สนทนาธรรมกับแม่ชีที่หัวหิน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๔๕
ณ วัดป่าสมสงัด อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
หลวงพ่อ : นานๆ เราถึงจะมาทีหนึ่ง นี่ก็เพิ่งมา เมื่อวานนี้พระมาหลายองค์ เขาไม่รู้ เขานึกว่าเทศน์เมื่อวาน เขาก็เลยมาเมื่อวาน มาจากบ้านเย็นสุดใจ ๓ องค์ โยมอีก ๒ เพิ่งมานี่แหละ ทีนี้เดี๋ยวเวลาเราเทศน์แล้ว มันจะเป็นออกไปตามธรรมชาติเป็นธรรมดา แต่ถ้าเราคุยกัน มันมีปัญหาตรงไหนเราต้องเอาตรงนั้นเลย
แม่ชี :เจ้าค่ะ
โยม : คุณแม่นี่ การพัฒนาจิต การเดินจิตนี่ดีมากค่ะท่านพระอาจารย์ ท่านเล่าให้ฟังตะกี้ว่า เวลาที่ท่านเข้าพิจารณาตรงนี้จิตท่านนิ่งมาก แต่ เดี๋ยวถ้ายังไงรบกวนให้คุณแม่เล่าเลยค่ะ เพราะว่าถ้ายังไงจะได้
หลวงพ่อ : พิจารณายังไง?
แม่ชี :คืออย่างนี้ค่ะ คือว่าสมัยก่อนที่อยู่ที่โน่นเจ้าค่ะ ก็ทำสมาธิแล้วก็พิจารณากาย ทีนี้ก็มีครั้งหนึ่งที่พิจารณาเกศาก็ร่วงเป็นผุยผงลงเป็นดินเลย เห็นเนื้อ เนื้อก็เปื่อยกลายเป็นดินไปอีก เอ้า..เหลือแต่กระดูก ก็เพ่งลงดูกระดูกอีก เอ้า..กระดูกก็เปื่อย เอ้า..ตายกลายเป็นนั่นหมด ไม่มีเราอะไรอย่างนี้นะคะ รู้สึกว่าจิตก็ดีอยู่สัก ๗ วันมั้ง แล้วตอนหลังก็กลับมาเป็นเหมือนเดิมอีกค่ะ
หลวงพ่อ : ฟุ้งอีก
แม่ชี :ฟุ้งอีกค่ะ ก็คล้ายๆ ไม่ติดต่อกันหรือยังไงไม่ทราบนะคะ แล้วก็เอ้า..พิจารณาใหม่อีก ดูร่างตัวเองให้เป็นกระดูกนะคะ นี่ศีรษะ กะโหลกศีรษะอย่างนี้นะ ตาลึกอย่างนี้ อะไรต่ออะไรก็ค่อยๆ ดู ก็ดูไปเรื่อยๆ นี่ซี่โครงนะ นี่แขนขา เวลานั่งมองเห็นแต่ร่างเป็นกระดูก ลักษณะนั่งสมาธิอย่างนี้นะ อะไรต่ออะไรก็ดูไปเรื่อยๆ แล้วพออยู่มาวันหนึ่งเห็นพระที่เดินอยู่ที่ศาลา เห็นท่านเป็นโครงกระดูก ท่านเดินกันมาเป็นแถวอะไรอย่างนี้นะคะ ก็แล้วทำไมไม่ติดต่อกันหรือไงไม่ทราบ
หลวงพ่อ : มันไม่ได้ผล
แม่ชี :ไม่ได้ผลค่ะไม่ได้ผล คือมันก็ไม่เปลี่ยนแปลงจิตใจอะไรเรานะคะ ตอนหลังก็มาพบพระอาจารย์___นะคะ ท่านเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์เจ้าค่ะ
พอดีป่วยค่ะ แล้วก็อ่านหนังสือของหลวงปู่มหาบัว ท่านบอกว่าสัมภาษณ์หญิงสาว สตรีสาวนะคะ ในหยดน้ำบนใบบัว แล้วเสร็จแล้วเขาก็บอกว่า เดี๋ยวนี้กิเลสมาต้มตุ๋นเขาไม่ได้อีกแล้ว
แล้วหลวงปู่ก็ถามเขาว่า เขาภาวนายังไงนี่ หลวงปู่ยังนั่งจนก้นพองแล้วพองอีกนะกว่าจะได้ขนาดนี้
ทีนี้ก็เลยสนใจ ก็เลยตามไปหาเขา เขาก็อธิบายให้ฟังว่า แต่ก่อนนี้เขาก็ใช้สายพุทโธอย่างนี้นะคะ ตอนหลังนี้ท่านจะให้กำหนดสติ เดินก็ให้มีสติรู้อยู่ทุกก้าวเดิน พอจิตสงบนิ่งแล้วก็ให้มาคอยดูจิต ดูจิตให้ว่าง ว่างอยู่รู้อยู่ ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นพอมีสติรู้อยู่ก็ดับไป.. ให้ดับไป..
แล้วก็เมื่อเร็วๆ นี้ก็เข้าไปพักอยู่กับท่านมา ๑๔ วัน ก็เลยเดินจงกรมภาวนา จิตมันก็เกิดปีติ ก็เลยเนสัชชิกอยู่จนสว่างค่ะ รู้สึกใจคอก็เบิกบานดี แล้วจิตมันก็เลยนิ่ง นิ่งเฉยอยู่เองเลย โดยที่ปรุงอะไรก็ปรุงแล้วมันก็ดับไป มันไม่เหมือนก่อนที่ปรุงแล้วยาว
ทีนี้พอปรุงแล้วก็ดับไป ให้ปรุงก็ได้ ไม่ให้ปรุงก็ได้นะคะ รู้สึกว่าจิตว่าง่ายขึ้นค่ะ ไม่เหมือนก่อนนี้ที่แบบว่าชอบคิดฟุ้งซ่านอะไรต่ออะไร แล้วพอดับไปแล้ว บางทีก็กลับมาปรุงอีกอะไรเนี่ยค่ะ แต่ตอนนี้พอปฏิบัติดูจิตอย่างท่านนี่ รู้สึกจิตมันนิ่ง แล้วท่านก็บอกว่า ถ้าคุมจิตได้มันก็คุมได้หมดทุกอย่าง เพราะว่ากายก็จะนิ่งจะว่างไปด้วย พอจิตนิ่งแล้ว กายก็จะเป็นอัตโนมัติไปเลยค่ะ ท่านว่านะคะ มันจะตัดไปโดยอัตโนมัติ
หลวงพ่อ : สติปัฏฐาน ๔ อย่างการพิจารณาทีแรก พิจารณากายนี่ถูก! พิจารณากายแล้วมันกลับคืนสภาพอย่างนั้น อันนี้เพียงแต่ว่าเราไม่ได้ซ้ำ มันต้องซ้ำบ่อยครั้งๆ เข้า
อันนั้นมันแล้วมาแล้ว ปล่อยวางไว้ เพราะว่ามันผ่านมาแล้ว พิจารณากาย
ทีนี้พิจารณาจิต พิจารณากายก็ได้ พิจารณาจิตก็ได้ แต่การพิจารณาจิตเราก็ต้องเป็นการพิจารณา ต้องเป็นการพิจารณา! แต่อย่างที่ว่าเราดูจิตนี้มันเป็น ปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญามันจะพิจารณาอารมณ์แล้วมันจะปล่อยวางเข้ามา ปล่อยวางเข้ามาเป็นสมาธิ พอเกิดขึ้นเป็นสมาธิแล้ว พอปรุงก็ได้ ไม่ปรุงก็ได้นี่ มันต้องปรุงขึ้นมาแล้วพิจารณาตรงนั้น!
แม่ชี :เวลาปรุงขึ้นมาแล้วให้พิจารณา?
หลวงพ่อ : ตรงนั้น! ถ้าพิจารณาขันธ์ อารมณ์จะเกิดขึ้นเพราะขันธ์ ขันธ์นี่มันจะแทนกาย แต่ถ้าเราจะพิจารณากาย เราก็พิจารณากายไป ถ้าพิจารณากายมันจะปล่อยวางอย่างที่โยมพูดนั่นถูกต้อง เห็นเป็นโครงกระดูกเลย พอเห็นเป็นโครงกระดูกเลยแล้วมันต้องซ้ำ
ถ้าพูดถึงที่มันไม่ได้ผล เพราะว่ามันพิจารณาได้ครั้งได้คราว มันไม่ต่อเนื่อง ถ้ามันทำต่อเนื่องๆ พิจารณาซ้ำต่อเนื่องๆ แล้วมันจะปล่อย... มันจะปล่อย... เวลามันปล่อยขึ้นมานี่
ปกตินะเวลาเรากำหนดพุทโธนี้ มันมีความสงบสุขอย่างหนึ่ง แต่ขณะพิจารณาที่เราเห็นกายที่ว่ามันกลับคืนสภาพ เกศามันลงมาเป็นดินเป็นอะไรขึ้นมานี้ มันจะมีความเวิ้งว้าง เห็นไหม ลึกซึ้งกว่ากัน อันนี้ลึกซึ้งกว่ากันเพียงแต่ว่าเราไม่ได้ซ้ำไง มันต้องซ้ำตรงนั้นบ่อยครั้งเข้าๆ คือจะทำหนหนึ่งนั้นก็ทำได้แสนยาก แต่มันจะต้องทำซ้ำเข้าไปอีก
อันนี้เป็นงานของโยมแล้ว อันนี้ชัวร์ อันนี้เป็นงานที่ว่าโยมเคยผ่านมาแล้ว ถ้าพูดแบบนี้โยมเข้าใจเลย
ทีนี้กลับมาที่การพิจารณาจิต ดูจิต ดูจิตนี่เปรียบเป็นเหมือนคำบริกรรม เพราะเราดูจิตให้มันสงบขึ้นมา มันเปรียบเหมือนคำบริกรรมเลย คำบริกรรมทำให้มันสงบตัวขึ้นมา พอมันสงบขึ้นมาแล้ว เห็นไหมใช้คำบริกรรมเพื่อเอาพลังงานอันนั้นมาพิจารณากาย แล้วสภาวะกายนั้นมันจะแปรสภาพกลับไปคงที่ตามสภาวะเดิมของมัน
อันนี้ก็เหมือนกัน คำว่า ดูจิต นี้ มันเหมือนเปรียบเท่ากับเป็นคำบริกรรมนะ มันทำให้จิตสงบ พอจิตสงบขึ้นมาแล้ว อย่างที่โยมพูดมาตะกี้นี่ถูกต้อง มันจะพิจารณาก็ได้ จะให้มันปรุงก็ได้ ไม่ให้มันปรุงก็ได้
มันอันตรายตรงนี้ไง ตรงที่ว่าพอจิตมันเวิ้งว้าง จิตมันสบาย อย่างที่โยมพูด ขณะที่ว่ามันพิจารณาเข้าไปแล้ว เวลาปล่อยกายขึ้นมาแล้ว พอถึงที่สุดแล้วเราออกมา มันก็ไม่เห็นได้อะไรขึ้นมาเลย
อันนี้เวลาเราดูจิตนี่จิตมันสงบขึ้นมา เราจิตสงบ พอจิตมันสงบ เราควบคุมตัวมันเอง แต่เดี๋ยวมันก็จะฟุ้งอีก ฟุ้งไหม โยมว่าฟุ้งไหม?
แม่ชี :ต้องคุมตลอดค่ะ
หลวงพ่อ : ต้องคุมเห็นไหม เพราะมันต้องคุม มันไม่มีตัวสมุจเฉท
แม่ชี :ต้องมีสติอยู่ตลอด ทุกลมหายใจเข้าออก
หลวงพ่อ : ถูกต้อง มันก็อันเดียวกัน สติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม สิ่งใดก็ได้ถ้าเราชำนาญ เพียงแต่ตอนพิจารณากายนั่นนะ โอ้โฮ..ถ้าเป็นเรานะ โอ้โฮ..อย่างนั้นนั่นคือมันเข้าทางแล้วนะ มันพิจารณาแล้ว
แม่ชี :แต่มันทิ้งใช่ไหมคะ?
หลวงพ่อ : ทิ้ง ต้องซ้ำสิ! ซ้ำแเล้วซ้ำเล่าๆ ซ้ำอยู่ตรงนั้นแหละไม่ไปไหนเลย แล้วมันจะขาด พอมันขาด มันต้องมีสังโยชน์ขาด
อันนี้คือว่ามันปล่อยวาง ปล่อยวางอย่างหนึ่ง แต่สมุจเฉทปหานอีกอย่างหนึ่ง
ปล่อยวางนี้ตามตำราบอกว่าคือ ตทังคปหาน การปหานกิเลสชั่วคราว แต่ถ้าจะปหานกิเลสโดยที่ว่าพระพุทธเจ้าปรารถนาให้พวกเราปฏิบัติกันนั้นมันต้องสมุจเฉทปหาน ถ้าสมุจเฉทปหานนะ กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ มันจะแยกออกจากกันเลย เห็นสภาวะตามความเป็นจริง
อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันสงบ ดูจิตนี้มันอยู่ในวงของสมถะ เพราะเราพิจารณาควมคุมมัน แต่มันยังไม่มีอะไรของเราขาดออกไป ไอ้ตรงที่มันขาดออกไปนี่สำคัญ!
ดูจิตแล้ว อย่าเผลอตรงนี้ เผลอตรงที่ว่า คิดว่าดูจิตนี้เป็นผลงาน
แต่ดูจิตนี้เป็นการหาอุปกรณ์ในการทำงาน ดูจิตนี้เป็นการหาพลังงาน ต้องการตัวพลังงาน พลังงานคือตัวใจ พอตัวใจตัวนี้เข้าไปทำงานในวิปัสสนา ถ้าจะวิปัสสนาก็ที่มันฟุ้งขึ้นมานี่ ต้องฟุ้ง ฟุ้งแล้วพิจารณาความฟุ้งนั้น ฟุ้งนั้นเกิดจากอะไร? เกิดจากขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ เกิดจากสัญญา สัญญาอยู่ที่ไหน มันต้องแยกตรงนี้อีกทีหนึ่ง
ถ้าแยกตรงนี้ออก ไม่ค้าน แต่ถ้าไม่แยกตรงนี้ออก ค้าน!
