอบ คือกิเลสเราที่ผูกมัดกับสิ่งใด มันสามารถไง ว่าเราต้องทำสิ่งความตรงนั้นแล้วเราจะไปปลดเปลื้องกิเลส ทำจากกิเลสของเราได้

ฉะนั้นว่า แล้วควรจะแก้เวทนา การแก้เวทนาที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร ถ้าเราทำเวทนา เราต่อสู้กับเวทนา มันเป็นความดี ความชำนาญของเรา มันเป็นประโยชน์ก็ทำ แต่ถ้ามันเป็นเกินกำลัง หรือกำลังของเรา พันธุกรรมของเรามันไม่ตรงกัน เราเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นก็ได้ พิจารณากายก็ได้ พิจารณาจิตก็ได้

พิจารณาจิตก็คือปัญญาอบรมสมาธิไง พิจารณาธรรมารมณ์ก็ได้ แล้วถ้าจะต่อสู้กับเวทนาแล้วทำสมาธินะ ถ้าทำสมาธินี่ เวทนาจะทำให้จิตเข้มแข็ง เวทนาจะทำให้เราเป็นคนมั่นคง ถ้าเราเป็นคนอ่อนแอ เจอเวทนามาก็ล้มแปะๆ แต่ถ้าเราเป็นคนมั่นคง เรามีสติ เราจะสู้กับมัน

ทำไมเราอยู่มาเป็นวันเป็นคืน ทำไมเราอยู่ได้ นอนมาตั้งแต่เช้าถึงเย็นทำไมนอนได้ นั่งสมาธิขณะนี้ ทำไมเราอ่อนแอได้ขนาดนี้ ถ้าเราจะต่อสู้กับมัน เห็นไหม เราก็ต้องตั้งสติ ตั้งสติแล้วกำหนดอย่างใดอย่างหนึ่งให้มันชัดเจน ถ้ากำหนดพุทโธๆ ก็ให้ชัดเจน ถ้ากำหนดพุทโธชัดเจน จนจิตมันมีกำลังของมัน แล้วจะต่อสู้กับเวทนาเห็นไหม เวลาเราพูดเห็นไหม รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นได้ทั้งสมถะ เป็นได้ทั้งวิปัสสนา

นี่ก็เหมือนกัน การต่อสู้กับเวทนา ต่อสู้กับเวทนา ให้จิตเข้มแข็งให้มันเป็นสมถะนะ คือจิตมันสงบ เวลามันปล่อย สู้กับเวทนา มันปล่อยๆๆ จนจิตมันมั่นคงเข้มแข็งขึ้นมานะ มันเป็นสมาธิโดยเข้มแข็ง ถ้าดูเวทนา เห็นไหม เวทนาไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่เวทนา เวทนาไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่เวทนา มันขาดนะ สังโยชน์ขาด ถ้าสังโยชน์ขาด โสดาบัน

ถ้ามันต่อสู้ไปๆ แต่ทีนี้ ที่เราพูด เราพูดถึงบอก คำว่า มันหลากหลาย เราจะบอกว่า ถ้ากำลังหรือว่าทำแล้วมันเกินกำลัง หรือมันทุกข์หรือมันยาก วิธีการอื่นมี ทางออกของเรามี แต่ถ้าทางออกของเราเป็นอย่างนี้ หรือสิ่งที่เป็นเวทนา มันทำให้เรามั่นคงแข็งแรงขึ้นมาได้ เราก็ทำ วิธีของเราก็ตั้งสติ

ถ้าเรากำหนดพุทโธนะ พุทโธๆๆๆ ให้พุทโธไปก่อน พุทโธไปก่อน จนจิตมันสงบ จิตมันเบาได้ เวทนามันไม่ทัน แต่ถ้าเราพุทโธๆ วันไหน หลวงตาท่านพูด “เวลาท่านปฏิบัติ ถ้าวันไหน ปัญญามันดี วันไหนสติดี จิตมันลงก่อน วันนั้นลุกขึ้นมา เหมือนไม่ได้นั่งเลย ร่างกายนี่เดินได้กระชุ่มกระชวยมากเลย”

“วันไหน จิตมันไม่ดี ลงยาก นั่งตั้งแต่หกโมงเย็นจนห้าทุ่มหกทุ่ม มันยังปวดอยู่ มันยังเจ็บอยู่ เวทนามันยังสู้กันไม่ได้เลย” มันยังลงไม่ได้ แต่ท่านก็ใช้ขันติ ใช้ปัญญาต่อสู้ จนถึงที่สุดมันก็ลง ลง พอลงปั๊บ เวทนาดับหมด เวทนาเป็นเวทนา จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ มันแยก ปล่อยวางหมด มันก็ลงได้ พอลงได้นะ อยู่สัก ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง

เวลาจิตเราลงแล้ว มันลงไปแล้ว ถ้ายังไม่สว่าง มันก็จะออกมาอีก ออกมาอีกก็สู้อีก สู้อีกมันก็ลงอีก ลงอีกก็กลับมา จนกว่าจะอรุณขึ้น ถ้าเราตั้งสัจจะว่าเราจะนั่งตลอดรุ่ง ถ้าเราไม่ตั้งสัจจะ เราจะต่อสู้เมื่อไหร่ เราจะนั่งเมื่อไหร่ก็ได้ เราจะบอกว่าเราพุทโธๆๆๆ นี่ ให้จิตมันเข้ามาเป็นตัวจิตก่อน เวทนามันสักแต่ว่าเวทนา เข้ามาไม่ได้ แต่ถ้าเราเผลอ หรือเราไม่มีกำลัง เวทนามันเกิดขึ้น

เราจะบอก เวทนานี่ถ้าเราต่อสู้ได้ เรามีความเข้มแข็งได้ เราต่อสู้เราใช้ปัญญาใคร่ครวญจนมันปล่อยวางได้ จะทำให้จิตเราเข้มแข็ง พอจิตเข้มแข็ง จิตเคยชนะหนหนึ่ง มันมีการกระทำ การปฏิบัติเรามันจะรื่นเริง มันจะอาจหาญ มันจะทำด้วยความมั่นใจ แต่ถ้ายังทำไม่ได้เรายังไม่เคยเห็นมัน เราโลเลตลอด เราจะโลเล เราจะไม่มีกำลัง เห็นไหม

