สติเป็นสมมุติ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
เมื่อวานพระใหม่มา เขาถามคำแรกเลยว่า พระบรมสารีริกธาตุนี่ มันมีชีวิต มันเพิ่มได้ เพิ่มจำนวนได้ เพิ่มมาได้ไปได้เหมือนสิ่งมีชีวิต นี่พอฟังแล้วเรารู้เลยนี่ ความเข้าใจของวิทยาศาสตร์ คำว่ามีชีวิตคือมีจิตวิญญาณครอง เราพยายามอธิบายให้เขาฟังไง
บอกพระธาตุนะ ไม่มีชีวิต เหมือนแร่ธาตุ ไม่มีชีวิต แต่! แต่เพราะคุณงามความดีของพระอรหันต์ คุณงามความดีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระอรหันต์เท่านั้นนะ ที่เวลาเผาแล้วนี่กระดูกเป็นพระธาตุ
ทีนี้พระธาตุนี้มันก็ไปไหนมาไหนได้นะ แต่ถ้าคิดอย่างวิทยาศาสตร์นี่ คือว่าถ้ามาได้มันเจริญได้ มันต้องมีชีวิต มีชีวิตก็มีจิตวิญญาณ เราบอกไม่ใช่ มันเป็นธาตุ ธาตุที่มหัศจรรย์ มันก็เหมือนธาตุรู้เรานี่ ความรู้สึกนี่ธาตุ ธาตุนะมันไม่มีชีวิต แต่ทำไมธาตุรู้ ธาตุ ๖ นะ
พวกเราว่า ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ประกอบมาเป็นมนุษย์ใช่ไหม อากาศธาตุคือโพรงกระดูกนี่ อากาศธาตุ แล้วก็ธาตุรู้นี่ มนุษย์นี่ประกอบด้วยธาตุ ๖ แต่อากาศธาตุนี่ พวกในโพรงกระดูกนี่ สิ่งต่างๆ หรืออวกาศนี่ เราเห็นได้ยาก กับธาตุรู้
ทีนี้พอว่าธาตุรู้นี่ ธาตุรู้เป็นธาตุที่มีชีวิต ทีนี้พระบรมสารีริกธาตุ ธาตุที่ไม่มีชีวิตแต่มันเพิ่มจำนวนได้ มันเป็นมหัศจรรย์ อันนี้คือคิดแบบวิทยาศาสตร์ไง วิทยาศาสตร์มันพิสูจน์ไม่ได้ พอพิสูจน์ไม่ได้ก็พิสูจน์ไม่ได้ ทีนี้มันก็อยู่แค่ทางโลก
อย่างพวกเรานี่ ลูกเรานี่หรือเด็กเกิดใหม่ เราต้องทำวิชาการ ต้องมีการศึกษา ทีนี้การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ พอวิทยาศาสตร์ปั๊บก็คิดเป็นกรอบแล้ว เวลาพูดกันต้องพูดแบบเป็นวิทยาศาสตร์ เราก็บอกเขา บอกเวลาเราเทศน์นี่เราก็อิงวิทยาศาสตร์
อย่างเช่นนี่เราจะพูดบ่อยเลย เรื่องชีวิตเรานี่ เราจะเปรียบ เวลาเราพูดถึงตัวเราเอง เราจะไม่เข้าใจเรื่องตัวเราเองนะ แต่เราเอาชีวิตเราหรือตัวเราเอง ไปเปรียบกับคอมพิวเตอร์ เครื่องคอมพิวเตอร์คือร่างกายเรา โปรแกรมคือสมอง แล้วสิ่งที่เป็นพลังไฟฟ้านี่คือตัวใจ
ถ้าไม่มีไฟฟ้า ไม่มีพลังงาน คอมพิวเตอร์ใช้อะไรไม่ได้เลย อย่างพวกเรานี่ ถ้าไม่มีจิตตัวเดียวนี่ จบนะ ไม่มีจิต นี่ไงคอมพิวเตอร์เสียไง คอมพิวเตอร์ชำรุดแล้ว เขาก็โยนทิ้ง คนเราเวลาตายแล้วนะ ร่างกายก็เผาทิ้ง นี่บอก เวลาเราเทศน์นี่นะ เราก็อิงวิทยาศาสตร์
แต่เวลาปฏิบัตินะ กูดูถูกวิทยาศาสตร์ฉิบหายเลย เพราะธรรมะนี่เหนือวิทยาศาสตร์ ธรรมะเหนือธรรมชาติ ถ้าธรรมะเป็นธรรมชาตินะ แล้วพูดกันนะ พูดประสาเรานะ เราพูดแรง ถ้าพูดประสาเราที่เขาบอกว่า นิพพานสงบเย็นๆ นิพพานร่มเย็น นิพพานเป็นเย็น ก็ควายไง
ควายมันกินหญ้าเสร็จมันก็นอนแช่น้ำ นั่นก็เย็นของมัน นิพพานแบบควายๆ ไง แล้วนิพพานเป็นธรรมชาติไง นิพพานคือความสงบเย็น คนเราเข้าสมาธิก็นิพพานของคนมีกิเลส อ้าว นี่พูดเป็นวิทยาศาสตร์ พูดกันเปรียบเทียบกันไป พอเปรียบเทียบไป พูดไปพูดมา ธรรมะก็เลยเป็นธรรมชาติไปเลย ธรรมะเป็นธรรมชาตินะ จิตนี่เป็นธรรมชาติ เวียนตายเวียนเกิดนี่เป็นธรรมชาติ
ดูสิ ดูพายุสิ เห็นไหม ด้วยความร้อน อากาศมันเบา ความร้อนขึ้นไป อากาศมันเคลื่อนไป มันก็เกิดลม ไหลเวียน มันก็มีการพัดไป นี่ๆ การเกิดการตายก็เหมือนกัน ในเมื่อการเกิดการตาย จิตนี่ มันเกิดมาตายนี่ เกิดมาชาตินี้ นี่ก็เป็นธรรมชาติแล้ว
ถ้าธรรมะเป็นธรรมชาตินะ เราเป็นพระอรหันต์หมดเลย ก็เราเกิดมาในธรรมชาติ มันเป็นธรรมชาติอันหนึ่ง การเกิดและการตายนี่เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง ความสุขความทุกข์เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง แล้วธรรมของพระพุทธเจ้านี่ก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง
แต่! แต่จิตที่มันไปบรรลุธรรม ที่มันไปเห็นธรรมนี่ มันทิ้งธรรมชาติไว้ตามความเป็นจริง มันเหนือธรรมชาติสิ เหนือกฎทฤษฎีทั้งหมด มันทิ้ง มันรู้จริงเห็นจริง แล้วมันปล่อยวางไว้ตามความเป็นจริง แล้วจิตนี้มันปล่อยออกมา ถ้าจิตไม่ปล่อยออกมานี่ โยมนั่ง ขับรถกันมานี่ รถเป็นของใคร รถเป็นของโยมใช่ไหม แล้วโยมขับมาเสร็จ โยมก็ล็อคกุญแจไว้เลย ก็นอนอยู่ในรถนั่นเลย ก็รถของกู ก็กูอยู่ในรถนี่ ทิ้งรถมาทำไม ทำไมจอดรถไว้นั่นล่ะ แล้วขึ้นมานั่งบนนี้ทำไม?
จิตก็เหมือนกัน ที่ว่ามันเป็นธรรมชาติๆ นี่ นี่ที่ว่านะ สติเป็นสมมุติ สติตัวนี้เป็นสมมุติ ถ้ารู้จริงเป็นสติ ถ้ารู้โดยสร้างเป็นสมมุติ เราอยากรู้ว่าสติจริง มันอยู่ตรงไหนวะ? สติมันก็สมมุติทั้งนั้นล่ะ ความคิดนี่ก็สมมุติ คำว่าสมมุตินะมันเป็นอนิจจัง เพราะอนิจจัง เขาถึงเรียกว่าสมมุติ อย่างเรามนุษย์นี่เป็นสมมุติ แต่สมมุติตามความเป็นจริง จริงตามสมมุติ
การเกิดมาเป็นมนุษย์นี่นะ การเกิดมานี่ กรรมพาเกิด พอเกิดมาเป็นมนุษย์ใช่ไหม ใช่! แต่ปรมัตถธรรมบอกไม่ใช่ เราเกิดมาชั่วคราว สมมุติคือของชั่วคราว แต่มีไหม มี! มีจริงตามสมมุติ จริงตามบัญญัติ บัญญัติของพระพุทธเจ้า อย่างน้ำนี่ เห็นไหม ภาษาจีนเรียกอย่างหนึ่ง ภาษาหนึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่ง
แต่ถ้าบัญญัติมาแล้วนี่ ดูสิ บาลี เวลาพระนี่ พระเถรวาทไปสวดมนต์ที่ไหนนะ สวดเหมือนกันหมดเลย เพราะใช้ภาษาบาลีภาษาเดียวกัน เห็นไหม บัญญัติ บัญญัติหมายถึงว่า นี่ ธาตุ ๔ เราเป็นมนุษย์ใช่ไหม เขาบอกว่า แขนเนื้อหนังมังสาก็ว่ากันไป แต่พอมันเป็นศาสนา ธาตุ ๔ ธาตุ รวมลงก็เป็นธาตุ นี้คือบัญญัติ จากสมมุติ จริงตามสมมุติ
พอมาศึกษาเปรียญ ๙ ประโยค ๑๐ ประโยคนี่ มาศึกษาบัญญัติพระพุทธเจ้า สมมุติบัญญัติ วิมุตติ ไม่ใช่สมมุติบัญญัติ ไม่ใช่! ทีนี้ สิ่งที่เป็นสตินี่ ใครเป็นคนบอก พระพุทธเจ้าตั้งชื่อให้ พระพุทธเจ้าเป็นคนบัญญัติไว้นะ มรรค ๘ นี่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้
แล้วอันไหนสติจริง อันไหนสติปลอม?