แม่ชี :ค้าน คืออะไร?
หลวงพ่อ : ค้านหมายถึงว่ามันยังไม่ถึงที่สุดไง แต่ถ้าไปแยกตรงนี้แล้วชัวร์
สติปัฏฐาน ๔ กายก็ได้ จิตก็ได้ แต่ถ้าพูดถึงทำไปแล้วนะ พอพิจารณาจิตแล้วมันแยกนะ อารมณ์จะไปเกิดเหมือนกับตอนพิจารณากายแล้วมันปล่อยวาง
จะเดินมาทางไหนก็แล้วแต่ ถ้าเข้ากรุงเทพ กรุงเทพคือกรุงเทพ ทุกสายมาต้องเข้ากรุงเทพเหมือนกัน อันนี้ก็เหมือนกันสายไหนมาก็เหมือนกัน เข้ากรุงเทพเหมือนกัน ต้องไปเป็นสมุจเฉทขาดเหมือนกัน
โยม : ท่านพระอาจารย์คะ ตะกี้ได้ฟังมาในรถ คุณแม่ได้เล่าให้ฟังอย่างหนึ่งว่า พอมาอยู่กับท่านพระอาจารย์___ แล้วท่านพระอาจารย์___ให้มองจิต ให้ดูจิตอย่างเดียวไม่ต้องไปทำอย่างอื่น กายไม่ต้องพิจารณา ถ้าเราคุมจิตอยู่ปั๊บนี่มันจะเป็นไปเอง
ตรงนี้คุณแม่ก็เลยไม่ได้งาน
หลวงพ่อ : ตรงนี้คือหัวใจนะ...!
โยม : ค่ะ เท่ากับคุณแม่กดตรงนี้ไว้เลยไงคะ ท่านอาจารย์
หลวงพ่อ : กดไม่ได้นะ เอ้าว่าไป..
แม่ชี :ก็สมัยแรกตอนที่ไปใหม่ๆ นี่ก็แบบกดค่ะ คือจ้องนะคะ แต่ตอนนี้ปล่อยตามธรรมชาติ คือคอยดูว่าเขาจะคิดอะไร เราก็ดับไป คิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป
หลวงพ่อ : มันอยู่ตรงนี้ มันไม่ได้อยู่ตรงนั้นหรอก
มันอยู่ตรงความเห็น ที่ทิฏฐินี่ สัมมาทิฏฐิ - มิจฉาทิฏฐิ
ถ้ามีสัมมาทิฏฐิแล้วมันจะถูกต้อง ตรงนี้สำคัญนะ ถ้าอย่างที่โยมพูด อย่างที่มันฟุ้งขึ้นมาพิจารณาแล้วจะหลุดไปๆ
ความเห็นจากภายใน ถ้าเห็นว่าอันนี้มันเป็นงานแล้ว มันก็จะอยู่แค่ตรงนั้น ใจนี่แปลกนะ ถ้าคิดว่าตรงนี้เป็นประโยชน์แล้วมันจะไม่ก้าวเดิน แต่ถ้าคิดว่าอันนี้เป็นความผิดแล้วมันก็จะก้าวเดินต่อไป
ดูจิตนี่อันหนึ่ง พิจารณาแล้วปล่อยวางนี่อีกอันหนึ่ง แต่! แต่โยมยังจับตัวจิตไม่ได้ โยมจับตัวจิตได้ไหม?
แม่ชี :เอ่อ.. คือจิตนี้ก็คือความคิดใช่ไหมเจ้าคะ?
หลวงพ่อ : จิตคือนามธรรมเนาะ เออ..ใช่ ถูกต้อง (หัวเราะ)
แม่ชี :จิตคือความคิดนะคะ ทีนี้ต้องมีสติ ถึงจะทันกับ
หลวงพ่อ : เอ้า..ทัน ใช่ๆ (หัวเราะ)
แม่ชี :ใช่ไหมคะ ต้องมีสติก่อน ทีนี้ตอนหลังมาสังเกตว่า สติเราอยู่ที่ไหน อ๋อจิตมันก็จะไปอยู่ที่นั่น มันไม่ได้อยู่ที่ตัวนี้หรอกนะ มันไม่ได้อยู่ตรงนี้หรอกนะ มันอยู่ทั่วไป สังเกตว่าถ้าสติเราอยู่ที่ไหน จิตก็จะไปตามรู้อยู่ที่นั่น แล้วก็คล้ายๆ พอมองอะไรก็ธรรมะก็คือธรรมชาติ มองให้เห็นไปตามธรรมชาติ
หลวงพ่อ : นี่ไง... นี่ตรงนี้มันจะเข้าไปหาผลแล้ว แล้วเราไปคิดว่าอันนี้เป็นผลแล้ว
ถ้าบอกว่าทุกอย่างเป็นธรรมชาติ ธรรมะเป็นธรรมชาติ เรารู้ตามธรรมชาติรู้ตามความจริง ก็คือ รู้เท่าธรรมะ
หวาย!!
โยม : งานยังไม่ได้ทำ
แม่ชี :ใช้ได้ไหมคะ?
หลวงพ่อ : เดี๋ยว.. เอ้าว่าไป
โยม : เดี๋ยวขอขัดนิดนะคะ ตะกี้ที่คุณแม่พูดมา เดี๋ยวขอจับประเด็นถวายท่านอาจารย์นิดนึงว่า คุณแม่ปฏิบัติจิตในลักษณะนี้แล้วท่านอาจารย์___บอกว่า อันนี้มันเหมือนกับว่าเป็นทางลัด การดูจิตนี่นะคะเป็นทางลัด พอเราได้ธรรมจากครูบาอาจารย์ว่าอันนี้คือทางลัด อย่างที่ดิฉันเคยกราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ท่านอาจารย์เรามีทางลัดที่จะก้าวไปสู่การบรรลุธรรมไหม ตรงนี้ละค่ะ พอดีคุณแม่พูดถึงตรงนี้ว่าเป็นทางลัด ที่ท่านอาจารย์___พูดว่า ถ้าเราดูจิตอย่างเดียว เราดูมัน มันจะไปไหนเราดูมัน แต่เราไม่ปรุงมัน นี่คือทางลัด
หลวงพ่อ : เราไม่อยากจะพูดถึงท่านอาจารย์___ เราอยากจะวางท่านไว้องค์หนึ่ง วางไว้ต่างหาก เพราะว่านี่เรากำลังพูดเรื่องธรรมะ เราคุยกันด้วยเหตุผลนะ เราไม่คุยถึงเรื่องตัวบุคคลเนาะ ตัวบุคคลทุกคนดีหมดนะ
เราเคยไปคุยกับเขาทีหนึ่ง เราก็จับประเด็นตรงนี้ได้ ตรงที่ว่าเขาบอกว่า หลวงปู่ดูลย์สั่งไว้ว่า ให้ดูจิต ให้รู้จิต
ถ้ารู้จิตจากการดูจิตแบบนี้ ถ้าพูดถึงจิตรู้ในตัวมันเองนี่ส่งออก จิตส่งออกเป็นสมุทัย ถ้าจิตเข้ามาถึงเป็นมรรค
เราจะบอกว่าหลวงปู่น่ะพูดถูก แต่พวกเราตีความหมายผิด..!
คำว่า ดู เราก็ตีว่าดู แต่คำว่าดูของหลวงปู่นี่คือ ท่านให้ค้นคว้า พิจารณา มันตรงนี้!
เราถึงบอกว่ามันอยู่ที่การตีความ การดูแล้วค้นคว้านี่อย่างหนึ่งนะ กับการดูเฉยๆ นี่อีกอย่างหนึ่ง
แม่ชี :คืออันนี้นี่มันจะต้องรู้อยู่ มีสติรู้อยู่ตลอดนะเจ้าคะ
หลวงพ่อ : ถูกต้อง.. รู้
แม่ชี :ต้องพยายาม สตินี่สำคัญมากนะคะ ถ้าตราบใดที่เผลอสตินี่ ก็เท่ากับอะไรนะ....
หลวงพ่อ : ธรรมะนี่นะ ถ้าพูดถึง ธรรมะคือธรรมชาติ รถนี่ก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่งเพราะเขาสร้างขึ้นมา รถก็พาเรามา ถ้าเราไม่ลงจากรถมานี่ เราจะมานั่งที่นี่ไม่ได้ เราต้องติดอยู่ในรถ
ธรรมะทุกอย่างเป็นธรรมชาติทั้งหมดเลย แต่จิตนี้รู้ภาวะธรรมชาติ แล้วทิ้งธรรมชาติไว้ตามความเป็นจริง จิตนี้เหนือธรรมชาติ ถึงได้ปล่อยธรรมชาติให้กลับไปเป็นธรรมชาติ
ถ้าจิตนี้เป็นธรรมชาติ จิตนี้ก็อยู่ในวัฏวน เพราะวัฏฏะนี้เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง
แม่ชี :ต้องทิ้งธรรมชาติอีกที?
หลวงพ่อ : ถูกต้อง!!
แม่ชี :ทำจิตเป็นกลางวางทั้งหมด?
หลวงพ่อ : ถูกต้อง ทีนี้มันวางยังไง? วางอะไร? อะไรเป็นเหตุให้วาง?
ถ้างั้นมันวางไม่ได้ มันเป็นความคาดหมายว่าเราวาง แล้วมันก็มีความสุขใจมีความพอใจว่าเราวาง แล้วเราก็มีความพอใจแล้วก็มีความสุข เห็นไหม อีกชั้นหนึ่ง
ถ้าพิจารณาจิตนะมันมีตรงนี้ จิตนี้มันแปลกประหลาดมหัศจรรย์มาก ทุกคนก็ยอมรับมันว่าจิตนี้มันลึกลับมาก แต่ความลึกลับของเขานี่มันต้องค้นคว้าอีกทีหนึ่ง
บังเอิญเราก็พิจารณาจิตนะ เรานี่พิจารณาจิตมาตลอดเลย แล้วเราค้นคว้ามันมา แล้วเราแยกมันเป็นชั้น.. ชั้น.. ชั้นเลย
ทีนี้เวลาเราไปคุยกับเขา แล้วเขาไม่ได้คุยตรงนี้ แล้วเขาพูดอยู่คำหนึ่งเห็นไหม ไอ้คำนี้มันบอกถึงสภาวะของหัวใจไง เขาบอกว่า แต่เดิมความคิดเข้ามานี่ เขาต้องพิจารณาก่อนแล้วมันจะปล่อยวาง แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องเลย ความคิดเข้ามานี่มันจะชนกับฐานของเขา แล้วเด้งออกไปเลย
แม่ชี :คือที่ทำแล้วมันมีความรู้สึกว่า มันเห็นอะไรก็สักแต่ว่าเห็นไปอย่างนั้นนะคะ มันไม่เข้ามาปรุงจิตเหมือนเมื่อก่อน คือก็รู้อยู่ มีสติรู้อยู่ทุกอย่างอะไรมันเป็นไง มันเหมือนตะเกียงที่แบบมีโป๊ะ มันไม่เข้ามาถึงจิต มันไม่กระทบจิต
หลวงพ่อ : ถ้ามันไม่กระทบจิตนะ นี่พูดถึงนะ โยมก็คิดว่ามันเป็นความดีเพราะมันสบายใจ ถูกต้อง อันนี้เป็นผู้ปฏิบัติที่เริ่มต้นหาความสุข แต่กิเลสมันอยู่ที่ใจ ถ้าไม่ได้ปลดเปลื้อง ไม่ได้ถอนศรออกจากหัวใจแล้วกิเลสจะหลุดไปได้อย่างไร..!
แม่ชี :วิธีที่จะถอนศรนี่จะทำอย่างไรเจ้าคะ?
หลวงพ่อ : นี่ไง ไอ้ที่จะถอนศรออกจากจิต
มันสบายใจนี่ถูกต้อง มันสบายใจ มันสงบเข้ามา.. สงบเข้ามา.. เราถึงบอกว่าให้มันปรุงขึ้นมาไง มันปรุงขึ้นมาแล้วต้องจับอาการที่มันปรุงให้ได้ อาการที่มันปรุง นี่สังเกตตรงนี้นะ สังเกตตรงที่ว่ามันจะปรุงขึ้นมาแล้วพยายามดูว่า อะไรมันเกิดก่อน แขกมันจรมา ขันธ์ ๕ มันจะขยับตัวนี่แขกมันต้องจรมา อารมณ์มันถึงเกิด อารมณ์นี่เหมือนแขกจรมาเลย แล้วเดี๋ยวมันก็เกิด เดี๋ยวมันก็ดับ มันจรมาตลอด แล้วมันจรมานี่ใครเชิญมันมา ใครเชิญมัน มันถึงมีอารมณ์
แม่ชี :ก็กิเลสหรือเปล่าคะ?
หลวงพ่อ : ขันธ์ ๕! ขันธ์ ๕ นี้มันต้องขยับตัวเห็นไหม
ขันธ์ ๕ นี้มันทำงานแล้วนะอารมณ์มันถึงเกิด
ขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันพร้อมกันเลย มันถึงเกิดเป็นอารมณ์
ถ้าเราพยายามจับตรงนี้ให้ได้ มันถึงว่ามหัศจรรย์ไง แต่ก่อนเขาถึงว่า ถ้าเวลาคนเราตายไปแล้วนี่คือขันธ์ ๔ เราพิจารณาจิตมา ในใจมันก็ค้านอยู่ เพราะตามประสบการณ์ของเรา เราคิดว่าขันธ์ ๕ ความรู้สึกนี้เป็นรูปอันหนึ่ง ความรู้สึกนี่ อารมณ์เป็นรูปอันหนึ่งไหม?