เราพูดเป็น ๒ ประเด็น ประเด็นหนึ่งคือทำทางอื่นก็ได้ แต่ประเด็นโดยตรง ถ้าจะเอาจริง จะเอากับมันก็ได้ จะบอกว่ากาย เวทนา จิต ธรรม สติปัฏฐาน ๔ แต่เราเชื่อมั่น ที่เราเชื่อมั่น เราพยายามเสนอแนวทางให้ไง คือเราเสนอแนวทาง เสนอวิธีการหลากหลายให้ทุกคนได้กระทำ ให้ทุกคนได้มีโอกาส ไม่มีว่าทำอย่างนี้จะถูก ทำอย่างอื่นผิด ไม่ใช่ แต่ถ้าตรงกับความรู้สึกตรงกับความเห็น ตรงกับการกระทำของเรา อันนั้นได้ประโยชน์กว่า ตรงกับความเห็น ตรงกับความรู้สึก อันนั้นจะเป็นประโยชน์กับเรา เราทำแล้วเราได้ประโยชน์อันนั้น นั้นการต่อสู้กับเวทนา

ถาม : การนั่งสมาธิขณะฟังเทศน์ การที่จิตไม่ควรส่งออก แต่ให้รู้อยู่กับตัวเองนั้น ถ้าหนูทำความรู้สึกอยู่ที่ปลายจมูก แต่ไม่ถึงกับตามลมหายใจ ขณะที่หายใจเข้าหรือหายใจออก การทำแบบนี้ถือว่าเป็นการรู้อยู่กับตัวเองหรือเปล่าคะ

หลวงพ่อ : ได้ นี่ เห็นไหม เวลาอาการรู้อยู่กับตัวเอง เรายังคิดเลยว่า ควรอย่างไรผิด อย่างไรถูก แล้วให้ทำไป ทำไปนี่ เราปลูกผักปลูกหญ้า เห็นไหม เราพรวนดินปลูกผักปลูกหญ้า ผักนั้นมันก็โตขึ้นมาเป็นธรรมดา เราภาวนาแล้วเราหมั่นสังเกตดูจิตของเรา ว่าจิตของเราฟังเทศน์แล้ว ความเข้าใจ ความเห็น ความดีของเรา มันพัฒนาขึ้นมาไหม

เรากำหนดไว้เฉยๆ พอเสียงเข้ามากระทบ เรารับรู้แต่สิ่งที่แค่รู้พอ เพราะการฟังธรรมนี่นะ การฟังเทศน์ ฟังเทศน์ๆ อยู่นี่จิตสงบได้ เพราะคำเทศน์ เราไม่รู้หรอกว่าคนเทศน์จะเทศน์เรื่องอะไรออกมา แต่เรากำหนดพุทโธๆ เรายังรู้นะ คำนี้ก็พุทโธ คำหน้าก็พุทโธ พุทโธก็พุทโธตลอดไป แต่เรานั่งฟังเทศน์อยู่นี่ เราไม่รู้หรอก อาจารย์จะพูดคำไหนออกมาต่อๆ ไป

ฉะนั้นเราอยู่กับปัจจุบันตลอด สิ่งใดที่ท่านเทศน์ออกมา แล้วสะเทือนความรู้สึกของเรา สิ่งนั้นได้ประโยชน์มาก ถ้าสะเทือนปั๊บนะ แหม จิตนี้ฟู จิตนี้ไม่หลับ ตื่นเต้น เราก็อยู่กับผู้รู้นี้ไป คำเทศน์นั้นจะมาบ่อยๆ เราจะบอกว่าพุทโธสู้คำเทศน์ไม่ได้ เพราะพุทโธ มันอยู่กับพุทโธๆ ตลอดไปใช่ไหม คำเทศน์ของครูบาอาจารย์เรา มันมีรสมีชาติ มันมีสิ่งที่แทงใจเรา มันเข้าถึงเนื้อของใจ แล้วถ้าเราเข้าถึงเนื้อของใจ เรามีสติอยู่ มันลงได้ ฟังเทศน์นี่จิตลงได้ ลงได้มีสติพร้อม

ฉะนั้นถ้าอยู่ในปัจจุบันว่าตรงไหนเป็นปัจจุบัน ถ้ากำหนดลมหายใจอยู่ที่ปลายจมูกนี้ได้ไหม? ได้ ได้ทั้งนั้น สิ่งที่ได้ทั้งนั้น เพียงแต่ว่า ถ้าเรากำหนดชัดเจน เห็นไหม พุทโธๆๆๆๆๆ เราก็ห่วงพุทโธ แล้วเราก็อยากฟังเทศน์ เราก็อยากฟังด้วยว่าท่านพูดอะไร เห็นไหม แต่ขณะที่เรานั่งโดยปกติของเราคนเดียว ไม่ได้เทศน์ เรากำหนดพุทโธๆๆๆๆๆ ไปเลย หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิไปเลย

ถ้าจิตสงบนะ เดี๋ยวธรรมมันเกิดนะ มันก็เหมือนเทศน์ เวลาธรรมเกิด ธรรมเกิดนี่เทศน์อันหนึ่งเลย ธรรมะมาเทศน์ให้ฟัง เป็นเรื่องความเห็นเกิดขึ้นมาในหัวเลย ความเห็น เหมือนอารมณ์ความรู้สึกเกิดขึ้นมาตลอดเวลา มันถึงว่าเราทำอย่างนี้เป็นการส่งออกไหม ถ้าเราจะไปคิดว่าส่งออกนะ เราเทียบเหมือนเรื่องอภิธรรม

พระพุทธเจ้าสอนให้มีสติตลอดเวลา ให้การเคลื่อนไหวตลอดเวลา ทีนี้พอเราเคลื่อนไหว เคลื่อนหนอ รู้หนอ ก็เคลื่อนอยู่แล้วก็รู้ในปัจจุบัน มันก็จบ ทำไมต้องเคลื่อนหนอรู้หนอ เคลื่อนอยู่ตลอดเวลา นี่ก็เหมือนกัน เวลากำหนดลมหายใจ อย่างนี้เป็นการส่งออกหรือเปล่า มันก็เหมือนกัน