ถ้าพูดตามปรมัตถธรรมมันก็ปลอมทุกอัน เพราะมันไม่มีอะไรคงที่ มีอะไรจริง แต่เราอาศัยสิ่งที่เราฝึกฝนไง สิ่งที่เราฝึกฝน ฝึกฝนขึ้นมา สัพเพ ธัมมา อนัตตา สภาวธรรมนี่แปรสภาพ มันเป็นอนัตตา มันแปรสภาพ ต้นไม้ที่มีชีวิตนี่ มันจะอยู่คงที่ไหม มันต้องเจริญเติบโตตลอดเวลาใช่ไหม มันต้องผลัดใบ มันต้องแตกใบอ่อน มันต้องตลอดไป
ธรรมะก็เหมือนกัน เราสร้างไง เหมือนปลูกต้นไม้ หน่อแห่งพุทธะ ถ้าหน่อแห่งพุทธะเกิดขึ้นมานี่ เราจะพัฒนาการของเราขึ้นมา ทีนี้พอพัฒนาการเกิดขึ้นนี่ ปัญญาจะเกิดขึ้นมาพอขึ้นมาแล้วเป็นอนิจจังไหม อนิจจัง ถ้ามันเป็นอนิจจังนะ ถ้าเวลาปัญญามันเกิดนี่ เวลาภาวนา ทุกคนก็เคยภาวนา เวลาปัญญามันหมุนดีมาก ปัญญามันปลอดโปร่งมาก แล้วปัญญานั้นไปไหน?
ถ้าปัญญาที่มันดีกับเรานี่ มันก็ใส่ไว้ในหัวนี้เลยนะ โปรแกรมนี้เก็บไว้เลย แล้วก็ใช้แต่ปัญญาดีๆ นี้ตลอดไป แล้วมันไปไหน ความคิดที่มันปล่อยว่าง ที่มันมีปัญญาที่มันปล่อยโล่งหมดเลย มันไปอยู่ที่ไหน ก็มันเป็นอนิจจังไง มันแปรสภาพไง แล้วเป็นสมมุติไหม แล้วอะไรเป็นของจริง ไม่มี! ของจริงคือโสดาบัน สกิทา อนาคา พระอรหันต์ นี้ของจริง
ของจริงคือ อกุปปธรรม ในธรรมจักรนะ มันมีกุปปธรรม ธรรมที่แปรสภาพ สัพเพ ธัมมาอนัตตา สภาวธรรมทั้งหลาย แปรสภาพทั้งหมด สัพเพ ธัมมา สัพเพคือสรรพสัตว์ ธรรมะทั้งหลาย สัพเพ ธัมมา เป็นอนัตตา ปริยัติเขาเถียงกัน ถ้าสัพเพ ธัมมา เป็นอนัตตา พระพุทธเจ้าสอนเรื่องอนัตตา นิพพานก็เป็นอนัตตา อ้าว เห็นไหม นิพพานก็เป็นอนัตตาอีก
นี้เวลาคนอ่านหนังสือ คนอ่านไม่เป็นนะ พอพระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ ดูอย่างกฎหมายนี่ กฎหมายนี่บัญญัติว่า นิยามของกฎหมาย กฎหมายข้อนี้ วินัยนี่ บัญญัติเพื่ออย่างนั้นๆๆ มีบัญญัตินะ แบบว่า อาบัติ อนาบัติ ถ้าไม่ครบองค์ประกอบไม่เป็นอาบัติ ถ้าครบองค์ประกอบนะเป็นอาบัติ นี่ก็เหมือนกัน สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมะทั้งหลาย ที่อย่างพวกเรานี่ ฝึกหัด การค้นคว้าของเรานี้ ธรรมทั้งหลายนี่เป็นอนัตตาทั้งหมดล่ะ
ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เว้นไว้แต่ อกุปปธรรม กุปปธรรม อกุปปธรรม กุปปธรรม นี่ สัพเพ ธัมมา อนัตตา ผลของมัน ไม่ใช่อนัตตา นี่ไง มันเหนือธรรมชาติตรงนี้ไง สัพเพ ธัมมา อนัตตา มันเป็นธรรมชาติ ธรรมะเป็นธรรมชาติ สัทธรรมเป็นธรรมธาตุ นี่ไง ถึงบอกว่า ธรรมะนี่เป็นธรรมดา ธรรมดาเป็นธรรมะ ไง อ้าว ก็นอนกันอยู่นี่ ก็เป็นธรรมะ กินแล้วก็ถ่ายนี่ก็เป็นธรรมะ กินเข้าไปแล้วก็ขี้ก็เป็นธรรมะโว้ย กินแล้วไม่ถ่ายทุกข์ตายเลย แล้วอย่างนี้ที่ว่าธรรมะเป็นธรรมดา
คำพูดนี่ คำพูดของฝ่ายมหายานท่านพูดนะ มหายานนี่ปัญญาวิมุตติ เขาจะบอกว่า นิพพานอยู่ในขี้ เขาหมายความว่า ไม่ให้เรายึดมั่นถือมั่น ให้เราทำตามธรรมชาติของเรา ทีนี้ทำตามธรรมชาติของเรา แต่ต้องทำจริง เหมือนเรานะ เราอยากมั่งอยากมีนะ เห็นเขามีตังค์กันอยากมีมากเลย แล้วก็อยากมี.. อยากมี.. อยากรวย.. อยากรวย.. แล้วมันคิดว่ามันพร่ำเพ้อแล้วมันจะรวย
แต่ไอ้คนที่เขารวย เขามีนี่นะ เขาทำมาหากินนะ เขาทำของเขามา พระพุทธเจ้านะ ๖ ปี นี่ทางลัดทางสั้น ทางอะไรนี่ ถ้ามันเป็นทางความจริงพระพุทธเจ้าสอนแล้ว พระพุทธเจ้าจะมารื้อสัตว์ขนสัตว์ เหมือนพ่อแม่นี่ พ่อแม่คนไหนไม่รักลูก พ่อแม่คนไหนไม่อยากให้ลูกเป็นคนดี พ่อแม่คนไหนไม่อยากให้ลูกร่ำลูกรวย แล้วพ่อแม่คนไหนทำให้ลูกรวย พ่อแม่จะมีความสุขมาก พระพุทธเจ้านี่ก็เหมือนกัน
เราเป็นบริษัท ๔ นี่ เราเป็นสาวก สาวกะ พระพุทธเจ้านี่ต้องการให้พวกเราบรรลุธรรมทั้งนั้นล่ะ แต่มันอยู่ที่อำนาจวาสนาของเรา อยู่ที่คำสอนของท่าน ฉะนั้นว่า สติเป็นตัวจริง สติเป็นสมมุติ มันเป็นสมมุติทั้งหมด แต่มันเป็นมิจฉาหรือสัมมา สติที่เป็นมิจฉา โจรจะปล้น คนจะคดจะโกง เขาคิดวางแผนนะ เขาใช้สติของเขาเต็มที่เลย ไปดูสิ โจรมันปล้นนะ ตำรวจไปจับนะ ไปสืบมานะ โอ้โห มันซับซ้อนมากเลย มันใช้สติใช้ปัญญาไหม นี่มิจฉา
สัมมาล่ะ สัมมาเห็นไหม สัมมาเราตั้งสติ แล้วเราระลึกรู้ตัวเองตลอดเวลา เห็นไหม นี่เราบอก การเสียสละคือการได้ เขาไปมองกันนะ การที่ได้มาคือการได้ การเสียสละคือการไม่ได้ เราบอกในธรรมะไง นี่สติ มหาสติ สติไง การเสียสละคือการได้ เสียสละอะไร ถ้าเราไม่เสียสละ มือเรานี่นะ หยิบของชิ้นใดอยู่ มือเรามันจะกำของชิ้นนั้นไว้เต็มมือเลย มือนี้จะไปหยิบของสิ่งอื่นไม่ได้เลย นี้เป็นสิ่งของ
แต่สตินี่มันไม่ใช่เป็นสิ่งของ มันเกิดดับ ถ้าเราตั้งสติไว้เห็นไหม สติมันจะดับไป แล้วมันก็จะมีสติตัวใหม่ต่อเนื่องมาเรื่อยๆ ต่อเนื่องมาเรื่อยๆ สติเกิดจากจิต ไม่ใช่จิต สติเกิดจากจิตนะ จิตนี่คือตัวพลังงาน พลังงานนี้มันอยู่กับเราตลอดเวลา ถ้าพลังงานนี้ออกจากร่างนะ คือคนตาย เราเกิดมา ตั้งแต่วันเกิดจนวันตายนี่ พลังงานนี้จะอยู่กับเราตลอด พลังงานนี้คือจิต แล้วพลังงานนี้อยู่กับเราตลอดเวลา
ถ้ามันเป็นสติ เราต้องไม่เผลอเลยสิ ตั้งแต่เราตั้งสตินี่ เราจะไม่เผลอเลย เพราะเรามีจิตอยู่แล้ว ทำไมมันเผลอล่ะ เห็นไหม มันถึงไม่ใช่จิตใช่ไหม สติกับจิตมันคนละตัว ถ้ามันเป็นตัวเดียวกันแล้ว พระพุทธเจ้าไม่บอกหรอก สติไม่ต้องบอกหรอก พูดเป็นคำเดียวกัน
ทีนี้จิตก็คือจิต สติก็คือสติ ปัญญาก็คือปัญญา ทีนี้พอเราฝึกสติเห็นไหม เราตั้งระลึกรู้ มีสติคือการระลึกตัว รู้สึกตัวอย่างนี้แหละสติ แล้วมันก็จะจากไปเป็นธรรมดา แต่เราฝึกของเราบ่อย เราตั้งสติของเราบ่อย เราไม่พลั้งเผลอ เรามีการเคลื่อนไหว เราจะรู้ตัวตลอดเวลาๆ ฝึกสติเห็นไหม พอมันมีสติขึ้นมา สติอยู่กับเราปั๊บนะ สมาธิจะตามมา
ตัวสตินี่เป็นตัวพื้นฐาน ถ้ามีสติ สมาธิจะตามมา ที่เราทำสมาธิกันไม่ได้ เรามีตั้งสติขึ้นมา สติชัดเจนมาก พุทโธๆ พุทโธๆ นี่ชัดเจนมากเลย สักพักหนึ่งนี่ ชักเหม่อ ชักเบลอ สติมันจางลง สมาธิ ความรับรู้รวบรวม สมาธิคือใจรวบรวมเป็นรูปธรรมขึ้นมา สมาธินี่ สิ่งนี้นามธรรมมันมีอยู่ ความรู้สึกเรามันมีอยู่ แต่มันกระจายออกไปหมด แล้วเราตั้งสติไว้ สติไว้ สิ่งที่กระจายออกไปมันจะรวมตัวเข้ามา เป็นสิ่งที่เป็นความรู้สึกที่มันชัดเจนขึ้นมา นั่นคือสมาธิ