แม่ชี :ไม่ทันเจ้าค่ะ ที่คิดว่าเป็นรูปหรือเป็นอะไร
หลวงพ่อ : นั่น!! ถ้าจับไม่ได้ตรงนี้ก็ยังพูดไม่ได้ ถ้าจับได้จะพูดได้
ทำไมพระสารีบุตรยืนถวายการพัดพระพุทธเจ้าอยู่ข้างหลัง แล้วหลานมาต่อว่าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกเลยว่า ถ้าเธอไม่พอใจต่างๆ เธอก็ต้องไม่พอใจ อาการที่เธอไม่พอใจนั้นด้วย
แม่ชี :เจ้าค่ะ
หลวงพ่อ : อันนั้นคือรูปของจิต! อันนั้นคืออารมณ์กระทบเลยล่ะ พระสารีบุตรพัดอยู่นั่นน่ะ สว่างปั๊บเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาจากตรงนี้เลย ถ้าเธอไม่พอใจสิ่งต่างๆ ทั้งหลายนี่ เราไม่พอใจคนโน้น ไม่พอใจคนนี้ แล้วเอ็งทำไมไม่พอใจความรู้สึกของเอ็งล่ะ
แม่ชี :ต้องไม่พอใจตัวเองด้วย?
หลวงพ่อ : ไม่ใช่!
ไม่พอใจความรู้สึกด้วย เพราะความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้นมันก็เป็นวัตถุสิ่งหนึ่ง
เราไปเจอพระองค์หนึ่งนะ พระองค์หนึ่งมาถามมาพูดกับเรา พระมันเยอะเขาก็คุยกัน ทีนี้เขาจะเข้ามาถามปัญหาแต่เขาก็ยังไม่กล้า เขาก็บอกว่า ความรู้สึกของเขานี่เหมือนก้อนกรวดก้อนหินเลย
เราคิดเลยว่าพระองค์นี้ภาวนาเป็น ตกเย็นเขาก็ห่มผ้าเข้ามาหาเราเลย เอ้า..ว่ามา เขาพูดอธิบายเลยว่า พอเขาป่วย เขาจับอาการป่วยนั้นว่าเป็นขันธ์ แล้วมันแยกไง มันแยกขันธ์ ๕ เป็นขันธ์ ๕ จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ เขาได้โสดาบัน!
แม่ชี :อันนี้ขั้นสูงแล้วนะคะ
หลวงพ่อ : เพราะว่าเขาจับได้ไง เพราะเขาจับได้เขาถึงแยกได้
มันเหมือนกันเลย เหมือนกับการพิจารณากายนั่นล่ะ เวลาเราพิจารณากายเห็นไหม เกศากลับคืนสู่สภาวะเดิม อันนั้นมันเป็นด้วยพลังงานของใจ ถ้าใจมีพลังงานมันจะพิจารณาได้อย่างนั้น แต่ถ้าสมาธิไม่พอมันจะพิจารณาไม่ได้ มันจะตั้งรูปขึ้นมาไม่ได้ ต้องสมาธิพอ
อันนี้ก็เหมือนกันเลย เพียงแต่ว่า กาย เวทนา จิต ธรรม, สมถกรรมฐาน-วิปัสสนากรรมฐาน เหมือนกันเพียงแต่ต้องจับหลักให้ได้ แต่ไม่ใช่ดูเฉยๆ
เราอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะมา อยู่กับพระอาจารย์มหาบัวมา ท่านพูดเรื่องนี้ให้ฟังเยอะ แล้วพระก็มาถามปัญหานี้เยอะ เราจับประเด็นพวกนี้ไว้เยอะ แล้วพอเราออกมาเราก็มาเจอของเราเอง แต่เราก็อธิบายให้เขาฟังไม่เข้าใจ เขาฟังเราแล้วเขาไม่เข้าใจนะ
แม่ชี :ถ้าคนยังไม่ถึงก็อาจจะไม่เข้าใจ
หลวงพ่อ : ไม่เข้าใจ เวลาสงบนี่เห็นด้วย ความสงบนี้มันอยู่ในวงของสมถะทั้งหมด อันนี้เป็นปัญญาอบรมสมาธิของหลวงปู่บ้านตาด การดูจิตนี้ก็คือปัญญาอบรมสมาธิ สุดท้ายแล้วมันก็เป็นสมาธิเท่านั้น
แม่ชี :หลักใหญ่คือจะต้องมีสมาธิด้วย
หลวงพ่อ : ถูกต้อง ตรงนี้เราถึงไม่ค้านไง เราไม่ค้านตรงนี้เลย
แม่ชี :ถ้าไม่มีสมาธินี่จะไม่มีกำลัง
หลวงพ่อ : ต้องใช้กำลัง แล้วจะต้องยกขึ้นวิปัสสนา ตรงนี้เป็นหัวใจ ถ้ายกขึ้นวิปัสสนาไม่ได้ งานไม่เดิน ถ้ายกขึ้นวิปัสสนาได้ นั่นถึงจะเป็นงาน
แม่ชี :ยกขึ้น คือหมายถึงว่าให้พิจารณา?
หลวงพ่อ : ถูกต้อง ยกขึ้นหมายถึงจับเหตุได้ จะพิจารณามันก็ต้องมีเหตุให้พิจารณา ถ้าจับเหตุไม่ได้ ก็ไม่มีที่ให้พิจารณา
แม่ชี :เช่น เอ๊ะ ทำไมเราถึงได้เป็นอย่างนี้? เอ๊ะ ทำไมเรารู้สึกแบบนี้? อะไรต่ออะไร ต้องคอยหาเหตุผลจากอันนี้
หลวงพ่อ : ถูกต้องๆ แล้วพยายามดู
แม่ชี :แล้วถึงมันจะทุกข์ก็ให้ทน ทนดูอยู่ใช่ไหมเจ้าคะ?
หลวงพ่อ : นี่ไงมันติดสุข คำว่าถึงจะทุกข์นี่ แหม..
แม่ชี :มันพิจารณาไปแล้วบางทีมันทุกข์ไงคะ แล้วก็ต้องทนดูทุกข์ก่อนนะคะ แล้วก็พิจารณา
หลวงพ่อ : ไม่เหมือนเรา พิจารณานี่เป็นงานสนุกนะ โอ.. มันแยกแยะมันสนุกนะ โอ้โฮ มันพั้บๆๆๆ อันนั้นเป็นนั้น อันนี้เป็นนี้ จนบางทีมันแบบว่าพิจารณาไปไม่ไหว สมาธิเราไม่พอนี่มันเป็นโลก มันเป็นโลกหมายถึงว่าพิจารณาแล้วมันไม่ไป มันวนเวียนอยู่ในวังวนนั่นน่ะ ทิ้งมันเลย แล้วกลับมาที่คำบริกรรม กลับมาดูจิตเฉยๆ ถ้าพิจารณาได้ก็กลับไปพิจารณาซ้ำ ทำอยู่อย่างนี้
เพราะอะไร เพราะเริ่มต้นเราหลงมาก่อน หลงมาหลายปี ไปทางโน้นก็ผิดไปทางนี้ก็ผิด ผิดไปหมดเลย แล้วพอมาจับตรงนี้ได้ เพราะมันจับตรงนี้ได้นี่หลวงปู่มั่นมาบอกเลย เออ.. ทางเอ็ง ทางเอ็ง พอหลวงปู่มั่นบอกปั๊บนี่ โทษนะ อะไรก็ไม่เกี่ยว โลกนี้กูไม่สนเลย ตรงนี้ที่เดียว ซัดอยู่ตรงนี้ ไม่กี่เดือนนะ จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ แยก! ขันธ์ ๕ แยกออกไปเห็นๆ เลย ขันธ์ ๕ ไปกองอยู่ตรงนี้ ทุกข์ไปกองอยู่ตรงนี้ จิตมันแยกออกมาเป็นอิสรภาพ พั้บ!
แม่ชี :แต่มันเป็นความรู้สึกใช่ไหมคะ?
หลวงพ่อ : เห็นๆ ทั้งรู้ทั้งเห็น เห็นอย่างนั้นเลย
แม่ชี :ขันธ์ ๕ มันก็คือเวลาเราพิจารณานึกถึงขันธ์คือร่างกาย แล้วเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ก็พิจารณาว่า เรื่องของขันธ์นะที่เจ็บป่วยอะไรนี่ แต่จิตเราจะไม่ป่วยตาม
หลวงพ่อ : นักหลบ!
แม่ชี :อันนั้นหลบเหรอคะ ที่เวลาป่วยก็พิจารณาว่า เออ.. ตามเรื่องเขา เรื่องของขันธ์ จะเป็นอะไรก็ช่างเขา
หลวงพ่อ : นี่มันหลบเห็นไหม หาเหตุผลเพื่อหลบ เราไม่ได้หาเหตุผลเพื่อสู้ ถ้าจะหาเหตุผลเพื่อสู้ อะไรเจ็บ อะไรป่วย ความเจ็บมาจากไหน แยกเข้าไปเลย ถ้าอย่างนี้คือนักรบ! แต่อันนี้มันเป็นนักหลบ มันพิจารณาเข้าไปแล้วถอย
แม่ชี :เหรอคะ ยังไม่เข้าใจ เวลาเราเจ็บ เราปวด เราไม่สบาย ก็เลยพิจารณาว่า เรื่องของเธอเรื่องของกาย อะไรอย่างนี้ ไม่ถูกต้องหรือคะ แล้วจะต้องพิจารณาอย่างไรดีคะ?
หลวงพ่อ : เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย
แม่ชี :ค่ะ มันปวด
หลวงพ่อ : เวลามันปกติทำไมมันไม่มี แล้วเวลามันป่วยนี่มันมาจากไหน ถ้ามันป่วยนี่ร่างกายนี้ยกให้หมอ แต่ความวิตกกังวลของใจนี้ต้องเป็นหน้าที่ของเรา หน้าที่ของเราคือควบคุมใจของเรา ใจของเราไปเกาะเกี่ยวกับสิ่งนี้ได้ยังไง สิ่งนี้เป็นธรรมชาติ ได้มาโดยธรรมชาติของกรรม กรรมที่เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วได้สมบัติอันนี้มา แล้วเราก็เอามาพิจารณา เอามาสร้างคุณประโยชน์ เพื่อปฏิบัติธรรมอยู่นี้ เพราะต้องการรู้สิ่งนี้ไง รู้สิ่งนี้ว่าอะไรมันป่วย อะไรมันเจ็บ อะไรมันไข้ นี่มันจะเป็นธรรมะโอสถด้วย
ถ้าพิจารณาเข้าไป ซ้ำเข้าไป แยกเข้าไป แล้วมันปล่อยวางโดยธรรมชาติของมัน จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ บางทีหมอจะไม่เกี่ยว หมอนี้ไม่ต้องมายุ่งเลย แต่ถ้าพูดถึงกำลังไม่พอ เอ้า..อันนี้ยกให้หมอ เราถึงได้พูดก่อนว่าร่างกายนี้ยกให้หมอ แล้วถ้าเรื่องหัวใจต้องเป็นหน้าที่ของเรา ถ้าหน้าที่ของเรา ก็ต้องพิจารณาซ้ำ พิจารณาเข้าไปเลย พิจารณาซ้ำเลย แยกให้ออกให้ได้ ไอ้ปวดนี้คืออะไร ปวดนี้ก็คือเวทนา เวทนานี้ใครรับรู้มัน วิญญาณรับรู้มัน แล้วรับรู้แล้วเพื่ออะไร สังขารก็ปรุงต่อ สังขารปรุงก็ยึด เวทนาก็เลยเจ็บอยู่นี่ นี่คือการพิจารณา
แม่ชี :มันยึดอยู่ เลยยังทำให้ต้องเจ็บอยู่
หลวงพ่อ : ต้องเจ็บอยู่ แล้วถ้าพิจารณาปั๊บ มันจะตัดหมด เวทนาเป็นสักแต่ว่าเวทนา ใหม่ๆ นะ แต่ถ้าทันเวทนา เวทนาจะดับ
ถ้าสักแต่ว่านี่คือมันชาๆ มันรู้สึก มันไม่เจ็บไม่ปวดแต่มันรู้สึกอยู่ นี่คือเวทนาสักแต่ว่า มันยันกันอยู่นะเวลาถ้าปัญญามันเสมอกัน แต่ถ้าปัญญาถึงที่สุดแล้วมันตัดชั้บ ดับหมด! ดับหมดเหลือแต่ผู้รู้เฉยๆ
แม่ชี :ตอนนั้นจิตท่านต้องเป็นสมาธิอย่างใหญ่นะคะ
หลวงพ่อ : สมาธิอย่างนี้เป็นสมาธิกับปัญญาเฉยๆ สมาธิปัญญานี้เป็นโสดาบัน สกิทาคามีนี้ก็เป็นสมาธิปัญญา จนอนาคามีนั่นถึงจะมหาสติ-มหาปัญญา
สมาธิขั้นมหานี่มันจะเกิดตรงนี้ แล้วจะไปเกิดญาณหยั่งรู้อัตโนมัติเป็นอาสวักขยญาณ นั่นอีกชั้นหนึ่ง เข้าไปอีก มันจะเพิ่มขึ้นไปจากไอ้ที่ว่านี้
ที่เราเน้นตรงนี้ไม่ใช่อะไรนะ เพราะไม่อยากให้โยมไปเห็นว่ามันเป็นเรื่องภาระใหญ่โต พอพูดว่า แหม.. ต้องสมาธิใหญ่ มันเหมือนกับเป็นเรื่องภาระใหญ่โตที่เราแบกไม่ไหว
ไม่หรอก มันก็เกิดจากพลังงานอันนี้ มันพัฒนาได้ จิตตัวนี้พัฒนาขึ้นไปโดยธรรมชาติของมัน จากสมาธินี้เป็นมหาสมาธิ มันเป็นสติปัญญาขึ้นไปโดยชั้นตอน
อย่างในตำราบอกไง สมาธิปกตินี่โสดาบัน สมาธิปกติสมาธิธรรมดา แล้วขึ้นไปเป็นสมาธิ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้าถึงอรหัตตมรรคนี้ต้องสมาธิ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ต้องสมาธิครบบริบูรณ์ ต้องละเอียดอ่อนมาก อันนั้นถ้าจะว่ามันเป็นเรื่องสุดวิสัยก็พอได้ แต่ตอนนี้ไม่ใช่ ตอนนี้ถ้าไปคิดว่ามันเป็นเรื่องใหญ่โต กำลังใจมันก็ไม่เกิดแล้ว แต่ถ้ามองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาเล็กน้อย นิดหน่อย มันจะสู้ได้.. สบาย.. โธ่..ของแค่นี้
แม่ชี :เคยอ่านหนังสือของท่าน____น่ะค่ะ ลุง____เป็นพี่ชายของท่านนะคะ ตอนที่ท่านป่วยจะสิ้นแล้วลูกก็พาหมอมา ท่านก็บอกว่า มาทำไม
คือท่านพูดว่า ใจท่านสบายอยู่ ไม่เป็นอะไร มันว่างอยู่ รู้อยู่ ท่านใช้คำว่า ว่างอยู่ รู้อยู่ กายก็คล้ายๆ ว่าท่านจะใช้คำว่า ว่างอยู่ รู้อยู่ แล้วก็ไม่ต้องหาหมอ ไม่ต้องให้หมอมานะ
หลวงพ่อ : หมอไม่เกี่ยว
แม่ชี :ค่ะ ท่านบอกว่า จิตท่านมันว่างอยู่ รู้อยู่ อันนี้ท่านวางได้แล้วใช่ไหมคะ ถึงได้บอกว่า ไม่ต้องให้หมอมาไม่ต้องอะไร เพราะจิตท่านว่าง ไม่มีอะไร
หลวงพ่อ : การวางได้อย่างนั้นเราคิดว่าวางได้บางส่วน แต่ใจเรายังคิดว่ามันยังติดอยู่บางส่วน นี่พูดถึงความเห็นของเรานะ แต่หนังสือนั่นยกไว้นะ ของ____นั้นไม่เกี่ยว เราไม่พูดถึง แต่ในความรู้สึกของเรา เราว่ายังติดอยู่
เพราะถ้ามันว่าง มันจะว่างทันที ไม่ได้ว่างอยู่รู้อยู่ ไอ้รู้อยู่นี่ก็ต้องปล่อยหมด รู้ก็ไม่มี
รู้อยู่ไม่ได้นะ รู้อยู่คือตัวตนใช่ไหม ว่างหมด สักแต่ว่า ไม่เกี่ยว จิตนี้เป็นวิมุตติ ไม่เกี่ยว แต่ถ้าสักแต่ว่ารู้ ไอ้ตัวรู้นั้นมันยังไม่ได้ทำลาย นี่คือความเห็นของเรานะ
แต่ท่านต้องวางได้บ้างอย่างว่า ไม่งั้นท่านจะพูดอย่างนี้ไม่ได้หรอกว่า หมอไม่ต้องมานะ ไม่เกี่ยว เพราะถ้าเป็นคนเจ็บธรรมดาก็ต้องบอกว่า โอ้ย.. หมอเอ้ย.. หมออยู่ไหน
แม่ชี :ท่านก็บอกว่าไม่ต้องให้หมอมา บางทีท่านก็บอกว่า ก็เป็นอยู่แต่จิตคล้ายๆ กับจิตไม่สัมผัส
หลวงพ่อ : ถูกต้อง คนเรานะ พูดถึงผู้ปฏิบัตินี่พอมีหลักมีเกณฑ์จะเป็นอย่างนั้น คนมีหลักมีเกณฑ์นี้ มันจะเห็นโลกเป็นเรื่องไร้สาระ
แม่ชี : การปล่อยวางได้ มันจะค่อยเป็นค่อยไป หรือปุ๊บปั๊บตัดไปเลยคะ?