มันจะส่งออก หรือไม่ส่งออกนี่นะ ถ้าเราส่งออก เราออกไปจากจุดใดจุดหนึ่ง ถ้าเราไม่มีจุดใดจุดหนึ่งเป็นที่ยึดที่หลัก จิตมันออกไปหมดเลย มีจุดใดจุดหนึ่ง อย่างเช่นกำหนดพุทโธๆ มันก็เหมือนกับเรากำหนดไว้สิ่งนั้นเพื่อจะย้อนเข้ามาสู่จิต พุทโธๆๆๆๆๆๆ พุทโธไปเรื่อยๆ คำบริกรรม ฉะนั้นอยู่ที่ปลายจมูกก็ได้ สิ่งใดก็ได้ แล้วเราลองเทียบเคียง การปฏิบัตินี่นะ การปฏิบัติ มันต้องหมั่นสังเกต

ต้องหมั่นสังเกต ดูจิตเรา ดูความรู้สึก มันพัฒนาไหม มันดีไหม เราอย่าคุ้นชินกับมัน ความคุ้นชินกับมัน ความคุ้นชินเราไม่อยากคุ้นชิน คุ้นชินกับความคิดเองนี่แหละ แต่ความคิดตัวเราเอง มันจะหาเหตุหาผลมาหลอกเรา ทำอย่างนั้นดีอย่างนี้ ทำอย่างนั้นดีอย่างนั้น ทำอย่างนั้นจะได้ผลตอบแทนอย่างนั้น มันคิดของมันไปตลอด ถ้าเราเชื่อมันไป เราเชื่อมันไปแล้ว มันทำไปแล้ว พอทำไปแล้ว อย่างที่มันคิดว่าจะดีแล้วไม่ดี หรือไม่เป็นไปตามนั้น

เราจะถามกลับมาที่เราเลย แล้วจริงไหมล่ะ แล้วทำไมมันคิดอย่างนั้นล่ะ นี่เห็นไหม ถ้าหมั่นตรวจสอบอย่างนี้ หมั่นตรวจสอบ หมั่นพิจารณา เราจะเห็นเลย ความคิดเรามันหลอกเราตลอดเวลา ถ้าเราพุทโธๆๆ มันไม่พอใจ มันบอก มันอัดอั้นตันใจ อัดอั้นตันใจ นี่เป็นธรรมะ นี่คำบริกรรม ถ้าอัดอั้นตันใจ เราพยายามไปตั้งสติ แล้วทำให้ได้ขึ้นมา สิ่งนี้มันพอทำขึ้นมา เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของใจเราเอง ใจเรามันจะเปลี่ยนแปลงไหม มันจะมีคุณประโยชน์ไหม มันจะสร้างคุณงามความดีขึ้นมาไหม สิ่งนี้ เนี่ยหา..

หลวงตาท่านพูดอยู่ การปฏิบัติมันยากอยู่ ๒ ช่วง ช่วงหนึ่งคือเริ่มต้น กับอีกช่วงหนึ่งคือช่วงสุดท้าย จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส ว่าง ปล่อยวางหมดเลย พอปล่อยวาง ในตัวมันเองมันจะหาตัวมันเองไม่เจอ ในตัวมันเอง เห็นไหม ดูสิ ว่างๆ ปล่อยวางๆ เขาพูดเป็นสิ่งที่เขาไม่รู้จักตัวเขาเอง แต่ถ้าเราเป็นความจริงของเรา ว่าง เราว่าง เพราะเรารู้ถึงความว่าง เรารู้ตัวเราเอง จิตนี่ สติชัดเจนมากเลย มันจะรู้

เพราะคำพูดสิ่งใดก็แล้วแต่ เราเป็นคนพูด เราเป็นคนรับรู้ มันออกมาจากเรา มันจะมีตัวจิตเป็นตัวพื้นฐานเป็นตัวรู้จริง แต่ถ้าเราพูดโดยสัญญา เราพูดโดยข้อเท็จจริงของเรา มันเป็นพูดด้วยความคิด พอพูดด้วยความคิด มันไม่มีผู้รู้จริงไง พอไม่มีผู้รู้จริง สิ่งที่เขาพูดมาถึงผิดหมด

ทีนี้ถ้าเราหมั่นสังเกตของเรา ตัวนี้ ตัวความจริงอันนี้ สิ่งที่ว่า ว่างๆๆ ว่างขนาดไหน เห็นไหม ถ้ามันรู้ตัวมันเอง อรหัตมรรค อรหัตมรรค เป็นญาณไม่ใช่ปัญญา ปัญญาญาณ มันจะละเอียดลึกซึ้งมาก แล้วมันจะจับตัวมันเองได้เห็นไหม

การปฏิบัติถึงว่า มียากอยู่ช่วงหนึ่งคือช่วงแรก กับช่วงสุดท้ายเพราะคำว่าช่วงสุดท้ายนะ หลวงปู่บัวก็ติด หลวงปู่คำดีก็ติด หลวงปู่ฝั้นก็ติด ติดช่วงสุดท้ายนี่ไง พุทโธนี่ผ่องใส พุทโธสว่างไสว พุทโธเป็นความว่าง ติดหมด ตัวพุทโธเป็นตัวรู้ไง

สิ่งที่ตัวรู้ไง เห็นไหม ถึงว่า สิ่งต่างๆ ทำลายต่างๆ เข้ามา แล้วตัวมันเองทำลายตรงไหน ถ้าเราไม่ได้ทำลายตัวเอง ยังไม่ใช่ พอทำลายตัวเองจบสิ้นแล้ว เหลืออะไร? ไม่เหลืออะไรเลย แต่เหลือธรรมธาตุ ถ้าไม่เหลืออะไรเลยไม่รู้เลย ก็ไม่ใช่ ไม่เหลืออะไรเลย ไม่มีการเกิดอีกแล้ว แต่เหลือที่รู้อยู่นั่น ถึงมีไง ถึงเป็นความจริงไง เป็นความจริงอันหนึ่ง