พอเป็นสมาธิขึ้นมาเพราะมีอะไร เพราะมีสติ เรามีสติเห็นไหม ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ขณิกะสมาธินี่ เป็นสมาธิสงบชั่วคราว มันก็คลายออก แต่ถ้าเราฝึกฝนบ่อยครั้งเข้าๆ จนเป็นอุปจาระ คือจิตนี้มารวมตัวได้แน่นหนาขึ้น อุปจาระเห็นไหม พอแน่นหนาขึ้นนี่ พลังงานมันอยู่นี่ อุปจาระคือความรอบรู้ในความรู้สึก ในความรอบรู้ถึงรอบๆ ตัวพลังงานนี่ นี่เห็นนิมิตแล้วอย่างนี้
แล้วถ้าพุทโธต่อไป มันจะเป็นอัปปนาสมาธิ อัปปนาสมาธินี่ เราจะเปรียบเทียบเรื่องสติให้ฟังไง ระหว่างขณิกสมาธินี่ กำลังของสติมันมีประมาณขนาดไหน อุปจารสมาธินี่ กำลังของสติมันมากขึ้น อัปปนาสมาธินี่ โอ้โฮ สตินี่ชัดเจนเลยนะ พุทโธๆ พุทโธๆ จนพุทโธๆ เริ่มจางลงๆ จนพุทโธไม่ได้
คิดดูสิ เรามีความรู้สึกอยู่แต่เราคิดไม่ได้นะ ถ้าเราคิดออกมานี่ คือมัน.. ความคิดกับจิตมันคนละอันใช่ไหม พอเราคิดนี่ คือว่าพลังงานมันเป็นสองไง หนึ่งคือตัวพลังงาน สองคือความคิด เขาเรียกมันเป็นสอง พุทโธๆ พุทโธๆ นี่ยังเป็นสองอยู่ เรานึกพุทโธใช่ไหม เรากับพุทโธ เราเป็นพลังงาน นึกพุทโธๆ นี่ จุดยืนของจิต
พุทโธๆ พุทโธๆ พุทโธบ่อยครั้งเข้า พุทโธมันจะละเอียดขึ้นๆ คำว่าละเอียดขึ้นมันจะนึกพุทโธๆ พุทโธๆ มันจะใกล้ชิดเข้ามาเป็นหนึ่ง จากที่เป็นสองนี่ มันจะหดสั้นเข้ามา หดสั้นเข้ามา จนเป็นตัวมันเอง มันนึกพุทโธไม่ได้นะ สตินี่ชัดเจนมาก! สติเต็มที่เลย นึกอะไรไม่ได้เลย
คำว่านึกไม่ได้นี่เปรียบเทียบนะ แต่ถ้าเป็นความจริงนะ มันเป็นตัวจิต จิตมันเป็นตัวมันเอง มันหดสั้นเข้ามาเป็นตัวมันเองนะ มันปล่อยหมด อัปปนาสมาธินี่นะ รูป รส กลิ่น เสียงนี่ สัมผัสไม่ได้ อายตนะนี่ดับหมด อายตนะนี่ดับหมด ตัวจิตนี่นั่งอยู่นี้ เหมือนหัวตอ เหมือนคนที่ไม่มีความรู้สึก แต่ตัวจิตมันอยู่กลางอก มีความรู้สึกอยู่
ถ้าขณะเป็นอัปปนาสมาธินี่นะ ถ้าใครเข้ามารังแก ใครเข้ามาทำร้ายนะ เหมือนตายเปล่า คือมันไม่ออกรับรู้ ไม่ออกรับรู้เลย มันหดเข้ามาจนเป็นตัวมันเลย นี่คนที่ทำ แค่ทำสมาธินี่มันยังเห็นว่าสติมันหลากหลายขนาดไหน แล้วยังบอกว่า เราไปดูหนังสือนะ เขาเขียนว่า
สติที่สร้างเป็นสติตัวปลอม สติที่เกิดขึ้นเองเป็นสติตัวจริง
กูก็ขำ.. กูจะให้มึงชี้ให้กูดูว่าตัวไหนมันจริงตัวไหนมันปลอมวะ มันก็สติเราเองไง มันเป็นนามธรรมที่มันเกิดขึ้นมาในหัวใจ เกิดขึ้นมา แล้วอันไหนมันจริงอันไหนมันปลอม ขณะที่สติเรานี่มั่นคงมาก สติเราตัวจริงมากเลย แต่ถ้ากิเลสมันครอบงำ กิเลสมันก็เอาสตินั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับมัน
แต่ถ้าเราเป็นสัมมาทิฏฐิ เรามีปัญญาที่ดี สติที่เกิดกับเรา คนดีเอาสติมาใช้ไง สตินี่มันเป็นประโยชน์กับเรา นี่แค่อัปปนาสมาธินะ แล้วเวลามันคายออกมาเห็นไหม นี่สิ่งที่เขาสอนเขาให้ดูจิตเข้าไปเฉยๆ ดูจิตเข้าไปเฉยๆ ห้ามคิดห้ามทุกอย่างเลย จนมันเห็นจริง ดูจนให้มันเห็นจริง เขาบอกขันธ์นะ เป็นขันธ์ที่มีกิเลสกับขันธ์ที่เป็นปัญญา เขาก็ว่าของเขาไป
ขันธ์ก็คือปลอมหมด ขันธ์ไหนมันจริงวะ ขันธ์นี่มันปลอมทั้งนั้นล่ะ แต่ถ้าเวลาใช้ปัญญา ถ้ามีสติ มีสมาธิขึ้นมา นี่มรรคญาณ มรรคญาณ ปัญญาที่ชำระกิเลส ก็คือความคิดเรานี่แหละ แต่ความคิดที่มีสัมมาสมาธิรองรับ พวกเราที่มีความคิดของเรา ที่มันคิดธรรมะ ไม่เป็นธรรมะขึ้นมานี่ เพราะเราไม่มีสมาธิ พอเราไม่มีสมาธิ คำว่าไม่มีสมาธินี่นะ คือจิตเป็นสากล คือจิตที่ไม่มีตัวตน
อย่างเช่นถ้าเราไม่มีสมาธินี่ เราก็เป็นความรู้สึกของเรา ถ้าเอาความรู้สึกของเรานี่ มันเริ่มกระจายแล้ว หลากหลายแล้ว หลากหลายเพราะ เพราะทัศนคติของแต่ละคน จริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน พอทัศนคติในใจนี่ แล้วเราไปศึกษาธรรมะ เราเอาทัศนคติของเรานี่ เข้าไปบวกกับธรรมะ
พอเข้าไปบวกกับธรรมะแล้วนี่ ปัญญาที่มันคิดออกไป มันคือกิเลสเราทั้งนั้นเลย กิเลสเราคิดเรื่องธรรมะ มันเป็นเรื่องของเรานะ เรื่องของจิตเรา ความสกปรก อวิชชาของเรานี่ แต่มันคิดเรื่องธรรมะ เขาบอกนั่นคือปัญญา แต่ถ้าเป็นทางปฏิบัตินะ เขาเรียกว่าปัญญา การปฏิบัตินะเราจะปฏิเสธตรงนี้ไม่ได้ เพราะอย่างที่ว่า เราปฏิเสธชีวิตมนุษย์ไม่ได้ เราปฏิเสธการเกิดเป็นเราไม่ได้ เราปฏิเสธกิเลสเราไม่ได้ เพราะมันเป็นเรา
แต่เราใช้ปัญญาพยายามใคร่ครวญไป เพื่อให้กิเลส.. ถ้าปัญญามันทันความคิด มันตามความคิดไปเรื่อยๆ พอทันความคิดนี่ มันเหมือน เหมือนเราจับขโมยนะ ขโมยมันลักของไป เราจับขโมยได้ ขโมยมันจนด้วยหลักฐาน มันจะยอมแพ้ มันจะสารภาพ สติกับปัญญาเราไล่ความคิดไป ไล่ขโมยไป เพราะขโมยนี่ มันมาขโมยพลังงานของเรา มันมาขโมยหัวใจของเรา แล้วเอาออกไปใช้ออกไปคิด
ทีนี้ปัญญาเราก็ไล่ตามมันเข้าไป ไล่ตามมันเข้าไป พอไปทันมันนะ พอไปทันถึงจับตัวจิตได้นี่ จับตัวความรู้สึกได้ มันจะเห็นโทษไง พอเห็นโทษนี่มันจนด้วยปัญญามันก็ปล่อย หมายถึงว่ามันจำนนด้วยเหตุผล พอมันปล่อยนี่ มันปล่อยเห็นไหม ความคิดไม่ใช่จิต พอมันปล่อยจิตก็เป็นอิสระ ธรรมดานี่จิตเราไม่เป็นอิสระเพราะความคิดมันครอบงำ
เราคิดเรื่องธรรมะนี่ เราว่าเรารู้เรื่องธรรมะ เราว่าเรารู้ เราก็ยึดมั่น เราว่าเราพอใจนี่ เราก็ยึดความคิดเรา ตรึกเรื่องธรรมะใช่ไหม นี้ธรรมะพระพุทธเจ้า นี้ปรมัตถธรรม ธรรมะพระพุทธเจ้า ถูก! แต่กิเลสที่มึงคิด ผิด! กิเลสมึง คิดธรรมะ มันผิด! ทั้งๆ ที่เป็นธรรมะนี่
พอเราคิดไล่ตามไป ไล่ตามไปเห็นไหม เอาธรรมะ มาใคร่ครวญกับความคิดเรานี่ มันเห็นโทษมันก็ปล่อย เพราะมันจนด้วยเหตุผล จนด้วยหลักฐาน มันจะปล่อยๆๆ ปล่อยมา นี่ไง เราถึงบอกการปฏิบัติทุกลัทธิทุกวิธีการ ผลของมันคือสมถะทั้งหมด แต่ความเข้าใจผิดว่า ใช้ปัญญาวิปัสสนาสายตรง คือใช้ปัญญาไปแล้ว ตรึกในธรรมะนี่ เขาว่าเป็นวิปัสสนา
เขาว่าๆ แต่ไม่เป็นความจริง! ไม่เป็นความจริง! เพราะการตรึกในธรรมะนี่ มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันคิดออกมาจากกิเลส มันคิดออกมาจากใจของเขา มันจะเป็นวิปัสสนาไปได้อย่างไร?