หลวงพ่อ : ต้องค่อยเป็นค่อยไป.. ค่อยเป็นค่อยไป.. จนถึงที่สุดแล้วมันต้องสรุป มันต้องพึ่บ!
เพราะพระพุทธเจ้าบอกว่า เวลากิเลสขาด ดั่งแขนขาด ในพระไตรปิฎกว่าไว้ชัดเจนมาก กิเลสขาดนี่ต้องดั่งแขนขาด กิเลสต้องขาดออกไป แล้วเราก็ยืนยันเพราะเราก็เห็นอย่างนั้น ต้องมีอะไรขาดออกไป
ตรงนี้เราถึงได้คัดค้านกับเขาไง เขาบอกว่า ดูใจเฉยๆ แล้วมันจะสงบไปเอง แล้วจะไม่มีอะไร มันจะเป็นไปโดยตามธรรมชาติของมัน อันนี้มันเหมือนกับเราเอากิเลสเราซุกไว้ ซ่อนไว้ แล้วเรากดของเราไว้เฉยๆ น่าเสียดายเวลานะ น่าเสียดายมากถ้าทำอย่างนี้ เราต้องคุ้ยออกมาให้ได้ ต้องทำลายให้ได้ นี่คือโอกาสของเรานะ โอกาสใครโอกาสมันนะ
แม่ชี :คือช่วงที่กลับมาอยู่ที่บ้านนี่นะคะ มันก็รู้สึกว่าจิตมันไม่สงบเท่าที่ควร เรื่องนั้นเข้ามา เรื่องนี้เข้ามา ก็ต้องสู้กันหนักหน่อย ก็ต้องพิจารณา ต้องอะไรกันในช่วงนี้นะคะ
หลวงพ่อ : เราจะพูดเลยตรงนี้นะเห็นไหม เพราะเห็นผลของมัน เพราะพอมันไปกระทบแล้วถ้ากิเลสไม่ขาด มันจะเป็นอย่างนี้
แม่ชี :ทีนี้รู้สึกมันจะต้องสู้กันใหม่
หลวงพ่อ : ต้องตั้งสติ ต้องตั้งสติ ต้องจ้อง ต้องดู ต้องเพ่ง
แม่ชี :ค่ะ ทีนี้รู้สึกต้องอาศัยจิตสงบทำสมาธิอยู่ รู้ คือมีสติอยู่ค่ะ สรุปแล้วก็คือจะต้องพยายามมีสติอยู่ตลอด ใช่ไหมคะ?
หลวงพ่อ : ก็นี่ไง อันนี้แหละเราถึงบอกว่า อันนี้เป็นเวลาก้าวเดิน เวลาเราก้าวเดินมันต้องเป็นอย่างนี้
แม่ชี :ก็คือต้องมีสติอยู่ตลอด เพราะว่าพออะไรกระทบมันก็เบาหน่อย แล้วพิจารณาวางไปได้
หลวงพ่อ : ถูกต้อง ต้องพิจารณา นั่นพิจารณาอย่างนั้นน่ะ พิจารณาซ้ำเข้าไป.. ซ้ำเข้าไป.. มันอย่างที่ว่า กายนอก กายใน เวลาพิจารณากายนอกก็เป็นกายนอก เวลาพิจารณาไปแล้วมันจะปล่อยเข้ามา..ปล่อยเข้ามา..ปล่อยเข้ามา.. แล้วถ้าเราไม่ทิ้งนะ มันจะเข้าถึงกายใน
นี่ก็เหมือนกัน พิจารณาอารมณ์นี้ พิจารณารูป เสียง กลิ่น รส พิจารณาการกระทบนี้ แต่ต้องพิจารณา คำว่า พิจารณา ก็คือต้องพิจารณา พิจารณาเข้าไปเรื่อยๆ แล้วมันจะเข้าไปเรื่อย เดี๋ยวจะจับตัวได้ มันจับต้องได้จริงๆนะ ใจนี้ ขันธ์นี้ มันจับต้องได้เลย มันเป็นกอง กองรูป กองเวทนา กองสัญญา กองสังขาร กองวิญญาณ มันเป็นกอง มันเป็นรูป มันเป็นแท่ง มันเป็นอันเลย แล้วมันรวมตัวกัน แล้วเราใช้ปัญญาเข้าไปจับต้องได้ จนแยกแยะได้ มันจะแยกออกไปอย่างนี้ พอเห็นความที่แยกออกไปปั๊บอารมณ์จะดับ พั้บ! เพราะอารมณ์อาศัยสิ่งนี้เป็นเครื่องดำเนิน ขันธ์ ๕ นี้รวมตัว อารมณ์ถึงเกิด ถ้าเวลาขันธ์ ๕ มันขาด อารมณ์จะเกิดได้ยังไง มันก็ต้องดับโดยธรรมชาติของมัน เหมือนกับเชื้อไฟ ถ้าเชื้อไม่มีไฟมันก็ต้องดับโดยธรรมชาติของมัน แต่ที่มันติดได้เพราะมีเชื้อ นี่ก็เหมือนกัน อารมณ์เกิดได้เพราะขันธ์ ๕ มันรวมตัว ถ้าปัญญามันแยกออก อารมณ์ก็ไม่มี อารมณ์ก็เกิดขึ้นไม่ได้
แม่ชี :แล้วจะดีหรือเปล่าคะ?
หลวงพ่อ : นี่ไง นี่คือวิธีแยก นี่ไงวิปัสสนา
แม่ชี :ไม่มีอารมณ์ หมายถึง ไม่มีความคิดอะไรที่มันเข้ามาอย่างนั้นหรือคะ?
หลวงพ่อ : ใช่!
แม่ชี :ความคิดอะไรที่จะเข้ามาทำให้ใจเราแกว่งอะไรอย่างนี้ใช่ไหมคะ?
หลวงพ่อ : ใช่ แต่สักว่ารู้ รู้สึกตัวนี้ รู้อยู่
แม่ชี :มันรู้อยู่ทุกอย่าง แต่จิตไม่ต้องปรุง ไม่อะไร ไม่เกี่ยว
หลวงพ่อ : ไม่ออก จิตไม่เสวยอารมณ์ จิตไม่เสวยขันธ์ ขันธ์กับจิตแยกกันชั่วคราว
แม่ชี :แต่รู้หมด ใครจะเป็นอะไรยังไงนี่จะรู้หมดใช่ไหมคะ แต่จิตไม่รับ
หลวงพ่อ : ไม่รับ
แม่ชี :แต่ยังรู้อยู่นะคะ
หลวงพ่อ : รู้สิ เพราะมันมีตัวรู้
แม่ชี :รู้อยู่ ว่าอะไร..ว่าใคร.. แต่มันไม่ปรุงไม่รับ อย่างอะไรผ่านมา นั่งภาวนา เอ๊ะ.. เห็นอะไรๆ ผ่านมาก็เห็นอยู่ ก็รู้อยู่ ตัวไอ้นั่นบินมา
หลวงพ่อ : นั้นน่ะมันไม่เสวยอารมณ์ มันไม่เสวยขันธ์
แม่ชี :ค่ะ รู้อยู่ แต่จิตมันเฉยๆ มันไม่เกาะเกี่ยวอะไร แต่มีสติรู้อยู่
หลวงพ่อ : นั่นแหละต้องทำอย่างนั้นบ่อยๆ
แม่ชี :เหรอคะ?
หลวงพ่อ : ถูกต้อง
แม่ชี :ต้องมีสติรู้อยู่ คือพยายามรู้นะคะ มีสติรู้อยู่นี่ อะไรมันเข้ามาอะไร มันก็รู้อยู่ใช่ไหมคะ แล้วมันก็เลยตัด ดับออกไปเองโดยอัตโนมัติค่ะ มันรู้แต่มันตัดไปเอง มันรู้อยู่แต่คือจิตมันไม่เกาะเกี่ยวค่ะ
หลวงพ่อ : อาการของจิต มันตรงนี้
ส่วนใหญ่แล้วครูบาอาจารย์ถึงให้พิจารณากาย เพราะการพิจารณากายมันเหมือนยืนอยู่บนแผ่นดิน แต่การพิจารณาจิตนี้มันเหมือนกับเราพิจารณาบนยอดไม้ เพราะเป็นนามธรรม มันเหมือนอยู่ในอากาศ มันพลิกแพลงได้ง่าย
แต่เราจะพูดเลย เราคิดนะว่าอย่างพวกภาคกลางเรานี้มันเป็นพุทธจริต จริตด้วยปัญญา มันก็ต้องพิจารณาจิต ถ้าพิจารณากายมันต้องใช้ศรัทธาจริต มันต้องใช้ความเชื่อ กำหนดพุทโธเข้าไปให้ได้ แล้วเข้าไปดู
แม่ชี :คือตอนที่พิจารณาแยกอันนั้นได้ จิตลงถึงอัปปนาเจ้าค่ะ แล้วพอถอนมาแล้ว ก็วันนั้นไปกราบหลวงปู่คำดีเจ้าค่ะ แล้วหลวงปู่ก็เทศน์ให้ฟัง ฟังแล้วก็แหม..มีความรู้สึกว่า โอ๊ย..ซาบซึ้งมาก
หลวงปู่เทศน์เป็นชั่วโมงๆ ชั่วโมงกว่า แล้วหลวงปู่ไม่เคยเทศน์ให้ใครฟังขนาดนี้เลยนะคะ พอหลวงปู่หยุดทานน้ำ ในใจก็นึก หลวงปู่เจ้าขา..เทศน์ต่อ หลวงปู่ก็เทศน์ต่อให้อีก อู้ฮู..เทศน์เป็นชั่วโมงเลยค่ะ แล้วเดี๋ยวหลวงปู่ก็หยุดทานหมาก นึกในใจว่า แหม.. จิตกำลังดีนะคะ ก็นึกในใจกราบเรียนหลวงปู่ว่า หลวงปู่เทศน์ต่ออีกเจ้าค่ะ หลวงปู่ก็เทศน์ๆ
โอย.. จนเขาบอกกันว่า หลวงปู่ไม่เคยเทศน์ให้ใครฟังขนาดนี้เลย จนสุดท้ายหลวงปู่พูดถึงว่า จิตถึงอัปปนา จิตก็ลงถึงอัปปนาเลยนะคะ
หลวงพ่อ : อืม... มันต้องถอย
แม่ชี :เสร็จแล้ว รู้ทุกอย่าง จิตรู้ แต่ไม่สามารถจะขยับเขยื้อนกายได้ จิตรู้หมดว่ายังไง แต่ไม่มีแรงจะทำอะไรที่กายนี้เลย กายนี้เหมือนกับท่อนไม้ หรือเหมือนกับอะไร
หลวงพ่อ : สักแต่ว่า ใช่! เข้าใจ เราเคยเป็น
แม่ชี :ทีนี้จนหลวงปู่เลิกแล้ว ใครๆ เขาก็ลากลับกันหมดแล้ว โอ้โฮ เราออกไม่ได้
พอออกไม่ได้ก็เกรงใจ ก็ค่อยๆ ออก ยังรู้สึกสั่นอยู่ แล้วก็เลยไปกราบท่านอาจารย์ที่เป็นเจ้าอาวาส พระอาจารย์สีทนเจ้าค่ะ แล้วท่านก็บอกให้พิจารณากายสิ ขนาดทิ้งมาแล้วนี่นะคะ พอท่านบอกก็เลยนั่งพิจารณากาย มันก็ยังพรากอย่างนั้นเลยเจ้าค่ะ
หลวงพ่อ : ต้องพรากเห็นไหม
แม่ชี :พรากลงไปอย่างนั้นเลย
หลวงพ่อ : เราจับประเด็นได้ เพราะโยมใช้คำว่า มันทิ้งมาแล้ว คือโยมมีความเข้าใจว่า ทิ้งกายแล้วคือสิ้นงาน
เข้าใจอย่างนั้นไหม? ใหม่ๆ คิดอย่างนั้นไหม?