ฉะนั้นสิ่งที่ว่า คำว่าส่งออก เพราะเราพูดคำนี้บ่อย คำที่ว่า ถ้ากำหนดฟังเทศน์แล้วพุทโธอยู่นี่ เพราะหลวงตาท่านเน้นย้ำตรงนี้ แล้วมีลูกศิษย์เขาไปหาครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์เขาบอกไม่ใช่ ต้องกำหนดพุทโธด้วย แล้วฟังเทศน์ ด้วย มีพระสอนอย่างนี้เยอะ มีพระสอนอย่างนี้หลายองค์ แล้วเวลาลูกศิษย์เราไปเที่ยวไปภาวนามา มีอะไรมาเขาจะมาเล่าให้ฟัง พอเราฟังแล้ว ประสาเรานะ มันสะเทือนใจเรา สะเทือนใจมาก

คำพูดแค่นี้ที่อาจารย์เขาสอนสะเทือนใจเรามากแล้ว เพราะเราบอกว่า อาจารย์องค์นี้ภาวนาไม่เป็น ถ้าภาวนาเป็น เรื่องพื้นฐานอย่างนี้ทำไมไม่รู้ แค่คำสอนของอาจารย์ที่เขาสอนๆ กัน เรารู้ คนที่ไปฟังแล้วมาถ่ายทอดให้เราฟัง เราจะรู้เลยว่าอาจารย์องค์ไหน สอนถูกหรือสอนผิด เพราะฉะนั้นคำสอนอย่างนี้เขาสอนกันมา ถ้าเขาสอนอย่างนั้น คนไปฟังกันเยอะมาก เขาก็ต้องเชื่อกันมา ก็เหมือนเรา เรากำหนดพุทโธๆ ก็อยู่กับเรา แล้วสิ่งอื่นมันจะเข้ามาได้อย่างไร

แต่ถ้าในขณะที่เราอยู่ในตัวเราเอง เราต้องทำ ถ้าเราไม่ทำ เราจะไม่มีจุดยืน คนเราต้องมีจุดยืน มีหลักการ คนมีหลักการ คนมีจุดยืน จะไม่ทำให้ตัวเองเสีย คนไม่มีจุดยืน คนไม่มีหลักการ ไปฟังจากคนอื่นให้เขาชักจูง จะโดนชักจูงอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นถ้าเรามีจุดยืนเรามีหลักการของเรา ถ้าเราอยู่โดยตัวของเราเอง แต่ขณะที่เราฟังเทศน์ เราเองต้องการพึ่งพา ต้องการธรรมะนั้นเพื่อกล่อมเกลี้ยงกล่อมใจเรา ให้ใจนี่ เราทำเองนะ กว่าจะได้กว่าจะเป็น ทุกข์ยากมาก

แต่ธรรมะครูบาอาจารย์มากล่อม สิ่งที่นั่น ธรรมแท้ๆ แน่นอน ธรรมแท้ๆ ค่าบริสุทธิ์มาก แต่หัวใจเรามีกิเลส แล้วหัวใจเราไม่เข้าใจ แล้วธรรมมันเข้ามาเหมือนกับชุบมือเปิบเลย เหมือนเราได้ลิ้มรสอาหารที่เลอเลิศเลย อาหารนี่ยื่นจากใจดวงหนึ่ง คือใจจากครูบาอาจารย์เรา เข้ามาสู่ใจของเรา แต่เราไม่เข้าใจว่านี่คืออาหารที่เลิศ เพราะกิเลสเราบังตา เรากินได้แต่อาหารหยาบๆ ไง กินอาหารแต่รสแซ่บ แต่อาหารที่มีคุณค่ามีประโยชน์ไม่รู้จัก

ทีนี้พอเข้ามา มันเข้ามาเปรียบเทียบ เข้ามากระทบ เข้ามาสัมผัส พอเรารู้ปั๊บ มันเข้าใจปั๊บ มันก็ โอ้โฮ มีความสุขมีความเป็นไป เห็นไหม ฟังเทศน์นี่มีคุณค่ามากนะ แต่ถ้าเรากำหนดพุทโธๆ อยู่ เหมือนปิดหม้อ ภาชนะได้คว่ำไว้ เวลาพระพุทธเจ้าสอน เวลาพระพุทธเจ้าเทศน์ พอใครได้ซึ้งใจเห็นใจนะ เหมือนกับหงายภาชนะ

หงายภาชนะที่คว่ำอยู่ขึ้นมารับอากาศขึ้นมารับน้ำ ขึ้นมารับน้ำฝน พระพุทธเจ้าพูดให้เราหงายหัวใจขึ้นมา ถ้าหัวใจหงายขึ้นมา ได้รับธรรม ธรรมมะจะเข้าสู่ใจของเรา ฟังเทศน์เห็นไหม ถ้าเราเปิดใจหงายใจเราขึ้นมา แต่นี่เราพุทโธ พุทโธ เหมือนกับปิดไว้เลย พุทโธ พุทโธ พุทโธ บังไว้เลย แล้วอะไรมันจะเข้าในใจเราล่ะ

แต่เรากำหนดไปเถอะ เรากำหนดตรงไหนก็ได้ ให้มีจุดยืน เพราะถ้าเราไปกังวล แล้วทำอย่างไรมันจะถูกล่ะๆ นั่นผิดหมดเลย ในธรรมพระพุทธเจ้า เห็นไหม ภิกษุต้องอาบัติเพราะทำผิดอาบัติ ภิกษุต้องอาบัติเพราะลังเลสงสัยแล้วฝืนทำ ไอ้นี่ เป็นอย่างไรๆ ก็มันลังเลไง มันสงสัยไง ถ้ายังทำอยู่ พระพุทธเจ้าปรับอาบัติแล้วนะนั่น ภิกษุลังเลสงสัยอยู่ ฝืนทำ ก็เป็นอาบัติแล้ว

ถ้าลังเลสงสัย ต้องแน่ชัดเลยว่าถูกหรือผิด ถ้าผิดทำไปก็เป็นอาบัติ ทำอาบัติเพราะเป็นอาบัติ ผิด ถ้าทำถูกไม่เป็นอะไรเลย ลังเลสงสัย ปรับเลย เป็น แล้วนี่เราก็ลังเลสงสัย ถึงว่าทำไปเลย ผิดถูกมันฟ้องเรา ผิดเป็นครู ถูกเป็นอาจารย์ แล้วทุกคนที่ทำ ปฏิบัติแล้วไม่ผิดไม่มี พระพุทธเจ้า ๖ ปี หลวงตาเวลาท่านไปหาหลวงปู่มั่นแก้