แต่ถ้าเป็นความจริงนะ มันต้องสงบเข้ามา พอสงบเข้ามาๆ นี่ กิเลสมันสงบตัวลง ตัวตนเรานี่สงบลง ถ้าตัวตนเราไม่สงบ อย่าง พุทโธๆ พุทโธๆ นี่ จากจิตกับพุทโธเป็นสอง พุทโธๆ พุทโธๆ พุทโธจนเป็นหนึ่ง เป็นหนึ่งนี่ ตัวมันเองเป็นพุทโธ เพราะตัวพลังงานนี่คือตัวพุทธะอยู่แล้ว แต่เราเข้าไม่ถึงตัวพลังงานนี้
โดยสามัญสำนึกเห็นไหม นี่พลังงานที่มันส่งออก ความคิดเห็นไหม พลังงานอยู่เฉยๆ พอคิดเรื่องอะไรนี่ ความคิดมันมีสัญญาณนี่มันส่งออก พอมันส่งออกมา คือเหมือนไฟฟ้า ตัวไดนาโม ตัวปั่นไฟฟ้านี่ ตัวไดมันปั่น แต่พลังงานนั้นมันมาจากสายส่ง สายส่งมาถึงที่บ้านเรา บ้านเราเปิดไฟสว่าง แล้วเราไปดับไฟที่บ้านเรา แล้วพลังงานนี้มันยังหมุนอยู่หรือเปล่า ความคิดนี่มันคือแสงสว่าง แต่ไอ้ตัวไดที่ปั่นนะ คือตัวจิตไง
ทีนี้ตัวจิตมันยังมีอยู่ ทีนี้ไปดับที่แสงสว่างนั้น มันแก้กิเลสตรงไหน! มันแก้กิเลสตรงไหน! นี่วิปัสสนาไง เขาว่าวิปัสสนา แต่ถ้าเป็นกรรมฐานนะ ไฟแสงสว่างนั้น เราหาเหตุผลว่าแสงสว่างนั้นมาจากไหน ไฟแสงสว่างนี่มันมีสายส่งมา ตามสายส่งมันเข้าไป ตามไปถึงเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ไปถึงเครื่องกำเนิดไฟฟ้า แล้วรักษาเครื่องกำเนิดไฟฟ้านั้น ให้พลังไฟฟ้านั้นมันอยู่ในตัวมันเอง นี่คือสมาธิไง
ฉะนั้นการปฏิบัติทุกวิธีการผลของมันเป็นสมถะทั้งหมด แต่เขาเข้าใจผิดกันว่าเป็นวิปัสสนาเพราะ! เพราะเขาไปตรึกในธรรม ศึกษาในธรรมะของพระพุทธเจ้า แล้วเขาตีความของเขาไปกันเองเห็นไหม แต่กรรมฐานเรานี่ ไม่ต้องเอาวิชาการมารองรับ เราทำตามความจริงของเรา
ทีนี้พอใช้ปัญญาเข้าไปเรื่อยๆ จิตมันสงบเข้ามา สงบเข้ามานี่นะเป็นสมถะ แต่ถ้ามันเป็นความเห็นผิดไง พอสงบเข้ามานี่ เพราะเมื่อก่อนเราฟุ้งซ่านใช่ไหม เรามีความทุกข์ใช่ไหม พอมันทันความคิดตัวเอง มันก็ปล่อยวางใช่ไหม นี่ไงปัญญามันใช้แล้วไง นี่ไงธรรมะเป็นธรรมดาไง ธรรมดา เราถึงบอกธรรมดาคืออาตมันไง ธรรมดาก็คือเข้าไปที่ตัวจิตไง นี่ๆ ฮินดู ไม่ใช่ธรรมหรอก ไม่ใช่ศาสนาพุทธหรอก
ศาสนาพุทธนี่ มีปัญญาก็ไล่เข้าไป พอไล่เข้าไปนี่ พอมันกลับมาที่ธรรมดานี่ มันมีสติ มันมีความรับรู้ไง ว่านี่เราปล่อยเข้ามาเฉยๆ เราปล่อยเข้ามานี่เห็นไหม ธรรมะของพระพุทธเจ้าจะบอกเลย ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าไม่มีตัวสมาธินี่นะ ความคิดทั้งหมดมันเป็นโลกียะ ความคิดทั้งหมด จะตรึกในธรรม จะตรึกเรื่องนิพพาน จะตรึกเรื่องอะไรก็แล้วแต่นี่ มันเป็นตรึกค่าความจริงของพระพุทธเจ้า แต่ค่าความจริงของเรายังไม่มี
เพราะเราตรึกขนาดไหนนี่ มันก็เป็นโลกียปัญญา โลกียะ ตรึกในธรรม แต่ตัวเรายังเป็นโลก ตัวเรามีตัวตน พอจิตมันสงบเข้ามานี่ ตัวตนมันสงบลง ความว่าตัวตนสงบลงถึงเป็นสมาธิ แล้วสมาธิเห็นไหม หลวงปู่ดูลย์ท่านสอน จิต ดูจิต จนจิตเห็นอาการของจิต อาการของจิตคือความคิด ความคิดนี่คืออาการของจิตทั้งหมด ความคิดเป็นเปลือกของจิต ไม่ใช่ตัวจิต แต่เขาคิดว่าตัวจิตกับความคิดนี้เป็นอันเดียวกัน พอสละความคิดแล้ว มันก็ว่างหมด สบาย..
ทีนี้ตัวจิต จิตมันไม่เห็นอาการของจิตนี่ อาการของจิตคือความคิดนี่ ความคิดไม่ใช่จิต ความคิดเรานี่ไม่ใช่จิต ความรู้สึกนึกคิดนี่ไม่ใช่ตัวใจนะ ผิวหนังเรานี่ โดนอะไรสะกิดเราจะเจ็บปวด แต่บางที เราเดินป่า หรือเราไปประสบอะไร เช่นหนามมันเกี่ยวข่วนเราไม่เห็น นี่ เราไม่เจ็บปวดหรอก เห็นไหม ขนาดมัน จนเลือดซิบๆ นะ มันมีบาดแผลเลยแต่เราไม่รับรู้มันนี่ เราไม่เจ็บปวดเลย
ทีนี้บอก อายตนะ เห็นไหม ความคิดมันก็เปรียบเหมือนผิวหนัง มันไม่ใช่ตัวจิตหรอก แต่เพราะเป็นนามธรรม เราถึงเข้าใจว่ามันเป็นตัวจิต ความคิดไม่ใช่จิต ทีนี้ถ้ามันใช้ปัญญาอบรมสมาธินี่ มันเป็นความตั้งเป้า เป้าหมายไง เป้าหมายเรานี่ เราจะไปที่ไหน แล้วเป้าหมายเราถูกต้อง เราทำแล้วมันจะถูกต้อง
แต่ถ้าเราความเห็นผิด เราเข้าใจผิด พอทำไปแล้ว แล้วมันจะมีความเห็นผิด นี่ก็เหมือนกัน พอเริ่มต้นเห็นไหม พอเริ่มต้นนี่ สิ่งนี้จะเป็นวิปัสสนามันไม่ใช่อยู่แล้ว มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ เพราะถ้าไม่มีสมาธิ ความคิดของเรานี่ สิ่งที่เราคิด เราได้ใช้ปัญญาใคร่ครวญเข้าไปนี่ มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันต้องเป็นการพิจารณา
การพิจารณาปัญญา ปัญญาคือการพิจารณาใคร่ครวญ การเพ่งเป็นกสิณ การเพ่งอยู่ในกสิณ การเพ่งอยู่ การดูอยู่นี่ มันเป็นกสิณ เหมือนเราจ้องดูนี่ การจ้องดูนี่ ถ้าเป็นเจโตวิมุตตินี่ การจ้องดูมันได้ผลตรงไหน การจ้องดูของเจโตวิมุตตินี่ เพราะจิตมันมีกำลัง จิตมันเป็นสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา! สมาธิอบรมปัญญา! สมาธิมันแน่น
พอมันแน่นนี่มันเห็นการเปลี่ยนแปลง เจโตวิมุตตินี่นะพอจิตสงบขึ้นมา มันอุคหนิมิต คือเห็นภาพ โดยส่วนใหญ่ของเรานี่ ในใจเรานี่นะ มันติดข้องในใจเราก่อน ใจเรานี่มันติดข้องกายเราก่อน ติดข้องตัวเองก่อน เห็นไหม โดยธรรมชาตินะ พระพุทธเจ้าสอน ที่ไหนมีรัก ที่นั่นมีทุกข์
เวลาเราว่า เรามีความรักนี่ เรารักใคร เรารักเพศตรงข้าม แต่จริงๆ แล้ว ถ้าไม่มีเรา เรารักใครได้ไหม จริงๆ นี่มันรักตัวเองทั้งนั้นล่ะ มันมีตัวมันเองก่อน มันรักตัวมันเองก่อน มันถึงจะรักเพศตรงข้าม แต่เรามองไม่เห็นรักตัวเอง เห็นแต่รักเพศตรงข้าม แต่ถ้าถึงที่สุดนะ เวลาเรายังเคลื่อนไหวกันอยู่นี่ เราจะคิดถึง มีนะ ทุกคนคิดถึงครอบครัวหมดล่ะ แต่ถึงที่สุดแล้วนะ มันจะเป็นตัวเราเอง
ถ้าถึงตัวเราเองนี่ เวลาแก้กิเลสก็ต้องมาแก้ที่ตัวเอง แก้ที่ใจของเราๆ ทีนี้แก้ที่ใจของเรา คือว่ามันจะละเอียดไปอีกชั้นหนึ่ง กับความคิดทางวิทยาศาสตร์ไง เพราะว่าคิดเป็นวิทยาศาสตร์ คิดเป็นสำเร็จรูป เพราะคิดเป็นวิทยาศาสตร์สำเร็จรูปนี่ ตรงนั้นล่ะ ผิด! ผิดเพราะอะไร ผิดเพราะมันขีดเส้นตรง แล้วเราเดินตามเส้นนั้น แต่ธรรมะของพระพุทธเจ้านะ ขีดเส้นตรงเหมือนกัน แต่! แต่มีหลายเส้น มีทุกเส้น ทุกขนานที่มึงจะเดินได้หมด
โยม :หลวงพ่อขอโอกาสถาม คือถ้าหากว่าเรา เกลียดคนอื่นให้เราเกลียดตัวเองก่อน หรือเปล่าครับหรือว่าอย่างไร
หลวงพ่อ : ยิ่งกว่าด้วย เกลียดคนอื่นใครเกลียด หมาที่ไหนไปเกลียดเขา หมาที่ไหนไปเกลียดคนอื่น ก็ไอ้หมาตัวนี้ใช่ไหม คือว่าเราจะเกลียดคนอื่นนี่ มันต้องมีแรงกระทบเข้ามา เขาเรียกโลกธรรมไง ถ้าใครพูดเสียดสี พูดดูถูกเรานี่ จำแม่น ใครชมเรานี่จำไม่แม่น แต่เวลามันไปพูด มันไปพูดผิด จะเกลียดใครเกลียดเรานี่มันอยู่ที่เราก่อน จะเกลียดหรือชังนี่มันมาจากเรา มันมาจากจิต เพราะจิตมันมีภวาสวะ
นี่ในปัญหาหลวงปู่มั่น เห็นไหม เจ้าคุณอุบาลี ถามหลวงปู่มั่น กิเลสสวะนี่เข้าใจได้ อวิชชาสวะเข้าใจได้ ภวาสวะนี่เข้าใจไม่ได้ ภวาสวะนี่ อวิชชา ๓ กิเลส ๓ ไง ภวาสวะนี่เข้าใจไม่ได้ ภพนี่สถานที่ตั้ง มันเป็นกิเลสได้อย่างไร นี่นะตัวร้ายเลย นี่ไงบาปหรือบุญ ดีหรือชั่วอุเบกขา อุเบกขานี่ตั้งอยู่ตรงกลาง เขาว่าอุเบกขานี่เป็นธรรมะ เราบอกไม่ใช่
อุเบกขาคือภพ อุเบกขานี่มันจะเอียงไปซ้ายและขวา นี่ก็เหมือนกัน พอเราเฉยๆ อยู่นี่ พอเราปล่อยวางหมด ตัวเรานี่สำคัญ เพราะตัวเรามีอยู่ เราถึงรับรู้สิ่งต่างๆ ไง จะรักจะชังจะเกลียดจะไม่เกลียด มันเกิดจากตรงนี้ นี่เราหดสั้นเข้ามา หดจากดีและชั่วเข้ามานี่ มันจะมาอยู่ตรงกลาง
ตรงกลางนี่คือตัวภพ พอตัวภพขึ้นมา ถ้าเราละเอียดเข้ามา เป็นสมาธิเข้ามา ไอ้ตัวนี้ แล้วมันออกรู้ไง นี่สำคัญมากนะ ไอ้ที่ว่าวิปัสสนาๆ นี่ มันต้องมีจิตที่เป็นสมาธิแล้วออกเห็น ออกเห็นอะไร?