แม่ชี :ไม่เข้าใจ ไม่ได้คิดค่ะ รู้แต่ว่าจิตถึงอัปปนาแล้ว เอ๊ะ..ทำไมเราถึงได้กระดุกกระดิกกายก็ไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ได้ ไอ้ความรู้นี่มันรู้หมดทุกอย่าง
หลวงพ่อ : ฮึ! แต่เดิม พื้นฐานแต่เดิมตอนที่พิจารณากายแล้วมันไม่ต่อเนื่อง เพราะโยมคิดอย่างนั้น มันไม่ต่อเนื่องเพราะโยมคิดว่าพิจารณาแล้วมันจบใช่ไหม?
แม่ชี :ค่ะ
หลวงพ่อ : นั่นน่ะสิ ที่มันพลาด คือพลาดตรงนี้
แม่ชี :พิจารณาแล้วก็ไม่ได้พิจารณาอีก
หลวงพ่อ : นั่นแหละ เวลามันพรากแล้วก็ต้องซ้ำ เห็นไหมเวลามันลงอัปปนาแล้วมันก็ยังต้องเจอกายอีก นี่พิจารณากายนะ
แปลกนะคนนี่จะไม่เข้าใจ มันคิดว่าการพิจารณานี่เหมือนกินข้าว กินข้าวเสร็จแล้วเก็บสำรับแล้วก็เลิกกัน แต่เดี๋ยวเอ็งก็ต้องกินใหม่
แม่ชี :ใช่
หลวงพ่อ : นี่ก็เหมือนกัน พอพิจารณาแล้ว ทุกคนพอพิจารณาแล้วก็เลิกกัน
ไม่ได้นะ! ต้องซ้ำแล้วซ้ำเล่า พิจารณาซ้ำๆ อยู่นั่นนะ
แม่ชี :อันนี้นี่จริงเจ้าค่ะ ทีนี้พิจารณาได้แล้ว ๗ วันสบายใจแล้วก็เลยไม่ได้พิจารณาต่อเจ้าค่ะ
หลวงพ่อ : นี่มันพลาดตรงนี้
โยม : โอกาสทอง!
หลวงพ่อ : ซ้ำ! ต้องซ้ำ ไอ้ตรงซ้ำนี่สำคัญ
ก็อย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ เพราะเราหลงมาเต็มที่แล้ว พอหลวงปู่มั่นมาบอกในข้างในเลยนะ นี่ล่ะทางของเอ็ง
โอ้โฮ! ไม่ไปไหนเลย โลกนี้เหมือนไม่มี กูล่ออยู่ตรงเนี้ย ซัดอยู่ตรงนี้ไม่ไปไหนเลย โลกนี้เหมือนไม่มี เพราะเข็ด มันเข็ดมันหลาบมาเต็มที่ ซัดอยู่นั่น ซัดจนอย่างที่ว่า แยกหมด
นี่มันพลาดตรงนี้
แม่ชี :ค่ะ
หลวงพ่อ : นี่ก็เหมือนกันก็อย่าให้พลาดอีก ...จิตก็ได้ กายก็ได้... ไม่โต้แย้ง อะไรก็ได้เพราะอยู่ในสติปัฏฐาน
แม่ชี :อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้นะคะ
หลวงพ่อ : อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ แต่ต้องแยกเด็ดขาด ถ้าไม่แยกนะก็ซุกไว้ใต้พรม ถ้าไม่แยก จะไม่พิจารณาไม่ได้ ต้องพิจารณา ต้องแยกแยะ ต้องวิปัสสนา
จะวิปัสสนาก็ต้องจับได้...ต้องจับได้! อย่างที่เห็นกายนี่ วิปัสสนาทั่วไปก็คือวิปัสสนาทั่วไป แต่เวลาเห็นกายมันเป็นสภาวะภายใน เพราะอะไร เพราะกำลังพอแล้วไปจับได้ พอจับได้แล้วพอมันปล่อย เห็นไหม อันนี้ก็เหมือนกัน เหมือนกันเปี๊ยบเลย ถ้าให้ดูเฉยๆ จำไว้เลย ดูเฉยๆ นี่เหมือนกับเป็นคำบริกรรม นี่คือสัมมาสมาธิ ไม่ผิด ไม่ผิดหรอก
แม่ชี :แต่เป็นขั้นต้น
หลวงพ่อ : แต่อยู่ในขั้นของสมถะ
มันต้องวิปัสสนา กิเลสขาดเพราะวิปัสสนาญาณ เพราะปัญญาเท่านั้น กิเลสไม่เคยขาดเพราะสมาธิ สมาธิไม่สามารถชำระกิเลสได้ แต่ถ้าไม่มีสมาธิก็ชำระกิเลสไม่ได้เหมือนกัน
แม่ชี :ต้องประกอบกัน
หลวงพ่อ : ต้องประกอบกัน ต้องใช้ปัญญา ปัญญาอย่างเดียวที่สามารถชำระกิเลสได้ ปัญญาอย่างเดียวเลย แต่ก็ต้องมีสมาธิ
โยม : ตรงนี้แหละค่ะ ที่ตะกี้คุณแม่ได้เล่าให้ฟัง ถึงเสียดายมาก ถึงขอร้อง คือขอให้คุณแม่มาฟังเพราะรู้ว่าการปฏิบัติตรงนี้นี่มันยากมาก แล้วคุณแม่ได้ทั้ง ๒ อย่าง พิจารณากายก็ได้ จิตก็ได้
หลวงพ่อ : ถ้าผ่านนะ เขาเรียกว่า อุภโตภาควิมุต คือได้ทั้งจิตได้ทั้งกาย
ส่วนใหญ่แล้วนะ ตามนิสัยนะ อย่างเช่นอาจารย์เจี๊ยะนี่ท่านพิจารณากายตลอด ตั้งแต่ขั้น ๑-๒-๓ จนถึงที่สุด พิจารณากายอย่างเดียว แล้วบางองค์นะก็พิจารณาจิตอย่างเดียว
จะมีหลวงตาบ้านตาดที่ท่านพิจารณาเวทนาก่อน ขั้นแรกพิจารณาเวทนา นั่งตลอดรุ่ง แล้วขั้นที่ ๒ พิจารณากาย แล้วก็ไปพิจารณาอสุภะ แล้วท่านก็พิจารณาจุดกับต่อม คือพิจารณาจิต
ท่านถึงได้อธิบายธรรมได้แตกฉาน เห็นไหม องค์อื่นไม่มีหรอก เพราะพิจารณาแล้วมันจะเป็นแค่ซีกเดียว นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันผ่าน ๒ อย่างแล้วนี้มันจะเข้าใจหมดเลย แล้วถ้าใครติดมาตรงไหน เอ้า..มา มาสิ แต่ถ้าเราได้ข้างเดียวนะ เพราะเราเคยไปหาพระ ไปพูดเรื่องจิตให้เขาฟัง เขาฟังไม่รู้หรอก เราก็ว่า เอ.. อาจารย์องค์นี้แปลก แล้วพอเราบอกเรื่องการพิจารณากาย เอ้อ! ท่านไม่พูดอย่างนี้ตั้งแต่ทีแรกนี่หว่า คือท่านรู้เฉพาะกาย ท่านรู้จิตไม่ได้ การพิจารณาจิตนี้ท่านไม่รู้หรอก ถ้าบอกเรื่องพิจารณากายนะ แหม.. ผมพิจารณากายนะมันเป็นโครงกระดูกเลย แล้วมันละลายลงอย่างนี้ๆ นะ ท่านก็บอกว่า เอ้อ! เมื่อกี้ไม่พูดอย่างนี้นี่
โยม : ค่ะ เสียดาย
แม่ชี :เคยเป็นอย่างนี้นะคะ นั่งแล้วก็ต่อสู้กับเวทนาจนถึงที่สุด ตายเป็นตาย ก็ยอมตาย จิตก็ว่าง ๓ ทีเท่านั้นล่ะค่ะ หลุดออกจากร่างไปเลย โอ้โฮ! ปีติสุขมาก ว่างหมด โลกนี้ว่างไปหมดไม่มีอะไรเลย โอ้ย.. เราคนเดียว ลอย.. เหมือนกับลอยนะคะ นึกอยากจะเห็นอะไรก็ไปเห็น ไม่ได้เดิน ..ลอย.. แล้วว่างไปหมด ไม่มีอะไรเลยโลกนี้ แหม..แต่ปีติสุขอย่างอื้อฮือ.. ปีติสุขมากนะคะ ก็รู้สึกว่าก็ไปเที่ยวสักพักหนึ่งก็กลับมา ก็ค่อยๆ มามีความรู้สึกที่กาย ตอนนั้นกายนี่ก็ไม่รู้จักว่าอยู่ที่ไหน แต่ตอนที่หลุดออกไปนี่เหมือนเราทุกอย่าง ความรู้สึกก็เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ตัวก็เหมือนตัวนี้นะคะ
หลวงพ่อ : ถ้าฟังอย่างนี้แล้วนะ แสดงว่าโยมก็มีวาสนาเหมือนกัน แต่โยมใช้ไม่เป็น
ไอ้ตรงนี้ ถึงเวลามันคุมได้ ถ้าเราทำจิตเราสงบขึ้นมาได้ แล้วตรงนี้มันจะคุมได้ ไอ้ที่มันออกนี่เราเรียกว่า ส้มหล่น เห็นไหม เวลาสงบแล้วมันหลุดไปเอง แล้วมันก็ไปตามประสามัน นี่มันคือว่าอำนาจวาสนา แต่เราไม่สามารถคุมมันได้
ถ้าโยมพูดนี่ ถ้าโยมไม่พูดเราก็ไม่พูด เราเป็นอย่างนั้นมาตลอด เราทำได้ตลอด เราคุมได้
แม่ชี :ค่ะ แต่ทีนี้ ตอนนั้นกายนี่ก็จะไม่รู้จักว่าอยู่ที่ไหนด้วยนะคะ ตัวตนนี่จะไม่รู้นะคะ ไปรู้ตัวใหม่นี้นะคะ เหมือนเราทุกอย่างเลย
หลวงพ่อ : มันหลุดไปเลย
แม่ชี :ความรู้สึกก็เหมือนขณะนี้ที่เป็นเรานี่นะคะ ไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย ก็ถามครูบาอาจารย์ว่า ถ้าตายแล้วจะเป็นอย่างนี้ใช่ไหม ถ้ามันทุกข์ ตายไปมันก็ต้องไปทุกข์
หลวงพ่อ : ถูกต้อง
แม่ชี :แต่ถ้าจิตเราปฏิบัติธรรมแล้วตายตอนปีติในธรรมจะมีความสุขมาก รู้สึกบอกไม่ถูก ว่างไปหมด ไม่มีใคร ไม่มีอะไร ในโลกนี้ว่างไปหมดเลยเจ้าค่ะ
โยม : ท่านพระอาจารย์คะ ตอนที่ไปกราบท่านอาจารย์____นะคะ ท่านอาจารย์____ได้ชื่นชมแม่ชีว่า อนาคตท่านจะได้ ท่านว่าอาจจะสามารถเป็นน้ำหนึ่งได้ แล้วก็มีความรู้สึกว่า ท่านพูดถึงว่าแม่ชีเพียรมาก จนในหมู่มีความรู้สึกว่า น่าจะมาขออุบายธรรม ก็เลยติดต่อกันมา ก็โทรกันไปโทรกันมาก็เลยได้ที่อยู่ของแม่ชี ก็เลยมานั่งสนทนากับแม่ชี ตอนแรกก็เข้าใจว่าเป็นการดูจิต การพิจารณาจิต
ท่านพระอาจารย์____ท่านชื่นชมแม่ชีว่า จิตท่านไวมาก แล้วก็รู้สึกว่าท่านมีวาสนามากค่ะ หนูก็เลยว่าจะมากราบขออุบายธรรมจากท่านแล้วก็เลยกลับไป ทีนี้ระยะหลังนี้ได้มาถอดเทปธรรมของท่านพระอาจารย์
ย้อนกลับ มันเหมือนเราอยู่ปากถ้ำค่ะท่านพระอาจารย์ แต่ว่าโอกาสของแม่ชีท่านนี้มีโอกาสมากกว่าเรา วันนี้ก็เลยเชิญชวนคุณแม่มา แต่ว่าก็มีบอกกับท่านว่า เรา ๒ คนเป็นลูกศิษย์ท่านพระอาจารย์ เราลงใจท่านพระอาจารย์ แต่ว่าถ้าแม่ชีฟังแล้ว.....
หลวงพ่อ : ...แล้วแต่...