ไอ้เรานี่นะ ผิดมานะ มหาศาล หลงๆ แต่แปลกอย่างหนึ่งเราไม่เคยหลงตัวเอง แต่หลง เรื่องหลงน่ะ หลงว่าเป็นอย่านั้นอย่างนี้ หลงไปเยอะมาก คำว่าไม่หลงตัวเองก็ไม่หลงตัวเองว่า ตัวเองได้อย่างไรไง ถ้ามันจะได้มันต้องได้จริง แต่หลง บางทีภาวนาไปหลงมากเลย เพราะอะไร เพราะเวลาหลวงตาท่านเทศน์ เราก็คิดตาม ทำตาม แล้วจิตมันก็ปล่อย ก็คิดว่าใช่ คิดว่าเป็น หลง เพราะถ้ามันจะใช่ มันจะเป็น มันต้องมีเหตุมีผล

มันเป็นอย่างที่พูดตอนเช้า ต้มยำต้องเป็นต้มยำ ถ้าเป็นจริงนะ มันจะขาดเลย ดั่งแขนขาด เป็นโสดาบัน กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ แล้วเหลืออะไร ก็เหลือจิตที่มันหลุดออกไป แล้วเวลากายกับจิตแยกออกไป กายเป็นโพธิจิตเป็นกระจกใส สิ่งที่รู้แยกหมดเลย มันเหลืออะไร เหลือจิต

จิตนี่กลั่นออกมาจากอริยสัจ พิจารณากามราคะ ถึงที่สุดเลย ปล่อยหมดเลย ใครเป็นคนปล่อย จิตเป็นคนปล่อย ปล่อยจนว่างหมดเลยๆๆ จนไม่เห็นอะไรเลย ก็พิจารณาเพราะเราฟังธรรมอยู่กับครูบาอาจารย์มาเยอะ เราก็บอกว่า เป็นอย่างนั้นๆๆๆ เป็นอย่างนั้นๆ ก็คือสร้างภาพไง สร้างให้เป็นไง ที่แท้ไม่ใช่เลย ไม่ใช่เลย

พอมาอยู่กับครูบาอาจารย์ให้ย้อนกลับ แล้วกว่าจะย้อนกลับ ดูสิ ดูหลวงตาท่านพูด เห็นไหม หลวงตาท่านบอกว่า “เวลาจิตท่านถึงขั้นที่พิจารณาถึงที่สุดแล้ว จิตว่างมาก มองไปภูเขานี่ทะลุหมดเลย ใส.. ว่างหมดเลย” เห็นไหม เพราะตัวมันว่างปั๊บมันหาตัวเองไม่ได้หรอก ขั้นนี้ยากข้างล่างกับข้างบนไง ยากมาก ถ้าไม่ยากมาก ทำไมหลวงปู่คำดีท่านติดล่ะ ทำไมหลวงปู่บัวติดล่ะ

เพราะเราฟังธรรมของคนอื่นแล้วมันจะสวมไง แล้วเราก็สร้างให้เป็นไง แล้วจิตมันละเอียดมากมันก็สร้างให้เป็นทั้งนั้นล่ะ ถึงที่สุดแล้วต้องมีวาสนานะ แล้วมีครูบาอาจารย์ที่จริง เพราะครูบาอาจารย์ที่จริงท่านจะตั้งโจทย์ที่เราไม่รู้ พอตั้งโจทย์ขึ้นมาไม่รู้ อ้าว ทำไมถึงไม่รู้ล่ะ เออ ถ้าไม่รู้แสดงว่าโง่ไง พอมันโง่ขึ้นมา มันก็หันกลับ พอหันกลับมา มาจับของมันได้ พอจับของมันได้ ขึ้นปั๊บๆ ถึงที่สุดปั๊บ มันต้องมีเหตุมีผลของมันนะ

เรื่องหลงนี่ หลงมาทั้งนั้น แล้วบอกว่าปฏิบัติจะไม่ผิดเลย เราปฏิบัติจะถูก มีครูบาอาจารย์คอยชี้นำ มีครูบาอาจารย์นั่นน่ะ ถ้าครูบาอาจารย์พูดกับเราให้หมดเปลือก เราเองจะยิ่งติดเข้าไปใหญ่เลย เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเหมือนครูบาอาจารย์แล้วไง ครูบาอาจารย์ท่านบอกต้องทำอย่างนั้นๆ เราก็ทำ เหมือนเปี๊ยะเลย แล้วผลตอบเหมือนกันเลย ผิด

วิทยานิพนธ์ไม่มีซ้อน วิทยานิพนธ์ไม่มีซ้อน พันธุกรรมทางจิตไม่มีค่าเท่ากัน แม้แต่คู่แฝดออกมาจากไข่ใบเดียวกัน นิสัย วาสนา ก็ไม่เหมือนกัน พระอรหันต์แต่ละองค์ที่ปฏิบัติมา ไม่มีองค์ไหน เหมือนองค์ไหนเลย ไม่มี จะเป็นความจริงขององค์นั้นๆ โดยเฉพาะทุกๆ องค์ไป ไม่มีพระอรหันต์ทำแล้วเหมือนกัน

หลวงตาท่านพูดให้ฟังบ่อย ว่าท่านพิจารณากาย ท่านเปรียบเทียบเสือ ท่านบอกว่าหลวงปู่คำดี ท่านก็เล่าให้ฟัง ว่าเหมือน คิดพิจารณาเหมือนกัน แต่คนละเวลากัน คนละขั้นตอนกัน หลวงตาท่านพูดบ่อยนะ ท่านบอกท่านพิจารณาเสือ เสือมีหนังเราก็มีหนัง เสือมีขนเราก็มีขน เสือมีกระดูกเราก็มีกระดูก ท่านบอกว่าท่านไปพูดธรรมะกับหลวงปู่คำดี หลวงปู่คำดีก็พูดอย่างนี้เหมือนกันเลย