กาย เวทนา จิต ธรรม
กาย ถ้าเจโตวิมุตติ มันจะเห็นกาย เวทนา เวทนานี่มันเกิดจากเรา เวทนามันมีเวทนากาย เวทนาจิต เวทนากายคือความเจ็บปวด เวทนาจิตคือความเสียใจไง ไม่ต้องมีใครทำอะไรหรอก เรานั่งเสียใจทุกข์ใจนี่ นี่เวทนานะ เวทนาจิตคือความเสียใจดีใจ นี่อย่างนี้นี่เวทนาจิต เวทนากายนี่ ความหิวกระหาย ความทุกข์ความร้อน นี่เวทนากาย
มันมีเวทนากาย เวทนาใจ เวทนามันมีหลายชั้นนัก
นี่กาย เวทนา จิต จิตความเศร้าหมอง จิตผ่องใส
ธรรม ความคิดนี่ธรรมารมณ์ อารมณ์ความคิดกระทบกับธรรมะ เราคิดโดยธรรมะนี่ธรรมารมณ์ ถ้าจิตมันสงบเข้ามานี่ ความคิดที่ว่าเป็นธรรมๆ นี่ เอามาใคร่ครวญได้หมดเลย
นี่ สิ่งนี้มันจะเกิดวิปัสสนา แล้ววิปัสสนามันจะเกิดได้ มันต้องมีสมาธิ มีสติ ใช่ไหม ถ้าไม่มีสติมันจะเกิดสมาธิได้อย่างไร แล้วถ้ามีสติแล้ว สตินี่มันน้อมนำจิตได้ ในสมาธินี่ ตรึกในธรรมได้ เขาว่าในสมาธินี่คิดไม่ได้ๆ ในสมาธินี่คิดได้ คิดในสมาธิก็เป็นวิปัสสนา คิดในสมาธินี่
ทีนี้ถ้าเราฟุ้งซ่านอยู่ มันเป็นสมาธิไม่ได้เพราะเราคิดใช่ไหม แต่พอมันเป็นสมาธิขึ้นมาแล้วนี่ ถ้าเราไม่คิดปัญญาจะเกิดได้อย่างไร สมาธิทำให้เกิดปัญญาไม่ได้ แต่ตัวสมาธิ มันเป็นฐานให้เกิดปัญญา แล้วปัญญาที่ว่าคิดในสมาธินี่ มันเป็นปัญญาที่ละเอียดกว่า ปัญญาในสมองเรา ปัญญาสมองนี่มันเป็นสัญญา เป็นข้อมูล
แล้วถ้าปัญญาวิปัสสนานี่มันเกิดจากใจ นี่ ปัญญาสมอง ปัญญาใจๆ เห็นแล้วมันมหัศจรรย์มากนะ ปัญญาสมองนี่มันเหมือนข้อมูล เราศึกษามาเราเรียนมา เขาให้วิชาชีพมา ข้อมูลนี่มันอยู่ในสมองหมดเลย เดี๋ยวก็ลืม เดี๋ยวก็จำได้ แต่เวลาจิตที่มันคิดนะ มันคิดลึกซึ้งกว่าสมองหลายเท่านัก ธรรมะของพระพุทธเจ้านี่ๆ ทุกอย่างที่ว่าเป็นพระพุทธเจ้านี่ เราต้องทำตามพระพุทธเจ้าหมดเลย
ถ้าไม่ทำตามพระพุทธเจ้านี่จะผิดหมดเลย แต่เวลาไปปฏิบัตินะ ไม่ใช่! มันเป็นปัจจุบันธรรมของเรา นี่ดูสิ ในทางตำราอาหารนะ เขาบอกเลยนะ อาหารชิ้นนั้น จะมีรสชาติอร่อยอย่างนั้นๆๆ เวลาเราไปกินนะ มันจะมีรสชาติครบตามที่เขาเขียนในตำราไหม รสชาติมันเกิดจากลิ้นเราใช่ไหม รสชาติเกิดจากเราใช่ไหม
ธรรมะพระพุทธเจ้าที่บอกว่าต้องทำอย่างนี้ ทำอย่างนั้นๆๆ นะ เวลาเราปฏิบัติขึ้นมานะ ปัจจุบันธรรมของเรานะ นี่ไงธรรมะส่วนบุคคล พระโสดาบัน พระสกิทา พระอนาคา พระอรหันต์ นี่ เกิดขึ้นมาจากสัจจะ สัจธรรมในหัวใจนั้น ไม่ใช่เกิดจากตำรา! ไม่ใช่เกิดจากตำรา! นี่ความรู้จริงของใจนั้นต่างหาก ถึงจะเป็นอริยภูมิในใจนั้น ถ้าเป็นขึ้นมาแล้วนะ มันถึงเข้าใจในทฤษฎี เข้าใจในตำราของพระพุทธเจ้าหมดเลย
พระพุทธเจ้าก็ชี้มาที่นี่ ตำราของพระพุทธเจ้าทั้งหมดก็ชี้เข้ามาที่กิเลสนั้น แล้วพอเราเข้ามาถึงกิเลสของเราแล้ว กับตำราที่ชี้เข้ามามันจะผิดกันตรงไหน ฉะนั้นตำราของพระพุทธเจ้านี่ถูกหมดเลย แต่พวกเรานี่ผิดหมดเลย ถ้าเราไปศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้า เพราะธรรมะของพระพุทธเจ้านี่เป็นแผนที่ เป็นเครื่องหมายชี้เข้าไปที่ใจ
ถ้าเครื่องหมายชี้เข้าไปที่ใจ เราก็ต้องทำตามกระบวนการนั้นใช่ไหม ผลของมันจะชี้เข้าไปที่ใจ แต่เราไปติดที่กระบวนการนั้นไง ธรรมะต้องเป็นอย่างนั้น ธรรมะต้องเป็นอย่างนั้น ถ้าผิดจากนี้ไป มันจะไปฝืนธรรมของพระพุทธเจ้า มันก็เหมือนกับ ดูสิ สินค้านี่ เราไปก็อบปี้เขามาทำสินค้า เราทำให้เหมือนอย่างนั้นนะ ทำให้เหมือนๆ ทำให้เหมือนมันก็ไม่ใช่ของเราสิ สิทธิผลประโยชน์เป็นของเจ้าของเขาใช่ไหม
แต่ถ้าเรา เราดู เราเลียนแบบมา แต่เราสร้างสินค้าของเราขึ้นมา สินค้าของเราจะเป็นสินค้าของเรา นี่ไงการปฏิบัติมันเป็นอย่างนี้ ถ้าปฏิบัติอย่างนี้ปั๊บ พอจิตมันรู้จริงขึ้นมานี่ แล้วมันจะไปสงสัยธรรมของพระพุทธเจ้าตรงไหน
ฉะนั้น ครูบาอาจารย์เรา เวลากราบ กราบธรรมของพระพุทธเจ้านี่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ กราบจากหัวใจเลย เพราะ เรารู้นี่นะ เรารู้อะไรจะขึ้นมานี่ มันเป็นธรรมะส่วนบุคคล แต่! แต่มันเป็นแค่กิ่ง แค่แขนงนิดเดียวในธรรมะของพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าสร้างบุญญาธิการมาขนาดนี้ นี่พระโพธิสัตว์ แล้วสร้างมาในพระพุทธศาสนา เหมือนกับต้นไม้ใหญ่เห็นไหม ต้นยางใหญ่มาก แล้วเม็ดยางมันตก มันไปงอกต้นเล็กๆ ขึ้นมาต้นหนึ่ง มันงอกขึ้นมานะ มันงอกขึ้นมาต้นหนึ่ง ต้นยาง นี่ก็เหมือนกัน พอเราไปรู้ขึ้นมานี่ เรารู้ เรารู้ของเรา มันเป็นความจริงของเรานะ เหมือนพระพุทธเจ้าไหม? เหมือน!