โยม : อันนี้แล้วแต่แม่ชีจะพิจารณาว่าอย่างไร
แม่ชี :อันนี้นะคะ ก็เป็นธรรมะที่ควรรับทราบไว้ แล้วก็ควรปฏิบัติทั้งนั้นนะคะ เพราะว่าอยู่ในสติปัฏฐาน ๔ พิจารณาทั้งจิต ทั้งกาย ใช่ไหมคะ ก็ใช้ได้
หลวงพ่อ : ใช้ได้ เราถึงบอกไง เราถึงบอกว่าพิจารณาสติปัฏฐาน ๔ ใช้ได้แต่....
เพราะเรานะเราเคยคุยกับท่านอาจารย์____แล้ว เรารู้อะไรเป็นอะไรหมด แต่เราพูดอะไรไม่ได้ใช่ไหม พระด้วยกัน เรารู้หมดนะ เรารู้อะไรๆ ไปคุยกับใครนี่รู้หมด
แม่ชี :คิดว่าต้องปฏิบัติ แล้วมันจะเป็นปัจจัตตัง
หลวงพ่อ : อันนี้มันตรงนี้สิ มันตรงนี้ที่ว่า อย่างที่เราพูด เราเน้นหมดแล้ว เราเน้นกับโยมหมดแล้วว่า ต้องวิปัสสนา ถ้าไม่วิปัสสนาแล้ว โยมจะไม่ได้อะไรเลย
แม่ชี :ต้องใช้ปัญญาพิจารณาแยกแยะใช่ไหมคะ ว่าอะไรที่มันเกิดขึ้น ที่ทุกข์มันเกิดขึ้น เกิดขึ้นเพราะอะไร ทำไมมันถึงได้เป็นอย่างนี้ อะไรต่ออะไรจะต้องแยกแยะ
หลวงพ่อ : ถูกต้อง นี่ไงนักรบ ที่เราว่าเห็นไหม นักรบถึงจะถูกต้อง ถ้าเราไม่มีตรงนี้ใช่ไหม เราก็พิจารณาอะไรก็ได้เพื่อจะหลบสิ่งนี้ เพื่อไม่ให้ทุกข์มันเกิด ถ้าไม่ให้ทุกข์มันเกิดมันก็ไม่เป็นอริยสัจ ทุกข์ควรกำหนด ถ้าเราหลบเราก็ไม่ได้กำหนดมัน ถ้าเรากำหนด ทุกข์เป็นอริยสัจ ละที่สมุทัย ทุกข์นี้ละไม่ได้แต่ต้องกำหนด ถ้าไม่กำหนดทุกข์จะละทุกข์ไม่ได้
แม่ชี :เจ้าค่ะ
หลวงพ่อ : พวกเราบ่นกันว่า ทุกข์.. ทุกข์.. แต่ไม่มีใครเคยเห็นทุกข์ ถ้าใครกำหนดทุกข์ได้ คือเห็นทุกข์ได้ จะดับทุกข์ได้
ทุกข์นี้ละไม่ได้ ทุกข์นี้เป็นอริยสัจ ทุกข์นี้เป็นความจริง ทุกข์นี้เกิดจากอะไร สิ่งที่ว่าเวลาทุกข์นี้เกิดจากอะไร อย่างนี้ปัญญามันจะเกิด นี่คือตัวมรรค แล้วถ้ามันเกิดนิโรธะ เห็นไหม ถ้าทุกข์มันดับ อริยสัจมันเกิด ถึงเกิดพึ้บทีเดียวไง แต่คนปฏิบัติมันจะเห็นนะ
แต่ถ้าอธิบายอริยสัจในตำรานะ นี่เกิดก่อน.. นี่เกิดก่อน.. อันนั้นไม่มีทาง แต่เวลาเกิดมันเกิดพั้บ! ปุ๊บ..ขาดเลย ถ้าอริยสัจเกิดจะเกิดอย่างนี้ เราถึงไม่ค้าน ไม่ค้านเพราะมันต้องมีสัมมาสมาธิ อย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ มันจะเกิดและมันจะตัดไปได้ด้วยปัญญา แต่ก็ต้องใช้สมาธิ
สิ่งนี้เป็นการทำสมาธิอย่างหนึ่ง ที่เขาทำกันอยู่นี่คือทำสมาธิ แต่เขาไม่รู้ตัวว่าเป็นสมาธิ แล้วจิตก็เป็นอย่างโยม
____เขาเป็นยิ่งกว่าโยมอีก ไอ้ที่ว่าหลุดออกไปนี่ เขาไปเห็นอะไรหมดนะ เห็นพระ เห็นทองคำ เห็นถ้ำ เห็นสมบัติโบราณ เรารู้จากพระที่เขามา ทีแรกเราไม่รู้ ตอนหลังเราไปรู้จักพระที่เขาเคยไปอยู่ด้วยกันนะที่ลพบุรี เขาบอกว่า เขาไปเห็นอย่างนั้นๆ นะ แล้วเขาสามารถไปขอพระทองคำออกมาจากพวกเทพพวกอะไรได้ ตรงนี้ไงเขาถึงคิดว่าเขาสิ้นแล้วไง
แล้วพอเรามาคุยดูแล้ว อ้าว..ตาย เราพูดกับเขาไว้เยอะ ใหม่ๆ ตอนเราไปนี่เขาเฉยๆ แต่ตอนที่ไปนี้เราพูดกับเขาไว้เพื่อต้องการให้เขาได้สติ ถ้าเขาได้สติแล้วเขาจะได้ประโยชน์ของเขาเอง ถ้าเขาไม่ได้สติ คิดว่างานจบแล้ว เขาไม่ต้องทำอะไรแล้ว ก็จะไม่ได้อะไร แต่ถ้าเขาคิดว่างานของเขายังไม่ได้เริ่มเลย เขาจะมาเริ่มงานใหม่ อันนั้นจะเป็นประโยชน์กับเขามาก
เราเตือนเขาไว้แล้วในตอนนั้นนะ แต่สภาวะของเราเนาะ มองไม่ขึ้นว่าเป็นอาจารย์ เราไปนี้มันกิ๊กก๊อกๆ ไปอย่างนั้นน่ะ แล้วไปคุยโฉงเฉงๆ เขาจะฟังหรือไม่ฟังก็ไม่รู้ แต่เราเตือนไว้หมดแล้ว กิริยาของเรามันไม่สมกับเป็นอาจารย์คน แต่ธรรมะนี้ใช้ได้ อันนี้มันเป็นจริตนิสัย ถ้าจะให้เราพูดเรียบร้อย มันพูดไม่ออก ธรรมะไม่ออก
แม่ชี :อันนี้ก็แล้วแต่จริต
หลวงพ่อ : ..ต้องให้อย่างนี้ ถ้าอย่างนี้ออก..
อันนี้เราถึงไม่ขัดไง ดูจิตนี่เราไม่ขัด
การดูจิตนี้ เราเคยคุยกับครูบาอาจารย์มาบางองค์นะ ท่านจะติมาก ตามความคิดของเรานะ เราเห็นว่าท่านติเพราะท่านจะเห็นโทษของมันว่า ถ้าดูจิตแล้ว โทษนะ.. มันขี้เกียจ มันจะไม่ทำงาน มันจะดูแล้วมันจะพอใจ แล้วมันจะนอนอยู่ตรงนั้น
อ๋อ.. ที่ครูบาอาจารย์ท่านติ คือติตรงนี้ แต่ท่านไม่ได้พูดออกมา
อาจารย์เจี๊ยะ ท่านเคยถามพระบ่อย ดูจิตแก้กิเลสได้ไหม?
ท่านถามพระเวลาพระมาถามท่านน่ะ ท่านจะเตือนพระไงว่า ดูจิตนี่แก้กิเลสไม่ได้
แต่สำหรับเรา หรือทางครูบาอาจารย์ที่ผ่านทางปัญญาจะบอกว่า ดูจิตนี้มันเป็นสมถะ ที่มันสร้างพลังงาน มันไม่ผิดหรอก เพียงแต่จะทำอย่างไรไม่ให้จิตมันขี้เกียจ คือก็ต้องให้จิตยกวิปัสสนาอีกชั้นหนึ่ง ตรงนี้! ตรงนี้สำคัญ
ถึงบอกว่า สมถะแล้ววิปัสสนาไง ที่เราเน้นใน ๒ ม้วนนั่น สมถะยกขึ้นวิปัสสนา ถ้าไม่ยกขึ้นวิปัสสนา มันไปไม่รอด
แม่ชี :พอเจออะไรทุกอย่างนะคะ ก็พิจารณา.. พิจารณา..
หลวงพ่อ : ถูกต้อง
แม่ชี :แล้วก็วางให้ได้ ใช่ไหมคะ ต้องวางสิ่งนั้นให้ได้ด้วยใช่ไหมคะ หรือว่ายังไงคะ?
หลวงพ่อ : ไม่! จะพิจารณาถ้ากำลังมันพอ แต่ไม่ใช่จะวางสิ่งนั้นได้หมดตลอดไปนะ บางทีเราพิจารณาไปแล้วมันวางกันไม่ได้ กำลังเขามากกว่า กำลังกิเลสคือความยึดมั่น ความติดพันมันมากกว่ากันไง สู้ไม่ไหว ต้องปล่อย.. แล้วกลับมาดูจิต
แม่ชี :กลับมาทำความสงบ เพื่อให้มีกำลัง
หลวงพ่อ : ถูกต้อง นี่ตรงนี้
แม่ชี :ที่จริงนั้น จะต้องใช้คู่กันอยู่ตลอดเวลานะคะ อนุโลม ปฏิโลม
หลวงพ่อ : ถูกต้อง
แม่ชี :จะเอาอย่างหนึ่งอย่างใดนี่ยังไม่ได้ แล้วต้องใช้อย่างนี้ตลอดไป
หลวงพ่อ : ตลอดไป ถ้าอย่างหนึ่งอย่างใดมรรคะไม่สามัคคี มรรค ๘ มันมีสัมมาสมาธิด้วย สัมมาสมาธิ เป็น ๑ ในมรรค ๘ แล้วถ้าไม่มีมรรค ๘ แค่มรรค ๗ มันจะไปได้อย่างไร เป็นไปไม่ได้ ต้องมีสัมมาสมาธิ แต่ถ้าสมาธิมันเด่นเกินไป มันมากเกินไป มันแข็งกล้าเกินไป มันก็ต้องกลับมาวิปัสสนา ถึงต้องใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มรรครวมตัว มรรคต้องไปพร้อมกันหมด มรรคขาดไม่ได้เลย
แม่ชี :ต้องควบคู่กันอยู่ตลอดเวลา
หลวงพ่อ : ถูกต้อง
แม่ชี :ต้องพิจารณาด้วย แล้วก็ทำความสงบด้วย ถ้ามันไม่ไหวก็ต้องเข้ามาทำความสงบ เพื่อจะให้มีกำลัง แล้วก็พิจารณา
หลวงพ่อ : ถูกต้อง
มันอยู่ที่ตรงนี้นะ มันอยู่ที่อาจารย์ชี้นำ ถ้าอาจารย์ไม่ชี้นำอย่างนี้ มันก็ว่าอย่างนี้เป็นอย่างงั้น อย่างงั้นเป็นอย่างงั้น
เราฟังทีเดียวออกหมดนะ ขอให้พูดเถอะ ใครมาก็แล้วแต่ เราฟังทีเดียวก็รู้เลยว่าติดตรงไหน
แม่ชี :ท่านผ่านมาแล้ว ฉะนั้นพอใครพูดอะไร ท่านก็จะเข้าใจแจ่มแจ้ง
หลวงพ่อ : เข้าใจหมด จะรู้เลย ติดตรงนี้ๆๆๆๆ ติดตรงไหนนี่รู้หมดเลย ขอให้พูด
แม่ชี :ทีนี้ถ้ามันพิจารณาแล้ว แล้วมันยังดับไม่ได้ บางทีดับได้แล้วนะ มันก็กลับมาคิดอีกแล้ว
หลวงพ่อ : คิดอีก
แม่ชี :คิดอยู่นั่นแหละ ทำไมมันไม่ยอมขาดสักที
หลวงพ่อ : อ้าว.. ก็มันดับชั่วคราว
แม่ชี :แล้วต้องทำยังไงเจ้าคะ?
หลวงพ่อ : ถ้ามันดับชั่วคราว ก็ต้องซ้ำสิ
แม่ชี :ก็ต้องพิจารณาใหม่อีก
หลวงพ่อ : นั่นแหละ ถูกต้อง
แม่ชี :แล้วบางที ก็เกิดกิเลสคือโมโห แหม.. ไม่ได้เรื่อง!
หลวงพ่อ : นี่ไง เพราะความเข้าใจผิดไง ก็อย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ ที่เข้าใจว่า.. กินข้าวแล้วจะเลิกกัน
ไม่มีทาง! ซ้ำๆ ซากๆ ถ้ายังชำระขาดไม่ได้ ก็ยังเกิดอีก จนขาด พึ่บ! อย่างที่ว่านี่ เก้อๆ เขินๆ นี่! ขันธ์เป็นขันธ์ จิตเป็นจิต เพราะมันขาดแล้ว เพียงแต่ว่ามันต่อกันได้ มันต่อกันโดยที่ว่ากิเลสมันไม่เกี่ยวแล้ว ต่อกันโดยที่ว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วยังใช้ธาตุขันธ์อยู่เลย นี่มันยังต่อได้ แต่ต่อด้วยอันนี้มันเป็น ภาราหะเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์นี้เป็นภาระ แต่ปัจจุบันนี้ขันธ์นี้เป็นมาร เพราะกิเลสมารอยู่ในนั้น ถ้ากิเลสมารขาด ขันธ์นี่เป็นภาระ
แม่ชี :เป็นภาระนี้ หมายถึงยังไงคะ?
หลวงพ่อ : เป็นภาระคือว่ามันยังมีอยู่กับเรา ก็ยังไม่ตาย ถ้าตายก็จบ แต่ถ้าไม่ปกตินี่ โอ้โฮ.. เอาไม่อยู่ เวลามันเกิดนี่ มารมาแล้ว
แม่ชี :เจ้าค่ะ มันร้อน เวลามันขึ้นมาก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณา ถ้าไม่ไหวก็ต้องทำสมาธิ เพื่อจะให้มีกำลัง แล้วก็จะได้พิจารณาอย่างนั้นใช่ไหมเจ้าคะ?