แต่! แต่ของหลวงปู่คำดีท่านทำก่อน เพราะหลวงปู่คำดีท่านบวชก่อนไง แต่หลวงตาท่านไม่เคยฟังของหลวงปู่คำดีมาเลย แต่เวลาท่านเข้าไปเผชิญกับเสือไง เผชิญกับเสือ เสือมันจะกิน เสือมันจะกัด โอ๊ย ก็วิตกกังวลไปหมดเลย เสือตัวใหญ่ๆ ทั้งนั้นเลย

ก็เลยสู้กับความคิดตัวเองไง ใช้ปัญญาไล่ ไปกลัวเสือ กลัวเพราะอะไร ไปกลัวอะไรมัน มันมีกระดูก เราก็มี มันมีหนัง เราก็มี มันมีขน เราก็มีขน มันมีหู เราก็มีหู เรามีตา มันก็มีตา ไล่ไปหมดเลย ไล่ไปเลย ปัญญามันไล่เข้าไป จนถึงอาจหาญมาก เสือตัวไหนมันใหญ่ให้ตัวนั้นกินก่อน เดินเข้าหาเสือเลย เพราะมันคิดอย่างนั้น

โอ๋ย เสือตัวนั้นก็นอนอยู่ตัวเบ้อเร่อเลย จะกระโดดตะครุบเรา เสือตัวนี้ก็ใหญ่มาก จะกระโดดตะครุบเรา กิเลสมันหลอก พอมันไล่กลับเข้ามาๆๆ จนจิตมันปล่อยหมด มันอาจหาญมาก มันรื่นเริงมาก เอาตัวที่ใหญ่ที่สุด เดินเข้าหาตัวที่ใหญ่ที่สุดก่อน เดินเข้าหาตัวนั้นเลย เดินเข้าไป ไม่มี เดินเข้าไปถึงตรงนั้น ไม่มี ไม่มี ไม่มีเสือ จิตมันปรุงแต่ง เห็นไหม

วิทยานิพนธ์ไม่มีซ้อน แต่ในวิทยานิพนธ์ เราสามารถเอามาเป็นบรรทัดฐาน เห็นไหม วิทยานิพนธ์ เราจะเอาของใครมา อยู่ในวิทยานิพนธ์ของเราได้แค่ ๓ บรรทัด ธรรมะของพระพุทธเจ้าก็เหมือนกัน เราเอามาคิดได้ เราเอามาตั้งโจทย์ได้ แต่คำตอบของเรา การกระทำของเรา วิธีการเราจะไม่เหมือนกัน

แม้แต่การพิจารณากาย หลวงปู่ชอบ หลวงปู่คำดี หลวงปู่เจี๊ยะ ครูบาอาจารย์ พิจารณากายหมด แต่ก็ไม่เหมือนกัน ไม่เหมือน คนที่มีอำนาจวาสนา ภาวนา ๕ ครั้ง ๑๐ ครั้งปล่อย คนที่มีวาสนาพิจารณากายซ้ำเป็นพันครั้ง หมื่นครั้ง อยู่ที่กำลังของจิต อยู่ที่อำนาจวาสนาบารมีแต่ที่มันสร้างสมมา ไม่เหมือนกัน

ฉะนั้นเวลาอยู่กับครูบาอาจารย์ที่ท่านเทศนาว่าการ ท่านมีช่องทางที่สอนเราดี เราจะไปก๊อบปี้มาเลย จะทำให้เหมือนเลย แล้วก็บอกว่า เหมือนอาจารย์เปี๊ยะเลย ทำไมอาจารย์ไม่ยอมรับล่ะ ก็กูไม่ยอมรับที่มันเหมือนนี่ไง ถ้ามันไม่เหมือนกูถึงจะยอมรับ ถ้าเหมือนไม่ใช่ เหมือนไม่ใช่ เพียงแต่เราเอาครูบาอาจารย์ที่ท่านสอน แล้วมาทำของเรา ไม่เหมือนหรอก รับประกันได้

เวลาขาดมันจะขาดของใครของมัน นิ้วเรายังไม่เท่ากัน นิสัยใจคอจะไม่เท่ากัน ทุกอย่างไม่เหมือนกัน แล้วเวลากิเลสขาดจะมาขาดเหมือนกัน มันจะไปเอามาจากไหน ถึงว่าหลง ฉะนั้นครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นจริงท่านจะเทศน์ เทศน์สอนแล้วให้ทำขึ้นมา แล้วถ้าเป็นจริงแล้วมันจะรู้ แล้วมันจะตรวจสอบได้ คำว่าตรวจสอบคือ ไม่ให้เราเสียเวลานะ ไม่ใช่ว่าคำว่าตรวจสอบ ครูบาอาจารย์จะรังแกเรา จะกลั่นแกล้งเรา ไม่ใช่นะ

การดูแล ครูบาอาจารย์ดูแลเรา ถ้าเราผิดพลาดนะ ๑. เสียเวลา ๒. ถ้ามันยึดมั่นถือมั่นแล้ว มันจะยึดว่า สิ่งที่เป็นอุปกิเลส เป็นสิ่งที่กิเลสละเอียดเป็นธรรมะ แล้วเราจะสร้างภาพอย่างนั้นตลอดไป

ดูสิ เวลาหลวงตาท่านพูดเห็นไหม เวลาจิตมันว่างหมด เห็นไหม มองไปนี่ โอ้โฮ ทำไมมันทะลุไปภูเขาทุกลูกเลย จิตนี้ทำไมมหัศจรรย์ขนาดนั้น จิตนี้ทำไมมันมหาศาล ทำไมมันรื่นเริง มันอาจหาญ มีความสุขขนาดนั้น ติดนะ เวลาท่านผ่าน พอเวลาท่านมาจับจุดและต่อม เห็นไหม

พอพิจารณาไป พอมันเป็นจริงนะ ไอ้นั่นมันกองขี้ควาย ไอ้ที่ว่าแหม มหัศจรรย์ ไอ้ที่มองผ่านทะลุผ่านเขา เป็นกองขี้ควายเห็นไหม เวลาจิตมันละเอียดเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง ไอ้ที่ว่ามหัศจรรย์นะ โอ้โฮ ๆ มหัศจรรย์ขนาดนั้น เวลามันผ่านไปแล้วนะ กองขี้ควาย เห็นไหม แต่เวลาเราติด มหัศจรรย์ไหม มหัศจรรย์มาก มหัศจรรย์มาก แล้วเราก็ไปฟังใช่ไหม