แต่เวลาเทียบเคียงกันแล้วไง พระพุทธเจ้าเหมือนต้นไม้ใหญ่นะ ไอ้เรามันแค่ เมล็ดพันธุ์ที่มันตกแล้วงอกขึ้นมานะ มันเหมือนกัน มันถึงเป็นความจริง เพราะมันเป็นความจริง ความจริงจากใจอย่างนั้น ทีนี้เวลาปฏิบัติมันไม่คิดอย่างนั้นไง มันคิดว่า พระพุทธเจ้านี่ต้นไม้ใหญ่ เราปฏิบัติก็ต้องเป็นต้นไม้ๆ นั้น มึงปฏิบัติจนตาย นะ ว่าพระพุทธเจ้าเป็นต้นโพธิ์ใหญ่มากเลย พอเราปฏิบัติแล้ว เราจะเทียบว่า ของเราต้องเป็นต้นโพธิ์อย่างนั้น ถ้าไม่เป็นต้นโพธิ์อย่างนั้นเราผิด ไม่ใช่!
ต้นโพธิ์นี่ โพธิ์ที่พระพุทธเจ้าครอบคลุมพวกเรา บริษัท ๔ เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร ให้พวกเราร่มเย็นเป็นสุข แล้วถ้าเราปฏิบัติขึ้นมานี่ เราก็เป็นกิ่งเป็นแขนง แตกขึ้นมา เป็นต้นเล็กต้นน้อย แต่ก็แตกขึ้นมาเป็นต้นของเรา นี่คือปัจจุบันธรรม นี่ธรรมะส่วนบุคคล ธรรมะของเรา มันเกิดขึ้นมากับเรานะ ทีนี้ จะไปยึดว่า เราทำแล้ว เราปลูกแล้วต้นโพธิ์ก็ต้อง ๓ คนโอบ เป็นไปไม่ได้! เป็นไปไม่ได้หรอก เราจะเพาะชำขึ้นมา มันก็ต้นเล็กๆ แล้วเราดูแลรักษาของเราไป ต้นโพธิ์คือต้นโพธิ์ ต้นโพธิ์เหมือนกัน แต่ต้นเล็กต้นใหญ่ แต่เป็นต้นโพธิ์เหมือนกัน
แต่ถ้าเราไม่มีต้นโพธิ์เลย เราแอบอิงแต่ว่าจะเป็นอย่างนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้นะ นี่ปฏิบัตินี่เอากันอย่างนั้น เอากันง่ายๆ ไม่มีทาง! ไม่มีทาง! มันต้องเป็นตามจริงโอปนยิโก ร้องเรียกสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม กิเลสมันเต็มหัวใจนะ เวลาใจมันเป็นธรรมขึ้นมานี่ ร้องเรียกใจมันเองนะ ร้องเรียกหัวใจของเรานี่ ดูแลตามข้อเท็จจริง แล้วมันจะเห็นจริงของมัน แล้วมันจะละทิ้งความชั่ว
จิตที่เป็นธรรมนะ คิดอกุศลไม่ได้ อกุศลคือของเสีย แล้วจิตนี่มันเป็นสิ่งที่สะอาดบริสุทธิ์ มโนกรรมมันคิดไม่ได้เลย อย่าว่าแต่พฤติกรรม มโนกรรมนี่ มโนกรรมความคิดนี่ จะคิดไม่ได้ กุศล อกุศล ถ้าเป็นกุศลคิดดี เพื่อประโยชน์กับโลกมันทำได้ คิดอกุศลนี่ มึงจะกินขี้อีกเหรอ แล้วเราเป็นปุถุชนนี่เราไม่รู้นะ ขี้หรือไม่ขี้ เห็นไหม
อย่างทุเรียนนี่ คนเกลียด เกลียดมากๆ เลย แต่เราบอก อื้อหือ หอมมากๆ เลย ทีนี้พอเราไม่รู้นะ กุศล อกุศล เราก็นึกว่า อื้อหือ กลิ่นอกุศลนี่ ทุเรียน มันก็ไป เพราะมันไม่เข้าใจ เพราะมันมีอวิชชาครอบงำอยู่ แต่ถ้ามันสะอาดบริสุทธิ์แล้ว มันไปไม่ได้นะ มันไปไม่ได้แล้ว สะอาดบริสุทธิ์นี่เป็นไปไม่ได้เลย นี่เวลาธรรมขึ้นมา มันจะเป็นจริงขึ้นมา มันต้องเป็นตามข้อเท็จจริง ไม่ใช่วิทยาศาสตร์
ถ้าปฏิบัตินะ เอาวิทยาศาสตร์เป็นตัวตั้งนะ ตัวตั้งเป็นกรอบ เหมือนเรานี่คิดในกรอบ ไปไม่รอดหรอก สานสุ่มไง สานเสร็จแล้วอยู่ในสุ่ม สานสุ่มแล้ว สุ่มก็ครอบเราอยู่นั้นล่ะ ออกจากสุ่มไม่ได้ ออกจากสุ่มไม่ได้ จะออกจากสุ่มกลัวมันผิด แล้วถ้าออกจากสุ่มผิด มันก็อยู่ในวัฏฏะนั่นล่ะ เวลาปฏิบัติแล้ว ทำลายสุ่มทั้งหมด ทำลายทุกอย่าง อิสรภาพ
นี่ความเสมอภาคในศาสนาพุทธเรานี่เห็นไหม ผู้ที่สิ้นกิเลสแล้ว เสมอภาคเหมือนกันหมดเลย ความสะอาดบริสุทธิ์เหมือนกันหมดเลย ต่างกันที่อำนาจวาสนา ต่างกันที่บารมีเท่านั้น ต่างกัน อย่างพระพุทธเจ้านี่ โอ้โห เลิศล้น แล้วใครอย่าได้สะเออะไปเลย คือมันเป็นไปไม่ได้
พุทธวิสัย สร้างมาเป็นโพธิสัตว์ ไอ้เรามันสาวก สาวกะ ขอให้เราทำตัวดีเถอะ ใครอย่าได้สะเออะ อย่าได้สะเออะเทียบ ถ้าสะเออะเทียบนะ มึงไปเกิดเป็นพระพุทธเจ้าใหม่ จะเป็นไปได้ มึงสร้างเป็นโพธิสัตว์ แล้วไปตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าข้างหน้า แล้วมึงจะเทียบกันได้
แต่ถ้าอยู่ในศาสนาพุทธนี่ อยู่ในศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ อย่าได้สะเออะ มันเป็นไปไม่ได้ ในศาสนานี่มีพระพุทธเจ้าองค์เดียว ทุกๆ ครั้งที่มีพระพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมา มีหนึ่งเดียวเท่านั้น ไม่มีสอง ถ้าอย่างนั้น อย่าได้คิด แค่คิดก็ผิดแล้ว อกุศลแล้ว กล่าวตู่พุทธพจน์ ทำลายศาสนา เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
คนเรานี่ เจตนาทุจริตแล้วนี่ มันจะเป็นเจตนาสุจริตได้อย่างไร ในเมื่อเจตนามันเป็นทุจริต มันจะเป็นธรรมะได้อย่างไร มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ฉะนั้น เราถึงไม่ต้องไปวิตกวิจารณ์ตรงนั้น ทำตามที่พระพุทธเจ้าสอน ทำตามนั้น แล้วเราจะได้ประโยชน์ของเรา เพราะเราเกิดมาแล้ว พบพระพุทธศาสนาแล้ว เราไม่เสียชาติเกิด เราจะได้ความจริงของเรา
อ้าวถามมา
โยม : ขอโอกาสถามด้วยครูจารย์ พระพุทธเจ้านี่เวลาตรัสรู้ ท่านเป็น ปัญญาวิมุตติ หรือว่าเจโตวิมุตติ
หลวงพ่อ : รวมหมด เพราะพระพุทธเจ้านี่ เวลาที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เพราะอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นะ พระพุทธเจ้าปฏิบัติมา ๖ ปีนี่ กำลังขวนขวายมาเต็มที่ แต่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นี่ เป็นขิปปาภิญญา คือตรัสรู้เร็ว ง่ายทุกอย่าง เพราะอะไร เพราะชั่วคืนเดียว พอคืนนั้น ปฐมยามเห็นไหม ปฐมยามนี่ บุพเพนิวาสานุสติญาณ ญาณ พระพุทธเจ้าเป็นวิชชา ๓ วิชชา ๓ คือมีญาณ ๓ ช่วง
ช่วงหนึ่งเห็นไหม นี่บุพเพนิวาสานุสติญาณ อดีตชาติ รู้ไปหมดเลย นี้ยังไม่เป็นพระพุทธเจ้า นี้เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทดสอบ แล้วจุตูปปาตญาณนี่ ก็อนาคต คือจิตที่ไม่หมดนี่ อาสวักขยญาณทีเดียวจบเลย คืนเดียว ขิปปาภิญญานี่ หมายถึงว่านั่งทีเดียวตรัสรู้เลย เหมือนสาวก สาวกนี่มีเยอะ
ดูสิ ดูอย่างพระยสะอย่างนี้ ฟังเทศน์ ๒ หน คืนเดียวเป็นพระอรหันต์เลย พาหิยะฟังทีเดียวเป็นพระอรหันต์เลย แต่พวกนี้เขาได้สร้างบุญของเขามา ถ้าได้ย้อนหลังนะ ย้อนหลังหมายถึงว่า เขาเคยปฏิบัติมา กับพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ แต่ไม่สิ้นสุด เขามีพื้นฐานมาแล้วไง พอพระพุทธเจ้ามาถึง มาต่อยอดปั๊บทีเดียวเลย