หลวงพ่อ : ใช่.. อย่างนี้ถูกต้อง
แม่ชี :ต้องใช้ทั้ง ๒ อย่าง
หลวงพ่อ : ต้องใช้ทั้ง ๒ อย่าง ถ้าไม่ใช้ทั้ง ๒ อย่าง เราเน้นเวลาเราเทศน์ปูพื้นใหม่ๆ เห็นไหม นั่นล่ะโลกียะคือปัญญาโลก คนเขาคิดว่าเขาใช้ปัญญาแล้ว เขาคิดว่ามันเป็นปัญญาฆ่ากิเลส
ไม่มีทาง! เพราะเป็นโลกียะ มันต้องมีสมาธิขึ้นมาเพื่อดับโลกียะให้เป็นโลกุตตระ ปัญญาที่เกิดจากสมาธินี้คือ โลกุตตรธรรม
โลกุตตรธรรมจะเกิดขึ้นมาจากที่ว่าเราไม่มีกำลังแล้วเราก็สร้างขึ้นมา สร้างขึ้นมาจากโลกียะแล้วก็ยกขึ้นเป็นโลกุตตระ พอโลกุตตระแล้ว โลกุตตระนั้นจะไปฟันกิเลส แต่ถ้าโลกียะมันฟันกิเลสไม่ได้ เพราะกิเลสมันอยู่ที่ใจ โลกียะคือกิเลสมันปั้นขึ้นมา แล้วกิเลสมันปั้นขึ้นมาเพื่อจะฆ่ามันหรือ ไม่มีทาง ก็วิญญาณของกู กูจะฆ่ากูเองน่ะมันเป็นไปไม่ได้ ต้องยกขึ้นโลกุตตระ พอโลกุตตระแล้วมันถึงจะมาฆ่ากิเลส มันถึงต้องมีการดูจิตไง ต้องมีสัมมาสมาธิ
อันนี้มันถูกแค่ส่วนหนึ่ง ถูกแค่ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าไม่วิปัสสนา มันน่าเสียดาย
แม่ชี :คืออันนี้ก็อาศัยว่า มันจะได้ติดต่อกัน
หลวงพ่อ : นี่หนังสือพิจารณาจิตนะ ส่งให้เลย
แม่ชี :การที่พิจารณาจิตนี่หมายถึงว่า มีสติดู เพื่อมันจะได้มีสติติดต่อกันนะคะ สติมันจะได้มีสติติดต่อกัน
หลวงพ่อ : ใช่ มันเป็นการฝึกไง อันนี้คือการฝึกฝน ฝึกฝนเพื่อจะไปฆ่ามัน คำว่าติดต่อนี่เป็นการสั่งสมทั้งหมดเลย มรรคสามัคคีนี่เราไม่อยากจะพูด เพราะพูดแล้วเดี๋ยวมันจะไปหมาย เสร็จแล้วนี่มรรคมันจะสามัคคีมันจะรวมตัว มรรครวมตัวนั่นคือสมุจเฉทปหาน แล้วพอมรรครวมตัวนี่มันรวมตัวทั้งหมด พอรวมตัวทั้งหมดแล้วมันขาดเลย กำลังมันพอแล้วมันจะขาด แล้วมันจะเห็นสภาวะเลยว่า อ๋อ
หลวงตาพูดบ่อย แล้วท่านเน้นย้ำขนาดที่ว่า จิตกับทุกข์นี้มันอยู่กันคนละทวีป ท่านว่าอย่างนี้เลย สามทวีปแยกออกจากกันเวลาเป็นโสดาบัน มันถึงบอกว่านี่คือสมุจเฉทปหาน มันถึงต้องมีตรงนี้ไง
แล้วเวลาเราพูด ทุกคนจะบ่นนะ ท่านอาจารย์ก็ต้องสมุจเฉทอย่างเดียว อย่างอื่นไม่ยอมรับเลย
ไม่ยอมรับ! ไม่ยอมรับ! ถ้าอย่างอื่นไม่ยอมรับ แต่ถ้าสมุจเฉทปหานถึงจะยอมรับ
ถ้าตทังคปหานนี้มันแค่ชั่วคราว ถ้าสมุจเฉทปหานมันจะเห็นเลยล่ะ สังโยชน์นี้หลุดออกไปเลย สังโยชน์ ๓ ตัวนี้กระเด็นไปเลย รู้จากปัจจัตตัง รู้จากความเห็นความเป็นจริง ปัจจัตตังรู้เฉพาะตนเลย ถ้าไม่จากปัจจัตตัง มันก็ไม่ใช่ของจริงน่ะสิ
แม่ชี :เจ้าค่ะ ต้องรู้จากการปฏิบัติของเราด้วย แล้วมันถึงจะแน่ใจใช่ไหมเจ้าคะ แล้วมันก็... คือมันบอกไม่ถูกเจ้าค่ะ มันรู้ มันเข้าใจ บางทีมันก็พูดไม่ได้
หลวงพ่อ : มันต้องไปถึงก่อน พอถึงแล้วจะอ๋อเลย อ๋อ
แม่ชี :ถ้ามันเข้าใจ ใช่เจ้าค่ะ มันต้องปฏิบัติให้ได้ก่อน แล้วมันถึงจะถึง
โยม : คุณแม่ยังมีอะไรอีกไหมคะที่ยังไม่เข้าใจ เคลียร์ไหมคะ เพราะเดี๋ยวหลวงพ่อท่านจะต้องขึ้นเทศน์
หลวงพ่อ : ยังมีอะไรอีกไหม?
แม่ชี : ก็พอเข้าใจแล้วค่ะ แต่ถ้าฟังอย่างเดียวแล้วไม่ได้ปฏิบัติเดี๋ยวมันก็จะลืมเจ้าค่ะ
หลวงพ่อ : แล้วก็ฟังไม่ออกด้วย
แม่ชี :ค่ะ มันต้องไปปฏิบัติ แล้วพอถึงตรงนั้นแล้วมันจึงจะถึงหนองอ้อ โดยปกติที่โยมทำไปแล้ว จิตจะเฉยๆ แต่ไม่นิ่งเหมือนแบบสมาธิ ช่วงที่เราภาวนาหรือทำความเพียรนี้ จิตดวงหนึ่งมันนิ่งอยู่ข้างใน อันนี้ดีใช่ไหมคะ เพราะมันจะมีกำลัง มันจะไว ไอ้ที่นิ่งๆ อยู่แบบนี้ ใช่ไหมคะ แล้วพอเราพิจารณาอะไร มันก็จะตัดได้ง่าย
หลวงพ่อ : ถูกต้อง
แม่ชี :แต่พอหลังจากนั้นแล้ว มันก็จะเฉยๆ ไม่นิ่งอย่างนั้น คือถ้าอยู่ปกติมันจะต้องนิ่งอย่างนั้น แต่ทีนี้เราจะต้องมีสติตาม สติจะต้องคอยเฝ้า
หลวงพ่อ : เฝ้าเพื่อให้มันนิ่ง
แม่ชี :เฝ้าเพื่อให้มันรู้ว่ากำลังคิดอะไรด้วย เฝ้าเพื่อให้มันรู้ว่ามันไปปรุงอะไรแล้ว และดับมันได้ไหม หรือหากสิ่งนั้นเราจำเป็นจะต้องเอามาพิจารณาหาเหตุหาผล ก็ต้องเอาขึ้นมาพิจารณา คือถ้ามีเรื่องอะไร เราก็จะต้องพยายามพิจารณาจนเรื่องนั้นดับไป หรือจนได้เข้าใจเหตุผลของมันแล้วจบเรื่องนั้น แล้วก็จบกัน และถ้ามาใหม่อีก ก็ต้องเอาแบบนี้อีก คือจะต้องพิจารณาเรื่องนั้นจนกว่าจะดับไป
พระอาจารย์สิงห์ทองเคยบอกกับดิฉันว่า ถ้าพิจารณาแล้วมันยังไม่ดับ ก็ต้องพิจารณา จะกี่วันก็ต้องพิจารณาจนกว่าเรื่องนั้นจะดับ
หลวงพ่อ : ถูกต้อง เห็นไหมนี่เพราะ คนเป็น บอก พระอาจารย์สิงห์ทอง
แม่ชี :เคยไปปฏิบัติอยู่กับท่าน แล้วท่านก็เมตตามากเจ้าค่ะ ก่อนหน้าที่ท่านจะเครื่องบินตก โยมเคยได้ไปอยู่ปฏิบัติกับท่าน ขากลับก่อนจะออกจากที่วัดท่าน โยมก็ได้ไปกราบท่าน โอ้โฮ..เวลามาอยู่ที่วัดของท่าน จิตใจมันเบิกบานมันปีติจนบอกไม่ถูก แล้วก็ไม่อยากจะกลับบ้าน มันรับรู้ทุกอย่างแต่มันไม่เสวยอารมณ์ แต่ทีนี้พอกลับมาอยู่บ้านเฉยๆ จิตมันก็กลับมาเป็นเหมือนเดิม คือว่าไม่มีเฉย ไม่มีว่าง
หลวงพ่อ : ถ้ามีพลังงานจิตมันก็ว่าง ถ้ามีพลังงานคือตัวจิตไง
แม่ชี :อย่างครูบาอาจารย์ที่ท่านสิ้นกิเลสแล้ว ท่านก็จะนิ่งๆ อยู่เฉยๆ ของท่านนะคะ ท่านจะไม่พูดอะไร อย่างนั้นคือท่านทำจิตอย่างไรเจ้าคะ?
หลวงพ่อ : ไม่ต้องทำ
แม่ชี :ท่านเฉยเองใช่ไหมเจ้าค่ะ ท่านนิ่งของท่านนะเจ้าคะ
หลวงพ่อ : ไม่ต้องทำเลย อยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไรมันก็ว่าง เพราะถ้าทำนี้คือมันเสวยอารมณ์ อย่างเวลาพูดนี่คือต้องทำ เพราะเวลาพูดเราต้องคิด แต่ถ้าจะให้มันนิ่งก็กำหนดเข้ามาที่นี่ กำหนดให้เฉยได้เพราะอะไร เพราะมันไม่มีกิเลสมาคอยขวาง แต่ถ้ามีกิเลสมันจะกำหนดไม่ได้ เพราะกิเลสมันคอยขวาง มันคาอยู่
แม่ชี :แล้วถ้าเฉยอย่างนี้ เราก็ต้องให้มันเฉยไปเรื่อยๆ หรือเปล่าคะ แล้วเวลาจะพิจารณาก็ค่อยพิจารณา แต่ถ้าไม่พิจารณา ก็ให้จิตมันเฉยอยู่ อย่างนี้จะใช้ได้ไหมคะ?
หลวงพ่อ : มันจะเสียเวลาน่ะสิ เพราะถ้ามันเฉยมันก็จะแค่เฉยอยู่ แต่เราคิดว่าให้มันออกพิจารณาดีกว่า พอพิจารณาแล้วมันจะว่าง อย่างที่โยมเป็นนั่นล่ะ เวลาพิจารณาแล้วมันว่าง มันปล่อย แต่ถ้าเฉยอยู่นี้คือมันไม่ทำงาน เพราะว่าตอนนี้เรายังมีงานทำอยู่ เราก็ต้องทำงานก่อน เราจะนอนใจไม่ได้
เวลาเฉยนี้มันคือปกติของใจ ถ้าเราเสวยอารมณ์แล้วเราไม่มีสติ เราก็จะไปตามมัน แต่ถ้าเรามีสติแล้วเราใช้วิปัสสนามันก็จะว่าง
อยากให้ทำแบบนี้ให้ว่างไว้ พยายามทำ! แล้วรักษามันไว้ แต่ถ้าเฉยนี้บางทีมันจะขี้เกียจ แล้วมันจะไม่ยอมทำงาน
แม่ชี :ถ้ามาอยู่บ้านมันจะปรุงแต่งเยอะเหมือนกัน แต่เวลาอยู่วัดจิตมันจะนิ่งเฉยมากกว่า แต่ถ้ากลับมาอยู่บ้าน มันไปเห็นนู่นเห็นนี่แล้วมันจะไปปรุงก็ต้องพยายามคุม คือพอเห็นอะไรแล้วจะไปปรุงแต่งไม่ได้ อันนี้เป็นเพราะว่ากำลังเราไม่พอหรือยังไงเจ้าค่ะ ถึงได้เห็นอะไรแล้วชอบไปปรุง
หลวงพ่อ : เพราะเรายังไม่ได้ทำลายมัน ถ้าเราทำลายมันได้แล้ว มันก็จะไม่ปรุงอีก เพราะเราทำลายมันแล้วมันก็ไม่มีเหตุที่ให้ปรุง แต่ถ้าเรายังไม่ได้ทำลายมัน มันก็ยังมีเหตุให้ปรุง แล้วถ้าเราคุมอยู่ มันก็อยู่ แต่ถ้าเราคุมไม่อยู่ มันก็ออก
ฉะนั้นเราถึงบอกว่า การออกมาวิปัสสนา ออกมาใคร่ครวญ ออกมาคิด นี่ล่ะคืองานของเรา งานนี้คืองานที่จะทำลายไอ้ตัวที่ออกมาปรุง ถ้าเราไม่ทำอย่างนั้นแล้วไอ้ตัวปรุงมันก็จะหลบอยู่อย่างนี้ ไอ้ตัวปรุง ไอ้ตัวยุแหย่ ก็คือความเคยใจของเรา กิเลสคือความเคยใจ
แม่ชี :ถ้าจะใช้ดูลมไปเรื่อยๆ ได้ไหมเจ้าคะ?
หลวงพ่อ : ได้
แม่ชี :การดูลมนี้ก็ดีค่ะ มันมีสติมากขึ้น แล้วพอมีอะไรเกิดขึ้นมานี้มันจะรู้เร็วขึ้น คือมันตัดได้เร็วขึ้น อย่างนี้ใช้ได้ไหมเจ้าคะ?