เราก็ โอ้โฮ มหัศจรรย์มาก ก๊อบปี้มาๆ ก๊อบปี้มาผิดหมด ผิดเพราะเหมือนนั่นแหละ แต่ถ้าเราไปทำของเรานะ แล้วของเราเป็นของเรานะ ดูสิ เราแกงแต่ละหม้อ แกงเผ็ดแกงแต่ละหม้อ เห็นไหม รสชาติจะให้กลมกล่อมเหมือนกันทุกเที่ยวๆ ไปไหม ถ้าวัตถุดิบดี สิ่งใดดี ออกมา โอ้โฮ รสชาติจะดีมากเลย แต่เวลามันไม่มี เราใช้อย่างอื่นทดแทน รสชาติออกมาเป็นอย่างไร แกงแต่ละหม้อ เราแกงเองยังไม่เหมือนกันเลย

แล้วนี่เราปฏิบัติแต่ละที กว่าจะลงแต่ละที เวลาเราปฏิบัติ เวลามันปล่อยที ลงทีหนึ่ง ๒-๓ชั่วโมง บางทีลงที ๑๐ นาทีเท่านั้นออกแล้ว บางทีลงที โอ้โฮ เป็นครึ่งวันค่อนวัน เห็นไหม จิตมันเหมือนกำลังมันทุกอย่าง ขนาดเราทำของเราเองมันยังไม่คงที่เลย คำว่าไม่คงที่คือว่ามันไม่เหมือนกันตลอด ไม่เหมือนกันทุกเที่ยวไป ลงทีละอย่าง เป็นทีละอย่าง จะไม่เหมือนกันเลย มันจะฝึกแต่ละเที่ยวๆ ของมันไปตลอด

จนถึงที่สุด จนขยันหมั่นเพียร จนทำแล้วทำอีก ใหม่ๆ เราก็เป็นอย่างนั้น ใหม่ๆ เราคิดว่ามันเป็น พอมันเป็นปั๊บเราก็มั่นใจไง พอมั่นใจแล้วมันเสื่อม มั่นใจแล้วมันเสื่อม สุดท้ายแล้ว เราถือคติของเราเองเลย ตอนเราปฏิบัติเป็นหนักแน่นนะ หน้าที่ของเราคือพิจารณาไป ปล่อยวางไป ปล่อยวาง พิจารณาไป หน้าที่คือพิจารณาไป มันจะเป็นจริงต่อเมื่อผลมันตอบสนอง เราจะไปคาดหมาย หรือว่าจะเอากี่หนกี่ครั้ง ไม่ได้

โอ๊ย เราคาดเลยนะบางที ตอนปฏิบัติใหม่ๆ นะ กำหนดวันตายกิเลสเลย วันที่ ๕ มึงต้องตาย วันที่ ๖ มึงต้องตาย ไม่ได้กินสักที จิตมันดี ภาวนาไปแล้วจิตมันดีมาก โอ้โฮ เหมือนอย่างหลวงตาว่า หลวงปู่มั่นเวลาเทศน์ขึ้นมานะ นิพพานเหมือนเอื้อมเอาเลย เหมือนจับเอาได้เลยนะ พอเทศน์จบนะมืดตื๊ดตื๋อเลย

จิตเวลาจิตมันดี เวลามันภาวนาดี มันสุขมากมันดีมาก มันกำหนดเลยนะ กำหนดเลย ต้องเร่งเข้าไป วันนั้นๆ กำหนดวันตายของกิเลสเลย แล้วไม่ได้ พอถึงวันปั๊บนะ มันก็ จิตดีมากเลยนะ แต่มันไม่ขาดไง ไม่ได้หรอก ฉะนั้นถึงต้องเร่งของเราไปๆ อัดเข้าไป คือว่ากำหนดเป้าหมายที่หมายไม่ได้ แต่หน้าที่คือซัดอย่างเดียว! ซัดอย่างเดียว! อดอาหาร อัดกับมันๆๆ อัดกับตัวเอง อัดกับมันตลอด อัดกับมันๆ เห็นชัดเจนเลย

ทีนี้คนข้างนอกเขาไม่รู้ เขานึกว่าบ้า เขานึกว่าบ้านะ เหมือนกับคนบ้า ใส่อย่างเดียว แต่อาจารย์รู้ ดูสิ ดูอย่างหลวงปู่จวน เวลาท่านแก้ของท่าน ท่านกามราคะ พอกามราคะใช่ไหม ท่านก็เอากระดูกช้างแขวนคอๆ เดินจงกรมอยู่แถวภูทอก เอากระดูกช้างแขวนคอ แล้วกินหมากไง แล้วก็คายหมากมาๆ ให้น้ำหมากมันเหมือนกับเลือด ให้เห็น ให้พิจารณาอสุภะไง

ทีนี้คนเขาไปเห็นเข้า เขาไปฟ้องหลวงปู่ขาว เพราะหลวงปู่มั่น ฝากหลวงปู่จวนไว้กับหลวงปู่ขาว ไปฟ้องหลวงปู่ขาวว่าหลวงปู่จวนบ้า เอากระดูกช้างแขวนคอแล้วก็คายหมากมานี่แดงหมดเลยนะ หลวงปู่ขาวหัวเราะใหญ่เลย ก็หลวงปู่ขาวสอนมา ไอ้คนดูอยู่มันไม่เข้าใจ มันปรารถนาดี รีบไปฟ้องหลวงปู่ขาวว่าหลวงปู่จวนบ้า สติไม่ดีแล้ว เอากระดูกช้างไปแขวนคอ

เขาไม่รู้ว่า นั่นกลอุบายวิธีการ นั่นอาวุธ นั่นธรรมาวุธ นั่นคือการต่อสู้กับกิเลส เราไปดูกันไง เราไปเห็นกันไง เห็นไหมตอนเช้าเราพูดบ่อย ใครมาวัดเราไม่ต้องมาสงสารพระเรานะ ไม่ต้อง ใครมาก็สงสารนะ โอ๊ย ฉันแป๊บเดียว โอ๊ย ไม่ต้องมาสงสาร ไม่ต้อง เอ็งสงสารตัวมึงก่อน สงสารพวกมึง