ทีนี้ พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นประเภทใด พระพุทธเจ้านี่นะ เป็นคนแต่งตั้ง เอตทัคคะ ๘๐ องค์ เราให้ค่าเขานี่ เราเป็นคนแต่งตั้งเขานี่ เราจะมีความรู้เหนือเขาไหม ถ้าเราไม่เหนือกว่า เราจะบอกเขาได้ว่าเขาเป็นอย่างนั้นๆ ได้ไหม ฉะนั้น ๘๐ ชนิดที่พระพุทธเจ้าตั้งนะ รวมอยู่ที่พระพุทธเจ้าหมด ถ้าพระพุทธเจ้าไม่รู้ถึงเหตุถึงผล พระพุทธเจ้าจะตั้งว่า นี้มีฤทธิ์ นี้มีปัญญา นี้เลิศในทางปัญญา เลิศในทางราตรี เลิศทุกอย่าง
ฉะนั้นบอกว่า ที่ว่าประเภทอะไรๆ ประเภทนี่นะ ที่ว่าเป็นเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติประเภทไหนนี่ มันแยกย่อยออกมาเป็นสาวก เหมือนลูกไง เหมือนพระพุทธเจ้านี่เป็นพ่อ ลูกหลายคน ลูกคนไหนมันถนัดอะไรล่ะ ลูกคนไหนมันเก่งทางไหนล่ะ พ่อแม่นี่รู้หมดล่ะ
ทีนี้พ่อแม่จะรู้หมดนี่ พ่อแม่เป็นคนฝึกสอนมาใช่ไหม พ่อแม่จะเข้าใจหมดใช่ไหม นี่เราบอกว่าทุกอย่างที่พระพุทธเจ้าสอนนี่ รวมอยู่ในตัวพระพุทธเจ้ามีหมด ฉะนั้น เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตตินี่ คือว่าประสาพวกเรานี่ ลูกนะ พ่อแม่เรานี่นะ หาบเสื่อผืนหมอนใบ มาจากเมืองจีน มาสร้างเนื้อสร้างตัว เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี
ไอ้พวกเรานะ พ่อแม่ให้มรดกนะ ให้บริษัทตั้ง ๒-๓ บริษัทนะ มันยังทำเจ๊งเลยนะ พระพุทธเจ้านี่ก็เหมือนกัน พระพุทธเจ้านี่รื้อค้นมา สร้างสมมา ทีนี้พอมา มาลูกศิษย์นี่ คือจะบอกว่า ไอ้ที่ว่าเป็น เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ แต่ละแขนงนี่ คือพวกนี้ พวกหิ่งห้อยไง คือพวกเรามันคือหิ่งห้อย มันไม่มีปัญญาไง
ทีนี้พอไม่มีปัญญานี่ พ่อแม่ก็ฉลาดใช่ไหม เอ่อ เอ็งมีปัญญาอย่างนี้นะ เอ็งเอาอันนี้ไป เอ็งเอาอันนี้ไปหมายถึงว่าคำสอนนะ ไม่ได้ให้ธรรมะนะ ให้คำสอน คำสอนว่า พระองค์นี้ ภิกษุองค์นี้ไปปฏิบัติอย่างนั้น ไปทำอย่างนั้น แล้วถ้าได้อย่างนั้นแล้ว มันก็ตรงกับจริตนิสัยไง
เพราะพระพุทธเจ้าสอนนี่ อนาคตังสญาณใช่ไหม เคยสร้างบุญมาอย่างไร เคยมีกิเลสอย่างไร ก็เอาสิ่งที่ชำระกิเลสนี่ เป็นคำสอน ทิ่มเข้าไป เข้าไปชำระล้างไอ้ความข้องติดข้องใจ พอชำระล้างเข้าไป พอพวกนี้ไปปฏิบัติแล้ว มันก็ ผลัวะ พระอรหันต์ พระอรหันต์ขึ้นมามันก็หิ่งห้อย พอหิ่งห้อยนี่ ก็มีว่าประเภทไหน ประเภทไหน เขาว่า ประเภทไหน ประเภทไหน ก็ประเภทหิ่งห้อยไง
แล้วพระพุทธเจ้าประเภทไหน นี่มันคิดไม่ทันไง นี่ทุกคนนะ ถ้าอย่างพวกเรานี่ เกิดพร้อมในสมัยของพระพุทธเจ้านะ แล้วอยากปฏิบัติ ไปหาพระพุทธเจ้าเลย พระพุทธเจ้าจะบอกตรงช่องเลย เว้นไว้แต่! เว้นไว้แต่! พระพุทธเจ้าเห็นว่า บารมีไม่ถึง บารมี
อย่างเช่นคนจะทำงานนี่ คนจะทำงานหน้าที่ใดนี่ เราจะมอบงานให้เขานี่ ถ้าเราเห็นว่าเขาทำงานนั้นได้ มันถึงจะทำงานได้ประสบความสำเร็จใช่ไหม งานนี่ เราไปมอบงานอย่างนี้ ให้เด็กมันทำนี่ มอบงานให้เด็ก บอกให้เด็กทำงานให้เสร็จนี่ มันเป็นไปไม่ได้ จิตเรานี่ อินทรี พละ พลังของใจนี่ มันไม่พร้อม แล้วจะบอกว่าให้มอบกรรมฐาน แล้วให้เราปฏิบัติถึงพระอรหันต์นะ มันเป็นไปไม่ได้
ฉะนั้นการปฏิบัติไปนี่ มันจะมีตรงนี้เป็นพื้นฐาน ทีนี้เวลาไปขอธรรมะ นี่ พระในสมัยพุทธกาลนี่เยอะมาก บวชเมื่อแก่ไปหาพระพุทธเจ้าเลย บอกขอกรรมฐานจะเข้าป่า พระพุทธเจ้าให้กรรมฐานไปนี่ สำเร็จเป็นพระอรหันต์ เป็นพระอรหันต์ บางองค์ไปก็ไม่ได้
มีอยู่องค์หนึ่งนะ ลูกเศรษฐี แล้วก็ไปปฏิบัติอยู่ ๑๖ ปีหรือไงนี่ ก็ยังไม่สำเร็จ แล้วคิดถึง ข่าวมา ว่าพ่อแม่นี้เป็นเศรษฐี ลูกชายคนเดียว แล้วพ่อแม่นี่โดนโกงหมดเลย ก็เสียใจมาก ก็จะกลับมาเยี่ยมพ่อแม่ เป็นห่วงพ่อแม่ มาถึงทางสองแพร่ง ทางหนึ่งจะไปเยี่ยมพ่อแม่ ทางหนึ่งจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า จะไปทางไหนก่อน ก็ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าก่อน ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าถามว่ามาทำไมล่ะ ก็จะมาเยี่ยมพ่อเยี่ยมแม่ พ่อแม่นี่เป็นขอทาน จากเศรษฐี มหาเศรษฐี แต่ลูกออกบวช ไม่มีใครช่วยบริหาร พอแก่เฒ่า เขาก็โกงจนหมดเลย ตอนนี้พ่อแม่เป็นขอทาน อยากจะมาลาสึก เพื่อจะไปดูแลพ่อแม่ พระพุทธเจ้าบอกไม่ต้อง ให้ปฏิบัติไป ให้ไปหาพ่อแม่นะ แล้วเอาพ่อแม่มาไว้ในวัด บิณฑบาตให้พ่อแม่ฉัน นี่ไงที่ว่าพระที่บิณฑบาตให้พ่อแม่ฉัน แล้วไม่ผิดนี่ไง ให้บิณฑบาตมาเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ สุดท้ายบิณฑบาตมาเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ด้วย แล้วตัวเองก็ปฏิบัติไปด้วย สำเร็จเป็นพระอรหันต์
นี่กว่าจะสำเร็จเป็นพระอรหันต์แต่ละองค์นะ ไม่ใช่ง่ายๆ ต้องสู้กันเต็มที่ ดูอย่างพระรัฐบาลเห็นไหม รวยมากเหมือนกัน นั่นจะบวช พ่อแม่ไม่ให้บวช ลูกชายคนเดียว ไม่ให้บวชอดอาหารนอนเลย ก็ไปเรียกเพื่อนมาเพื่อจะขอร้อง ทุกคนมาขอร้องให้เลิก ให้อยู่บ้าน พ่อแม่เอาเพื่อนมาขอร้อง เพื่อนบอกเพื่อนเลย ตายอย่างเดียว
เพื่อนๆ ทุกคนก็ไปบอกพ่อแม่ บอกอยากเห็นหน้าลูกไหม? อยาก! ถ้าอยากเห็นหน้าลูกนะต้องให้ลูกบวช ต้องให้ลูกบวช ถ้าไม่ให้ลูกบวชนะ พ่อแม่จะไม่ได้เห็นหน้าลูกอีกแล้ว คือลูกมันอดจนตาย พ่อแม่ต้องยอม ยอมให้ลูกบวช พอลูกบวชแล้ว สำเร็จเป็นพระอรหันต์เลย
พอสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วกลับมาบ้านไง นิมนต์มาบ้านนะ พ่อแม่ก็ขนเอาทองมานี่ เอาทองคำ เอาสมบัติมากองไว้นี่ นิมนต์ให้ลูกมาฉันแล้ว เอาสมบัติมากองไว้ให้ลูกดูไง ถามลูก ถามพระรัฐบาล ว่าลูกนี่สมบัตินี่ นี่ของพ่อของแม่นี่ แล้วจะทำอย่างไร ถามพระอรหันต์นะ ถามพระรัฐบาล พระอรหันต์นะ
พระลูกชายตอบว่าอย่างไรรู้ไหม พ่อ เอาใส่รถเข็นนะ เข็นไปที่แม่น้ำ แล้วดั๊มพ์ทิ้งลงไปในแม่น้ำเลย (หัวเราะ) พ่อแม่อกจะขาด พ่อแม่ก็คิดว่า เอาเงินเอาทองมากองเท่าภูเขาเลยนะ ก็นึกว่าลูกเห็นเงินเห็นทอง ก็ต้องเห็นใจพ่อแม่เนาะ ไม่มีใครดูแลเนาะ