หลวงพ่อ : ใช้ได้
แม่ชี :โยมพยายามรู้ลมอยู่เรื่อยๆ จะทำอะไรต่ออะไรก็มีสติพยายามรู้ลมเอาไว้ ทีนี้พอมีเรื่องอะไรมันก็ตัดไปแล้ว โอ๊ย.. ไม่ใช่เรื่องอะไรเลย มันไร้สาระ ตอนหลังพอมาอยู่บ้าน มันตัดไปแล้วแต่พอเผลอมันก็มาอีก แหม..ก็เลยต้องอาศัยดูลม รู้ลมอยู่เรื่อยๆ พอมันเกิดขึ้นมาก็จะรู้ได้เร็วขึ้นและดับได้เร็วขึ้นถ้าหากใช้วิธีอย่างนี้
หลวงพ่อ : ได้.. อย่างที่ท่านอาจารย์สิงห์ทองพูดไว้ ท่านพูดถูก ดับจนไม่มีเหตุจะดับ จะต้องดับไปเรื่อยๆ
แม่ชี :ท่านบอกว่า ไม่ว่าเรื่องอะไร เราก็จะต้องพิจารณาจนดับ จะกี่วันก็แล้วแต่ แต่มันก็ยังเกิดอีก แต่เบาลงเจ้าค่ะ แต่เราก็จะต้องพิจารณาอีกใช่ไหมคะ?
หลวงพ่อ : ซ้ำ! ซ้ำจนกว่าจะไม่มีอะไรให้พิจารณา จนมันพิจารณาอะไรอีกไม่ได้เลย ถ้าทำจนถึงที่สุดแล้วมันจะไม่มีอะไรให้พิจารณา เพราะว่ามันดับหมดจนไม่มีเลย แต่ถ้าหากมันยังพิจารณาซ้ำได้คือมันยังมีอยู่ มันถึงยังพิจารณาได้ แต่พอดับบ่อยๆ จนมันไม่มี มันก็จะพิจารณาไม่ได้แล้ว
แม่ชี :สุดท้ายก็ต้องพยายามคิดว่า มันเป็นอนัตตาใช่ไหมคะ?
หลวงพ่อ : จะต้องให้มันเป็นเอง
แม่ชี :จะไปคิดเองก็ไม่ได้ จะต้องให้เขาเป็นของเขาเอง
หลวงพ่อ : ถ้าเราไปคิดเองก่อน มันก็เหมือนกับเราคาดหมายไป เรารู้อยู่ว่ามันจะเป็นอนัตตา ทุกคนจะรู้อยู่ แต่เรายังไม่เห็นความจริงว่ามันเป็นอนัตตาอย่างไร
แม่ชี :ต้องให้มันเกิดเอง มันถึงจะดับแล้วไม่เกิดขึ้นอีก
หลวงพ่อ : แต่เอามาใช้เป็นปัญญาได้นะ อย่างเช่นการใช้ปัญญาใคร่ครวญว่า มันต้องเป็นอนัตตา มันต้องเป็นอย่างนี้ เราชี้นำได้ แต่เวลาเป็นมันต้องเป็นเอง
แม่ชี :เข้าใจค่ะ เวลามันจะดับ ตัวเองมันจะรู้ตัวเองว่ามันดับ มันจะรู้ด้วยตัวของเราเอง ทีแรกนี่ก็ต้องอาศัยเตือนเขาใช่ไหมคะ?
หลวงพ่อ : ถูกต้อง
แม่ชี :สิ่งนี้มันเป็นอนัตตานะ อะไรต่ออะไรอย่างนี้ไปก่อนใช่ไหมเจ้าคะ?
หลวงพ่อ : ถูกต้อง
แม่ชี :แล้วเดี๋ยวนี้ก็พยายามดูลมหายใจ ดูมันไปเรื่อย แต่มันก็มีเผลอ ถ้าเผลอก็ช่างเขา แต่ก็พยายามมีสติรู้ลมอยู่ ทีนี้ตอนที่ทำสมาธิและเดินจงกรมอยู่ตลอดคืน ตอนนั้นมันรู้สึกว่าจิตมันนิ่งดีจังเลยค่ะ
หลวงพ่อ : ความเพียร..!
แม่ชี :อยู่ตลอดคืนแล้วตอนกลางวันก็ไม่ได้พักเลยนะคะ ตอนกลางคืนก็ตาหูสว่าง จิตใจเบิกบาน ๒ วันติดต่อกันก็ไม่เป็นอะไรค่ะ ทีนี้เราก็ห่วงสุขภาพตัวเอง เพราะสุขภาพไม่ค่อยดีอยู่ ก็เลยมาทำแบบปกติ แล้วที่นั่นเขาก็ให้ตื่นตี ๒ และนอน ๔ ทุ่ม ก็เลยกลับมาพักและพยายามตื่นตี ๒ พอตอนกลางวันก็ทำความเพียรตลอด คือนั่งบ้างเดินบ้าง ไม่ได้บังคับแบบแต่ก่อน
สมัยก่อนนี้จะต้องนั่งตลอด ไม่ขยับเลย อันนั้นคือฝึกสู้กับเวทนา อื้อหือ..มันเจ็บ มันปวด อย่างกับหนามแทงอย่างกับอะไร อันนั้นสู้กับเวทนามาก จิตถึงได้หลุดออก สู้กับเวทนาแบบฟากตาย เหงื่อกาฬแตก มีความรู้สึกว่า ตายเป็นตายแต่จะไม่ยอมลุก โอ้โฮ.. ฟากตายเลยค่ะ
หลวงพ่อ : นี่ล่ะพอฟากตายแล้วธรรมะมันเกิด
แม่ชี :ฟากตายเลย มันถึงได้วูบหลุดออกจากร่างนี้ได้ เสร็จแล้วก็ไม่เป็นอีกนะเจ้าคะ
หลวงพ่อ : ไม่เป็นหรอก แต่มันจะเป็นอย่างอื่นต่อไป เวลาเป็นมันจะเป็นอย่างอื่น เพราะอันนั้น....
แม่ชี :มันผ่านไปแล้ว
หลวงพ่อ : มันผ่านไปแล้ว แล้วเราไประลึกรู้อยู่ อันนี้คือ ตัณหาซ้อนตัณหา
แม่ชี :จะไปนึกอยากอยู่ไม่ได้
หลวงพ่อ : ไม่ได้.. ต้องปล่อยทิ้งเลย แล้วจะเกิดอีก ถ้าคนเป็นทางไหน มันจะเป็นทางนั้น มันรู้
แม่ชี :เจ้าค่ะ หลวงปู่บ้านตาดท่านก็บอก มันผ่านไปแล้ว เราจะไปอยากได้อะไรมันอีกล่ะ มันต้องมีแต่ข้างหน้าสิ จะอะไรก็ต้องผ่านให้ได้ทุกอย่างนะ ท่านเตือนนะคะว่าข้างหน้าไม่ว่าจะเจออะไรก็ต้องผ่านได้ทุกอย่าง หลวงปู่บ้านตาดท่านสอนอย่างนี้ค่ะ ไอ้ที่มันผ่านมาแล้ว ก็ช่างมันเถอะ ก็รู้มาแล้ว เหมือนกับขึ้นบันไดมาแล้ว แล้วจะกลับลงไปทำไมอีกล่ะ ท่านก็เตือนว่า ข้างหน้า ไม่ว่าจะเจออะไรก็ต้องผ่านให้ได้ทุกอย่าง
หลวงพ่อ : นี่คือผ่านโดยใช้ปัญญา ปัญญามันจะผ่านได้ ต้องผ่าน
แม่ชี :คือจะให้มีอะไรข้องอยู่ในหัวใจไม่ได้
หลวงพ่อ : ถูกต้อง! ล้มมันให้ได้.. ล้มมันให้ตลอด.. ล้มมันเลย..!
แม่ชี :จะต้องผ่านให้ได้ ท่านพูดอยู่แค่นี้ล่ะค่ะ แต่ความหมายของท่านนี่พอเอามาคิดแล้ว โอ้โฮ.. ถ้ามีเรื่องอะไร เราก็จะต้องเอาชนะให้ได้
หลวงพ่อ : ถูกต้อง ชนะไปเรื่อยๆๆๆ
แม่ชี :แล้วเร่งรีบก็ไม่ได้อีก ต้องค่อยเป็นค่อยไป ถ้าไปเร่งจะให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ โอ้โฮ..ก็จะเกิดความหงุดหงิดเชียวค่ะ ก็ต้องค่อยตะล่อมจิตนี้อีก ค่อยๆ นะ อย่าไปเร่งเขาอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่อย่างนั้นจะเกิดอึดอัดขึ้นมาอีกค่ะ หลายเล่ห์ หลายเหลี่ยมเหลือเกิน โอ้โหย..
หลวงพ่อ : เจ้านายใหญ่..!
แม่ชี :เผลอไม่ได้เลย ตอนนั้นท่านบอกให้ดูจิต ก็ยังไม่เข้าใจ ก็ไปเพ่ง ไม่ให้มันคิดอะไร โอ้โฮ.. ทีนี้ก็เลยแน่นอึดอัดอย่างกับเหมือนมีใครบีบไว้เลยนะคะ ทุรนทุรายอีก เอ้า.. คงจะไม่ใช่แล้วล่ะ ตอนหลังก็มาภาวนาไปพิจารณาไป ถึงได้เข้าใจว่า ไม่ใช่ว่าให้ดูที่จิต แต่ดูอาการดูความคิดต่างหากล่ะ ทีแรกไม่เข้าใจ พอบอกว่าให้ดูจิต ก็เลยไปจ้องจิต
หลวงพ่อ : ไปเพ่งไว้
แม่ชี :ไปเพ่งไว้ ดูไว้ว่าอย่าคิดอะไรนะ โอ้โฮ! ตายเลยทีนี้ทำสมาธิไม่ได้แล้ว พอนั่งปุ๊บ มันจะถูกบีบแน่น เจ็บ! ก็เลยต้องเลิกเลย ไม่เอา แล้วไปหาหนังสือมาอ่านบ้างอะไรบ้าง เพื่อให้ลืมอันนี้ไปเจ้าค่ะ โอ๊ย.. ก็สนุกดีนะเจ้าคะ มันได้ทดลองทดสอบหลายๆ อย่าง แล้วก็มีความรู้สึกว่า ตัวเองยังไม่เอาไหนเลย แต่จะไปเร่งก็ไม่ได้ ต้องค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆ ดูจิตไป ระวังไป ถ้ามีอะไรก็ค่อยๆ พิจารณาดับไป ก็เลยรู้สึกว่าเหมือนเลี้ยงเด็กเจ้าค่ะ เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ต้องดุกันบ้าง เลี้ยงจิตนี่นะเจ้าคะ
หลวงพ่อ : แล้วจะส่งเทปเรื่องพิจารณาจิตมาให้เมื่อไร?
โยม : เดี๋ยวพอกลับไปก็ส่งมาให้ได้เลยค่ะ ท่านพระอาจารย์
แม่ชี :แต่ที่ท่านพระอาจารย์เทศน์วันนี้ก็เข้าใจดีขึ้น คือเข้าใจหลักแต่ยังไม่รู้แจ้งอะไรหรอก เพราะว่ามันยังไม่ผ่าน แต่ก็เข้าใจหลักของพระอาจารย์แล้วก็เคยทำมาบ้าง พอทราบบ้าง
หลวงพ่อ : ไอ้เทปม้วนที่ให้นี้มันเป็นเรื่องการพิจารณาจิตล้วนๆ เลย แล้วมันเป็นสเต็ปเลย เดี๋ยวจะให้เขาส่งไปให้ฟัง ลองฟังดู
แม่ชี :ตอนนี้ยังฟังไม่ค่อยเข้าใจทีเดียวค่ะ
หลวงพ่อ : ยังไม่เข้าใจหรอก
แม่ชี :เพราะยังไม่ถึง แต่มันก็เป็นแนวทาง แล้วถ้าทำได้ถึงตรงนั้นแล้วจะถึงหนองอ้อ ถูกไหมคะ?
หลวงพ่อ : ถูกต้อง
โยม : ท่านพระอาจารย์คะ อย่างกรณีของคุณแม่นี้ ถ้าดูจิตแล้วมันเกิดฟุ้งล่ะคะ ตรงนี้ถ้าเอาคำบริกรรมเข้ามากำกับ....
หลวงพ่อ : เขาก็มาดูลมไง เขาทำอยู่แล้ว เขามีอยู่แล้ว
โยม : อ๋อ... ค่ะ
แม่ชี :ค่ะ ต้องดูลม เพราะว่ามันดูจิตเฉยๆ ไม่ได้
หลวงพ่อ : มันเป็นอุบายไง ถ้าอุบายนี้มันรู้ทันแล้ว เราก็เปลี่ยนอุบายใหม่ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ
โยม : อ๋อ... ค่ะ
แม่ชี :กิเลสนี่มันร้ายมาก
หลวงพ่อ : โธ่.....
คณะโยม : (หัวเราะ)
แม่ชี :เผลอไม่ได้ มันเล่นเราซะแย่เลย จนเราก็คิดว่า โอ้.. เรานี่มันหมดแล้วหรือ
หลวงพ่อ : เวลามันว่างก็ไปนึกว่าหมดแล้ว
แม่ชี :ไม่ใช่ค่ะ คือตอนที่กลับมาอยู่บ้านนี่มันจะไปคิดเรื่องอะไรต่ออะไรไร้สาระ เดี๋ยวก็คิดนู่นนี่ จนมาคิดว่า ทำไมเรานี่ภาวนาไม่ได้ คอยแต่ชอบไปเอาเรื่องอะไรก็ไม่รู้มาเป็นอารมณ์ เมื่อก่อนก็ไม่เป็นขนาดนี้ แล้วทำไมเดี๋ยวนี้มันเป็นแบบนี้ คือมีความรู้สึกว่า โอ้โฮ.. เรานี่แทบจะไม่เหลืออะไร ในใจมันคิดนะคะ แต่พอไปเร่งปฏิบัติเข้า มันก็กลับมาอีก มันหลอกนะคะ
หลวงพ่อ : หลอก
(สิ้นสุดการสนทนาธรรมเพียงเท่านี้)