“ถ้าเราไม่กระฉับกระเฉง เราไม่มีสติ เราไม่ฝึกตัวเองให้เราคล่องแคล่ว ให้กิเลสมันพอกหางหมู แล้วมึงจะไปปฏิบัติอะไรกัน สิ่งนี้คือการตื่นตัว คือการฝึกฝน คือสร้างจริตนิสัย สร้างความเป็นจริงในหัวใจ ให้หัวใจให้มันตื่นตัว ให้มันตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ให้มันต่อสู้กับตัวเองตลอดเวลา” โลกก็ อู๊ย น่าสงสาร ใครมานะ ทำไมวัดนี้ต้องฉันเร็วขนาดนี้ ก็พระเขาทำกันเอง เราไม่ได้บังคับ เขาพอใจ เขาจะฝึกตัวเขา

แล้วถ้าอาจารย์เป็น เห็นไหม มึงเล่นมา กูก็ส่งไป ส่งเสริมๆ ไอ้ข้างนอกก็ โอ๊ย สงสาร โอ๊ย จะเป็นจะตาย โลกเป็นใหญ่ โลกเป็นใหญ่กับธรรมเป็นใหญ่ ถ้าธรรมเป็นใหญ่ นี่คือความดีของเขา ที่เขาจะสู้ สู้กับกิเลสของเขา เขาพยายามจะทำให้เขาได้ดิบได้ดีขึ้นมา เห็นไหมอาจารย์เป็นอาจารย์ไม่เป็น บางทีเราถึงสังเวช ลูกศิษย์เขาไปเที่ยวมาๆ พอกลับมาเขามาเล่าให้ฟัง องค์นั้นสอนอย่างนั้น องค์นี้สอนอย่างนี้ เราฟังแล้วเราก็เศร้าๆ

ประสาเรานะ ถ้าเป็นคนอื่นนะ ถ้าเราพูดผิด ออกไปสังคมนี่นะ เวลาเขาบอกเราผิด เราก็จะไม่มีทางออก แต่สำหรับเรานะ เราพูดประสาเราอย่างนี้ คนอื่นเขาพูดของเขาส่วนใหญ่ เขาผิด หรืออย่างไรก็เรื่องของเขา แต่ของเรา เรายืนยันของเรา แล้วปฏิบัติไป เราจะให้ความมั่นใจตลอดเวลา ถ้ากูสอนผิดนะ เอาตำรวจมาจับกูก็ได้ ถ้ามึงเสียเวลาจะยิงกูทิ้งก็ได้ เรามั่นใจขนาดนั้น เห็นไหม

มึงจะเอาอะไรมาเรียกร้องขนาดไหนก็ได้ เว้นไว้แต่ เวลาปฏิบัติไปมีความผิดพลาดของตัวเองบ้าง สติไม่สมบูรณ์บ้างความผิดพลั้งของเราบ้าง อันนั้นเราก็ต้องแก้ไขกัน เราต้องแก้ไขกัน ไม่มีใครสมบูรณ์มา ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นเรามาแล้ว เรามาเพื่อประโยชน์ของเรา เราต้องต่อสู้กับเรา เพื่อเราไง เพื่อเราๆ แล้วเพื่อเรา เห็นไหม ธรรมอันละเอียด ความเห็นจากภายใน

เราถึงตั้งสติของเรา เราทำงานกัน เห็นไหม สร้างบารมี เราทำสิ่งต่างๆ เพื่อประโยชน์ในศาสนา ศาสนา วัดนี่ เหมือนกับประโยชน์ทางสาธารณะ สิ่งนี้เป็นสาธารณะเห็นไหม สมบัติเป็นสาธารณะ ทุกคนใช้ร่วมกัน สมบัติของเราเป็นสมบัติส่วนบุคคล นี่มาวัดเหมือนกัน เราปลูกต้นไม้ปลูกต่างๆ มันเป็นสมบัติทางสาธารณะ ใครมาได้ใช้ ได้ความร่มเย็นจากสาธารณะ เราได้บุญตรงนี้ไง

เราได้บุญต่อเมื่อเราได้ปลูกต้นไม้ เราได้ดูแลรักษามัน เราได้ถนอมรักษาขึ้นมา จนมีร่มเงา แล้วมีคนมาพักอาศัยในร่มเงานั้น เราได้บุญไหม เราสร้างบุญของเราขึ้นมาในทางกายภาพ ในการกระทำของเรา แล้วเราก็ภาวนาพุทโธๆ เราอยากได้คุณธรรมในหัวใจของเรา เพื่อเป็นประโยชน์ของเราด้วย แต่ถ้าไม่มีการกระทำจากข้างนอก ทำไมพระบิณฑบาตทุกวัน ทำไมโยมต้องใส่บาตรทุกวัน

การใส่บาตร เห็นไหม มันก็สร้างสมบารมี แล้วมันเป็นการแบบว่าคบบัณฑิต คือสิ่งที่เกาะเกี่ยวพวกเรากันไว้ให้คิดแต่สิ่งที่ดีๆ เหมือนเราทำดีได้ดี ถ้าเราไม่ทำนะ ดูสิ สวดมนต์ทุกเย็น ถ้าไม่ได้สวดมนต์เหมือนเราขาดสิ่งใดไป แต่ถ้าเราไม่ได้ทำของเรา ไม่ได้สวดมนต์ มันก็ไม่ต้องสวดตลอดไป นี่ไงเราคบบัณฑิต เราคบสิ่งที่ดี แล้วดึงมันขึ้นมา มันขี้เกียจ ธรรมดามันขี้เกียจ มันไม่อยากไป มันอยากสะดวกสบายทั้งนั้น นี่มันเรื่องของกิเลส เราฝืนมันกันไง เราฝืนกิเลสเพื่อทำดี แล้วก็ปฏิบัติเพื่อความดีข้างใน

ใครจะมีอะไรไหม เพราะเราพูดคนเดียว เดี๋ยวจะเย็น เดี๋ยวจะว่าหลวงพ่อไม่ให้กลับบ้านสักที ดึงไว้นาน เราก็พูดเท่านี้ ถ้าใครมีปัญหาจะพูดต่อ มีปัญหาอะไรไหม ไม่มีเนาะ เอวัง