แต่ทีนี้พระอรหันต์นะ อริยทรัพย์มันมีค่าขนาดไหน แล้วไอ้เงินทองนะ กองกี่ภูเขาก็แล้วแต่นะ ถ้าบอกให้เอารถเข็น เข็นไปไหน เข็นไปแม่น้ำ แล้วดั๊มพ์ทิ้งไปเลย มันไม่มีค่าสำหรับพระอรหันต์ไง แต่ค่าของพ่อแม่ล่ะ นี่ในพระไตรปิฎกไปอ่านนะ ซึ้งมาก แต่ซึ้งนะเราต้องเทียบค่าของใจพระอรหันต์ด้วย แล้วอย่างใจพวกเรานี่
๑. พ่อแม่เรารักไหม
๒. สมบัติของพ่อแม่ที่หามา ใครจะดูแลต่อ
นี่ถ้าคิดนะ อ่านพระไตรปิฎกแล้วคิดใคร่ครวญตามนะ พระอรหันต์หรือผู้บวชแต่ละองค์ มีอุปสรรคหมดเลย ใครบ้างที่ไม่มีอุปสรรคในการประพฤติปฏิบัติ ใครบ้างไม่มี พระพุทธเจ้ากว่าจะออกบวชได้ แล้วก็อย่างชีวิตอย่างเรานี่ เราไปเข้าข้างตัวเองไง เราโน่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้ ก็มึงเก่งนะ ก็มึงแน่ มึงก็นอนจมกับขี้มึงนั่นล่ะ
เขาแค่ติกันอย่างนั้น แต่ว่าเราต้องเข้มแข็ง เราต้องจริงจัง อันนี้แค่สิ่งแวดล้อมนะ แล้วเวลามาปฏิบัตินี่ มรรคญาณนี่ เวลาเราพูดนี่จะพูดถึงตรงนี้ ส่วนใหญ่จะพูดถึงตรงนี้ เห็นไหม เวลาเราเทศน์เวลาเราพูดให้ใครฟังนี่ บอกว่าเวลาเราพูดธรรมะนี่ เราพูดเป็นวิทยาศาสตร์เลย
แต่เวลาเราพูดถึงภพชาตินะ พูดถึงการเกิดการตายนะ พวกวิทยาศาสตร์ฟังนะ โอ้โฮ เวลาหลวงพ่อเทศน์นี่วิทยาศาสตร์เลยนะ แต่ทำไมมาเชื่อเรื่องเกิดเรื่องตาย ดูเป็นของต่ำต้อยไปซะฉิบ เวลาคนเขามอง เขามองกันอย่างนั้นนะ เพราะเขาไม่เห็นนะ เขาไม่เห็นที่มาที่ไปของจิตนะ เขาไม่เห็นที่มาที่ไปของเรานะ
นี่ดูสิ พระพุทธเจ้าย้อนไปอดีตชาตินี่ มันมีที่มาที่ไป แล้วถ้าไม่มีที่มาที่ไป อย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ ถ้ามันไม่มีที่มาที่ไป ทำไมเชาว์ปัญญา วุฒิภาวะ สติของคนไม่เหมือนกัน ทำไมลูกเราแต่ละคนนี่ ความคิดความเห็นนี่มันหลากหลายนัก ก็นี่ ก็บุญกรรม จิตที่เขาสร้างมาทั้งนั้นล่ะ เพราะจิตที่เขาสร้างมาดีนี่ เขาก็ทำมาดี พอทำมาดีนี่ปัญญามันก็จะเกิด แล้วถ้าเราทำมาขนาดนี้ เราทำอย่างนี้เราก็ต้องทำของเราไป ต้นทุนเรามีแค่นี้
ตอนนี้ต้นทุนคือชีวิตเรานี่ ตรงนี้สำคัญมาก เราเน้นมากเลย เราเน้นมากว่า
สิ่งที่มีค่ามากที่สุดคือหัวใจเรา
คือต้นทุนนี่ ชีวิตเรานี่มีค่าที่สุดนะ ชีวิตของเรามีค่าที่สุดกับทุกๆ อย่างในโลกนี้ จำไว้ ทุกๆ อย่างในโลกนี้ เราแสวงหามา เราทำมา เราเป็นเจ้าของมัน เพราะมีเรา เราแสวงหาเราทำมา เราถึงมีของอันนั้นมา ของนั้นมีมาเพราะเราแสวงหา แสวงหาด้วยความทุกข์ความยากความลำบากความชำนาญขนาดไหน ก็เราแสวงหา
การแสวงหาคืออำนาจวาสนาของคนไม่เท่ากัน แสวงหาได้มาก แสวงหาได้น้อย เราก็แสวงหาของเรามา แต่เราเป็นผู้ที่แสวงหา ทรัพย์ที่เป็นสาธารณะ ทรัพย์ที่เป็นทรัพย์ของเรา คืออริยทรัพย์จากภายใน ปัญญาของเรา สมาธิของเรา สิ่งที่คุณธรรมของเรา นี้คือทรัพย์ของเราจริงๆ อันนี้สำคัญมาก เพราะหัวใจนี่ มันได้ทั้งทรัพย์ข้างนอก และทรัพย์ข้างใน
แต่ถ้าเราเป็นโลกนะ เราคิดแต่ประสาโลกนะ เราจะได้ทรัพย์แต่ข้างนอก เราจะไม่ได้ทรัพย์ข้างใน เพราะเราไปเหยียบย่ำทรัพย์ข้างในเราเอง เหยียบย่ำนะ ไปวัดก็อายเขา จะนั่งภาวนาเขาก็หาว่าคร่ำครึ จะเดินจงกรมก็กลัวคนเห็น ต้องบังเขาไว้ หลบเขา จะทำดีทำไมกลัวเขาว่าล่ะ เวลาไปทางสังคมโลกไปได้หมดเลยเห็นไหม นี่ไง เหยียบย่ำตัวเอง คือสิ่งที่ดีก็ไม่เห็นคุณค่ามัน สิ่งที่ดีจะเป็นประโยชน์ เราก็ไม่กล้าทำ จะทำก็อายเขา
แต่ถ้ามันเป็นความจริง เราทำของเราขึ้นมานะ นี่ประโยชน์เราเกิดตรงนี้ สิ่งที่มีค่าที่สุดคือหัวใจ หัวใจ เพราะหัวใจนี่มันเป็นพระโสดาบันได้ เป็นสกิทาได้ อนาคาได้ เป็นพระอรหันต์ได้ วัตถุอย่างอื่นเป็นไม่ได้เลย!วัตถุอย่างอื่นเป็นไม่ได้เลย! เราพูดบ่อย เห็นไหม
การพิมพ์หนังสือแจกเป็นธรรมะนี่ ได้บุญกุศลมากที่สุด เราบอกนะ เอ็งพิมพ์ให้ล้นโลกเลย แล้ววางให้โลกนี้เอียงไปเลย กับเอ็งปฏิบัติ อะไรจะมากกว่ากัน หนังสือนี่มึงพิมพ์มาเลย ให้กองเท่าภูเขาเลย คือวางแล้ว ให้โลกนี้เอียงไปเลย กูจะดูบุญมึง มันก็คือกระดาษล่ะ
แต่ถ้าเราปฏิบัติขึ้นมาสิ ทำจริงๆ ขึ้นมาสิ นี่หัวใจที่มันเป็นได้ไง หัวใจที่มันเป็นอริยภูมิได้ ตัวหนังสือเป็นไม่ได้ ไม่มีอะไรเป็นธรรมะได้เลย เว้นเสียแต่หัวใจของสัตว์โลก หัวใจของเรานี่ แล้วนี่มีค่าไหม ต้นทุนนี้มีค่าไหม
ถ้าเราตายปุ๊บ นี่เราคิดนะ ตอนนี้เราศรัทธามากเลย เราก็คิดนะ นี่ปฏิบัติยังไม่ได้ ขอให้ตาย เกิดไปชาติหน้าบนสวรรค์จะไปปฏิบัติ พอเกิดตูม ตอนเราคิดนี่มันยังเป็นชาตินี้ เราเป็นเรา เพราะเป็นเรานี่ เรามีร่างกาย เรามีสิ่งบีบคั้น คำว่าบีบคั้นนี่หมายถึงว่า ร่างกายนี่มันต้องการอาหาร ต้องการความอบอุ่น นี่มันบีบคั้น เราต้องหามันมา เราก็ว่าตอนนี้ยังทำไม่ได้ รอให้ตายไปก่อนค่อยไปปฏิบัติ
พอตายตูม! ทำดีก็ไปเกิดเป็นเทวดา พอไปเกิดเป็นเทวดาความคิดมันไม่เป็นอย่างนี้แล้ว จิตดวงเรานี่ล่ะ แต่พอได้สถานะเป็นเทวดาตูม สิ่งแวดล้อมมันเปลี่ยน ทิพย์หมดเลย สบาย.. ลืมเลย นอน กว่าจะหมดอายุขัยมา ศาสนาหมดไปแล้ว แต่เวลาเราคิดเราคิดอย่างนี้ไง แต่เราไม่คิดถึงอนาคต มันเป็นอีกอย่าง มันไม่เหมือนที่เราคิด ปัจจุบันที่เราคิดเพราะเรามีสถานะอย่างนี้
เหมือนตอนนี้เราจนนะ เราคิดเลยล่ะ ถ้ากูมีเงินนะกูจะเป็นคนดี พอมีเงินตูมขึ้นมา คนรวยคิดนะ กูมีตังค์แล้ว นี่ไง ความคิดมันเปลี่ยนไง ฉะนั้นเราคิดของเราอยู่ตอนนี้ ถ้าตอนนี้เราตั้งใจของเรา ปัจจุบันนี้นะ ถ้าเราคิดเกี่ยวเนื่องกับศาสนานี่ มีวาสนาแล้ว
เพราะการเกิดมาพบพระพุทธศาสนาหายาก แล้วเกิดมาเห็นครูบาอาจารย์ที่คอยกระตุ้นเรา พูดกระตุ้นเรา พูดกระตุกให้เราได้คิด ให้เราได้จัดการนี่ คือใจเรานี่ มันเหมือนน้ำเสีย ถ้าเรารีไซเคิลมัน ทำให้มันสะอาดนี่ มันต้องมีการเปลี่ยนแปลงนะ น้ำเสียนี่ ก็ทำกลับให้เป็นน้ำปกติ ให้เป็นน้ำสะอาดกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก
ใจเรานี่โดนอวิชชา โดนกิเลสมันครอบงำอยู่ แล้วตอนนี้เราเข้าใจแล้วนี่ เราเปลี่ยนแปลงเดี๋ยวนี้ เราทำเดี๋ยวนี้ นี่คือคุณประโยชน์ของเรา ประโยชน์มหาศาลนะ มหาศาลมากๆ
เหนื่อยละ เอวัง